fbpx
เสียงกระซิบจากดงพญา : ช่องว่างระหว่างรัฐ ชุมชน คนกับป่า

เสียงกระซิบจากดงพญา : ช่องว่างระหว่างรัฐ ชุมชน คนกับป่า

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

 

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ‘น่าน’ นับเป็นหนึ่งในจังหวัดที่เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ด้วยเสน่ห์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น ความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ รวมถึงบรรยากาศสบายๆ ที่ดึงดูดให้ผู้คนมาพักผ่อนหย่อนใจ

ทว่าหากย้อนไปราวๆ 5-10 ปีก่อนหน้านี้ หลายคนอาจรู้จักน่านในฐานะจังหวัดที่ทรัพยากรป่าไม้เสื่อมโทรมที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการถางป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด จนกระทั่งป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ กลายสภาพเป็น ‘เขาหัวโล้น’ ที่ดูแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา ทำให้หลายฝ่ายต้องหันมาร่วมมือฟื้นฟูป่าน่านกันอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ สถานการณ์ในปัจจุบัน นับว่าดีขึ้นตามลำดับ ด้วยการร่วมมืออย่างแข็งขันจากเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงคนในชุมชนเอง

เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) มูลนิธิรักษ์ไทย และองคก์รภาคีด้านป่าไม้และที่ดิน ร่วมกันจัดเวทีเสียงสะท้อนธรรมาภิบาลป่าไม้ ครั้งที่ 1 หัวข้อ “อุณหภูมิ 1.5 องศากับความเร่งด่วนที่ต้องมีธรรมาภิบาลป่าไม้” ณ โรงแรมน่านกรีนเลควิว อ.เมือง จ.น่าน เพื่อเสนอแนวทางการบริหารป่าไม้ของประเทศไทยให้มีธรรมาภิบาลยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการลงพื้นที่จริง เพื่อสำรวจสถานการณ์ป่าไม้ ที่บ้านปางกบ ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน

101 มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมและการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ และน่าจะช่วยสร้างความตระหนักตลอดจนความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการป่าไม้ รวมถึงปัญหาเรื่อง ‘คนกับป่า’ ทั้งในกรณีของจังหวัดน่าน และภาพกว้างในระดับประเทศได้มากยิ่งขึ้น

 

 

ปลดล็อคกฎหมาย กระจายอำนาจ

 

ในเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นราวๆ 50 ชีวิต มาจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า การให้คนอยู่ร่วมกับป่าและบริหารจัดการพื้นที่ป่าไปด้วยกัน เป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ข้อสรุปสำคัญจากการระดมความเห็น แบ่งเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

1) ด้านกฎหมาย ผู้เข้าร่วมเสนอให้ภาครัฐมอบอำนาจให้ท้องถิ่น และกระจายให้หน่วยงานต่างๆ เป็นผู้จัดทำข้อมูลที่ดิน เพื่อเร่งการจัดทำข้อมูลการถือครองที่ดิน ซึ่งจะทำให้การดำเนินการจัดสรรที่ดินทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเร่งรับรองสิทธิชุมชนที่อยู่มาก่อนกฎหมายประกาศ ชุมชนที่พิสูจน์ว่าอยู่มาก่อนจะต้องยกเว้นการเป็นพื้นที่ป่า โดยใช้เครื่องมือแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมเป็นเกณฑ์ นอกจากนี้ยังเสนอให้แก้ไขกฎหมายป่าไม้ โดยให้นิยามของป่า ว่าเป็นที่ที่ยังไม่ได้มาตามประมวลกฎหมาย ไม่ใช่จำกัดอยู่ที่ประมวลกฎหมายที่ดิน และให้สิทธิใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายด้วยชุดความคิดโฉนดชุมชน เป็นสิทธิชุมชนตามมาตรา 43 (2) ตามรัฐธรรมนูญ

2) ด้านมาตรการการทำงานและกลไกความร่วมมือ ผู้เข้าร่วมเสนอว่า ภาครัฐควรเน้นการบริหารจัดการที่ ‘ยืดหยุ่น’ ขับเคลื่อนได้จริง มีสัดส่วนที่เป็นธรรม ร่วมทำงานกับท้องถิ่น โดยใช้เครื่องมือของท้องถิ่น เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระบบกองทุน พร้อมกับส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ระบบการติดตามและตรวจสอบ โดยมีตำบลเป็นฐาน ทำงานร่วมกับกลุ่มองค์กรชุมชน โดยรวมตัวกันเป็น ‘คณะทำงานธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมตำบล’ โดยมีตัวแทนจากท้องที่ และภาครัฐมาทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ ข้อเสนอที่ว่ามา สอดคล้องกับ “บทสรุปเชิงนโยบายการประเมินธรรมาภิบาลป่าไม้ในประเทศไทย ข้อท้าทายและแนวทางเสริมสร้างความเข้มแข็งของธรรมาภิบาล” ที่จัดทำโดย RECOFTC ร่วมกับ WWF และมูลนิธิรักษ์ไทย เพื่อศึกษาข้อท้าทายและช่องทางในการพัฒนาธรรมาภิบาลในภาคป่าไม้ของประเทศไทย และของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยรวม โดยมีประเด็นที่เด่นๆ ดังนี้

 

กฎหมายที่ล้าหลังและคลุมเครือ

ผู้ร่วมประเมินรู้สึกว่านโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2528 นั้นล้าหลังและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ปัจจุบัน รวมทั้งยังเห็นว่า กฎหมายเกี่ยวกับป่านั้นซับซ้อนเกินไป และสร้างภาระที่ไม่จำเป็นแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน ขณะที่การบังคับใช้นโยบายป่าไม้ กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ก็มักเป็นไปตามการตีความเอาเองของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้เกิดความลักลั่นในการบังคับใช้ สร้างความสับสน ใช้ความรู้สึกส่วนตัวเป็นที่ตั้ง และเปิดช่องให้เกิดการทุจริตในบางกรณี

 

สิทธิชุมชนไม่ได้รับการปกป้องเท่าที่ควร

การไม่รับรองสิทธิของชุมชนในการใช้ประโยชน์จากป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการไม่ยอมรับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการป่าไม้ เป็นปัจจัยที่ทำให้มองว่าไม่มีธรรมาภิบาล แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะรับรองสิทธิของชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่หลักการนี้แทบไม่ปรากฏอยู่ในกฎหมายสำคัญๆ และกลไกในกระบวนการยุติธรรมหรือในกระบวนการตัดสินใจเลย ผู้เข้าร่วมประเมินมองว่ากฎหมายและนโยบายป่าไม้ มักไม่สนใจว่าชุมชนท้องถิ่นจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง และไม่สนับสนุนความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับหน่วยงานของรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน

 

ความเป็นระบบราชการสูงเกินไปทำให้ขาดประสิทธิภาพ

ความเป็นระบบราชการ เป็นอุปสรรคสำคัญต่อประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงานของหนว่ยงานด้านป่าไม้ การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ยึดแนวนโยบายและลำดับขั้นบังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถในการตัดสินใจอย่างเหมาะสม แม้ว่าจะเข้มงวดเรื่องการทำงานตามขั้นตอน แต่กลับไม่มีความพยายามอย่างจริงจังที่จะทำให้กระบวนการตัดสินใจในแต่ละกรณีเป็นไปอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน

 

การละเว้นความผิด

ผู้เข้าร่วมประเมินให้ข้อมูลว่า ผู้ที่กระทำความผิดบางคนไม่ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากเป็นผู้มีสถานะทางสังคมหรือมีอำนาจทางการเงิน  ในทางทฤษฎี การกระทำความผิดตามกฎหมายป่าไม้มีบทลงโทษที่รุนแรงพอที่จะยับยั้งการก่อเหตุ แต่ในทางปฏิบัติ มักมีการยกเว้นการลงโทษหรือเอาผิดผู้ที่ละเมิดกฎหมาย ทั้งนี้ ข้อห่วงกังวลประการหนึ่งคือ ความอ่อนแอของกฎหมายในการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่น และการที่ผู้ประกอบการเอกชนในธุรกิจป่าไม้บางราย ไม่มีระบบบริหารจัดการภายในเพื่อป้องกันการทุจริต

 

การแบ่งปันรายได้จากทรัพยากรป่าไม้ไม่เป็นธรรม

ผู้เข้าร่วมประเมินรู้สึกว่า การแบ่งปันรายได้ในภาคป่าไม้ โดยเฉพาะระหว่างรัฐบาล และชุมชนในพื้นที่ป่านั้นไม่เป็นธรรม ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่โปร่งใส ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ และดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ประกอบการเอกชนบางส่วน มีพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์และไม่น่าไว้วางใจ

 

ในช่วงท้ายของวงประชุม สุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ได้ให้มุมมองเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาการบริหารจัดการป่าไม้และที่ดิน ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“จริงๆ ในเวทีนี้ น่าจะมีคนมาให้ความรู้เรื่องการลดอุตสาหกรรมหนักทั่วโลกด้วยนะครับ เพราะอะไร เพราะวันนี้เหมือนเราจะพยายามทำให้ป่าเพิ่มขึ้น พยายามรักษาสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ประเทศที่ทำอุตสาหกรรมหนัก ยังไม่ได้ลดลง เปรียบเสมือนเรากำลังสร้างวัด เพื่อไปรองรับการมีซ่องที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือ ทำไมเราไม่เรียกร้องให้ลดการทำซ่อง ไม่เรียกร้องให้ลดการทำอุตสาหกรรมหนักบ้าง”

“แล้วถ้าเราพูดถึงการดำเนินการในพื้นที่ มันต้องเอาความจริงมาพูด วันนี้พวกผมในฐานะชาวสวนยาง กลายเป็นผู้ร้าย จากนโยบายทวงคืนผืนป่า แล้วไร่ข้าวโพดล่ะครับ ไม่เห็นมีการสนธิกำลังทหารไปจับ ทำไมไปแต่ที่สวนยาง แล้วทำไมยูคาลิปตัส กลายเป็นสวนป่าที่ถูกรับรองว่าเป็นป่า เพราะอะไรครับ เพราะกรมป่าไม้สนับสนุนใช่หรือไม่”

“ถ้าวันนี้เรามาพูดเรื่องธรรมาภิบาล ผมจะบอกว่า อุปสรรคใหญ่ที่สุด ก็คือความจริงใจของอำนาจรัฐ ถ้าอำนาจรัฐจริงใจ พร้อมกระจายอำนาจ เช่น เอาทรัพยากรป่าไม้ให้ท้องถิ่นจัดการ ป่านนี้จบแล้วครับ”

 

 

“การต่อสู้ที่ได้ผล คือการสู้บนฐานของข้อมูล”

 

อีกหนึ่งเสียงเล็กๆ จากคนในพื้นที่ ซึ่งพูดถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา คือเสียงจาก เมธวัฒน์ พุทธิธาดากุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง โดยตำบลดงพญา มีพื้นที่ราวๆ 260,000 ไร่ แบ่งเป็น 17 หมู่บ้าน

เมธวัฒน์เล่าว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) คือการจัดโซนแต่ละหมู่บ้าน เพื่อขีดเส้นพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ให้ชัดเจน และทำเป็นแผนที่ GPS ขึ้นมา ว่าแต่ละหมู่บ้านมีพื้นที่ทั้งหมดเท่าไหร่ แยกเป็นป่าสงวนเท่าไหร่ ป่าอุทยานเท่าไหร่ ที่อยู่อาศัยเท่าไหร่ ที่ทำมาหากินเท่าไหร่ โดยเป้าหมายของการจัดโซนให้ชัดเจนแบบนี้ ก็เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหา 2 ข้อหลักๆ ด้วยกัน คือ 1) การรุกล้ำที่ดินซึ่งกันและกัน 2) ป้องกันพื้นที่ที่อาจเกิดภัยพิบัติ

“ที่ผ่านมา เราถือว่าการแก้ปัญหาพื้นที่ป่าของประเทศไทย เป็นการแก้ปัญหาแบบซ้ำซาก ถึงหน้าแล้งก็จะมีปัญหาเรื่องหมอกควัน เรื่องไฟป่า พอหน้าฝนก็มีเรื่องดินสไลด์ น้ำท่วม เพราะเราแก้ปัญหากันแบบเดิมๆ การทำสิ่งนี้ขึ้นมา เรามีความต้องการชัดเจนว่าต้องการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการป่าแบบยั่งยืน”

“ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ถ้าใครจำข่าวได้ พื้นที่อำเภอบ่อเกลือของเราเกิดดินสไลด์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย นั่นคือการเกิดภัยพิบัติโดยที่เราไม่มีฐานข้อมูลที่นำมาใช้ป้องกันเหตุได้ เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก”

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องการมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนว่า ในแต่ละหมู่บ้าน มีหมู่บ้านไหนบ้างที่เป็นหมู่บ้านเสี่ยงภัย ผมสามารถนั่งอยู่ที่อบต. แล้วเห็นข้อมูลของแต่ละหมู่บ้านได้ ขณะเดียวกันก็สามารถลิงค์ข้อมูลที่ได้มาไปสู่หน่วยงานต่างๆ ได้ เพื่อให้ความช่วยเหลือหรือการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นที่นี่ และจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้”

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และการบุกรุกป่า ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน ก็มีคำถามตามมาว่า เครื่องมือที่ว่านี้จะสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่อย่างไร เมธวัฒน์ให้คำตอบว่า

“ถ้าพูดถึงสิทธิตามกฎหมายจริงๆ ก็ยังไม่มีหรอกครับ แต่ถ้าพูดถึงสิทธิแต่เดิม ชาวบ้านเขามีอยู่แล้ว เพียงแต่เราถูกกฎหมายที่เขียนขึ้นมาภายหลัง ตั้งเงื่อนไขและกับดักต่างๆ ขึ้นมา จึงทำให้เป็นปัญหา ถ้าถามผม ผมมองว่าชาวบ้านเขามีสิทธิในที่ที่เขาอาศัยอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น หมู่บ้านของผม บ้านสะปัน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2310 ซึ่งแน่นอนว่าเกิดมาก่อน พ.ร.บ.ป่าไม้หรือ พ.ร.บ.อุทยานทุกฉบับ แต่พอกฎหมายเหล่านี้ตราออกมา รัฐไม่ได้พิจารณาบริบทเขิงภูมิสังคมในพื้นที่นั้นๆ ให้ดี ชาวบ้านที่อยู่กันมานานก็เลยกลายเป็นผู้ผิดกฎหมาย

“ฉะนั้น ถ้าถามถึงสิทธิเบื้องต้น ชาวบ้านมีอยู่แล้ว ซึ่งการที่เราพยายามทำฐานข้อมูลนี้ขึ้นมา ก็เพราะอยากให้รัฐเห็นว่า พี่น้องเขามีสิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ซึ่งเขาอยู่กันแบบดั้งเดิม ไม่ได้ไปบุกรุกอยู่แล้ว รัฐนั่นแหละเป็นผู้ประกาศกฎเกณฑ์ทั้งหลายทั้งปวงมาครอบงำและแบ่งแยกเขา

“ที่บอกว่าชาวบ้านมีสิทธิ์อยู่แล้ว ข้อแรกที่ชัดเจนคือ เขามีบัตรประจำตัวประชาชน ที่ยืนยันได้ว่าตัวเองเป็นคนไทย สอง เขามีหมู่บ้าน อย่างหมู่บ้าน ก. หมู่บ้าน ข. นี่เป็นพระราชกฤษฎีกานะครับ กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ประกาศพระกฤษฎีกาก่อตั้งหมู่บ้าน ก็แสดงว่าชาวบ้านนั้นเป็นคนไทย ชาวบ้านมีสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยและทำมาหากินในบริเวณนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประจักษ์อยู่แล้ว”

แม้สิ่งที่เมธวัฒน์พูดมา จะไม่ได้เกินเลยจากความเป็นจริงนัก ทว่าสิ่งที่เป็นจริงยิ่งกว่า คือปัญหาเรื่องการยืนยัน ‘สิทธิ’ ที่ต้องอาศัยหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งแน่นอนว่าลำพังแค่บัตรประชาชน คงไม่เพียงพอที่จะนำมาอ้างสิทธิได้ตามกฎหมาย

คำถามคือเมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วในทางปฏิบัติจะใช้หลักฐานอะไรไปคัดง้างหรือยืนยันกับรัฐ

“อย่างที่พูดไปแต่ต้น สิ่งแรกที่เราทำ คือจัด ‘โซน’ ให้ ‘นิ่ง’ ก่อน ทั้งนี้ในบริบทพื้นที่ของบ่อเกลือทั้งอำเภอ ที่เราเคยคุยกัน เอาเข้าจริงแล้วเราไม่ต้องการเอกสารสิทธิอะไรหรอกครับ เราต้องการแค่ให้ชาวบ้านเขามีสิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิในที่ดินทำกิน ในฐานะพลเมืองคนไทยคนหนึ่งของประเทศนี้ นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ”

“ส่วนลักษณะการขับเคลื่อน เราไม่สามารถที่จะเดินไปคนเดียวได้ เราจะต้องมีภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคีเครือข่ายคนน่าน ภาคีเครือข่ายสื่อมวลชน ภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม  รวมถึงเครือข่ายพี่น้องที่อยู่ชายขอบทั้งหลายในประเทศนี้ จะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมืองไทย เพราะทุกวันนี้ เราเปรียบเสมือนคนชายขอบ เปรียบเสมือนประชากรชั้นสามชั้นสี่ของประเทศ เราไม่มีสิทธิอะไรมากมายเท่าคนที่อยู่ในกรุงฯ”

“ที่ผมพูดอย่างนี้ เพราะวัดจากงบประมาณที่ลงมายังท้องถิ่น วัดจากประชากรรายหัว ซึ่งเราจะไปสู้เมืองใหญ่ๆ ที่มีประชากรหนาแน่นได้อย่างไร เดิมเราจนอยู่แล้ว แล้วเราก็ยิ่งจนเข้าไปอีก ข้อนี้เราเสนอให้แก้มาหลายรอบแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นถ้าถามว่าจะเดินต่ออย่างไร คำตอบของผมคือ เราไม่สามารถเดินคนเดียวได้”

อย่างไรก็ดี เมธวัฒน์ชี้ว่าสิ่งที่เขาพูดมาทั้งหมดนี้ จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมี ‘ฐานข้อมูล’ ที่ดี ประกอบกับการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

“เหนืออื่นใด เราต้องสู้บนฐานของข้อมูล ผมเชื่อว่าถ้าเรามีฐานข้อมูลที่ดี รัฐบาลจะต้องฟังเรา แต่ถ้าเราไปแบบไม่มีข้อมูล ไม่ว่าจะไปคุยกับหน่วยงานรัฐก็ดี หรือนักวิชาการที่อยู่ในหน่วยงานรัฐก็ดี เขาจะฟังเราน้อย ดังนั้นเราจึงต้องพยายามใช้งานวิจัยมาสนับสนุน ถ้าเราสามารถชี้แจงให้เขาเห็นได้ว่า การให้ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ป่า โดยวิถีของเขา แล้วป่าจะเพิ่มขึ้นแค่ไหน อย่างไร ไม่มีรัฐบาลไหนหรอกครับที่จะไม่เอา”

“ถ้าชาวบ้านมีส่วนร่วม และเขาเห็นคุณค่าในการเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการตรงนี้ ผมคิดว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ แต่ทุกวันนี้เรายังมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำมาหากิน ขยับไปทางไหนก็ไม่ได้ เดี๋ยวก็ผิดกฎหมายป่าไม้ ผิดกฎหมายอุทยาน แต่ถ้าเราทำในลักษณะนี้ ถ้าเราตั้งต้นจากการมีฐานข้อมูลที่ดี การขยับสู่ขั้นต่อๆ ไปก็น่าจะง่ายขึ้น”

อีกประเด็นที่หลายคนอาจสงสัย ก็คือมุมมองเรื่องการรุกล้ำพื้นที่ป่าจากชาวบ้าน โดยเฉพาะกรณีของภูเขาหัวโล้นที่เห็นกันบ่อยๆ ในข่าว คำถามคือในฐานะนายก อบต. และในฐานะคนในพื้นที่ที่อยู่กับปัญหานี้มานาน มีมาตรการแก้ปัญหานี้อย่างไร และสถานการณ์ทุกวันนี้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมากน้อยแค่ไหน นายเมธวัฒน์ชี้แจงแบบติดตลกว่า

“ตอนผมไปประชุมในระดับประเทศ ก็เจอคำถามทำนองว่า ทำไมคนน่านไม่รักษาป่า ทำไมปล่อยให้เป็นเขาหัวโล้น จริงๆ ถ้าเรานั่งเครื่องบินผ่านทางภาคเหนือ จะเห็นว่าจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่น่าน ก็โล้นพอๆ กัน ทีนี้เราก็เลยเอาข้อมูลล่าสุด คือภาพถ่ายดาวเทียมปี 2561 ซึ่งระบุว่าพื้นที่ป่าสมบูรณ์ในจังหวัดน่าน มีอยู่ 72 เปอร์เซ็นต์ จากเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ว่าแต่ละจังหวัดต้องมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไม่ต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องรณรงค์ให้ชาวบ้านทำตอนนี้ คือต้องช่วยกันตัดให้เหลือ 40 (หัวเราะ) แซวเล่นนะครับ”

“ประเด็นที่ผมจะบอกคือ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไม่เคยรู้ข้อมูลตรงนี้ แต่ตอนนี้เขารู้แล้วนะครับ แล้วกระแสที่บอกว่าน่านมีแต่เขาหัวโล้น ตอนนี้ผมถามว่าท่านยังได้ยินอยู่ไหม หายไปแล้วนะครับ แทบไม่มีใครพูดแล้ว เพราะอะไร ก็เพราะข้อมูลที่รัฐบาลได้รับทราบ”

“ที่เป็นข่าวดังทั่วประเทศ ที่พวกเราเห็นกัน มันไม่เป็นความจริงหรอกครับ ถามว่าโล้นมั้ย โล้นครับ โล้นในส่วนที่เป็นที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับป่า แล้วสมมติว่าถ้าคนน่านตัดไม้ทำลายป่ากันจริงๆ ถ้าเขาจะทำ ผมบอกได้เลยว่าพื้นที่ป่าของเราคงเหลือไม่ถึง 40 หรอกครับ นี่คือข้อเท็จจริง คือสิ่งที่ชาวบ้านช่วยกันรักษา ไม่ใช่เป็นผู้ทำลายอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด”

“ถ้าจะให้พูดแบบฟันธง ภาพที่ออกมาตามสื่อเยอะๆ ในแง่ลบ จะเป็นลักษณะที่ว่า ไอ้ความดีที่เขามีอยู่ คุณไม่พูดถึงเลย คุณไปพูดถึงแต่สิ่งที่ไม่ดี เพื่ออะไรครับ ก็เพื่อต้องการเอางบมาละลายในจังหวัดน่าน เหมือนกับสามจังหวัดชายแดนใต้ ทำนองนั้นแหละครับ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ฉะนั้น สิ่งที่ผมพยายามผลักดันและทำอยู่ตอนนี้ ก็คือการทำให้คนน่านลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ด้วยข้อมูลที่เป็นจริง”

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ที่ดีขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เกิดจากการลงมือลงแรงมาเป็นสิบปีๆ

“จากแต่ก่อนที่น่านเคยเป็นพื้นที่สำหรับปลูกข้าวโพดกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ถึงวันนี้ ไม่มีแล้วครับที่ปลูกข้าวโพดขาย เราลดการใช้สารเคมีลงเรื่อยๆ สิ่งที่ผมอยากบอกคือ คนน่านที่คิดและทำแบบนี้ มีอยู่เยอะแยะ”

นายก อบต. ดงพญา ทิ้งท้ายว่า เขามีความหวังลึกๆ ว่ากรณีของตำบลดงพญา น่าจะช่วยจุดประกายและเป็นโมเดลในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงในระดับประเทศได้

 


ภาพประกอบจาก : ศูนย์วนศาสตร์ชุมชน เพื่อคนกับป่า – ประเทศไทย (RECOFTC Thailand)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save