ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง
Shin Egkantrong ภาพประกอบ
เริ่มต้นปีใหม่มาการเมืองในภูมิภาคเอเชียใต้ก็ร้อนแรงเลย เพราะในวันที่ 1 มกราคม 2019 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์แบบตัวต่อตัวกับสำนักข่าว ANI ซึ่งเป็นสื่อใหญ่ของอินเดีย หลังจากที่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อไหนมาเป็นระยะเวลายาวนาน ที่สำคัญรัฐบาลอินเดียยังออกกฎระเบียบมากมายสำหรับการขอสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี ทั้งเรื่องการกรองคำถาม การตัดคำถามที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวรัฐบาลออก เป็นต้น นี่จึงทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของโมดีเป็นที่จับตามอง
อย่างที่รู้กันว่าอินเดียกำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคมปีนี้ หลังจากพรรคบีเจพี ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีโมดี อยู่ครบวาระ 5 ปีเต็ม (ว่าไปแล้วก็แอบเศร้าใจ เพราะไทยก็เกือบ 5 ปีแล้วที่ไม่มีเลือกตั้ง แถมยังไม่รู้ว่าสุดท้ายเราจะได้เลือกก่อนหรือหลังอินเดียกันแน่) การออกมาให้สัมภาษณ์ครั้งนี้จึงเป็นที่น่าจับตามอง ไม่เฉพาะกับพรรคฝ่ายค้าน นักวิเคราะห์การเมืองอินเดีย แต่รวมถึงผู้สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนักลงทุนอีกด้วย เพราะอินเดียถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคเอเชียใต้ ซ้ำยังเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญที่พยายามผลักดันยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิคร่วมกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีน
นอกจากนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของอินเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนทะยานขึ้นมาเป็นอันดับ 6 ของโลก ยิ่งส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอินเดียเป็นที่พูดถึงมากยิ่งขึ้น ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงลองถอดรหัสบทสัมภาษณ์ของนายกฯ โมดี ว่ามันสะท้อนภาพอะไรบ้างก่อนถึงการเลือกตั้งที่จะมาถึง

ทำไมนายกรัฐมนตรีโมดีจึงยอมให้สัมภาษณ์ช่วงนี้?
หากย้อนดูปรากฎการณ์ทางการเมืองของอินเดียในช่วง 3 -4 เดือนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าพรรคบีเจพีสูญเสียความเชื่อมั่นอย่างมากจากประชาชน โดยเฉพาะภายหลังการปล่อยข้อมูลความไม่ชอบมาพากลของโครงการจัดซื้อเครื่องบินรบ Rafale ซึ่งรัฐบาลทำสัญญาไว้กับประเทศฝรั่งเศส โดยมีตัวเลขบางส่วนที่แพงเกินจริง
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวยังไม่เป็นข้อยุติและยังอยู่ในช่วงการสืบสวนสอบสวน แต่ปัญหานี้ก็ถูกนำมาใช้โจมตีรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และหลายครั้งรัฐบาลก็เลี่ยงไม่ตอบคำถามเอาดื้อๆ ทำให้คนยิ่งแครงใจและสงสัยกันเข้าไปใหญ่
นอกจากประเด็นการทุจริตที่รัฐบาลโมดียังไม่สามารถเอาข้อมูลมาแก้ต่างให้ตัวเองได้แล้ว ผลกระทบจากนโยบายการยกเลิกธนบัตรในช่วงปลายปี 2016 และการปรับภาษีสินค้าและบริการในช่วงกลางปี 2017 เริ่มส่งผลกระทบออกมาให้เห็น โดยเฉพาะกับเกษตรกร นำมาซึ่งปัญหาหนี้สินที่พอกพูนมากยิ่งขึ้น จนมีชาวนานับแสนคนตัดสินใจปิดชีวิตตัวเองในแต่ละปีที่ผ่านมา รัฐบาลขาดการเยียวยาที่เป็นระบบมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่งบประมาณจำนวนมากที่เก็บได้เพิ่มขึ้นจากภาษี ก็ถูกนำไปใช้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผลประโยชน์มักตกอยู่กับนายทุนและชนชั้นกลาง
แม้ว่าผลกระทบจากนโยบายทั้งสองจะเป็นปัญหามายาวนานแล้ว แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ไม่ได้มองว่ามีผลเท่าใดนักต่อภาพรวมคะแนนนิยมของพรรคบีเจพี จนกระทั่งมันสุกงอมและสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งในรัฐราชาสถาน รัฐมัธยประเทศ และรัฐฉัตตีสกาห์ ซึ่งผ่านพ้นไปในช่วงต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
ทั้ง 3 รัฐนี้ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนหัวใจแห่งฮินดี และมีความสำคัญอย่างมากต่อพรรคบีเจพี เพราะในรัฐราชาสถานนั้น ถือเป็นรัฐขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยในการเลือกตั้งครั้งก่อน บีเจพีสามารถเอาชนะได้อย่างถล่มทลาย แต่สำหรับคราวนี้กลับพ่ายแพ้โดยเสียที่นั่งไปกว่า 90 ที่ ในขณะที่รัฐมัธยประเทศ เป็นการแข่งขันที่ค่อนข้างดุเดือด เพราะบีเจพีครองอำนาจในรัฐนี้มาตั้งแต่ปี 2003 แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับพรรคคองเกรส ถือเป็นอีกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองภายในอินเดีย
ปรากฎการณ์เหลือเชื่อเช่นนี้ เกิดขึ้นเหมือนกันในรัฐฉัตตีสกาห์ แม้บีเจพีจะครองอำนาจมาร่วม 15 ปี แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้อย่างราบคาบให้กับคองเกรส
สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นจึงเป็นต้นสายปลายเหตุสำคัญ ที่ทำให้โมดีไม่อาจนิ่งนอนใจได้โดยไม่ตอบโต้ใดๆ นี่เลยกลายเป็นที่มาว่าทำไมโมดีต้องตัดสินใจให้สัมภาษณ์กับสื่ออีกครั้ง หลังจากว่างเว้นมานาน
โมดีสื่อสารอะไรให้ผู้ฟังผ่านการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้?
แน่นอนว่าการตัดสินใจให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ของโมดี ส่วนหนึ่งก็มีเป้าหมายทางการเมืองในการแก้ต่างปัญหาที่เกิดขึ้นภายในรัฐบาล สื่อสารข้อมูลบางส่วนที่ถูกต้อง รวมถึงสิ่งที่รัฐบาลอยากให้ประชาชนรับรู้ โดยเฉพาะปัญหาการยกเลิกธนบัตร ที่ส่งผลให้การเติบโตของ GDP อินเดียต้องหยุดชะงัก ประชาชนขาดแคลนเงินสด ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องปิดตัวลง
โมดีเน้นย้ำผ่านการสัมภาษณ์ว่า การดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นไปเพื่อขจัดปัญหาเงินนอกระบบ ซึ่งเขามองว่านโยบายนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เห็นได้จากตัวเลขภาษีที่เก็บได้เพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่ปัญหาภาคเกษตรที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โมดีระบุว่ารัฐบาลทำงานอย่างหนัก และพยายามสร้างตลาดสินค้าเกษตรใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาภาพรวมของทั้งประเทศ เขาเน้นว่าการกระทำของคองเกรส โดยเฉพาะการชะลอหนี้เกษตรกร ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว และนี่ก็เป็นเพียงแค่การหวังผลคะแนนระยะสั้นเท่านั้น
นอกจากประเด็นเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่โมดีพยายามชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นดอกผลจากภาษีที่เก็บได้แล้ว โมดียังถูกถามถึงประเด็นปัญหาเรื่องความรุนแรง อันเนื่องมาจากการขยายตัวของลัทธิฮินดูนิยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปกป้องวัว หรือการปกป้องศาสนสถาน ว่าเป็นเรื่องของการขาดความเคารพซึ่งกันและกัน เขาระบุว่า “การเคารพต่อความรู้สึกเป็นความรับผิดของประชาชนทุกคน ถ้าเราเคารพความรู้สึกเหล่านั้น ความรู้สึกของเราก็จะได้รับการเคารพเช่นกัน” ทั้งนี้ โมดีใช้เหตุผลเดียวกันนี้กับประเด็นปัญหาการห้ามผู้หญิงเข้าศาสนสถานสภาริมาลาด้วย
สำหรับในกลุ่มคำถามสุดท้าย ที่ถือเป็นประเด็นร้อนของประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องการซื้อเครื่องบินรบ Rafale เป็นที่น่าสนใจว่าโมดีแทบไม่ให้ข้อมูลเรื่องนี้เลย และพยายามเบี่ยงประเด็นนี้ไปยังเรื่องอื่นแทน โดยพยายามชี้ว่าเขาเล็งเห็นความสำคัญของการป้องกันประเทศมาก่อนทุกสิ่งแน่นอน แม้ว่าจะถูกพิธีกรเน้นถึงปัญหาสายสัมพันธ์ของเขากับนักธุรกิจใหญ่ ซึ่งมีส่วนในข้อตกลงซื้อขายเครื่องบินรบนี้
สุดท้ายพิธีกรถามขึ้นว่า “คุณรู้สึกดีใจหรือพึงพอใจกับอะไรบ้างในช่วงระหว่างดำรงตำแหน่ง” และด้วยความสามารถด้านวาทศีลของโมดี คำคมมากมายจึงออกมาจากปากเขา “ผมอยากให้คำถามนี้ประชาชนทุกคนเป็นคนตอบ ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับการทำงานของผม…ผมมีความสุขทุกนาทีในการทำงาน ทุกการงานของผมเต็มไปด้วยความซื่อสัตย์และมีเป้าหมายคือประชาชน ”
บทสัมภาษณ์หรือการพีอาร์นายกฯ คำถามคาใจใครหลายคน
หลังจากการสัมภาษณ์ของโมดีออกอากาศทางโทรทัศน์ ย่อมมีกระแสตอบรับทั้งในเชิงสนับสนุน และในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะดูเหมือนว่าท่าทีการสัมภาษณ์ของพิธีกรจะอ่อนละมุน ผิดวิสัยของสื่อสารมวลชนอินเดียที่ส่วนใหญ่จะเน้นถามคำถามเชิงวิพากษ์ ไล่ต้อนผู้ถูกถามให้ต้องตอบอย่างตรงไปตรงมา แต่การสัมภาษณ์ครั้งนี้กลับดูแปลกไป เพราะโมดีสามารถเลี่ยงการตอบคำถามได้จำนวนมาก โดยที่พิธีกรไม่ซักไซ้ไล่เรียงเขาแต่อย่างใด
มันจึงเกิดคำถามในหมู่ผู้ฟังว่า หรือนี่จะเป็นเพียงการพีอาร์นายกรัฐมนตรี มากกว่าที่จะเป็นการถามตอบข้อสงสัยที่สังคมอยากรู้ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ การตกงานของคนรุ่นใหม่ในเขตเมืองที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น การสร้างความหวาดระแวงระหว่างกันของกลุ่มศาสนาต่างๆ หรือแม้กระทั่งความไม่ชัดเจนของตัวนายกรัฐมนตรีต่อการจัดซื้อเครื่องบินรบ Rafale
ยังไม่รวมปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลกับอดีตผู้ว่าแบงค์ชาติอินเดีย เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสินเชื่อ อันเป็นต้นเหตุสำคัญให้นาย Urjit Patel ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน จนเป็นข่าวใหญ่โตภายในประเทศ และที่สำคัญคือส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นโดยรวมของรัฐบาลอินเดีย เกี่ยวกับการเข้าแทรกแซงนโยบายทางการเงิน
ที่สำคัญไปกว่านั้นในบทสัมภาษณ์ของโมดีครั้งนี้ คือมีการแอบสอดแทรกการโจมตีพรรคฝ่ายค้านอยู่เนืองๆ จึงสรุปได้ง่ายๆ ว่า รหัสที่ถอดได้จากการสัมภาษณ์ของนายกฯ โมดีครั้งนี้ หนีไม่พ้นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้สนับสนุนพรรคบีเจพี รวมถึงประชาชนกลุ่มกลางๆ ที่ยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ตลอดจนโจมตีความชอบธรรมของพรรคคองเกรส และแน่นอนว่านี่คืออีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของหัวหอกคนสำคัญของพรรคบีเจพี ในการสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้านี้
กล่าวง่ายๆ ว่าการสัมภาษณ์ครั้งนี้ของโมดี คือการเปิดศึกเลือกตั้ง 2019 ของอินเดียอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หมายเหตุ: การสัมภาษณ์ครั้งนี้ใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร
ดูข้อมูลบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่นี่