fbpx

‘1 ปี รัฐประหารพม่า’ กับ นฤมล ทับจุมพล

รัฐประหารพม่า

รัฐประหารพม่า

ย่ำรุ่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพพม่าเปิดฉากทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ปิดฉากทศวรรษแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย นำมาสู่การต่อสู้ระหว่างกองทัพและประชาชนที่ยืดเยื้อและมองไม่เห็นทางออกมาจนถึงวันนี้

ผ่านมาครบ 1 ปีนับจากการรัฐประหารพม่า 101 ชวน รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมย้อนมอง ถอดบทเรียนสถานการณ์ในพม่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พร้อมมองฉากทัศน์เส้นทางอนาคตของพม่านับจากนี้


YouTube video


ย้อนมองเผด็จการทหารสมัยเก่า

อะไรที่เปลี่ยนไป – อะไรที่ยังอยู่


ในช่วงปี 2000 เราพบว่ามีผู้นำพม่าหลายคน เช่น ขิ่นยุ้นต์ ตานฉ่วย ยืนยันที่จะปฏิรูปทางเศรษฐกิจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แต่เราเห็นมิน อ่อง ลาย แล้วเหมือนเห็นภาพปี 1988 สิ่งที่เราเห็นผ่านกองทัพของตัดมาดอว์ และ มิน อ่อง ลาย มี 3 อย่างที่เหมือนและ 3 อย่างที่ต่างกัน

3 อย่างที่เหมือน คือ เขายังคงยืนยันวิธีการปราบปราม ใช้ความรุนแรงและการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นกับประชาชน

3 อย่างที่ต่างกัน คือ หนึ่ง เขาเริ่มเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยเกิดขึ้น

สอง มีการเจรจากับชาติมหาอำนาจ เช่น จีน รัสเซีย

สาม ปกติพม่าจะไม่มีการสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้เขาประกาศ ซึ่งตอนแรกขอเวลาแค่ปีเดียวในการจัดการทุกอย่างและตอนนี้ขยายเป็นสองปีครึ่ง มันก็สะท้อนเหมือนกันว่าเขาไม่ได้คิดว่าศึกครั้งนี้จะยืดเยื้อขนาดนั้น


การต่อสู้ของประชาชน อะไรที่ต่างออกไปจากเมื่อก่อน


1. รุ่นก่อนฝ่ายกำลังหลักจะเป็นนักศึกษา เจเนอเรชันที่อยู่ในมหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้คนที่ออกมาต่อต้านกลับเป็นข้าราชการ เป็นหมอ ครู พยาบาล ซึ่งเป็นพลังที่คอยค้ำจุนระบบของพม่าอยู่

2. คนที่ออกมาประท้วงไม่ใช่คนจนแต่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งคือคนที่ได้ประโยชน์หรือเห็นอนาคตของตัวเอง ของประเทศตัวเองเมื่อมันเป็นประชาธิปไตย อันนี้น่าสนใจเพราะพม่ายังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ในขณะที่ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ เขากลับมีคนที่มองเห็นอนาคตของพม่าในกระแสประชาธิปไตยจำนวนมาก และคนเหล่านี้คือกำลังหลักที่ลุกขึ้นมาต่อต้าน

3. หลังการรัฐประหาร 2 ชั่วโมงมีแถลงการณ์ของ มิน โก นาย แกนนำนักศึกษาปี 1988 เขาบอกสั้นๆ ว่าอย่าร่วมมือ ให้ใช้การต่อต้านอารยะขัดขืนทุกรูปแบบ และสนทนากับนานาชาติ ซึ่งพบว่าตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา นี่คือวิถีทางการต่อสู้ที่พวกเขายึดมั่น

4. แนวคิดคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ในปี 1988 นักศึกษาพม่าออกมาต่อต้านครั้งแรกจากประเด็นปัญหาความยากจน เรื่องปากท้องแล้วค่อยพัฒนามาเป็นการต่อสู้ทางการเมือง แต่ตอนนี้มันเริ่มต้นในแง่ของการที่กองทัพได้ทำลายความหวังในการมีชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขา

5. เราได้เห็นการ cross class ซึ่งการต่อสู้ในอดีตเราไม่เจอการร่วมมือของกลุ่มหลายชนชั้น แต่ครั้งนี้เจอการเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เจอกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ สตาร์ตอัป ซึ่งเขาพบว่าในการพัฒนาประเทศการที่ต้องเข้าสู่ระบบทุนนิยมเป็นเรื่องจำเป็นที่ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยในบางระดับ


กองกำลังชาติพันธุ์กับบทบาทแห่งความหวัง


โจทย์สำคัญคือกองกำลังชาติพันธุ์อ่อนแอมาก ในช่วงสิบปีที่ผ่านมากองกำลังชาติพันธุ์เข้าสู่ภาวะหยุดยิง เขากลับไปทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ จึงไม่ได้มีการเตรียมการรบในเหมือนในอดีต นอกจากนี้ บทบาทกองกำลังชาติพันธุ์มีข้อให้ต้องวิตกกังวลอยู่ สิ่งที่กองทัพพม่าทำมาตลอดกับกองกำลังชาติพันธุ์คือแบ่งแยกแล้วปกครอง โดยการให้ความหวังว่าคุณจะมีอิสรภาพเหนือดินแดน ซึ่งมันสร้างลักษณะการให้น้ำหนักเฉพาะชาติพันธุ์

การรัฐประหารครั้งนี้ เราก็คาดหวังว่าในที่สุดจะเกิดพันธมิตรแบบสหพันธรัฐ ซึ่ง NUG (National Unity Government) ก็พยายามพูดว่าเขาให้น้ำหนักกับแนวคิดแบบสหพันธรัฐแทนที่จะเป็นรัฐเดี่ยวคุมโดยกองทัพ ซึ่งก็ดูมีความเอาด้วยในบางระดับ แต่บางกลุ่มก็ดูไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน เขาอาจจะมีแถลงการณ์ร่วมกันต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ แต่จะส่งกำลังไปรบร่วมกันได้หรือไม่นั้นอาจจะยังเป็นคำถาม ที่สำคัญเขาอาจจะขาดกำลัง อาวุธยุทโธปกรณ์ เราต้องอย่าลืมว่ากองทัพพม่ามีทั้งจีนและรัสเซีย แต่กลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีใครเลย


บทบาทรัฐบาล NUG กับการทัดทานกองทัพ


ขอเปรียบเทียบว่า NUG (National Unity Government) เป็น Politics of Recognition

ส่วนกองทัพเป็น Politics of Power คือ กองทัพพม่าควบคุมฮาร์ดแวร์ ควบคุมงบประมาณ ยุทโธปกรณ์และควบคุมอำนาจบังคับทั้งตำรวจ ทหาร ศาล คุก

ขณะที่ NUG ทำการเมืองในแง่การได้รับการยอมรับ สิ่งที่เขาควบคุมเป็นในเชิงความชอบธรรม อารมณ์ความรู้สึกและเขามีศักยภาพในการสร้างพันธมิตรกับนานาชาติ ในแง่นี้จึงไม่ใช่สองรัฐที่แต่เป็นรัฐบาลคู่ขนาน

เราเห็น NUG บนเวทีการเมืองโลก ให้ความช่วยเหลือประชาชน ข้อมูลทั้งหลายเกี่ยวกับตัวเลข ผู้เสียชีวิต เขาทำงานกับ Big data นี่เป็นสิ่งที่ NUG มี

คำถามคือ การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลสมัยใหม่จะสู้กับฮาร์ดแวร์ที่เป็นอาวุธสมัยเก่าอย่างไร? นี่คือโจทย์ที่กำลังเจอ


ประตูสู่ทางออก


ประตูบานแรก ประตูด้านมนุษยธรรม อย่างน้อยที่สุดถ้ามีคนหนีภัยมาต้องรับไว้เพี่อให้เขาตระเตรียมไปสู่ประเทศโลกที่สามหรือมีความปลอดภัยในบางระดับได้หรือไม่ ซึ่งไทยก็ทำแต่มีความลักลั่น เช่น ภายใน 72 ชั่วโมงหลังหยุดยิงก็ต้องส่งกลับเพราะเราไม่สามารถรับไว้ให้อยู่ถาวร ซึ่งในความจริงคงไม่มีใครอยากอยู่ถาวร ดังนั้นต้องคุยกันเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้หรือไม่ หรือหากรัฐมองว่ามันเป็นภาระของรัฐก็ให้คนอื่นทำเพราะมีคนกลุ่มต่างๆ มากมายที่พร้อมจะทำ อย่างน้อยที่สุดควรเปิดพื้นที่ให้เขาได้ทำ

ประตูบานที่สอง ประชาชนพม่าอาจจะคุยกับกองทัพไม่ได้ แต่คุณคุยในหมู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ประชาชนกันเองเพื่อให้เกิดพันธมิตรและมีประตูที่จะไปต่อรองกับกองทัพได้


บทบาทไทยกับสถานการณ์ในพม่า


ไทยแสดงบทบาทน้อยมากในฐานะผู้นำที่จะสามารถแก้ปัญหาในพม่า ข้อเสนอต่อไทย คือ

1. ไทยอาจจะยังหวาดกลัวกับเหตุการณ์การรับผู้ลี้ภัยจากพม่าคราวที่แล้ว ซึ่งยังคงอยู่ประมาณเก้าหมื่นคน แต่จะไม่ยุ่งไม่ได้เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตามปัญหามันมาแน่ คุณควรหาทางออกแบบอื่นเอาไว้

2. มันเป็นปัญหาของฝ่ายนโยบายมากกว่าฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งฝ่ายปฏิบัตินั้นค่อนข้างเข้าใจและมีความพร้อม แต่ต้องรอว่าข้างบนจะว่าอย่างไร


ถอดบทเรียนรัฐประหารพม่า ไทยควรเรียนรู้อะไร


1. ชัดเจนว่าการรัฐประหารคือการถอยหลังทางเศรษฐกิจ ถ้ายังจำกันได้ ไทยก่อนการเลือกตั้งปี 2019 คุณเจออะไรบ้าง และชัดเจนว่าการพัฒนาประเทศหยุดชะงัก ประเทศไทยถอยหลัง ดังนั้นไทยควรเรียนรู้ว่า อย่าใช้เกมนี้อีก

2. ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่ประชาธิปไตยเป็นวิธีเปลี่ยนผ่านอำนาจที่รุนแรงน้อยที่สุด การรัฐประหารพม่าทำให้เห็นแล้วว่ามีการเสียชีวิต บาดเจ็บกันมากแค่ไหน ดังนั้นไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบผู้นำก็ต้องใช้วิธีอื่นในการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง และเป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่ปลอดภัยที่สุด เสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินน้อยที่สุดด้วย

3. อย่าดูถูกประชาชน ผ่านมาหนึ่งปีเราเห็นว่าเขายังไม่ยอมแพ้ แม้เรามองว่าเขาอาจจะเป็นแรงงานราคาถูกบ้านเราแต่เขาเป็นปัญญาชน

4. การต่อสู้ของประชาชนพม่าบอกเราว่า อย่าหมดหวัง อย่าตีกันเอง และควรสร้างพันธมิตรเพื่อหาวิธีไปสู่การเปลี่ยนแปลง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save