fbpx
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: หนึ่งทศวรรษความตายแปลกหน้าในประวัติศาสตร์ไร้เสียง

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: หนึ่งทศวรรษความตายแปลกหน้าในประวัติศาสตร์ไร้เสียง

[et_pb_section admin_label=”section”] [et_pb_row admin_label=”row”] [et_pb_column type=”4_4″][et_pb_text admin_label=”Text”]

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

 

ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ภาพความขัดแย้งของสังคมไทยเริ่มเคลื่อนออกจากภาพของเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ไปสู่ปมความขัดแย้งที่เกิดจากเงื่อนไขใหม่ เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวใหม่เข้ามาแทนที่พันธมิตรฯ และนปช. แต่ผลพวงจากทศวรรษก่อนยังคงไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะการค้นหาความยุติธรรมในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553

ผู้ตายหลายคนได้รับการพิสูจน์จากศาลว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือทหาร แต่ยังไม่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำหรือผู้เกี่ยวข้อง

สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงในปี 2553 กลายเป็นปมใหญ่ในความขัดแย้งของสังคม เมื่อฝ่ายหนึ่งถูกไล่ฆ่าอย่างโหดเหี้ยมและถูกกระทำซ้ำด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้ไม่สามารถฟ้องร้องใครได้ ขณะที่คนส่วนหนึ่งของสังคมเห็นด้วยกับการสั่งฆ่าครั้งนั้น ด้วยวาทกรรม ‘เผาบ้านเผาเมือง’ ที่ลดทอนคุณค่าของคนกลุ่มหนึ่งให้สมควรตาย

สิบปีที่แล้ว เขาอยู่ในบทบาทแกนนำ นปช. ดาวประจำเวทีประท้วงที่ผู้ชุมนุมรอคอย ด้วยการปราศรัยมากลีลา

สิบปีต่อมา ชื่อของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เกี่ยวพันอยู่กับการขึ้นโรงขึ้นศาล ทั้งส่วนคดีของเขาเองในฐานะแกนนำ และการเดินสายไปตามหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมพร้อมแกนนำนปช. คนอื่นๆ เพื่อทวงถามความคืบหน้าให้ผู้เสียชีวิต

ไม่น่าใช่เรื่องยาก หากตั้งคำถามว่ามนุษย์มีคุณค่าในชีวิตเท่ากันไหม มีใครสมควรตายมากกว่าอีกคนหนึ่งหรือเปล่า หรือการใช้อาวุธสงครามฆ่าคนมือเปล่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ไหม

แต่ปัจจุบันสังคมไทยก็ยังวนเวียนอยู่กับคำถามเหล่านี้ เมื่อแทนที่คำว่ามนุษย์ด้วยคำว่า ‘คนเสื้อแดง’ ก็ตามมาด้วยเหตุผลต่างๆ ที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการฆ่าในปี 2553

สิบปีผ่านมา ความจริงในเหตุการณ์ยังเพิ่งปรากฏเพียงแค่บางส่วน แต่ฝ่ายผู้มีอำนาจพยายามลืมเลือน ไม่ใส่ใจ ไม่นับรวมคนตายจากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนั้นไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เช่นที่ณัฐวุฒิบอกว่า “พวกเขาเป็นคนแปลกหน้าในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของสังคมไทย และเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่เคยมีความหมายมาก่อนด้วยซ้ำ”

 

 

เวลาย้อนมองเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว สิ่งที่คุณณัฐวุฒินึกถึงคือเรื่องอะไร

การบาดเจ็บล้มตาย การสูญเสียของประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่จบ ความจริงทั้งหมดยังไม่ได้ถูกเปิดเผยและเป็นที่ยอมรับร่วมกันในสังคม คนที่ประสบชะตากรรมยังไม่สามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมได้ แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลมา 2-3 ชุด รูปแบบการต่อสู้ที่ นปช. เคยทำก็ห่างหายจากเวทีการเมืองไทยระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่จบคือชะตากรรมของประชาชน แม้จะรู้สึกว่ามันอาจเป็นแบบนี้ไปตลอดกาล ไม่มีคำอธิบายอะไรมากไปกว่าคดีนี้ไม่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำ ผู้ปฏิบัติ ผู้สั่งการใดๆ ได้เลย แต่ว่าหน้าที่ในการติดตามทวงถาม การพูดความจริง และการต่อสู้ให้คนที่สูญเสีย มันยังอยู่และต้องทำกันต่อ

เวลานั่งนึกถึงสถานการณ์ช่วงนั้นจะมีหลายภาพวิ่งเข้ามาในความทรงจำ เหตุการณ์เมื่อปี 2553 เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับชีวิตทางการเมืองของผม ฉะนั้นเวลาที่จะคิดถึง มันไม่ใช่แค่วาระครบรอบ 1 ปี 9 ปี 10 ปี แต่มีเรื่องราวให้คิดถึงได้ทุกวัน

 

แล้วชีวิตของคุณในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นยังไง

10 ปีที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสทำงานทางการเมืองหลายรูปแบบ ทั้งเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี หรือถูกจำกัดบทบาทแทบจะขยับตัวไม่ได้เลยในช่วงหลายปีของ คสช. แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจและไม่เคยปฏิเสธคือบทบาทแกนนำ นปช. การต่อสู้ร่วมกับคนเสื้อแดงเป็นพลังประชาชนที่แท้จริงในจุดยืนประชาธิปไตยที่เราได้สัมผัส แม้ที่ผ่านมาอาจมีบางคนที่เคยร่วมภารกิจเปลี่ยนแปลงจุดยืน ย้ายไปยืนกับอีกขั้ว นั่นเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่ที่ยังแน่นอนอยู่เสมอคือหลักการที่ขบวนการต่อสู้ยึดกุมด้วยกัน

แม้ผมจะมีโอกาสทำงานในสภา ทำงานในรัฐบาล ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่ได้เรียนรู้อะไรมากมาย แต่ถ้าไม่ได้เริ่มต้นมาจากการได้เรียนรู้พลังบริสุทธิ์ของประชาชน มันก็คงเป็นเรื่องแผ่วเบา เราเป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ในยามที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงและแหลมคม การจะอธิบายว่าตัวเองเป็นนักสู้ก็คงจะทำไม่ได้ถ้าไม่ได้สัมผัสจริง

 

ก่อนจะเป็นแกนนำ คุณเตรียมใจไว้แค่ไหนว่าจะเจออะไรบ้าง อะไรคือกรณีรุนแรงที่สุดที่คาดไว้ว่าอาจจะเจอ

ผมอ่านเรื่องราวของคนที่ต่อสู้ทางการเมืองทั้งในไทยและต่างประเทศ ชื่นชมว่าเขาเกิดและเติบโตมาด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่แรงกล้าว่าอยากเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ผมไม่ใช่อย่างนั้น

ผมเป็นเด็กบ้านนอกที่เติบโตมากับครอบครัวการเมืองท้องถิ่น สิ่งที่ผมสัมผัสมาคือการกล้าให้ กล้าเสียสละต่อคนรอบข้าง และผมสนใจการเมือง อยากเป็นผู้แทนราษฎรเพื่อขับเคลื่อนสังคมอย่างที่เราต้องการ หรือช่วยเหลือผู้คนที่ยังทุกข์ยาก ผมไม่เคยมีเป้าหมายเส้นทางชีวิตว่าจะต้องมาเป็นแกนนำการต่อสู้ ผมจึงชื่นชมคนที่เติบโตมาพร้อมอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่

ผมสมัครผู้แทนตั้งแต่อายุ 25 เปิดเวทีปราศรัยเป็นหลัก ไม่รู้วิธีการจัดตั้งที่เป็นระบบ แล้วได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของพรรคชาติพัฒนาในภาคใต้ หลังเลือกตั้ง ทางพรรคขอดูตัวว่าเด็กหนุ่มที่ไหนสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ได้แบบนั้นที่นครศรีธรรมราช หลังจากนั้นก็กลับสู่อาชีพนักพูด จนปี 2548 มาลงสมัครเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยด้วยเป้าหมายเดิมคืออยากเป็นผู้แทน

เมื่อมีความขัดแย้งทางการเมือง เริ่มมีขบวนการขับไล่ นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เราเป็นส่วนหนึ่งของพรรค แต่ไม่ได้มีบทบาทเป็นตัวเป็นตน ก็ไปเตร็ดเตร่อยู่ในพรรคแทบทุกวัน ในยามที่พรรคระส่ำระสาย รัฐบาลกำลังถูกรุกไล่อย่างหนัก คนที่กล้าออกไปยืนพูดปกป้องพรรคมีน้อยลงทุกที จนมาถึงคนตัวเล็กๆ อย่างเราที่มีโอกาสนั่งแถลงข่าว ตอนนั้นผมเป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม MV1 นักจัดรายการคนสำคัญคืออดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ผมไปจัดเวทีปราศรัยที่เมืองทองธานีก็มีท่านนายกฯ สมัคร เป็นตัวหลัก จนในที่สุดเกิดการรัฐประหาร

ผมมีประสบการณ์ต้านรัฐประหารในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ตอนเรียน ม.5 ที่นครศรีธรรมราชก็ไปนั่งชุมนุมกับเขาทุกคืน พอเกิดรัฐประหาร คมช. ผมก็ชัดเจนว่าไม่ยอมรับ วันที่ 20 ก.ย. 2549 คุณวีระ มุสิกพงศ์ โทรนัดผมกับ คุณจตุพร พรหมพันธุ์ กินข้าวเที่ยง แล้วแกบอกว่าต้องเข้าไปที่พรรค เพื่อไปบอกว่าเราไม่ยอมรับพวกเขา ตอนนั้นที่พรรคมีทหารเต็มไปหมด พี่วีระไปนั่งในห้องแถลงข่าว ประกาศไม่ยอมรับการรัฐประหาร พวกเราทั้งหมดนี้จะต่อสู้ ผมไม่รู้มาก่อนว่าแกจะประกาศอะไร แต่พอแกบอกว่า ‘พวกเรา’ ผมก็นั่งนับว่า…เอ้า ผมด้วยนี่หว่า ตอนนั้นมีพี่วีระ คุณจตุพร และพรรคพวกอีก 2-3 คน นักข่าวก็ถ่ายภาพ แล้วเรื่อยมาจนได้ขึ้นปราศรัยต่อต้านรัฐประหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 ก่อนขึ้นบนเวทีผมยังถามตัวเองว่า ผมเป็นนักพูดมาทั้งชีวิต แต่นี่จะเป็นครั้งแรกที่ขึ้นไปพูดโดยเผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการตรงๆ หลังจากนี้ชีวิตมันจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ แต่มันคงไม่ง่ายเหมือนก่อนแล้ว

ในที่สุดผมก็ติดคุกจนได้ จังหวะที่ถูกพาตัวไปเรือนจำก็นั่งพูดกับตัวเองว่า เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง เราเคยเป็นนักพูด ประสงค์จะเข้าไปทำงานในสภา แต่วันนี้อยู่ในรถมีกรงที่กำลังพาไปเรือนจำ ก็สรุปกับตัวเองว่าเราต้องทำเรื่องนี้ คงไม่เปลี่ยนแนวทางไป แล้วก็ไม่รู้สึกเสียใจเสียดายอะไร

จนถึงวันนี้ผมยังยืนยันว่าผมไม่เสียใจเลย และชีวิตผมต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย บทบาทสถานะอาจจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถานการณ์ และผมไม่ได้คิดว่ามันต้องแลกมากับยศศักดิ์วาสนาทางการเมือง ถ้าผมจะทำงานทางการเมืองอีก มันก็เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในการต่อสู้ให้ประเทศไทยได้แก้ไขตามวิถีทางประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น

ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่อะไร ไม่ได้คิดว่าตัวเองประกอบด้วยหลักอุดมการณ์หาญกล้าอะไรมากมายไปกว่าการเป็นคนคนหนึ่งที่เดินเข้ามาในเส้นทางนี้ สัมผัสรับรู้เห็นด้วยชีวิตตัวเอง แล้วสรุปกับตัวเองว่าต้องทำสิ่งนี้จนถึงที่สุดเท่านั้นเอง

 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2553 ทำให้คุณมีมุมมองต่อเรื่องความตายเปลี่ยนแปลงไปไหม

มันใกล้ตัวและเกิดกับผมได้ตลอดเวลา ช่วงที่ผมถูกควบคุมตัวอยู่ เจ้าหน้าที่เคยกระซิบว่า มีอยู่วันหนึ่งเจ้าหน้าที่บางหน่วยงานเขาพูดกันว่าวันนี้ณัฐวุฒิตายแน่ มีภารกิจในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับผม แต่มันไม่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ ในวันที่ 9 เมษายน 2553 ระหว่างผมเดินทางไปไทยคม ก็ไปสกัดกลุ่มคนพกปืนยาวติดลำกล้องได้ โดยผมก็ไม่รู้เรื่องว่าเขาจะมาทำอะไร

บางช่วงเวลาความตายวนเวียนอยู่ใกล้ตัวมากๆ ครั้งหนึ่งเรารวมพลกันไปราบ 11 เพราะอภิสิทธิ์เข้าไปอยู่ในนั้น ข้างในเขาเอาลำโพงใหญ่เปิดเสียงอัดมาที่รถเครื่องเสียงของเราที่จอดขนานประตูราบ 11 แล้วมีนายทหาร น่าจะเป็นพวกอนุศาสนาจารย์หรือแผนกโฆษณาชวนเชื่อก็พูดไปเรื่อย จนพี่วีระ พี่ตู่ ไม่สามารถสื่อสารอะไรได้ ผมไปถึงทีหลังก็ขอให้ชายคนหนึ่งขึ้นรถหกล้ออีกคันไปสตาร์ตเครื่องรอ แล้วถ้าสั่งให้บุกก็บุกเข้าไปเลย

ผมปีนขึ้นรถเครื่องเสียง ถามแกนนำทีละคนว่า “เชื่อใจผมไหม ถ้าเชื่อใจเดี๋ยวผมจัดการเอง” ผมจับไมค์บอกข้างในให้หยุด เพราะเราต้องการเจรจากับรัฐบาล ไม่ได้ต้องการมาสร้างความรุนแรง ถ้าไม่หยุดผมจะบุกเข้าไป น้องคนนั้นก็เบิ้ลเครื่องรถหกล้อรอ จังหวะที่กำลังพูด มีคนชี้ว่าเห็นคนคล้ายทหารยืนอยู่บนตึกสูงฝั่งตรงข้ามประตูราบ 11 ผมหันไปก็เห็นจริงๆ แต่ไม่ชัดว่าใช่ทหารจริงไหม ผมก็เลยบอกว่า “ถ้าจะยิง ก็ยิงมาเลย ถ้าไม่ยิงเดี๋ยวผมจะคุยกับคนข้างใน” เขาก็ไม่ได้ยิง ผมหันไปบอกข้างใน ก็พูดแรงประมาณว่า “กูบอกให้มึงหยุดเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่หยุด กูบุกเข้าไป” แล้วเขาก็เงียบทั้งค่ายเลย จนเราได้ประกาศเทเลือด

หลังจากเหตุการณ์นั้น เพื่อนแกนนำหลายคนบอกว่า ตอนนั้นเขาโทรสั่งลาลูกเมียแล้ว บางคนโทรบอกเมียว่าสมุดบัญชีธนาคารอยู่ไหน ระหว่างที่ผมกำลังเจรจาอยู่ พวกข้างหลังก็กำลังสั่งเสียกัน ตอนหลังพอเราเป็นรัฐบาลก็หาข้อมูลได้ง่ายขึ้น ได้ยินว่าวันนั้นข้างในค่ายก็สั่งกันอุตลุตวุ่นวายไปหมด เพราะเขาคิดว่าเราเข้าไปแน่ แล้วมันจะยุ่ง ก็เลยสั่งแผนกโฆษณาให้หยุด

วันที่ 10 พฤษภาคม ผมหลบออกจากที่ชุมนุมไปดูลูกสาวที่เพิ่งคลอด หลังจากนั้นบางหน่วยประเมินกันว่าผมต้องออกไปอีกแน่ มีการเตรียมการจะไปดักผมตามเส้นทาง แต่ผมไม่ได้ออกไป เพราะตอนนั้นพี่วีระกับแกนนำส่วนหนึ่งยุติบทบาทจากเวที ผมจึงหลบออกจากเวทีไปไม่ได้ วงล้อมก็แน่นเข้า จนไม่สามารถขยับออกไปไหนได้จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม

มันอาจจะเกิดขึ้นกับผมเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ยังไม่เกิดขึ้น แล้วมันไปเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ นี่จึงเป็นความเจ็บปวดหนักหนาสาหัสในใจผม แล้วผมไม่สามารถปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปเฉยๆ โดยไม่ช่วยกันทวงถามติดตาม ผมไปมาทุกที่แล้ว ตามมาทุกหน่วยงาน ทำมาหลายอย่าง ทั้งที่รู้ว่าคำตอบคงไม่ต่างกัน แต่อย่างน้อยมันจะได้ไม่เงียบหายไป จะได้มีคนรับรู้ว่ามีคำถามเรื่องนี้

 

ผ่านมาสิบปีก็ยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวใหม่ๆ ช่วยกันพูดเรื่องนี้

วันนี้ครบรอบ 10 ปี มีกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว บางคนมาถามว่า นปช. ถูกชิงการนำไปหรือเปล่า ผมไม่คิดเรื่องพวกนี้เลย ภารกิจในการติดตามทวงถามหรือพูดความจริงเรื่องนี้เป็นของทุกคน การทวงถามความเป็นธรรมให้คนตายคือการทำให้ประวัติศาสตร์การปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนของรัฐไทยถูกตั้งคำถามจากสังคม

ใครจะทำแบบไหนอย่างไร ผมขอบคุณและยินดี เยาวชนคนหนุ่มคนสาวในรั้วมหาวิทยาลัยหรือบางคนที่สัมผัสเรื่องราวของผมผ่านข้อมูลข่าวสารอาจจะเห็นว่าผมเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ไม่ใช่นักต่อสู้ที่ควรเชื่อถือ เป็นพวกสมุนทักษิณ เป็นพวกรับจ้างอะไรก็ตาม ถ้ามีคนหลากหลายวัยหรือเป็นคนร่วมสมัยอาจจะสื่อสารได้มากกว่า บางพื้นที่ ความเป็นนปช.อาจจะมีข้อจำกัดในการเข้าถึง

เรื่องนี้ไม่ใช่วาระของนปช. แต่เป็นวาระของสังคมไทย เป็นภาระของประวัติศาสตร์ ถ้าหากเราไม่ช่วยกันทำเรื่องนี้ วันหนึ่งข้างหน้าอาจจะมีการปราบปรามประชาชนขึ้นมาอีก อาจมีการพ้นผิดโดยใช้วิธีการปกติธรรมดา แต่มันไม่ธรรมดาตรงที่คนตายเป็นร้อยไม่สามารถที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีใครได้

นี่เป็นความหนักหนาสาหัสที่สุดที่พวกผมเจอเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นี่คือการยิงทิ้ง คือยิงแล้วไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องมาดูดำดูดีอะไรทั้งสิ้น ใครจะทวงถาม จะตามหาคน จะฟ้องร้องอะไรก็ปล่อยไป เพราะว่ามันเข้าถึงคดีความไม่ได้ เราจะปล่อยให้มันคงสถานะไปแบบนี้ตลอดกาลได้จริงเหรอ เราจะปฏิรูปประเทศ เราจะกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศ เราจะสร้างประชาธิปไตย เราจะเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมีคนนอนตายเป็นร้อยที่เข้าถึงความยุติธรรมไม่ได้ เราทำอย่างนั้นได้จริงหรือ ผมว่าไม่ใช่

 

 

คิดว่าเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ผู้มีอำนาจมองว่าการ ‘ยิงทิ้ง’ เป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่ต้องมีกระบวนการอะไรเป็นพิเศษ

มันมีตัวแบบมาอย่างน้อย 3 เหตุการณ์สำคัญ คือ 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภาทมิฬ มีการปราบปรามประชาชนแล้วไม่มีการเอาผิดกับผู้กระทำ เมื่อมีตัวแบบอยู่ คนถืออำนาจใน 10 ปีก่อนก็อาจจะคิดว่ามันทำได้ ประกอบกับกระบวนการทำลายความชอบธรรมการต่อสู้ของประชาชนเกิดขึ้นมาต่อเนื่องตลอดหลายปี

ผมคิดว่า 6 ตุลา เป็นชะตากรรมที่ใกล้เคียงปี 2553 เพราะพลังที่ออกมาต่อสู้เป็นพลังที่ถูกกระทำ พ่ายแพ้ เจ็บตาย กระจัดพลัดพราย ถูกจับถูกล่า เนิ่นนานหลายปีถึงมีคนค่อยๆ พูดถึงประวัติศาสตร์ 6 ตุลาในมิติที่เป็นจริงมากขึ้นและมากขึ้น ส่วน 14 ตุลาและพฤษภาทมิฬนั้น พลังที่ออกมาเคลื่อนไหวสามารถเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐได้ การทำลายความชอบธรรมในการต่อสู้จึงไม่ได้เกิดขึ้นมาก

ตั้งแต่หลังยึดอำนาจปี 2549 คนที่ออกไปต่อต้านก็ถูกด้อยค่าว่าเป็นพวกสมุนรับจ้าง หลังจากนั้นก็สร้างประเด็นสารพัด เป็นผู้ก่อการร้าย ผังล้มเจ้า เผาบ้านเผาเมือง ซึ่งวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองเกิดขึ้นหลังจากการปราบปรามและเข่นฆ่าเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว ผมก็เข้าใจว่านั่นเป็นโรดแมปที่เตรียมไว้แล้วว่า หลังจากการปราบปรามจะต้องทำให้มีภาพนี้เกิดขึ้น เพื่อให้ความชอบธรรมกับความตายทั้งหมด ว่านี่คือขบวนการก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมืองที่เจ้าหน้าที่จะต้องใช้มาตรการเด็ดขาดรุนแรง

หลายองค์ประกอบส่งผลให้มีคนจำนวนไม่น้อยยอมรับว่าการปราบปรามคราวนั้นมันทำได้และสมควรทำด้วย

อีกมิติหนึ่งที่ผมมองเห็นก็คือตัวตนของคนที่ออกมาต่อสู้ คนที่ออกมาต่อสู้ใน 14 ตุลา, 6 ตุลา หรือพฤษภา 35 เป็นนิสิตนักศึกษาหรือคนเมืองชนชั้นกลาง แต่ปี 2553 เป็นการปรากฏตัวขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญของชาวไร่ชาวนา คนใช้แรงงาน คนชั้นล่างจากชนบท หรือคนชนบทที่มาใช้ชีวิตในเมืองหลวง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองไทย คนพวกนี้แทบไม่เคยส่งเสียงในบรรทัดประวัติศาสตร์ทางการเมืองมาก่อน หรือพยายามส่งเสียงมาตลอดแต่เสียงไม่เคยดังเหมือนปี 2553

เมื่อคนพวกนี้ไหลบ่าเข้ามาในกรุงเทพฯ แล้วถูกกระทำด้วยความรุนแรง เสียงความตายของพวกเขาก็เลยดูแผ่วเบากว่าความตายของนิสิตนักศึกษาหรือคนชั้นกลางในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น มันเป็นชีวิตชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนาซึ่งมาหุงข้าวหุงปลากันอยู่ที่ราชประสงค์ มานึ่งข้าวเหนียว ตากปลาเค็มกันอยู่แถวสะพานผ่านฟ้า คนเหล่านี้อาจจะมีตัวตนต่อความรู้สึกของสังคมน้อยกว่า อาจจะมีคุณค่าความเป็นมนุษย์น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ในความรู้สึกของคนบางส่วน

มันเป็นความเจ็บปวดนะครับ และมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ผมเกรงว่ามันเป็นความจริงที่อยู่ในสังคมไทย

ผมเคยเห็นบางคนโพสต์ข้อความว่า ตอนที่มวลชนเสื้อแดงแห่ขบวนรถไปตามหลายถนนในกรุงเทพฯ บางคนแค่เห็นเขาก็ร้องไห้ เขากลัว เขาไม่เคยเห็นภาพคนที่เป็นชาวบ้านมาปรากฏตัวขึ้นมากมายขนาดนี้พร้อมๆ กันในกรุงเทพฯ เป็นคำอธิบายที่ผมไม่สามารถเข้าถึงได้ว่าคุณกำลังรู้สึกอะไรอยู่ แต่ผมเชื่อว่ามีความรู้สึกแบบนี้จริง พวกเขาจึงเป็นคนแปลกหน้าในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของสังคมไทย และเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่เคยมีความหมายมาก่อนด้วยซ้ำไป

จริงอยู่ว่าเราก็มีคนชั้นกลาง ปัญญาชน คนที่มีสถานะบทบาทสำคัญในสังคมจำนวนพอสมควรที่ให้การสนับสนุน แต่ภาพที่ปรากฏจริงๆ คนเสื้อแดงที่ออกมายืนอยู่กลางถนนส่วนใหญ่จะเป็นคนระดับล่างลงไป ผมก็เลยทิ้งเขาไม่ได้ ผมยังยืนยันอยู่ตลอดเวลาว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนเมื่อปี 2553 จะต้องมีคนคอยปกป้อง ต้องมีคนคอยอธิบาย หรือคอยต่อสู้เรียกร้องให้ ผมยังไม่มีปัญญาจะเอาความยุติธรรมมาให้ แต่ผมจะพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะปกป้องไม่ให้ความอยุติธรรมเข้ามากระทำ กดขี่ ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกต่อไป

 

นปช. เคยพูดว่าประเมินต่ำเกินไป ไม่คิดว่ารัฐจะกล้าใช้ความรุนแรงขนาดนี้กับประชาชน ต่อให้ย้อนเวลากลับไปได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2553 เป็นสิ่งที่แกนนำสามารถเปลี่ยนแปลงจนไม่นำไปสู่วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ได้จริงหรือ

ผมมีประสบการณ์ตรงที่คิดว่าบางเหตุการณ์อาจจะกลับไปแก้ไขให้ดีขึ้นได้บ้าง แต่ภาพใหญ่ของสถานการณ์ทั้งหมด ลำพังฝ่ายผู้ชุมนุมคงแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ยาก เพราะความตายเกิดจากคนถือปืน ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนถือตีนตบ หัวใจตบ แล้วคนถือปืนเขาเห็นตัวแบบหลายเหตุการณ์ว่ามันทำได้ มีการเตรียมกำลังทหาร 6-7 หมื่นนาย ฝ่ายความมั่นคงไทยเคยใช้กำลังทหารจำนวนมากมายมหาศาลขนาดนี้ครั้งสุดท้ายในสงครามอะไร การสั่งให้เอาปืนติดลำกล้องยิงระยะไกลออกมาในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน การเบิกกระสุนมาเป็นแสนๆ นัด กระสุนสไนเปอร์อีก 3-4 พันนัด มันอธิบายสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความคิดของผู้มีอำนาจว่าคุณกำลังคิดทำอะไร

เกิดเหตุเผชิญหน้ากันตั้งแต่สายวันที่ 10 เมษายน บ่าย 3 – บ่าย 4 เริ่มมีรายงานผู้เสียชีวิตทางสื่อมวลชนแล้ว แต่มีการสั่งการให้ทำต่อจนถึงกลางคืน พลบค่ำ ศอฉ. ยังประกาศว่าต้องทำให้เสร็จคืนนี้ นี่คืออะไร แม้ว่าคืนนั้นผมเจรจากับฝ่ายรัฐบาลจนยุติปฏิบัติการได้ แต่ก็เป็นการยุติชั่วคราว

รัฐบาลที่อ้างว่ามาจากระบบรัฐสภา คุณก็ตัดสินใจแล้วแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองให้มีการสอบสวนเรื่องนี้ และให้ประชาชนตัดสินใจทางการเมืองใหม่ มันควรจะเป็นบรรทัดฐานเบื้องต้นของรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ แต่ไม่ มันกลับมีมาตรการหนักขึ้นๆ มีการใช้เขตกระสุนจริง มีการพบภาพถ่ายภาพเคลื่อนไหวเจ้าหน้าที่ทหารซุ่มอยู่ตามจุดสูงข่ม มีคนเจ็บคนตายเพิ่มขึ้นอีกหลายต่อหลายวัน มีปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบกับผู้ชุมนุมอยู่ตลอดเวลา มันเกิดขึ้นแบบนี้ได้ยังไง

ถ้าวิเคราะห์จากวิธีจัดการสถานการณ์ของฝ่ายผู้ถืออำนาจ ผมเกรงว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้เราก็คงหลีกเลี่ยงความสูญเสียนี้ได้ยากเต็มที ถ้าจะบอกว่าทำได้สิ คุณก็ไม่ต้องออกมาชุมนุม หรือมาแล้วคุณเห็นว่าเขาเอาปืนออกมาเยอะแยะ คุณก็ต้องกลับไป ปัญหาก็คือว่าประชาชนมือเปล่าๆ มากันด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเรียกร้องเพียงแค่การเลือกตั้งใหม่ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องพื้นฐานที่สุดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตย ในเมื่อเราไม่มีความผิดอะไรเลย เราต้องกลัวเจ้าหน้าที่รัฐติดปืนทำไม หากเป็นโจรผู้ร้ายถึงจะต้องกลัวเจ้าหน้าที่ที่ถืออาวุธ แต่เราคือประชาชน

ทำไมไม่ทำเหมือนตอนรัฐบาลสมชาย หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหน่วยปฏิบัติการหลัก ไม่ได้มีการใช้อาวุธสงครามเต็มไม้เต็มมือแบบปี 2553 ความรุนแรงจากรัฐมันก็ไม่เกิดขึ้น ความแตกต่างไม่ได้อยู่ที่ประชาชนผู้เคลื่อนไหว แต่อยู่ที่ว่าอำนาจรัฐจะมีทัศนะต่อประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างไร แล้วมีวิธีการจัดการอย่างไร

ทั้งที่ข้อเรียกร้องและวิธีการของกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. ไปไกลกว่ามาก คือ การฉีกรัฐธรรมนูญและให้ประเทศไทยเกิดการสถาปนาอำนาจรัฐใหม่อย่างที่พวกเขาต้องการ มีการยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง แต่ นปช. เรียกร้องการเลือกตั้ง ไม่ได้ต้องการจะไปแก้กติกาใดๆ แต่เราไม่ยอมรับรัฐบาลจากอิทธิพลของอำนาจนอกระบบในค่ายทหาร

เรายึดพื้นที่ที่สะพานผ่านฟ้ากับแยกราชประสงค์ ถ้าจะบอกว่าการไปยึดแหล่งช้อปปิ้งแหล่งธุรกิจเป็นความร้ายแรงที่ให้อภัยไม่ได้ ก็ไม่ใช่คำอธิบาย ซึ่งภายหลังคุณสุเทพก็ยึดทุกแยกทุกถนนในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำไป

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมคงต้องพยายามอย่างที่สุดในการเจรจากับรัฐบาลให้ถอนกำลังทหาร ให้มีการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดี แล้วก็ให้พี่น้องประชาชนตระหนักรู้ว่าเขาฆ่าได้จริงๆ กลางถนน กลางวันแสกๆ หรือแม้กระทั่งกลางค่ำคืนด้วยยุทธวิธีทางการรบเต็มรูปแบบ เพราะคนที่มาเขาก็ไม่คิดว่าจะเจอแบบนั้น หลายคนปีนเก็บมะขามเอามาทำน้ำพริกจะได้มาอยู่ได้หลายวัน หลายคนมาช้ากว่าเป็นอาทิตย์เพราะรอเกี่ยวข้าวสีข้าว เอามาเป็นเสบียงในระหว่างการต่อสู้ ไม่มีใครคิดจะมาสู้รบปรบมือเลย

สิ่งที่ผมบอกว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้แล้วผมจะพยายามนั้น ฟังดูแทบไม่มีความหมายเลย ถ้าหากฝ่ายผู้มีอำนาจย้อนเวลากลับไปได้แล้วเขายังทำอย่างเดิม เพราะฉะนั้นถ้ามีไทม์แมชชีนสักอัน ไม่ใช่ผมที่จะต้องเข้าไป ผมอยากให้ผู้นำรัฐบาลเวลานั้นเข้าไปและให้เขาตอบว่า ถ้าย้อนกลับไปได้เขาจะทำอย่างนั้นอีกหรือไม่ ไอ้พวกเราถ้าเขายิงเมื่อไหร่ก็ไปเมื่อนั้น สำคัญว่าคนยิงจะยิงไหม สำคัญว่าคนถือปืนจะลั่นไกหรือเปล่า

 

 

ช่วงที่ผ่านมาเกิดเสียงต่อต้านรัฐบาลแล้วโซเชียลมีเดียส่งเสียงชนิดว่า “ร่างกายอยากปะทะแก๊สน้ำตา” ประเมินเสียงเรียกร้องเหล่านี้อย่างไร ถ้าย้อนกลับข้อเท็จจริงว่าเขาไม่ได้ใช้แก๊สน้ำตา แต่เขาใช้กระสุนสไนเปอร์

ผมคิดว่าเป็นการแสดงความกล้าหาญ ความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อหลักการที่ถูกต้อง แต่อย่าประเมินผู้ถืออำนาจบ้านเมืองนี้ต่ำไป แก๊สน้ำตาห่างไกลความเป็นจริงมากกับสิ่งที่เราต้องเผชิญ ในปี 2553 เราปะทะแก๊สน้ำตาแค่ 2 วัน คือวันที่ 9-10 เมษายน หลังจากนั้นเกรงว่าจะเป็นกระสุนจริงเป็นส่วนใหญ่ เขาทำแบบนั้นได้ แล้วอย่าคิดว่าเขาจะไม่ทำอีก เพราะมีหลักประกันสำคัญอยู่ข้อหนึ่ง คือทำแล้วไม่มีผู้ต้องรับผิดตามกฎหมาย

ความพยายามติดตามทวงถามความยุติธรรมในเรื่องนี้จึงหมายถึงการพยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิตของคนในยุคต่อไปที่จะออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้ฆ่าสามารถลอยนวลพ้นผิดได้ ก็อาจเกิดผู้ฆ่ากลุ่มใหม่รายใหม่ขึ้นได้ตลอดเวลา ปัญหาก็คือผู้ตายเป็นคนพวกเดิม คือพวกมือเปล่าที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเชื่อว่าเป็นคนไทยด้วยกัน และเราไม่ได้ทำผิดอะไร เขาไม่น่าจะทำร้ายอะไรเราขนาดนั้น

โลกของความเป็นจริงมันโหดร้ายกว่ามาก ผมไม่ได้มองการพูดว่า “ร่างกายต้องการปะทะแก๊สน้ำตา” เป็นคำพูดที่ไร้เดียงสา แต่เขาต้องรู้ด้วยว่าอีกฝ่ายที่เผชิญหน้าอยู่เขาไร้เมตตา จึงต้องรอบคอบระมัดระวัง และศึกษาเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ให้ละเอียดคมชัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ความหวาดกลัวเอามาใช้ไม่ได้กับคนที่ตัดสินใจต่อสู้ แต่ว่าความรอบคอบ รัดกุม การศึกษาเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็น ผมไม่ได้ออกไปยืนในบรรยากาศเคลื่อนไหวทางมวลชนหลายปีแล้ว บางคนถามผมว่ากลัวหรือ ตั้งแต่ผ่านเหตุการณ์ปี 2553 ผมไม่ค่อยพบว่าความกลัวคืออะไร แต่ผมมีภาระหนักอึ้งในชีวิต คือผมยังไม่สามารถไปแสวงหาความยุติธรรมให้พี่น้องที่เจ็บตายได้เลย แล้วผมจะยังมีหน้าไปยืนอยู่ข้างหน้าขบวนการที่กำลังจะต่อสู้กันอีกได้ไหม คำถามนี้ผมยังหาคำตอบไม่ได้

เวลาคิดถึงเหตุการณ์ เราจะเห็นภาพตัวเองปราศรัยอย่างดุเดือดห้าวหาญ เห็นภาพตัวเองสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนจำนวนมากว่าการเป็นแกนนำของพวกเราจะทำให้เขาเข้าถึงชัยชนะได้ จะทำให้ความไม่ชอบธรรมทั้งหลายหมดไป แต่ความเป็นจริงเรายังทำอย่างนั้นไม่ได้ มิหนำซ้ำยังทำให้ทุกชีวิตที่สูญเสียเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ด้วย จึงเป็นเรื่องใหญ่ถ้าผมจะต้องออกไปยืนอยู่ตรงนั้น ผมจะดูแลปกป้องคนที่เขามาต่อสู้ด้วยอย่างไร

อาจจะมีคนที่เขาทำได้ดีกว่าหรือสถานการณ์สอดรับมากกว่า แล้วทำให้การขับเคลื่อนเดินไปได้ไกลกว่า ผมไม่ผลักภาระไปให้คนอื่น มีการต่อสู้ผมก็อยู่ด้วย แต่ถ้าต้องไปเป็นแกนนำอีกก็ให้เวลามันมาถึงแล้วกัน ให้ผมมีคำตอบกับตัวเองว่าถ้าต้องทำอย่างนั้นอีก แล้วจะจัดการทั้งหมดทั้งหลายที่เกิดขึ้นยังไง ถ้ามันเป็นปัญหาส่วนตัว ผมพร้อม เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น แต่มันเป็นความรับผิดชอบที่ทำอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่ยังไม่ได้ มันติดอยู่ในใจ เลยยังต้องทำเรื่องนี้แล้วเอาใจช่วยทุกกลุ่มให้เดินหน้าต่อไป แต่ผมไม่หายไปไหนแน่ ผมไม่เอาเผด็จการ ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ไม่ยอมรับรัฐบาลชุดนี้ ผมชัดเจน เปิดเผย ตรงไปตรงมา

 

เคยประเมินไหมว่าถ้าฝ่ายประชาธิปไตยกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีก จะสามารถสะสางเรื่องนี้ได้ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง

ในวันเวลาที่อำนาจรัฐเปลี่ยนก็อาจจะทำอะไรได้มากขึ้น แต่คำว่ากระบวนการยุติธรรมก็มีอยู่หลายส่วน แล้วแต่ละส่วนไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลไกของฝ่ายบริหารเพียงอย่างเดียว การขับเคลื่อนในฐานะฝ่ายบริหารผมว่าเราจะทำได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้แน่ๆ แต่ปัญหานี้เป็นเรื่องโครงสร้างอำนาจ การจะทำให้กระบวนการทั้งหลายคืบหน้าโดยเร็วยังเป็นเรื่องที่มากด้วยอุปสรรค สังเกตว่าตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ไม่มีการไต่สวนหาสาเหตุการตายเลย ที่ผ่านมาก็มีกระแสข่าวว่านายทหารใหญ่เดินทางไปที่หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อจะทำให้สำนวนคดีนี้หายไป เรื่องนี้ต้องมองกันถึงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง

ถ้าเราทำให้ประชาธิปไตยแข็งแรงได้จริง บทบาทของแต่ละหน่วยงานต้องสอดรับกับหลักการประชาธิปไตย การให้ความยุติธรรมในเหตุการณ์นี้ก็จะเป็นจริงได้มากขึ้น แต่หากยังมีองค์กรที่อยู่นอกหลักการประชาธิปไตยเข้ามามีอิทธิพลได้มาก มันก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ เอาง่ายๆ ว่าบทบาทของกองทัพจะอยู่ยังไงในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ผมไม่ได้บอกว่ากองทัพรู้เห็นเป็นใจ แต่บุคลากรของกองทัพถูกใช้ออกมาเผชิญหน้ากับประชาชนแล้วเกิดการบาดเจ็บล้มตายมากมาย

การมองว่าในวันที่ฝ่ายเดียวกันกับผู้เรียกร้องกลับมาเป็นรัฐบาลแล้วไม่ได้ทำอะไรกันเลย ผมว่าคำพูดนี้ก็ไม่ถูกต้องนัก หลังเหตุการณ์ปี 2553 มีการเลือกตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นมา กระบวนการในการดำเนินคดีคืบหน้าในช่วงนั้น มีการส่งเรื่องไปถึงศาลให้ไต่สวนสาเหตุการตาย คำวินิจฉัยของศาลส่วนใหญ่ก็ออกมาในช่วงเวลาดังกล่าว และกระบวนการก็ถูกหยุดลงหลังรัฐประหารโดยคสช.

ผมคิดว่ารัฐบาลที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนจริงๆ เขาคงไม่เพิกเฉย แต่ว่ามันก็มากด้วยข้อจำกัด ไม่ใช่จะเดินหน้าได้แบบคล่องตัวเหมือนคดีความทั่วๆ ไป มีพลังแฝงมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องและมีอิทธิพล อย่างน้อยต้องทำให้เรื่องนี้ยังคงถูกตั้งคำถาม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในที่สุดแม้ว่าจะยังไม่มีคำพิพากษาตามกระบวนการยุติธรรม แต่การมีข้อสรุปจากสังคมก็อาจจะเป็นไปได้ การมีข้อสรุปในใจประชาชนก็ถือว่าเป็นความยุติธรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่เราได้ทำให้กับผู้ที่ประสบชะตากรรมไปแล้ว

 

 

ในวันนี้ที่นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวการเมือง คิดว่าการทวงถามความยุติธรรมให้เหตุการณ์ปี 2553 เป็นภาระของเขาด้วยไหม เมื่อเขาอาจจะไม่ได้มีความทรงจำเรื่องเหลืองแดงหรือเขาอาจจะอยากก้าวข้ามความขัดแย้งเก่าๆ ไป

เขาไม่จำเป็นต้องจำเรื่องเหลืองเรื่องแดงก็ได้ เขาอาจจะไม่ต้องรู้สึกอะไรมากกับความขัดแย้งที่ผ่านมา แต่เขาควรเข้าใจว่าความขัดแย้งนั้นยังมีผลอยู่จนปัจจุบัน ที่สำคัญเขาต้องจำให้ได้ว่าการปราบปรามประชาชนของผู้มีอำนาจในสังคมไทยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเกิดขึ้นแล้วเอาผิดใครไม่ได้ ถ้าเขาเข้าใจและจดจำเรื่องนี้ได้ก็จะรู้ว่าการทำให้ความจริงปรากฏและทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น มันคือหลักประกันในการต่อสู้ของเขาต่อไป มันเพิ่มความปลอดภัย เพิ่มความยับยั้งชั่งใจให้คนที่ถืออาวุธ คนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันอาจไม่จำเป็นต้องรู้สึกกับเรื่องแดงเรื่องเหลือง หรือฝ่ายไหนผิดถูก อยากให้เข้าใจว่าอันไหนคือประชาธิปไตย อันไหนคือไม่ใช่ แล้วก็เดินต่อได้

อย่าลืมว่าถ้าไม่เข้าใจอดีต เราจะไม่มีพื้นฐานในการเดินไปข้างหน้าซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงอันตรายที่ซ่อนอยู่รอบๆ เส้นทางด้วย ไม่มีทางอื่นที่จะทำให้เราเดินต่อสู้โดยมีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยมากขึ้นได้เท่ากับการทำให้การกระทำต่อประชาชนถูกตีแผ่ออกมา ถูกชำระสะสางด้วยความจริงและความยุติธรรม

 

คิดยังไงที่คนบางกลุ่มพูดว่า หากมีภาพเสื้อแดงเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในปัจจุบันจะทำให้ขบวนการ ‘แปดเปื้อน’

เขาอาจจะคิดแบบนั้นก็ได้ แต่อย่าไปบอกว่ามันแปดเปื้อนอะไรเลย คนที่ใส่เสื้อแดงออกมาต่อสู้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็เป็นคนธรรมดาเหมือนทุกคนวันนี้นั่นแหละ คนจำนวนมากเขาไม่เคยคิดว่าจะต้องออกมาต่อสู้อะไรแบบนี้ด้วยซ้ำไป เสื้อแดงที่เขาใส่ไม่ได้เปื้อน ถ้าจะเปื้อน มันก็เปื้อนเลือดพี่น้องที่ถูกกระทำในวันนั้นมากกว่า คนในยุคปัจจุบันจะต่อสู้โดยใส่เสื้อสีอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้สัญลักษณ์เป็นสีเสื้อ ไม่ต้องพูดถึงมันก็ไม่มีปัญหา แต่อย่าถึงขั้นปฏิเสธความจริงที่เกิดขึ้น แล้วกังวลว่ามันจะนำความแปดเปื้อนอะไรมาให้เลย เพราะลำพังสิ่งที่คนเสื้อแดงเจอมาตลอดก็หนักหนาสาหัสเกินกว่าที่คนที่เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตยด้วยกันจะมาตั้งแง่หรือกลัวความแปดเปื้อนอะไร

พวกเราแกนนำทั้งหลายก็พยายามระมัดระวังบทบาทและความเคลื่อนไหว ทั้งในแง่ของหลักการและมารยาทในการต่อสู้ ผมไม่ได้คิดว่าในกระบวนการต่อสู้ใครจะยิ่งใหญ่กว่าใคร ใครจะต้องเป็นคนสำคัญ คนที่ออกมายืนสู้อยู่กลางถนนเผชิญกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมและอำมหิต มีหนึ่งชีวิต หนึ่งอิสรภาพเท่ากันหมด แล้วสื่อมวลชนหรือคนบางกลุ่มก็อย่าไปมองว่ามวลชนที่ออกไปเป็นพวกหน้าเดิมขาประจำเสื้อแดงทั้งนั้น แล้วจะทำให้ขบวนการต่อสู้ใหม่ๆ แปดเปื้อน ขอให้เข้าใจว่าคนเหล่านั้นเขายังสู้อยู่ ที่ไหนมีการต่อสู้เขาก็ไปที่นั่น หรืออีกมุมหนึ่ง มองอย่างเห็นใจด้วยว่าเขายังเจ็บปวดจากการต่อสู้ที่ผ่านมา เขายังมีภาระในหัวใจว่าการต่อสู้ยังไม่ประสบความสำเร็จ พันธสัญญาที่มีไว้กับเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์เมื่อ 10 ปีก่อนก็เป็นหน้าที่ของพวกเขาเหมือนกัน ผมไม่เชื่อว่ากระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไหนจะจำกัดพื้นที่ไม่ให้คนที่เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตยด้วยกันมีที่ยืนได้

คนที่เข้ามาอยู่ในขบวนการต่อสู้ของประชาชนจะเข้ามาด้วยหัวใจที่คับแคบไม่ได้ ต้องเปิดกว้าง และต้องรักคนที่ออกมาสู้ด้วยกัน อย่าทิ้ง อย่าหักหลัง อย่าทรยศเขา ผมเห็นใจพี่น้องที่เขาต่อสู้แล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงของคนที่เคยสู้กันมา เขาเจ็บปวดเสียใจ แต่ผมไม่สามารถเหนี่ยวรั้งใครที่เปลี่ยนแนวทางไปแล้วให้กลับมายืนที่เดิมได้ อย่างน้อยที่สุด ผมยังยืนอยู่ที่เดิม

 

สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยเชื่อคือการวิพากษ์วิจารณ์กันเอง ถ้าจะมีสักข้อหนึ่งที่คิดว่ามันคือความผิดพลาดของคนเสื้อแดงหรือตัวคุณเอง สิ่งนั้นคืออะไร

ผมคงไม่พูดถึงข้อผิดพลาดของคนเสื้อแดงทั้งหมด เพราะคำว่า ‘คนเสื้อแดง’ กินความหมายกว้างกว่าคำว่า นปช. และอาจหมายถึงคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้คิดว่าผมเป็นแกนนำของพวกเขา แต่สำหรับตัวผม เมื่อ 10 ปีที่แล้วประสบการณ์ผมอาจจะน้อยไป อาจห้าวหาญหรือเร่าร้อนมากไปในบางสถานการณ์ ทำให้ขาดความรอบคอบรัดกุมในความคิดว่าการใช้ความรุนแรงของรัฐเกิดขึ้นได้จริง การใช้กำลังของฝ่ายผู้ถืออำนาจอำมหิตเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ ผมยอมรับว่าการมีสไนเปอร์ออกมาไม่เคยอยู่ในจินตนาการของผมเลย หลัง 10 เมษายนผมก็ไม่คิดว่ามันจะไปไกลถึงการประกาศเขตกระสุนจริง นั่นคือขาดประสบการณ์ การควบคุมสติหรือความคิดทั้งของตัวเองและคนอื่นในสถานการณ์วิกฤตวันนั้น ผมอาจจะยังทำได้ไม่ดีพอ ถ้าผมทำได้ดีพอ ผมอาจจะทำให้แกนนำทั้งหลายมีความเห็นตรงกันได้ในหลายเรื่อง แล้วไม่สะท้อนมาเป็นความแตกต่างที่มีผลให้บางส่วนตัดสินใจไม่เหมือนกันในช่วงท้ายๆ ของการชุมนุม

ผมในวันนี้น่าจะทำได้ดีกว่าวันนั้น วินาทีนั้นผมเป็นแกนนำที่อายุน้อยที่สุดในทุกวงที่มีการพูดคุยหารือ เแต่วันนี้แกนนำนิสิตนักศึกษาอายุห่างกับผมเป็น 20 ปี บางทีเรื่องพวกนี้ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ อาศัยการประเมินสถานการณ์ที่ลึกซึ้งแหลมคม แต่ความจริงของชีวิตคือคุณไม่สามารถเลือกทำอะไรในวันที่คุณพร้อมที่สุดได้หรอก เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ได้มีคุณเป็นเงื่อนไข แต่มีสถานการณ์ทางการเมืองเป็นตัวกำหนด ถึงตรงนั้นแม้คุณไม่พร้อม ถ้าตัดสินใจแล้วก็ต้องทำ

ไม่แน่ใจว่าโอกาสข้างหน้าผมจะต้องสัมผัสกับเหตุการณ์พวกนั้นอีกหรือเปล่า แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้มาน่าจะเป็นประโยชน์ ถ้ามีใครมาถามผมว่าเหตุการณ์แบบนี้พี่คิดเห็นยังไง แต่ผมถือเรื่องการเคารพ ให้เกียรติกัน และเรื่องมารยาทของนักต่อสู้ ถ้าไม่มีใครถามก็ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะต้องไปบอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผมจะไปสรุปเอาเองได้ยังไงว่าผมคิดได้ดีกว่าพวกเขา หรือสิ่งที่ผมผ่านมามันเหนือกว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ ไม่ได้หรอก มันก็คือนักต่อสู้คนหนึ่งเท่าๆ กันนั่นแหละ

 

[/et_pb_text][/et_pb_column] [/et_pb_row] [/et_pb_section]

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save