นอกจากศาสตร์ทางด้านการแพทย์แล้ว หนึ่งในศาสตร์ที่มีการทดลองที่น่าสนใจในยุคโควิด-19 คือศาสตร์แห่งพฤติกรรม ที่ชี้ชวนให้เรารู้จักธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตเช่นนี้ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเข้ามาทำหน้าที่อธิบายได้อย่างเฉียบคม
คนจะมีความสุขหรือทุกข์มากขึ้นในภาวะโรคระบาด อะไรคือเหตุผลในการตัดสินใจฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน-สวมหรือไม่สวมหน้ากาก ในยุคโควิดมีการคิดค้นรูปแบบใหม่ๆ ของการ ‘สะกิด’ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์บ้างไหม อย่างไร ฯลฯ
101 ชวนณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ที่ Warwick Business School โคเวนทรี ประเทศอังกฤษ มาพูดคุยว่าด้วยประเด็นเหล่านี้
:: พฤติกรรมศาสตร์ในยุคโควิด ::

โควิดไม่ได้เข้ามาเขย่าหรือเปลี่ยนความเชื่อเกี่ยวกับพฤติกรรมคนเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ หลายคนเริ่มเห็นคุณค่าของพฤติกรรมศาสตร์ที่ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมคนไปในทางที่ดีขึ้น
เรารู้มาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้วว่า หากจะเปลี่ยนพฤติกรรมให้ใครสักคนทำอะไร ต้องปรับให้พฤติกรรมนั้นๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเราอยากลดหรือยกเลิกพฤติกรรมไหน ก็ต้องปรับให้พฤติกรรมนั้นทำได้ยากขึ้น นั่นคือหนึ่งในหลักการของพฤติกรรมศาสตร์
ยกตัวอย่าง การใช้แอปพลิเคชันลงทะเบียนฉีดวัคซีนในไทยทำให้การเข้ารับวัคซีนนั้นยุ่งยาก หากเทียบกับที่อังกฤษจะเห็นได้ชัด ที่อังกฤษ การฉีดวัคซีนไม่ต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน แต่สามารถลงทะเบียนกับหมอ GP (General Practitioner) ได้เลย พอถึงคิว เขาก็จะส่งข้อความมาทางโทรศัพท์ว่าให้จองคิวฉีดวัคซีนได้วันไหน จากนั้นก็จะส่งมาบอกว่าต้องไปรับวัคซีนที่จุดฉีดไหน ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นสถานที่ที่สัญจรง่ายอย่างโรงพยาบาล โรงเรียน หรือห้างสรรพสินค้าที่ห่างออกไปไม่ไกลประมาณ 10 นาที ส่วนข้อความที่ส่งมาก็มีลักษณะเป็น personalized message บอกให้คนๆ นั้นรู้ว่าต้องไปฉีด ไม่ได้สื่อสารว่าต้องไปฉีดเพื่อชาติ หรือฉีดเพื่อชุมชน ซึ่งมักไม่ได้ผล หรืออย่างที่สหรัฐฯ ก็อาศัยการสร้างแรงจูงใจ ให้เอาบัตรฉีดวัคซีนไปแลกกับโดนัทหรือสุ่มล็อตเตอรี
ทั้งหมดนี้มาจากพฤติกรรมศาสตร์ทั้งนั้น ในกรณีที่มีวัคซีนเพียงพอ หากอยากให้คนไทยฉีดวัคซีนมากขึ้น ต้องเพิ่มแรงจูงใจและทำให้กระบวนการฉีดวัคซีนง่ายขึ้น
:: พฤติกรรมศาสตร์ – วัคซีน – การเมือง ::

ในการที่ภาครัฐออกมาสื่อสารให้ประชาชนสวมหน้ากากหรือฉีดวัคซีน ต้องพยายามให้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
จากงานวิจัย พอมีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยว คนจะแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ที่มีความเชื่อต่างกัน ซึ่งเมื่อเชื่อต่างกันมาก ก็ทำให้สังคมโดยรวมมีพฤติกรรมไม่ร่วมกันในการสวมหน้ากากหรือฉีดวัคซีน ทั้งๆ ที่ไวรัสไม่ได้ติดแบบเลือกฝักเลือกฝ่าย
เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ เผชิญการระบาดหนัก จะเห็นว่ามีคนอเมริกันกว่า 20-30% ไม่ยอมสวมหน้ากากแม้ว่าจะมีการออกกฎหมายบังคับก็ตาม งานวิจัยเริ่มจากต้องการทำความเข้าใจว่าเพราะอะไรจึงยังมีคนไม่สวมหน้ากาก และการไม่สวมหน้ากากมีผลกระทบต่อความไว้เนื้อเชื่อใจของคนอย่างไรบ้าง
ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยออกมาว่า มีบางคนไม่ยอมสวมหน้ากากเพราะตอนที่โดนัล ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ทรัมป์ออกมาบอกว่า ไม่ต้องสวมหน้ากาก แต่พออีกวันหนึ่งกลับบอกว่าต้องสวม ซึ่งทำให้การส่งสารออกไปสับสนมาก และทำให้กลุ่มคนส่วนหนึ่งที่ฟังสารได้ไม่ชัดเจนเริ่มไม่ไว้ใจรัฐบาล รวมทั้งทรัมป์เองก็ไม่ได้เป็นแบบอย่างให้ประชาชนในการสวมหน้ากาก
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความแบ่งแยกทางการเมือง (political divide) ระหว่างคนที่สนับสนุนเดโมแครตและรีพลับลิกัน โดยกลุ่มผู้สนับสนุนเดโมแครตส่วนใหญ่เชื่อว่าหน้ากากจะช่วยป้องกันโรค ส่วนกลุ่มรีพลับลิกันเดนตายจะไม่ยอมสวมหน้ากากเลย เราจึงลองทำวิจัยส่งแบบสำรวจออนไลน์ให้คนอเมริกันประมาณ 600 คน โดยถามผู้เข้าร่วมว่าสวมหน้ากากหรือไม่ และให้จับกลุ่มเล่น prisoner’s dilemma game โดยที่ไม่บอกให้รู้ว่ากำลังเล่นกับคนที่สวมหน้ากากหรือไม่สวมหน้ากาก
เราพบว่าไม่ว่าคนที่สวมหรือไม่สวมหน้ากาก อัตราการร่วมมือกับอีกคนที่เขาไม่รู้ว่าสวมหรือไม่สวมหน้ากากนั้นพอๆ กันทั้งสองกลุ่ม กล่าวคือ ไม่ว่าจะสวมหรือไม่สวมหน้ากาก คุณมีแนวโน้มที่จะร่วมมือ 80% ไม่ว่ากับใครก็ตาม
แต่พอให้ข้อมูลก่อนลองเล่นเกมอีกรอบว่าจะได้เล่นกับคนที่สวมหน้ากากหรือคนที่ไม่ได้สวมหน้ากาก สิ่งที่เราพบคือ หากคนสวมหน้ากากรู้ว่าอีกคนสวมหน้ากากด้วย อัตราการร่วมมือจะเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ถ้าเล่นกับคนที่ไม่ได้สวมหน้ากาก อัตราการร่วมมือจะลดลง พูดง่ายๆ คือคนสวมหน้ากากไม่ไว้ใจคนที่ไม่สวมหน้ากากเลย
ในทำนองเดียวกัน หากคนไม่สวมหน้ากากเล่นกับคนที่สวมหน้ากาก อัตราการร่วมมือจะลดลง หมายความว่าคนที่ไม่สวมหน้ากากก็ไม่ไว้ใจคนที่สวมหน้ากากเช่นกัน แต่ในทางกลับกัน หากคนไม่ได้สวมหน้ากากเล่นเกมกับคนไม่ได้สวมหน้ากากเหมือนกัน อัตราการร่วมมือจะเพิ่มยิ่งขึ้น
เห็นได้อย่างชัดเจนว่า คนที่สวมหน้ากากมองคนอีกกลุ่มที่ไม่ได้สวมหน้ากากว่าไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน ส่วนคนที่ไม่ได้สวมหน้ากากก็มองคนสวมหน้ากากเป็นคนอีกฝ่าย
สรุปคือการเมืองทำให้การมีพฤติกรรมร่วมกัน หรือไว้ใจกันเพื่อส่วนรวม กลายเป็นการแบ่งแยกพฤติกรรม ทำให้ฝ่ายขั้วตรงข้ามยอมสวมหน้ากากหรือฉีดวัคซีนได้ยากมาก
:: ฉีดวัคซีนท่ามกลางสังคมไทยสองขั้ว? ::

สถานการณ์การฉีดวัคซีนในไทยตอนนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการแบ่งระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนรัฐบาล
หากพิจารณาจากงานวิจัยว่าการสื่อสารให้คนยอมเปลี่ยนพฤติกรรมออกมาฉีดวัคซีนนั้น ไม่ใช่ข้อมูลอย่างเดียวที่สำคัญ แต่อยู่ที่ว่าใครเป็นคนออกมาสื่อสารด้วย ต่อให้รัฐบาลนำข้อมูลที่ตรงไปตรงมาออกมาสื่อสาร คนที่คิดต่างจากรัฐบาลจะไม่ฟังข้อมูล แต่จะสนใจว่าใครคือคนที่ออกมาสื่อสาร ส่วนคนที่เชื่อมั่นในรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่ว่ารัฐบาลจะสื่อสารออกมาอย่างไรก็จะเชื่ออยู่วันยังค่ำ
หากจะให้มีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงในกรณีที่มีวัคซีนเพียงพอ ผู้นำทางการเมืองทั้งสองกลุ่มต้องออกมาสื่อสารด้วยข้อมูลชุดเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ
แน่นอนว่าตอนนี้มีหลายฝ่ายที่ไม่พอใจกับการบริหารจัดการการระบาดและการกระจายวัคซีนของรัฐบาล แต่หากเป็นไปได้ ต้องพักยกไว้ก่อน แล้วให้ผู้นำทางการเมืองทั้งสองฝ่ายออกมาสื่อสารในแนวทางเดียวกันและอยู่บนฐานของข้อมูลและสถิติ นี่คือแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้มีการสื่อสารที่ชัดเจนจนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และนำไปสู่การปรับพฤติกรรม
:: ‘สะกิด’ ให้เกิด ‘ความสุข’ ในยุคโควิดระบาด ::

หากกล่าวเจาะจงไปที่สถานการณ์การฉีดวัคซีน ตอนนี้อาจมีคนที่ไม่อยากฉีดวัคซีนเพราะกลัวผลข้างเคียง กล่าวอีกอย่างคือ คนรู้สึกว่าความเสี่ยงกับโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากการฉีดนั้นเทียบกันไม่ติด จึงไม่อยากฉีด
หากมองผ่านแว่นตาพฤติกรรมศาสตร์ การที่คุณยังไม่ฉีดวัคซีน โอกาสที่จะมีความสุขเหมือนคนที่ฉีดแล้วก็ยากกว่า เพราะยังมีข้อห้ามในการทำกิจกรรมบางอย่างสำหรับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นอกจากนี้สุขภาพกายก็เป็นตัวแปรที่สำคัญมากต่อความสุข ฉะนั้นควรมีการนำพฤติกรรมศาสตร์มาใช้เพื่อทำให้คนที่ยังกลัวผลข้างเคียงจากวัคซีน ไปฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มโอกาสการมีความสุขของตัวเองและคนรอบข้าง
พฤติกรรมศาสตร์เชื่อว่าการให้ข้อมูลอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนใจคนได้ แต่ต้องยอมรับความรู้สึกและ ข้อเท็จจริงที่คนเชื่อด้วย ฉะนั้นการสื่อสารว่าผลข้างเคียงของวัคซีนนั้นมีเพียงนิดเดียว เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้จากการป้องกันอาการรุนแรงหรือการติดเชื้ออาจเปลี่ยนใจคนได้ยาก ในขณะที่หากสื่อสารโดยรับรู้ถึงความกลัวของคน เช่น บอกว่า หนึ่ง มีหลายอย่างที่ตอนนี้เรายังไม่รู้เกี่ยวกับวัคซีน เรารู้ว่าวัคซีนมีประโยชน์ แต่อาจมีโทษด้วยเช่นกัน สอง แต่สิ่งที่เรารู้มากกว่าคือ เรารู้ว่าหากติดเชื้อโควิดแล้ว จะมีอาการอย่างไรบ้าง แต่หากนำประโยชน์กับสิ่งที่ต้องเสียไปมาเทียบกันระหว่างฉีดกับไม่ฉีดวัคซีน ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนมีมากกว่าหลายเท่าด้วย นี่คือวิธีการสื่อสารอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้คนรับสารไม่รู้สึกว่าความกลัวของเขาถูกลดทอน และนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมได้
แม้ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนพฤติกรรมในการฉีดวัคซีนระยะสั้นเท่านั้น แต่ก็เป็นพฤติกรรมสำคัญที่เกี่ยวกับความสุขในอนาคต
:: นโยบายรัฐต้องมุ่งไปยังคนที่ทุกข์ที่สุดในสังคม ::

แม้ว่าจะยังต้องเก็บข้อมูลและวิจัยต่อค่อนข้างเยอะพอสมควร แต่หากให้คาดเดา เห็นได้ชัดว่า ก่อนโควิดเริ่มระบาด ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้หรือความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งคือตัวแปรสำคัญของความสุขของคนในประเทศ แน่นอนว่าหากอยู่ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง โอกาสที่เราจะมีความสุขก็น้อยกว่าประเทศที่เหลื่อมล้ำต่ำอยู่แล้ว
หากโควิดทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วมีพลังมากขึ้น จากแต่ก่อนคนจนแทบไม่มีอะไรจะกิน ตอนนี้กลายเป็นว่าทั้งไม่มีอะไรจะกิน แถมยังออกไปทำงานหารายได้ไม่ได้ด้วย คาดเดาได้ว่าช่องว่างความสุขคงเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่าตัว
แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ รัฐบาลต้องทำอย่างไรกับสภาพดังกล่าว บทบาทของรัฐบาลจะช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์และลำบากที่สุดในสังคมได้อย่างไร แม้ว่าจะวัดความสุขของคนทั้งประเทศได้ก็จริง แต่หนึ่งในจุดมุ่งหมายของเศรษฐศาสตร์ความสุขคือ ต้องให้ความสำคัญในการออกนโยบายเพื่อช่วยกลุ่มคนที่ทุกข์ที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่คือคนจน