fbpx
นัทธี จิตสว่าง : 10 ปี ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ และก้าวต่อไปเรือนจำไทย

นัทธี จิตสว่าง : 10 ปี ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ และก้าวต่อไปเรือนจำไทย

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

กระบวนการควบคุมผู้กระทำผิดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญ เพราะการจำคุกไม่ใช่เพียงการกีดกันผู้ต้องขังออกจากสังคม แต่ระหว่างนั้นต้องมีการดูแลแก้ไขเพื่อให้ผู้ต้องขังได้บำบัดฟื้นฟู พร้อมไปเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังพ้นโทษโดยไม่กระทำผิดซ้ำอีก

การปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดแต่ละเพศสภาวะก็มีความแตกต่างกันไป ขณะที่เรือนจำไทยและเรือนจำส่วนใหญ่ในโลกถูกออกแบบมาเพื่อผู้ชาย ไม่เอื้อต่อความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงและจะเป็นอุปสรรคต่อการบำบัดฟื้นฟู เมื่อสิบปีที่แล้วจึงเกิด ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) หรือในชื่อเต็มว่า ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้ลงความเห็นให้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำความผิดหญิง โดยคำนึงถึงความแตกต่างด้านเพศสภาวะของผู้หญิงในเรือนจำและเด็กติดผู้ต้องขัง

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ จัดตั้งขึ้นโดยมีหนึ่งภารกิจสำคัญคือการส่งเสริมให้เกิดการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ และมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านเด็กและสตรีในกระบวนการยุติธรรม โดยร่วมกับกรมราชทัณฑ์มีโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาการควบคุมผู้ต้องขังหญิง จนเกิดเรือนจำต้นแบบ อันเป็นแบบอย่างในการนำข้อกำหนดกรุงเทพมาปฏิบัติ มีการฝึกอาชีพด้วยความร่วมมือจากภาคเอกชน มีการให้ความรู้แก่เรือนจำในต่างประเทศเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพได้

โจทย์สำคัญต่อไปคือการขยายโครงการให้ครอบคลุมเรือนจำหญิงทั่วประเทศ แต่ความท้าทายใหญ่คือปัญหาเรื่องความหนาแน่นของจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำไทยที่ทำให้การยกระดับเรือนจำเป็นไปได้ยาก ทั้งจากเรื่องงบประมาณ กำลังเจ้าหน้าที่ การคัดแยกผู้ต้องขังให้เหมาะสมกับการฝึกอบรม

แต่ใช่ว่าจะไม่มีความหวัง เมื่อความสำเร็จที่ผ่านมาเป็นตัวแบบให้เห็นว่าเรือนจำไทยสามารถพัฒนาขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด

101 ชวน ดร.นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษ TIJ ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานกับราชทัณฑ์มาอย่างยาวนาน ย้อนดู 10 ปีที่ผ่านของการทำงานภายใต้ข้อกำหนดกรุงเทพ สำรวจสถานะปัจจุบันของเรือนจำไทย และมองไปยังอนาคตในการพัฒนาเชิงนโยบาย เช่น การเพิ่มมาตรการที่มิใช่การคุมขัง การเปลี่ยนแปลงโทษคดียาเสพติด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานักโทษล้นคุก ให้เหมาะสม มาตรการลดโทษสำหรับผู้ต้องขังคดีไม่ร้ายแรง เป็นต้น ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการแก้กฎหมายที่ต้องการความเข้าใจร่วมกันของสังคม

 

นัทธี จิตสว่าง

 

บทเรียนจากการทำงานกับกรมราชทัณฑ์ที่ผ่านมา มีเรื่องอะไรที่อยากพัฒนาต่อไป

ก็มีการทำงานร่วมกันในหลายเรื่อง ซึ่งก็ไปด้วยดี แต่มีหลายเรื่องที่ควรดำเนินการ เช่น เรื่องการออกแบบเรือนจำ เพราะโครงสร้างเรือนจำจะทำให้การบริหารงานเรือนจำเป็นไปตามที่เราต้องการง่ายขึ้น เรือนจำหญิงมีการออกแบบที่สร้างมาเพื่อผู้ชาย ทำให้เน้นความมั่นคงปลอดภัยด้วยลูกกรงต่างๆ สูงเกินไปสำหรับเรือนจำหญิง การออกแบบมีส่วนสำคัญที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องการแก้ไขผู้ต้องขังได้ โทนสีก็มีผลต่อการปรับจิตใจ เราพยายามเน้นแก้ไขเพื่อกลับคืนสู่สังคม ให้เขาผูกพันกับชุมชนและครอบครัว โดยเฉพาะกับลูก

ในอดีตเรายังไม่เคยออกแบบเรือนจำสำหรับผู้หญิง เพราะสมัยก่อนมีผู้หญิงติดคุกน้อย แต่ตอนนี้มีเยอะขึ้นแล้วก็ต้องปรับปรุง นี่คือส่วนที่เรายังขาดอยู่

อีกส่วนหนึ่งที่ต้องทำคือการแยกผู้ต้องขัง ระหว่างคนที่ทำผิดโดยพลั้งพลาดกับคนที่ทำผิดซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคม ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต้องแยกว่าคนที่เป็นอันตรายต่อสังคมก็ควรจะแก้ไขอย่างเต็มที่ ส่วนคนที่พลั้งพลาดหรือไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นผู้ร้ายก็ควรแก้ไขและให้โอกาสเขากลับเข้าสู่สังคม

 

หากจะปรับปรุงเรื่องการออกแบบเรือนจำให้เหมาะสมกับเพศ เหมือนต้องไปนับหนึ่งตั้งแต่วิธีคิดเริ่มแรกหรือไม่

ที่ผ่านมาเรามีการออกแบบเฉพาะเรือนจำสำหรับผู้ชาย ฉะนั้นต้องออกแบบใหม่ ผู้ต้องขังหญิงควรให้โอกาสเยี่ยมแบบใกล้ชิดได้ตลอด เพราะผู้ต้องขังหญิงหลายคนมีสถานะเป็นแม่ และเด็กจะต้องเข้ามาเยี่ยมแม่ ตามข้อกำหนดกรุงเทพ เด็กต้องเยี่ยมแม่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีลักษณะเหมือนเรือนจำ ไม่มีลูกกรง เราจะออกแบบที่เยี่ยมอย่างไรให้มีความรู้สึกว่าไม่เหมือนเรือนจำ ในต่างประเทศก็มีพื้นที่เยี่ยมสำหรับเด็กมาเยี่ยมแม่โดยเฉพาะ มีลักษณะเหมือนสนามเด็กเล่น บางเรือนจำก็จัดพื้นที่ให้ผู้หญิงรู้สึกเหมือนบ้าน แต่เรามีจำนวนผู้ต้องขังที่แน่นและแออัดก็อาจจะทำได้ไม่ถึงขนาดนั้น ที่ทำได้คือการปรับโทนให้มีการออกแบบสำหรับผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องประสานกับทางกระทรวงยุติธรรม เพราะกรมราชทัณฑ์ไม่ได้รับผิดชอบในการออกแบบเรือนจำ

ในภาพใหญ่เรือนจำทั่วโลกมุ่งพัฒนาไปทางไหน นอกจากเรื่องเรือนจำสำหรับผู้หญิง

เทรนด์ของเรือนจำโลกจะเน้นเรื่องการแยกปฏิบัติ ถ้าเป็นคนทำผิดโดยพลั้งพลาดก็จะแก้ไขให้เต็มที่ โดยให้เอกชน ชุมชนหรือภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ในขณะที่คนที่ทำผิดร้ายแรงก็จะต้องใช้เรือนจำสำหรับคุมขังควบคุมคนเหล่านี้ให้นานขึ้น เขาเอาเรือนจำไว้ขังคนที่อันตรายต่อสังคมจริงๆ ส่วนคนที่พลั้งพลาดจะใช้วิธีการปฏิบัติในชุมชนมากขึ้น

ในอนาคตเป็นไปได้ว่าเราอาจไม่ใช้กำแพงในการควบคุมคนอีกต่อไป แต่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการคุมคนไม่ให้ไปไหนโดยไม่ต้องเอามาขังในกำแพงอีกต่อไป

 

แล้วไทยอยู่ตรงไหนในเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังมุ่งไปนี้

ในระดับการปฏิบัติ เราอยู่ระดับกลางค่อนมาทางต่ำ ปัญหาของเราคือเรื่องความแออัดที่เกินความจุมากจนทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไข สุขภาวะ การอบรมวิชาชีพ การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย เราทำได้ลำบากมาก เนื่องจากคนเยอะ จะมีปัญหามากเรื่องอาหารการกิน งบประมาณก็มาลงที่เรื่องอาหารของผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ และการก่อสร้างเรือนจำหมด งบจะไปอบรมแก้ไขต่างๆ ก็ไม่ค่อยมี

ต้องหาวิธีว่าทำอย่างไรให้จำนวนผู้ต้องขังลดลงและเก็บไว้เฉพาะคนที่เป็นอันตรายต่อสังคมจริงๆ เปิดให้มีการระบายผู้ต้องขังออกไป จะทำให้เราสามารถแก้ไขคนที่เป็นอันตรายได้อย่างเต็มที่ เรื่องสุขภาวะ การอบรมฝึกวิชาชีพก็จะทำได้อย่างเต็มที่เพราะคนไม่แน่นเกินไป เจ้าหน้าที่มีเวลาดูแลได้ทั่วถึง

 

นัทธี จิตสว่าง

 

เมื่อแยกผู้ต้องขังระหว่างคนที่พลั้งพลาดกับคนที่มีความผิดร้ายแรง การส่งคนที่พลั้งพลาดกลับคืนสู่สังคม เราจะสื่อสารกับคนในสังคมยังไงว่าเขาไม่ได้เป็นคนอันตรายอย่างที่คนเข้าใจ

ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ที่อบรมหรือแก้ไขออกไปสู่สังคมแล้วบางทีคนก็ไม่ยอมรับ เพราะคนยังมองภาพของผู้ต้องขังเพียงภาพเดียว ฝ่ายหนึ่งมองว่าคนเข้าคุกแล้วต้องเอาให้หนัก ไม่ต้องไปแก้ไข อีกฝ่ายก็มองว่าคนเหล่านั้นเป็นมนุษย์เหมือนกันต้องให้โอกาสเขาแก้ไข แต่จริงๆ แล้วผู้ต้องขังมีทั้งสองแบบ บางคนก็ร้าย บางคนก็แก้ไขได้ ทำอย่างไรให้คนแยกแยะได้ว่าคนเรามีทั้งดีทั้งชั่ว มีทั้งพลาดไปและตั้งใจกระทำผิด

สิ่งที่ทางการทำคือพยายามดึงภาคเอกชน ประชาชน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อที่จะทำให้เขายอมรับมากขึ้น เช่น มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำงานในหลายด้าน มีโรงงานที่รับผู้ต้องขังไปทำงาน มีบริษัทเอางานมาให้ผู้ต้องขังทำหรือมาสอนฝึกอาชีพอิสระ

ภาคส่วนอื่นๆ ที่เราอยากให้เกิดความร่วมมือ คือ ส่วนท้องถิ่น อบต. อบจ. ต่างๆ เช่น เมื่อถึงเวลาพ้นโทษ เราก็แจ้งว่าเขาจะกลับเข้าไปในเขตของคุณ ให้ช่วยดูแลหาอาชีพให้ทำ เพื่อให้เขาไม่ก่อความรุนแรงในพื้นที่อีก

หน่วยงานราชการก็มีส่วน ตอนนี้คนพ้นโทษไม่สามารถไปทำงานราชการได้ เพราะกฎหมายบอกว่าจะต้องไม่เคยติดคุกมาก่อน ซึ่งน่าจะมีการยกเลิก ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ แต่เวลาสัมภาษณ์ก็ให้พิจารณาดูประวัติก่อน จะไม่รับก็ได้แต่ถ้าตัดออกตั้งแต่แรกจะปิดโอกาส และทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองด้อยคุณค่า

 

ในนอร์เวย์เคยมีการกราดยิงคนเสียชีวิตจำนวนมาก ที่สุดแล้วสังคมก็เชื่อในการแก้ไขโดยไม่เรียกร้องการลงโทษที่รุนแรง เราเรียนรู้อะไรจากกรณีนี้ได้บ้าง

กรณีนี้ยิงคนตายไป 90 กว่าคน ในนอร์เวย์ถือว่าคนที่จะกระทำความผิดมีความผิดปกติหรือป่วย ถ้าไม่ป่วยคนปกติจะไม่ทำกัน เพราะเขามีสวัสดิการหมด ใครตกงานก็มีเงินให้ เรียนหนังสือฟรี และเป็นสังคมที่เงียบสงบไม่ค่อยมีคนทำความผิด อยู่ดีๆ มีคนมากราดยิงคนตายแสดงว่ามีความผิดปกติ ต้องเอาไปบำบัดรักษา เขาก็ส่งเข้าเรือนจำซึ่งเป็นเรือนจำที่ดีที่สุดในโลกและให้โอกาสปรับตัว เป็นการกันออกจากสังคมไปจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่เป็นอันตรายต่อสังคมอีก

ทั้งประเทศเขามีผู้ต้องขังอยู่ 4,000 กว่าคน ของเราคุกเดียวก็มี 8,000 กว่าคนไปแล้ว ในประเทศที่อาชญากรรมเกิดขึ้นมากมาย มีการยิงการฆ่ากันตลอด คนในสังคมจะคิดว่าพวกนี้โหดร้ายต้องลงโทษให้หนัก จะได้เข็ด ไม่ต้องไปแก้ไขอะไร

การที่เขาคิดเขาทำแบบนั้นเพราะสภาพสังคมเป็นแบบนั้น อย่างเหตุกราดยิงนอร์เวย์มีคนค้านเรื่องการใช้โทษประหารชีวิตเพราะเชื่อว่าถ้าใช้ความรุนแรงเข้ามาแก้ปัญหาความรุนแรง ความรุนแรงก็ยิ่งมีมากขึ้นอีก และเขาจะไม่เพิ่มความรุนแรงเข้าไปในการแก้ปัญหา นั่นเพราะสภาพสังคมเขาเป็นอย่างนั้น

 

นัทธี จิตสว่าง

 

อย่างนี้แค่การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจอาจจะไม่พอ เพราะเป็นความคิดที่เกิดจากปัญหาทุกด้านของสังคมไทย

ใช่ มีการมองเป็นสองขั้ว ขั้วหนึ่งคือต้องจัดการให้หนัก อีกขั้วหนึ่งคือต้องให้โอกาสแก้ไข เพราะหากไปรอให้สังคมดีก่อนแล้วค่อยเลิกวิธีการลงโทษที่รุนแรงจะช้าเกินไป ทำไมเราไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดความรุนแรง

ถ้าช่วงไหนไม่ค่อยมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นก็จะมีความคิดเรื่องพัฒนาและอบรมผู้ต้องขัง เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานระหว่างประเทศ แต่พอเกิดเรื่องอย่าง ผอ.กอล์ฟ หรือกราดยิงโคราช สังคมก็บอกว่าต้องลงโทษให้หนัก ให้วิสามัญ

อย่างนอร์เวย์ไม่ได้มีการวิสามัญ แต่จับเป็นแล้วเอามาวิเคราะห์ว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น ฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นสังคมแบบไหน ตอนนี้เราอยู่กึ่งกลางที่ค่อนข้างเอียงไปทางการลงโทษ เนื่องจากเพิ่งเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา แต่พอเหตุการณ์เบาลงก็จะเริ่มเอียงไปทางสายสิทธิมนุษยชนหรือสายศาสนาที่บอกว่าจะต้องให้อภัย แล้วแต่สภาพจังหวะช่วงเวลา

 

เรื่องข้อกำหนดกรุงเทพที่เดินมาถึง 10 ปี มองผลการทำงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

ข้อกำหนดกรุงเทพ เป็นการขับเคลื่อนข้อกำหนดของสหประชาชาติที่ทำได้ก้าวไกลกว่าข้อกำหนดอื่นๆ ของสหประชาชาติที่ผ่านมา มีการขับเคลื่อนอย่างแท้จริงและสามารถทำได้ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย นี่คือผลสำเร็จ แต่ประเทศไทยก็ยังมีปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความแออัดของเรือนจำ ส่วนใหญ่ประเทศที่มีปัญหาเรื่องนี้จะทำข้อกำหนดกรุงเทพได้ยาก ซึ่งต้องพัฒนาไปอีกมาก กว่าจะแก้ปัญหาได้

ในการทำข้อกำหนดกรุงเทพนั้น สิ่งสำคัญ คือ 1.ฮาร์ดแวร์ (hardware) มีการเปลี่ยนแปลงอาคารสถานที่ต่างๆ สวยงามขึ้น พัฒนาขึ้น 2.ซอฟต์แวร์ (software) มีโปรแกรมในการแก้ไขผู้ต้องขังเพิ่มมากขึ้น 3.พีเพิลแวร์ (peopleware) มีการฝึกอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจและปรับทัศนคติในการขับเคลื่อน

เรื่องที่ต้องส่งเสริมราชทัณฑ์ต่อไปคือการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ เพราะแม้ว่าในเชิงกายภาพจะพัฒนาได้มีความสวยงามแล้วแต่ในทางปฏิบัติ โปรแกรมยังทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากปัญหานักโทษล้นคุกแออัด เจ้าหน้าที่น้อย เช่น บอกว่าจะต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ต้องมีการฝึกอบรม แต่ก็ทำได้ปีละครั้งเดียวหรือทำไม่ต่อเนื่อง เพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณ หรือคนที่ทำไม่ค่อยมีใจอย่างเต็มที่ เพราะคนเข้ามาสักพักก็ออกไปแล้วมีคนใหม่มาอีก เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอและผู้ต้องขังมีเป็นพันคน

ส่วนเรื่องอาคารและสถานที่ดีขึ้น แต่บางทีก็ไม่ได้ใช้ฝึกอาชีพ หรือฝึกอย่างไม่จริงจัง นี่เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ต่อไป

 

นัทธี จิตสว่าง

 

แล้วเรื่องการพัฒนาเจ้าหน้าที่ มองความเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีอย่างไรบ้าง

เรื่องนี้ก็ถือว่าดีขึ้น เพราะเรามีการอบรมเรื่องข้อกำหนดกรุงเทพ แรกๆ เจ้าหน้าที่ก็จะมองว่าผู้ต้องขังจะกลายเป็นนายเราหรือเปล่า ทำไมต้องไปเอาใจผู้ต้องขัง พอเราอบรมเพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างของเพศสภาวะ เจ้าหน้าที่ชายจะบอกว่าทำไมเอาใจแต่ผู้หญิง เราก็ต้องไปชี้แจงว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่ผู้หญิงได้รับมันต่ำกว่าผู้ชายมาก่อน เช่น ผู้ชายในแดนใหญ่มีทั้งโรงงาน โรงเรียน โรงพยาบาลต่างๆ แต่ผู้หญิงกลับอยู่ในแดนแคบๆ ฝึกอาชีพก็ไม่ได้เพราะว่าห้องแคบแค่นั้น อาหารการกินก็อยู่ในนั้นไม่มีที่เหมือนผู้ชาย เพราะเรือนจำสร้างมาสำหรับผู้ชาย ผู้หญิงถูกละเลยเพราะสมัยก่อนมีผู้หญิงไม่กี่คนที่ติดคุก แต่ตอนนี้มีเป็นร้อยแล้วก็ยังอยู่ที่เดิม ความไม่เท่าเทียมมันมีมาก่อนแล้ว เราพยายามทำให้เขาได้รับการปฏิบัติกันอย่างเท่าเทียม แล้วผู้หญิงที่มีลูกก็มีความต้องการหลายๆ อย่าง ต้องมาปรับกันโดยใช้ข้อกำหนดกรุงเทพ

ภายหลังเจ้าหน้าที่ก็เข้าใจมากขึ้นและมีการดำเนินการตามนี้ ให้มองว่าทำแล้วจะดีต่อเจ้าหน้าที่เองด้วย เพราะจะได้ทำงานในที่มีสุขอนามัยที่ดี แทนที่จะไปคลุกคลี ทำงานในสถานที่ที่ไม่อภิรมณ์ ทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่จะได้มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย ที่ผ่านมา 10 ปีมีการพัฒนาไปได้มาก เจ้าหน้าเริ่มเข้าใจเรื่องนี้ได้มากขึ้น

 

กรณีเด็กที่เป็นลูกผู้ต้องขังหญิงสามารถเข้าไปคุ้มครองช่วยเหลือได้แค่ไหน

ทางราชทัณฑ์ได้ทำให้เขาได้รับการปฏิบัติที่ถูกสุขลักษณะอนามัยและการเลี้ยงดูมีทางโรงพยาบาลหรือสภากาชาดไทยเข้ามาดูแลให้ เด็กที่ติดผู้ต้องขังแล้วอยู่กับมารดาจะได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกดูแลเด็กและจะมีห้องเนอสเซอรี่และคนดูแลอยู่ เด็กที่อยู่ในนั้นมีความเป็นอยู่ดีกว่าเด็กที่อยู่ในชุมชนแออัดกับแม่

 

นัทธี จิตสว่าง

 

สำหรับเรือนจำทั่วประเทศ สามารถนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้ได้ครอบคลุมแค่ไหน

TIJ ก็พยายามส่งเสริมราชทัณฑ์ในหลายเรือนจำ แต่ตามตัวชี้วัดของกระทรวงยุติธรรมต้องทำทุกเรือนจำที่มีผู้ต้องขังหญิง แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถที่จะทำได้และแต่ละแห่งมีคุณภาพที่ไม่เท่ากัน บางเรือนจำทำได้สมบูรณ์ตามข้อกำหนดกรุงเทพ แต่บางเรือนจำก็ยังไปไม่ถึง เพราะว่า 1.เรือนจำห่างไกลจากชุมชน 2.ความแออัด 3.สภาพเรือนจำที่มีความเก่า ในตอนนี้มีที่ทำได้ดีปานกลางอยู่ 20% ดีอยู่ประมาณ 20% ดีเยี่ยมมีประมาณ 10% ที่เหลือก็ยังต้องพัฒนาต่อ

 

ทราบว่ามีโครงการต่างๆ ที่เป็นความร่วมมือกับภาคเอกชน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากแค่ไหน

ก็ทราบจากทางราชทัณฑ์ว่าภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเยอะมาก ตอนนี้มีทั้งคนเข้ามาช่วยเรื่องฝึกอาชีพ มาทำร้านกาแฟ ฝึกค้าขาย เย็บปักถักร้อย ฯลฯ หรือเข้ามาช่วยดูแลเรื่องเด็ก เข้ามาช่วยเรื่องสุขภาพต่างๆ เพียงแต่ว่ายังไม่พอ เพราะว่าคนในเรือนจำเยอะ ทำให้มีเพียงกลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์ เช่น มีผู้ต้องขังเป็นพันคน แต่เขาเข้ามาช่วยเหลือได้เพียง 20-30 คน และไม่สามารถเข้ามาได้ทุกวัน แต่อาจเข้ามาทุก 2 เดือน หรือทุก 1 ปี ทำได้กลุ่มหนึ่งก็ต้องหยุดเนื่องจากงบประมาณหมด ทั้งที่จริงๆ แล้วต้องทำ 7 เดือนต่อเนื่องกันไป แต่เข้ามาได้แค่ 2 อาทิตย์ก็จบโครงการ ภายหลังก็มีอีกกลุ่มมา ทำให้ขาดความต่อเนื่อง

 

นัทธี จิตสว่าง

 

เรือนจำต้นแบบที่ประสบความสำเร็จจนสามารถทำให้ผู้ต้องขังออกไปใช้ชีวิตที่ดีได้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเป็นเพราะมีผู้บัญชาการเรือนจำที่มีวิสัยทัศน์ด้วยหรือเปล่า

ใช่ ทาง TIJ เข้าไปสนับสนุนเรือนจำ แต่ผู้บัญชาการเรือนจำ (ผบ.) ก็ต้องมีความตั้งใจด้วย ถ้าสนใจก็มาร่วมกันทำและทำให้เรือนจำนั้นเป็นเรือนจำต้นแบบปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพได้ เพราะว่าเวลาที่เราเข้าไปแล้วเจ้าหน้าที่จะคิดว่าทำไม่ได้ เพราะ 1.เรือนจำเก่า 2.เรือนจำแออัด 3.ไม่มีเงิน เราจึงลองเลือกเรือนจำเก่าๆ แล้วเข้าไปช่วยส่งเสริม ปรากฏว่าเขาทำได้ เช่นที่อุทัยธานีเป็นเรือนจำที่สร้างมากว่า 100 ปีแล้ว แต่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพได้ เราเข้าไปร่วมมือกับผบ.และให้เอกชนเข้าไปช่วยเหลือ แล้วให้คนอื่นไปดูงานเพื่อลบคำสบประมาทที่บอกว่าเอาทฤษฎีของฝรั่งมาใช้กับไทยไม่ได้

ทั้งเรื่องเรือนจำเก่า ปัญหาความแออัด หรือไม่มีงบประมาณ เราสามารถช่วยกันได้ ถ้าผบ. เห็นด้วย มีความตั้งใจที่จะทำก็สามารถทำได้ เพียงแต่ว่าต้องเหนื่อยหน่อย ถ้ามีคนเชี่ยวชาญด้านเทคนิคมาช่วยแนะนำทางด้านทรัพยากรเขาก็ทำได้ เราไปสนับสนุนเรือนจำต้นแบบเป็นตัวอย่างให้เรือนจำอื่นเกิดกำลังใจว่าไม่ใช่สิ่งที่จะทำไม่ได้เลย

 

มีกลไกอื่นหรือไม่ที่จะทำให้เรือนจำพัฒนาโดยไม่ขึ้นกับผู้บัญชาการเรือนจำอย่างเดียว

ผบ. 2 ปีก็เปลี่ยนแล้ว ต้องไปฝึกเจ้าหน้าที่ด้วย หากผบ.เอาด้วย เจ้าหน้าก็ต้องเอาด้วย เราพาเจ้าหน้าที่ไปดูงานที่ต่างประเทศ อย่างฮ่องกง สิงคโปร์ เพื่อที่เขาจะได้มีกำลังใจและไปดูว่าต่างประเทศเขาทำกันยังไง รวมถึงในประเทศด้วย ส่วนไหนที่น่าสนใจก็เก็บข้อมูลมาพัฒนากับเรือนจำของตนได้ เจ้าหน้าที่จึงสำคัญ

 

นัทธี จิตสว่าง

 

ตามข้อกำหนดกรุงเทพ เรื่องการปรับปรุงเรือนจำถือว่าเราทำได้ค่อนข้างดี แต่ยังมีเรื่องการใช้มาตรการที่มิใช่มาตรการคุมขัง ส่วนนี้เป็นอย่างไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาเราส่งเสริมในแง่ของมาตรการการคุมขัง (custodial measures) แต่มาตรการที่มิใช่การคุมขัง (non-custodial measure) เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในเรือนจำอย่างเดียว แต่ไปเกี่ยวข้องกับศาล ตำรวจ และอัยการด้วย จึงเป็นเรื่องที่ทาง TIJ ต้องไปทำงานกับศาล อัยการ ตำรวจ หรือกระทรวงยุติธรรมให้ใช้มาตรการทางเลือกอื่นแทนการจำคุกให้มากขึ้น จะได้ไม่ต้องมีการส่งคนมาถึงคุก และทำกับกรมราชทัณฑ์ในการปล่อยผู้ต้องขังออกไปให้มากขึ้นโดยการพักโทษ

เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่เพราะว่าต้องมีการแก้กฎหมายและเปลี่ยนทัศนคติ เช่น สำหรับศาลถ้าไม่มีกฎหมายที่ระบุไว้เป็นอย่างอื่นก็ต้องส่งเข้าคุก

 

ปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะต้องแก้กฎหมาย มองว่าทาง TIJ พอจะทำอะไรได้บ้าง

กระทรวงยุติธรรมก็เคยพยายามทำเรื่องยาเสพติด โดยหันไปใช้มาตรการอื่นๆ แทนการจำคุก มีที่พยายามปรับอย่างหนึ่ง คือ พ.ร.บ.ยาเสพติด และเรื่องกระท่อม ที่จะให้ดูพฤติกรรมให้มากขึ้น ไม่ได้ดูเฉพาะจำนวนเม็ด เช่น คนที่เสพยาและมีติดตัวอยู่ 2 เม็ดพอเข้ามาในไทยถูกจับได้ก็ถูกตัดสินจำคุก 25 ปี เพราะว่าคือการนำเข้ายาเสพติดจากต่างประเทศ ที่ให้จำคุกตั้งแต่ 25 ปีถึงตลอดชีวิต

นัทธี จิตสว่าง

 

กรณีแบบนี้ต้องอาศัยบทบาทนำทางการเมืองหรือเปล่า หากรัฐบาลออกนโยบายมาก่อนที่สังคมจะยอมรับเรื่องนี้ได้

รัฐบาลก็ต้องฟังประชาชน รัฐบาลจะไม่ค่อยกล้าเพราะคนจะค้านเยอะ คนส่วนใหญ่ยังกลัวยาเสพติด ตอนนี้ยาเสพติดยังเต็มบ้านเต็มเมืองอยู่ คนนั้นก็ขาย คนนี้ก็ขาย คนจึงไม่เห็นด้วยที่จะไปอ่อนข้อกับยาเสพติด ต้องปราบปราม แต่ว่าการปราบปรามที่ผ่านมาไม่รู้กี่ปีแล้วก็ไม่สำเร็จ ตอนนี้หลายประเทศก็เริ่มหันมาถามว่าจะใช้วิธีการแบบใดดีในการแก้ปัญหายาเสพติดแทนการปราบปราม เพราะพอยิ่งปราบก็ยิ่งโต ราคาก็ยิ่งสูงขึ้น

 

ในหลายประเทศภาครัฐมีการสร้างเงื่อนไขที่เป็นบทบาทนำหน้าสังคม เช่น บางประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตไปทั้งที่สังคมยังคัดค้าน แต่สุดท้ายสังคมก็พร้อมจะเปลี่ยนตาม

เรื่องนี้ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพยายามจะผลักดันให้มีการยกเลิกโทษประหารไปก่อนและสังคมจะค่อยเปลี่ยนตามมาทีหลัง เช่น ยกเลิกประหารชีวิตไปก่อนแล้วค่อยปรับสภาพสังคมตาม ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องการเมือง ถ้าคนในสังคมหรือภาคการเมืองเห็นด้วยก็ยกเลิกเลย เพราะการยกเลิกขึ้นอยู่ที่กฎหมาย บางประเทศใช้วิธีให้การเมืองนำ เช่น ฟิลิปปินส์ที่ยกเลิกไปแต่ภายหลังกลับมาใช้อีกครั้ง ตอนนี้ 200 กว่าประเทศ มีประมาณ 110 ประเทศที่ยกเลิกแล้วและอีกประมาณ 90 ประเทศยังคงใช้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในญี่ปุ่น จีน สิงค์โปร์ มาเลเซีย และตะวันออกกลางที่ยังใช้โทษประหารอยู่

ตอนนี้สิ่งที่มีการพยายามทำกันอยู่ คือ ทำให้คนที่โทษน้อยได้มีโอกาสลดโทษมากขึ้น คนที่โทษร้ายแรงหรือโทษหนักก็ควรลดโทษให้น้อยลง หมายความว่าคนที่ทำผิดโดยสันดานที่เป็นอันตรายต่อสังคมต้องให้อยู่นานๆ ไม่ลดโทษให้ แต่ลดโทษให้คนที่ทำผิดเล็กน้อย

 

นัทธี จิตสว่าง

 

ช่วงหลัง TIJ เริ่มไปให้ความรู้กับเรือนจำที่ต่างประเทศ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าทำไมถึงขยายงานด้านนี้ออกไป

เนื่องจากข้อกำหนดกรุงเทพ เป็นของสหประชาชาติที่ออกมาให้ต่างประเทศได้นำไปปฏิบัติ ในฐานะที่ TIJ เป็นผู้ริเริ่มทำเรื่องข้อกำหนดกรุงเทพ และเพื่อส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ นำเอาไปปฏิบัติ เราจึงร่วมมือกับประเทศกัมพูชา โดยทำ 3 ด้าน คือ hardware-software-peopleware เช่น อบรมเจ้าหน้าที่ พามาดูงาน และมาฝึกอาชีพเพื่อเอาไปสอนผู้ต้องขังให้ทำงานเพื่อไว้หารายได้หลังพ้นโทษไป

อุปสรรคสำคัญที่กัมพูชาคือประชาชนยังมีความคิดว่าผู้ต้องขังจะต้องถูกลงโทษให้เข็ด ให้จำถึงจะไม่กล้าทำ สิ่งนี้เป็นความคิดเหมือนของไทยเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เราเลยบอกเขาว่าสิ่งแรกที่คุณต้องทำคือทำให้คนยอมรับก่อนว่าผู้ต้องขังก็เป็นคนที่มีคุณค่า ต้องให้ผู้ต้องขังผลิตผลงานที่มีคุณค่าขึ้นมาให้สังคมข้างนอกเห็นว่าแม้จะทำผิดแต่เขาก็มีอะไรดี ทำไมไม่ค้นสิ่งที่ดีในตัวเขาออกมาพัฒนาให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ถ้าคุณปล่อยเขาออกไปโดยที่ไม่ได้ทำอะไร เขาก็จะไปทำร้ายสังคมเหมือนเดิม อีกประเทศหนึ่งที่ร่วมมือกันคือฟิลิปปินส์ เขาไปไกลแล้วแต่ว่ามีปัญหาเรื่องความแออัด ส่วนประเทศเคนยาก็สนใจเหมือนกัน

 

โครงการข้อกำหนดกรุงเทพดำเนินมา 10 ปีแล้ว มองว่าควรจะทำอะไรต่อไปในอนาคต

คิดว่าต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ให้ครอบคลุมและต่อเนื่องก่อน อาจยังทำได้ไม่ลึก เพราะจะไม่ครอบคลุม แล้วจะมีคนที่ถูกทอดทิ้ง เช่น พอลงลึกกับเรือนจำในกรุงเทพ ก็ไม่มีเวลาไปดูแลเรือนจำในต่างจังหวัด ต้องทำให้ครอบคลุมและต่อเนื่องก่อน ไม่ใช่ทำเดือนเดียวแล้วปล่อยทิ้ง แล้วค่อยไปลงลึกทีหลัง แต่พอทำบางแห่งให้ดีกว่าที่อื่นก็เป็นอันตรายเหมือนกัน เพราะคนจะมองว่าทำไมจะต้องติดคุกก่อนถึงจะได้รับการปฏิบัติที่ดี ได้เรียนหนังสือดีๆ พวกเอ็นจีโอหรือนักสิทธิมนุษยชนก็มองว่าคนเหล่านี้ต้องได้รับการปฏิบัติที่ดี ทำให้เต็มที่เพื่อให้เขาได้คืนสู่สังคม ต้องปฏิบัติกับเขาเหมือนกับคนทั่วไป แต่ในฐานะของคนที่อยู่ตรงกลางต้องสร้างสมดุลระหว่างสองฝ่าย ปฏิบัติให้ไม่เกินกว่าที่คนข้างนอกได้รับแต่ก็ไม่ต่ำไปกว่าความเป็นมนุษย์ที่จะพึงมี ต้องอยู่ในระดับกลางๆ ไม่เอาใจเขาเกินไป แต่ก็ไม่กดเขาจนต่ำติดดิน

ในระยะสั้นสิ่งที่เราทำต่อได้เลยคือการขยายเรือนจำต้นแบบและทำเรื่องโครงสร้างเรือนจำ การออกแบบเรือนจำ ดีไซน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

จากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับราชทัณฑ์มา ส่วนตัวมีเป้าหมายอะไรที่หวังอยากเห็นเรือนจำไทยพัฒนาไปถึง

ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรมีคือความหลากหลายของเรือนจำ มีเรือนจำแยกประเภท เช่น เรือนจำสำหรับผู้หญิง เรือนจำสำหรับกีฬา เรือนจำสำหรับฝึกอาชีพ เรือนจำสำหรับผู้ใกล้พ้นโทษ เรือนจำอุตสาหกรรม

อยากจะให้เขาฝึกงานด้านอุตสาหกรรม เราก็จะต้องสร้างเรือนจำที่ดีไซน์เพื่อการอุตสาหกรรม และควบคุมคนเพื่อฝึกอาชีพนี้ โดยแยกผู้ต้องขังที่เป็นอันตรายต่อสังคมหรือพวกพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ไปไว้ในเรือนจำที่มีความมั่นคง

ถ้าบางคนที่ไม่ต้องแก้ไขอะไรแล้วก็ไปอยู่เรือนจำมั่นคงสูง (supermax) ไม่ต้องฝึกอะไรเลย เพราะถ้าต้องขนของเข้าออกอาจตรวจสอบไม่ไหว ส่วนคนใกล้พ้นโทษจะมีโอกาสหลบหนีน้อย สามารถเปิดโอกาสให้เขาติดต่อกับภายนอกได้ เช่น ขายกาแฟ ออกไปทำงานข้างนอกแบบเช้าไป-เย็นกลับ ก็ต้องเป็นเรือนจำอีกประเภทหนึ่งหรือในเรือนจำจังหวัดให้มีสามระยะ ดังนั้น โดยสรุปแล้ว สิ่งที่อยากเห็นคือ การแยกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม และครบวงจร

 

นัทธี จิตสว่าง


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Interviews

3 Sep 2018

ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ

คุยกับ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา ว่าด้วยปรากฏการณ์ ‘จีนใหม่บุกไทย’ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่คือการเข้ามาลงหลักปักฐานระยะยาว พร้อมหาลู่ทางในการลงทุนด้านต่างๆ จากทรัพยากรของไทย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

3 Sep 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save