fbpx

ความเชื่อเรื่อง “นาค” ในอินโดนีเซีย

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีข่าวว่ารัฐบาลไทยกำหนดให้ ‘นาค’ เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน เพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ และเป็นการต่อยอด soft power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อนาคเป็นความเชื่อร่วมของชาวอุษาคเนย์ ปรากฏอยู่ในตำนานเรื่องเล่าของหลายท้องถิ่นในภูมิภาคนี้ ไม่เฉพาะแต่ในบริเวณภาคพื้นทวีปเท่านั้น แต่มีความเชื่อเรื่องนาคในแถบดินแดนคาบสมุทรซึ่งรวมถึงประเทศอินโดนีเซียด้วย

นาคในชวาและบาหลี

ความเชื่อเรื่องนาคในอินโดนีเซียเห็นได้เด่นชัดในเกาะชวาและบาหลี เนื่องจากเป็นคำว่า ‘นาค’ มาจากภาษาสันสกฤตแปลว่า ‘งูใหญ่’ เป็นสัตว์ในตำนาน นาคในชวารูปร่างเป็นงูยักษ์ ใส่มงกุฎ และไม่มีขา เป็นการผสมผสานความเชื่อเรื่องนาคในศาสนาฮินดู-พุทธเข้ากับความเชื่อท้องถิ่นซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากจีน ในชวานาคหมายถึงเทพเจ้างู ซึ่งสัมพันธ์กับน้ำและความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้นาคยังเป็นได้ทั้งเทพเจ้างูที่ดีและชั่ว หากเป็นเทพเจ้างูที่ดีก็จะดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข หากเป็นเทพเจ้างูที่ชั่วก็จะก่อให้เกิดเหตุเภทภัยต่างๆ นาคอาศัยอยู่ในน้ำหรือโลกใต้พื้นดิน บางท้องถิ่นเชื่อว่านาคมีหน้าตาเป็นมนุษย์ที่มีส่วนร่างกายเป็นงู

เรื่องนาคปรากฏในภาพประติมากรรมตามจันดี[1] เกี่ยวกับน้ำอมฤตในตำนานกวนเกษียรสมุทรจากวรรณกรรมเรื่องมหาภารตะ ตามตำนานเทพและอสูรแย่งชิงน้ำอมฤตกัน โดยเริ่มแรกฝ่ายเทพได้ชักชวนอสูรให้มาช่วยกันกวนเกษียรสมุทรเพื่อให้ได้น้ำอมฤตและหลอกอสูรว่าพวกอสูรจะได้ดื่มน้ำอมฤตด้วย และในการนี้นาคบาซูกี (Basuki) หรือพระยาอนันตนาคราชได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยคือถูกนำมาใช้พันวนรอบยอดเขาพระสุเมรุ โดยเหล่าเทพดึงด้านหางส่วนอสูรดึงด้านหัวของนาค เนื่องจากฝ่ายเทพรู้ว่าพญานาคจะคายพิษออกมา ก็ให้พวกอสูรรับไป ในการกวนเกษียรสมุทรก่อนจะได้น้ำอมฤตได้เกิดสิ่งของวิเศษต่างๆ มากมาย รวมถึงนางอัปสรด้วยเช่นกัน เหล่าอสูรต่างหลงใหลในนางอัปสร จังหวะนั้นเหล่าเทพแอบดื่มน้ำอมฤตก่อน มีเพียงราหูในฝ่ายอสูรที่ไม่หลงใหลนางอัปสร และได้เข้าไปร่วมดื่มน้ำอมฤตด้วย แต่ในที่สุดก็ถูกจับได้ จึงถูกพระนารายณ์ตัดร่างกายออกเป็นสองท่อน

ตำนานกวนเกษียรสมุทรนี้ปรากฏในสถาปัตยกรรมชวาโบราณในศาสนสถานราวคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะในสมัยอาณาจักรมัชปาหิต (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 12-16) มีรูปปั้นและตำนานเกี่ยวกับนาคจำนวนมากในเขตชวาตะวันตก ชวากลางและบาหลี เนื่องจากดินแดนบริเวณแถบนี้ได้รับอิทธิพลศาสนาฮินดูมาก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม เช่นที่บุโรพุทโธ ศาสนสถานาทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่เมืองยอกยาการ์ตาก็ปรากฏรูปปั้นนาคที่มีรูปร่างเป็นคน ในขณะที่บางที่นาคมีรูปร่างเป็นสัตว์ ก่อนหน้ายุคฮินดู-พุทธปรากฏร่องรอยความเชื่อเกี่ยวกับนาคอยู่ก่อนแล้ว ชาวพื้นเมืองอินโดนีเซียมีความเชื่อว่าโลกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนบนและส่วนล่าง ส่วนบนได้แก่พระอาทิตย์, ความสว่าง, ม้า และ นกอินทรี ในขณะที่ส่วนล่างคือพื้นดิน, พระจันทร์, ความมืด, น้ำ, งู/นาค, เต่า และจระเข้

นาคในชวามีความสัมพันธ์กับน้ำ ซึ่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการทำการเกษตรในสังคมยุคโบราณ ในความเชื่อของคนชวานาคเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และนาคยังเป็นผู้ปกป้องคุ้มครอง ดังจะเห็นได้จากปรากฎนาคแกะสลักที่รั้ว, ประตูทางเข้า หรือตามขั้นบันได ซึ่งมีความหมายว่าให้นาคปกป้องสถานที่ดังกล่าว

มีความเชื่อของชาวชวาและบาหลีเกี่ยวกับนาคที่ชื่อว่าอันตาโบกา (Antaboga) เรื่องเล่าเกี่ยวกับนาคอันตาโบกาถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านการแสดงหนังตะลุง ตำนานมีอยู่ว่านาคอันตาโบกามีอำนาจพิเศษ หนึ่งในนั้นคือสามารถชุบชีวิตคนตายได้ นาคอันตาโบกามีภรรยาชื่อเทวีซูเปรตี (Supreti) ชาวชวาเชื่อว่านาคอันตาโบกาเป็นเทพผู้แบกโลกเอาไว้ นอกเหนือจากการสร้างรูปปั้นนาคตามศาสนสถานต่างๆ แล้ว ความเชื่อเรื่องนาคของชาวชวาและบาหลีถูกบันทึกผ่านเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เช่น กริช, เครื่องดนตรี, ลายผ้า และงานประดิษฐ์ต่างๆ ของชาวบ้าน

นาคนอกเกาะชวา

ความเชื่อเรื่องนาคไม่ได้พบได้เฉพาะในเกาะชวาหรือบาหลีเท่านั้น หากยังพบในเกาะอื่นๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่นตำนานทะเลสาบเกิมบาร์ (Kembar) ที่จังหวัดสุมาตราตะวันตก เกาะสุมาตรา ตำนานดังกล่าวเล่าเรื่องชายชราผู้มีนามว่า อินยิก กาดัง บาฮัน (Inyik Gadang Bahan) อยู่มาวันหนึ่งชายชรากำลังจะเข้าปาไปหาฟืนได้พบกับหญิงชราผู้หนึ่งซึ่งได้กล่าวเตือนเขาว่าให้ระวังตัวในป่าเพราะมีอันตราย เมื่ออยู่ในป่าชายชราเห็นต้นไม้ที่โค่นหักทำให้หวนระลึกถึงคำเตือนของหญิงชราและคิดว่าจะเดินทางกลับหมู่บ้าน ในขณะที่ชายชรากำลังมุ่งหน้ากลับหมู่บ้าน เขาถูกสกัดโดยนาคตัวใหญ่ตัวหนึ่ง นาครู้สึกถูกรบกวนโดยชายชรา นาคจู่โจมชายชราด้วยการพ่นไฟใส่ ทั้งสองต่อสู้กัน ในที่สุดนาคเป็นฝ่ายบาดเจ็บเลือดไหลออกทางศีรษะและหาง หลังจากนั้นเลือดนาคได้กลายเป็นทะเลสาบ ซึ่งก็คือทะเลสาบเกิมบาร์นั่นเอง

เมืองกันดางัน (Kandangan) อำเภอฮูลู สุไหง เซอลาตัน (Hulu Sungai Selatan) จังหวัดกาลิมันตันใต้ เกาะกาลิมันตันก็มีความเชื่อเรื่องนาคเช่นกัน เล่าขานกันว่าที่แม่น้ำกันดางันมีสะพานแขวนอยู่และเบื้องล่างคือถ้ำนาค จึงทำให้ไม่สามารถสร้างเสาสะพานได้จนถึงปัจจุบัน และน้ำในแม่น้ำนั้นไม่เคยแห้ง ตำนานนาคที่แม่น้ำกันดางันมีอยู่ว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่งไปหาปลาที่แม่น้ำกันดางันเพื่อนำมาประกอบอาหารเพื่อยังชีพ แต่พวกเขากลับได้ไข่ใบใหญ่มาสองฟองและรู้ได้ว่าไม่ใช่ไข่ปกติ จึงได้ทิ้งไปและหาปลาอีกครั้ง แต่ก็ยังได้ไข่สองฟองใบใหญ่เหมือนเดิม พวกเขาจึงนำไข่กลับบ้านและประกอบอาหาร โดยที่ไม่ได้แบ่งให้ลูกของพวกเขา ตกกลางคืนร่างกายของพวกเขาก็เปลี่ยนไป ค่อยๆ ขยายขึ้น จนพวกเขาทนไม่ไหว จึงได้ออกจากบ้านและพุ่งตรงไปยังแม่น้ำ และในที่สุดพวกเขาก็ได้กลายร่างเป็นนาค แต่ทว่าที่แม่น้ำนั้นมีนาคดั้งเดิมอาศัยอยู่ก่อนแล้ว จึงได้เกิดการสู้รบกัน โดยมีเงื่อนไขว่าหากใครแพ้จะต้องออกไปจากแม่น้ำนั้น นาคสามีภรรยาได้บอกแก่ลูกของพวกเขาว่าถ้าเลือดที่ออกมาเป็นสีน้ำเงินหมายความว่านาคดั้งเดิมพ่ายแพ้ แต่หากว่าเลือดที่ออกมาเป็นสีแดงหมายถึงพวกเขานั้นเองที่พ่ายแพ้ ในที่สุดการประลองก็เกิดขึ้นและเลือดที่ออกมาคือเลือดสีแดง ดังนั้นนาคสามีภรรยาจึงต้องออกจากแม่น้ำนั้นไปและไม่กลับมาอีก เรื่องเล่าและตำนานความเชื่อเกี่ยวกับนาคยังปรากฏอีกในหลายพื้นที่ทั่วประเทศอินโดนีเซีย

ตำนานเทพีนาคแห่งทะเลใต้

ใน Babad Tanah Jawa หรือ ‘พงศาวดารแผ่นดินชวา’ บันทึกว่าตั้งแต่ประมาณ 50,000 ปีที่แล้ว มีเทพีนาคอาศัยอยู่ในชวาบริเวณภูเขาเซล็อค (Selok) พื้นที่ที่เรียกว่าจีลาจัป (Cilacap) ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างเขตชวาตะวันตกกับชวากลาง พื้นที่จีลาจัปเป็นศูนย์กลางสะดือโลกและเป็นที่อาศัยของเหล่าทวยเทพทั่วโลก เทพีนาคแห่งทะเลใต้มีบุตรสามคนได้แก่

1. เทพีบลอร็อง (Blorong) ครองอำนาจทางชวาตะวันตกและชวากลาง มีร่างเป็นงูเห่า

2. เทพีรารา ปานัส (Rara Panas) ครองอำนาจบริเวณชวาตะวันตกและบางส่วนของชวากลาง มีร่างเป็นนาคสีเขียว

3. เทพีนิงรุม (Ningrum) ครองอำนาจบริเวณชวาตะวันออก มีร่างเป็นงูหลาม

เทพีทั้งสามมีนิสัยแตกต่างกัน เทพีรารา ปานัสสวยงามเหมือนกับมารดาของเธอ ในขณะที่พี่สาวคนโตดุดัน ฉุนเฉียว ทรงพลัง และกลายเป็นราชินีแห่งมนต์ดำทั้งปวง ส่วนเทพีนิงรุมเป็นเทพีที่มีบุคลิกเยือกเย็นและอ่อนโยน เธอไม่ค่อยมีบทบาทเหมือนกับพี่ๆ ของเธอ

เทพีบลอร็องได้รับอุปการะธิดาบุญธรรมสองคนได้แก่เทพีกาดีทา (Kaditha) ซึ่งเป็นเจ้าหญิงอาณาจักรซุนดาโบราณ แต่ถูกเนรเทศออกจากอาณาจักรเนื่องจากมีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์และร่างกายมีกลิ่นเน่าเหม็น และเดินระเหเร่ร่อนจนไปพบกับเทพีบลอร็อง ซึ่งได้ให้สัญญาว่าจะทำให้กาดีทากลายเป็นราชินีแห่งยมโลก โดยมีเงื่อนไขว่าเจ้าหญิงจะต้องกระโดดลงไปในทะเลเพื่อจะกลายร่างเป็นวิญญาณ และในที่สุดเจ้าหญิงก็ได้กลายเป็นเทพีครองอำนาจทะเลทางใต้ที่ท่าเรือราตู (Ratu) เมืองซูกาบูมี (Sukabumi) ชวาตะวันตก อีกคนคือธิดาของราชินีลมมีนามว่าเจ้าหญิงนาวังวูลัน (Nawang Wulan) เทพีบลอร็องได้ให้เจ้าหญิงนาวังวูลันปกครองทะเลใต้ เจ้าหญิงนาวังวูลันได้ช่วยเหลือมนุษย์และหาบริวารโดยสัญลักษณ์ของบริวารได้แก่เครื่องแต่งกายสีเขียว อยู่มาวันหนึ่งมีมนุษย์นามว่าเซโนปาตี (Senopati)[2] ซึ่งเป็นแม่ทัพของอาณาจักรหนึ่งได้ไปขอร้องเจ้าหญิงนาวังวูลันให้ช่วยเขาให้ได้เป็นราชาในดินแดนชวา เจ้าหญิงรับปากว่าจะช่วยโดยมีข้อแม้ว่าเซโนปาตีจะต้องแต่งงานกับเจ้าหญิงก่อน หลังจากนั้นเจ้าหญิงได้ช่วยเซโนปาตีสร้างอาณาจักรในชวา ซึ่งก็คืออาณาจักรมะตะรัม เซโนปาตีเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรมะตะรัม (อาณาจักรมะตะรัมซึ่งเป็นรัฐที่ผู้ปกครองเป็นสุลต่านมีอายุอยู่ราวปีค.ศ. 1586-1755) และเป็นความเชื่อมาจนถึงทุกวันนี้ในกลุ่มชาวชวาว่าผู้นำหรือสุลต่านก่อนขึ้นปกครองแผ่นดินต้องผ่านพิธีแต่งงานกับราชินีแห่งท้องทะเลก่อนและจะได้รับอำนาจและพรจากราชินี

กันเจิง ราตู กีดุล (Kanjeng[3] Ratu Kidul)

กับ ญี รอรอ กีดุล (Nyi Roro Kidul)

ตำนานเจ้าหญิงนาวังวูลันสอดคล้องกับตำนานกันเจิง ราตู กีดุลที่เป็นที่รู้จักของชาวชวามาเป็นเวลานาน กันเจิง ราตู กีดุลเป็นเทพีพิทักษ์ทะเลชวาใต้เช่นกัน และผู้คนมักจะคิดว่าเป็นเทพีองค์เดียวกับ ญี รอรอ กีดุลแต่มีบรรดาผู้รู้อธิบายว่าทั้งสองไม่ใช่เทพีองค์เดียวกัน กันเจิง ราตู กีดุลเป็นนางฟ้ามาจากสวรรค์และลงมายังโลกเพื่อช่วยมนุษย์ เช่นลงมาเป็นเทพีแห่งข้าว หรือเทพีศรี (Dewi Sri) ที่เป็นที่เคารพของชาวนาและเกษตรกร นอกจากนั้น กันเจิง ราตู กีดุลยังมีอำนาจเหนือมหาสมุทรอินเดียและมีวังอยู่ที่นั่นด้วย ชาวชวามีความเชื่อว่า กันเจิง ราตู กีดุลเป็นคู่ครองทางจิตวิญญาณของราชามะตะรัมและสืบทอดมายังบรรดาทายาทจนถึงราชวงศ์ซูราการ์ตา (เมืองโซโล) และยอกยาการ์ตา ซึ่งตำนานเรื่องเล่านี้เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ปกครองอาณาจักรชวา

ส่วน ญี รอรอ กีดุล ตามตำนานคือเจ้าหญิงซุนดาที่ถูกขับไล่ออกจากอาณาจักร ซึ่งสอดคล้องกับตำนานเจ้าหญิงกาดีทาใน Babad Tanah Jawa ที่ได้ถูกยกให้เป็นราชินีแห่งทะเลชวาใต้ ดังนั้นทั้งสองมีที่มาแตกต่างกัน และมีผู้ที่มีความเห็นว่าอำนาจของ ญี รอรอ กีดุล ยังเป็นรอง กันเจิง ราตู กีดุล

ชาวชวามีความเชื่อที่เล่าต่อๆ กันมาว่าห้ามใส่เสื้อผ้าสีเขียวไปทะเลใต้ เช่น หาดท่าเรือราชินี (Pantai Pelabuhan Ratu), หาดปารังตรีติส (Pantai Parangtritis), หาดเซิมบูกัน (Pantai Sembukan) และ หาดปาปูมา (Pantai Papuma) เป็นต้น เพราะจะถูก ญี รอรอ กีดุล นำไปเป็นบริวาร โดยเฉพาะหาดปารังตรีติสที่เป็นที่อาศัยของ ญี รอรอ กีดุล อย่างไรก็ตามมีคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์ว่าทำไมจึงไม่ควรใส่เสื้อหรือเครื่องแต่งกายสีเขียวไปทะเล เนื่องจากว่าสีเขียวเป็นหนึ่งในสเปคตรัมสีน้ำทะเล และหากอยู่กลางทะเลทำให้ดูกลมกลืนไปกับน้ำทะเลทำให้ทีมช่วยเหลือมองไม่เห็นหรือเห็นไม่ถนัด บริเวณหาดทะเลใต้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจริง มีผู้เสียชีวิตจากการจมหายไปกับคลื่นเป็นประจำทุกปี เนื่องจากทะเลชวาใต้มีคลื่นลมแรง และสภาพภูมิประเทศที่เป็นแนวหินตัดใต้ทะเลทำให้ผู้ที่กำลังว่ายน้ำในทะเลไม่รู้สึกว่ากำลังเข้าสู่พื้นที่ทะเลตัดซึ่งมีลักษณะเหมือนหน้าผาในทะเลที่มีความลึกมาก จึงทำให้ถูกดูดกลืนลงไปในท้องทะเลและเสียชีวิต แต่นั่นยิ่งทำให้เรื่องเล่าว่า ญี รอรอ กีดุลนำคนไปเป็นบริวารถูกเล่าขานกันไม่จบไม่สิ้น

ความเชื่อเรื่องนาคในอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลทั้งจากอินเดียและจีน ผสมผสานเข้ากับความเชื่อดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองในอินโดนีเซีย และปรากฏร่องรอยความเชื่อเรื่องนาคสืบค้นไปได้อย่างน้อยที่สุดคือในสมัยอาณาจักรมัชปาหิตราวคริสต์ศตวรรษที่ 10 แม้ว่าศาสนาอิสลามจะเข้ามาเผยแพร่และกลายเป็นศาสนาที่ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่นับถือจนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก แต่ความเชื่อเรื่องนาคยังคงมีอิทธิพลต่อชาวอินโดนีเซียบางกลุ่มอยู่อย่างฝังรากลึก และความเชื่อเรื่องนาคนี้เป็นเพียงหนึ่งในความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติของชาวอินโดนีเซียซึ่งยังคงมีอีกหลายเรื่องมากมาย


ข้อมูลประกอบการเขียน

“Babad Tanah Jawa – Riwayat Dewi Naga Hijau Laut Selatan Penguasa Laut Selatan.” https://paseban-jati.blogspot.com/2016/02/babad-tanah-jawa-riwayat-dewi-naga.html

Putri, Risa Herdahita. “Kisah Naga di Jawa.” Historia, https://historia.id/kuno/articles/kisah-naga-di-jawa-DrLRw/page/1

Santiko, Hariani. “Ragam Hias Ular-Naga di Tempak Sakral Periode Jawa Timur.” AMERTA, Jurnal Penelitian dan Pengembangan Arkeologi, Vol. 33 No. 2, Desember 2015: 77-134.

Subroto, Lukman Hadi. “Perbedaan Kanjeng Ratu Kidul dan Nyi Roro Kidul.” Kompas, https://www.kompas.com/stori/read/2022/01/02/110000579/perbedaan-kanjeng-ratu-kidul-dan-nyi-roro-kidul?page=all

Yelly, Prina. “Analisis Makhluk Superior (Naga) dalam Legenda Danau Kembar (Kajian Semiotik Roland Barthes; Dua Pertandaan Jadi Mitos).” Jurnal Serunai Bahasa Indonesia, Vol 16, No. 2, Okteober 2019: 121-125.


[1] มาจากคำว่า Candi หมายสิ่งก่อสร้างโบราณที่สร้างจากหินเพื่อเป็นสถานที่บูชา, เก็บอัฐิกษัตริย์, นักบวชฮินดูหรือพุทธในยุคโบราณ

[2] หรือ Senapati มาจากคำว่า ‘เซนา’ (sena) แปลว่า ‘ทหาร’ กับคำว่า ‘ปาตี’ (pati) แปลว่า ‘ผู้เป็นใหญ่’ ในไทยคือคำว่า ‘เสนาบดี’

[3] Kanjeng เป็นการเรียกนำหน้านามเพื่อแสดงความเคารพยกย่อง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save