fbpx
บัญญัติ 7 ประการของฮิตเลอร์กับสงครามแย่งชิงมวลชน

บัญญัติ 7 ประการของฮิตเลอร์กับสงครามแย่งชิงมวลชน

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

สงครามแย่งชิงมวลชน ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ คือภารกิจสำคัญของผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัย หากต้องการให้มวลชนอยู่ภายใต้การปกครอง และตัวเองสามารถครองอำนาจไปได้ตลอด

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (ค.ศ. 1889-1945) ผู้นำแห่งพรรคนาซี แม้จะมีกองทัพเยอรมนีอันเกรียงไกร มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ยังให้ความสำคัญกับการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อแย่งชิงมวลชนมาเป็นฝ่ายตัวเอง

ฮิตเลอร์ใช้การโฆษณาชวนเชื่อ ในฐานะที่ตัวเองเป็นนักพูด นักเล่าเรื่อง และนักแสดงตัวยง จนทำให้มวลชนเยอรมันที่ได้ชื่อว่า เป็นประชากรมีคุณภาพสูงในโลก มีการศึกษา มีเหตุมีผล สามารถคล้อยตามความคิดและการกระทำของฮิตเลอร์ได้อย่างน่าสนใจ

โมธี ชไนเดอร์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ ‘ประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว’ เคยพูดว่า

“อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กลายเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อ มันจะกลายเป็นอาชีพหลักของเขาไปตลอดชีวิต เมื่อปราศจากโฆษณาชวนเชื่อแล้ว เขาคงไม่อาจกลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียงได้”

ฮิตเลอร์ อดีตนายสิบในกองทัพเยอรมนี ไต่เต้าเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยมีอาวุธสำคัญคือการเป็นนักพูด เป็นครีเอทีฟคิดคำโฆษณาชวนเชื่อ และนักแสดง เขาใช้เวลาฝึกซ้อมการแสดงหน้ากระจกบ่อยๆ เพื่อให้ตัวเองดูดีที่สุด ก่อนจะขึ้นเวทีเพื่อพูดปลุกระดมมวลชน

ในหนังสือ ‘การต่อสู้ของข้าพเจ้า’  ฮิตเลอร์ได้กล่าวว่า “การใช้โฆษณาชวนเชื่อให้ได้ผลนั้น เป็นศิลปะอย่างแท้จริง”

สมัยฮิตเลอร์ครองอำนาจ เขาได้มือขวาคู่ใจคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาคือรัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ นายโยเซฟ เกิบเบิลส์  (ค.ศ. 1897-1945) ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ในสาขาประวัติศาสตร์วรรณคดี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปลุกระดม การโฆษณาชวนเชื่อ และสร้างข่าวเท็จจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า fake news ในปัจจุบัน เขามีลักษณะเด่นคล้ายฮิตเลอร์คือเป็นนักพูดตัวยง เป็นนักแสดงบนเวที และเป็นนักเล่าเรื่องผู้ยอดเยี่ยม

พวกเขาได้ร่วมกันสร้างหลักการง่ายๆ จนเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำโฆษณาชวนเชื่อแพร่หลายทั่วไปจนถึงปัจจุบัน ภายใต้หลักการง่ายๆ 7 ประการ และไม่น่าเชื่อว่า หลัก 7 ประการนี้ ทุกวันนี้ยังใช้งานได้ดีมาก

1. การใส่ร้ายป้ายสี โจมตีตัวบุคคลเป้าหมาย ด่าคนนั้นออกสื่อไปเรื่อยๆ ซ้ำๆ กันหลายรอบ โดยธรรมชาติผู้คนชอบฟังเรื่องด้านลบของผู้คน พอฟังหรืออ่านตอนแรกอาจไม่เชื่อ แต่ฟังไปบ่อยๆ ผู้คนก็เริ่มเชื่อแล้วว่า คนนี้เลวจริงๆ วิธีการแบบนี้เห็นตัวอย่างได้ง่ายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนเป็นวิธีสร้างความแตกแยกได้ชัดเจนที่สุด

นักการเมืองคนใดที่ถูกฝ่ายตรงกันข้ามเขียนข่าวเท็จออกสื่อทุกวัน มีนักวิจารณ์ หรือพิธีกรข่าวคอยด่าทุกวัน วันละหลายรอบ  ซ้ำๆ กันเป็นเดือน เป็นปี ไม่นานนัก ข่าวเท็จข่าวลวงเหล่านั้นก็กลายเป็นข่าวจริงในสายตาของหลายคน

2. พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ย้ำข้อความเดิมๆ ไปเรื่อยๆ ซ้ำๆ คนฟังและผู้รับสารจะค่อยๆ ซึมและเชื่อไปเอง ไม่ต่างจากการที่ค่ายเพลง เปิดเพลงที่ตั้งใจจะให้ฮิทติดอันดับทางสถานีวิทยุ เปิดไปเรื่อยๆ จนคนฟังชินหู แล้วเริ่มรู้สึกว่าเพลงเพราะ

3. โกหกคำโต โยเซฟ เกิบเบิลส์ เคยกล่าวว่า “ยิ่งโกหกคำโตมากเท่าไร โกหกบ่อยๆ คนจะยิ่งเชื่อมากขึ้น” และ “การหลอกประชาชนจำนวนมากด้วยการพูดโกหกเรื่องใหญ่ๆ ง่ายยิ่งกว่าการโกหกเรื่องเล็กๆ”

4. การตั้งฉายา ตั้งฉายาฝ่ายตรงกันข้ามให้มันแย่ หรือกดให้รู้สึกว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป และเมื่อคนทั่วไปไม่รู้สึกว่าเป็นมนุษย์ การปราบปราม การกำจัดก็ง่ายขึ้น มีตัวอย่างมากมายในอดีต อาทิ “พวกยิวคือเชื้อโรคร้าย ต้องกำจัดให้หมด” หรือ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

5. แบ่งแยกผู้คนเป็นฝ่ายต่างๆ ชัดเจน โลกของนักโฆษณาชวนเชื่อ มักจะแบ่งมวลชนออกเป็นแค่สองฝ่าย เพื่อบีบให้คนตรงกลางต้องเลือกข้าง เป็นพวกเขา พวกเรา หากไม่ใช่พวกนาซี ก็เป็นพวกคอมมิวนิสต์ หรือพวกยิว ในสมัยที่ฮิตเลอร์กวาดล้าง สังหารโหดชาวยิวหกล้านกว่าคน คนเยอรมันที่เห็นใจชาวยิวก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกยิว จะโดนทำร้าย จับกุมคุมขัง เพราะฮิตเลอร์ต้องการสร้างภาพแบ่งกลุ่มคนเป็นคนดี คนเลว คนถูก คนผิด ให้ชัดเจน

แนวคิดนี้กลับมาโด่งดังมาก เมื่อเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ค.ศ. 2001 หรือ 9/11 เมื่อโจรจี้เครื่องบินนั้นนำเครื่องบินทั้งสองพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และทำให้ประธานาธิบดี จอร์จ บุช  กล่าวหาว่า ซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีประเทศอิรักอยู่เบื้องหลัง และตัดสินใจบุกอิรัก โดยมีวลีอันโด่งดังว่า “หากคุณไม่อยู่ฝ่ายเรา คุณคือผู้ก่อการร้าย”

6. ฝ่ายธรรมะ ฝ่ายอธรรม ฮิตเลอร์พยายามสร้างภาพว่า ตัวเองเป็นสัตบุรุษ เป็นเสมือนพระเยซู ผู้ทรงคุณธรรม มีศีลธรรมอันดีงาม มาช่วยเหลือ ปกป้องชาวเยอรมัน ผู้สืบเผ่าพันธุ์จากพวกอารยัน ชนชาติที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด และผู้ร้ายคนชั่วคือพวกยิว ที่เป็นพ่อค้าขูดรีด เอาเปรียบชาวอารยันมานาน และพวกคอมมิวนิสต์ที่มีความคิดชั่วร้ายในการปกครองประเทศ แม้กระทั่งก่อนการบุกประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศเชโกสโลวาเกียหรือโปแลนด์ ก็มีการปลุกระดมให้คนเยอรมันเข้าใจผิดว่า ชนชาติเหล่านั้นเป็นคนชั่ว บังอาจข่มเหงรังแกคนเยอรมัน ชนกลุ่มน้อยในประเทศนั้นๆ ทางรัฐบาลนาซีเลยต้องประกาศสงคราม

ไม่ต่างจากบางประเทศ ที่มักชูธงศีลธรรมอันดีงาม เพื่อกระทืบอีกฝ่ายให้จมดิน

7. การควบคุมสื่อ ภายหลังพรรคนาซีได้รุ่งเรืองอำนาจในปี ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์และเกิบเบิลส์ ได้เข้าควบคุมหนังสือพิมพ์ทั้งหมดในเยอรมนี เพื่อกำหนดข่าวให้อยู่ทิศทางเดียวกัน ไม่รวมถึงวิทยุกระจายเสียงที่อยู่ภายใต้รัฐบาลอยู่แล้ว และพวกเขาได้สร้างนักพูด นักปลุกระดมมวลชนหลายพันคนที่มีฝีปากจัดจ้าน ออกตระเวนไปพูดทั่วประเทศ ส่งเนื้อหาเพื่อทำให้ประชาชนชื่นชอบฮิตเลอร์ พรรคนาซี และความชอบธรรมในการรุกรานประเทศอื่นๆ

สิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อสารเป็นข้อมูลด้านเดียวที่เป็นประโยชน์ต่อนาซีและเป็นผลร้ายต่อฝ่ายตรงกันข้าม และการนำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมด ไม่เคยเกิดขึ้นในสื่อเลย

พวกเขาเชื่อว่า ภารกิจแรกของการควบคุมสื่อ คือข่าวสารความจริงที่เกิดขึ้นต้องถูกทำให้ตายไปก่อน และสื่อสารให้ผู้คนได้รับทราบเฉพาะข่าวที่พวกเขาต้องการเท่านั้น

การโฆษณาชวนเชื่อจึงเป็นเครื่องมือสำคัญมากในการรักษาอำนาจของฮิตเลอร์และพลพรรคนาซี เช่นเดียวกับการรักษาอำนาจของผู้นำหลายประเทศในยุคนี้ ที่ใช้วิธีการโษณาชวนเชื่อผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ  อาทิ ไลน์ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก โดยมีกองทัพไซเบอร์ เหล่า IO ผู้ทำหน้าที่ปั่นกระแส กล่าวหา ป้ายสี ยุยง สร้างข่าวปลอมในโลกออนไลน์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเกลียดชังให้กับฝ่ายตรงกันข้าม

การรักษาอำนาจกับการโฆษณาชวนเชื่อจึงเป็นเสมือนคู่แฝดที่มิอาจพลัดพรากจากกันได้ และทุกวันนี้ในหลายประเทศ กำลังสู้รบกันอย่างดุเดือด ในนามของ ‘สงครามแย่งชิงมวลชน’

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save