fbpx

อ่านอนาคตโลก เขียนอนาคตไทย กับ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ภาพจาก ThaiPublica

แม้ 2021 โลกจะยังคงป่วยไข้จากโควิด-19 แต่เทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงยังไม่หยุดยั้ง มิหนำซ้ำยังทะยานเร่งขึ้นกว่าเดิม

Metaverse, AI, Big Data เหล่านี้คือเทคโนโลยีที่จะมีส่วนนิยามชีวิตใหม่ของคนทั่วโลก รวมถึงคนไทย

101 ชวน ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา อ่านอนาคตโลกเพื่อเขียนอนาคตไทย – เราควรต้องรู้อะไร

YouTube video

:: ผลกระทบเทคโนโลยีกับการค้าในฐานะปัจเจกและองค์กร :: 

5 ปีที่ผ่านมา AI และ Big Data ยังไม่ใช่เทคโนโลยีที่องค์กรเอกชนนำมาใช้อย่างกว้างขวางในประเทศไทย แต่ปัจจุบันมีการนำมาใช้เรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ทำออกมาเป็นสไลด์สวยๆ โชว์ผู้บริหาร แต่นำมาขับเคลื่อนทำเป็นธุรกิจหลักเลย ปีหน้าน่าจะใช้กันเยอะขึ้น แล้วจะเห็นได้ชัดว่าบริษัทไหน ‘ลงมือ’ ทำจริง บริษัทไหนแค่ ‘คิด’ จะทำ สิ่งเหล่านี้ต้องวัดประสิทธิผลได้ ซึ่งในบริษัททั่วไปกว่าจะเห็นผลลัพธ์อาจต้องใช้เวลา ต่างจากบริษัทเทคโนโลยีที่อาจเห็นผลเร็วกว่า 

รากฐานที่จะทำให้บริษัทใช้ AI ได้มีประโยชน์ ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและความใส่ใจในองค์กร ทั้งคนในระดับล่างและบนที่จะยอมรับว่าการทำงานแบบเดิมมีจุดอ่อน และเราจะเอาเทคโนโลยีมาช่วยการตัดสินใจในข้อมูลได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทใช้ AI มาคำนวณน้ำมันในการขนส่ง ถึงเราจะคิดทำได้ดีอยู่แล้ว คนส่งของเราเก่ง แต่เมื่อระบบการทำงานถูกท้าทายโดยอุปสงค์มากๆ อย่าง e-commerce ที่ต้นทุนการขนส่งกระฉูด การคิดเช่นนี้จะทำให้ธุรกิจเราไม่สามารถใช้ประโยชน์กับเทคโนโลยีแบบนี้ได้ดีที่สุด 

ส่วนการค้าในยุคเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบในเชิงปัจเจก ข้อดีคือเราจะได้รับบริการสินค้าที่เราอยากได้ โดยที่เราไม่ต้องนึกถึง ซึ่งอาจทำให้วันหนึ่งการช้อปปิงจะหายไป ยกตัวอย่างโมเดลบริการของ Amazon ในอเมริกา ข้อได้เปรียบทางธุรกิจเขาคือ การมอบข้อเสนอที่มีค่าให้ลูกค้าในราคาที่ถูกมาก บางทีกดซื้อแล้วของอาจจะมาภายในไม่กี่วันด้วย การจะทำแบบนี้ได้ เขานำข้อมูลมาประมวลเยอะมาก

เขามีวิธีเข้าถึงข้อมูลรายบุคคล เช่น ณภัทรเป็นนักเศรษฐศาสตร์ไม่ชอบเสียเวลาดูสินค้านานและขี้เหนียว ถ้าเขาไม่กดซื้อ อาจจะต้องส่งอีเมลมาบอกว่าราคาลดแล้วนะ ซึ่งในเบื้องหลังจะมีคนแบบนี้เป็นฝาแฝดในกองข้อมูลอยู่ เขาเลยรู้ว่าเราอยากได้อะไร มีการส่งสินค้ามารอไว้กลางทาง แล้วนำเสนอสินค้าชิ้นนั้นที่คิดว่าเราสนใจ ดังนั้น ถ้าข้อมูลเยอะพอ เราจะได้ซื้อของในแบบที่ไม่นึกมาก่อนว่าเราจะต้องซื้อ

:: เทคโนโลยีกับความรัก ความตาย และการดำเนินชีวิตของมนุษย์ :: 

ในมิติเรื่องความตาย ทุกวันนี้มีบริษัทยาที่มีข้อมูลจีโนม ยีน และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเราผ่านนาฬิกา smart watch ที่บันทึกกิจกรรมต่างๆ ถ้ามีข้อมูลมากพอจะช่วยทำนายอะไรหลายอย่างได้ ซึ่งอาจจะทำให้รู้ว่าเราจะอยู่ถึงเมื่อไหร่ โอกาสรอดมีมากเท่าไหร่ สิ่งนี้จะเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง เช่น เราจะวางแผนชีวิตอย่างไร จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร  

สิ่งที่น่าสนใจคือชีวิตหลังความตายจะเป็นอย่างไร ในยุคดิจิทัลมีข้อมูลเราอยู่เยอะมาก ทั้งภาพ เสียง แชท ซึ่งถ้าเยอะพอจะสามารถคัดลอกออกมาเป็นตัวตนเราได้ เช่น ถ้าลูกหลานอยากมีปฏิสัมพันธ์กับเราในอนาคต การสร้างโฮโลแกรมเราขึ้นมาทำได้ไม่ยาก การยอมรับต่อการสูญเสียในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไป ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ 

ส่วนเรื่องความรักมี 2 ประเด็นคือ รักแบบ romantic love กับรักในเชิงหาคู่ โดยส่วนใหญ่ 2 ประเด็นนี้ไปด้วยกันไม่ได้ ในยุคนี้เราได้ยินเรื่องแอปฯ หาคู่ ที่สามารถกำหนดได้ว่าตัวเองอยากเจอคนแบบไหน ครอบครัวเป็นอย่างไร สถานะการเงิน สถานะความสัมพันธ์ ซึ่งเรื่องพวกนี้อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดของความรัก แต่เป็นแค่จุดเริ่มต้นให้ไปเจอคนคนนั้นได้เร็วขึ้น ในความหมายคือมันเป็นการแคร์ตัวเรา เอาเราเป็นที่ตั้งในการหาคู่ ซึ่งถึงจุดหนึ่ง เราอาจจะลืมไปว่าความรักที่คลาสสิกจริงๆ ไม่ควรจะทำนายได้ เพราะโดยตัวระบบ ถ้าคนรักเราทำไม่ดีตรงตามที่คิด มันจะคัดออกเลย ผมคิดว่าตรงนี้อันตราย โลกที่เราชินกับเทคโนโลยีเกินไปอาจจะทำให้เราสูญเสียความสัมพันธ์ ซึ่งความสัมพันธ์ทำให้เราแตกต่างจากหุ่นยนต์และ AI เพราะนี่คือเรื่องการแคร์คนอื่น

:: เทคโนโลยีกับการออกแบบนโยบายรัฐ :: 

เราสามารถประเมินการพัฒนาสังคมได้หลายมิติ มิติแรก ประสิทธิผล นโยบายประเทศเราดีขึ้นกว่าเมื่อวานหรือเปล่า มิติที่สอง ประสิทธิภาพ ประเทศเราใช้ภาษีคุ้มหรือไม่ ออกกฎหมายหรือนโยบายได้ทันเทคโนโลยีไหม และมิติที่สาม ความเป็นธรรม ความเสมอภาค ซึ่งจากทั้งหมดนี้ เมืองไทยน่าจะล้มเหลวแทบทุกด้าน และเรามีปัญหาเยอะมาก บางเรื่องดองมา 10 ปี แสดงให้เห็นว่ากระบวนการแบบเดิมแก้ปัญหาใหม่ๆ ไม่ได้ 

ในความเห็นของผมคือต้องแก้ที่แก่นปัญหา เพราะกระบวนการคิดนโยบายของรัฐไม่ค่อยอิงกับหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ การเรียนการเมืองการปกครองอาจจะเป็นศิลป์ก็จริง แต่การวัดผลลัพธ์ควรเป็นวิทยาศาสตร์ เราจึงต้องกลับมาสู่เทคโนโลยี เพราะเราจะวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลไม่ได้ ถ้าไม่มีเทคโนโลยีเพื่อหาหลักฐานเชิงสถิติว่าคุณทำนโยบายมาแล้วเป็นอย่างไร คุ้มค่าอย่างไร

เรื่องต่อมาคือ การแก้ปัญหามักเกิดในห้องปิด แต่ตอนนี้หลายๆ ความท้าทายที่เราเจอยากถึงขั้นที่อาจจะไม่มีมนุษย์คนไหนถูกเลือกขึ้นมาเพียงหยิบมือเพื่อเป็นรัฐมนตรีหรือคนในระดับสูงแล้วแก้ปัญหาให้เราได้ทั้งหมด แม้ว่าบางปัญหาอาจจะโอเคในการเลือกผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาแก้ไข แต่การแก้ปัญหาแบบห้องเปิดอาจจะเป็นโจทย์ที่ดีกว่าหรือเป็นธรรมกว่าในบรรทัดฐานทางสังคม 

เรื่องนี้สอดคล้องกับวิธีคิดของโลกบล็อกเชนที่กระจายอำนาจการตัดสินใจในวงกว้าง ไม่กระจุกตัวไว้ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ยกตัวอย่างเรื่องนโยบายการเงิน ถ้าในโลกจริงจะมีการตัดสินใจโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน สำหรับคนทั่วไปที่เขาไม่เกี่ยวข้องก็จะรู้สึกไม่มีสิทธิมีเสียง แล้วที่แย่คือถ้าเขาได้รับผลกระทบ เช่น เขาออมเงิน แต่เจอนโยบายดอกเบี้ยติดลบ บางคนเขาจะรับไม่ได้ เพราะเงินเป็นหลักฐานของอิสรภาพ

:: การเก็บข้อมูลที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐไทย? ::

ผมขอใช้เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยเพื่อสะท้อนปัญหาของการจัดการข้อมูล นี่คือกรณีที่ผิดทุกกระบวนท่าในการใช้ประโยชน์ข้อมูล ผ่านไปกี่ปีแล้วยังแก้ไม่ได้ ความจริงรถชนแก้ได้และไม่ควรปล่อยเป็นเรื่องของโชค 

ปัญหาของรัฐคือข้อมูลถูกเก็บแยกหมดเลย ถนนเป็นของหน่วยงานนี้ดูแล เสาไฟเป็นของหน่วยงานนั้นดูแล เมื่อต้องการรวมข้อมูลทั้งหมดก็ใช้เวลานานเกินไป และไม่เคยมีการคิดมาก่อนว่าจะต้องเอามารวมกันเพื่อพิสูจน์หลักฐานและแก้ปัญหาว่าทำไมถึงชนกันตรงนี้ 

หลักๆ คือมีข้อมูลแต่ไม่เคยรวม เราเลยไม่รู้ว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร จริงๆ ภาครัฐก็อยากทำ แต่ทรัพยากรคนไม่พอ และค่าแรงในสายนี้แพง รวมทั้งทัศนคติของคนส่วนมากก็มักโทษคนขับก่อน ทั้งที่เราต้องลองคิดว่าแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีแบบไหนง่ายกว่ากันระหว่างคนขับกับสภาพแวดล้อม ซึ่งผมเคยเอา AI มาคำนวณด้วยข้อมูลอุบัติเหตุทั้งหมด โดยไม่ใส่พฤติกรรมคนขับ ยังคำนวณได้แม่นยำ แสดงว่าในทางกายภาพทำได้ดีกว่านี้อีก

ตอนนี้ดีมากตรงที่มี DTA (บริษัทผลิตกลุ่มโปรแกรมวิเคราะห์ทางวิศวกรรม) รวมข้อมูลไว้ แล้วทำให้เห็นแพตเทิร์นชัดเจนว่าคนจะชนและตายที่เดิม ซึ่งเป็นเรื่องซ้ำซากและเป็นปัญหาที่ไม่ถูกแก้ อย่างตรงโค้งสะพานคลองตัน มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คนต่อเดือน แต่พอเราเอาอาสาสมัครไปติดไฟ สุดท้ายอุบัติเหตุลดลงมาก 

:: บทบาทรัฐในด้านเศรษฐกิจเทคโนโลยีและการกำกับดูแลโลกในเว็บ 3.0 :: 

ระบบตลาดของเรายังทำงานได้ไม่ดีที่สุด บางครั้งรัฐแทรกแซงตลาดผิดบทบาท ในจังหวะที่ควรแทรกแซงก็ไม่ทำ แต่จังหวะที่ไม่ควรทำ กลับทำ คำถามคือโลกเดินไปข้างหน้าแล้ว บทบาทของภาครัฐอยู่ตรงไหน ถ้ากลับมาดูตลาดของเรายังค่อนข้างเป็นธุรกิจโลกเก่า ถึงแม้หลายๆ ธุรกิจจะพยายามแปรรูปตัวเองแล้ว แต่ยังมีกลิ่นอายดั้งเดิมอยู่ แต่ยังไม่ใช่ทางที่ดี ซึ่งถ้าดูการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธุรกิจไม่ได้เติบโตจากตลาดเก่าและการอัดฉีดเงิน 

การโตของประเทศและสังคมเกิดจากคนสร้างอะไรได้มากกว่าเมื่อวาน ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น มีตลาดส่งออกที่ดีขึ้น ที่น่าสนใจคือการใช้เทคโนโลยีผลักกลับออกมาเป็นเงิน ถ้าไปดูอย่างสหรัฐฯ บริษัทใหญ่ๆ ของเขาเป็นเทคโนโลยีหมดแล้ว ซึ่งถือว่าดี เพราะไม่ได้ใช้ทรัพยากรเยอะ แต่ได้กลับมาเยอะมาก

ในกรณีเรื่องเว็บ 3.0 หรือในโลกเมตาเวิร์ส ผมคิดว่าการกำกับดูแลโดยรัฐยังทำไม่ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องไม่ดี แต่เราต้องกลับมาคิดว่าแก่นหรือหลักการของการกำกับดูแลคืออะไร เพราะในโลกเว็บ 3.0 คนรู้แล้วว่าจะต้องมีการปั่นหุ้น จะมีขยะกว่า 90% ทุกๆ คนรู้ว่าตัวเองต้องรับผิดชอบเพื่อรู้ให้ได้ว่าอันไหนคือการปั่น การหลอก ดังนั้น คนอาจจะไม่ได้อยากได้การกำกับดูแลในลักษณะเดิม

เว็บ 3.0 อยู่ในโลกคริปโตฯ ซึ่งเป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพที่สุดและเป็นตลาดการแข่งขันเกือบสมบูรณ์ ใครสร้างอะไรควรได้รับผลตอบแทนนั้น แต่ขณะเดียวกันก็ค่อนข้างเคี่ยว ถ้าผลิตอะไรไม่มีคุณค่า ไม่มีใครสนใจก็จะโดนฆ่า เพราะไม่มีขอบเขตในการปกป้องผู้ค้าในนั้น

การเข้าสู่โลกคริปโตฯ คุณต้องมีสกุลเงินเพื่อไปสร้างประโยชน์ สร้างธุรกิจ จะเป็นผู้ผลิตหรือเป็นผู้บริโภคก็ได้ เป็นประตูสำคัญมาก นี่ไม่ใช่แค่โลกธุรกิจหรือการเก็งกำไรอย่างเดียว ในมุมของผมนี่เป็นโอกาส 3 อย่าง คือ การบริโภคสินค้า การกระจายอำนาจ และการตัดสินใจร่วมกัน ทั้งหมดคือคาแรกเตอร์ของโลกคริปโตฯ  

แม้วันนี้โลกนี้จะดูเหมือนอยู่ในป่า เป็นเศรษฐกิจแบบชาวเกาะ มีคนหลอกลวง ขยะเยอะ แต่ก็มีการแข่งขันเร็วมาก มี IPO เป็นรายชั่วโมง แล้ววันหนึ่งเกาะจะขยาย ธุรกิจในโลกเว็บ 3.0 ไม่หลับ คนตื่นตลอดเวลา ทำกันตลอดเวลา ไม่มีทางที่จะไม่โต

แต่สุดท้ายต้องมีการสมดุลระหว่างการกระจายอำนาจและกระจุกอำนาจ เพราะการกำกับดูแลไม่ใช่แค่ควบคุม แต่ต้องพัฒนาดูแลด้วย อย่างโลกเว็บ 3.0 หลายสังคมต้องเลือกตั้งทีมขึ้นมาทำงาน ดูแลคลังที่มีเงินจำนวนเยอะมาก 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save