fbpx
เปลือยกายไปชมงานศิลป์

เปลือยกายไปชมงานศิลป์

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

เวลาเดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี เคยมีไหมครับที่คุณรู้สึกอยากถอดเสื้อผ้าเปลือยร่างให้หมด เพื่อจะได้ให้ทุกอณูแห่งศิลปะซึมซับเข้าไปในตัว

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อาจจะไม่เคย แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจะไม่มีใครอยากทำอย่างนั้นหรอกนะครับ

 

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มิวเซียมแห่งหนึ่งในปารีส คือ Palais de Tokyo ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับโทรคาเดโร ได้เปิดอีเวนต์เจ๋งขึ้นมาอย่างหนึ่ง นั่นก็คือเขาให้แขกสามารถ ‘เปลือยกาย’ เข้าไปชมงานศิลปะได้

มิวเซียมแห่งนี้เป็นมิวเซียมงานศิลปะสมัยใหม่และงานศิลปะร่วมสมัย ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส

คำถามแรกที่คุณอาจถามก็คือ – แล้วทำไมต้องเปลือย ตามมาด้วยคำถามที่สองว่า – แล้วมีคนเปลือยกายเข้ามาชมงานจริงๆ หรือ

ทั้งสองคำถามนี้ ที่จริงแล้วเป็นคำถามเดียวกัน เพราะถ้าคุณเข้าใจว่าทำไมต้องเปลือย คุณก็จะรู้ว่าเอาเข้าจริงแล้วมีคนเปลือยกายทำโน่นนั่นนี่อยู่ไม่น้อยทีเดียวครับ

คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่าเป็น Naturist ซึ่งหาใช่นักนิยมธรรมชาติเฉยๆ แต่คือ ‘ขบวนการ’ หรือ Movement ที่เป็นทั้งขบวนการทางวัฒนธรรมและการเมือง ในอันที่จะสนับสนุน ปกป้อง และฝึกฝน เพื่อให้ตัวเองและสังคมที่ตัวเองอยู่นั้น ‘เปลือย’

สมาพันธ์นักเปลือยระหว่างประเทศ หรือ International Naturist Federation ที่ก่อตั้งขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อปี 1974 ได้ให้นิยามของคำว่า Naturism เอาไว้ว่าคือ

A way of life in harmony with nature characterised by the practice of communal nudity with the intention of encouraging self-respect, respect for others and for the environment.

นั่นแปลว่าเขาเห็นว่าการเป็น Naturist นั้นเป็น ‘วิถีชีวิต’ แบบหนึ่งนะครับ แถมเป็นวิถีชีวิตที่สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติด้วย โดยมนุษย์เราไม่ควรจะต้องเอาอะไรมาใส่ให้รกรุงรัง แต่ควรเปิดเปลือย เพราะเราถูกสร้างมาแบบนั้น

อย่างไรก็ตาม ขบวนการเปลือยกายเหล่านี้ แม้จะมีการรวมตัวกัน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคลหรือพื้นที่เอกชน เราอาจเคยได้ยินเรื่องของ ‘หาดเปลือย’ (Nude Beach) กันมาเยอะ แต่ส่วนใหญ่แล้วแม้จะเป็นหาดเปลือย ก็ยังเป็นหาดส่วนตัวเสียมากกว่า

หลายคนอาจเข้าใจว่า การเปลือยเหล่านี้เป็นเรื่องทางเพศ แต่ที่จริงแล้วถ้าเราได้เห็นเหล่า Naturist จริงๆ เราจะพบว่าการเปลือยเป็นเรื่องเชิงสังคม หลายครอบครัวไปกันทั้งพ่อแม่ลูก (หรือรวมไปถึงปู่ย่าตายายด้วย) เรียกว่าเปลือยกันทั้งครอบครัว ไม่มีอะไรต้องปิดบังซ่อนเร้นกัน สิ่งที่เรียกว่า ‘เปลือยทางสังคม’ (Social Nudity) จึงเป็นเรื่องที่ ‘ไร้เพศ’ (Asexual) คือไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการทำกิจกรรมทางเพศ หรือไม่ได้เปลือยเพื่อจะ ‘เร้า’ อารมณ์ทางเพศระหว่างกัน

เรื่องของการเปลือยที่ว่านี้ ที่จริงแล้วมีศัพท์เรียกอยู่สองคำที่อาจจะซ้อนทับกัน และหลายคนก็อาจสับสนว่าคำไหนใช้เรียกวิถีแบบไหน คำแรกก็คือ Nudism ซึ่งถ้าจะแปลว่าคำว่า Nudism ก็คือการเปลือย (Act of Being Naked) ไม่ว่าจะเปลือยเพื่ออะไรก็ตามแต่ แต่ถ้าเป็น Naturism นั้น จะกลายเป็น ‘วิถีชีวิต’ (Lifestyle) ที่การเปลือยนั้นมีปรัชญาเรื่องของการ ‘เปิด’ และการ ‘โอบรับ’ ธรรมชาติต่างๆ เข้าสู่ตัวเอง ดังนั้น Naturism จึงเป็นเรื่องของการเคารพธรรมชาติ เคารพตัวเอง เคารพในร่างกายของผู้อื่น โดย Naturism ในแต่ละประเทศหรือแต่ละคลับเปลือย ก็อาจมีปรัชญาและหลักปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ เช่น บางแห่งก็เปลือยแบบ Naturism โดยมีการฝึกปฏิบัติบางอย่างประกอบ เช่น เล่นโยคะ, ทำงานฝีมือ, เชื่อในการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ฯลฯ โดยความเชื่อร่วมของ Naturism ก็คือ เสื้อผ้าหรือสิ่งทอนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่เป็นธรรมชาติ Naturist ก็เลยเรียกมนุษย์ที่ใส่เสื้อผ้าว่าเป็น Textilist คือเอาสิ่งทอมาห่มคลุมตัว

อย่างไรก็ตาม ขบวนการเปลือยเหล่านี้เราจะเห็นได้ชัดที่สุดในฤดูร้อน เพราะคนจำนวนมากจะออกมา ‘อาบแดด’ (ซึ่งก็คือการ ‘เปิด’ ร่างกายเพื่อรับธรรมชาติในรูปของแสงอาทิตย์ให้เต็มอิ่มไปทั้งเนื้อทั้งตัว) ในที่ต่างๆ ถ้าเป็นคลับหรือหาดเปลือยทั่วไปก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ในเมืองใหญ่ของยุโรปหลายเมือง มีขบวนการแบบนี้ให้เห็นไม่น้อย ซึ่งก็ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งถกเถียงกันว่า เป็นเรื่องที่ควรหรือไม่ควรทำ อย่างเช่นในเยอรมนี เราจะพบคนเปลือยกายในสวนสาธารณะฤดูร้อนได้แทบจะทั่วไป ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนที่เปลือยกายในสวนสาธารณะเหล่านั้นจะเป็น Naturist นะครับ เพราะก็มีปนๆ กันไป ระหว่าง Naturist ที่ยึดถือเรื่องการเปลือยเป็นหลักการในชีวิต กับคนที่แค่อยากจะเปลือยในบางฤดูกาลเท่านั้น

เมื่อปีที่แล้วในปารีส เพิ่งมีการเปิดพื้นที่ที่เรียกว่า Nudist Zone ในสวนสาธารณะทางฝั่งตะวันออกของเมือง คือสวน Bois de Vincennes ขึ้นมา เป็นพื้นที่ที่สามารถเปลือยกายได้โดยอิสระ แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตจำกัด คือไม่ได้ให้คนเปลือยกายเดินไปไหนมาไหนได้ทั่วเมือง

ส่วนการเปิดให้มีการเปลือยกายเข้าชมงานศิลปะที่ Palais de Tokyo นั้น ถือว่าเป็นครั้งแรกเลยที่มีการทำแบบนี้ ซึ่งก็ทำให้นักรณรงค์ Naturist ยินดีเป็นอันมาก

ในวันที่เปิดให้เปลือยเข้าชมงานศิลปะได้ มี Naturist ถึงราว 160 คน เปลือยกายเข้าชมงาน โดยพวกเขาไม่ได้เปลือยกันมาจากบ้านหรอกนะครับ แต่ว่าจะมีเคาน์เตอร์รับฝากเสื้อผ้า พอเข้ามาในมิวเซียมค่อยถอด แล้วจึงค่อยเปลือยร่างเดินชมงานกัน

จูเลียน คล็อด เพนเนกรี (Julien Claude Penegry) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของสมาคมนักเปลือยปารีส (Paris Naturists Association) บอกว่าการเปลือยกายคือ ‘วิถีชีวิต’ ของพวกเขา และเมื่อเป็นวิถีชีวิต ก็แปลว่าพวกเขาควรสามารถเปลือยไปทำโน่นนั่นนี่ได้ด้วย โดยการชมงานศิลปะนั้นถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน การเปิดให้นักเปลือยสามารถเข้าชมมิวเซียมได้ จึงถือเป็นโอกาสพิเศษ และแสดงให้เห็นว่าแนวคิดของผู้คนในโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป เราไม่ได้เห็นว่าการเปลือยเป็นเรื่องลามกจกเปรตหรือเป็นเรื่องผิดบาปเหมือนที่เคยเป็นในยุคหกศูนย์ที่ต้องทำกันแบบลับๆ ล่อๆ อีกแล้ว แต่การเปลือยร่างโดยมีฐานคิดแบบ Naturism ควรเป็นเรื่องที่สังคมให้การยอมรับ และเลิกสร้างอุปสรรคกีดขวาง เลิกเห็นว่านี่เป็นเรื่องต้องห้าม และเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการเปลือยกันได้แล้ว

ปัจจุบัน สมาคมนี้ในปารีสมีสมาชิกมากถึง 88,000 คนแล้วถ้านับรวมคนทั้งฝรั่งเศส พบว่ามี Naturist อยู่มากถึงราว 2.6 ล้านคน ซึ่งนับเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว โดยขั้นตอนต่อไปของการรณรงค์ ก็คือการเปิด ‘คืนเปลือย’ ในคลับ ให้คนสามารถเข้าไปเที่ยวคลับโดยการเปลือยกายได้

ที่จริงแล้ว การเปลือยกายเข้าชมมิวเซียมไม่ใช่เรื่องใหม่มากนะครับ เพราะในปี 2013 แกลเลอรีแห่งหนึ่งในกรุงเวียนนา ก็เคยเชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนถอดเสื้อผ้าออกเพื่อเข้าไปดูนิทรรศการพิเศษที่อุทิศให้กับภาพผู้ชายเปลือยทั้งงานกันมาแล้ว รวมถึงมิวเซียมแห่งหนึ่งในออสเตรเลียก็เคยจัดงานแบบนี้ด้วยเช่นกัน

ส่วนงานในปารีสที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมงานหลายคนประทับใจ ถ้าใครได้ดูภาพ ก็จะได้เห็นภาพที่อาจแปลกตาสักหน่อย เพราะทุกคนเปลือยร่างกันหมด แล้วก็เดินดูงานศิลปะราวกับปล่อยให้พลังงานของศิลปะเหล่านั้นพุ่งตรงสู่เนื้อตัวของพวกเขาเลย หลายคนบอกว่า บรรยากาศดีมาก และกระทั่ง Naturist เอง ก็ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ เพราะมิวเซียมแห่งนี้กว้างมาก ความกว้างโดยที่ตัวเราไม่ได้ใส่เสื้อผ้านั้น มันทำให้เกิดความรู้สึกเปราะบางเวิ้งว้างบางอย่าง จึงได้รับประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะการได้มีปฏิสัมพันธ์กับรูปปั้นประติมากรรมเปลือยทั้งหลายในขณะที่ร่างกายของตัวเองก็เปลือยอยู่เหมือนกัน

ปัจจุบันนี้ เราสามารถค้นหาที่พัก ที่เที่ยว ที่พักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ สำหรับชาว Naturist ได้ง่ายขึ้นมาก แม้แต่ Airbnb ก็มีบริการสำหรับ Naturist ไม่นับรวมคลับ โรงแรม และชายหาดต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยเราก็มี Naturist Association Thailand อยู่ด้วย แต่ส่วนใหญ่สมาชิกจะเป็นคนต่างชาติ ซึ่งก็จะมีกิจกรรมและการแลกเปลี่ยนข่าวสารต่างๆ กัน ทว่าก็ไม่ได้เปิดเผยเต็มที่นัก เพราะคนไทยยังมอง Naturism ในแง่ลบอยู่มาก

 

แต่การทำความเข้าใจวิธีคิดและวิถีชีวิตที่แตกต่างโดยไม่รีบด่วนตัดสินเสียก่อน – ก็เป็นเครื่องทดสอบความ ‘ใจกว้าง’ ที่ดีได้เหมือนกันนะครับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save