fbpx
นริศ จรัสจรรยาวงศ์: ผู้ปลุกพลัง '2475' จากหนังสืองานศพ

นริศ จรัสจรรยาวงศ์: ผู้ปลุกพลัง ‘2475’ จากหนังสืองานศพ

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ชื่อนี้อาจไม่เป็นที่รับรู้ในแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์ ถ้าเขาไม่เกิดแพสชันอันแรงล้นในการสืบเสาะขุดค้นหาคำตอบให้กับคำถามที่คั่งค้างในใจที่ว่า “ใครคือผู้แต่ง ธัมมานุธัมมปฏิบัติ?” หนังสือธรรมะที่วงการพระพุทธศาสนาพากันเข้าใจมาโดยตลอดว่าคือบทปุจฉาวิสัชนาธรรมระหว่าง พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และ หลวงปู่จูม พนฺธุโล

นริศ กับ มาร์ติน ซีเกอร์ สหายชาวเยอรมัน ศาสตราจารย์ผู้ก่อตั้งไทยศึกษา มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ กัลยาณมิตรคู่นี้พบเจอกันขณะยังครองเพศบรรพชิตเมื่อต้น พ.ศ. 2543 และนับจากที่ทั้งคู่ลาสิกขาในเวลาไล่เลี่ยกันก็เริ่มร่วมทำงานค้นคว้าเรื่องราวของสตรีเพศในวงการพุทธไทยจนถึงปัจจุบัน

‘investigative journalism’ ดูจะเป็นนิยามที่ไม่เกินเลย หากจะเปรียบกับคู่หูคู่นี้

เรื่องราวของอุบาสิกาในอดีตจำนวนมากได้รับการรื้อฟื้นใหม่ นริศและมาร์ตินนำมาถ่ายทอดผ่านโลกวิชาการโดยเฉพาะผลงาน ‘ตามรอยนักปฏิบัติธรรมหญิงโดดเด่นที่ถูกลืม คุณหญิงดำรงธรรมสาร ใหญ่ วิเศษศิริ (พ.ศ.2425-2487)’ พุทธมามิกาผู้มั่งคั่งเจ้าของอาคาร 7 ชั้นที่สูงที่สุดในเมืองไทยในปี พ.ศ. 2475 หรือเมื่อ 88 ปีที่แล้ว (ปัจจุบันตึกนี้คือโรงแรมไชน่าทาวน์ เยาวราช) ก่อนจะอุทิศตัวให้พุทธศาสนาและบวชชีไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต และเป็นเจ้าของผลงาน ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ที่เอ่ยอ้างในข้างต้น

รายละเอียดในการค้นพบข้อเท็จจริงหลากหลายแง่มุมถูกถ่ายทอดไว้อย่างดีเยี่ยมแล้วใน ตามรอยบทธรรมปริศนา (Lost in The Mists of Time) สารคดีที่ได้รับเชิญให้จัดฉายในเทศกาลหนังอุษาคเนย์ประเภทสารคดีประจำปี ค.ศ. 2016 แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ — สังคมไทยไม่ควรพลาดการรับชมด้วยทุกประการ

สตรีนิรนามผู้นี้คงถูกลืมเลือนไปตลอดกาล ถ้านริศและมาร์ตินไม่เคยตั้งประเด็นว่าบทบาทของผู้หญิงไทยในพุทธศาสนาอยู่ตรงไหน ผ่านวิธีการวิจัยแบบไทยๆ ผ่านเรื่องเล่ามุขปาฐะจนถึงหนังสืออนุสรณ์งานศพจำนวนมาก

จากหนังสือเก่ากองท่วมท้น เอกสารฝุ่นจับหลายหมื่นชิ้นวางอยู่ตรงหน้า เมื่อคลี่คลายประเด็นว่าใครเป็นผู้แต่งหนังสือธรรมะที่สังคมไทยหลงลืมไปแล้ว นั่นไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการงานที่รัก

สิ่งที่ทำให้นริศตกผลึกและพยายามขยายผลมาเป็นบทความหลายต่อหลายชิ้นที่ตีพิมพ์ทั้งใน ศิลปวัฒนธรรม และ ฟ้าเดียวกัน ล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องราวของคณะราษฎร และ ‘2475’ ส่วนผลงานล่าสุดคือซีรีส์ ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติปรีดี พนมยงค์ เผยแพร่บนเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์

และนั่นเป็นที่มาของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้…

 

 

จากที่สนใจสายพุทธศาสนาขยับมาสายการเมือง โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองสมัย 2475 ได้อย่างไร

ผมสนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ผมได้ดูโทรทัศน์ตอนเย็นๆ มีภาพสลายการชุมนุมที่ติดตามาจนถึงทุกวันนี้

พอเรียนชั้นมัธยมก็เริ่มอ่านหนังสือการเมืองมาเรื่อยๆ แต่ระยะก่อนเข้ามหาวิทยาลัยผมหันเหไปทางหนังสือธรรมะมากเป็นพิเศษ จนกลับมาอ่านการเมืองอีกครั้งกับหนังสือ เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ ของคริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร ต่อด้วย การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ของทักษ์ เฉลิมเตียรณ ชุดหนังสือของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บ้าง และที่ผมว่าเจ๋งมากๆ คือ แผนชิงชาติไทย ของอาจารย์ยิ้ม (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ)

พอได้อ่านงานประวัติศาสตร์มากขึ้น มันทำให้ผมอยากอ่านเอกสารชั้นต้น อยากรู้ข้อมูลดิบที่ไม่ต้องผ่านการวิเคราะห์จากนักวิชาการ อุปมาเหมือนเรานั่งอ่านคัมภีร์พุทธเป็นชั้นๆ นับแต่ปฐมภูมิอย่างพระบาลี ไล่รองๆ มาเป็นอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และค่อยมาเป็นพวกปกรณ์วิเสสหรืออัตโนมติ และแน่นอนว่าแหล่งความรู้ประเภทหนึ่งที่สำคัญอันเป็นลักษณะพิเศษของสังคมไทยคือหนังสืออนุสรณ์งานศพ ผมโยนตัวเองเข้าไปในประวัติศาสตร์ผ่านเอกสารร่วมสมัยในเรื่องที่ใส่ใจค้นคว้าเสมอ

 

คนที่สนใจมิติศาสนามากๆ อาจจะไม่อยากสนใจการเมือง แต่สำหรับคุณไม่ใช่?

ผมมองว่าศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว คนๆ หนึ่งจะเข้าวัดหรือไปเที่ยวผับเพราะความสุขมันก็เป็นเรื่องปัจจัตตัง เราไม่ต้องไปยัดเยียดให้คนอื่นมาทำตาม ถ้าคุณจะไม่เชื่อเรื่องชาติภพ แต่ผมเชื่อ ก็เป็นเรื่องโลกทัศน์ของใครของเขา

แต่การอยู่ร่วมกันของสังคมไม่ใช่เรื่องศาสนา ถึงพุทธศาสนาจะสอนถึงธรรมะของผู้ครองเรือน เช่น คิหิปฏิบัติ หรือ ศีลของฆราวาส แต่เป้าหมายหลักยังคงเป็นเรื่องหลีกเร้นเพื่อการบรรลุเฉพาะตน ศาสนาสำหรับผมเอามาอธิบายเรื่องรัฐศาสตร์ เรื่องนิติศาสตร์ไม่ได้ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติมันต้องพูดถึงนิติรัฐ ว่าถึงหลักการประชาธิปไตย ความชอบธรรมของอำนาจ

 

หนังสืองานศพน่าสนใจอย่างไร

หนังสืองานศพจำนวนมากเป็นเหมือนกุญแจไขปริศนาเรื่องราวต่างๆ ไม่เพียงแต่เรื่องราวของผู้วายชนม์ บริบทและช่วงเวลาในการตีพิมพ์เมื่อกลับไปอ่านผมรู้สึกมันมีชีวิตชีวาเสมอ โดยเฉพาะเรื่องราวของสามัญชนคนธรรมดาจะรู้สึกเพลิดเพลินเป็นพิเศษ

อย่างเรื่อง ‘คุณหญิงใหญ่’ นอกจากพระมหาเถระร่วมสมัยกล่าวขานถึงเธอ ผมยังพบว่าแม้แต่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เคยเขียนชื่นชมผลงานเธอในหนังสืองานศพเล่มหนึ่ง แต่จะด้วยเพราะเธอเป็นคนปกปิดตัวตนในงานวรรณกรรมธรรมะเหมือนบูรพศิลปินที่สร้างงานศาสนาจำนวนมาก ทำให้ชื่อของเธอถูกลบเลือนและสวมแทนด้วยบุคคลที่ดูจะศักดิ์สิทธิ์มากกว่า

หนังสือธรรมะของคุณหญิงใหญ่ประพันธ์ช่วงปี พ.ศ. 2475-2476 เป็นเหตุให้พวกเราผ่านตาเอกสารทางประวัติศาสตร์ยุคนั้นเป็นจำนวนมาก และว่ากันตรงๆ การอภิวัฒน์ 2475 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสังคม เป็นชัยชนะของสามัญชนครั้งแรกและครั้งเดียวของสังคมไทย

ช่วงเวลาที่คณะราษฎรไปควบคุมตัวเจ้านายเพื่อเปลี่ยนระบอบนั้นมันเข้มข้นมาก แต่เรื่องพวกนี้เพียงบอกผ่านๆ ในหลักสูตรการเรียนการสอนภาคปกติได้อย่างไร

เพราะฉะนั้นประเด็นของผมคือเวลาเรามอง 2475 เราจะเห็นพื้นที่เรื่องราวของสามัญชนนับจากนั้นด้วย และถ้าศึกษาตรงไปตรงมาย่อมเห็นว่าสังคมมันเปลี่ยนทั้งองคาพยพเลย พูดอีกแบบคือมันเปลี่ยนแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

 

 

แปลว่าส่วนหนึ่งคุณเห็นพลังของ 2475 ผ่านหนังสืองานศพด้วย

ตอนผมได้หนังสืออนุสรณ์งานศพพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าก่อการผู้อ่านประกาศคณะราษฎรในย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มา ราคาแค่ร้อยบาท ดูเหมือนไร้ค่านะ (หัวเราะ) แต่ผมว่าถ้าเทียบกับจีนแล้วนี่ระดับ ดร.ซุนยัตเซ็น เลยนะครับ ถ้าทางนั้นมีธรรมเนียมอนุสรณ์งานศพไม่รู้ปัจจุบันจะมีมูลค่ามหาศาลขนาดไหน

ธรรมเนียมหนังสืองานศพไม่พบในสังคมอื่น มีที่เดียวคือเมืองไทยตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่ 5 แต่กับคำถามที่คุณว่าพลังของ 2475 ผ่านหนังสือเหล่านี้ แน่นอนว่าเป็นเรื่องราวของสามัญชน โดยเฉพาะชีวประวัติของคนตัวเล็กตัวน้อยจำนวนมากหลังจากนั้น

เมื่อกล่าวถึงประวัติผู้คน เช่นในยุโรป ถ้าคุณอยากค้นคว้าหาประวัติชีวิตสามัญชน เอาว่าระดับเป็นที่รู้จักหน่อยอย่างคีตกวีบีโธเฟน มันยังมีเอกสารสำคัญๆ ทางราชการให้ค้นอยู่ แต่สามัญชนไทยมีปัญหาเหมือนกันหมดคือมันไม่มีที่ให้เราสืบค้น เช่นครูเพลงชื่อก้องอย่าง ไพบูลย์ บุตรขัน ผมจะหาเรื่องราวของท่านจากราชการได้ไหม?

 

ถ้าอยากรู้ต้องออกแรงค้นหาเอง?

ในแง่ค้นคว้าเชิงลึก แน่นอนว่าก็ต้องออกแรงกันเองในระดับหนึ่ง แต่พูดในแง่การเข้าถึงฐานข้อมูลเบื้องต้นก่อน ยกตัวอย่างพื้นฐานที่สุด เช่น ปีเกิด ปีตาย รูปถ่าย ถ้าเป็นโนบอดี้นี่บ่อยครั้งที่ผมยังหาแทบแย่ ระบบฐานข้อมูลของทางราชการก็ถือว่าพึ่งพาแทบไม่ได้

ตอนที่ผมตามหาข้อมูลเรื่องคุณหญิงใหญ่ ผมไม่สามารถที่จะเดินเข้าไปที่กระทรวงมหาดไทยว่าขอเช็คทะเบียนราษฎรหน่อยเธอเกิดปีไหน ตายปีไหน เราก็เลยต้องไปตามแกะรอยในแบบมุขปาฐะเรื่องเล่าบ้าง ในเอกสารชั้นต้นบ้าง ซึ่งแน่นอนหนังสืองานศพยุคนั้นจำนวนมากได้ถูกนำมาใช้ค้นคว้า

 

แต่หนังสืองานศพมีเยอะมาก พอเริ่มสนใจยุค 2475 คุณเริ่มต้นจากอะไร

ผมเป็นพวกบ้าอ่านบรรณานุกรม พอผมได้อ่านงานของอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐหรืองานของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง งานของคนเหล่านี้จะบรรจุบรรณานุกรมไว้เยอะ มันทำให้ผมกลับไปดูเอกสารชั้นต้นได้

หนังสืออีกประเภทหนึ่งคือสารคดีการเมืองร่วมสมัย ผู้เขียนเข้าถึงแหล่งข่าวสำคัญๆ ได้สัมภาษณ์โดยตรงต่อบุคคลในประวัติศาสตร์บ้าง สาธยายบรรยากาศอาเวคยุคนั้นบ้าง หรือที่ลือๆ กันตอนนั้นมาบ้าง เพียงแต่ปัญหาหลักของหนังสือประเภทนี้จะไม่ระบุเชิงอรรถ บ่อยครั้งที่ต้องมาค้นต่อหรือหากจะใช้อ้างอิงเชิงวิชาการต้องหาข้อมูลสนับสนุนเพิ่ม

อย่างไรก็ตามงานวิชาการยุคหลัง การใส่เชิงอรรถดูจะเป็นปกติ มันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะทำให้เราเห็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และที่สำคัญมันทำให้คุณตรวจสอบทิฐิและวิธีหาความจริงของผู้เขียนได้

หลักฐานชิ้นเดียวกัน ผมอ่านกับคนอื่นอ่านอาจตีความต่างกันคนละขั้ว ตรงนี้ที่ผมคิดว่าจำเป็นมาก เพราะฉะนั้นในบทความทุกชิ้นของผมจะอัดเชิงอรรถบอกพิกัดไว้จำนวนมากให้ผู้อ่านที่มีฉันทะได้ไปค้นต่อ เขาอาจจะตีความต่างจากผมก็ได้ ไม่แปลก เหมือนที่ผมเขียนซีรีส์ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติปรีดี พนมยงค์ ลงในเว็บของสถาบันปรีดีก็เพื่อวัตถุประสงค์นี้

 

 

มองอีกแบบ ถ้ามีหน่วยงานบรรจุเรื่อง 2475 ไว้เป็นระบบ เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมันอาจจะไม่ตื่นเต้นท่าไหร่

ประเด็น 2475 สำหรับผมมันน่าตื่นเต้นในตัวเองอยู่แล้ว แต่เราเรียนเราสอนประวัติศาสตร์กันอย่างไร ทำไมช่วงเวลาของคณะราษฎรมันหายไป

ยุคคณะราษฎรที่ยังมีปรีดี พนมยงค์ 15 ปี พ.ศ. 2475-2490 ต่อด้วยยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เวอร์ชันสอง 10 ปี พ.ศ. 2490-2500 รวมเป็นระยะเวลายาวนานถึง 25 ปี แต่พอคุณเดินเข้าไปใน national museum หรือไปดูในตำรับตำรากระแสหลัก จะเห็นว่าเหตุการณ์ 25 ปีนี้มันหายไปหรือเพียงพูดผ่านๆ

ประวัติศาสตร์ที่สำคัญระดับนี้มันต้องถูกบรรจุในการศึกษาหลักตั้งแต่ระดับประถม เราควรจะมีการปูพื้นเรื่อง 2475 ตั้งแต่เด็กว่ามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองกันมายังไง เป็นวัตถุดิบที่ปลูกฝังแนวคิดประชาธิปไตยให้แก่เยาวชนได้อย่างดี อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจจากตัวอย่างของสามัญชนที่สามารถดันตัวเองขึ้นมาประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพต่างๆ ได้ดีด้วย เช่น นักเขียนอย่างยาขอบ ศรีบูรพา หรือศิลปินอย่างครูเหม นักดนตรีอย่างครูเอื้อ ฯลฯ ว่าเขาขึ้นมาได้อย่างไรในเงื่อนไขนั้น

แต่วันนี้คุณไปนั่งเรียนเฉพาะพระนเรศวรกู้ชาติ พม่าเผาเมือง พอมาถึงยุค 2475 ดีเทลมันหายไป 25 ปี โผล่มาอีกทีคือยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เลย ทั้งที่ใน 25 ปีนี้ โครงสร้างสังคมมันเปลี่ยน อำนาจกระจายไปถึงประชาชนเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์

 

25 ปีที่หายไป ไม่ใช่เรื่องบังเอิญใช่ไหม

แน่นอน นิยามกระชับๆ สำหรับการเรียนรู้สังคมนี้น่าจะเหมาะกับคำว่า royal hegemony

อำนาจนำนี้สำคัญ มันเป็นสิ่งที่หล่อหลอมคุณมา สมมติคุณบอกว่าคุณไม่เป็นพุทธ ไม่มีศาสนา แต่การซึมซับความเป็นพุทธแบบไทยๆ มันอยู่ภายในโดยที่คุณไม่รู้สึกว่าใช่ก็แค่นั้น ทัศนะบางสิ่งบางอย่างโดนหล่อหลอมมาเพราะเราถูกอำนาจนำ input เข้ามาตั้งแต่เกิด

ผมอยู่ในแวดวงคนศาสนายังมักคิดเล่นๆ เลยว่าท่านพุทธทาสยังมีหอจดหมายเหตุได้เลย แล้วเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีคณะบุคคลเป็นร้อยคนที่เข้ามาเปลี่ยนสังคมทั้งเชิงโครงสร้างกลับไม่มี มันเป็นไปได้ยังไง

ตอนท่านพุทธทาสมรณภาพ มีการซีลกุฏิกันเลยนะ เอกสารยิบย่อยขนาดใบเสร็จที่ท่านพุทธทาสไปซื้อกล้องยังเก็บไว้หมด ทุกสิ่งทุกอย่างถูกจัดเข้า archive มาตรฐานระดับสากล เฉพาะเอกสารพวกนี้เขา digitize แบ่งหมวดหมู่ให้ค้นไว้หมด มีห้องควบคุมอุณหภูมิความชื้นด้วย แล้วรัฐบาลสนับสนุนทุนเป็นสิบๆ ล้านสร้างหอจดหมายเหตุที่สวนรถไฟ ยิ่งใหญ่มาก

 

แต่นอกจากหอจดหมายเหตุ 2475 ไม่มี แล้วหมุดคณะราษฎรยังหายด้วย

หมุดฯ หาย อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ณ หลักสี่ อันตรธานกลางเมือง อยู่กันแบบมึนๆ งงๆ ผมคิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะมาหาเหตุผลอะไรมาอธิบายสังคมนี้ มัน ‘surreal’ มากนะ

 

 

ที่คุณว่ารู้สึกเพลิดเพลินเป็นพิเศษกับเรื่องของสามัญชนคนธรรมดา ใครบ้างที่คุณสนใจเป็นพิเศษในช่วง 2475

ในหมู่สมาชิกของผู้ก่อการ ผมว่า ดร.ตั้ว ลพานุกรม น่าสนใจ เวลาคนพูดถึงคณะราษฎรไม่ค่อยพูดถึงท่านเท่าไหร่

ในคณะราษฎรมีจบด็อกเตอร์อยู่สามคน คือ ปรีดี พนมยงค์, ตั้ว ลพานุกรม และประจวบ บุนนาค

ดร.ตั้วแรกเริ่มไปเรียนที่เยอรมนีและเคยถูกจับเป็นเชลยสงครามเพราะตอนสงครามโลกครั้งแรกรัฐบาลสยามอยู่คนละฟากกับเยอรมนี หลังสงครามยุติได้กลับมาบ้านเกิดแล้วยังกลับไปเรียนต่อที่ยุโรป ช่วงเรียนอยู่ฝรั่งเศส พ.ศ. 2470 ก็ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในเจ็ดผู้ก่อตั้งคณะราษฎร

“รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย” เป็นนิยามที่มีให้ ดร.ตั้ว เพราะท่านเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ แล้วก่อตั้งองค์การเภสัชกรรมขึ้นมาผลิตยาให้คนไทยใช้นะ ก่อนนั้นยังเรียกกองเภสัชกรรม

เรื่อง ดร.ตั้ว มัน irony ตรงที่หลังจากมีอนุสาวรีย์ของท่านขึ้นมา ใครๆ ก็ว่าท่านให้หวยแม่น ทั้งๆ ที่ท่านแทบจะเรียกได้ว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ยุค 2475 (หัวเราะ)

เรื่องบุคลิกภาพของด็อกเตอร์ท่านนี้ก็น่าสนใจ ท่านเป็นสายบู๊ที่เนียนนะ ดูภายนอกไม่มีอะไร เป็นพลเรือน นักเรียนนอก พรางตนเหมือนคนชอบเที่ยวเสเพล แต่ทัศนคติภายในแหลมคมมาก

อย่างตอนประชุมเพื่อก่อการปฏิวัติ ดิเรก ชัยนาม ได้บันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้ายังจำคำพูดซึ่งคุณตั้วได้กล่าวกับพวกเรา 4-5 คนที่บ้านตรอกจันทน์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 เดือน เป็นภาษาอังกฤษดังนี้ Do it now or never แปลว่า ทำเดี๋ยวนี้หรือไม่ทำเลย คำพูดประโยคนี้ได้เร้าใจพวกเรา 4-5 คนซึ่งร่วมอยู่ ณ ที่นั้นให้เต้นแรงยิ่งนัก” หนังสืองานศพของท่านเล่มนี้คำไว้อาลัยพิมพ์ด้วยต้นฉบับ manuscripts เป็นเล่มที่ผมชอบสุดก็ว่าได้ในหมู่สมาชิกผู้ก่อการ เสียดายท่านอายุสั้นลาโลกไม่กี่เดือนก่อนญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในปลายปี พ.ศ.2484

 

 

อีกท่านในคณะผู้ก่อการที่ดูคนจะกล่าวถึงไม่มากนักคือพระประศาสน์พิทยายุทธ ท่านเล่าเรื่องราวเป็นอัตชีวประวัติไว้ถึงสองเล่ม สนุกมาก คนนี้เป็น 1 ใน 4 ทหารเสือผู้ก่อการยึดอำนาจตอน 24 มิถุนาฯ จบวิชาทหารจากเยอรมนี

4 ทหารเสือคณะราษฎรคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) และ พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)

ในเล่ม แผนการปฏิวัติ ของท่านบรรยายความรู้สึกและอุดมการณ์ที่มีต่อสังคมในช่วงนั้นว่าแล้วทำไมท่านต้องไปที่กรมทหารม้า ต้องไปงัดตัดกุญแจ เพราะว่าสถานที่แห่งนั้นมีอาวุธที่ทันสมัยที่สุดในสยามประเทศ

แล้วพระประศาสน์ฯ ไปสำรวจก่อนด้วย ท่านเล่าว่าขณะชมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่อยู่ตรงหน้าก็พลางจินตนาการถึงย่ำรุ่ง 24 มิถุนาฯ พวกเราจะต้องมาปฏิบัติการที่นี่ มายึดอาวุธพวกนี้ บรรยายไว้ได้อรรถรสมากในหนังสือ

พอหลัง 2475 ช่วงอาจารย์ปรีดีเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจจนเกิดความขัดแย้ง พระประศาสน์ฯ ท่านใส่เกียร์ว่างร่วมกับพระยาทรงสุรเดช จนลามมาถึงโดนข้อหากบฏเมื่อปลายปี พ.ศ. 2481 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกฯ สองพระยาถูกเนรเทศไปยังเพื่อนบ้าน พระยาทรงฯ ไปอินโดจีน และพระยาฤทธิ์ฯ ไปมลายู

ส่วนพระประศาสน์ฯ ว่ากันว่าได้รับการช่วยเหลือจากอาจารย์ปรีดี ให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี แต่ดันไปเบอร์ลินในยุคฮิตเลอร์พอดี สุดท้ายพอเยอรมนีแพ้สงคราม ท่านต้องไปทรมานเป็นเชลยอยู่ในคุกรัสเซียอีกสองร้อยกว่าวัน และได้กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทยหลังสงครามโลกไม่นาน ชีวิตท่านนี้มีสีสันมาก

ส่วนสมาชิกคณะราษฎรที่ถูกฝ่ายปฏิปักษ์ยกตัวอย่างว่าเป็นผลของวิบากกรรมมากสุดคือพระยาทรงสุรเดชที่กล่าวไป ท่านเป็นคนวางแผนที่แยบยลตอนปฏิวัติ แต่ต่อมามีความขัดแย้งกับจอมพล ป. จนเป็นเหตุให้ถูกส่งตัวไปยังประเทศเพื่อนบ้านและถึงแก่อนิจกรรมก่อนการนิรโทษกรรมเพียงไม่กี่เดือนเมื่อ พ.ศ. 2487

 

 

จะว่าไปพระยาทรงฯ ท่านเป็นคนมีเกียรติรักศักดิ์ศรีมากนะ ระหว่างลี้ภัยมีหลายๆ ฝ่ายยื่นมือช่วยเหลือ แต่ท่านล้วนปฏิเสธเพราะทราบถึงสถานะที่สำคัญของตนและยอมใช้ชีวิตสมถะประกอบสัมมาอาชีวะ ผิดกับกลุ่มปฏิปักษ์คณะราษฎรอีกหลายๆ ท่านที่เมื่อลี้ภัยไปอินโดจีน ชีวิตยังคงสุขสบาย บางคนถึงกับมีบันทึกเรื่องการเที่ยวผู้หญิงไว้ในอนุสรณ์งานศพ และก็มีบางท่านที่ถูกเวียดมินห์ฆ่าตายก็มี เพราะฉะนั้นในแง่ของการอธิบายเรื่องบาปบุญคุณโทษอะไร ผมจะเลี่ยงที่ต่อความยาวในประเด็นนี้

อีกคนที่ลืมไม่ได้เลยคือหลวงศุภชลาศัย ท่านคือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะราษฎรให้ไปอัญเชิญรัชกาลที่ 7 ขณะทรงประทับที่วังไกลกังวลเมื่อเช้าวันที่ 25 มิถุนายน หลวงศุภฯ เล่าไว้ในบทสัมภาษณ์ว่านำเรือรบออกจากพระนครช่วงค่ำไปถึงหัวหินตอนเช้าประมาณเก้าโมงเศษ จ่อกระบอกปืนไปยังเป้าหมายพร้อมลงเรือเล็กเข้าไปเจรจา แต่ในท้ายสุดทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดีเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ร.7 ท่านทรงเลือกจะเสด็จกลับพระนครโดยทางรถไฟคืนวันเดียวกันนั้น

หลวงศุภฯ ท่านนี้ยังนับเป็นลูกเขยของกรมหลวงชุมพรฯ ด้วยนะ และยังเป็นกำลังหลักของเสรีไทยร่วมกับอาจารย์ปรีดี ภายหลังได้เข้างานกับนายควง อภัยวงศ์ และพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อถึงปัจฉิมวัยดำเนินชีวิตคล้ายๆ พ่อตาเมื่อหันเหความสนใจไปทางพุทธศาสนาและยังเป็นหมอยาด้วย

 

นอกจากชีวิตกลุ่มคณะราษฎร มีแง่มุมไหนอีกที่คุณพบในบริบท 2475

แง่มุมศิลปวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเรื่องดนตรีที่ผมสนใจมากละกัน

ในอนุสรณ์งานศพครูเวส สุนทรจามร นักประพันธ์เพลงวงสุนทราภรณ์ เล่าอัตชีวประวัติได้มันส์มาก มีบันทึกว่าสมัยท่านผู้นำจอมพล ป. พิบูลสงคราม ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา การทำงานที่กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ของทีมนักดนตรี เช้าๆ พอท่านผู้นำสั่งนั่นสั่งนี่กับพระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลานนท์) รองอธิบดีกรมโฆษณาการเสร็จปุ๊บ ก็โยนข้อมูลไปให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งทำนองออกมาตอนบ่าย แล้วเนื้อเพลงก็แต่งเสร็จคืนนั้นตามมา

ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ดนตรีตะวันตกกำลังเข้ามาพอดี แล้ววงสุนทราภรณ์ก็ไปรับงานแสดงที่วงเวียนโอเดียน เล่นดนตรีไปหลบลูกระเบิดไป และในแง่ประวัติศาสตร์ดนตรีครูเวสก็เล่าเรื่องนักกีตาร์จากฟิลิปปินส์เข้ามาร่วมในวงด้วย นี่พูดถึงเฉพาะแง่มุมดนตรีที่ผมอ่านจากหนังสืองานศพครูเวสก็อยากจะค้นคว้าต่อแล้ว

นี่ว่าถึงนักดนตรีที่ได้รับผลกระทบบวกกับการเปลี่ยนแปลงนะครับ ถ้าอ่านความเห็นจากนักดนตรีฝรั่งที่เก่งสุดตามทัศนะของกรมพระยาดำรงฯ ในระบอบเก่าอย่างพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ท่านก็วิพากษ์การบริหารจัดการของกรมศิลปากรหลัง 2475 ไว้รุนแรงมากอยู่ อย่างไรก็ดีทำนองเพลงชาติที่ท่านผู้นี้ประพันธ์ก็นับว่าเป็นมรดกของคณะราษฎรชิ้นสำคัญที่ยังคงใช้มาถึงทุกวันนี้โดยไม่โดนเปลี่ยนแปลงความทรงจำไปเหมือนอย่างวันชาติที่เคยใช้ 24 มิ.ย. และอื่นๆ

วงการนักเขียนนับว่าน่าสนใจมาก เช่น คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และ คุณโชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ) กับกลุ่มคณะนักเขียนสุภาพบุรุษของเขา ที่ถึงแม้ว่าจะก่อตั้งก่อน 2475 สองปี แต่พวกเขามาดังเปรี้ยงปร้างตอนหลัง 2475 กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนวิจารณ์พวกชนชั้นนำลงหนังสือพิมพ์ศรีกรุงนับว่าแหลมคมมากๆ

ยังมีผลพวงของ 2475 ที่สำคัญมาก คือ ผู้แทนราษฎร ครูโรงเรียนมัธยมเก่งๆ ที่ผันตัวมาเป็น ส.ส. อย่างครูทองอยู่ พุฒพัฒน์ และครูฉ่ำ จำรัสเนตร สองท่านนี้ชีวิตมีสีสันจนผมนำมาเขียนบทความขนาดยาวลงนิตยสารศิลปวัฒนธรรมไว้ด้วย

พูดแบบ pop culture นะ ผมว่าเรื่องราวของคณะราษฎรนี่ถ้าได้สร้างเป็นซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ ให้คนทั่วไปได้ดูจะพีคมาก

 

 

เวลากลับไปอ่าน ‘2475’ คุณเห็นประเด็นอะไรที่น่านำมาใคร่ครวญในปัจจุบันไหม

ผมคิดถึงประเด็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ครั้งนั้นที่ถึงทุกวันนี้ก็ยังมีลักษณะสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง โดยเฉพาะฟากฝั่งปรปักษ์ 2475 ที่มักยกเรื่องที่ว่าท้ายสุดได้อำนาจมาแล้วก็แย่งชิงกันเองบ้าง เป็นเผด็จการทหารแบบจอมพล ป. บ้าง หรือเผด็จการรัฐสภาแบบปรีดีบ้าง จนถึงวาทกรรมคัลท์ๆ แนววิบากกรรม สไตล์พุทธไทยๆ เพียงแต่เส้นแบ่งเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ในความผิดพลาดของ 2475 กับที่เรียกว่าปรปักษ์ต้องชัดเจนในระดับหนึ่ง

ยกตัวอย่างกลับไปสมัยนั้น คนอย่างศรีบูรพาที่เคยสนับสนุนคณะราษฎร ก็มีวิจารณ์คณะราษฎร แปลว่าศรีบูรพาเป็นปฏิปักษ์กับระบอบใหม่ไหม? ย่อมไม่ใช่

เราต้องเข้าใจว่าศรีบูรพาโดนจอมพล ป. จับติดคุกก็จริง แต่คุณต้องมองให้ออกว่าคนยุคนั้นเวลาวิจารณ์ผู้นำที่แม้จะเป็นฝ่ายคณะราษฎรก็ตาม แต่เขาจะไม่มีการพูดเพื่อย้อนกลับไปนำระบอบเก่ากลับมา ต้องจับแก่นนี้ให้ได้ ผิดกับกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎรโดยตรงหรือโดยอ้อมที่มีอยู่มาก แต่จุดต่างก็อยู่ที่ตัวบทที่คนเหล่านี้วิจารณ์ว่า ‘แลไปข้างหน้า’ หรือ ‘ย้อนกลับข้างหลัง’

ขณะเดียวกันก็ปรากฏผู้คนในยุคนั้นมากมายที่เคยเป็นพันธมิตรกับคณะราษฎร แต่ภายหลังหันกลับมาร่วมสมาทานแนวอนุรักษนิยมก็มีไม่น้อย ตัวตนของคนเหล่านี้บ้างก็สะท้อนผ่านวรรณกรรมเช่นหนังสือบางเล่มเคยเขียนอุทิศให้กับผู้ก่อการคณะราษฎร แต่เมื่อล่วงพ้นอำนาจของคณะราษฎรแล้วเมื่อผู้เขียนนำมาปรับปรุงพิมพ์ใหม่กลับอุทิศให้กับบุคคลฟากตรงกันข้าม

อาจไม่ต้องย้อนไปไกลมาก เอาแค่ครั้งรำลึก 100 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ เมื่อ พ.ศ. 2543 มีบุคคลมากมายที่เชิดชูท่านรัฐบุรุษอาวุโสแต่ดูเหมือนหลักคิดเรื่องประชาธิปไตยกลับนอกลู่นอกทาง เพียงแค่เฮโลยกยอเอออวยกันไป จนวันนี้หลายๆ คนกลับไปสมยอมกับระบอบเผด็จการ มันสะท้อนว่าสังคมไทยยึดถือเรื่อง personality cult สูง

ประเด็นใคร่ครวญเรื่องจุดยืนของผู้คนเหล่านี้ว่าไปผมได้ธรรมะไม่น้อยกว่าอ่านหนังสือพระตรงๆ ซะอีกนะ (หัวเราะ) คนๆ หนึ่งที่โตในสังคมไทยโดยมากเมื่อปฐมวัยก็ถูกปลูกฝังแบบขวา เมื่อเข้ามัชฌิมวัยอาจเป็นซ้าย ล่วงถึงปัจฉิมวัยก็วนมาขวา หรือแม้ในทางกลับกันด้วย

 

ปีนี้ครบรอบ 88 ปีคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ถ้าจะมองให้เห็นจุดพลิกผันทางการเมืองหลัง 2475 ที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันนี้ มีอะไรที่คุณได้จากการอ่านประวัติศาสตร์นี้

การศึกษาแต่ฝ่ายคณะราษฎรเพียงอย่างเดียวไม่พอ ฟากฝั่งปฏิปักษ์ก็ต้องแสวงหาเรียนรู้ด้วย พวกฝ่ายปฏิปักษ์ที่ต้องหนีระเหเร่ร่อนไปต่างประเทศบ้าง ติดคุกในพระนครก่อนย้ายไปเกาะตะรุเตา เกาะเต่าบ้าง จนถึงหลังนิรโทษกรรม พ.ศ. 2487 ที่บุคคลเหล่านี้ได้กลับมา ถ้าย้อนมองวิถีอำนาจของคณะราษฎรแต่แรกเริ่มก็ดูมีความประนีประนอมมาก แต่เมื่อการ์ดตกหรือเผลอหน่อยเดียวก็มักจะโดนตีโต้เสมอๆ

จนมาถึงจุดแตกหักระดับสงครามกลางเมืองเรื่องกบฏบวรเดชลามไปถึงเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ หลังจากนั้นการสถาปนาอำนาจนับว่ามีความมั่นคงพอสมควรจนถึงยุคจอมพล ป. ยุคแรกที่เพิ่มการกระชับอำนาจด้วยการกวาดล้างฝั่งตรงข้ามอย่างรุนแรงในกรณีปราบกบฏ พ.ศ. 2482 ซึ่งจนถึงทุกวันนี้เรื่องการตัดสินประหาร 18 ผู้ต้องหาครั้งนั้นยังถูกฟากปฏิปักษ์คณะราษฎรนำมาเน้นย้ำโจมตีอยู่เนืองๆ แต่เพื่อความเป็นธรรมก็ต้องไปศึกษาอ่านคำพิพากษาศาลพิเศษฯ ยุคนั้นดูด้วย เนื้อหาภายในสาธยายเหตุปัจจัยความขัดแย้งย้อนไปถึงช่วงต้นของเปลี่ยนแปลงการปกครองเลยทีเดียว

ความขัดแย้งที่สำคัญของคณะราษฎรก็คือช่วงสงคราม ที่ จอมพล ป. ในฐานะรัฐเข้ากับญี่ปุ่น ในขณะที่นายปรีดีต้องตั้งปฏิบัติการใต้ดินอย่างเสรีไทยเพื่อต่อต้าน ก่อนสงครามยุติเพียงหนึ่งปี นายปรีดีกับพวกก็สามารถโค่นจอมพล ป. ลงจากอำนาจได้ และดันนายควง อภัยวงศ์ขึ้นมา ช่วงนี้จึงมีการนิรโทษกรรมเหมาเข่งจากรัฐบาลควง อภัยวงศ์ จึงเปิดโอกาสให้ฟากปฏิปักษ์ได้กลับสู่วิถีการเมืองอีกครั้ง

คนพวกนี้พอกลับมาปุ๊บ เราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าคนเรามันมีความอัดอั้นตันใจ ตอนอยู่ในคุกมีเวลาก็เขียนเล่าระบายไว้ กลุ่มผู้ก่อการขณะมีอำนาจก็บริหารประเทศกันไป มั่นใจในอำนาจ ใครจะไปนึกว่าสุดท้ายพวกนี้กลับมาพร้อมวรรณกรรมในคุกที่ทรงพลังกลายเป็นอาวุธทำลายฝ่ายคณะราษฎรด้วยมิพักต้องกล่าวถึงบุคลากรหลายท่านที่มีศักยภาพในระบอบเก่าเมื่อท้ายที่สุดก็กลับมาบั่นทอนเสถียรภาพของคณะราษฎรได้สำเร็จ

อีกจุดพลิกผันใหญ่ก็คือกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ที่เกิดขึ้นหลังจากปรีดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงไม่กี่เดือนและการขึ้นสู่ตำแหน่งครั้งนั้นก็เรียกได้ว่ามาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ที่ปรีดีถือว่าบรรลุภารกิจของการปฏิวัติ 2475 และเป็นรัฐธรรมนูญที่แม้แต่อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ยังกล่าวว่าชอบที่สุดเพราะมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

แต่ว่าอุบัติเหตุทางการเมืองก็เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พลันเกิดเสียงปืนที่พระที่นั่งบรมพิมาน จากที่คณะราษฎรวิวัฒน์สูงสุดด้วยรัฐธรรมนูญ 2489 ก็นำมาสู่ความวิบัติด้วยรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 ถึงจะกล่าวว่าจอมพล ป. มีส่วนในรัฐประหารครั้งนั้น แต่ฐานอำนาจที่ท่านขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 10 ปีต่อมาก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะฉะนั้นจอมพล ป. เวอร์ชันหนึ่ง พ.ศ. 2481-2487 กับ จอมพล ป. เวอร์ชันสอง พ.ศ. 2491-2500 ก็มีความแตกต่าง จนถึงกับว่านักวิชาการหลายท่านไม่นับว่า 10 ปีหลังนี้เป็นเรื่องของคณะราษฎรเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม นับเป็น 1 ใน 7 ผู้ก่อการชั้นต้นด้วย

แต่ที่แน่นอนการรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ที่มีต่อรัฐบาลจอมพล ป. จนทำให้ท่านผู้นำตราไก่ต้องขับรถเลาะถนนสุขุมวิทนั่งเรือออกไปกัมพูชาและลี้ภัยถาวรในญี่ปุ่น นับเป็นจุดอวสานของผู้นำคณะราษฎรในวงจรการเมืองไทย

 

 

อย่างไรก็ตาม คุณทำความเข้าใจคนที่ยังแอนตี้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทุกวันนี้อย่างไร

อย่างน้อยที่สุดก็ต้องยอมรับว่าที่เราทุกคนมีชีวิตรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง มีการศึกษา มีสิทธิเสรีภาพใช้มาได้ทุกวันนี้ย่อมเป็นอานิสงส์มาจาก 2475 แต่ความคิดอย่างนี้คนที่แอนตี้ 2475 ย่อมไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิง วาทกรรมอย่าง ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ แม้จะได้ยินบ้างเนืองๆ แต่ผมว่าลดพลังกว่าแต่ก่อนไปเยอะ ยิ่งกับคนรุ่นใหม่ๆ ที่มองเรื่องประวัติศาสตร์รอบด้านกว่าก็จะไร้คำถามว่าสังคมไทย ‘พร้อม-ไม่พร้อม’ กับประชาธิปไตย

ชุดข้อมูลการรับรู้ประวัติศาสตร์ 2475 ยังนับว่าน้อยนะ และยิ่งในระบบการเรียนการศึกษาหลักไม่ต้องพูดเลย จะวิเคราะห์สังเคราะห์เรื่อง 2475 ได้ เขาต้องเห็นข้อเท็จจริงและเกิดการเรียนรู้ เราอาจจะบอกว่า จอมพล ป. พิบูลสงครามมีความเป็นเผด็จการ หรือเรื่องความขัดแย้งภายในคณะราษฎรด้วยกันเอง ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติในแง่การบริหารจัดการอำนาจ ที่ไม่เสมอด้วยทิฐิและผลประโยชน์เสมอไป แต่ไม่ใช่บอกว่าระบอบเก่าดีกว่า การพูดแบบนี้มันผิดฝาผิดตัว ดังที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยแฝงทัศนะนี้ไว้ในบทประพันธ์แลไปข้างหน้า ภาคมัชฌิมวัย ที่ว่า

“ถ้าพวกชนชั้นสูงเขาคิดว่า ราษฎรจะกลับเรียกร้องให้พวกเขาปกครองประเทศอีก ก็นับว่าพวกเขาได้ฝันไปอย่างน่าสงสาร เดี๋ยวนี้ราษฎรพอจะรู้กันอยู่แล้วว่า เมื่อพวกคนชั้นสูงปกครองประเทศนั้น เขาปกครองเพื่อประโยชน์ของใคร”

จึงไม่แปลกว่าเมื่อคุณกุหลาบเห็นว่าสฤษดิ์เป็นเผด็จการที่ยิ่งกว่า ท่านเลือกที่จะลี้ภัยอยู่ยังต่างประเทศมากกว่าที่จะต้องกลับมานั่งรำพันวรรณกรรมในคุกดังเช่นสหายจำนวนมากมายร่วมสมัยเดียวกัน

ส่วนการให้เหตุผลปกป้อง 2475 เองก็มีข้อจำกัด แค่เริ่มก็มี handicap สิทธิเสรีภาพที่จะพูดในที่สาธารณะก็มีขอบเขตและเพดานในการนำเสนอเช่นกัน

 

ท่ามกลางกองหนังสือเก่าจำนวนมาก หลายเล่มเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ อะไรคือฝันที่คุณอยากเห็น

ทิศทางการรักษาหนังสือเก่าเบื้องแรกคือการ digitize แปรเป็น e-book และเผยแพร่ให้ได้มากที่สุด หลายปีนี้เห็นได้ว่าห้องสมุดหลายแห่งมีการนำเอกสารเก่าๆ เสนอผ่านรูปแบบนี้ เช่น หนังสือพิมพ์เก่าๆ ยุค 2475 ของหอสมุดแห่งชาติ หรือหนังสืองานศพกรุวัดบวรฯ ที่คุณนเรศ นโรปกรณ์ กรุยทางไว้เมื่อครึ่งศตวรรษก่อนแล้วทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำมาสแกนเผยแพร่หลายปีนี้

เช่นเดียวกับกรุหนังสือเก่าของหอสมุดจุฬาฯ ก็มาในทิศทางที่น่าชมเชยนี้ ส่วนในเชิงทัศนคติของคนรุ่นใหม่และวิธีการค้นคว้าของพวกเขาหรือแม้แต่การนำเสนอเรื่องราวเชิง parody ล้อเลียนสมาชิกคณะราษฎรไม่ว่าปรีดี หรือจอมพล ป. ล้วนสะท้อนองค์ความรู้เรื่อง 2475 ว่ามีความเข้าใจเรื่องราวกันไม่น้อยนะครับ ถึงการเมืองการปกครองสมัยนี้จะดูมืดมน แต่ผมรู้สึกว่าพวกเขามาไกลกว่าที่ผมเคยจินตนาการจากที่ตามดูในโลกทวิตเตอร์

ส่วนความฝัน ผมปรารถนาจะเห็นหอจดหมายเหตุ 2475 หรือพิพิธภัณฑ์สามัญชนที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณรัฐอย่างจริงจัง

ส่วนความจริงในแง่ของคนชอบสะสมและอ่านหนังสือชีวประวัติบุคคล ผมยังสนุกกับการเพิ่มพูนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ 2475 เพราะทุกวันนี้ผมยังรู้สึกเหมือนพบ ‘หนังสือใหม่’ ใน ‘หนังสือเก่า’ ยุคนั้นอยู่เรื่อยๆ

เมื่อผมพบหนังสืองานศพซักเล่ม ผมมักจะดูปีชาตะของผู้วายชนม์เป็นสิ่งแรก แล้วจึงสำรวจว่าคนๆ นี้ประกอบอาชีพอะไรและเมื่อถึงปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนหน้าและให้หลัง ชีวิตคนๆ นั้นมีพลวัตผันแปรไปอย่างไร

ถึงทุกวันนี้บ้านเมืองนี้จะมีระบอบการเมืองการเศรษฐกิจที่ห่างไกลจากหลักการที่เป็นอุดมคติครั้งคณะราษฎรมาก แต่โดยปัจเจกชนเราก็ย่อมมีความหวังเสมอที่จะเห็นสังคมดีขึ้น

การย้อนกลับไปอ่านเรื่องราวต่างๆ หรือหนังสือยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองมันเหมือนเป็นถ้ำ เวลาผมเบื่อๆ สังคมการเมืองปัจจุบัน ผมจะกลับเข้าไปในถ้ำนี้สำรวจดูว่าคณะราษฎรเขามีเหตุผลอย่างไรที่ต้องลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง เป็นมณฑลแห่งพลัง มันชาร์จพลังชีวิตให้เรา

หากจะว่าไปเรื่อง 2475 นับเป็นบทเรียนประชาธิปไตยที่เล่นจริงเจ็บจริง หรือตามภาษาพระก็ว่ามีสภาวธรรมรองรับที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาแทบจะทุกแง่ ผมมองว่าถ้าผู้คนหันมาสนใจประวัติศาสตร์ช่วงนี้มากๆ จะเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ในอดีตนี้เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทยอย่างสร้างสรรค์ในอนาคต

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save