fbpx
มองสังคมและการเมืองผ่านงาน ‘คอลลาจ’ กับ นักรบ มูลมานัส

มองสังคมและการเมืองผ่านงาน ‘คอลลาจ’ กับ นักรบ มูลมานัส

ภูริช วรรธโนรมณ์ เรื่อง

พาฝัน หน่อแก้ว ภาพ

นักรบ มูลมานัส ภาพคอลลาจ

ในทศวรรษที่ประเทศไทยตกอยู่ในวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันยุ่งเหยิง ความคิดเห็นแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย ช่วงที่ผ่านมาจึงมีการแสดงความเห็นทางการเมืองให้เห็นในหลายพื้นที่ สังคมออนไลน์ถูกแปรสภาพให้กลายเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็น มีความดุเดือดเลือดข้นไม่แพ้ถนนราชดำเนิน หรือสี่แยกราชประสงค์ แต่ละคนสามารถออกความเห็นเรื่องสังคมการเมืองในมุมมองของตัวเองได้อย่างเปิดกว้างและเสรี ไม่ว่าจะเป็นงานทางความคิดหรืองานศิลปะ

หากพูดถึงงานสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมอันมีลักษณะเฉพาะตัว ก็คงไม่หนีพ้นงานศิลปะภาพตัดแปะที่ดูยุ่งเหยิงและวุ่นวาย อันเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะแบบ ‘คอลลาจ’ งานออกแบบที่เกิดมาแล้วนับพันปี ที่ทุกวันนี้สามารถนำเสนอในรูปแบบของไฟล์ JPEG และโพสต์ขึ้นบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย

ลายเส้นและภาพที่มีการจัดองค์ประกอบอันเป็นการผสมผสานกันระหว่าง ‘ความเป็นไทย’ และ ‘ศิลปะหลากแขนง’ จากทุกมุมโลก จนก่อให้เกิดงานคอลลาจที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ ‘นักรบ มูลมานัส’ ศิลปินคอลลาจอิสระ ได้รับการจับตามองในฐานะนักสร้างสรรค์งานภาพบนโลกออนไลน์

101 ชวน นักรบ มาสนทนาถึงเรื่องการสะท้อนสังคมและการเมืองผ่านงานศิลปะคอลลาจ ในฐานะศิลปินที่ไม่ได้เรียนศิลปะ และเป็นเจ้าของเพจ ‘Nakrob Moonmanas the Collagist’ พื้นที่เผยแพร่ภาพคอลลาจที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับศิลปะวัฒนธรรม รวมถึงการเมืองและสังคมที่เป็นกระแสบนโลกดิจิทัล

นักรบ มูลมานัส

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณสนใจงานศิลปะคอลลาจ

ต้องย้อนกลับไปสมัยที่ยังเรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความที่เป็นนิสิต ต่างคนต่างมีมุมมองเกี่ยวกับสังคมอยู่แล้ว ตอนนั้นใครอยากจะแสดงความคิดเห็นก็มักถ่ายทอดงานออกมาในลักษะของงานเขียน ซึ่งเราคิดว่าจริงๆ น่าจะมีการนำเสนอแบบอื่นบ้างที่นอกเหนือจากงานวิชาการ จึงคิดอยากจะนำเสนอมุมมองของเราออกมาในรูปของ ‘งานภาพ’ เพราะตัวเราก็สนใจเรื่องราวของวัฒนธรรมภาพ ซึ่งก็เป็นศิลปะในการถ่ายทอดมุมมองทางความคิดอีกแขนงหนึ่ง

ช่วงแรกก็มีอุปสรรคอยู่บ้างเพราะทำออกมาไม่สำเร็จสักอย่าง เลยลองคิดถึงสมัยก่อน ที่เรามักจะชอบเก็บสะสมสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร แสตมป์ โปสการ์ด แล้วเอามาตัดแปะเป็นงานส่งอาจารย์ในคาบวิชาศิลปะ พอได้แนวทางก็ตัดสินใจทำอีกครั้ง ซึ่งก็ตอบโจทย์

 

สำหรับคุณอะไรคือความโดดเด่นของงานคอลลาจ

ความโดดเด่นของศิลปะแบบคอลลาจ คือการหยิบสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือนำวัสดุหลายๆ อย่าง มาจัดองค์ประกอบให้เกิดเป็นงานชิ้นใหม่  ตามประวัติศาสตร์ คอลลาจมีมาตั้งแต่ยุคที่เริ่มประดิษฐ์กระดาษขึ้นมาแล้ว ตั้งแต่ในยุคจีนโบราณ มนุษยชาติได้มีการทำงานศิลปะในลักษณะนี้มาเรื่อยๆ

ต่อมาในยุคต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อ ปาโปล ปิกัสโซ่ ศิลปินชื่อดังในยุคนั้นหยิบงานศิลป์แขนงนี้ขึ้นมาทำ งานคอลลาจเลยได้รับความนิยม และถูกยกให้เป็นงานศิลปะยุคใหม่ ที่มีการเอาความหมายของภาพเดิมมาตีความใหม่ ซึ่งจะบอกว่าทำง่ายมันก็ง่าย จะบอกว่าทำยากมันก็ยาก มันดูสลับซับซ้อนอยู่แต่ก็มีความน่าสนใจตรงที่ผลงานไม่ได้เกิดจากฝีแปรงหรืออารมณ์ของศิลปินแบบในยุคเรเนซองส์เพียงอย่างเดียว มันอยู่ที่ความคิดของผู้สร้างสรรค์ด้วยว่าอยากจะหยิบจับอะไรมาวางรวมๆ กันให้เป็นภาพที่เล่าเรื่องได้

อะไรคือความท้าทายในการสร้างสรรค์ผลงานของคุณ

ทำงานด้านนี้มา 4-5 ปี เราก็เริ่มรู้สึกว่า ไปๆ มาๆ ผลงานของเราเริ่มที่จะลงรอยเดิม เหมือนเราทำออกมาด้วยความเคยชิน ว่าสิ่งนี้ต้องมาชนกับสิ่งนั้น จึงกลายเป็นรูปแบบงานเดิมๆ ซึ่งการที่เรายังอยู่ในคอมฟอร์ทโซนแบบนี้ทำให้คอลลาจดูไม่สดใหม่ แน่นอนว่าจะต้องแก้ด้วยการรีเฟรชตัวเองอยู่เรื่อยๆ

ยิ่งความเปลี่ยนผ่านของยุคเทคโนโลยีก็ทำให้เราต้องคอยคิดที่จะพัฒนางานอยู่เรื่อยๆ ความท้าทายใหม่ๆ ก็มีเพิ่มมากขึ้น อย่างตอนนี้ก็อยากจะลองทำให้ออกมาเป็นสามมิติ หรือไม่ก็งานวิดีโอเคลื่อนไหว รวมถึงยังอยากทำให้ออกมาในรูปแบบของ conceptual art  สิ่งเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นโจทย์ต่อไปในการทำงาน

 

นักสร้างสรรค์มักจะมีความโดดเด่นที่ซ่อนอยู่ในผลงานของตัวเอง แล้วคุณคิดว่าอะไรคือลายเซ็นที่แฝงอยู่ในงานศิลปะของคุณ

งานเราจะมีการใช้ local element ด้วยการใส่ความเป็นไทยเข้าไป เพราะเราก็เรียนมาทางด้านภาษาและวรรณคดี งานของเราจึงเน้นองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมและวัฒนธรรม อีกทั้งเราก็ยังสนใจศิลปะในยุคที่ชาติตะวันตกเริ่มเข้ามาในสยาม เลยไปดูงานสร้างสรรค์ที่ปรากฏขึ้นในสังคมสมัยนั้น ก็คิดว่าน่าสนใจดี ซึ่งก็ยังไม่มีใครเคยทำออกมาในรูปแบบงานศิลป์ร่วมสมัย เราก็เลยหยิบจับสิ่งเหล่านั้นมาใส่ในงานตัดแปะของเรา คอลลาจของนักรบ มูลมานัส จึงไม่ใช่งานในมิติที่เป็น high art แต่เป็นมิติที่แสดงถึงความหลายหลายของวัฒนธรรมที่มีแง่มุมอันลึกซึ้ง

ซึ่งเอกลักษณ์ที่ปรากฏในคอลลาจของเราก็มีทั้งคนชอบและไม่ชอบด้วย เพราะบางคนก็ยังยึดติดอยู่กับวาทกรรมความเป็นไทยว่าต้องเป็นอะไรที่สูงส่งอยู่บนหิ้งเท่านั้น บางชิ้นจึงถูกมองเป็นงานที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร ไม่ถูกต้อง

นักรบ มูลมานัส ภาพคอลลาจ

นักรบ มูลมานัส ภาพคอลลาจ

คุณคิดว่าเสียงวิจารณ์เหล่านี้ เกิดจากความเปราะบางทางความคิดของคนในสังคมเกี่ยวกับงานศิลปะหรือเปล่า

เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ความเปราะบางของสังคมในแง่มุมทางศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความเปราะบางทางสังคมในทุกๆ แง่มุมเลย ถ้าหยิบประเด็นในมุมทางศิลปะมาพูด เราว่าคนไทยยังขาดมุมมองในการเสพงานศิลปะอยู่ แต่ไม่ว่าจะเป็นเสียงวิพากษ์หรือวิจารณ์ก็เป็นสิ่งที่ดี ยังน่าสนใจอยู่ในแง่ที่ว่า เราทำภาพอะไรออกมาชิ้นหนึ่งโดยใช้กระบวนการทางศิลปะ แล้วเกิดความคิดที่แตกต่างกันไปของผู้เสพงานของเรา

แรกๆ ยอมรับว่ากังวลนะที่มีการตั้งคำถามและมาตีความว่าเราเจตนาไม่ดี อย่างการใช้พระบรมฉายาลักษณ์ หรือการนำรูปที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทยมานำเสนอ ก็มีเหมือนกันที่ต้องกลับมาทบทวนสิ่งที่เราทำว่ามันไม่ดีไม่ถูกต้องหรือเปล่า แต่เราก็คิดว่าสิ่งที่เราทำลงไปก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด เพราะก่อนทำงานทุกชิ้นเราได้มีการศึกษาเกี่ยวกับที่มาที่ไปของการใช้และหยิบจับสิ่งต่างๆ มาผสมผสานจนเกิดเป็นชิ้นงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ถูกต้อง จึงยืนหยัดที่จะทำต่อไป

ต้องยอมรับว่างานศิลปะของคุณที่สื่อถึงเรื่องการเมือง ก็เป็นเรื่องที่พูดถึงกันอย่างมากในสังคมออนไลน์ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับกระแสดังกล่าว

การเมืองกับศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มายาวนานแล้ว ซึ่งการที่อยู่เราอยู่ในยุคที่มีการเมืองแบบนี้ ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ คนในสังคมก็ต้องให้ความสนใจอยู่แล้ว เพราะทุกคนก็ต้องเสียภาษีและเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากรัฐบริหารงานผิดพลาด ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนจะตื่นตัวกันเมื่อได้เสพงานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมือง

อีกแง่มุมก็เริ่มรู้สึกว่างานศิลปะนอกจากจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความเพลิดเพลินบันเทิงใจแล้ว ยังเป็นอาวุธที่ช่วยในการต่อรอง คือการส่งข้อความอะไรสักอย่างถึงคนหมู่มาก ซึ่งก็อาจจะกระทบต่อผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองด้วย

นักรบ มูลมานัส ภาพคอลลาจ

นักรบ มูลมานัส ภาพคอลลาจ

หากพูดถึงบทบาททางการเมืองของนักศิลปะแล้ว ศิลปินจำเป็นต้องมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนหรือไม่

หากคุณจะเรียกตนเองว่าศิลปินหรือนักออกแบบแล้ว การสร้างสรรค์ผลงานของคุณไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึงเรื่องการเมืองทั้งหมด เพราะเรารู้สึกว่างานศิลปะหรืองานสร้างสรรค์ก็ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความรู้สึกของศิลปินที่อยากจะพูดถึงเรื่องราวและแนวคิดที่แตกต่างกันไป เนื่องจากแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน

แต่ทุกๆ คนก็ควรที่จะไม่ไร้เดียงสากับการเมือง ไม่ว่าคุณจะเป็นศิลปินหรือไม่ก็ตาม เราก็ควรที่จะติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในสังคม แล้วเราควรจะอยู่ฝั่งไหน แต่สำหรับงานศิลปะไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึงเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว ควรพูดถึงสิ่งที่เรารู้สึกหรืออะไรที่อยากเล่ามากกว่า

แล้วอะไรคือความเป็นกลางของงานศิลปะ

หากให้คนสิบคนมาดูงานศิลปะสักหนึ่งชิ้น แล้วถามเขาว่าคุณเห็นอะไรจากงานชิ้นนั้น เราเชื่อมั่นว่าสิบคนไม่มีวันที่จะพูดเหมือนกัน 100 เปอร์เซ็นต์ นี่แหละที่เราคิดว่าคือความเป็นประชาธิปไตยที่ซ่อนอยู่ในงานออกแบบ

งานสร้างสรรค์เหล่านี้ไม่ได้บังคับให้คนดูตีความแบบเดียวกัน เลยคิดว่างานศิลปะมีความเป็นกลางในรูปแบบของมัน ความที่ไม่ได้ฟันฉับว่าคุณเห็นสิ่งนี้แล้วคุณจะคิดว่าอันนี้เป็นศิลปะเสื้อแดง อันนี้เป็นศิลปะสลิ่ม

นักรบ มูลมานัส

หากเปรียบเทียบกับ ‘ยุคเดือนตุลาฯ’ อันเป็นช่วงเวลาเฟื่องฟูของงานศิลปะทางการเมือง คุณคิดว่างานศิลป์ในทุกวันนี้มีความแตกต่างกันเพียงใด ในแง่ของการแสดงออกทางความคิดของศิลปินรุ่นใหม่

ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่พยายามรวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนโดยใช้งานศิลปะเป็นช่องทางสะท้อนมุมมองความคิดทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ภาพ ข้อความ หรือแม้กระทั่งบทแพลง อย่างเช่น การประท้วงใหญ่ในฮ่องกง ที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการใช้เพลง Do You Hear The People Sing รวมถึงการทำแคมเปญต่างๆ เพื่อสื่อสารกับผู้มีอำนาจ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงของกลุ่มวัยรุ่นที่มีความคิดเหมือนกันให้เข้ามารวมตัวเพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่าง ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จอย่างมากด้านการระดมมวลชน

เราก็เลยรู้สึกว่าศิลปะที่เกิดขึ้นในยุคนี้อยู่ในครรลองเดียวกันกับช่วงเดือนตุลาฯ แต่แตกต่างกันที่รูปแบบและช่องทางการนำเสนอ รวมไปถึงความรุนแรงของข้อความที่มีการเผยแพร่ออกไปเท่านั้น

 

คุณคิดว่าเนื้อหาที่ถูกลดทอนความรุนแรงลงไป เป็นปัจจัยที่ทำให้ศิลปะทางการเมืองในยุคนี้มีพลังน้อยลงหรือไม่

เรารู้สึกว่าไม่นะ แต่อยู่ที่การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยมากกว่า หากย้อนไปยุคเดือนตุลาฯ ตอนนั้นมีกระแสศิลปะเพื่อชีวิตซึ่งก็เป็นกระแสที่โดนใจมวลชน เนื่องจากเป็นงานศิลปะที่พูดถึงความจริงในสังคม ถ่ายทอดออกมาผ่านงานวรรณกรรมและบทเพลง คนในยุคนั้นจึงมีอารมณ์ร่วมกับงานศิลปะเหล่านั้น แต่ถ้าให้คนยุคนี้อ่านงานประเภทดังกล่าว ก็อาจจะไม่ได้มองเห็นภาพสักเท่าไหร่ เพราะปัจจุบันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ดึงดูดความสนใจคนรุ่นใหม่มากมายเหลือเกิน มันกลายเป็นสิ่งที่บดบังและลดทอนความน่าสนใจของเนื้อหาทางสังคมเหล่านี้

อย่างเราก็เคยอ่านนวนิยายของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เนื้อหาดีแต่บางอย่างก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน รู้สึกว่าเป็นอุดมคติมากๆ เราเห็นความทุกข์ยากของคนอื่น แต่เราก็ไม่ได้อยากจะออกไปประท้วงบนท้องถนน ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับบรรยากาศของยุคสมัยด้วย

 

คุณมีวิธีการกำหนดขอบเขตหรือตั้งระดับเพดานความหนักเบาของเนื้อหาในชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร

บริบทในการแสดงออกของสังคมไทย เหมือนถูกฝังหัวด้วยเมล็ดพันธุ์ทางความคิดมาตั้งแต่เกิด เราถูกกล่อมด้วยสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ปิดกั้นความคิดความอ่าน จึงส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

สำหรับเรื่องขอบเขตในการทำงาน เรารู้สึกว่าควรที่จะมีเรื่องราวที่ต้องพูดกันมากมาย แต่ผู้ที่อยู่ในวงการงานศิลปะหรืองานทางด้านความคิด จะต้องมีกลไกในการเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่แล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าบ้านเมืองเราเปิดกว้างด้านสิทธิเสรีภาพในการคิดการพูดมากกว่านี้น่าจะสนุกกว่า แต่ก็ด้วยบรรยากาศทางการเมือง ด้วยระบบสังคมอาวุโส ด้วยระบบเผด็จการทหาร ความเป็นอำนาจนิยมต่างๆ ในเมืองไทยเหมือนเป็นเงาดำๆ ที่คอยขยุ้มเราอยู่ มึงทำแบบนี้ไม่ได้นะ อย่าแรงเกินไปนะ เราจึงไม่สามารถที่จะพูดได้ทุกเรื่อง

 

ในขณะที่ศิลปินเองก็ยังต้องมีการเซนเซอร์ตัวเองอยู่ แล้วใครล่ะจะเป็นผู้ที่แสดงจุดยืนทางความคิด

ในสังคมที่เจริญแล้ว การเมืองเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สามารถออกมาแสดงความคิดเห็นกันได้เป็นเรื่องปรกติ เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้คนไทยควรที่จะต้องเรียนรู้อยู่แล้ว อะไรถูกอะไรผิด อะไรควรเป็นไม่ควรเป็น การออกมาแสดงจุดยืนทางความคิดไม่ใช่หน้าที่ของศิลปินหรือนักสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานหรือข้อความที่เกิดขึ้นจากฝีแปรงหรือปลายปากกาของศิลปินก็ไม่ได้สำคัญมากน้อยไปกว่าคำพูดของประชาชนเลย

นักสร้างสรรค์หรือนักคิดนักเขียนไม่ใช่คนกลุ่มเดียวในสังคมที่จะชี้นำแนวคิดได้ทุกอย่าง  ประชาชนทุกคนมีพลังในการชี้นำสังคมเท่าๆ กัน โดยเฉพาะในยุคที่ทุกๆ คนมีวิถีทางในการเปิดภาพความคิดของตัวเอง อย่างการมีบทบาทในสื่อสังคมออนไลน์ สำคัญมากเลยที่คนเราควรจะตระหนักในหน้าที่ตรงนี้

และสำหรับคนบางคนที่ออกมาบอกว่า รัฐบาลทำดีที่สุดแล้ว เดี๋ยวปัญหาต่างๆ ก็ผ่านไปเอง เราก็คิดว่าศิลปินควรที่จะทำงานออกมาเพื่อคนกลุ่มนี้มากกว่า เพราะเห็นอยู่แล้วว่ามันเกิดปัญหา แต่ทำไมคุณไม่เห็นว่าเป็นปัญหาล่ะ

 

รู้สึกอย่างไรกับเสียงวิจารณ์ ในเรื่องของการแสดงออกทางความคิดด้านการเมืองผ่านงานศิลปะ ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

จริงๆ เราก็ไม่ได้ทำงานการเมืองเยอะขนาดนั้น แต่เราก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจในมุมมองความคิดของคนนะ แต่เราไม่ติดใจอะไรกับเสียงวิจารณ์ แค่งงๆ ว่ามีคนที่ไม่อยากเลือกตั้งด้วยเหรอ (หัวเราะ) เลยเกิดการตั้งคำถามในหัวของเราว่าทำไมเขาไม่อยากที่จะเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง

สำหรับงานของเรา เราเองก็มีสิทธิเสรีภาพพูดในสิ่งที่เราอยากจะพูด ยิ่งเป็นการสื่อด้วยภาพศิลปะ ช่วงนั้นก็สนุกดี มีความปั่นๆ ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จนะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นมนตร์เป็นกลของการออกแบบทางศิลปะอยู่แล้ว

นักรบ มูลมานัส ภาพคอลลาจ 

ทุกวันนี้สังคมไทยดูซับซ้อนและยุ่งเหยิงไม่ต่างจากงานศิลปะของคุณเลย ในมุมมองของคุณคิดว่ามีโอกาสไหมที่ทุกอย่างจะกลับมาลงตัวเหมือนงานคอลลาจของคุณ

เรารู้สึกว่างานคอลลาจไม่ได้ยุ่งเหยิงหรือเข้ากันได้ ขึ้นอยู่กับคนดูมองและให้คุณค่ามากกว่า ถ้าคุณเห็นว่าเป็นความยุ่งเหยิงมันก็ยุ่งเหยิง แต่ถ้าคุณบอกว่าอยู่รวมกันได้มันก็อยู่ด้วยกันได้ งานศิลปะในแขนงนี้จึงเหมือนกับสังคมและวัฒนธรรมไทยที่เกิดจากการการผสมผสานระหว่างความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศิลปะวัฒนธรรม ที่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากการหลอมรวมและตัดแปะทั้งสิ้น เราคิดถึงภาพรวมของมัน ก็คือภาพคอลลาจนั่นเอง

ดังนั้นเราจะต้องไม่ขังตัวเองให้อยู่ในกรอบของวาทกรรมชาตินิยม เราต้องยอมรับในความแตกต่างและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดการพัฒนา ซึ้งถ้าก้าวผ่านจุดนั้นมาได้ประเทศก็น่าจะเจริญขึ้นไม่มากก็น้อย

นักรบ มูลมานัส

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save