fbpx
กระทรวงสุขสุดๆ

เกสต์เฮาส์สวนสวรรค์ The Ministry of Utmost Happiness (กระทรวงสุขสุด ๆ)

จากนิยายเรื่อง “เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ (The God of Small Things)” และรวมบทความ “จุดจบแห่งจินตนาการ (The End of Imagination)” ผมประทับใจกับการเขียนหนังสือของอรุณธตี รอย เป็นที่สุด ทั้งลีลาการเปรียบเปรยและการบรรยายพรรณนาสิ่งต่างๆ ได้อย่างวิจิตรหวือหวา การร้อยเรียงเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามลำดับก่อนหลัง แต่ได้ผลรวมที่น่าอัศจรรย์และตราตรึงสะเทือนอารมณ์ รวมถึงฝีปากคมกล้าบาดลึกเชือดเฉือนใจ

กระทรวงสุขสุดๆ” เป็นนิยายเรื่องที่สองของอรุณธตี รอย ทิ้งช่วงเว้นห่างจากเรื่องแรกถึง 25 ปี ตลอดเวลาที่หยุดสร้างวรรณกรรม เธอทำงานเป็นนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนและปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างขันแข็งเข้มข้น มีผลงานเขียนที่ไม่ใช่เรื่องแต่งออกมาเป็นจำนวนมาก

การหวนกลับมาเขียนนิยายอีกครั้งของอรุณธตี รอย จึงเป็นเรื่องที่ทำให้ผมตื่นเต้นยินดีมาก

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกของผมหลังจากอ่าน “กระทรวงสุขสุดๆ” จบลงในเที่ยวแรก เต็มไปด้วยอาการเหวอ จับต้องอะไรไม่ติด และค่อนข้างไปทางผิดหวัง

ส่วนหนึ่งของความผิดหวังเป็นที่ตัวผมเองคาดหมายว่าจะได้รับรสการอ่านเช่นเดียวกับ “เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ” แต่ “กระทรวงสุขสุดๆ” นำพาไปอีกทางซึ่งแตกต่างกันอยู่มาก เหมือนอาหารคนละชนิด อีกส่วนหนึ่งที่มีน้ำหนักพอๆ กัน คือวิธีการเขียนของอรุณธตี รอยที่ ‘หนักมือ’ แบบไม่เกรงใจใคร

แต่ก็พูดได้อีกเช่นกันว่าตลอดการอ่านครั้งแรกด้วยความขัดเคืองไม่สบอารมณ์ ผมยังคงจับอกจับใจกับฝีมือการเขียนและชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ของอรุณธตี รอยไม่แปรเปลี่ยน จนนำไปสู่การอ่านซ้ำอีกครั้งเพื่อหาคำตอบว่าทั้งหมดนี้เป็นเพราะเหตุอันใด?

คำตอบแรกที่พบ คือพล็อตหลักของ “กระทรวงสุขสุดๆ” บอกเล่า 2 เรื่องราว เหตุการณ์แรกเป็นเรื่องของตัวละครชื่ออัญจุม ผู้เกิดมาเป็นเพศชาย แต่มีอวัยวะเพศหญิงเพิ่มมาด้วย มีคำเรียกขานคนที่เป็นเช่นนี้ว่า ฮิจรา

เรื่องราวส่วนนี้ว่าด้วยชีวิตระหกระเหินของอัญจุม (ซึ่งต่อมาได้ผ่าตัดแปลงเพศ แต่หมอกำมะลอก็ทำให้ร่างกายของเธอไม่สามารถเป็นหญิงโดยสมบูรณ์) ในการดิ้นรนค้นหา ‘ที่ทาง’ ของตนเอง ซึ่งโดยกายภาพก็ยากลำบากต่อการใช้ชีวิตให้กลมกลืนไปกับสังคมรอบข้างเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งผนวกกับความเป็นสังคมอินเดียที่มีลักษณะเฉพาะตัวพิเศษกว่าที่อื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการถือชั้นวรรณะ โลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ มีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเหลื่อมล้ำกันสุดกู่ ความเป็นชาวมุสลิมท่ามกลางมหาชนฮินดู (ซ้ำยังขัดแย้งไม่ลงรอยกันหนักหน่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดเหตุ 11 กันยายน ปี 2001 ความเกลียดชังต่อกันของทั้งสองฝ่ายก็ยิ่งทวีความระอุรุนแรงมากขึ้นอีก)

ทั้งหมดนี้ทำให้ชีวิตของอัญจุมหนักหนาสาหัส ดังเช่นที่บทสนทนาตอนหนึ่งเล่าไว้ว่า

“เธอรู้มั้ย ทำไมพระเจ้าจึงสร้างฮิจรา” เธอ (ตัวละครชื่อนิมโม โครักขปุรี) ถามอาฟตาบ (ชื่อเดิมเริ่มแรกของอัญจุม) ตอนบ่ายวันหนึ่งขณะพลิกนิตยสารโว้ก ขาดๆ วิ่นๆ ฉบับปี 1967 มองภาพเหล่าสตรีผมสีบลอนด์ขาเปลือยที่โดนใจเธอนักหนา

“ไม่รู้สิ ทำไมล่ะ”

“การทดลองไง พระองค์ตั้งใจสร้างบางอย่าง สิ่งมีชีวิตที่หาความสุขไม่ได้ จึงทรงสร้างพวกเรา”

และอีกใจความสำคัญที่ว่า “ไม่มีใครเป็นสุขที่นี่หรอก มันเป็นไปไม่ได้ เพื่อนเอ๋ย คิดให้ดีเถิด คนปกติทั่วไปอย่างแกเขาเป็นทุกข์กันเรื่องอะไร ฉันไม่ได้หมายถึงแก แต่ผู้ใหญ่อย่างแก – อะไรที่ทำให้พวกเขาเป็นทุกข์ ราคาข้าวของแพงขึ้น ค่าเล่าเรียนลูก ถูกผัวทุบตี เมียมีชู้ มุสลิม-ฮินดูตีกันปั่นป่วน สงครามอินโด-ปากี – ล้วนแต่เรื่องภายนอกที่จะคลี่คลายลงได้ในที่สุด แต่สำหรับพวกเรา สินค้าขึ้นราคา ค่าเล่าเรียนลูก ผัวทุบตี เมียมีชู้ ล้วนอยู่ภายในตัวเรา เหตุประท้วงอยู่ภายในตัวเรา สงครามอยู่ภายในตัวเรา อินโด-ปากีอยู่ภายในตัวเรา ไม่มีทางคลี่คลายลงได้ ไม่มีทาง”

จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของอัญจุมเกิดขึ้นเมื่อเธอตกเป็นหนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์จลาจลที่คุชราตปี 2002

อัญจุมเดินทางไปเพื่อสวดขอพรมัสยิดที่นั่น แล้วโดนลูกหลง ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงและการทารุณกรรม (นิยายไม่ได้เล่าลงรายละเอียดว่าเธอเผชิญสิ่งใด แต่แจงสภาพแตกสลายของเธอจากเหตุการณ์ดังกล่าว) จนขวัญกระเจิงและหวาดผวา กระทั่งต้องแยกออกมาใช้ชีวิตตามลำพังในสุสานที่อยู่ด้านหลังโรงพยาบาล แล้วก็มีเพื่อนฝูงญาติมิตร (ล้วนแล้วแต่เป็นผู้บอบช้ำจากการมีชีวิต) ติดตามมาสมทบ ทั้งหมดช่วยกันเปลี่ยนแปลงต่อเติม จนกระทั่งที่แห่งนั้นกลายเป็นที่รู้จักในนาม “เกสต์เฮาส์สวนสวรรค์”

เนื้อเรื่องหลักที่สอง เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวชื่อตีโลกับผู้ชาย 3 คนที่หลงรักเธอ คือ มูซา (นักต่อสู้เพื่อเอกราชของแคชเมียร์), นาคา (นักข่าวหนังสือพิมพ์) และพิปลาภ ดาสคุปตา (เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยข่าวกรองอินเดีย)

กล่าวโดยรวบรัด เนื้อเรื่องส่วนนี้พูดถึงความรักและความเกี่ยวพันของตัวละครหลักทั้งหมด ครอบคลุมเวลาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยและต่อมาอีกเนิ่นนานร่วมๆ สามสิบปี

พูดอีกแบบ มันเป็นเรื่องที่เล่าเพื่อแสดงให้เห็นว่าตีโลเดินทางมายังเกสต์เฮาส์สวนสวรรค์ได้อย่างไร

อรุณธตีเล่าเรื่องชีวิตของอัญจุมจนดำเนินไปถึงจุดที่กำลังเข้มข้นเข้าไคล แล้วจู่ๆ ก็ทิ้งค้างไว้เช่นนั้น เปลี่ยนมาเล่าเรื่องความรักของตีโล (อย่างยืดยาว จนผู้อ่านแทบจะลืมเรื่องที่เล่าค้างไว้)

นั่นเป็นการ ‘ขัดใจ’ เบื้องต้น แต่ที่ผมกล่าวไว้ว่า ‘หนักมือ’ คือ เรื่องราวรักสามสี่เส้านั้น ยังใช้วิธีบอกเล่าแบบจงใจให้สะดุด ขัดจังหวะ ไม่ปะติดปะต่อราบรื่น แทบจะเป็นการเล่าแบบทำลายพล็อต ด้วยการเกริ่นเหตุการณ์แค่ไม่กี่บรรทัด จากนั้นก็ไปขยายความ (หรืออาจจะพูดได้ว่าเฉไฉออกนอกเรื่อง) อย่างละเอียด

เทียบเคียงให้เข้าใจง่ายๆ ประมาณว่า กำลังเล่าถึง 1 แต่แทนที่จะล่อต่อไปยัง 2 ก็กลับแทรกขัดด้วย 1.1 (ซ้ำร้ายก่อนจะไปถึง 1.2 มันกลับกลายเป็น 1.1.1 เสียอีก)

วิธีลำดับเรื่องเช่นนี้มีปรากฏตั้งแต่ตอนเล่าเรื่องของอัญจุมแล้วนะครับ แต่ปริมาณยังไม่หนาแน่นเท่า และเรื่องที่แทรกผ่ากลางเข้ามายังพอข้องเกี่ยวกันอยู่บ้าง ต่างจากในช่วงที่สอง ซึ่งเต็มไปด้วยทางเบี่ยงทางอ้อมเยอะแยะมากมาย

อย่างไรก็ตาม ในการอ่านซ้ำ ผมเข้าใจว่าเจตนาแท้จริงของอรุณธตีอยู่ที่การแสดงรายละเอียดปลีกย่อยสารพัดสารพันที่แทรกเข้ามา นั่นคือเหตุการณ์ความขัดแย้งในแคชเมียร์ ซึ่งมีทั้งเหตุการจลาจล, การก่อการร้าย, การปราบปราม, การกดขี่ การทารุณกรรม, การเข่นฆ่านองเลือดอย่างเหี้ยมโหด, การสังหารหมู่ ฯลฯ

อรุณธตี รอยเล่ารายละเอียดเหล่านี้เหมือนนำเสนอภาพจิ๊กซอว์ที่เต็มไปด้วยชิ้นส่วนย่อยๆ จำนวนมากให้ผู้อ่านปะติดปะต่อด้วยตนเอง ไม่ได้อธิบายให้เกิดความเข้าใจกระจ่างชัดถึงความเป็นมาเป็นไป รวมถึงการแบ่งฝักฝ่ายจำนวนมากว่าใครเป็นใคร แต่ละฝ่ายมีความคิดความเชื่อเช่นไร

ถัดมาคือรายละเอียดเกี่ยวกับความขัดแย้งอันสลับซับซ้อนในแคชเมียร์ บอกเล่าด้วยรูปแบบการเขียนหลากหลายลีลา บางช่วงเหมือนสารคดีหรือรายงานข่าว บางช่วงก็มีลีลาเช่นวรรณกรรม บางช่วงก็เหมือนเอกสารราชการ

ตอนที่อ่านรอบแรก ภาคเรื่องเล่าเกี่ยวกับแคชเมียร์เป็นยาขมสำหรับผม และกลบกลืนส่วนที่เป็นเนื้อเรื่องไปแบบจมมิด แต่ในการอ่านรอบสอง ผมจับสังเกตด้วยวิธีตรงกันข้าม คือมุ่งไปที่รายละเอียดเกี่ยวกับแคชเมียร์เป็นหลัก และรู้สึกว่าเรื่องรักระหว่างตัวละครเป็นเพียงการแทรกหรือส่วนเสริม จนพบว่าการเล่าอ้อมค้อมระหว่างความเป็นไปส่วนบุคคลของตัวละครหลักกับเหตุการณ์วุ่นวายทางสังคม ท้ายสุดแล้วก็เกี่ยวโยงกัน คือทุกคนล้วนถูกกลืนกินบดขยี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อไม่รู้จบนี้ได้อย่างไร

ควรต้องรีบบอกกล่าวด้วยครับว่า รายละเอียดมากมายเกี่ยวกับแคชเมียร์ในนิยายเรื่องนี้ ทั้งหนักอึ้งตึงเครียด ไม่รื่นรมย์ เต็มไปด้วยการสูญเสีย เศร้าหม่น โหดร้ายไร้มนุษยธรรม (นี่ยังไม่นับรวมถึงการปรากฏแบบขัดจังหวะรบกวน ‘เรื่องราว’ ที่ผู้อ่านกำลังอยากรู้เกี่ยวกับความเป็นไปในชีวิตของตัวละคร) แต่ด้วยฝีมือการเขียนและความเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจ ก็ทำให้เรื่องปลีกย่อยยั้วเยี้ยทั้งหมดชวนอ่านชวนติดตามเหลือเกิน (อาจจะเหนื่อยหน่อย ตรงที่ต้องตั้งสมาธิกับการเริ่มเรื่องใหม่อย่างถี่ยิบ)

“กระทรวงสุขสุดๆ” เป็นนิยายที่ผู้เขียนทะเยอะทะยานและคิดการใหญ่นะครับ เป็นนิยายที่โดยรวมแล้วอาจกล่าวได้ว่า พยายามบรรจุปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอินเดียยุคหลังอาณานิคมลงไปในนิยายให้ครบครัน ทั้งความแตกต่างเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ความขัดแย้งระหว่างศาสนา ความเจริญและการไหลบ่าของกระแสทุนนิยม ปัญหาฉ้อราษฏร์บังหลวง สิ่งแวดล้อม การใช้อำนาจกดขี่อย่างไม่เป็นธรรม สิทธิเสรีภาพของผู้คน การต่อสู้เพื่อเอกราช (ที่แท้จริง) ฯลฯ

มีช่วงเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเล่าออกมาได้น่าตื่นตาตื่นใจและพิลึกพิลั่นสุดๆ คือการแจกแจงถึงกลุ่มผู้ประท้วงที่จันตัร มันตัร ซึ่งเป็นเสมือน ‘ตลาดนัดหรืองาน expo แห่งการประท้วง’ มากมายหลายหลากนับไม่ถ้วน ทั้งหัวข้อประเด็นในการต่อสู้เรียกร้อง และวิธีเรียกร้องความสนใจในการประท้วง (รวมถึงวิธีการเขียนของอรุณธตี รอย ที่เสียดสีเย้ยหยันอย่างเจ็บแสบ เต็มไปด้วยอารมณ์ขันขื่น)

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าแก่นเรื่องใหญ่ของ “กระทรวงสุขสุดๆ” มีอยู่ 2 ประเด็น คือการสะท้อนภาพปัญหาความขัดแย้งในแคชเมียร์ (รวมทั้งน้ำเสียงท่าทีแสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของอรุณธตี รอยที่มีต่อรัฐบาลอินเดีย ซึ่งปรากฏในนิยายอย่างไม่ปิดบังอำพราง) และอัตลักษณ์ทางเพศ

ทั้ง 2 แง่มุมเล่าอย่างสะท้อนชัด ทั้งการสื่อสารกับผู้อ่านอย่างตรงไปตรงมาผ่านบทสนทนาระหว่างตัวละครและการเล่าบรรยาย ขณะเดียวกันก็ทิ้งร่องรอยเปิดกว้างไว้หลายแห่งในเชิงเปรียบเปรยให้ผู้อ่านตีความ

มีแง่มุมหนึ่งซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจ นั่นคือปมเกี่ยวกับการโหยหาความเป็นแม่ของอัญจุมและตีโล รายแรกนั้นสืบเนื่องมาจากอุปสรรคทางเพศสภาพ ขณะอีกคนเป็นผลมาจากความสัมพันธ์อันผันผวนซับซ้อนกับแม่ของเธอ (ตีโลมีแม่แท้ๆ เป็นแม่บุญธรรม ซึ่งไม่เคยยอมรับว่าเธอเป็นลูกโดยเลือดเนื้อเชื้อไข)

ในอีกฟากหนึ่ง นิยายก็มีอีก 2 ตัวละครสำคัญเป็นเด็กหญิงกำพร้าที่ถูกนำมาทิ้ง คือ ไซหนับและมิสเจบีนที่สอง ทั้งคู่มีบทบาทต่อการเดินเรื่อง รายแรกเป็นการค้นพบความสุขในชีวิตของอัญจุม เป็นสาเหตุชักนำให้เธอเดินทางสู่คุชราต กระทั่งแตกสลายย่อยยับ และค้นพบ ‘ชีวิตใหม่’ ส่วนเด็กหญิงคนหลังเป็นจุดเชื่อมต่อจากเรื่องของอัญจุมไปสู่ชีวิตของตีโล แล้วชักนำเส้นทางของทั้งสองให้โคจรมาบรรจบกัน

นี่ยังไม่นับรวมถึงบทบาทในการตอบสนองความเป็นแม่ของอัญจุมและตีโล

มีความตอนหนึ่ง (หน้า 370) เล่าไว้ว่า “…ผู้คนหลายพันคนตะโกนก้องซอยแคบๆ นั้น อาซาดี! อาซาดี! (เอกราช! เอกราช!) มิสเจบีนกับแม่ตะโกนสมทบกับพวกเขาด้วย บางครั้งแทนที่จะตะโกน อาซาดี! มิสเจบีนตะโกนด้วยความซุกซนแบบเด็กๆ ว่า มาตาจี! (แม่) – เพราะสองคำนี้เสียงใกล้เคียงกัน…”

พูดง่ายๆ ก็คือ เอกราชกับความเป็นแม่นั้นอาจมีความหมายนัยยะข้องเกี่ยวกันในเชิงเปรียบเปรย (ความเป็นลูกกำพร้า-ความเป็นแม่ที่ไม่สมหวัง และเอกราชที่ไม่เคยมีอยู่จริงในความหมายที่แท้จริง)

ตรงนี้ผมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในทางตรงข้าม ตัวละครหลักฝ่ายชายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมูซา, นาคา, พิลาป ดาสคุปตา หรือแม้กระทั่งอัญจุม เมื่อครั้งที่ยังเป็น ‘เขา’ ในชื่ออาฟตาบ ทุกคนล้วนขัดแย้ง ดื้อแพ่ง และต่อต้าน ไม่ยอมดำเนินชีวิตตามร่องรอยที่พ่อกำหนดไว้ให้ (สอดคล้องกับเรื่องราวว่าด้วยการดิ้นรนต่อสู้ของชาวแคชเมียร์ เพื่อให้หลุดพ้นเป็นอิสระจากการปกครองของรัฐบาลอินเดียเหมือนกันนะครับ)

มีคนจับประเด็นคล้ายๆ กับที่ผมตั้งข้อสังเกตข้างต้น และขยายความไว้ละเอียดกว่า ท่านที่สนใจสามารถอ่านได้จากบทความชื่อ “กระทรวงสุขสุด ๆ:การเมืองของลูกกำพร้าบนแผ่นดินแม่ภายใต้อำนาจปิตาธิปไตย” โดย ณิศวร์ฐิตะ ทองน้อย ที่เว็บไซต์ The Momentum

แง่มุมเปรียบเปรยต่อมาที่โดดเด่น คือการเปรียบเปรยตัวละครอัญจุมว่าเป็น ‘อินโด-ปากี’ มีความขัดแย้งเหล่านี้อยู่ภายใน และไม่อาจสะสางคลี่คลาย โดยนัยนี้ ในอีกเส้นเรื่องหนึ่ง ตัวละคร ตีโล, มูซา, นาคา และพิลาป ดาสคุปตา ก็ผ่านเหตุผจญชีวิต จนกระทั่งเป็น ‘อินโด-ปากี’ ด้วยเช่นกัน (ในบทความที่ผมอ้างถึงย่อหน้าข้างต้น อธิบายไว้ว่า “อรุณธตี รอยวางตัวละครทั้งสี่ตัว—ตีโล มูซา พิปลาภ และนาคา ไว้คนละเหลี่ยมมุมทางการเมืองและทางประวัติศาสตร์ ต่างคนต่างถูกคมเขี้ยวของสงครามและความขัดแย้งบดขยี้กลืนกินไปในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทุกคนจึงกลายเป็น ‘แคชเมียร์’ ในแบบของตัวเอง)

“กระทรวงสุขสุดๆ” เต็มไปด้วยเรื่องราวร้องทุกข์และปัญหาขัดแย้งนานัปการที่ดูจะสิ้นหวังไร้ทางออก มองไม่เห็นลู่ทางแก้ไข แต่ถึงที่สุดแล้ว นิยายเรื่องนี้ก็สรุปลงเอยอย่างมีความหวัง

มีข้อความ 2-3 แห่ง ซึ่งผมจดไว้เมื่ออ่านเจอ ด้วยเหตุว่าคมคาย คือ “เจ้าหน้าที่เทศบาลนำหมายมาแปะประตูหน้าบ้านของอัญจุม แจ้งห้ามผู้บุกรุกที่ดินอยู่อาศัยในที่สาธารณะ ห้ามเด็ดขาดไม่ให้เธออยู่ในสุสาน สิ่งก่อสร้างจะถูกรื้อถอนภายในหนึ่งสัปดาห์ เธอบอกพวกเขาว่าเธอไม่ได้อยู่ในสุสาน แต่ตายลงเรื่อยๆ อยู่ในนั่น” และอีกแห่งหนึ่ง “ทุกวันนี้ในแคชเมียร์คุณต้องตายเพื่อให้มีชีวิตรอด”

ทั้ง 2 ข้อความนี้ ดูเผินๆ เหมือนการเล่นสำนวนโวหารนะครับ แต่เทียบเคียงประกอบกับเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว ผมคิดว่านิยายเรื่องนี้สะท้อนถึงการตายดับของสภาพจิตใจแบบหนึ่ง และการเกิดใหม่ด้วยความคิดอ่านอีกแบบหนึ่งผ่านหลายๆ ตัวละครในหลายวาระ (รวมถึงการถูกฆ่าซ้ำสองหลังจากเสียชีวิตแล้ว)

คลับคล้ายกัน ตลอดเรื่องมีฉากงานศพอยู่มากมายหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศพของหลายๆ คนที่ผ่านการทำพิธีฝังศพครั้งที่สอง

ตามความเข้าใจของผม งานศพเหล่านี้สะท้อนถึงความเจ็บปวดทุกข์ตรมที่ตัวละครต้องเผชิญและการหลุดพ้นเพื่อเริ่มต้นใหม่

ที่สำคัญคือ สถานที่อันเป็นหัวใจหลัก เป็นที่ตั้งของ “กระทรวงสุขสุดๆ” ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของโลกภายนอก (คือประเทศอินเดีย) ได้แก่ เกสต์เฮาส์สวนสวรรค์นั้น

ก็เป็นการเกิดใหม่จากบริเวณเดิมที่เคยเป็นและอาจจะยังเป็นสุสาน [1]

References
1 ตัวอย่าง footnote

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save