fbpx

มองอนาคตโลก อ่านอนาคตไทย เราอยู่ตรงไหนในโลกแห่งเทคโนโลยี: คุยกับ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ภาพจาก ThaiPublica

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลังมานี้ เราได้ยินคำศัพท์เกี่ยวกับเทคโนโลยีผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเชนหรือ AI ที่ได้รับการพูดถึงกันมาสักพักใหญ่ๆ หรือจะเป็นเมตาเวิร์สไปจนถึงคริปโตเคอร์เรนซีที่กลายเป็นกระแสโด่งดังอยู่ในช่วงนี้ (และทำให้ใครหลายคนกลายเป็นเศรษฐีได้ในพริบตา)

ในภาพรวม เราเริ่มเห็นกิจการหลายๆ อย่างย้ายจากโลกจริงไปสู่ ‘โลกเสมือนจริง’ มากขึ้น เห็นเทคโนโลยีที่เข้ามาแทรกแซงและมีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ชนิดที่ภาพในนิยายหรือหนังไซไฟที่หลายคนเคยวาดภาพไว้อาจไม่ใช่แค่ภาพจินตนาการอีกต่อไป และถ้าพูดให้ถึงที่สุด โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ความเป็นอนาคตทำให้พวกเราทุกคนต้องโอบรับและปรับตัวกับเทคโนโลยีมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เมื่อเส้นแบ่งของโลกเสมือนกับโลกจริงเริ่มเบาบางลง และเมื่อโลกทั้งใบเริ่มเดินไปข้างหน้าโดยมีกระแสธารของเทคโนโลยีหมุนเวียนอยู่รายรอบ ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในโลกแห่งอนาคต เราพร้อมรับมือกับโลกใบใหม่นี้แค่ไหน ทั้งในระดับภาครัฐและมิติการกำกับดูแลด้านเทคโนโลยี ไปจนถึงประชาชนทั่วไปที่ย่อมเจอผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

101 ชวนหาคำตอบผ่านบทสนทนากับ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ไล่เรียงตั้งแต่ภาพเทรนด์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลก ก่อนจะวกกลับมาดูเรื่องเทคโนโลยีในประเทศไทย ทั้งเรื่องภาครัฐและการกำกับดูแล เทคโนโลยีกับธุรกิจและชีวิตคน ไปจนถึงปัญหาคลาสสิกอย่างเทคโนโลยีกับความเหลื่อมล้ำ

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนและเรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.250 อ่านอนาคตโลก เขียนอนาคตไทย กับ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564

YouTube video

ถ้ามองภาพใหญ่ของเทรนด์โลกตอนนี้ เราเห็นประเด็นเทคโนโลยีอะไรที่น่าสนใจหรือน่าจับตามองบ้าง

ตอนนี้เทคโนโลยีเป็นโจทย์ใหญ่มาก ซึ่งผมจะมองเทคโนโลยีจาก 3 มิติ คือมิติของปัจเจก มิติของเอกชน และสุดท้ายคือมิติของภาครัฐหรือสังคมโดยรวม

ถ้าให้มองเทคโนโลยีที่น่าสนใจในปีนี้หรือในระยะสั้นไปจนถึงระยะกลางๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องเอไอและบิ๊กดาต้า ส่วนอีกด้านคือบล็อกเชน คริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) เมตาเวิร์ส (metaverse) หรือ web 3.0 แต่จริงๆ ทั้งสองซีกนี้ก็เข้ามาปะปนกันอยู่แล้ว

อยากชวนคุณลองคลี่แต่ละเรื่องออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกับคนที่อาจจะไม่ได้คุ้นเคยกับเรื่องเทคโนโลยีมากนัก เทคโนโลยีเหล่านี้คืออะไร และจะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเราได้อย่างไรบ้าง

ผมขอเริ่มจากเอไอกับบิ๊กดาต้าก่อน ซึ่งคิดว่าทุกคนน่าจะพอรู้จักกันอยู่แล้ว และจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่เริ่มเก่าแล้วด้วย เพราะตอนนี้ทุกคนหันไปพูดเรื่องเมตาเวิร์ส คริปโตเคอร์เรนซี หรือเหรียญเกมในโลกเสมือนจริงแทน แต่ที่น่าสนใจคือ ผมคิดว่าตอนนี้ เอไอหรือเทคโนโลยีที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data-driven technology) ทั้งหลายกำลังถูกนำไปใช้ในธุรกิจหรือปฏิบัติการขององค์กรต่างๆ แบบเต็มที่กว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และไม่ใช่แค่ใช้แบบทำสไลด์สวยๆ ส่งผู้บริหารนะครับ แต่ใช้ในการประกอบธุรกิจที่เป็นแก่นหลักเลย เช่น บริษัทขนส่งใช้เอไอช่วยปรับแต่ง (optimised) ว่าจะส่งของอย่างไรให้ประหยัดทั้งน้ำมัน คน และเวลาที่สุด

จะเห็นว่าสิ่งสำคัญคือเทคโนโลยีพวกนี้เข้ามากระทบหัวใจของธุรกิจ ไม่ใช่แค่ลดต้นทุนหรือหาวิธียิงโฆษณาให้ดี ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน แต่ตอนนี้มันเข้ามากระทบแก่นหลักของธุรกิจที่จะต้องใช้เทคโนโลยีในการแสวงหาประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และผมคิดว่าในอีกปีหรือสองปีข้างหน้าเราจะเห็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และจะชัดเจนมากขึ้นว่าบริษัทไหนทำได้แค่คุย บริษัทไหนสร้างผลลัพธ์ได้จริงๆ

เราจะเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างกันชัดเจนระหว่างบริษัทที่นำเอไอมาใช้ กับบริษัทที่ไม่ได้นำเอไอมาใช้เมื่อไหร่

มันมีสองแบบนะครับ คือเห็นความแตกต่างเพราะ ‘ใช้’ เอไอ กับเห็นความแตกต่างเพราะเป็นบริษัทที่ ‘คิดจะใช้’ เอไอ

ถ้าเราบอกว่าจะเห็นผลลัพธ์จากเอไอทันที ผมคิดว่าอาจจะฟังดูรีบร้อนเกินไปหน่อยและไม่ได้ง่ายขนาดนั้น คือถ้าเป็นบริษัทเทคโนโลยีอาจจะเห็นผลภายในอาทิตย์หน้าหรือเดือนหน้าหลังทำเสร็จ แต่ถ้าเป็นธุรกิจทั่วไป ธุรกิจค้าขาย หรือธุรกิจแบบดั้งเดิม จะใช้เวลาและไม่ควรเร่งเกินไป แต่สิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับผมคือ บริษัทไหนจะใช้ประโยชน์จากเอไอได้มากขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ ทั้งความใส่ใจของคนทุกระดับในองค์กร ว่าเราต้องนำเทคโนโลยีข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจให้ดีขึ้น คือไม่ใช่แค่ได้ใช้ แต่ต้องยอมรับในจุดอ่อนของการปฏิบัติงานแบบเดิมด้วย

ถ้ายกตัวอย่างให้ชัดเจนขึ้น ลองมองเรื่องการขนส่งดูครับ ถ้าเราคิดว่าเราทำได้ดีแล้ว คนส่งของเราเก่งอยู่แล้ว ผมว่ามันมักจะล้มเหลวในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ดีที่สุดนะ เพราะจริงอยู่ที่มนุษย์เก่ง กลุ่มพนักงานรุ่นเก่าๆ โดยเฉพาะที่ทำงานมา 30-40 ปีนี่เก่งมากชนิดที่เอไอก็อาจจะยังสู้ไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่หลายๆ ที่เจอปัญหาคือ พอพนักงานเหล่านี้เกษียณไปแล้ว หรือระบบการทำงานถูกท้าทายโดยอุปสงค์มากๆ เข้า เช่น พวกระบบ e-commerce ต้นทุนการขนส่งก็กระฉูดแล้ว เรื่องพวกนี้ก็จะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้น นี่เป็นแค่ตัวอย่างเดียวนะครับ และยังมีอีกหลายธุรกิจที่ทำแบบเดิมไม่ได้ ซึ่งจะรอดไม่รอดก็ขึ้นกับวัฒนธรรมองค์กรและทิศทางจากผู้บริหารด้วย

ถ้าขยับลงมาที่มิติปัจเจกบุคคลบ้าง อยากชวนคุณลองฉายภาพว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีผลกับชีวิตของคนธรรมดาอย่างไรบ้าง

มีผลแน่นอนครับ และกระทบแทบจะทุกมิติของชีวิตมนุษย์เลย เพียงแต่มนุษย์เราเล่นบทบาทไม่เหมือนกัน ทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้กระทบเราไม่เหมือนกันด้วย แต่ถ้ามองกว้างๆ สิ่งที่กระทบมนุษย์มากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการเงิน การค้า การเมืองการปกครอง และการเรียกร้องสิทธิกับนโยบายที่ดีจากภาครัฐ และแน่นอนคือเรื่องความรักกับความตาย

ลองดูเรื่องการค้า ผมคิดว่าข้อดีอย่างหนึ่งคือเราควรได้รับสินค้าและบริการที่เราอยากได้แบบไม่ต้องนึกถึง ลองคิดถึงโลกที่วันหนึ่งการซื้อของจะหายไป อาจจะไปถึงขั้นว่าเราไม่ได้คิดว่าเราอยากได้อะไร ไม่มีความอยากเลย แต่อยู่ดีๆ ของก็มาที่บ้านเฉยเลยโดยที่เราไม่รู้ตัว

ลองดูโมเดลของแอมะซอนที่โตมากๆ ในสหรัฐฯ จะเห็นว่าข้อได้เปรียบทางธุรกิจของเขาคือการให้ข้อเสนอชนิดที่ลูกค้าคนนั้นต้องโง่จริงๆ ถึงจะกล้าปฏิเสธ หรือธุรกิจบางเจ้าไม่ว่าจะสั่งของเวลาไหนก็มาส่งได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงพร้อมให้ของแถมเต็มไปหมด แบบนั้นก็มี ซึ่งการจะทำแบบนี้ต้องเกิดจากการประมวลผลข้อมูลเยอะมากว่าลูกค้าคนนี้น่าจะต้องการของประมาณนี้ ดูจากประวัติการซื้อของทั้งหมดที่ผ่านมา และอาจจะยิงโฆษณาที่ลูกค้าคนนั้นยังไม่มีมาให้

แล้วถ้าเป็นความรักกับความตาย?

ผมเขียนหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง เป็นเรื่องของเมืองที่ทุกคนรู้ว่าตัวเองจะตายเมื่อไหร่ ถามว่าจะรู้ได้อย่างไร จริงๆ ต้องบอกก่อนว่าเราสามารถทำนายหลายอย่างในชีวิตได้ค่อนข้างดีนะครับ ถึงอาจจะไม่ได้แม่น 100% ก็ตาม โดยอาศัยปัจจัยพวกพฤติกรรม การทานอาหาร หรือยีน เดี๋ยวนี้มีบางบริษัทยาที่มีข้อมูลจีโนมของเรา แม้กระทั่งข้อมูลการทานอาหารหรือไลฟ์สไตล์ที่วัดจากนาฬิกาหรืออุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ แต่เป้าหมายอาจไม่ใช่เพื่อรู้วันตาย แต่เป็นการยืดเวลาการใช้ชีวิตออกไปให้ได้นานที่สุด ผมคิดว่าถ้าเรารู้อายุขัยของตัวเอง รู้ว่าเราจะน่าจะอยู่ได้ถึงเมื่อไหร่ โอกาสรอดจะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่างของเราไปเลย และจะเปลี่ยนการวางแผนพฤติกรรมของเราและปฏิสัมพันธ์ที่เรามีต่อคนอื่นด้วย

เหมือนถ้าใครเคยอ่านหนังสือ Chasing Daylight: How My Forthcoming Death Transformed by Life (ไล่ล่าแสงตะวัน แปลโดย โตมร ศุขปรีชา) จะเห็นว่า พอเรารู้ว่าตัวเองจะอยู่ได้แค่อีก 5-6 เดือน ชีวิตก็จะเปลี่ยนไปเลย ลาออกจากการทำงานหนัก วางแผนกิจกรรมใหม่ นั่นคือเรื่องหนึ่ง

อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความตายคือเรื่องชีวิตหลังความตายว่าจะเป็นอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง เริ่มมีการพูดถึงชีวิตดิจิทัลหลังความตายบ้างแล้ว คือทุกวันนี้เราสร้าง (generate) ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราเยอะมาก ทั้งภาพ เสียง แชท ทุกอย่างเลย และถ้าข้อมูลพวกนี้เยอะพอก็จะสามารถถูกก็อปปี้ออกมาเป็นตัวตนของเราได้ สมมติลูกหลานอยากมีปฏิสัมพันธ์กับเราก็อาจจะทำได้ผ่านโฮโลแกรมหรือวิดีโอของเรา

ส่วนในแง่ความรัก จริงๆ ความรักมีหลายนิยาม ถ้าเป็นความรักในแง่การหาคู่ การมีคู่ครอง หรือการแต่งงานและมีความสุขกับคนคนหนึ่ง ตรงนี้เทคโนโลยีจะกระทบเยอะมาก เราคงเคยเห็นแอปพลิเคชันหาคู่ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดนะครับ โดยเฉพาะกับเด็ก เจน Z ลงไปนี่อาจจะเป็นเรื่องปกติเลยด้วยซ้ำ และผมคิดว่ามันมีประสิทธิภาพในตลาดหาคู่ คือแก้ปัญหาการจับคู่แบบผิดๆ (mismatch) ของอุปสงค์-อุปทานได้ดีมากๆ

แต่ทั้งหมดนี้ก็สะท้อนให้เห็นนัยของการค้าอยู่ด้วย เพราะการค้าคือการสนองความต้องการในการบริโภคบางอย่าง ซึ่งหลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับผมนะ แต่ถ้าเรามองความรักในแง่ว่าเราต้องการคนแบบนี้ รายได้เท่านี้ ผมว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด แอปพลิเคชันหาคู่อาจช่วยให้เราเจอคนคนหนึ่งในตลาดแบบรวดเร็ว และโอเค มันทำให้เราไม่เสียเวลาด้วย แต่ทั้งหมดนี้อาจทำให้เราเผลอลืมไปว่าเราหาคู่ทำไม เพราะเพื่อนเราแต่งงานกันหมดแล้วหรือเราต้องรีบหาอะไรบางอย่างหรือเปล่า

สำหรับผม ความรักที่แท้จริงไม่ควรทำนายได้ ไม่ควรมีเหตุผลด้วยซ้ำ เพราะถ้าเราคิดแบบที่ว่ามาข้างต้น สมมติแฟนเราทำอะไรที่เราไม่ชอบมากๆ ขึ้นมา อัลกอริธึมควรจะเขี่ยออกเขาออกทันทีและให้เราไปหาคู่ใหม่ ผมว่ามันอันตรายนะ และโลกที่เราคุ้นชินกับเทคโนโลยีมากๆ อาจทำให้เราสูญเสียทักษะในการบริหารความสัมพันธ์กับคนรอบตัวไป ทั้งพ่อแม่ ญาติ เพื่อน ซึ่งนี่ก็คือความรักแบบหนึ่งเหมือนกัน และผมคิดว่าเรื่องพวกนี้จะเกิดขึ้นแบบที่เราไม่รู้ตัวเลยด้วย

ถ้ามองไปในภาพใหญ่กว่าระดับปัจเจกบุคคล คุณคิดว่าเทคโนโลยีส่งผลอย่างไรกับภาครัฐ หรือถ้าพูดไปถึงเรื่องการกำกับดูแลด้านเทคโนโลยี คุณคิดว่าภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรในเรื่องนี้

การกำกับดูแลเป็นเรื่องที่สำคัญมากกับทุกคนในสังคม และผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าการพัฒนาสังคมไม่จำเป็นต้องมาจากภาครัฐ 100% บางทีอาจจะดีกว่าถ้าการพัฒนานั้นมาจากภาคเอกชนหรือภาคประชาชน ทั้งนี้ ผมคิดว่าเราสามารถประเมินการพัฒนาสังคมได้ในหลายมิติ ด้านแรก คือ ประสิทธิผลของนโยบาย ลองดูง่ายๆ ว่าประเทศเราดีขึ้นกว่าเมื่อวานไหม ถ้าคำตอบคือไม่ แปลว่ากระบวนการคิดหรือกระบวนการทำมันผิด ส่วน ด้านที่สอง คือเรื่องประสิทธิภาพ พูดง่ายๆ คือเราใช้เงิน เวลา และทรัพยากรคุ้มค่าไหม สามารถออกกฎหมายหรือนโยบายมาได้รวดเร็วทันกับเทคโนโลยีไหม และ ด้านสุดท้าย คือด้านความเป็นธรรมและเสมอภาค

ทั้งหมดนี้ ผมว่าเมืองไทยล้มเหลวแทบจะทุกด้าน หรือเอาเข้าจริง หลายประเทศก็ไม่ได้ดีนัก แต่ในฐานะพลเมืองไทย ผมรู้สึกว่าเรามีปัญหาเยอะมาก และหลายปัญหาถูกดองมาเป็นสิบปีโดยไม่มีการแก้ไข ยิ่งเจอวิกฤตหรือสถานการณ์ที่ท้าทายมากๆ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่ากระบวนการแบบเดิมแก้ปัญหาใหม่ไม่ได้

ถ้าคุณมองว่าประเทศไทยมีปัญหาแบบที่ว่ามา อยากชวนคุณคุยต่อว่าแล้วเราจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร หรือเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรได้บ้าง

ผมคิดว่าแทนที่จะมานั่งไล่แก้ทีละปัญหา เราต้องแก้ตรงแก่นของมันเลย กระบวนการคิดและวางแผนนโยบายของเราไม่ค่อยอิงกับหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ หรืออาจจะเป็นเพราะเวลาเราคิดถึงเรื่องการพัฒนาสังคม การเมืองการปกครอง หรือรัฐศาสตร์ มันฟังดูไปทางศิลป์ ซึ่งก็ไม่ผิดนะ แต่การวัดผลเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์มากกว่า

อีกอย่างหนึ่งคือ เวลาเราเลือกผู้นำอะไรสักอย่าง เรามักจะเลือกคนที่มีอายุเพราะคิดว่าเขาอยู่มานานกว่า หรือเลือกคนที่เรามองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ผมคิดว่าบางครั้ง มันอาจจะดี เป็นธรรม หรือเหมาะสมกว่าในแง่บรรทัดฐานทางสังคมที่เราจะเปิดช่องการออกนโยบายให้เป็นแบบห้องเปิดแทนที่จะเป็นห้องปิด เพราะเวลาเราออกนโยบายโดยคนที่จบสูงๆ บางทีคนทั่วไปไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงกับคนเหล่านั้น หรือรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีสิทธิมีเสียงอะไร หรือถ้าแย่ไปกว่านั้นคือพวกเขาได้รับผลกระทบทางลบบางอย่างด้วยซ้ำ

ทั้งหมดนี้จะกลับมาสู่เรื่องเทคโนโลยี เพราะถ้าเราไม่มีเทคโนโลยีด้านข้อมูลจะทำทั้งหมดนี้ไม่ได้ อย่างในกรณีเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผล คุณต้องเอาข้อมูลมาทำการทดลอง หาหลักฐานเชิงสถิติว่าถ้าทำนโยบายนี้ไปแล้วได้ผลเท่าไหร่ ดีกว่าตัวเลือกอื่นอย่างไร คุ้มค่าแค่ไหน อัตราผลตอบแทนเป็นอย่างไร และเราต้องทำอะไรที่มากไปกว่าประชาพิจารณ์ (public hearing) ซึ่งบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามี มันควรเป็นอะไรที่เข้าถึงง่ายกว่านั้น

หลายคนอาจจะมองว่านโยบายเป็นเรื่องที่ห่างไกลชาวบ้านธรรมดา ซึ่งก็อาจจะจริง แต่ก็มองได้ด้วยว่าเพราะคุณไม่เคยลงแรงไปบอกเขา คิดว่าอย่างไรเขาก็ไม่มีบทบาทหรือไม่ฟัง ทั้งที่เขาอาจจะมีไอเดียดีๆ ก็ได้ในบางเรื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีทางทำได้ดีถ้าออกมาจากส่วนกลาง

รัฐไทยถูกวิจารณ์มานานเรื่องการเก็บข้อมูลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนการตัดสินใจก็เป็นแบบ top-down ไม่ได้ฟังเสียงประชาชนมากพอ คุณมองประเด็นข้อมูลกับการกำหนดนโยบายของรัฐไทยอย่างไร

ผมขอตอบด้วยตัวอย่างที่จับต้องได้เลยแล้วกันครับ คือเรื่องอุบัติเหตุทางถนน เพราะทุกวันนี้ก็ยังเสียชีวิตกันวันละหลายสิบคนอยู่ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเคสที่ผิดทุกกระบวนท่าในเชิงการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ที่น่าเสียดายคือรถชนเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ มันมีสาเหตุคือการที่ของสองสิ่งปะทะกันจนบางครั้งมีคนเสียชีวิต เรื่องนี้ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตา

ผมคิดว่าปัญหาคือ ข้อมูลทุกอย่างถูกเก็บแยกกัน ลองมองไปที่ถนนสักเส้นซึ่งเป็นภารกิจของหน่วยงานหนึ่ง แต่พอเขยิบไปแค่นิดเดียวก็กลายเป็นภารกิจของอีกหน่วยงานแล้ว พอจะรวมข้อมูลทีก็ใช้ต้นทุนสูงมาก ต้องจัดประชุมและต้องติดต่อให้ครบทุกหน่วยงานอีก หรือต่อให้ได้ข้อมูลมาก็ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist) คนไหนมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะไม่รู้ว่าข้อมูลมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน หรือถ้าเอามารวมกันก็ไม่รู้ว่าจะรวมกันได้จริงไหม เพราะเราไม่เคยคิดถึงวันที่ข้อมูลจะถูกรวมบนตารางเดียวกันเลย

แต่ตอนนี้ปัญหาที่ว่าเริ่มดีขึ้นแล้ว เพราะสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) มาช่วยรวมข้อมูลเหล่านี้ เราจึงเห็นเลยว่าการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตเกิดขึ้นที่เดิมซ้ำๆ มีแพตเทิร์นชัดเจน เท่ากับว่านี่เป็นเรื่องซ้ำซากและไม่เคยถูกแก้เลย ซึ่งน่าตกใจมากนะครับ เพราะพอเราเอาข้อมูลมาดูจะเห็นอะไรหลายอย่างเลย เช่น ที่กลับรถบางจุดในต่างจังหวัดไม่มีไฟส่องสว่าง พอรถบรรทุกกลับรถอยู่ มอเตอร์ไซค์มองไม่เห็นก็ขับเข้ามาชน แต่พอเราห้ามกลับรถตรงที่มืดและให้ไปกลับรถตรงที่ที่มีไฟสว่างแทน ก็แก้ปัญหาได้ แต่ผมรู้สึกว่าเราไม่ควรแก้แบบนั้น แต่ควรทำให้ดีกว่านั้น

อีกประเด็นคือเรื่องอคติที่เราดึงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างในเมืองไทย เวลาเกิดอุบัติเหตุอะไรเราจะโทษคนขับก่อน ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะถ้ารถชนกันคนขับเกี่ยวแน่นอน แต่ผมเคยทดลองเอาข้อมูลอุบัติเหตุ สภาพแวดล้อมทุกอย่าง มาลองทำนายการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยไม่มีข้อมูลพฤติกรรมคนขับเข้ามาเกี่ยวเลย พบว่าก็ยังทำนายได้ค่อนข้างดี แสดงว่าเราอาจไม่ได้ต้องการปัจจัยเกี่ยวกับคนขนาดนั้น ถามว่ามีดีไหม ดีอยู่แล้ว แต่ถึงไม่มีก็ยังทำนายได้อยู่ แปลว่าด้วยศักยภาพเรายังทำให้ดีกว่านี้ได้ เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมคนไม่ง่ายเลย

ดูเหมือนภาครัฐไทยกับเรื่องข้อมูลจะเป็นประเด็นที่เจอความท้าทายอีกมาก และถ้าโลกเดินไปข้างหน้าแบบนี้ คุณมองว่าไทยอยู่ตรงไหนในโลกอนาคตนี้

ตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับประเด็นว่าเราอยากให้ภาครัฐมีส่วนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจมากแค่ไหน ซึ่งส่วนตัวผมไม่อยากให้ภาครัฐมาทำตรงนี้เยอะเกินไปนะ คือแน่นอนว่าภาครัฐมีโอกาสที่เหมาะสมในการแทรกแซงระบบตลาด แต่บางครั้งเราแทรกแซงผิด คือไปทำบางอย่างในเวลาที่ไม่ควรทำ และไม่ทำบางอย่างในเวลาที่ควรทำ

ทีนี้ ถ้าถามต่อว่าในโลกที่กำลังเดินไปข้างหน้า เราจะไปอย่างไรต่อ จริงๆ ต้องบอกว่าตอนนี้โลกยังมีธุรกิจแบบในโลกเก่าเยอะ แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้มาจากโลกแบบเก่าแน่นอน และไม่ได้มาจากการอัดฉีดด้วย เพราะการอัดฉีดไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้น การเติบโตของประเทศหรือการพัฒนาของสังคมจะมาจากการที่ว่าถึงเราจะมีกันแค่สองคน แต่เราสามารถสร้างอะไรที่มีคุณค่าได้มากกว่าเมื่อวาน ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อมีเทคโนโลยีที่มีคุณค่าในการผลิตหรือมีตลาดส่งออกที่ดีๆ เยอะขึ้น

เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าห่วงคือการรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้และผลักดันให้กลับเป็นเงินได้เร็วที่สุด ถ้าเราไปดูธุรกิจใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ จะเห็นว่าทั้งหมดแทบจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีหมดแล้ว ซึ่งไม่ได้ใช้ทรัพยากรเยอะแต่ได้ผลตอบแทนกลับมาเยอะมาก

ตอนนี้หลายคนพูดถึงเรื่องเทคโนโลยี web 3.0 ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทมากในสังคม อยากชวนคุณอธิบายว่า web 3.0 คืออะไร และจะเข้ามาสร้างภูมิทัศน์ใหม่ๆ ในชีวิตเราอย่างไรบ้าง

จริงๆ เรื่อง web 3.0 เป็นอะไรที่คุณไม่สามารถฟังผมแล้วเข้าใจได้ แต่คุณต้องลอง ต้องเจ็บ ต้องชนะ ต้องอยู่กับมันถึงจะเข้าใจได้เต็มร้อย แต่อธิบายแบบนี้ก่อนว่า web 2.0 เป็นการรวมศูนย์เทคโนโลยีและข้อมูลเข้ามาไว้ในแพลตฟอร์มเพื่อสร้างประโยชน์บางอย่าง มีการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) เกิดขึ้น และมีธุรกิจอย่างแอมะซอนหรืออาลีบาบาเกิดขึ้น ถามว่าได้ประโยชน์เยอะไหม เยอะครับ แต่ประโยชน์จะกระจุกตัวอยู่ตรงกลาง ซึ่งไม่แปลกเพราะเขาเป็นนักลงทุน เขาก็ควรได้รับผลประโยชน์ นั่นคือเรื่องของทุน

แต่ web 3.0 เป็นอะไรที่ต่างจากนั้น เพราะมันคือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่อยู่บนรากฐานของระบบบล็อกเชนที่กระจายศูนย์ โดยมีอุดมการณ์ที่ต้องการให้เกิดความเท่าเทียม (fair) ของการถ่ายโอนคุณค่าระหว่างผู้เล่นทางเศรษฐกิจ อารมณ์ประมาณว่า ถ้าผมผลิตของได้สิบบาท ผมก็สมควรได้รับสิบบาทนั้นโดยไม่มีใครชักกำไรไปแม้แต่คนเดียว คือเป็นตลาดทุนที่มีประสิทธิภาพที่สุด ใครสร้างอะไรก็ควรได้รับการตอบแทน แต่ขณะเดียวกัน ถ้าผมผลิตอะไรที่ไม่มีคุณค่าจริงๆ ก็จะไม่มีใครสนใจเลย เราจะโดนฆ่าเพราะตลาดนี้ไม่มีขอบเขตในการปกป้องทุกคน แต่ต้องแข่งกับทุกคน เป็นตลาดแข่งขันเกือบสมบูรณ์

ถามว่า web 3.0 อยู่ตรงไหน มันอยู่ในโลกคริปโตเคอร์เรนซี เป็นเหมือนประตูสำหรับคนทั่วไปเพื่อเข้าสู่โลก web 3.0 และเป็นโอกาสที่สำคัญมากด้วย ซึ่งผมแบ่งโอกาสที่ว่าออกเป็น 3 มิติ คือการบริโภคสินค้า การกระจายอำนาจและการถอนรากถอนโคนอำนาจเก่า และสุดท้ายคือการตัดสินใจร่วมกัน ทั้งหมดนี้เป็นคาแร็กเตอร์ของโลกใบนี้ ซึ่งถ้ามองจากข้างนอกเราจะไม่เห็นเลย แต่จะเห็นแต่กราฟสีแดงบ้างสีเขียวบ้าง เห็นคนบอกว่าได้บิตคอยน์ (bitcoin) บ้าง แต่จริงๆ มันมีอะไรมากกว่านั้น ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่เงิน แต่เป็นทั้งหุ้น เงิน และระบบเศรษฐกิจ เป็นเหมือนระบบนิเวศของอีกประเทศที่มีทุกอย่างอยู่บนนั้น

ถ้านี่เป็นเหมือนโลกอีกใบหนึ่ง คุณมองเห็นประเด็นน่าสนใจอะไรในโลกใหม่ใบนี้บ้าง

ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับคนไทยเลย แต่ในแง่อีก มันก็มีความไม่เที่ยงธรรมอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะกับผู้สร้างสรรค์ เช่น กลุ่มดีไซเนอร์ นักเขียนเพลง ศิลปิน พวกเขามักไม่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (economic benefit) เท่ากับผลผลิตส่วนเพิ่ม (marginal product) ที่ตนเองผลิตให้สังคมเพราะถูกแพลตฟอร์มเก็บไปหมด ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยี พ่อค้าคนกลาง หรือคนที่มีอำนาจสูงในตลาด

อีกเรื่องคือประเด็นเกี่ยวกับการตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งผมมองว่าเป็นความท้าทายในการบริหารชาติและองค์กรอย่างมาก ปกติเราเคยเลือกคนมาตัดสินใจแทนเราในสังคม และจริงๆ มนุษย์ไม่ได้เก่งในเรื่องการตัดสินใจร่วมกัน ทั้งๆ ที่การตัดสินใจร่วมกันคือสิ่งที่ทำให้โฮโมเซเปียนส์รอดมาจนถึงทุกวันนี้นะครับ

ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของมนุษย์ สิ่งที่ทำให้เราเหนือกว่าสัตว์ทั่วไปคือการตัดสินใจแบบรวมหมู่ ซึ่งมันค่อนข้างหายไปในช่วงหลังๆ ที่อำนาจกระจุกตัวมากขึ้น ทั้งอำนาจในทางสังคมและอำนาจในทางเทคโนโลยี มีอัลกอริธึมบางตัวที่มาตัดสินใจแทนเราทุกอย่าง ตรงนี้เองที่ web 3.0 เสนอทางออกหนึ่งให้เรา ซึ่งก็จะนำไปสู่ประเด็นเรื่องการกำกับดูแลด้วย

แล้วรัฐจะเข้าไปกำกับดูแลโลกใบใหม่นี้ได้อย่างไร

ผมคิดว่าตอนนี้มันกำกับดูแลไม่ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องไม่ดี จริงๆ ผมว่ามันต้องคิดเยอะมากว่าแก่นของการกำกับดูแลควรเป็นอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ไม่จำเป็น เราต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรือช่วยทุกคนที่เจ็บตัวจากการลงทุน หรือว่าอย่างไรดี

ดังนั้น อันดับแรกของการกำกับดูแลควรจะเป็นการพิจารณาว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้ควรจะมีหลักการ (principle) แบบไหน อย่างถ้าคุณไปดูใน web 3.0 จะเห็นว่าไม่มีใครบ่นเรื่องปั่นหุ้นเลยนะครับ ทุกคนปั่นกระแสกันหมด มันเป็นแนวปฏิบัติปกติในนั้น อาจจะเป็นเพราะไม่มีองค์กรกำกับดูแลก็ได้ ผมเลยคิดว่าเราต้องการ ‘การกำกับดูแล’ แต่อาจจะไม่ได้ต้องการ ‘ผู้กำกับดูแล’ หรืออาจจะมีการ privatised ผู้กำกับดูแลไปเลยก็ได้ เพราะเราอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจของคน หรือการเป็นชุมชนแบบรวมหมู่ (collective community) กัน

ผมว่ามันน่าทึ่งนะ ในโลกที่ทุกคนเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน แต่กลับสามารถกำกับกันเองโดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจและความเข้าใจกันได้โดยไม่ต้องมีภาครัฐเข้ามากำกับดูแล ถามว่าตอนนี้มันเพอร์เฟ็กต์ไหม ก็ยังครับ ยังเร็วไปเยอะมาก แต่นี่ก็เป็นอะไรที่น่าจับตามองต่อไปเหมือนกัน และต้องเข้าไปลองสัมผัสเอง

ในโลกที่เอไอจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็มีข่าวว่าเอไอเหยียดเชื้อชาติหรือเลือกปฏิบัติอีก คุณมองเรื่องนี้อย่างไร และเราต้องรับมืออย่างไรในการนำเอไอเข้ามาใช้

ประเด็นนี้ยากมากครับ ผมมองว่าเราต้องการมนุษย์จริงๆ ในตอนต้นและตอนท้ายของกระบวนการ ตอนต้นคือการกำหนดเป้าหมายอัลกอริธึมในเอไอ เราอาจจะต้องการนักวิชาการด้านสถิติที่มาตัดสินใจว่าระบบแฟร์แค่ไหน และมนุษย์คนนั้นก็ต้องดีด้วยนะ แต่ในตอนท้าย ผมมองว่าอาจจะต้องเป็นนักวิชาการด้านสังคมที่เข้ามาช่วยตัดสินใจว่าเอไอตัวนี้ทำได้ดีแค่ไหน เพราะถ้าเป้าหมายทื่อๆ ไม่มีคนคอยดูแล เราอาจจะเจอกรณีเหยียดผิวหรือพุ่งเป้าไปที่คนจนมากกว่าคนรวย

เอไอไม่รู้หรอกครับว่าอะไรแฟร์หรือไม่แฟร์ มันรู้แค่ว่าเป้าหมายของมันบรรลุไหม และการที่เอไอจะรู้อะไรเท่าไรก็ขึ้นกับว่าเราสอนมันอย่างไร ใครทำเรื่องอัลกอริธึมจะรู้ว่าถ้าเปลี่ยนอะไรนิดเดียวโลกก็เปลี่ยนตามได้เลย เพราะฉะนั้นเอไอควรคำนึงถึงเรื่องคณะกรรมการด้านจริยธรรม (ethics committee) ด้วย โดยเฉพาะในเรื่องคอขาดบาดตาย เช่น ความยุติธรรม

ทั้งหมดนี้ ผมว่าเราต้องเปรียบเทียบการใช้กับไม่ใช้เทคโนโลยี ดูว่าใช้แล้วดีกว่าไหม อย่างเรื่องความยุติธรรม เราเจอว่าผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์ก็ไม่ได้ไร้อคติหรือตัดสินใจได้มีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่เก่งนะครับ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนเก่งมากๆ อยู่แล้ว แต่ถ้างานเยอะมากๆ และมีเวลาตัดสินใจน้อยก็ทำให้การตัดสินใจบางอย่างอาจผิดพลาดได้ เช่น สั่งขังคนที่ไม่จำเป็นต้องขัง มีกรณีแบบนี้เยอะมาก ผมจึงคิดว่าจุดเริ่มต้นคือการประเมินว่าตอนนี้เราทำได้ดีหรือยัง พอใช้แล้วผลลัพธ์ดีขึ้นบ้างไหม ลดงานลงได้บ้างหรือเปล่า

ถ้าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากๆ เข้า คุณคิดว่าจะส่งผลกับความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างไรบ้าง

ความเหลื่อมล้ำเป็นจุดที่ผมไม่ได้มองโลกในแง่ดีเท่าจุดอื่น ผมมองว่ามันจะยังอยู่ต่อไป ทั้งในโลกจริงและในระบบที่โหดมากๆ อย่าง web 3.0 ซึ่งจะมีทั้งคนที่เก่งจริงและมีทักษะดี แต่ถูกอำนาจบางอย่างในโลกจริงกดไว้ พวกเขาก็จะไปเกิดใหม่ใน web 3.0 แต่ถ้ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นใน web 3.0 ถามว่าจะมีใครไปแก้ปัญหาบนนั้นได้ไหม ซึ่งด้วยอัตราเร่งของการผลิตนวัตกรรมที่เร็วขนาดนี้ ในไม่ช้าเราอาจจะเห็นภาครัฐที่ดีกว่าและไม่มีสัญชาติเกิดขึ้นบนนั้น และนั่นอาจจะเป็นกุญแจสำคัญในการกระจายรายได้อย่างที่ควรจะเป็นก็ได้

นอกจากนี้ เวลาใครบางคนได้ดีในโลกเทคโนโลยีอย่างเมตาเวิร์ส เราจะเห็นเรื่องดีๆ เกิดขึ้นบ้าง อย่างการที่คนได้เงินเยอะ ได้เงินไว จะนำเงินไปบริจาค นี่เรียกได้ว่าแทบจะเป็นบรรทัดฐานบนนั้นเลย หลายโครงการมักจะปันเงินไว้บริจาคเสมอ เช่น ช่วยเรื่องโลกร้อน ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าให้พูดรวมๆ ผมว่าความเหลื่อมล้ำไม่น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะตามหลักการแล้วทุนนิยมไม่ได้สร้างมาเพื่อเกลี่ย แต่สร้างมาเพื่อให้คนโดดเด่น

คำถามสุดท้าย คุณทำงานเกี่ยวกับการออกแบบนโยบายต่างๆ มีโอกาสไหมที่คุณจะเข้าไปทำงานด้านการเมืองเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดขึ้นได้จริงในเชิงโครงสร้าง

บนโลกจริงในไทยหรือบนเมตาเวิร์สครับ (หัวเราะ)

ถ้าเป็นในไทยคงไม่มีโอกาสครับ เพราะผมคิดว่าตัวเองสันทัดการทำงานเชิงระบบแบบนี้มากกว่า และคิดว่าตัวเองสามารถเสริมและเพิ่มคุณค่าให้สังคมเศรษฐกิจได้จากบทบาทนี้ด้วย จริงๆ ระบบการเมืองสำคัญนะครับ เพราะมันเป็นหัวใจสำคัญของการตัดสินใจร่วมกัน แต่ตัวผมไม่มีความรู้ด้านเท่าไร คิดว่าคงมีทางอื่นที่เราทำได้ค่อนข้างเยอะอยู่

แต่ถ้าเป็นบนเมตาเวิร์สก็ไม่แน่ครับ (หัวเราะ)


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save