fbpx
การเมืองเรื่องชื่อพรรค : 'พลัง' ฮิต 'ประชาธิปไตย' หด

การเมืองเรื่องชื่อพรรค : ‘พลัง’ ฮิต ‘ประชาธิปไตย’ หด

อิสระ ชูศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หลังการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลอภิสิทธิ์ นักการเมืองหนุ่มใหญ่ท่านนี้ได้แสดงความจำนงว่าจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่จะต้องมีชื่อฉีกแนว และขอให้ประชาชนช่วยกันเสนอชื่อพรรคการเมืองให้ โดยมีเงื่อนไขว่าขออย่าได้มีคำว่า ประชา, พลัง, เพื่อ อยู่ในชื่อที่ช่วยกันตั้งนี้เลย

ตอนแรกที่ได้ยิน ผมก็ขำเล็กๆ เพราะ ‘ประชา’ ทำให้นึกถึงพรรคประชาธิปัตย์ ‘พลัง’ นึกถึงพรรคพลังประชารัฐ และ ‘เพื่อ’ นึกถึงพรรคเพื่อไทย ซึ่งนายกรณ์คงอยากให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ว่าพรรคใหม่ในอนาคตของเขานั้นมีตำแหน่งที่สับหลักกับพรรคใหญ่ทั้งสามข้างต้น เป็นมุกสร้างความแตกต่างโดยไม่ต้องลงทุนมาก

ผมนึกตามต่อไปอีกว่าคำทั้งสามนี้ก็เป็นคำส่วนประกอบยอดฮิตในชื่อพรรคการเมืองของไทยจริงๆ ถ้าพิมพ์ชื่อพรรคการเมืองติดไว้บนกระป๋องน้ำอัดลมแล้วตั้งเป็นเป้าให้เราเอาก้อนหินปาใส่ ย่อมมีโอกาสสูงมากที่เราจะปาโดนชื่อพรรคที่มีคำส่วนประกอบคำใดคำหนึ่งในสามคำนี้

ผมอยากรู้ให้มันแน่ชัดว่าสมมติฐานนี้จะจริงหรือไม่จริงกันแน่ ถ้าจริงตามนั้นคือพรรคการเมืองทั้งหลายเขามักจะใช้คำที่ซ้ำๆ กันมาตั้งชื่อพรรค แล้วเขาทำอย่างไรให้มันแตกต่าง

ส่วนใหญ่เขาเอาคำอะไรอีกมาประกอบกันเข้าเป็นชื่อพรรค ความหมายของชื่อพรรคเหล่านั้นสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองอะไรบ้างหรือเปล่า แล้วชื่อพรรคการเมืองในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด

แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับชื่อพรรคการเมืองที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ผมหาได้คือเว็บไซต์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีรายชื่อพรรคการเมืองที่มาจดทะเบียนและรายงานการทำกิจกรรมไว้กับ กกต. แต่ข้อมูลของ กกต. จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ดำเนินการอยู่และย้อนหลังกลับไปถึงปี พ.ศ. 2556 เท่านั้น และข้อมูลเกี่ยวกับปีที่จัดตั้งพรรคการเมืองจะเป็นปีตามเอกสาร ไม่ใช่ปีที่จัดตั้งขึ้นจริงๆ ส่วนอีกแหล่งหนึ่งคือเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้าที่มีข้อมูลพรรการเมืองเก่าอยู่จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2550 ต้นๆ

เพื่อให้ข้อมูลมีความครบถ้วน ผมจึงนำข้อมูลจากสองแหล่งมารวมกัน ข้อมูลของ กกต. ใช้ข้อมูลที่ใหม่ที่สุดรวมกับข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า ตัดชื่อพรรคการเมืองที่ซ้ำกันทิ้งไปโดยยึดปี พ.ศ. ในการก่อตั้งที่เก่ากว่า เพื่อให้ข้อมูลสะท้อนระยะเวลาที่คำในชื่อพรรคการเมืองชื่อนั้นถูกใช้เป็นครั้งแรก และตัดชื่อพรรคการเมืองที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาทิ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

หลังจากการตัดชื่อพรรคที่ซ้ำกันแล้วคงเหลือข้อมูล 216 รายชื่อ ปีก่อตั้งพรรคที่เก่าที่สุดคือ พ.ศ. 2489 ปีที่ใหม่ที่สุดคือ พ.ศ. 2562 และเมื่อแบ่งช่วงเวลาของการจัดตั้งพรรคการเมืองออกเป็น 5 ช่วงเวลา เราจะเห็นได้ว่ากว่า 2 ใน 3 ของจำนวนพรรคการเมืองในรายชื่อได้ถูกก่อตั้งขึ้นภายหลังปี พ.ศ. 2540 (ดูภาพข้างล่าง)

 

การตั้งพรรคการเมือง จำนวนพรรค ปีที่ก่อตั้ง ในไทย

 

บทความนี้ตั้งประเด็นในการวิเคราะห์ข้อมูลออกเป็น 3 ประเด็น คือ

(1) ความถี่มาก-น้อยของคำที่ปรากฏในชื่อพรรคการเมือง (คำว่า พลัง, เพื่อ, ประชา เป็นคำที่มีความถี่ในการใช้มากที่สุดจริงหรือไม่)

(2) การปรากฏร่วมของคำในชื่อพรรคการเมือง (คำอะไรมักปรากฏร่วมกับคำอะไร และคำอะไรมักไม่ปรากฏร่วมกับคำอะไร)

(3) ช่วงเวลาและความนิยมในการใช้คำเพื่อตั้งชื่อพรรคการเมือง (ความนิยมในการตั้งชื่อพรรคการเมืองสัมพันธ์กับช่วงเวลาหรือไม่ โดยใช้ปี พ.ศ. 2540 เป็นเส้นแบ่ง)

ผลการวิเคราะห์ในประเด็นแรกพบว่า คำที่มีความถี่ในการใช้ซ้ำตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไปมีจำนวน 24 คำ (จากจำนวนคำที่พบทั้งหมดประมาณ 170 คำ) โดยคำที่มีความถี่ในการใช้ตั้งชื่อพรรคการเมืองสูงสุด 3 อันดับแรกคือว่า‘ไทย’ (70) ‘พลัง’ (30) และ ‘ชาติ’ (19) ในขณะที่คำว่า ‘ประชา’ (13) และ ‘เพื่อ’ (12)  ก็เป็นคำที่ใช้บ่อยเช่นกันแม้จะไม่ใช่คำยอดนิยมสามลำดับแรก (ดูภาพข้างล่าง)

 

คำที่ใช้บ่อยในชื่อพรรคการเมืองไทย

 

นอกจากนั้น จะเห็นได้ว่า ‘ไทย’ ซึ่งเป็นคำที่ได้รับความนิยมสูงสุดนั้นมีความถี่ในการใช้ซ้ำสูงกว่าคำที่มีความถี่เป็นลำดับที่สองถึง 2.3 เท่าตัว สะท้อนให้เห็นลักษณะชาตินิยมในการตั้งชื่อพรรคการเมืองไทยได้พอสมควร เนื่องจากคำนี้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อพรรคการเมืองถึง 69 พรรค (พรรคไทยรักไทยใช้คำว่า ‘ไทย’ ซ้ำกันสองหน) ทั้งนี้หากนับรวมคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันอย่างคำว่า  ‘ไท’ (11) และ‘สยาม’ (9) เข้าไปด้วยแล้วก็จะยิ่งทำให้กลุ่มคำ ‘ไทย-ไท-สยาม’ มีความถี่ในการใช้รวมกันห่างจากคำที่มีความถี่ในลำดับที่สองถึง 3 เท่าตัว

ประเด็นถัดไปคือความถี่ในการปรากฏร่วมกันของคำที่เป็นส่วนประกอบของชื่อพรรคการเมือง ซึ่งจะทำให้เราเห็นมโนทัศน์เบื้องหลังชื่อและความนิยมในการตั้งชื่อพรรคการเมืองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ผลการวิเคราะห์การเกิดร่วมของคำในชื่อพรรคการเมือง ย้ำว่าคำที่พบบ่อยในชื่อพรรคมักจะเป็นคำที่เกิดร่วมกัน

ในภาพ คำที่เกิดร่วมกันมากครั้งจะเชื่อมโยงกันด้วยเส้นที่มีความหนากว่าคำที่เกิดร่วมกันน้อยครั้ง

นอกจากนั้นก็ยังพบอีกว่า ‘ไทย’ เป็นคำที่อยู่ตรงกลางของเครือข่าย เพราะพรรคการเมืองต่างๆ มักจะตั้งชื่อให้มีคำว่าไทยต่อข้างท้ายอยู่เสมอ

 

คำปรากฎร่วมกันบ่อยในชื่อพรรคการเมืองไทย

 

ประเด็นสุดท้ายคือ การตอบคำถามว่าความนิยมในการตั้งชื่อพรรคการเมืองที่นำเสนอไว้ในสองประเด็นข้างต้นนั้น มีความสัมพันธ์กับช่วงเวลาหรือไม่ อย่างไร โดยจะใช้ปี พ.ศ. 2540 เป็นเส้นแบ่งกลุ่มข้อมูลอออกเป็นสองส่วน คือพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2489 – 2539 เป็นกลุ่มที่หนึ่ง (pre-40) และพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2562 เป็นกลุ่มที่สอง (post-40)

ดังที่กล่าวไปในตอนต้นบทความว่า หากพิจารณาการกระจายของจำนวนพรรคการเมืองตามปี พ.ศ. ที่ได้มีการจัดตั้งพรรค จะพบว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ในรายชื่อที่นำมาวิเคราะห์นั้นถูกจัดตั้งขึ้นหลังปี พ.ศ. 2540 (147 พรรค) ในขณะที่พรรคการเมืองที่ถูกจัดตั้งขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2540 มีน้อยกว่าถึงประมาณ 2 เท่าตัว (69 พรรค) ถึงแม้ว่าจะมีอยู่ในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานกว่าก็ตาม

ดังนั้น การวิเคราะห์ความนิยมในการตั้งชื่อพรรคการเมืองโดยปราศจากมิติด้านเวลา ก็จะทำให้ผลลัพธ์มีความโน้มเอียงที่จะเป็นตัวแทนของชื่อพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะใกล้ หรือเป็นตัวแทนของชื่อพรรคที่ค่อนข้างจะร่วมสมัยหน่อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้แยกข้อมูลออกเป็นสองกลุ่ม แล้วพิจารณาความถี่ของคำที่มีลักษณะสับหลีกกัน กล่าวคือ (1) คำที่เกิดมากครั้งในกลุ่ม pre-40 แต่เกิดน้อยครั้งในกลุ่ม post-40 และ (2) คำที่เกิดน้อยครั้งในกลุ่ม pre-40 แต่เกิดมากครั้งในกลุ่ม post-40

เราจะพบว่ากลุ่มคำ ‘เพื่อ-พลัง-ไทย-แผ่นดิน’ เป็นคำที่ใช้มากในกลุ่ม post-40 ในขณะที่คำ ‘สังคมนิยม-ประชาธิปไตย-สห-สหพันธ์-ขบวนการ’ เป็นคำที่พบมากกว่าในกลุ่ม pre-40

 

คำสำคัญในชื่อพรรคการเมืองเปรียบเทียบก่อน-หลังปี 2540

 

ผลการวิเคราะห์ชื่อพรรคการเมืองโดยการเพิ่มข้อพิจารณาด้านเวลา สะท้อนให้เห็นว่าการตั้งชื่อพรรคการเมืองของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา มีแนวโน้มที่จะแสดงลักษณะชาตินิยมมากขึ้นและสะท้อนจุดยืนเกี่ยวกับระบอบและอุดมการณ์ทางการเมืองน้อยลง

คำหลายคำที่ได้รับความนิยมในอดีตเช่นคำว่า ‘แนว’ หรือ ‘แนวร่วม’กลายเป็นคำที่ล้าสมัย ในขณะที่คำว่า ‘สังคมนิยม’ กลายเป็นคำที่ไม่ได้รับความนิยมในการใช้ตั้งชื่อพรรคการเมือง

คำอธิบายอีกประการหนึ่งที่พอจะมีความเป็นไปได้ก็คือ มีความพยายามที่จะตั้งชื่อพรรคเลียนแบบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมสูงจากประชาชน ทั้งนี้พรรคที่ได้รับความนิยมสูงในระยะใกล้มานี้มักจะใช้คำว่า เพื่อ, พลัง, ไทย เป็นส่วนหนึ่งของชื่อพรรค เช่น พรรคไทยรักไทย, พรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น

ในขณะที่คำกลางๆ ที่เคยได้รับความนิยมและถูกนำมาใช้ตั้งชื่อพรรคอย่างสม่ำเสมอ เช่น ประชา, ประชาชน, สังคม, เสรี เป็นต้น ได้รับความนิยมลดลงในปัจจุบัน

‘ประชาธิปไตย’ ก็เช่นกัน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save