fbpx

ความสมจริงของ (หนัง) นางนาก และความผิดปกติของสังคมไทยหลังพิษเศรษฐกิจ 2540

ไม่รู้ว่าต้องการแก้เบื่อหรือเป็นความสนใจใฝ่รู้อะไร มีวันหนึ่งนายทหารรักษาวังนายหนึ่งกับพี่น้องได้เอ่ยปากถามผู้คนที่เข้าออกประตูวังว่า พวกท่านรู้จักใครบ้างในชื่อเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นขรัวโต (วัดระฆัง), พระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่1 และอีนากพระโขนง ผลสรุปเมื่อราว 140 ปีที่แล้วชี้ว่าเป็นผีอีนากที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด[1] ความโด่งดังของผีแม่นาคพระโขนงทำให้เชื่อได้ว่าดวงวิญญาณนี้มิได้เป็นผีธรรมดาทั่วไป เช่นเดียวกับนายทหารเจ้าปัญหาคนนั้น เผื่อใครไม่รู้ เขาคือบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยในวัยหนุ่มนั่นเอง

คนเชื่อว่าแม่นาคพระโขนงเป็นดวงวิญญาณของผู้ที่เคยมีตัวตนอยู่จริงทางประวัติศาสตร์ ‘นาค’ หรือ ‘นาก’ คือชื่อตัว ส่วน ‘พระโขนง’ คือ สถานที่พำนักอาศัยของเธอ ดังนั้นชื่อนี้จึงสามารถอ้างอิงได้กับสภาพภูมิศาสตร์ที่มีอยู่จริง ทุกวันนี้ศาลแม่นาคพระโขนงที่วัดมหาบุศย์ก็ช่วยตอกย้ำความเชื่อว่าแม่นาคเคยมีตัวตนอยู่จริง ต่างกับผี-ดวงวิญญาณอื่นๆ ที่อาจมีชื่อแต่ไร้ถิ่น หรือมีแต่ถิ่นกลับไร้ชื่อ

เรื่องเล่าผีแม่นาคพระโขนงยังถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในปี 2442 เป็นอย่างช้า หัวข้อ ‘นางนากปีศาจนั้น เปนไฉน หนะพ่อ’ ปรากฏในหนังสือสยามประเภท ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ คำตอบนี้พยายามอธิบายว่าไม่ใช่เรื่องผี แต่เป็นการกระทำของมนุษย์เพื่อหลอกมนุษย์กันเอง[2] ถือเป็นเรื่องแม่นาคที่พลิกไปว่าเรื่องผีเป็นเรื่องเข้าใจผิด กระนั้นโครงเรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากคำถามของนายทหารราว 2 ทศวรรษมาแล้ว 

ผีแม่นาคพระโขนงตั้งอยู่บนความเชื่อและเรื่องเล่าที่ถูกแต่งแต้มสีสันออกไปอย่างกว้างขวางตามระยะเวลาของมัน ทั้งในฐานะการเล่าสู่กันฟังปากต่อปาก การถูกพิมพ์เป็นหนังสือ ถูกนำมาสร้างเป็นหนังละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ ละครเวที กระทั่งการ์ตูนเอนิเมชัน ในที่นี้จะอภิปรายถึงภาพยนตร์เรื่องนางนาก (2542) ว่าเกิดขึ้นและได้รับกระแสตอบรับจากสังคมไทยเป็นอย่างดี จนมีความเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนของวงการภาพยนตร์ไทยที่ทำให้แวดวงหนังกลับมาคึกคักอีกครั้งในรอบหลายปี

ภูมิ-ประวัติศาสตร์แม่นาคพระโขนง

ก่อนจะดูเนื้อหนัง อยากให้ผู้อ่านได้เห็นพื้นเพที่เกี่ยวข้องกับแม่นาคพระโขนงเสียก่อน หากเชื่อว่าแม่นาคพระโขนงมีนิวาสสถานไม่ไกลจากวัดมหาบุศย์ริมคลองพระโขนง เราอาจพอสืบค้นได้ว่าพัฒนาการของถิ่นฐานย่านนี้เป็นอย่างไร 

ย่านพระโขนงนั้นตั้งอยู่บนสองฝั่งคลองพระโขนงที่เป็นลำน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณคุ้งน้ำบางกระเจ้า-ท่าเรือคลองเตยในปัจจุบัน เหนือปากคลองพระโขนงขึ้นไปเป็นปากคลองเตย ในทางประวัติศาสตร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ระหว่างปากคลองพระโขนงและปากคลองเตยเป็นเมืองปากน้ำทำหน้าที่เก็บภาษีโบราณมาแต่สมัยอยุธยา มีชื่อว่า ‘เมืองพระประแดง’ (คนละที่กับ อ.พระประแดง สมุทรปราการในปัจจุบัน) คาดว่าศูนย์กลางของเมืองอยู่บริเวณวัดหน้าพระธาตุอันเป็นบริเวณที่ปัจจุบันกลายเป็นท่าเรือคลองเตยไปแล้ว เมืองพระประแดงอาจจะถูกลดความสำคัญทางยุทธศาสตร์ลงจากการถูกรื้อกำแพงอิฐเพื่อไปสร้างกำแพงเมืองธนบุรี[3]  

คลองพระโขนงเกิดจากลำน้ำน้อยใหญ่ทางตอนเหนือและตะวันออกไหลรวมกันมา มีลักษณะที่คดเคี้ยวราวกับคิ้วจึงถูกเรียกกันว่า ‘คลองพระขนง’[4] มาก่อน ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลภาษาเขมร เช่นเดียวกับพระประแดงที่คาดว่าแผลงมาจากคำว่า ‘กมรเตง’ ที่แปลว่าเจ้าหรือผู้เป็นเจ้า[5]  

แผนที่แสดงเมืองพระประแดงที่อยู่ระหว่างคลองเตย-คลองพระโขนง
ที่มาภาพ ศิลปวัฒนธรรม (โดยทนงศักดิ์ หาญวงษ์)
แผนที่สันนิษฐานคลองพระโขนง-คลองตัน-คลองแสนแสบ
ที่มาภาพ มติชนสุดสัปดาห์
แผนที่คลองพระโขนง-คลองตัน-คลองแสนแสบที่เชื่อมไปถึงบางขนาก แม่น้ำบางปะกง ฉะเชิงเทรา
ที่มาภาพ  มติชนสุดสัปดาห์

เลยไปไม่ไกลมีเครือข่ายคลองอยู่หลายเส้นที่ติดต่อกัน เช่น คลองตันที่เชื่อมระหว่างคลองพระโขนงและคลองแสนแสบ ส่วนคลองแสนแสบก็เป็นลำน้ำที่เชื่อมกับบ้านเมืองทางฝั่งตะวันออกอย่างฉะเชิงเทรา คาดว่าถูกขุดขึ้นในปี 2380 จากหัวหมากไปบริเวณบางขนาก ฉะเชิงเทรา[6] โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการส่งกำลังพลในสงคราม ‘อานามสยามยุทธ’ (สงครามสยาม-เวียดนาม รบกันเพื่อชิงกัมพูชา) ตั้งแต่ปี 2376 ซึ่งกินเวลาถึง 14 ปี ก่อนจะขุดคลองการเดินทางสู่ตะวันออกนั้นใช้ทัพบกผ่านเส้นพิมาย จันทบุรี และปราจีนบุรี บนเส้นทางเมืองปราจีนบุรีจะต้องยกทัพทางเรืออ้อมไปเข้าคลองสำโรงใช้เวลา 4-5 วัน จากสงครามที่ดูยืดเยื้อ รัชกาลที่ 3 จึงทรงให้ขุดคลองเชื่อมระหว่างคลองบางกะปิกับแม่น้ำบางปะกงโดยให้ไปทะลุที่บางขนาก[7]  

ไม่แน่ใจนักว่าย่านพระโขนงจะมีลักษณะเป็นชุมชนหนาแน่นเพียงใด แต่เมื่อพิจารณาจากทางสัญจรดังกล่าวแล้ว พระโขนงไม่น่าจะเป็นชุมชนที่รกร้างเปล่าเปลี่ยว เพราะบริเวณพระโขนงสามารถเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาทวนน้ำขึ้นไปยังพระนครโดยตรง หรือการเชื่อมกับคลองตัน-คลองแสนแสบออกไปยังแดนตะวันออกได้ เส้นทางสัญจรสมัยนั้นอาจจะพลุกพล่านอุปมาได้กับย่านที่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านแบบสมัยนี้ก็เป็นได้

แม่นาคพระโขนง หนังผีหลังปฏิวัติสยามกับความเปลี่ยนแปลงย่านพระโขนง-คลองเตย

แม่นาคฯ กับอำนาจอธิปไตยประชาชนจะเกี่ยวข้องกันอย่างไรหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ แต่พบว่าตั้งแต่ปี 2476-2489 มีการผลิตหนังเกี่ยวข้องกับแม่นาคฯ ถึง 4 ฉบับด้วยกัน นั่นคือ นางนาคพระโขนง (2476) เรื่องแรกที่ค้นพบเป็นภาพยนตร์เงียบ เทคนิคขาวดำ ต่อมาถูกนำมาฉายซ้ำปี 2479 เรื่องที่ 2 คือ นางนาคคืนชีพ (2480) ต่อมาอีกไม่นานก็มี นางนาคพระโขนง ตอนใหม่ (2482) ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการจัดฉาย นางนาคพระโขนง ภาคพิเศษ (2489) [8] เรายังไม่มีข้อมูลว่า หนังแม่นาคฯ ทั้ง 4 เรื่องได้ฉายไปไกลนอกกรุงเทพฯ แค่ไหน จึงมิอาจประเมินได้แน่ชัดว่าความรับรู้จำกัดอยู่เพียงเขตพระนครหรือไม่

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น ละแวกคลองเตยใหญ่ที่ไม่ไกลกับคลองพระโขนงก็ประสบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือมีการเวนคืนที่ดินซึ่งรวมถึงวัดโบราณอย่างวัดหน้าพระธาตุและวัดไก่เตี้ย เพื่อสร้างท่าเรือคลองเตยในปี 2478[9] โครงการดังกล่าวคือการพัฒนาประเทศขนานใหญ่เพื่อสร้างระบบขนส่งที่เชื่อมกับนานาชาติ ไม่เพียงเท่านั้น ถนนสายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ (ซึ่งจะได้ชื่อภายหลังว่าสุขุมวิท) ตามแผนการทางหลวงแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2479 ก็แล้วเสร็จในปี 2480 ด้วยคุณภาพการโรยหินและลาดยางซึ่งถือว่าเป็นทางที่มีคุณภาพสูงในเวลานั้น[10] ไม่ไกลกันมีทางรถไฟสายปากน้ำที่วิ่งมาก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งขนานกับแนวถนน จึงอาจกล่าวได้ว่าย่านคลองเตย-พระโขนงนั้นกลายเป็นพื้นที่ที่เผชิญหน้าความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เส้นทางสัญจรสาธารณะที่พาดผ่านมีทั้งเส้นทางรถยนต์ รถไฟ และทางน้ำ  

ไม่แน่ว่า การหวนคืนมาของแม่นาคพระโขนงในรูปแบบภาพยนตร์อาจสัมพันธ์กับการถือกำเนิดของท่าเรือคลองเตย ที่กำลังทำให้บ้านเมืองแถบนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

จาก ‘นางนาค’ สู่ ‘แม่นาคพระโขนง’ แฟนตาซียอดนิยม

ในช่วงที่แวดวงหนังไทยฟื้นตัวหลังจากสงคราม โครงเรื่องแม่นาคฯ ก็กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญของการสร้างหนังผีเห็นได้จากหนังที่ออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลูกนางนาคพระโขนง (2493), วิญญาณรักของนางนาค (2494), นางนาคพระโขนง (2495), นางนาคพระโขนง (2498), นางนาคพระโขนงคืนชีพ (2499)

แต่เวอร์ชันที่เป็นที่รู้จักกันดีเพราะความโด่งดังคือ แม่นาคพระโขนง (2502) จึงไม่แปลกที่ชื่อแม่นาคพระโขนงกลายเป็นชื่อที่ติดหูและใช้กันเรื่อยมา จากนั้นก็มีหนังเรื่อง แม่นาคคืนชีพ (2503), วิญญาณรักแม่นาค (2505), แม่นาคคะนองรัก (2511) ที่น่าสนใจก็คือการตีความในเรื่อง แม่นาคพระนคร (2513) ที่นำแสดงโดยมิตร ชัยบัญชาและอรัญญา นามวงศ์ ที่กล่าวถึงยุคปัจจุบัน การข้ามไปมาระหว่างโลกมนุษย์และภพนรก เปิดมิติให้มีการตีความแม่นาคใหม่ๆ ขึ้นมาอีกเช่น แม่นาคอเมริกา (2518) แม่นาคบุกโตเกียว (2519) ก่อนหน้านั้นก็มีการสร้าง แม่นาคพระโขนง (2516) และ แม่นาคอาละวาด (2516)

ทศวรรษ 2520-2530 แม่นาคฯ ก็ยังถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องนั่นในฐานะภาพยนตร์ นั่นคือ แม่นาคพระโขนง (2521) วิญญาณรักแม่นาคพระโขนง  (2521) นางนาค ภาคพิสดาร (2528) แม่นาค 30 (2530) แม่นาคอาละวาด (2532) แม่นาคคืนชีพ (2533) แม่นาคพระโขนง (2537) ที่เป็นหมุดหมายแห่งยุคสมัยก็คือการเจอกันของผีแห่งยุคนั่นคือ แม่นาคเจอผีปอบ (2535) จนในที่สุดก็เดินทางมาสู่ นางนาก (2542)

แผนที่กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างท่าเรือ พ.ศ.2478
ที่มาภาพ ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 52, 6 สิงหาคม 2478

ไทยกับความพ่ายแพ้พิษเศรษฐกิจ 2540  

กระแสชาตินิยมและการโหยหาการยอมรับจากนานาชาติ

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไทยช่วงปี 2540 เกิดจากการผสมผสานกันหลายสาเหตุ ทั้งจากภายนอกอย่างความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าต่างประเทศทำให้เกิดการเก็งกำไร รวมไปถึงการที่ค่าเงินบาทผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และสาเหตุภายในประเทศเองอย่างการปล่อยกู้มากเกินไป โดยเฉพาะกับกลุ่มธุรกิจที่มีผลประโยชน์เกื้อกูลกัน[11] 

เพื่อการเยียวยาความพังทลายของเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องการเงินสนับสนุนเพื่อกู้วิกฤตดังกล่าว ทางออกในช่วงนั้นคือ การสนับสนุนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF-ไอเอ็มเอฟ) การได้มาซึ่งเงินจำต้องแลกเปลี่ยนกับการปรับนโยบายทางเศรษฐกิจอันส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการปิดกิจการบริษัทเงินทุนและเงินทุนหลักทรัพย์ชั่วคราว เปิดเผยข้อมูลเงินกองทุนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และฐานะสุทธิของทุนสำรองระหว่างประเทศ การเปิดเสรีการค้า เปิดเสรีบัญชีทุน การลดการผูกขาดและเพิ่มการแข่งขัน เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาดำเนินการธุรกิจและถือครองทรัพย์สินต่างๆ ได้ รวมไปถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้านการคมนาคมขนส่งและการพลังงาน[12]

มีผู้วิจัยพบว่าหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทยนำเสนอข่าวไอเอ็มเอฟมากถึง 1,884 ข่าว ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2540- 30 กันยายน 2541 เฉลี่ยแล้วจะมีข่าวไอเอ็มเอฟถึง 4 ข่าวต่อวัน[13] นั่นทำให้กระแสต่อต้านไอเอ็มเอฟพัฒนามาเป็นกระแสชาตินิยมในที่สุด การถูกกระทำดังกล่าวอาจหมายถึงว่า ชาติไทยตกอยู่ในวิกฤตกลายเป็นผู้แพ้ในเวทีการแข่งขันของโลกที่ไม่สามารถยกระดับตัวเองเป็นเสือทางเศรษฐกิจและเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ได้ดังที่หวัง อาจกล่าวได้ว่าการแสวงหาการยอมรับจากนานาชาติถือเป็นปมหนึ่งของคนในสังคมไทย การพลาดหวังดังกล่าวจึงตอกย้ำความรู้สึกดังกล่าวเข้าไปอีก

ความสมจริงของนางนาก 2542

นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับนางนาก (2542) ได้รับเครดิตอย่างมากจากหนังสร้างชื่อของเขา 2499 อันธพาลครองเมือง (2540) เป็นหนังย้อนยุคของนักเลงกรุงเทพฯ ที่ทำรายได้ถึง 75 ล้านบาท[14] ก่อนนางนากจะฉาย ไม่มีใครจินตนาการออกว่าเวอร์ชันนี้จะเป็นอย่างไร ดังนั้นโปสเตอร์โปรโมตที่เป็นรูปทราย เจริญปุระที่รับบทเป็นนางนาก และวินัย ไกรบุตรที่รับบทเป็นนายมากในทรงผมและเครื่องแต่งกายสมัยรัชกาลที่ 5 จึงสร้างความฉงนสงสัยให้กับผู้รอติดตามชมได้เป็นอย่างดี 

การถ่ายทำเป็นเวลา 2 ปี ใช้ทุนรวมทั้งหมดกว่า 30 ล้านจากปากของนายทุน[15] (บางแห่งก็ว่าเพียง 12 ล้าน[16]) ทำงานอยู่บนสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยกำลังประสบปัญหา แรงกดดันจากชื่อเสียงเดิมทำให้ผู้กำกับทำงานยากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของการทำหนังเรื่องนี้คือการวางบทให้เชื่อมโยงกับการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง

นั่นทำให้นางนากเวอร์ชันนี้ปลดเปลื้องความแฟนตาซีออกไป เสียงโหยหวนที่คุ้นเคยอย่าง “พี่มากขา…” ถูกตัดทิ้ง และแทนที่ด้วยตัวบทที่สัมพันธ์กับฉากหลังทางประวัติศาสตร์ที่สร้างความคล้อยตามให้กับผู้ชมได้ราวกับชมหนังกึ่งสารคดีอยู่

“สุริยุปราคา (ร.4) ที่หว้ากอ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9” 

ตัวอักษรไทยสีขาวในรูปแบบฟอนต์ตัวพิมพ์ดีดปรากฏบนพื้นหลังสีดำเป็นภาพแรกของหนัง บ่งบอกถึงวันเวลาและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จำเพาะในประวัติศาสตร์ไทยไปด้วย ชี้ให้เห็นว่าท้องเรื่องนั้นอิงกับเส้นเรื่องในอดีตที่มีอยู่จริง 

เรื่องเล่าง่ายๆ ว่าด้วยการที่นายมากถูกเกณฑ์ไปรบ ระหว่างนั้นนางนากอุ้มท้องและเกิดเหตุให้ตายทั้งกลม เมื่อนายมากกลับมาหารู้ไม่ว่าเมียของตนตายไปแล้ว ระหว่างที่อยู่กินกับผี ก็เกิดเหตุร้ายและเรื่องราวผีนางนากหลอกหลอนไปทั่วบางพระโขนง จนในที่สุดเมื่อนายมากรู้ตัวก็ตีจาก แล้วผีนางนากก็อาละวาดไปทั่ว จนในที่สุดก็ถูกปราบแล้วทุกอย่างก็กลับมาสู่ความสงบสุข

โครงเรื่องเช่นนี้ถูกนำไปเล่าในหลายรูปแบบจนเดินทางไปไกล โดยอิสระจากการอิงความเป็นประวัติศาสตร์ แต่หนังนางนากได้นำมาปรุงแต่งขึ้นมาด้วยข้อสันนิษฐานใหม่จากแหล่งข้อมูล 2 ส่วน นั่นคือการค้นคว้าจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี พุทธศาสนา และไสยศาสตร์ อีกส่วนหนึ่งคือการพึ่งพาร่างทรงถึง 5 รายด้วยกัน[17] ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดูยอกย้อนไม่น้อยว่าเราจำต้องพึ่งพิงข้อมูลจากร่างทรงเพื่อต้องการความสมจริง

นนทรีย์อธิบายแก่นของหนังไว้ว่า “เป็นประเด็นความยึดมั่นถือมั่นในความรักของวัยหนุ่มสาวที่ผูกยึดติด แม้ตายไปแล้วก็ตาม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 ต่อรัชกาลที่ 5 โดยจับเอาสุริยุปราคาที่เกิดขึ้นมาเป็นฉากหลังทำให้เกิดอาเพศมีผีดุร้ายสุดเฮี้ยนเกิดขึ้นมา” [18]

ฉากของเรื่องยังทำหน้าที่จำลองภาพอดีตเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วของสังคมไทยขึ้นมาใหม่อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคนริมแม่น้ำลำคลอง คนไปไหนมาไหนด้วยการพายเรือ ผูกพันอยู่กับวัดและการทำบุญ เพื่อนบ้านก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยอยู่ร่วมกันฉันมิตร คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ยังกล่าวว่า “จะว่าไปแล้วผมชอบเกือบทุกฉาก โดยเฉพาะการดำเนินเรื่องราวไม่อืดอาด ฉากที่เป็นบรรยากาศเก่าๆ สมัยพระโขนงยังเป็นทุ่งนา นางนากไถนาทำนา หาดูไม่ได้แล้ว” [19]

“เรื่องปิศาจนางนากนี้ เป็นเรื่องจริงที่ร่ำลือกันมานมนาน ว่ากันว่านางนากแห่งบางพระโขนง เมื่อมีชีวิตอยู่ เป็นหญิงที่รักและซื่อสัตย์ต่อผัวยิ่งนัก แม้ยามตัวตายไปแล้ว ความรัก ความภักดีนั้น ก็หาเสื่อมคลายลงไม่ วิญญาณของนางยังคงเฝ้าวนเวียนรอคอยให้ผัวกลับมาอยู่กินด้วยกันดุจดังเดิม”

นี่คือตัวบทที่เปิดตัวนางนากหลังจากที่นายมากเดินทางไปรบแล้ว ช่วยตอกย้ำว่าเรื่องนางนากมีมูลฐานมาจากความจริง สงครามตามท้องเรื่องไม่ได้ถูกระบุคือสงครามใดอย่างแน่ชัด แต่ที่แน่ๆ คือนายมากถูกเกณฑ์ไปเป็นกำลังพลรบถูกพรากจากลูกเมียไปทำสงครามยังแดนไกลด้วยระบบเกณฑ์แรงงานไพร่อย่างเดิม เพื่อนสนิทที่ไปรบด้วยกันก็ตายคาตา นายมากได้บาดแผลหนักจนต้องมารักษาตัวอยู่ที่วัดระฆัง ธนบุรี ก่อนจะกลับบ้านที่พระโขนง ที่นั่นเองเขาได้พบกับขรัวโต (สมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี) บุคคลสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ และส่งผลต่อตอนจบของเรื่อง ฉากวิกฤตชีวิตของนายมากที่ดิ้นรนสู้กับอาการบาดเจ็บและภาพหลอนถูกฉายสลับกับฉากการคลอดลูกของนางนาก

หลังจากนายมากกลับบ้านไป ก็จะเป็นช่วงของการดำเนินเรื่องฝั่งเหนือจริงแล้ว เขาเจอเมียรักยืนรออยู่ที่ท่าน้ำริมคลองกับอ้ายแดงลูกชาย ครอบครัวกลับมาอยู่กินด้วยกันอย่างมีความสุข โดยที่นายมากหาได้รู้ความจริงใดๆ ไม่ ว่าวิญญาณเมียของตนนั้นตามหลอกหลอนชาวบ้านย่านพระโขนงจนคนกลัวขี้หดตดหาย

ความสูญเสียของคนในเรื่องนับเป็นสภาพผิดปกติทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเหตุสุริยุปราคา การทำสงคราม หรือกระทั่งคนคลอดลูกตายทั้งกลม อาจเทียบเทียบเคียงได้กับสังคมไทยต้นทศวรรษ 2540 ที่วิกฤตเศรษฐกิจส่งผลกระทบไปอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะกับชนชั้นกลางและนายทุนทางการเงินที่เคยเป็นมนุษย์ทองคำมาก่อน

การกลับบ้านของนายมากนั้นเป็นการเยียวยาชีวิตที่พังทลายมาจากการรบในสงคราม อาจไม่ต่างกับชนชั้นกลางที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือน ฯลฯ  จนตัดสินใจมุ่งกลับบ้านเกิดของตนในต่างจังหวัด แต่นายมากกลับเจอสิ่งที่เลวร้ายกว่า นั่นคือการสูญเสียครอบครัวของตน และอาจรวมถึงบ้านเรือนไปด้วย ฉากการสมสู่กันเยี่ยงผัวเมียใช้การสลับภาพของการคลอดลูกอีกครั้ง การกรีดร้องก่อนตายของนางนากซ้อนทับกับอาการสุขสมของการร่วมรักของทั้งคู่

นายมากไม่รู้ตัวว่าได้ใช้ชีวิตอยู่กับมายาภาพแห่งความสุขที่นางนากสร้างขึ้น การอยู่กินกับผีถือว่าผิดขนบธรรมเนียมประเพณีและความสงบของชุมชน เพราะนางนากไม่ได้เป็นผีที่สิงอยู่ในบ้านแบบเงียบๆ แต่กลับแผลงฤทธิ์ต่างๆ นานาจนสร้างความหวาดหวั่นให้กับคนทั้งบาง และการที่ผีนางนากตกเป็นจำเลยในข้อหาฆ่าคนตายจึงถือว่าได้ละเมิดกฎหมายบ้านเมืองด้วย

อย่างไรก็ตาม นางนากก็มิได้เป็นผีที่น่ารังเกียจสำหรับคนดู เพราะหนังได้ให้ภาพว่านางเป็นตัวแทนผู้หญิงที่รักและซื่อสัตย์กับผัวของตน ความร้ายกาจที่เกิดขึ้นก็มีเหตุผล เนื่องมาจากความพยายามปกป้องตนเองและปกปิดความจริง (ซึ่งแม้จะเป็นวิธีการที่ผิดอย่างฆ่าคนปิดปากก็ตาม) เพื่อครอบครัวที่สงบสุขของตน ดังที่มีคอลัมนิสต์บางคนเห็นประเด็นว่า ภาพสะท้อนของหนังได้เน้นไปที่ “ความรักความผูกพันที่ยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์ของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีต่อสามี” ต่างจากเวอร์ชันเก่าๆ ที่หลอกหลอนและไล่ฆ่าชาวบ้านแบบไร้เหตุผล ครอบครัวของนางนากจึงอาจสะท้อนถึงอุดมคติในครอบครัวที่มีความรักให้แก่กันดังที่ว่า “เมื่อความรักห้อมล้อมคนในครอบครัวไว้ ความรักจึงเป็นสิ่งเดียวที่คนในครอบครัวจะไม่ยอมสูญเสียไป และพร้อมจะทำทุกวิถีทางที่จะปกป้องมันไว้” [20] สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนภาพอุดมคติของครอบครัวชนชั้นกลางไทยในยุควิกฤตเศรษฐกิจที่อาจไม่สามารถบรรลุได้ แต่งดงามมากพอที่จะใฝ่ฝันถึง

กลับมาที่มายาภาพแห่งความสุขของนายมาก ถึงแม้จะมีเพื่อนอย่างนายอ่ำมาเตือนนายมากว่าตัวเองอยู่กินกับผีอยู่ ก็ไม่เชื่อ ความหวังดีเลยถูกตอบแทนด้วยตีน เพื่อนคนดังกล่าวในเวลาต่อมากลายเป็นศพ แม้แต่เจ้าอาวาสวัดมหาบุศย์มาเตือนถึงเรือน นายมากก็ยังไม่เชื่อ สมภารแนะว่าถ้าอยากรู้ความจริงให้ท่องพุทธคุณแล้วก้มมองลอดหว่างขาแล้วจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ลักษณะดังกล่าวอาจเป็นฉากที่มาก่อนกาล และผู้สร้างเองก็คงไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น กล่าวคือฉากดังกล่าวแสดงให้เห็นความพยายามวิพากษ์ความเชื่อของบุคคลที่ลุ่มหลงศรัทธาต่อบางสิ่งอย่างไม่ลืมหูลืมตา นายอ่ำและสมภารอาจเปรียบได้กับคนที่ ‘ตาสว่าง’ แล้ว ขณะที่ชนชั้นกลางจำนวนมากยังไม่พร้อมที่จะรับรู้

เมื่อคนตายด้วยน้ำมือนางนากมากขึ้น คนในชุมชนจึงตระหนักถึงภัยคุกคามต่อความปลอดภัยในชีวิต ได้รวมกำลังกันเพื่อไปเผาทำลายเรือนของนายมาก-นางนาก เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจใช้อำนาจแบบศาลเตี้ยเพื่อจบปัญหาเภทภัยในบางพระโขนง หนังแสดงว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่นายมากค้นพบความจริงว่าตนอยู่กินกับผี ทำให้นายมากหนีออกมาพึ่งพระที่วัดมหาบุศย์ สวนทางกับม็อบที่เข้าไปทำลายล้างบ้านเรือนของเขา

พลังอำนาจของผีนางนากเฮี้ยนถึงขนาดที่ว่าสามารถฆ่าเหล่าชายฉกรรจ์ที่มุ่งมาเผาเรือนจนหมด แต่พลังดังกล่าวก็ไม่อาจหยุดยั้งเพลิงไหม้ได้ แม้จะลงโทษคนเหล่านั้นได้ แต่ผัวก็ไม่อยู่ที่นั่นเสียแล้ว ฉากนี้จึงแสดงให้เห็นถึงจุดจบของความสัมพันธ์ฉันผัวเมีย จากการที่ผัวได้สละครอบครัวออกไป มันคือการพังทลายของครอบครัวนายมาก-นางนากอย่างเป็นรูปธรรม

ฉากจบของหนัง ได้เขียนบทให้ความรุนแรงของนางนากถูกยุติลงด้วยฝีมือของขรัวโตที่เดินทางมาจากวัดระฆัง ขรัวโตนั้นมียศฐาในระดับสมเด็จ แสดงให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญ หรืออาจนับได้ว่าเป็นตัวแทนของรัฐก็ยังได้ การสยบผีนางนากในกรณีนี้จึงเป็นปฏิบัติการของอำนาจรัฐที่เดินทางมาจากพระนครเพื่อปราบอำนาจนอกกฎหมายที่อยู่ไกลเขตวังหลวง ขรัวโตใช้วิธีเกลี้ยกล่อม เจรจาให้นางนากยินยอมตัดใจ และนำได้นำเอาชิ้นกะโหลกหน้าผาก (ปั้นเหน่ง) ของนางนากที่กะเทาะออกจากศพพกติดตัวไปด้วย ส่วนนายมากก็ให้ออกบวชเป็นภิกษุซึ่งก็ถือเป็นสมณเพศที่อยู่ภายใต้การควบคุมสอดส่องของรัฐเช่นกัน กลายเป็นว่าหนังแฝงนัยที่กล่าวโดยอ้อมว่า ศาสนาและรัฐได้กลายเป็นที่พึ่งในบั้นปลายของผู้ทุกข์ทนจากความวิปริตของบ้านเมือง แม้ในวันที่เราไม่หลงเหลือใครในครอบครัวอีกเลย

ความสำเร็จในประเทศ ความเป็นไทย และการลบปมด้อยในเวทีนานาชาติ

หนังนางนาก ประสบความสำเร็จทั้งด้านการทำเงินและการกวาดรางวัล การทำเงินที่ราว 150 ล้านบาท นับเป็นรายได้ที่สูงเป็น 2 เท่าจากหนังเรื่องแรกของนนทรีย์ สถิติการทำเงินอย่างน่าตื่นตาตื่นใจได้ทำให้หนังมีแรงดึงดูดอย่างสูง สถิติฉายวันแรก 12 ล้าน / 2 วัน 28 ล้าน / 3 วัน 42 ล้าน / 7 วัน 70 กว่าล้านบาท[21] เรียกได้ว่า เพียง 1 สัปดาห์ก็เกือบแซง 2499 อันธพาลครองเมืองแล้ว สื่อมวลชนในประเทศต่างประโคมข่าวเอาใจช่วยอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเมื่อสามารถเอาชนะสตาร์วอร์ส์ เอพิโซด1 และพยายามจะเอาชนะหนังมหากาพย์อย่างไททานิก

นอกจากมิติของภาพในอดีตที่หนังฉายออกมาได้ดีแล้ว บทพูด[22] เพลงประกอบ[23] ก็สร้างความลงตัวให้กับหนังเช่นกัน ความกลมกล่อมขององค์ประกอบต่างๆ นำไปสู่การหวนระลึกถึง ‘ความเป็นไทย’ แบบอนุรักษนิยมที่สามารถ ‘ขายได้’ อีกด้วย นอกจากกระแสฟีเวอร์ของนางนากที่มีความพยายามผลิตซ้ำทำเป็นหนังโฆษณา หรือกระทั่งละครโทรทัศน์แล้ว ระหว่างนั้นก็มีข่าวว่ากำลังมีโปรเจ็กต์จะทำหนังเรื่อง บางระจัน ขึ้นมา (ซึ่งในเวลาต่อมา วินัย ไกรบุตร ผู้รับบทนายมากก็ไปเล่นเป็นตัวเอกในบางระจันเช่นกัน) จนผู้สร้างต้องปฏิเสธว่าไม่ได้สร้างหนังย้อนยุคเลียนแบบความสำเร็จของนางนาก[24] แต่ในปีต่อมาบางระจันก็ถูกฉายและกลายเป็นหนังทำเงินในตำนานอีกเรื่องที่ทำลายสถิตินางนากไปด้วย

ไม่เพียงการขายความเป็นไทยให้คนไทยเท่านั้น นางนากยังมีโอกาสเดินทางไปประกวดและคว้ารางวัลในระดับนานาชาติ เวทีประกวดที่แวนคูเวอร์ แคนาดา ผู้กำกับเล่าว่า “พอหนังฉายเสร็จปุ๊บฝรั่งบางคนถึงกับร้องไห้ด้วยความซาบซึ้งและลุกขึ้นปรบมือเสียงดังหลังหนังจบ หลายคนก็เข้ามาทักทายจับไม้จับมือจนผมรู้สึกภูมิใจในความเป็นไทย…โดยเฉพาะมีฝรั่งหลายคนบอกว่าในชาตินี้ขอมาดูเมืองไทยให้เห็นกับตาว่าสวยจริงหรือเปล่า” [25] คำให้สัมภาษณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า นางนากในฐานะผลงานคนไทยและนำเสนอเรื่องราวไทยๆ ได้รับการยอมรับจากเวทีนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรม เรายังพบเห็นลักษณะเช่นเดียวกันนี้จากการส่งไปนางนากประกวดในเวทีต่างๆ[26] การได้รับ 4 รางวัลในเวทีประกวดภาพยนตร์เอเชียแปซิฟิกที่กรุงเทพฯ นั่นคือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม และกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม[27] ก็เป็นการการันตีถึงการยอมรับในระดับภูมิภาค

นางนากจึงมิได้ตอบโจทย์เพียงนายทุน ผู้กำกับ หรือคนดูในประเทศเรื่องการลงทุนและความบันเทิงอย่างเดียว แต่มันได้กลายเป็นหนังที่เป็นตัวแทนความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ความเป็นคนไทยที่สามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้แบบไม่อายใคร หลังจากที่ประเทศติดหล่มอยู่ปัญหาใหญ่จากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งอย่างไม่เห็นอนาคตเมื่อราว 2 ทศวรรษที่แล้ว


[1] ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. ““แม่นาก” ผีชาวบ้านเริ่มเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พระผู้ใหญ่ได้อย่างไร”. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_22373 (22 มิถุนายน 2564)

[2] ชิษณุพงศ์ แจ่มปัญญา. ““ผีแม่นากพระโขนง” ฤๅจะเป็นอุบายของบุตรที่มิอยากให้บิดามีเมียใหม่ ?”. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_34905 (18 ธันวาคม 2563)

[3] สุจิตต์ วงษ์เทศ. ““เมืองพระประแดง” แรกสุด และตำนานจระเข้พระประแดง ต้นตระกูลชาละวัน พิจิตร”. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_23819 (3 พฤษภาคม 2564)

[4] สุจิตต์ วงษ์เทศ. “ คลองพระโขนง เส้นทางคดโค้งเหมือนคิ้ว”. มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2564 https://www.matichonweekly.com/sujit/article_403872 (2 มีนาคม 2564)

[5] สุจิตต์ วงษ์เทศ. ““เมืองพระประแดง” แรกสุด และตำนานจระเข้พระประแดง ต้นตระกูลชาละวัน พิจิตร”. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_23819 (3 พฤษภาคม 2564)

[6] สุจิตต์ วงษ์เทศ. “คลองแสนแสบ คือ คลองมหานาค กรุงเทพฯ เชื่อมคลองบางขนาก ฉะเชิงเทรา”. มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_355137 (11 ตุลาคม 2563)

[7] ศานติ ภักดีคำ, “คลองแสนแสบ : ความสำคัญในฐานะเส้นทางเดินทัพไทย-กัมพูชา”, หน้าจั่ว, 6(กันยายน 2552-สิงหาคม 2553) : 164-180

[8] ปีที่มีการฉายหนังแม่นาคฯ ตั้งแต่ปี 2476-2542 ดูได้ใน ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. “แม่นาก กลายเป็นหนังเมื่อใด เปิดเส้นทางผีอมตะ สู่แฟนตาซี ถึงฉบับคลาสสิก “นางนาก” 2542”. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_36132 (18 ธันวาคม 2563)

[9] “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินที่จะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ พุทธศักราช 2478”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 52, 6 สิงหาคม 2478, หน้า 1223-1225

[10] อำพิกา สวัสดิ์วงศ์, ถนนสุขุมวิทกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของประเทศไทย พ.ศ.2477-2539 วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545, หน้า 69-71

[11] สมบูรณ์ ศิริประชัย, สาเหตุของวิกฤตการณ์การเงินของไทย ปี 2540 วรรณกรรมปริทัศน์ รายงานการวิจัย (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548), หน้า 24-31

[12] สุกําพล จงวิไลเกษม, กองทุนการเงินระหว่างประเทศกับวิกฤติการณการเงินไทย 2540 รายงานการวิจัย (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548), หน้า 11-17

[13] สุกําพล จงวิไลเกษม, เรื่องเดียวกัน, หน้า 1-2

[14] ตาหวาน (นามแฝง), “ฝันเป็นจริงของนนทรีย์”, ข่าวสด, (4 มีนาคม 2542) : 19

[15] “ ‘นางนาก’ พลิกสไตล์ผีไทย ขุดหลักฐานย้อนอดีต 100 ปี”, ข่าวสด, (4 มีนาคม 2542) : 19

[16] “นนทรีย์ นิมิบุตร สุดใจกับ “นางนาก””, ข่าวสด, (3 มิถุนายน 2542) : 14

[17] “ ‘นนทรีย์’ พึ่งร่างทรงทำ ‘นางนาก’ สมจริง”, มติชน, (14 พฤษภาคม 2542) : 14

[18] “นนทรีย์ นิมิบุตร สุดใจกับ “นางนาก””, ข่าวสด, (3 มิถุนายน 2542) : 14

[19] ตาหวาน, “นางนาก”, ข่าวสด, (25 กรกฎาคม 2542) : 20

[20] นายหนัง, “นางนาก กะเทาะเปลือกสังคมไทย”, มติชน, (1 สิงหาคม 2542) : 18-19

[21] “The Man Behind นางนาก “ทำในสิ่งที่อยากเห็น” ”, ประชาชาติธุรกิจ, (2 สิงหาคม 2542) : 32

[22] กล่าวกันว่า หนังนางนากอาจเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่มีการค้นคว้าภาษาไทยโบราณมาใช้ในการเขียนบทภาพยนตร์

[23] พอล เฮงชี้ว่า “เพลงประกอบภาพยนตร์ ‘นางนาก’ คืองานสื่อความไทยที่ดึงของเก่ามาผสานความร่วมสมัยได้เยี่ยมยอด อวดพลังสร้างสรรค์แก่ชาวโลกได้อย่างไม่อายใคร” ดูใน “นางนาก โหยไห้ ร้าวลึก อ้างว้าง”, มติชน, (1 สิงหาคม 2542) : 16

[24] “เปล่าเลียนแบบ ‘นางนาก’ ‘เชน’ ไม่สน ‘บางระจัน’ คนละมุม”, ข่าวสด, (3 พฤศจิกายน 2542) : 22

[25] “ ‘อุ๋ย’ ภูมิใจความเป็นไทย ฝรั่งหลั่งน้ำตาชื่นชอบ ‘นางนาก’ ”, ข่าวสด, (20 ตุลาคม 2542) : 22

[26] “เผย ‘นางนาก’ เดินสายประกวดอีก 9 เวที ‘นนทรีย์’ คุย ต.ค.ทำรายได้สูงสุดในญี่ปุ่น”, มติชน, (28 พฤศจิกายน 2542) : 17

[27] “หนังนากนากสุดเจ๋ง กวาด 4 รางวัลเอเชีย”, มติชน, (27 พฤศจิกายน 2542) : 1, 20

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save