fbpx
สายเลือดของ NBA กับเสรีภาพในการแสดงออก

สายเลือดของ NBA กับเสรีภาพในการแสดงออก

พิมพ์ชนก พุกสุข เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

การแสดงออกทางการเมืองดูจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของนักกีฬาอเมริกันมาโดยเสมอ หากว่าลีก NFL มีนักกีฬาอย่าง โคลิน คาเอเปอร์นิค ที่ไม่ยอมลุกขึ้นยืนให้เพลงชาติสหรัฐฯ ก่อนการแข่งขันเพื่อแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับการกระทำอยุติธรรมที่รัฐมีต่อนักกีฬาผิวสี ทางลีก NBA เองก็มีเรื่องราวเหล่านี้ให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ

ล่าสุดที่เป็นประเด็นใหญ่โตระดับประเทศ เกิดขึ้นเมื่อ ดาริล มอรีย์ ผู้จัดการทีม ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ ทวิตแสดงความเห็นเชิงสนับสนุนต่อการเคลื่อนไหวประท้วงของผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงที่ต้องการแยกประเทศจากจีนด้วยข้อความ “Fight for freedom, Stand with Hong Kong” เกิดเป็นความวุ่นวายครั้งใหญ่ของการพยายามควบคุม กับการพยายามดิ้นรนเพื่ออิสรภาพในการแสดงออก

ความขัดแย้งเช่นนี้เลี่ยงไม่ได้เลยที่ต่างชาติซึ่งเฝ้ามองอยู่รอบๆ ไม่รู้จะวางตัวอย่างไรในฐานะคนนอก, คู่ค้า หรือแม้แต่ลูกน้องที่ไม่กล้าหือเมื่อลูกพี่ใหญ่ใช้อำนาจกับคนอื่น ดังนั้นส่วนมาก หลายๆ ประเทศจึงเลือกทำตัวเงียบๆ เฝ้ามองเหตุการณ์ต่อไปอย่างอดทน

ใครจะไปคิด -แม้แต่ตัวดาริล มอรีย์เอง- ว่าเพียงข้อความเดียวที่เขาทวิตสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกของชาวฮ่องกงนั้น จะทำให้ทุกอย่างดิ่งวูบ แม้มอรีย์จะรีบลบทวิตเจ้ากรรมและยืนยันว่านี่เป็นเพียงความคิดส่วนตัวของเขาเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับทีมฮุสตันหรือลีก NBA แต่อย่างใด หากก็ไม่ทันแล้ว กระแสความโกรธเกรี้ยวของผู้คนทำให้จีนระงับการถ่ายทอดสดรวมถึงธุรกิจบาสเก็ตบอลอื่นๆ กับสหรัฐฯ ผ่านช่อง CCTV และ Tencent ยังไม่นับธุรกิจอื่นๆ ที่แตกตัวออกไปจำนวนมาก

ทั้งที่ผ่านมา NBA China ดึงเอาผู้เล่นจากสหรัฐฯ ไปโชว์ตัวและเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าจากแดนมังกรหลายต่อหลายคน พร้อมค่าตัวสูงลิบลิ่วแบบที่นายทุนจากอเมริกาอาจให้ไม่ได้ด้วยซ้ำไป อย่างการ์ดจากวอร์ริเออร์อย่าง เคลย์ ทอมป์สัน ที่ถูกเลือกไปเป็นภาพลักษณ์ของ ANTA แบรนด์กีฬาสัญชาติจีนกับค่าตัว 80 ล้านเหรียญฯ (ว่ากันว่าเป็นค่าตัวที่เขาได้มากกว่าลงแข่งทั้งปีด้วยซ้ำ) ตลอดจนแบรนด์สินค้ากีฬาอย่างไนกี้ที่กำเงินพันล้านอยู่ในมือ และเลือกแล้วที่จะปิดปากเงียบต่อเรื่องนี้ (ดังเช่นกรณีก่อนหน้าที่ดีไซเนอร์ออกแบบรองเท้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผู้ประท้วงชาวฮ่องกง และคนจีนไม่พอใจอย่างมากจนไนกี้ถอดสินค้านั้นออกจากชั้นขายในทันที)

ลำพังจากยอดขายรองเท้ากีฬาที่จีน -ที่ปีนี้จัดทัวร์นาเมนต์แข่ง FIBA หรือบาสเก็ตบอลชิงแชมป์โลก- ในรอบปีที่ผ่านมา ไนกี้ก็กวาดเงินเข้ากระเป๋าไปอุ่นๆ 6.2 พันล้านเหรียญฯ อีกทั้ง FIBA ยังทำให้ตลาดรองเท้าไนกี้โตขึ้นแบบก้าวกระโดดหลายสิบเปอร์เซ็นต์ พวกเขาจึงมีนิมิตหมายจะตีตลาดจีนไปเรื่อยๆ ผ่านทางกีฬาบาสเก็ตบอลที่คนจีนนิยมมากกว่ากีฬาประเภทอื่น

นี่เองเป็นเหตุสำคัญให้ไนกี้ค่อนข้าง ‘เงียบเสียง’ กับประเด็นข้อพิพาทระหว่างจีนกับฮ่องกงกับอเมริกา แม้ว่าก่อนหน้านี้จีนจะปะทะฝีปากกับสหรัฐฯ มามากต่อมาก ถึงขั้นว่าเป็นคู่แค้นแสนรักที่นัยหนึ่งแม้จะเหม็นหน้ากันและกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าสินค้าที่ส่งออกและนำเข้าก็มีอีกฝ่ายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่โตไม่น้อย ความสัมพันธ์ของทั้งสองจึงเป็นเสมือนลูกพี่ใหญ่จากแดนตะวันตกกับแดนตะวันออกที่เขม่นกันอยู่เนืองๆ แต่ก็ยังพึ่งพาอาศัยกันตามวาระโอกาส

มิหนำซ้ำ จีนยังมีสัมพันธ์อันดีกับลีก NBA เพราะบาสเก็ตบอลนับเป็นหนึ่งในกีฬาไม่กี่ชนิดที่เจาะปราการชาตินิยมของประชาชนชาวจีนไปได้อย่างสวยงาม ทำสถิติเป็นกีฬาจากแดนอเมริกายอดฮิตที่มีแฟนชาวจีนนับร้อยล้าน จนมันสร้างมูลค่ามหาศาลตามมาภายหลัง เมื่อนักกีฬาเบอร์ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น โคบี ไบรอันต์, สตีเฟน เคอร์รี, เดอริค โรส ล้วนเคยไปเยือนประเทศจีนเพื่อพบปะแฟนๆ เรือนแสนมาแล้ว

ขณะที่ไนกี้เลือกที่จะเงียบในกรณีนี้ แต่ความเงียบย่อมไม่ใช่ทางออกของลีกยักษ์อย่าง NBA ที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงอย่างแน่นอน เพราะหากสมาพันธ์แสดงจุดยืนเห็นด้วยกับมอรีย์ แปลว่าพวกเขาเพิกเฉยต่อความโกรธขึ้งของชาวจีน (ที่จริงๆ ก็ยืนยันให้ปลดมอรีย์ออกเสียด้วยซ้ำ) และอาจสูญเม็ดเงินมหาศาล แต่หากพวกเขาไล่มอรีย์ออกตามความต้องการของบิ๊กจีนจริงๆ นั่นแปลว่าพวกเขาประกาศตัวต่อต้านจุดยืนแบบอเมริกันที่พวกเขาภาคภูมิใจมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก

ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ตัวกีฬาอย่างบาสเก็ตบอลคือหนึ่งในกีฬาที่แสนจะ ‘อเมริกัน’ สุดๆ ไม่น้อยหน้าไปกว่าลีกอื่นๆ

งานช้างจึงตกมาอยู่ที่ อดัม ซิลเวอร์ ผู้บริหาร NBA ที่ต้องพยายามหาทางวางจุดยืนของตัวเองและลีกอย่างชัดเจนที่จะไม่ให้เป็นที่เจ็บช้ำน้ำใจของทั้งสองฝ่าย และหลังจากปล่อยเรื่องคาราคาซังจนถูกก่นด่าทั้งจากคนดูทั้งฝั่งจีนและฝั่งอเมริกาแล้ว ซิลเวอร์ก็ตัดสินใจแถลงว่าเขาจะไม่ขอโทษเด็ดขาด แม้จะต้องยอมรับความจริงว่าผลจากการตัดสินใจในครั้งนี้ จะทำให้ลีกสูญเงินเป็นจำนวนมหาศาลก็ตามที

“ชาวอเมริกันเองก็มีคุณค่าและธรรมเนียมที่เรายึดถือ เราคือธุรกิจจากอเมริกา ธรรมเนียมนี้มันติดตัวเราไปทุกที่ในโลก” เขาแถลง “หนึ่งในคุณค่าที่เรายึดมั่นเสมอมาคือสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เราอยากทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเราสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คนจริงๆ”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซิลเวอร์มีจุดยืนเช่นนี้ เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 สมัยที่โกลเดน สเตธ วอร์ริเออร์ คว้าแชมป์ลีกหมาดๆ และตามธรรมเนียมคือนักกีฬาต้องเข้าพบประธานาธิบดี (แน่ล่ะว่าคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม้เบื่อไม้เมาตลอดกาลกับนักกีฬาเกือบทุกคนในอเมริกา) ที่ทำเนียบขาวเพื่อฉลองชัย หากแต่นักกีฬาชื่อดังอย่างสตีเฟน เคอร์รี กลับปฏิเสธที่จะโผล่ไปทักทายทรัมป์ จนทรัมป์ออกมาโวยว่าถ้าไม่อยากมาก็ไม่ต้องมา! (ซึ่งเคอร์รีบอกไม่แยแสจ้า ไม่เป็นไร ยังไงก็ไม่ไปอยู่แล้ว)

“ถ้านักกีฬาเขาตัดสินใจแล้ว และประกาศว่า ‘ไม่เอาประธานาธิบดีหรือนโยบายอะไรก็ตามที่ประธานาธิบดีนั่นกำหนด’ ผมว่ามันก็ทำให้นักกีฬาคนนั้นเป็นเหมือนอเมริกันชนทั่วๆ ไปคนหนึ่งนะ” ซิลเวอร์บอกอย่างใจเย็น “ถ้ามีคนมาถามผมว่าทำไมปล่อยให้นักกีฬาวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำประเทศอยู่ได้ ผมก็จะบอกไปว่า ‘นี่แหละอเมริกา’ เท่านั้นเอง

“ด้วยความสัตย์เถอะ การแสดงออกทางการเมืองมันอยู่ในสายเลือดของ NBA แค่นั้นเองครับ” เขายืนกราน และแม้ว่านี่จะเป็นทางออกที่เขาเลือกแล้วว่าจะยืนหยัดในจุดยืนเดิมของอเมริกา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้างหน้ายังมีหนทางให้ซิลเวอร์ต้องตัดสินใจอีกมาก ทั้งการแบกรับความเสี่ยงว่ากำลังจะปล่อยคู่ค้าที่ทำเงินนับพันล้านเหรียญฯ หลุดมือ และต้องหาทางสร้างรายได้ทางใหม่ขึ้นมาเพื่อหล่อเลี้ยงลีกทั้งลีกต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save