fbpx
จากมาตรการสู้ COVID-19 ถึงการปฏิรูประบบงบประมาณไทย กับ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

จากมาตรการสู้ COVID-19 ถึงการปฏิรูประบบงบประมาณไทย กับ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

วจนา วรรลยางกูร เรียบเรียง

ภาพจากเฟซบุ๊ก ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ – Natthaphong Ruengpanyawut

 

 

วิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลประกาศมาตรการทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขเพื่อสู้ COVID-19 ระยะใหม่ วงเงินร่วม 2 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้จ่ายด้านสาธารณสุข จำนวน 1 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นมาตรการเรื่องสินเชื่อช่วยธุรกิจ และกองทุน BSF ของ ธปท. 9 แสนล้านบาท โดยมีการปรับโอนงบประมาณปี 2563 ประมาณ 8 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท

101 ชวน ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล อดีตพรรคอนาคตใหม่ ส.ส.กทม. เขตบางแค อดีตกรรมาธิการพิจารณางบประมาณฯ สนทนาเรื่องการบริหารงบประมาณสู้ภัย COVID-19 และการปฏิรูประบบงบประมาณไทย ในรายการ 101 One-On-One Ep.114 : “จากมาตรการ 2 ล้านล้านบาท สู้ COVID-19 ถึงการปฏิรูประบบงบประมาณไทย”

มาตรการเศรษฐกิจใหญ่ครั้งนี้ เมื่อผสานกับงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ที่กำลังจะเข้าสภา ดีพอที่จะรับมือวิกฤต COVID-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่ตามมาเพียงใด งบประมาณปี 2564 ได้ปรับเปลี่ยนให้พร้อมรับมือวิกฤต COVID-19 เต็มที่แล้วหรือยัง

 

มาตรการรับมือโควิด 1.9 ล้านล้านบาท

 

ตอนนี้เรายังไม่เห็นไส้ในว่ามาตรการอุ้มเศรษฐกิจเพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19 จำนวน 1.9 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลออกมาเป็นอย่างไร จะมีโครงการอะไรบ้าง

ตัวเลขเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มองตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐที่ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 40% ของจีดีพี เรายังมีกรอบวงเงินกู้ได้อีก 20% ซึ่งเป็นฐานคิดเดิมก่อนวิกฤตโควิดเกิดขึ้น รัฐบาลกู้ 1 ล้านล้านบาทจะยังเหลือพื้นที่ทางการคลังอยู่ แต่ถ้าเศรษฐกิจหดตัว ถ้าในกรณีแย่ที่สุด คือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิดเกิดขึ้นจริงๆ มีการประเมินขั้นต่ำว่าจีดีพีจะ -7% และสูงสุดอาจไปถึง -20% การกู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาทจะค่อนข้างเต็มแล้ว

ส่วนตัวผมคิดว่ากรอบวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทไม่ได้สูงเกินไป แต่เรายืนยันมาตลอดตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ จนมาเป็นพรรคก้าวไกลว่า ถ้างบประมาณอะไรที่ไม่คุ้มค่า แม้แต่หนึ่งบาทก็ไม่ควรจ่าย อะไรที่คุ้มค่าจะหมื่นล้านหรือแสนล้านก็ต้องให้ ถ้ายึดที่ตัวเลขเป็นหลัก ตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐสามารถทำได้ แต่ถามว่าเหมาะสมแค่ไหนต้องดูไส้ในก่อน

 

งบปี 64 ที่ไม่เท่าทันสถานการณ์

 

สำหรับร่างงบประมาณปี 2564 จัดทำบนฐานคิดก่อนเกิดวิกฤตทั้งสิ้น จาก 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มมาเป็น 3.3 ล้านล้านบาท หลายกระทรวงที่ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้วิกฤตโควิดยังคงได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นอยู่ สะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้ปรับการจัดทำงบประมาณได้ทันต่อสถานการณ์

ที่ผ่านมา การจัดทำงบประมาณมักใช้วิธีคิดว่าทุกองคาพยพภายใต้องค์กรหรือประเทศจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าเดิม หลักการง่ายที่สุดคือคิดจากฐานงบประมาณเดิมแล้วบวกอัตราเงินเฟ้อเข้าไป แต่โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปรวดเร็วมากขึ้น บางหน่วยงานอาจจะต้องถูกยุบ บางหน่วยงานอาจจะต้องจัดขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ จึงมีแนวคิดการทำงบประมาณจากฐานศูนย์ (zero-based budgeting) คือดูตามความจำเป็นของแต่ละหน่วยงานว่าปีนี้จำเป็นต้องทำโครงการอะไรบ้าง แล้วจัดลำดับความสำคัญกัน ไม่ได้ยึดติดกับอดีต ซึ่งผมเชื่อว่าการทำเช่นนี้เป็นไปได้ แต่การเริ่มทำงบประมาณจากฐานศูนย์ต้องออกแรงมหาศาล

ตัวเลขของกระทรวงส่วนใหญ่ควรต้องถูกปรับลดเพื่อตอบรับต่อสถานการณ์โควิด แต่ภาพรวมของงบปี 2564 ไม่ได้ตอบโจทย์กับสถานการณ์อย่างทันท่วงที จากประมาณ 30 หน่วยรับงบประมาณ มีไม่ถึง 10 หน่วยรับงบประมาณที่ถูกปรับลดงบลง ที่เหลืออีกประมาณ 20 หน่วยรับงบประมาณได้งบเพิ่มทั้งหมด เราควรจัดลำดับความสำคัญให้บางหน่วยรับงบประมาณ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงดีอี ต้องได้รับงบประมาณสูงกว่ากระทรวงอื่นเพื่อรับมือวิกฤตโควิด

ที่ผ่านมางบประมาณรายจ่ายของประเทศส่วนใหญ่มีไขมันเยอะ เช่น งบจัดอบรมสัมมนา รถประจำตำแหน่ง งบซื้ออาวุธ สิ่งที่เราอยากเห็นตอนนี้คือ พวกงบผูกพัน เช่น งบซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหมควรจะลดไหม ซึ่งในงบปี 2564 รายการเหล่านี้ไม่ได้ถูกปรับลดมาก เป็นงบผูกพันเดิมที่ยังไม่มีการทบทวน ซึ่งเข้าใจว่ามีสัญญาระยะยาวล่วงหน้า แต่ถามว่าถึงขนาดแก้ไขไม่ได้เลยไหม ผมคิดว่าใช้วิธีการเจรจารัฐต่อรัฐได้ เพราะเราเคยทำมาแล้วตอนซื้อ F16 จากสหรัฐอเมริกา ถ้ารัฐจริงใจและจริงจังสามารถเข้าไปทบทวนงบผูกพันเดิมได้ เรื่องนี้เป็น 1 ใน 7 ข้อเสนอการงบประมาณปี 2564 ของพรรคก้าวไกล ด้วย

ใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มีการกำหนดอยู่แล้วว่าสัดส่วนงบผูกพันทั้งหมดต้องไม่เกิน 10% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด เมื่อดูรายละเอียด กระทรวงกลาโหมกินสัดส่วนงบผูกพันประมาณ 22% ของงบผูกผันทั้งหมด ส่งผลให้เข้าไปเบียดบังโควตางบผูกผันของกระทรวงอื่นๆ เช่น หากดีอีอยากลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศก็ตั้งงบขึ้นมาไม่ได้แล้ว เพราะว่าเกินเพดาน ตอนนี้งบผูกพันไปกองอยู่ที่กระทรวงคมนาคมเป็นอันดับหนึ่ง (32%) แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่ง แต่บางกระทรวงเราเห็นว่าไม่จำเป็น อย่างงบซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหม

สำหรับงบปี 2563 ที่ผ่านมาอดีตพรรคอนาคตใหม่เคยให้ข้อสังเกตว่าถ้าไม่มีความจำเป็นก็ไม่ควรตั้งงบกลางเยอะเพราะขาดการตรวจสอบ แต่ในสถานการณ์นี้ ผมค่อนข้างเห็นด้วยว่าควรขยายงบกลางให้มากขึ้นเพื่อรองรับวิกฤตที่เราคาดเดาไม่ได้ในอนาคต ถ้าดูตัวเลขงบปี 2564 จะเห็นว่า งบกลางยังไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะโครงสร้างงบประมาณนำมาจากฐานของงบประมาณปี 2563 ไม่ได้คิดใหม่หรือทำให้ตอบโจทย์กับสถานการณ์

ผมเชื่อว่าทันทีที่มีการเปิดสภาและอภิปรายร่างงบประมาณปี 2564 งบประมาณที่ถูกพิจารณาในสภาจะไม่เหลือเค้าโครงเดิมเท่าไหร่ เชื่อว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น

 

งบดิจิทัลซ้ำซ้อน-ซ้ำซาก

 

สำหรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อปฏิรูประบบราชการและนำไปสู่รัฐบาลดิจิทัล วันนี้เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์โดยเฉพาะดิจิทัลของประเทศไทยยังตามหลังประเทศอื่นๆ ในการทำงบประมาณปี 2563 ผมมีส่วนโดยตรงในการอภิปรายเรื่องงบรัฐบาลดิจิทัล เราจะพบว่า 10 ปีที่ผ่านมาเป็นทศวรรษที่สูญเปล่าแห่งรัฐบาลดิจิทัล เราจะเห็นการของบประมาณด้านดิจิทัลที่ซ้ำซ้อน เช่น ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ หวังจะตั้งศูนย์ใหญ่ ไม่ให้แต่ละองค์กรมีเซิร์ฟเวอร์แยกของตัวเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดงบประมาณที่ซ้ำซ้อน แต่เราก็ยังเห็นหน่วยงานต่างๆ ของบประมาณตั้งเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองอยู่

ถ้าย้อนไปดูแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่ออกมา เขามีแผนล่วงหน้าหลายปี แต่พอดูผลลัพธ์แล้วก็ไม่สำเร็จ พอถึงปีปัจจุบันก็ยังขอเข้ามาซ้ำซาก แล้วโครงการที่ขอเข้ามาตั้งแต่ปีแรกเกิดผลลัพธ์อะไร นี่เป็นตัวอย่างของการใช้งบประมาณซ้ำซาก

สุดท้ายคือเรื่องขาดวิสัยทัศน์ ถ้ารัฐบาลเล็งเห็นและให้ความสำคัญเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ วันนี้ประเทศไทยจะพร้อมสู้กับโควิดมากกว่านี้ ถ้ามีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ดี หากดูสามประเทศที่จัดการกับโควิดได้ดีที่สุด คือ จีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ ล้วนนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ โควิดเกิดขึ้นมาไม่ถึงเดือนแต่เขาสามารถพัฒนาระบบป้องกันการกักตุนสินค้า ระบบการกระจายสินค้า ระบบการติดตามผู้เสี่ยงติดเชื้อได้ ไม่ใช่เพราะเขามีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เก่งกว่าเรา แต่เขามีโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศที่พร้อมกว่า และมีคลาวด์กลางภาครัฐมาก่อนหน้านี้แล้วหลายปี

สิ่งที่อยากเห็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อย่างแรกต้องลดความซ้ำซ้อนลง สำนักงบประมาณภายใต้สำนักนายกฯ เป็นคนถือกุญแจสำคัญ เพราะเป็นด่านสุดท้ายที่จะปล่อยงบประมาณให้แต่ละหน่วยงานใช้ หน่วยงานไหนที่ของบประมาณคลาวด์กลางเข้ามาซ้ำซากต้องตัดเลย แล้วคุยกับ ครม.ว่าขอหนึ่งหน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งได้ผลออกมาว่าปีหน้ากระทรวงดีอีจะเป็นผู้รับผิดชอบ

เรื่องดิจิทัลไอดีก็มีส่วนสำคัญ เป็นระบบดิจิทัลที่ใช้ยืนยันตัวบุคคลแบบออนไลน์โดยไม่ต้องใช้บัตรประชาชน ที่ไต้หวันสามารถป้องกันการกักตุนสินค้า กระจายหน้ากากอนามัยให้แต่ละคนได้ไปเท่าๆ กันได้ เพราะมีระบบนี้ที่เชื่อมทุกร้านค้าและภาคเอกชนเข้าด้วยกัน ระบบดิจิทัลไอดีจะเป็นกุญแจสำคัญพอกับคลาวด์กลางภาครัฐที่จะทำให้ภาพแบบนี้เกิดขึ้นได้

สำหรับดิจิทัลไอดี หน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูล คือ กรมการปกครอง มหาดไทย ที่ดูแลทะเบียนราษฎร์และบัตรประชาชน แต่อาจจะยาก หากให้มหาดไทยทำเทคโนโลยีที่ซับซ้อน โมเดลที่สำเร็จในต่างประเทศคือการตั้งหน่วยงานลักษณะแบบ DGA (digital government agency) สังกัดภายใต้สำนักนายกฯ ที่ทำให้สามารถไปคุยได้กับทุกกระทรวง โดยส่วนตัวผมเห็นว่าควรจะให้ DGA ทำ แต่มติครม.ออกมาแล้วว่าให้กระทรวงดีอีทำ

นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นที่ซ้ำซ้อน เช่น บิ๊กดาต้าหรือบล็อกเชน ในงบปี 2563 เราจะเห็นคีย์เวิร์ดพวกนี้ที่เขาใส่มาตามกระแสโลกาภิวัตน์ ทุกหน่วยงานของบบิ๊กดาต้าเข้ามาหมด แล้วสุดท้ายจะเป็นบิ๊กดาต้าได้ยังไงเมื่อฐานข้อมูลกระจัดกระจายอยู่ทุกหน่วยงาน ลักษณะนี้ทำให้เห็นว่ารัฐบาลยังตีโจทย์ไม่แตกว่าสิ่งนี้คืออะไร

 

ปฏิรูปงบท้องถิ่น เพิ่มกระจายอำนาจ

 

เรื่องการกระจายอำนาจ ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศญี่ปุ่นสัดส่วนจำนวนข้าราชการท้องถิ่นกับส่วนกลางจะอยู่ที่ 70:30 แต่ประเทศไทยจะอยู่ที่ 30:70 เมื่อโครงสร้างระบบราชการเทอะทะ เงินงบประมาณส่วนใหญ่จึงกองอยู่ที่ส่วนกลาง ท้องถิ่นเหลือพื้นที่นิดเดียว

ตาม พ.ร.บ.กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจฯ แม้มีกฎหมายกำหนดว่ารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล แต่เราก็ยังเห็นว่างบอุดหนุนที่รัฐบาลให้ลงไป สุดท้ายก็เป็นงบที่ให้ไปเพื่อดำเนินตามนโยบายที่กำหนดจากรัฐส่วนกลาง เช่น เบี้ยคนชรา ทำให้ท้องถิ่น ขาดอิสระในการใช้งบประมาณของตัวเอง

ผมอยากเห็นการจัดทำงบประมาณที่เป็นการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นมีอิสระในการใช้งบประมาณของตัวเอง เพราะท้องถิ่นมีศักยภาพ ขอแค่ปล่อยให้เขาไปทำ ให้เขาตัดสินใจเองว่าอยากพัฒนาท้องถิ่นของเขาอย่างไร

สิ่งที่เราอยากเห็นคือสูตรการจัดสรรงบประมาณที่หารเฉลี่ยเป็นงบประมาณต่อหัวประชากร มีการโยกงบประมาณที่จัดเก็บได้จากจังหวัดที่รวยกว่าไปให้จังหวัดที่จนกว่า มีการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนประชากร มีการการถ่วงน้ำหนักตามความเหลื่อมล้ำ แต่จากการอภิปรายงบประมาณท้องถิ่นไป เรายังไม่เห็นสิ่งนี้ รัฐบาลในฐานะผู้จัดเก็บภาษี ต้องลดความเหลื่อมล้ำด้วยการโยกทรัพยากรจากจังหวัดที่รวยไปยังจังหวัดที่จน ซึ่งเรายังไม่เห็นภาพแบบนั้นในการจัดทำงบประมาณปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน ท้องถิ่นหารายได้เองได้น้อยมาก แต่พึ่งพิงเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งมีเงื่อนไข ไม่ได้เป็นอิสระ และไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ เพราะหลายจังหวัดที่ร่ำรวยกลับได้รับเงินอุดหนุนมาก ส่วนจังหวัดจนหลายที่ได้เงินอุดหนุนน้อย

 

สะสางระบบจัดทำงบประมาณแผ่นดิน

 

โครงสร้างระบบราชการไทยทำให้โครงสร้างงบประมาณของเราออกมาเป็นแบบนี้ สิ่งที่ผมอยากเห็นในการจัดทำงบประมาณ คือ 1. การส่งเอกสารล่วงหน้าให้กับส.ส.และกรรมาธิการในระยะเวลาที่เหมาะสม 2. ทำเป็นดิจิทัลฟอร์แมต และ 3. เรื่อง zero-based budgeting อะไรมีความสำคัญมากก็ตั้งงบไว้ก่อน อะไรมีความสำคัญน้อยค่อยมาเกลี่ยทีหลัง

จากการทำหน้าที่ กมธ.งบประมาณ เรื่องที่ผมค่อนข้างช็อกคืองบประมาณแผ่นดิน 3.2 ล้านล้านบาท คุณให้ส.ส.และกรรมาธิการพิจารณาไม่กี่วัน บางหน่วยงานของบประมาณหลักพันล้านแต่เราไม่เคยได้เอกสารล่วงหน้า ไปถึงสภาตอนเช้าเพิ่งมีเอกสารหลายพันหน้ามาตั้งไว้ งบประมาณขนาดนี้แต่ให้เวลาอ่านไม่กี่ชั่วโมงแล้วให้คอมเมนต์ในกรรมาธิการว่าอยากจะตัดตรงไหนที่ไม่จำเป็น เชื่อว่ากรรมาธิการ 50 หรือ 100 คนก็ไม่มีทางดูทัน

สิ่งที่เราเรียกร้องว่าในการทำงบประมาณปี 2564 คือต้องส่งเอกสารงบประมาณรายจ่ายให้อย่างน้อยล่วงหน้า 1 เดือน และไม่ได้ส่งมาแค่แบบกระดาษ เราอยากเห็นดิจิทัลฟอร์แมต เพื่อนำไปใช้คำนวณต่อได้สะดวก เพราะพอมาเป็นเอกสารกระดาษทำให้เราต้องคีย์ข้อมูลใหม่หมดและเสียเวลามาก แทนที่จะได้เอาเวลาไปใช้กับการคิดวิเคราะห์

วัฒนธรรมการตัดงบประมาณที่ผ่านมาก็ใช้การปรับลดเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเข้าใจว่าถ้าไม่มีเวลาและไม่ได้เอกสารงบประมาณรายจ่ายที่หนาหลายหมื่นหน้ามาก่อน ก็ทำ zero-based budgeting ไม่ได้ นี่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ที่ผ่านมากรรมาธิการต้องตัดงบกันเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งวิธีการแบบนี้ไม่น่าเกิดขึ้น เพราะถ้าตัดทั้งกระทรวง 10% บางโครงการที่เขาจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็จะต้องโดนตัดไปด้วย เราจึงอยากเรียกร้องให้เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงบประมาณ เริ่มที่ zero-based budgeting ให้ดูเป็นรายโครงการไป

อีกเรื่องคือ ในฐานะที่เราเป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคหนึ่งที่ได้เข้าไปนั่งในกรรมาธิการ หลายครั้งรู้สึกได้ว่ามีการเจรจาเบื้องหลังและอดีตพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้มีส่วนร่วมในนั้น เขาอาจจะรู้สึกว่าไว้ใจพรรคหน้าใหม่ไม่ได้ เป็นเรื่องปกติของการจัดทำงบประมาณที่ต้องมีการเจรจาต่อรองกัน แต่อาจมีบางประเด็นที่เขาเจรจากันและไม่อยากให้เรารู้

แต่สิ่งที่ผมค่อนข้างประทับใจ คือ ที่ผ่านมาก่อนที่จะเข้ามาทำงานการเมือง เราคิดว่านักการเมืองเป็นเรื่องของการเจรจาผลประโยชน์ล้วนๆ แต่พอได้เข้าไปนั่งในสภา ก็พบว่าสุดท้ายแล้วนักการเมืองส่วนใหญ่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนของปวงชน ในห้องกรรมาธิการจะมีฝั่งฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล หลายครั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเดินมาบอกว่าให้ผมช่วยพูดเรื่องนี้หน่อย เพราะเป็นโครงการของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นที่เขาพูดไม่ได้ แต่รู้ว่าโครงการนี้ผิดปกติ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ส.ส.ทุกคนต้องการทำอะไรเพื่อประชาชน เพราะเขาก็เป็นหนึ่งในประชาชน และเขาหวังว่าประชาชนในพื้นที่ต้องเลือกเขากลับมาอีกครั้ง

สุดท้าย สำหรับเรื่องโควิด ภัยที่น่ากลัวคือเรื่องความรู้สึกทางสังคม ผมอยากสื่อสารกับสังคมว่าอย่าตื่นตระหนก เราต้องตระหนักและมีสติ ถ้าตระหนกแล้วกักตุนสินค้า มีอะไรไม่แบ่งปัน จะยิ่งทำให้สังคมเดินต่อไปไม่ได้ ทั้งเรื่องหน้ากากอนามัยหรือเจลแอลกอฮอล์ยิ่งกักตุนสินค้าราคาจะยิ่งสูง คนหาเช้ากินค่ำหรือคนที่ชักหน้าไม่ถึงหลังก็จะยิ่งเข้าไม่ถึง เมื่อคนเหล่านี้คือคนส่วนใหญ่ของสังคม แล้วคุณจะปลอดภัยจากโควิดได้ยังไง หากเดินออกไปข้างนอกสังคมรอบข้างมีแต่ผู้ติดเชื้อหมดแล้ว

วันนี้ทุกคนควรตระหนักรู้และมีสติออกมาแบ่งปันกัน ทำยังไงก็ได้ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการป้องกันได้อย่างเท่าเทียมกัน และผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save