fbpx
มองโลกผ่านโบราณคดีร่วมสมัย กับ ณัฎฐา ชื่นวัฒนา

มองโลกผ่านโบราณคดีร่วมสมัย กับ ณัฎฐา ชื่นวัฒนา

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ภาพนำโดย Tomas Castelazo

 

เรื่องราวของ ‘โบราณคดีร่วมสมัย’ ที่ถูกบอกเล่าผ่านคอลัมน์ ‘โบราณการครัว’ ทาง The101.world ได้พาผู้อ่านไปพบกับเรื่องราวอันหลากหลายผ่านการมองโลกแบบโบราณคดี โดยเฉพาะโบราณคดีร่วมสมัยที่อาจยังไม่แพร่หลายในไทยนัก ซึ่งเป็นการศึกษาอดีตร่วมสมัยในยุคปัจจุบันและแตกต่างจากวิชาโบราณคดีเก่า โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับนิยามและการให้คุณค่าของโบราณวัตถุ ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเก่าแก่เพียงอย่างเดียว

101 ชวนพูดคุยกับ ณัฎฐา ชื่นวัฒนา ผู้ศึกษาด้านโบราณพฤกษคดี ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยโตรอนโต เจ้าของคอลัมน์โบราณการครัว ถึงเรื่องโบราณคดีร่วมสมัย ความสำคัญของการศึกษาเรื่องคนที่ถูกทำให้มองไม่เห็นจากสังคม และมุมมองที่แตกต่างในการมองมนุษย์ผ่านแว่นตาโบราณคดีร่วมสมัย

ตัวอย่างของเรื่องเล่าผ่านสายตาโบราณคดีร่วมสมัย ปรากฏในบทความ “โบราณคดีร่วมสมัยของศพไร้ชื่อ และ อาหารจานโปรดในความทรงจำของแม่” พูดถึงการศึกษาร่องรอยของแรงงานนอกระบบชาวเม็กซิกันและชาวอเมริกาใต้ที่พยายามลักลอบเดินทางผ่านชายแดนเม็กซิโกบริเวณทะเลทรายโซโนรา ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจนกลายเป็นศพไร้ชื่อที่ถูกลืม โดย ศ.เจสัน เด เลออน ศึกษาผ่านสิ่งของเครื่องใช้ที่แรงงานทิ้งไว้ งานชิ้นนี้ไม่เพียงสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการด้านความรู้ทางโบราณคดีเท่านั้น แต่ยังได้คืนความเป็นมนุษย์และความเป็นธรรมให้กับแรงงานเหล่านี้ด้วย

 

 

โบราณคดีร่วมสมัยเป็นอย่างไร ถูกให้คุณค่าแค่ไหนในโลกวิชาการ แตกต่างกับโบราณคดีกระแสหลักอย่างไร

โบราณคดีร่วมสมัยจะศึกษาอดีตในช่วงระยะเวลาที่ใกล้ อาจเป็นเรื่องตั้งแต่เมื่อวานไปจนถึง 100-200 ปีก็ได้ โดยนักโบราณคดีจะยังไม่แยกขาดไปจากประสบการณ์ ความรู้สึก และความทรงจำทางสังคม เป็นการศึกษาที่เห็นทั้งสิ่งของและคน

โบราณคดีร่วมสมัยตั้งคำถามต่อการทำงานของโบราณคดีเก่าว่า คุณค่าของงานโบราณคดีคืออะไร คือเรื่องเล่าหรือมูลค่าและความเก่าแก่ของโบราณวัตถุ ซึ่งคำตอบที่โบราณคดีร่วมสมัยได้คือ โบราณคดีมีคุณค่าอยู่ที่เรื่องราว

โบราณคดีเก่ามักจะมองสิ่งของประเภทถุงพลาสติก หนังยาง ขวดโซดา ขวดเบียร์ ว่าเป็นของใหม่หรือเป็นขยะทางโบราณคดี เพราะมันกั้นอยู่ระหว่างตัวนักโบราณคดีในปัจจุบันกับอดีตอันห่างไกลที่พวกเราต้องการศึกษา ถ้ามองเป็นขนมชั้น ของใหม่อยู่ข้างบน ของเก่าอยู่ข้างล่าง นักโบราณคดียืนอยู่บนผิวหน้าขนม ยิ่งขุดลึกลงไป อายุของชั้นยุคสมัยก็จะยิ่งมากขึ้น ส่วนล่างที่อยู่ติดกับถาดขนมชั้นคือสิ่งที่ต้องการศึกษา นักโบราณคดีจึงตีค่าของประเภทถุงพลาสติกหรือขวดเบียร์ว่าเป็นสิ่งของปัจจุบัน อาจจะแค่จดบันทึก ถ่ายรูป แล้วทิ้งไป แสดงว่าของใหม่พวกนี้มีคุณค่าไม่เท่ากับโบราณวัตถุเก่าแก่ที่อยู่ถัดลงไป

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 โบราณคดีร่วมสมัยถูกหัวเราะเยาะจากนักโบราณคดีเก่าหลายคนว่าเป็นการศึกษาพฤติกรรม ไม่ใช่การศึกษาวัฒนธรรม เป็นเรื่องของนักโบราณคดีเด็กที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ไม่ชอบตากแดดร้อนๆ เกลียดการขุดค้นเปื้อนฝุ่นที่ทำให้ตัวสกปรก เพราะในความคิดของเขาคือข้อมูลที่โบราณคดีร่วมสมัยผลิตขึ้นมา ใช้ทำความเข้าใจอดีตในสมัยโบราณไม่ได้

พอเวลาผ่านไป งานโบราณคดีร่วมสมัยก็พิสูจน์ตัวเองว่า คำถามที่พวกเขาถามไม่ได้ต้องการใช้ศึกษาเรื่องราวในอดีตเสมอไป แต่คำถามที่พวกเขาใช้และวิธีการในการศึกษาคือการตรวจสอบแนวคิดเบื้องหลังงานโบราณคดีเก่าว่า คุณค่าที่แท้จริงของโบราณคดีอยู่ตรงไหนกันแน่ พรมแดนของวิชาโบราณคดีอยู่แค่ที่การศึกษาเรื่องราวในอดีตที่ไกลตัวเป็นพันเป็นหมื่นปีเท่านั้นหรือเปล่า และโบราณคดีสามารถศึกษาอดีตในทุกสมัยของทุกคนในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกันหรือเปล่า คำตอบที่ได้ก็คืออดีตในแต่ละสมัยของโบราณคดีเก่ามีคุณค่าไม่เท่ากัน

ตอนนี้โบราณคดีร่วมสมัยเป็นที่ยอมรับในฐานะสาขาหนึ่งของโบราณคดีสากล แต่ในเมืองไทยและสำหรับตัวเราเองก็ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก

 

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพสำหรับคนที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับโลกโบราณคดี เครื่องมือที่ใช้ศึกษาโบราณคดีร่วมสมัยแตกต่างกับโบราณคดีเก่าที่คนทั่วไปเข้าใจอย่างไรบ้าง

ถ้าจะนึกภาพถึง Indiana Jones หรือ Lara Croft อาจจะต้องผิดหวัง เพราะเราจะไม่กระโดดเถาวัลย์หรือไปสู้รบเพื่อแย่งชิงโบราณวัตถุแบบนั้น โบราณคดีร่วมสมัยใช้เครื่องมือแบบเดียวกันกับโบราณคดีเก่า แต่เราจะเน้นไปที่วิธีการสังเกตและทฤษฎีทางมานุษยวิทยา ด้วยความที่มันเป็นเรื่องปัจจุบัน เราไม่ต้องขุดขนมชั้นไปดูใต้ฐานแล้ว เราสามารถมองไปรอบตัวในห้องก็จะเห็นสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นโบราณวัตถุ ดังนั้น โบราณวัตถุในนิยามของโบราณคดีร่วมสมัยคือของที่อยู่รอบตัวเราได้ด้วย แถมบางทีตัวเราเองนั่นแหละก็เป็นโบราณวัตถุด้วยซ้ำไป

โบราณคดีศึกษาอดีตในฐานะที่เป็น ‘คนนอก’ มาตลอด ในที่นี้คือคนนอกวัฒนธรรม ไม่ได้อยู่ร่วมสมัยกัน ส่วนตัวบางครั้งรู้สึกเหมือนเรากำลังนินทาลับหลังคนในอดีต เพราะอดีตเหล่านั้นเขาจะไม่สามารถโต้เถียงอะไรเราได้ ในขณะที่โบราณคดีร่วมสมัยมีผลกระทบต่อคนในปัจจุบัน

วิธีการในการศึกษาโบราณคดีร่วมสมัยอาจไม่ได้ขุดค้นมากเท่าโบราณคดีในอดีต หากศึกษาช่วง 100-200 ปีที่ผ่านมาอาจมีการขุดค้นบ้าง แต่ว่าถ้าเป็นช่วงอดีตอันใกล้มากๆ ก็สามารถเห็นได้โดยไม่ต้องขุดค้น สิ่งของที่เราเห็นในห้องเพื่อนก็คืออดีตที่อยู่รอบตัวเรา โบราณคดีร่วมสมัยมองว่าทุกอย่างเป็นโบราณวัตถุได้หมด

 

ส่วนตัวมาสนใจโบราณคดีร่วมสมัยได้อย่างไร

โบราณคดีร่วมสมัยเปิดมุมมองให้เราได้มองศาสตร์ที่เราศึกษามานานว่า คุณค่าของงานโบราณคดีอยู่ตรงไหนกันแน่ พอการทำงานโบราณคดีร่วมสมัยไม่จำเป็นต้องเก่า เราก็เกิดคำถามว่าแล้วมันต่างจากวิชามานุษยวิทยาตรงไหน…ก็ไม่ต่าง วิชาโบราณคดีมีเป้าหมายคือการศึกษาคน แต่เพราะคนหายไปหมดแล้ว ดังนั้นสิ่งที่หลงเหลือไว้ก็คือสิ่งของ แล้วถ้าเป็นสิ่งที่อยู่ในปัจจุบันล่ะ

การทำงานโบราณคดีเก่าไม่ได้ตอบคำถามส่วนตัวของเราในแง่การทำความเข้าใจเรื่องการก่อร่างความรู้ การสร้างภาพในอดีต หรือภววิทยาการสร้างความรู้ของโบราณคดี จึงเป็นคำถามสำคัญของโบราณคดีร่วมสมัยที่ว่า ถ้าไม่ศึกษาของเก่าแล้วคุณค่าของโบราณคดีจะอยู่ตรงไหน ถ้าไม่ศึกษาของอลังการแล้วอดีตจะเป็นอย่างไร กระบวนการคิด การหาข้อมูลและมุมมองที่ได้ก็จะต่างออกไป แล้วเราจะทำความเข้าใจมนุษย์ได้มากขึ้น เพราะว่าเรากิน อยู่ ร่วมกับเขาในทุกลมหายใจ

เป้าหมายสูงสุดของงานโบราณคดีคือการสร้างภาพคนในอดีตให้กลับมามีชีวิตได้ แต่หากคุณกำลังนั่งจ้องหน้าคนที่คุณศึกษาอยู่ ใช้ชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกันกับเขา คุณจะสามารถเล่าเรื่องได้แบบเดียวกับที่โบราณคดีเก่าเล่าหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่ เราเลยสนใจโบราณคดีร่วมสมัยเพราะมันสะท้อนให้เห็นภาพโบราณคดีในมุมมองที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

 

บทความหนึ่งของคุณณัฎฐาเรื่อง ‘โบราณคดีร่วมสมัยของศพไร้ชื่อ และอาหารจานโปรดของแม่’ ซึ่งให้ภาพเรื่องโบราณคดีร่วมสมัยและพูดถึงการศึกษาร่องรอยแรงงานนอกระบบเม็กซิกันที่ลักลอบผ่านชายแดน ทำไมถึงสนใจหยิบเรื่องนี้มาเขียนถึง

งานของ ศ.เจสัน เด เลออน (Jason De León) เป็นที่ยอมรับทั้งในสาขามานุษยวิทยาและโบราณคดี ตอนแรกอาจารย์เจสันเป็นนักโบราณคดีเก่า ศึกษาโบราณคดีแบบจารีต แต่ด้วยปูมหลังทางวัฒนธรรมที่อาจารย์มีคุณพ่อคุณแม่เป็นคนละติน เป็นคนฟิลิปปินส์กับเม็กซิกัน อาจารย์พูดภาษาสเปนได้ แล้วคงเกิดคำถามขึ้นมาว่าจะใช้โบราณคดีศึกษาปัจจุบันได้ไหม อาจารย์ดำเนินการศึกษากลุ่มชาวเม็กซิกันที่หลบหนีเข้าเมืองมาในประเทศสหรัฐอเมริกาทางตอนใต้ผ่านทะเลทรายโซโนรา

การหลบหนีเข้าเมืองของชาวเม็กซิกันเข้ามาทางทะเลทรายโซโนรา รัฐแอริโซนา เกิดมากขึ้นทุกปีโดยที่รัฐบาลไม่สามารถทำอะไรได้ แม้จะพยายามผลักดันให้คนหลบหนีเข้าเมืองไปทางทะเลทรายเพื่อให้คนหลบเข้าไปได้ยากขึ้นและวางมาตรการการตรวจค้นรักษาความปลอดภัยบริเวณเมือง ปรากฏว่าแทนที่คนจะกลัวและจำนวนผู้หลบหนีเข้าเมืองลดลง แต่จำนวนผู้หลบหนีเข้าเมืองก็ไม่ลดลง ที่เพิ่มขึ้นคือจำนวนคนตายระหว่างเดินทาง

ในการเดินทาง คนจะมีสิ่งของเครื่องใช้ติดตัวไป พอเขาตายก็จะทิ้งร่องรอยบางอย่างเอาไว้ในทะเลทราย การเดินข้ามทะเลทราย ไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร สภาพอากาศก็สุดโต่งมาก ร้อนก็ร้อนมาก หนาวก็หนาวจับใจ และต้องเผชิญกับพวกลักลอบขนคนเข้าเมือง คนค้ายาเสพติดชาวเม็กซิกัน หรือที่เรียกว่าโคโยเตส (Coyotes)

เวลาคนพวกนี้เดินไปที่ไหนจะทิ้งร่องรอยเป็นสิ่งของเอาไว้เหมือนรอยขนมปังในนิทาน ทางการสหรัฐฯ ตีค่าสิ่งของที่ถูกทิ้งไว้ตามชายแดนว่าเป็นขยะ คนหลบหนีเข้าเมืองจะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกผิดกฎหมาย เป็นเหลือบไรของสังคม คนกลุ่มนี้ก็เลยถูกด้อยค่า

มุมมองการมองคนหลบหนีเข้าเมืองนี้ถูกสร้างโดยรัฐเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง แต่อาจารย์เจสันตั้งคำถามว่าเรื่องเล่าในมุมมองของผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวเม็กซิกันจะสามารถเล่าอะไรได้บ้างไหม สิ่งของที่เขาทิ้งไว้เบื้องหลังบ่งบอกถึงพฤติกรรมอะไรของเขาบ้าง

อาจารย์เจสันเข้าไปอยู่ในชุมชนที่กลุ่มคนหลบหนีเข้าเมืองอยู่เพื่อเตรียมตัวก่อนข้ามพรมแดน ดูว่าเขาทำอะไร ซื้อของอะไร ใช้ชีวิตแบบไหน และแต่ละคนมีเรื่องราวอย่างไร ใช้วิธีการชาติพันธุ์วรรณาทางมานุษยวิทยาในการสังเกตการณ์ พอไปถึงชายแดนเพื่อข้ามไปประเทศสหรัฐอเมริกา อาจารย์ก็เดินดูว่าพวกเขาทิ้งของอะไรไว้ เวลาหยุดพักเขามีมาตรการในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายหรือเอาชีวิตรอดภายใต้สภาพแวดล้อมที่อันตรายได้อย่างไร มีหลักฐานทางวัตถุหลงเหลือไว้ไหมที่แสดงถึงการปรับตัว

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับงานนี้มีสองเรื่อง

หนึ่ง อาจารย์เจสันหลบหลีกจากการศึกษาเฉพาะ ‘ของมีค่า’ ในนิยามของโบราณคดีเก่า ใช้วิธีการทางโบราณคดีศึกษาสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าเป็นขยะและศึกษาคนที่สังคมปัจจุบันมองว่าเป็นคนนอก เป็นคนไม่ดี เป็นคนที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมทั้งในทางการเมืองและประวัติศาสตร์ของรัฐ อาจารย์ทำให้ภาพพวกนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้งจากมุมมองตัวเขาเอง

เรื่องนี้ทำให้เราตระหนักว่า ในฐานะนักโบราณคดีเรากำลังพลาดอะไรไปบ้าง ถ้าไม่มองเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ของคนธรรมดาที่ส่วนมากมองเห็นได้ยากเพราะของพวกนี้มักถูกเก็บกวาดเป็นขยะ ทำให้ไม่มีค่า ตรงกันข้ามกับหลักฐานทางโบราณคดีเก่าส่วนใหญ่ที่มักจะเกี่ยวกับคนรวยหรือผู้นำ มักเป็นของสวยงาม หรูหรา เลอค่า มองเห็นได้ง่าย ได้รับการดูแลและรักษาอยู่เสมอ เราคิดว่าการศึกษาเรื่องคนตัวเล็กตัวน้อยที่เรามองเห็นได้ยากกว่าจะทำให้ศึกษาสังคมได้รอบด้านมากขึ้น

สอง อาจารย์เจสันพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวในการศึกษา ไม่ลังเลที่จะถ่ายทอดความรู้สึกโน้มเอียงและอ่อนไหวไปกับเรื่องราวและชะตากรรมของคนที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัย เราไม่คิดว่าการใช้อัตวิสัยจะเป็นจุดด้อยในการมองภาพแรงงานชาวเม็กซิกันที่ถูกลืมจากประวัติศาสตร์ทางการ แต่กลับเป็นจุดเด่นที่ทำให้ความเป็นคนกลับมาอย่างเด่นชัด ทั้งที่คนพวกนี้ถูกสร้างภาพว่าไม่ใช่คนที่ต้องเห็นใจ ไม่ใช่เรื่องราวที่จำเป็นต้องได้รับการรับรู้และนำเสนอ

งานนี้เด่นในการสร้างภาพความเป็นมนุษย์ หรือ humanize หลักฐานให้เห็นภาพได้อย่างยอดเยี่ยม และในฐานะนักโบราณคดี ทำให้เรากลับมาใคร่ครวญอีกครั้งว่า ลักษณะการเล่าเรื่อง การนำเสนอหลักฐานของโบราณคดีที่เราใช้อยู่ มันจะไปไกลได้กว่านี้หรือเปล่า มันจะมีแบบเดียวไหม หรือเรากำลังทำอะไรอยู่กันแน่

 

สภาพแวดล้อมบริเวณชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐอเมริกา ในบริเวณทะเลทรายโซโนรา (ภาพโดย Dan Sorensen)

 

แล้วการใช้แว่นตาของโบราณคดีร่วมสมัยมองเรื่องราวคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ แตกต่างกับวิธีการเข้าไปค้นหาเรื่องเล่าในศาสตร์อื่นๆ อย่างไร เช่น ชาติพันธุ์วิทยา มานุษยวิทยา นิติวิทยาศาสตร์

คิดว่าไม่ต่าง สิ่งที่ทำให้โบราณคดีเป็นโบราณคดีก็คือความสนใจในเรื่องอดีต แต่วิธีวิทยาต่างๆ เราหยิบยืมเขามาหมด ตั้งแต่การขุดค้นที่ใช้ความรู้ทางธรณีวิทยา การศึกษาเรื่องคนที่ใช้ชาติพันธุ์วรรณา การศึกษาลักษณะทางชีววิทยาของคนหรือร่องรอยที่เกิดจากการป่วยไข้ เจ็บป่วย ถูกทำร้าย ก็ใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยากายภาพ เราหยิบยืมมาหมดทุกอย่าง แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวคือต้องการศึกษามนุษย์ในอดีต และสร้างภาพมนุษย์ในอดีตขึ้นมาจากหลักฐานในโบราณคดี สุดท้ายเราก็ต้องนำเสนอข้อมูลเหล่านั้นให้คนทั่วไปฟังอยู่ดี เราจึงคิดว่าวิชาโบราณคดีเป็นการผสมรวมกันของทักษะการทำงานทั้งหลายเหล่านี้ในอดีต

 

การศึกษาเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกทำให้มองไม่เห็นในสังคมทำให้เราสามารถเข้าใจภาพใหญ่ของสังคมได้อย่างไรบ้าง

ถ้าเราเห็นคนตัวเล็กตัวน้อยได้ เราก็เห็นคนอื่นในสังคมได้เหมือนกัน เพราะแม้แต่เรื่องของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมปัจจุบันเองก็สามารถมองเห็นได้ยากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้าน คนยากจน สำหรับการศึกษาผ่านหลักฐานทางวัตถุ พวกเขามีความสามารถในการเก็บสะสมวัตถุได้น้อย แต่ถ้าคุณไปเที่ยวบ้านคนรวยจะพบของเต็มบ้านเลย สามารถสร้างประวัติศาสตร์หรือเขียนหนังสือเป็นเล่ม ในขณะที่คนจนมีแต่ตัว เสื่อผืนหมอนใบยังไม่มีด้วยซ้ำไป

ดังนั้น ถ้าสามารถศึกษาคนตัวเล็กตัวน้อยได้ การจะศึกษาสังคมให้รอบด้านได้ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะการศึกษาคนตัวเล็กตัวน้อยในอดีตนั้นมีความยากมากที่สุดอย่างที่บอกไปแล้ว

ถ้าเปรียบการศึกษาทางโบราณคดีเป็นการไปเที่ยวกรุงเทพฯ สำหรับคนที่ไม่เคยไปกรุงเทพฯ มาก่อน โดยต้องการเห็นกรุงเทพฯ ในเวลาจำกัดเพียงแค่หนึ่งวัน หากถามเพื่อนที่เป็นคนกรุงเทพฯ ว่าอยากเห็นความเป็นกรุงเทพฯ เพื่อนก็อาจบอกว่าให้ไปเที่ยววัดพระแก้ว เพราะเป็นสถานที่สำคัญมากของกรุงเทพฯ มีความสวยงามใหญ่โต มีประวัติศาสตร์ แล้วเราก็ไปเที่ยววัดพระแก้ว ซึ่งใหญ่โตและสวยงามมาก มีอาคารศิลปะต่างๆ ให้ดูเยอะแยะไปหมด พอเรากลับบ้านแล้วต้องเล่าเรื่องกรุงเทพฯ ให้เพื่อนฟัง เราก็จะเล่าเรื่องวัดพระแก้วและรอบๆ วัดพระแก้วให้เพื่อนฟัง แต่ถ้าลองคิดดู ภาพที่เราเห็นกรุงเทพฯ มีแค่วัดพระแก้วหรือเปล่า กรุงเทพฯ ไม่ได้มีแค่วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ มีคลองเตย มีป่าช้าวัดดอน มีตลาดสดสี่มุมเมือง มีมหาวิทยาลัย มีคนไร้บ้าน มีอะไรอื่นๆ อีกมากมายที่ถูกประกอบสร้างเป็นส่วนหนึ่งของเมืองใหญ่ที่เรียกว่ากรุงเทพฯ

ดังนั้น หากมองประวัติศาสตร์ภาพใหญ่เราจะเห็นความอลังการได้ง่ายอยู่แล้ว แต่หากเรามุ่งความสนใจกับสิ่งนั้นมากเกินไป เราจะพลาดรายละเอียดอื่นๆ ที่ประกอบสร้างเป็นสังคมนั้นขึ้นมา

 

หลายบทความของคุณให้ความสนใจเรื่องอาหารและมีการทำเมนูนั้นซ้ำ เช่น เรื่องอาหารของผู้สูญหายชาวเม็กซิกัน การได้เล่าเรื่องนี้ซ้ำและลิ้มรสอาหารนั้น มีความสำคัญอย่างไรกับการทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้

ในบทความ ‘โบราณคดีร่วมสมัยของศพไร้ชื่อ และอาหารจานโปรดของแม่’ มีคีย์เวิร์ดคือคำว่า manifestation หมายถึงกระบวนการทำให้บางสิ่งปรากฏขึ้นมาอย่างเด่นชัดเบื้องหน้าอีกครั้งหนึ่ง เราใช้กระบวนการ manifestation ในการเขียนบทความส่วนใหญ่ เพราะเป็นกระบวนการทำให้อดีตกลับมาแสดงตัวแจ่มชัดอีกครั้ง

เราเลือกใช้การทำอาหารในการทำให้อดีตปรากฏขึ้นมา การทำอาหารทำให้ประสบการณ์ร่วมของเรื่องราวมาบรรจบกับประสบการณ์ของผู้อ่านหรือผู้ทำอาหาร ผู้ชิมอาหาร เป็นการแปลงประสบการณ์ให้เป็นรสชาติและสัมผัสกับผู้อ่านโดยตรง อย่างเช่นในบทความนี้ทำให้เรารู้ว่าคุณแม่มีความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับลูกอย่างไร อาหารจานนี้ที่ลูกชอบทานมีรสชาติแบบไหน มีรสชาติของยุคสมัยที่ต้องใส่คลามาโต (Clamato) คือเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่

ถ้าเราลองสมมติตัวเองเป็นคุณ Violetta การทำอาหารแบบนี้เป็นตัวแทนความทรงจำของแม่กับลูกที่ใช้เวลาร่วมกันก่อนลูกจะสูญหายไป พอลูกกลายเป็นอดีต สิ่งที่เหลืออยู่ในความทรงจำของคุณ Violetta ส่วนหนึ่งคืออาหาร ทุกครั้งที่ลิ้มรสอาหารทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับลูกกลับมาเด่นชัดอีกครั้งหนึ่ง เหมือนเวลาเรากินอาหารที่เคยชอบตอนเป็นเด็ก พอโตขึ้นแล้วได้กินอีกความทรงจำจะพรั่งพรูขึ้นมาพร้อมความรู้สึก

การแบ่งปันความทรงจำของสังคม (social memory) หรือความทรงจำส่วนบุคคล เป็นสื่อในการถ่ายทอดอดีตที่ทรงพลังมาก วิธีการเล่าเรื่องผ่านอาหาร แปรประสบการณ์และเรื่องราวให้เป็นรสชาติ เป็นวิธีการที่ทรงพลัง ทำให้คนเข้าถึงและจำได้

 

เซวิเชกุ้ง จากสูตรของคุณวิโอเลตตา (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิตผู้คนที่ได้ศึกษาผ่านโบราณคดีร่วมสมัย เช่น อาหารจากคุณแม่ชาวเม็กซิกัน สิ่งของจากแรงงานนอกระบบที่สูญหาย เรื่องราวแบบนี้มีที่ทางแบบไหนสำหรับโบราณคดีกระแสหลักที่สนใจเรื่องราวยิ่งใหญ่อลังการในอดีตไกลโพ้น

ไม่ค่อยมีที่ทางแบบนี้เท่าไหร่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักโบราณคดีเอง ในบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ให้ทุนหรือแนวทางในการทำงานที่ส่วนมากได้รับการสนับสนุนจากรัฐ งานพวกนี้บางครั้งจะไปอยู่ในส่วนของงานมานุษยวิทยาหรือศิลปะเสียมาก

นักโบราณคดีจะศึกษาเรื่องที่ตัวเองอยากศึกษาและเล่าเรื่องที่ตัวเองอยากเล่าในมุมมองที่ตัวเองสนใจ ในเมืองไทยยังมีที่ทางให้กับอดีตแบบนี้น้อย ส่งผลให้คนทั่วไปมีภาพจำในงานโบราณคดีว่าต้องเป็นเรื่องอลังการ มีความพิเศษแตกต่าง เก่าแก่ จะไม่ค่อยมีภาพเสนอว่าจริงๆ แล้วโบราณคดีศึกษาเรื่องคน

 

ถ้าย้อนกลับมามองโบราณคดีไทย มีบทความที่คุณเคยเขียนไว้ว่า การศึกษาโบราณคดีไทยแบบทางการในอดีตมีลักษณะ ‘แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น’ หมายถึงอะไร

เราต้องการทำความเข้าใจโบราณคดีไทยในปัจจุบันว่าทำไมจึงปฏิเสธทฤษฎีทางโบราณคดี จนพบว่ามีที่มาจากงานโบราณคดีไทยแบบ ‘แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น’ โดยเฉพาะงานโบราณคดีไทยในช่วงแรกเริ่มที่ถูกทำให้เป็นงานช่างไทยประเพณีสาขาหนึ่ง ไม่ได้เป็นศาสตร์เหมือนโบราณคดีตะวันตก

‘แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น’ มาจากการศึกษาโบราณคดีในช่วงแรกของประเทศไทย เป็นงานโบราณคดีที่ก่อร่างสร้างตัวจากองค์ความรู้ต่างประเทศในช่วงนั้น คือโบราณคดีชาตินิยม เป็นเหตุผลทางการเมืองซึ่งต่อต้านกระแสการล่าอาณานิคมในสมัยนั้น

โบราณคดีช่างสร้างชาติ สมัยรัชกาลที่ 4-6 ใช้การสร้างภาพที่อลังการเพื่อต่อต้านอาณานิคม รัฐใช้สร้างภาพต่อต้านการรุกรานจากภายนอกที่บอกว่าชาติไทยไม่ศิวิไลซ์จนต้องยึดครอง

โบราณคดีถูกนำมารับใช้รัฐด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมในสมัยนั้น เน้นการปฏิบัติ ดูแล รักษาทำนุบำรุงโบราณวัตถุสถาน ศึกษาอารยธรรมโบราณที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่รุ่งเรืองของชาติสยามเพื่อให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ เป็นการป้องกันทางการเมืองจากการรุกราน

สาเหตุที่โบราณคดีไทยกระแสหลักถูกทำให้เป็นสกุลช่างก็เพราะกระแสความรู้ในสมัยนั้นและความนิยมโบราณคดีอาณานิคมจากยุโรปที่เน้นการศึกษาของที่อลังการ สวยงาม ต้องใช้คนและทรัพยากรในการศึกษามาก แสดงถึงอำนาจในการปกครอง

โบราณคดีตอนนั้นกลายเป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ เลยถูกผูกขาดและควบคุมโดยรัฐ ทำให้ถูกนำเสนอภาพลักษณ์อย่างที่รัฐต้องการ มีแต่ความดีงาม ความสวยงาม และความอลังการ เป็นสิ่งแวววับ จับใจ แต่ส่งผลให้งานที่ออกมาไร้ลิ้นไปด้วย คือไม่มีภาพของคนตัวเล็กตัวน้อย ภาพของอาหารการกิน หรือคนในลักษณะที่เป็นคนจริงๆ ที่ไม่ได้มีแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว

อาจเพราะมุมมองแบบนี้ที่ทำให้การศึกษาไม่มีเรื่องของคน เพราะรัฐตอนนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องราวในแง่ความดีงามของชาติ และนำไปสู่การนิยามโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และขอบเขตการศึกษา ในพระราชบัญญัติหรือประกาศหลายอย่างที่เกี่ยวกับโบราณคดีในช่วงประมาณรัชกาลที่ 6 ก็บอกว่าการศึกษาเป็นไปเพื่อส่งเสริมความดีงามของประเทศไทย เรื่องราวของชนชั้นนำ

จนกระทั่งเวลาผ่านมาเรื่อยๆ โบราณวัตถุได้ลดความหมายในแง่นั้นลงไป สังเกตจากพระราชบัญญัติต่างๆ ก็ไม่ได้เน้นไปที่ความสวยงามหรือเรื่องราวของชนชั้นนำอย่างเดิม เปลี่ยนไปเป็นมีคุณค่าทางเรื่องราวและประวัติศาสตร์ ในทางนิยามก็เปลี่ยนมาเรื่อยๆ แต่แนวทางการนำเสนออดีตด้วยมุมมองชาตินิยมก็ส่งผลมาถึงปัจจุบัน เช่น จะเห็นว่าการเลือกเรื่องราวมาสร้างภาพยนตร์หรือมุมมองเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาติไทยยังถูกเล่าในลักษณะว่าชาติไทยเราดีที่สุด มีความยิ่งใหญ่อลังการ การเสียสละของคนในอดีต เป็นมรดกตกทอดจากโบราณคดีแบบชาตินิยมในตอนนั้น สื่อต่างๆ ก็ผลิตซ้ำภาพจำลักษณะนี้เรื่อยๆ จนกลายมาเป็นขนบไปแล้ว

ด้วยความที่โบราณคดีไทยเป็นสกุลช่างไปแล้ว เน้นการปฏิบัติ ปฏิเสธการเรียนรู้และใช้ทฤษฎีแบบตะวันตก ส่วนนี้ทำให้โบราณคดีไทยค่อนข้างแยกขาดจากวิชามานุษยวิทยาในประเทศไทยและภายนอก

ในช่วงแรกที่ก่อตั้งโบราณคดีและสร้างหลักฐานแบบแวววับ จับใจ ก็เข้าใจได้ว่ามีความกดดันหลายอย่าง แต่เมื่อภัยคุกคามจากภายนอกได้ผ่านไปแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศถูกย้ายไปส่วนอื่น แต่โบราณคดีไทยก็ยังเป็นเหมือนเดิม มีการเปลี่ยนแปลงในด้านแนวคิดและการนำเสนอน้อยมาก แถมยึดติดกับหลักฐานเชิงประจักษ์และการขุดค้นอย่างมาก กลายร่างเป็นสกุลช่างไปโดยอาจไม่ได้มองว่าทฤษฎีมีความจำเป็น

เราคิดว่าการนำเสนอภาพโบราณคดีกระแสหลักที่พยายามทำแบบแวววับจับใจเป็นผลร้ายต่อการรักษาทรัพยากรในประเทศ เพราะเป็นชุดความรู้เดียวกับที่พวกลักลอบขุดค้นและนักสะสมใช้ ดังนั้น การนำเสนอภาพเมืองไทยที่ยิ่งใหญ่ สวยงาม และความอลังการ อาจไม่ได้มีผลดีกับนโยบายการอนุรักษ์ทรัพยากรทางโบราณคดีอย่างที่คิดก็ได้ เพราะมันกีดกันหลักฐานทางโบราณคดีที่มีเรื่องราวแต่อาจจะไม่สวยงามออกไปจากกระบวนการอนุรักษ์

 

ฟังดูแล้ว โบราณคดีมีเรื่องอุดมการณ์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นมุมมองว่าโบราณคดีไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองก็ไม่จริงหรือเปล่า

ไม่จริงเลย โบราณคดีคือเรื่องของการเมือง ไม่ใช่การเมืองแบบที่เห็นได้ชัดๆ แต่เป็นการเมืองในเรื่องเล่าว่าเราสนใจเรื่องแบบไหน จะเล่าเรื่องของใคร จะเล่าในมุมมองไหน เช่น ในมุมมองของรัฐจะมองเรื่องชาวเม็กซิกันที่หลบหนีเข้าเมืองว่าเป็นคนร้าย ของที่ติดตัวพวกเขาเข้ามาเป็นขยะ ไม่มีคุณค่าอะไร แต่อาจารย์เจสันหรือนักโบราณคดีร่วมสมัยจะบอกว่าพวกเขาเป็นคน แค่เขาไม่ทำตามกรอบกฎหมายที่รัฐต้องการให้ทำ แต่ความเป็นคนของเขายังมีอยู่เต็มเปี่ยม เรื่องราวของเขาก็เป็นเรื่องราวของมนุษย์ อาจารย์เจสันเลยแย้งว่าเราอาจทำให้พื้นที่ชายแดนเป็นโบราณสถานได้ด้วยซ้ำไป ของที่พวกเขาเอาติดตัวมาก็เป็นโบราณวัตถุได้ด้วยตัวของมันเอง เพราะสามารถเล่าเรื่องราวของคนในอดีตได้

นักโบราณคดีส่วนใหญ่มักไม่ตระหนักถึงเรื่องราวทางการเมืองที่มีแง่มุมแฝง การที่นักโบราณคดีเล่าเรื่องหรือตีความบางอย่างก็มีผลกระทบทางการเมืองได้

สมัยเรียน อาจารย์จะบอกว่าเวลาตีความหลักฐานทางโบราณคดี ขอให้คิดดีๆ ว่าจะมีผลกระทบทางการเมืองตามมาหรือเปล่า ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา นักโบราณคดีรู้ตัวตลอดว่าเรื่องราวที่ตัวเองสร้างส่งผลกระทบทางการเมือง เพราะคนสามารถเอาเรื่องเล่าของนักโบราณคดีไปใช้ประโยชน์หรือสนับสนุนมุมมองทางการเมืองได้

ที่น่าสนใจก็คือหลักสูตรโบราณคดีในเมืองไทย ทั้งๆ ที่รู้ว่าตัวเองมีความเกี่ยวข้องทางการเมืองในการสร้างความทรงจำของสังคมหรือของชาติ แต่เราไม่มีวิชาโบราณคดีการเมือง โบราณคดีในเมืองไทยมีลักษณะเฉพาะที่พยายามทำให้ตัวเองปลอดการเมือง คล้ายพยายามไม่ยอมรับออกมาตรงๆ ว่าการเล่าเรื่องในอดีตก็คือการเมืองอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน

 

เรื่องเล่าที่ได้จากการศึกษาโบราณคดีต้องอาศัยหลักฐานที่พิสูจน์ได้ แต่ที่จริงแล้วมันสามารถถูกปรุงแต่งได้มากแค่ไหน

นักโบราณคดีไม่ปรุงแต่งหลักฐาน การพูดไม่เกินของเป็นประกาศิตประจำวิชาชีพโบราณคดีไปแล้ว แต่นักโบราณคดีสามารถเลือกมุมมองที่จะศึกษาและเลือกเล่าเรื่องในแบบต่างๆ ได้

อีกอย่างที่เราทำได้คือการสื่อสารผ่านความเป็นมนุษย์ โดยใช้วิธีการทางชาติพันธุ์วรรณาในการศึกษาเปรียบเทียบ เช่น ถ้าเจอหม้อใบหนึ่งที่มีรอยนิ้วมือพร้อมแผ่นไม้กับหินที่ตรวจสอบแล้วว่าเป็นรอยประทับบนหม้อ คือเขาใช้แผ่นไม้กับก้อนหินในการปั้นหม้อนั้นขึ้นมา แต่เราไม่รู้ว่าเขาใช้อุปกรณ์นี้อย่างไร แล้วพบว่ามีหมู่บ้านหนึ่งที่ใช้อุปกรณ์ลักษณะนี้ เราก็ไปศึกษาว่าเขาใช้อุปกรณ์นั้นอย่างไร นี่เป็นการสร้างภาพที่ขาดหายไปจากหลักฐานที่มีให้เด่นชัดขึ้น เราเจอของที่ทำให้สืบสาวเรื่องราวได้ว่าเขาจะปั้นหม้อใบนี้ด้วยวิธีการแบบไหน ยืนหรือนั่งปั้น ปั้นบนแท่นไม้หรือบนพื้น หรือนักโบราณคดีจะไปลองปั้นเองก็ได้ จะได้พบว่าต้องใช้ทักษะอะไร ใช้ดินแบบไหน

เราไม่คิดว่าการสื่อสารความเป็นมนุษย์ที่เรามีร่วมกับคนในอดีตเป็นการปรุงแต่ง เช่น เราเป็นผู้หญิง เรามีประจำเดือน ถ้าเราเห็นภาพกางเกงเปื้อนเลือดประจำเดือนของแรงงานชาวเม็กซิกันที่เดินทางข้ามทะเลทราย พร้อมกับรองเท้าขาดๆ ของเขา เราก็จะสามารถรับรู้ความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวที่จะต้องเดินทางไกลในอากาศร้อนโดยไม่มีผ้าอนามัย และเข้าใจว่าอาการปวดประจำเดือนเป็นอย่างไร เพราะเรามีร่างกายแบบเดียวกับเขา เราอาจไม่ต้องพูดถึงความรู้สึกในจิตใจก็ได้ว่าจะเกิดความว้าวุ่นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่เราคาดเดาไม่ได้ แต่ความทุกข์ทรมาน ความไม่สบายตัว เราจินตนาการได้ แบบนี้ก็ไม่ได้เรียกว่าการปรุงแต่ง

ในกรณีของอาจารย์เจสันที่ศึกษาเรื่องชาวเม็กซิกัน อาจารย์พาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนั้น ในหนังสืออาจารย์ก็ไม่ได้เขินอายในการเล่าความรู้สึกของตัวเองเมื่อได้ใช้ชีวิตพูดคุยและเห็นประสบการณ์ของผู้ลักลอบข้ามแดนชาวเม็กซิกันเหล่านั้น นี่คือความรู้สึกที่ตรงไปตรงมา

การศึกษาหรือสื่อสารถึงความเป็นคนมีอารมณ์ ความรู้สึก ชะตากรรม และเรื่องราวเยอะแยะมากมาย งานของอาจารย์อาจเหมือนนิยาย แต่เรื่องจริงอาจยิ่งกว่านั้น ถ้าดูข่าวของสหรัฐฯ ชะตากรรมของแรงงานหลายคนโหดร้ายกว่าที่อาจารย์เล่าไว้เยอะมาก

นักโบราณคดีพยายามที่สุดที่จะไม่ปรุงแต่ง เรื่องที่เราเล่ามีหลักฐานรองรับชัดเจน แต่นักโบราณคดีสามารถมองหลักฐานแล้วสะท้อนความรู้สึกในฐานะมนุษย์ได้ โบราณคดีไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อคนในอดีต โบราณคดีถูกสร้างมาเพื่อตอบคำถามคนปัจจุบัน นักโบราณคดีร่วมสมัยถูกมองว่าปรุงแต่ง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันเป็นการตอบคำถามของยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเท่านั้นเอง

ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คนตัวเล็กตัวน้อยจะมีที่ทางในโบราณคดีร่วมสมัยขึ้นมาได้ ยกตัวอย่างโบราณคดีของทาสผิวดำชาวแอฟริกันที่ถูกขนลงเรือมาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 การเลิกทาสในสหรัฐฯ เกิดขึ้นมาประมาณร้อยกว่าปีที่แล้ว แต่หลังจากการเลิกทาส เรื่องราวของทาสผิวดำก็ไม่ได้ถูกเล่าเรื่องจากโบราณคดีกระแสหลัก และเพิ่งถูกศึกษาหลังจากการเดินขบวนเรียกร้องความเท่าเทียมของ Martin Luther King ในทศวรรษที่ 60-70 จนกระทั่งมีคนผิวดำเป็นนักโบราณคดี คนผิวดำมีสิทธิที่บอกนักโบราณคดีได้ว่าเขาต้องการจะจัดการทรัพยากรทางโบราณคดีของเขาแบบไหน กว่าจะมีเรื่องราวของทาสผิวดำปรากฏในโบราณคดีอเมริกัน ก็ประมาณช่วงปี 1990 ไปแล้ว เป็นเวลานับร้อยปี

เรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อสังคมเปลี่ยนมุมมองและที่ทางให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ เขาจึงจะกลับมาสร้างเรื่องราวในอดีตของตัวเองได้ ซึ่งนักโบราณคดีผิวดำชาวอเมริกันคือคนที่เริ่มศึกษาพวกนี้ด้วยตัวเอง เพราะใครจะไปเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีกว่าลูกหลานของทาสเหล่านั้น

เรื่องของคนตัวเล็กตัวน้อยของสังคมในอดีตเกิดขึ้นมาหลังมีความเท่าเทียมกันในสังคม เมื่อเขามีการศึกษา เข้าถึงทรัพยากร สามารถจัดการท้องถิ่นของตัวเองได้เอง ก็ทำให้เรื่องที่เขาอยากรู้กลายเป็นความจริงขึ้นมา

 

โบราณคดีเก่ากับโบราณคดีร่วมสมัยมีมุมมองต่อมนุษย์ที่แตกต่างกันไหม

มองมนุษย์เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่สถานะน่าจะต่างกัน เพราะโบราณคดีเก่าจะมองว่ามนุษย์เป็นมนุษย์แล้วจบ โดยอาจมองโบราณวัตถุว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคน เป็นสิ่งที่มีค่า เป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรม แต่ไม่ได้ถูกสอนว่าจะต้องมีมุมมองแบบไหนในการวิเคราะห์โบราณวัตถุให้เล่าเรื่องที่มีความเป็นมนุษย์หรือมีมิติที่มากขึ้นเพื่อให้คนอื่นเข้าใจ

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเราจึงมีโบราณคดีร่วมสมัยที่จะหาทางเล่าเรื่องราวของมนุษย์ในแบบที่ไม่ได้มองแค่เฉพาะสิ่งของ โบราณคดีร่วมสมัยจะศึกษาคนที่ยังมีชีวิตอยู่หรือลูกหลานยังมีชีวิตอยู่ ยังมีวัฒนธรรม ยังไม่ตายไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้นการศึกษาโบราณคดีร่วมสมัยจะมองคนในแบบที่เป็นพลวัต เราไม่สามารถเล่าเรื่องในแบบนินทาลับหลังได้ เพราะถ้าเขารู้ก็จะโกรธ เราต้องระมัดระวังมากขึ้นถึงผลกระทบ

ดังนั้น เราไม่สามารถมองสิ่งของว่าเป็นสิ่งของเฉยๆ ได้อีกแล้ว เช่นในอเมริกาปีที่แล้ว ชาวพื้นเมืองออกมาบอกนักโบราณคดีว่าให้หยุดเรียกโบราณสถานแห่งหนึ่งว่า ‘ซาก’ คุณเรียกโบราณสถานแห่งนี้ว่าซากไม่ได้ เพราะเราคือลูกหลานของคนที่สร้างโบราณสถานแห่งนี้ขึ้นมาและดินแดนนี้ยังคงเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของเราอยู่ การเรียกว่าเป็นซาก เป็นขยะ คือการดูถูกกัน พวกคุณไม่มีสิทธิ์พูดแบบนี้ นักโบราณคดีไม่ได้มีอภิสิทธิ์ในการพูดถึงอดีตมากกว่าคนพื้นเมืองที่เป็นเจ้าของหลักฐานและวัฒนธรรมที่ยังมีชีวิตอยู่

นี่คือพลังของเจ้าของวัฒนธรรมที่ยังไม่สูญหายไปที่เราจะต้องเผชิญในฐานะนักโบราณคดี ซึ่งไม่ใช่แค่กับวัฒนธรรมปัจจุบัน แต่สำหรับอดีตแบบไหนก็ตามที่ยังมีผู้สืบเชื้อสายหรือใช้วัฒนธรรมนั้นอยู่ เราก็ต้องระวัง

เรื่องของมนุษย์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและคาดเดายากมาก เราก็ทำผิดได้ตลอด โบราณคดีร่วมสมัยจึงต้องระมัดระวังเรื่องนี้มากกว่าโบราณคดีเก่าสักหน่อย

เราเคยไปร่วมโปรเจกต์ขุดค้นที่อเมริกา แล้วหลุมศพเป็นสิ่งที่นักโบราณคดีไม่อยากเจอเลย เพราะถ้าเจอจะต้องไปเรียกตำรวจ ต้องติดต่อหัวหน้าเผ่าในพื้นที่ และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่านี่ไม่ใช่การฆาตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้น นี่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีจริงๆ และหากเป็นบรรพบุรุษของชนพื้นเมือง เราต้องทำให้เขามั่นใจได้ว่าเราจะปฏิบัติกับหลุมศพนั้นอย่างให้เกียรติและจะคืนสู่ผืนดินเมื่อถึงเวลา เพราะหลักฐานพวกนั้นไม่ใช่ของนักโบราณคดี ไม่ใช่สมบัติชาติด้วยซ้ำไป แต่เป็นของชุมชนและชนเผ่านั้น การขุดค้นเป็นการรบกวนหลุมฝังศพ เราต้องปฏิบัติกับหลุมศพนั้นในฐานะเป็นคนคนหนึ่ง ทำให้การทำงานท้าทายและมีรายละเอียดมากขึ้น เพราะเราศึกษาวัฒนธรรมที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งโบราณคดีเก่าจะไม่เจออะไรแบบนี้มากเท่าไหร่

 

เรื่องเล่าจากโบราณคดีร่วมสมัยสามารถมีพื้นที่ร่วมกับเรื่องเล่าจากโบราณคดีเก่าได้ไหม การประกอบเรื่องเล่าเหล่านี้เข้าด้วยกันจะทำให้เราเข้าใจสังคมได้มากขึ้นไหม

เป็นสิ่งที่ต้องมีควบคู่กัน เพราะโบราณคดีเก่าศึกษาหลักฐานในอดีตที่ขาดหายไปจากปัจจุบันแล้ว ซึ่งให้ภาพความเป็นมนุษย์ไม่เด่นชัด และทำให้คนส่วนใหญ่เกิดคำถามว่าการศึกษาอดีตสำคัญอย่างไรเมื่อเขามองเห็นภาพไม่ชัด

ขณะที่โบราณคดีร่วมสมัยจะเข้ามาเติมภาพและเรื่องราวความเป็นมนุษย์ให้เด่นชัดมากขึ้น ในแง่ของการทำความเข้าใจประสบการณ์ร่วม

เราคิดว่าโบราณคดีจำเป็นต้องมีทั้งสองขา แต่ในไทยยังมีโบราณคดีขาเดียวอยู่ อาจเพราะการจัดการภาระหน้าที่งานเป็นหลัก แต่ในอนาคตเราควรมีการศึกษาโบราณคดีร่วมสมัยมากกว่านี้ เพราะความหลากหลายจะเป็นผลดีต่อการทำงานโบราณคดีในเมืองไทยที่จะส่งเสริมไปด้วยกัน และจะเป็นผลดีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางวัฒนธรรมในประเทศ เมื่อคนสามารถเชื่อมโยงได้ว่า ถ้าเรารักษาสิ่งเหล่านี้ไว้จะสำคัญกับเขาอย่างไร

ตอนนี้นักโบราณคดีในเมืองไทยพยายามอย่างเต็มที่ที่จะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ ถ้าไม่มีโบราณคดีแบบเก่า ของพวกนี้ก็อาจไม่หลงเหลือมาให้เราเห็นแล้วก็ได้ โบราณคดีเก่ามีข้อดี มีประสบการณ์ มีทรัพยากรการทำงานมานาน แต่การมีมุมมองใหม่ๆ จะทำให้การทำงานตอบโจทย์กับสังคมปัจจุบันมากขึ้น การมีทางเลือกหลากหลายจะช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save