พระปรมาภิไธยสมเด็จพระมหากษัตริย์

พระปรมาภิไธยสมเด็จพระมหากษัตริย์

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” แล้ว นับเป็นมงคลสมัยที่ยังความปลื้มปีติมายังอาณาราษฎรอย่างหาที่สุดมิได้

แต่จะเห็นได้ว่า พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ต่างจากพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรที่ทรงใช้มาตลอดรัชสมัยอย่างมีนัยสำคัญ ดังในรัชกาลก่อนมีพระปรมาภิไธยจารึกในสุพรรณบัตรว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”

ด้วยความสนใจนี้ จึงได้สืบค้นเรื่องพระปรมาภิไธยสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในพระบรมราชจักรีวงศ์มานำเสนอ ตามความรู้ความสามารถที่มีอยู่ไม่มาก หากพลั้งพลาดประการใดไป ขอท่านผู้รู้โปรดชี้แนะ

พระสุพรรณบัฏของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลก่อน
พระสุพรรณบัฏของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลก่อน ที่มา:https://web.facebook.com/Sahamongkolfilm/photos/a.10154863847069214/10154715646794214/?type=1&theater

หลักการของพระปรมาภิไธย

นายภาวาส บุนนาค อดีตรองราชเลขาธิการ อธิบายเรื่องพระปรมาภิไธยสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นหลักไว้ได้อย่างกระชับ ดังนี้

  1. พระปรมาภิไธยสมเด็จพระมหากษัตริย์ มี 3 อย่าง คือ (1) อย่างเต็มที่ ซึ่งประกอบด้วยถ้อยคำแสดงพระคุณลักษณะต่างๆ มากมายหลายวรรค จารึกลงพระสุพรรณบัฏเมื่อรับพระบรมราชาภิเษก (2) อย่างมัธยม ที่ตัดทอนคำตกแต่งออกเสียบ้างให้สะดวกแก่การนำไปใช้ในการต่างๆ  และ (3) อย่างสังเขป ซึ่งมีแต่พระบรมนามาภิไธยกับพระนามแผ่นดิน หรือให้มีแต่พระนามแผ่นดินเพียงประการเดียว

ตัวอย่างเช่น ในหลวงรัชกาลที่ 7 มีพระปรมาภิไธยอย่างเต็มที่ว่า

รัชกาลที่ 7 พระปรมาภิไธย
ที่มา:http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2468/A/E/0.PDF

มีพระปรมาภิไธยแบบมัธยมว่า

ที่มา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/529.PDF

และมีพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปคือ

ที่มา:http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2476/A/838.PDF

ดังในรัชกาลปัจจุบัน ไม่มีพระปรมาภิไธยอย่างเต็มที่ แต่มีพระปรมาภิไธยอย่างมัธยมว่า

และอย่างสังเขปว่า

ที่มา: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/B/014/T_0002.PDF
  1. ในรัชกาลที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 พระปรมาภิไธยอย่างเต็มที่ของทั้ง 3 พระองค์ เป็นอย่างเดียวกันหมด คือขึ้นต้นด้วย “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” และลงท้ายว่า “บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว”
ที่มา: https://www.matichonweekly.com/column/article_188622
  1. รัชกาลที่ 3 ถวายพระนามแผ่นดินสำหรับสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชและสมเด็จพระบรมชนกนาถว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และ “พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย” เพื่อให้ใช้แทนคำว่า “แผ่นดินต้น” และ “แผ่นดินกลาง” ที่ราษฎรพากันเรียกขาน ส่วนพระนามแผ่นดิน “พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ของรัชกาลที่ 3 นั้น รัชกาลที่ 4 มาถวายในภายหลัง

โดยในรัชกาลที่ 4 ถวายพระปรมาภิไธยอย่างมัธยมแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 1 ที่ 2 และที่ 3  และจารึกลงพระสุพรรณบัฏด้วย ทั้งนี้ทรงเปลี่ยนสร้อยพระนามรัชกาลที่ 2 เป็น “พระพุทธเลิศหล้านภาลัย”

  1.  รัชกาลที่ 4 เป็นผู้วางแบบแผนการถวายพระปรมาภิไธยสมเด็จพระมหากษัตริย์ตั้งแต่แผ่นดินของพระองค์ไปว่า ให้ขึ้นต้นพระปรมาภิไธยด้วยพระนามเดิมของพระมหากษัตริย์ แล้วลงท้ายด้วยพระนามแผ่นดินอันเป็นนามสำหรับให้ราษฎรกล่าวถึง ตามแนวคิดนี้มาจากคติเทวราชา ที่ว่าพระนามของพระมหากษัตริย์ศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าจะเอ่ยพร่ำเพรื่อได้ นอกจากนี้ ยังทรงกำหนดให้ใช้คำว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร” กับ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทร” นำพระปรมาภิไธย สลับรัชกาลกันต่อไป

5.ครั้งถึงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลใหม่ โดยให้ขึ้นต้นว่า “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร” และให้ขานพระปรมาภิไธยอย่างย่อว่า “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี” ที่ 1 ที่ 2 … ไปจนถึง “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีรัชกาลปัตยุบัน”\

ที่มา: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/A/212.PDF
  1. ถึงรัชกาลที่ 7 โปรดฯ ให้กลับไปใช้อย่างเดิมตามแบบรัชกาลที่ 4 ว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทร” แล้วนำคำ “รามาธิบดี” มาคงไว้ในวรรครอง

ต่อมาในรัชกาลที่ 8 และที่ 9 ยังคงรูปแบบขึ้นต้นตามอย่างรัชกาลที่ 4 และคงคำรามาธิบดีไว้ในวรรครองเช่นเดียวกัน  อย่างไรก็ดี พระปรมาภิไธยที่ถวายนั้นเป็นอย่างมัธยม โดยไม่มีพระปรมาภิไธยอย่างเต็มที่ อีกทั้งมิได้กำหนดพระนามแผ่นดินสำหรับให้ราษฎรเรียกขานตามแบบแผนที่เคยเป็นมาด้วย

โดยเหตุนี้ นายภาวาส บุนนาค จึงตั้งข้อสังเกตว่า “ทำให้เกิดความขัดข้องอย่างยิ่ง ถ้าจะเขียนพระปรมาภิไธยอย่างสังเขป โดยไม่ต้องออกพระนามเดิม ต้องฝืนเขียนอย่างกำเริบว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล” และ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”  แม้จะขานพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” หรือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ก็ยังดูนอกแบบแผน ไม่พ้นกำเริบนั้นเอง

พระนามแผ่นดิน – พระปรมาภิไธยอย่างสังเขป

จึงพอสรุปพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์อย่างสังเขป เรียงลำดับตามรัชสมัยได้ว่า

  1. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
  2. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
  3. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า
  4. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  5. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  6. พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
  7. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
  8. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
  9. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

จะเห็นได้ว่า สำหรับรัชกาลที่ 8 และ 9 นั้น เมื่อถวายพระปรมาภิไธยแล้ว ไม่ได้ถวายพระนามแผ่นดินแต่อย่างใด คงสิ้นสุดเพียงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น

แม้ในคราวที่มีพระราชพิธีฉลองทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” คณะรัฐมนตรีที่ได้ถวายพระปรมาภิไธยในหลวงรัชกาลที่ 8 “เป็นพระปรมาภิไธยอันวิเศษตามแบบแผนโบราณราชประเพณี” ก็ยังมิได้ถวายพระนามแผ่นดิน ดังนี้

ที่มา: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2539/B/011/1.PDF

พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน

สำหรับพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” จะเห็นได้ว่าเป็นการสมานพระราชนิยมของในหลวงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 6 ได้อย่างแนบเนียนกลมกลืน กล่าวคือนำด้วย “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร” สำหรับรัชกาลเลขคู่ และมี “รามาธิบดีศรีสินทร” ตามมา ก่อนจะเป็นพระบรมนามาภิไธยคือ “มหาวชิราลงกรณ” แล้วตามด้วยสร้อยพระนามอย่างมัธยมที่ปรากฏร่องรอยแห่งพระนามของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ซึ่งเสวยราชย์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงได้รับการถวายพระนามแผ่นดิน ดังที่ปรากฏว่า “พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”  ข้อนี้นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้ เคยมีคำอธิบายเรื่องการเลิกใช้พระนามแผ่นดินที่สามารถรับฟังได้ว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับอำนาจการปกครองบ้านเมือง กล่าวคือ เหตุที่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 แล้ว ไม่มีการถวายพระนามแผ่นดินอีก เพราะในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประเทศหรือแผ่นดินนี้เป็นของพระมหากษัตริย์  แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองให้พระมหากษัตริย์มาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ประเทศหรือแผ่นดินจึงเป็นของราษฎร ทำให้ไม่มีการถวายพระนามแผ่นดินให้ราษฎรเรียกขานอีก ส่วนที่ไม่ได้ไปแตะต้องพระปรมาภิไธยหรือพระนามแผ่นดินของรัชกาลที่ 7[1] นั้น คงเป็นผลของการประนีประนอม

ซึ่งเป็นคำอธิบายที่น่ารับฟัง ดังจะเห็นได้ใน ประกาศคณะราษฎร ที่มีขึ้นในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ความตอนหนึ่งว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”

อย่างไรก็ดี เมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลปัจจุบันแล้ว มีการถวายพระนามแผ่นดิน “พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”  คำอธิบายดังกล่าวก็เห็นจะเป็นอันใช้ไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากในปัจจุบันเรายังคงอยู่ในระบอบประชาธิปไตย มิได้มีการย้อนหลังกลับไปสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่ประการใด

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะมีท่านผู้รู้แนะนำว่าเพื่อให้เป็นไปตาม “แบบแผน” และ “พ้นกำเริบ” นั่นเอง

ผู้เขียนมีความรู้น้อย มิทราบถึงเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ จึงได้แต่ตั้งเป็นคำถามให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยไขข้อสงสัยนี้ต่อไป

อ้างอิง

Wales, H. G. Q., พระราชพิธีแห่งกรุงสยาม ตั้งแต่โบราณกาลถึง พ.ศ. 2475, แปลโดย สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ (กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, 2562), น. 41.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. สาส์นสมเด็จ (พระนคร: คุรุสภา, 2506), น. 321.

ภาวาส บุนนาค. พระปรมาภิไธยสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537), น. 37-38.

ธงทอง จันทรางศุ, “พระปรมาภิไธย,” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 เมษายน 2562  

ถาวร สิกขโกศล, สัมภาษณ์, 14 พฤศจิกายน 2560.

[1] หลังจากสละราชสมบัติแล้ว เคยมีการออกพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชปิตุลา เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลที่ ๗” (ดู  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2492/D/029/2262.PDF)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save