fbpx

ผู้หญิงพม่ากับหน้าฉากของการต่อต้าน

“ความกลัวต่างหากที่ฉ้อฉล หาใช่อำนาจไม่ ความกลัวจากการสูญเสียอำนาจทำให้คนที่มีอำนาจฉ้อฉล และความกลัวว่าอำนาจจะแพร่กระจายทำให้คนที่อยู่ใต้อำนาจฉ้อฉล”

ประโยคข้างต้นมาจากสุนทรพจน์ชื่อก้องที่อองซาน ซูจีกล่าวไว้เมื่อปี 1990 และตีพิมพ์ในหนังสือ Freedom from Fear ซึ่งนั่นก็ 31 ปีผ่านมาแล้ว… เธอกล่าวกับสังคมพม่าว่าเผด็จการที่ฉ้อฉลนั้นไม่สามารถต้านทานพลังของประชาชนที่รักประชาธิปไตยได้ แต่หากประชาชนไม่มีความกล้าหาญทางจิตวิญญาณที่จะออกมาต่อต้านความฉ้อฉลเหล่านี้แล้ว โอกาสที่พม่าจะเป็นประชาธิปไตยก็คงริบหรี่ [1] สตรีผู้นี้ที่ต่อมาคือบุคคลสำคัญในฉากหน้าการเมืองพม่า และถูกกองทัพทหารพม่าก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองไปเมื่อต้นกุมภาพันธ์ปี 2021 

กว่า 5 เดือนแล้วที่ชาวพม่ายังคงออกมาต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพด้วยการทำอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement) ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เกิดรัฐประหารไม่มีวันไหนที่ประชาชนจะหยุดและยอมจำนน คนยังคงออกมาประท้วงกันทุกวัน ทั้งกลางวันและยามค่ำคืน ทั้งสนามจริงและโลกออนไลน์ พร้อมมีแคมเปญสุดสร้างสรรค์และแนวทางการประท้วงใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอเพื่อส่งเสียงไปสู่ภายนอกว่าพม่ากำลังวิกฤต หลังเกือบพันชีวิตถูกกองทัพพม่าใช้ความรุนแรงปราบปรามอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน

จากแนวหน้าสนามประท้วงอย่างสันติถึงการฝึกอาวุธยุทธวิธีในนามกองกำลังปกป้องประชาชน (People Defense Force – PDF) จากการปลุกระดมพลในประเทศถึงการส่งเสียงบนเวทีโลก จากอดีตถึงปัจจุบัน จากผู้ถูกครอบงำถึงผู้กระทำการ – ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมาอย่างต่อเนื่องบนหน้าประวัติศาสต์การต่อสู้ของพม่า

ภาพถ่ายโดย รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์

Weapon of the War 

ปัง! ร่างของหญิงสาวเสื้อสีแดงสวมหมวกกันน็อคล้มพับลงกับพื้น ท่ามกลางจังหวะชุลมุนวุ่นวายระหว่างที่เจ้าหน้าที่เริ่มใช้อาวุธปราบปรามประชาชนผู้ประท้วงมือเปล่าในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของประเทศพม่า เลือดสีแดงค่อยๆ ไหลนองออกมาจากหมวกกันน็อค มยะ แทต แทต ข่ายน์ หญิงสาววัย 20 ปี คือผู้หญิงคนแรกที่ถูกกองทัพพม่ายิงกระสุนเข้าศีรษะจนเสียชีวิตและเป็นเหยื่อความรุนแรงรายแรกที่ต้องสังเวยลมหายใจให้กับรัฐประหารครั้งนี้ที่ยึดอำนาจมาแค่เพียงสัปดาห์เดียว

หลังเลือดของเธอหลั่งลงถนน ผู้คนจำนวนมากก็ยิ่งแห่แหนออกมาต่อต้านกองทัพด้วยความโกรธ ก่อนจะตามมาด้วยลมหายใจของผู้บริสุทธิ์ทั่วประเทศอีกนับไม่ถ้วน รวมทั้งมะ แจ ซิน สาวน้อยวัย 19 ปี ที่อยู่ในแนวหน้าของการประท้วงบนท้องถนนเมืองมัณฑะเลย์ ต้องจบชีวิตลงในวันที่สวมเสื้อยืดสกรีนว่า ‘Everything will be OK’ ภาพของเธอต่อมากลายเป็นไวรัลที่สั่นสะเทือนใจชาวพม่าทั้งในและต่างประเทศ

ท่ามกลางจำนวนผู้ชุมนุมนับหมื่นนับแสน ผู้หญิงถือเป็นจำนวนนับในแนวหน้าที่สำคัญ โดยช่วงสัปดาห์แรกของการประท้วง กลุ่มแรกๆ ที่ออกมาคือสหภาพแรงงานหญิงและสาวโรงงานทอผ้านับพันคนที่มาร่วมชุมนุมกันในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นแรงขับให้ผู้หญิงจากที่อื่นออกมาประท้วงเพิ่มขึ้นในวันถัดมา

จากข้อมูลขององค์กรภาคประชาสังคมท้องถิ่นอย่าง Gender Equality Network ระบุว่ากว่า 60% ของผู้ประท้วงในท้องถนนคือผู้หญิง และกว่า 70-80% ของผู้นำการเคลื่อนไหวก็คือพยาบาล ครู และแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมทอผ้า จนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 863 ราย และถูกจับกุมไปมากถึง 6,028 ราย ในจำนวนนี้มีผู้หญิงที่เสียชีวิตไปอย่างน้อย 47 ราย และถูกจับกุมไปมากกว่า 800 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2021) ซึ่งการใช้ความรุนแรงของกองทัพยิ่งสร้างความน่ากังวล เพราะเมื่อมีการจับกุมทั้งในและนอกกฎหมาย ผู้หญิงก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศมากยิ่งขึ้น

การใช้ความรุนแรงและล่วงละเมิดผู้หญิงที่ถูกจับกุมคุมขังไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น ผู้หญิงในกลุ่มชาติพันธุ์เผชิญกับอำนาจมืดและความเจ็บปวดเพราะถูกกระทำมาแล้วกว่า 70 ปี ตั้งแต่ที่กองทัพพม่ามีการสู้รบกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หลังได้รับเอกราชในปี 1948 

หนังสือ ใบอนุญาตข่มขืน: บันทึกการทารุณกรรมทางเพศในรัฐฉาน รวบรวมปากคำจากการให้ข้อมูลของเด็กและผู้หญิง 625 คน ที่ตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนและทารุณกรรมทางเพศ ซึ่งกระทำโดยกองกำลังทหารพม่าช่วงระหว่างปี 1996-2001 ระบุว่า บริบทของสงครามแบ่งแยกชาติพันธุ์ได้ให้ ‘ใบอนุญาต’ แก่สมาชิกของกองทัพพม่าในการกระทำทารุณกรรมทางเพศรูปแบบต่างๆ ต่อผู้หญิงของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งถูกมองว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนที่มีศักยภาพของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน ผู้หญิงจึงถูกจัดเป็นเป้าหมายของการทารุณกรรมต่างๆ ที่ถูกกระทำขึ้นเพื่อสนองวัตถุประสงค์หลายอย่าง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการข่มขู่ชุมชนท้องถิ่นให้ยอมจำนนเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงอำนาจที่เหนือกว่าของกองกำลังทหารพม่าต่อศัตรูที่เป็นเพศหญิง การข่มขืนผู้หญิงยังเป็นการทำให้กองกำลังฝ่ายต่อต้านกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับความอับอายและเสียขวัญอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นอาชญากรรมนี้ถือเสมือนเป็นรางวัลสำหรับทหารที่ถูกส่งออกไปสู้รบในสงคราม [2]

การข่มขืนที่กระทำโดยนายทหารระดับผู้บังคับบัญชายันนายทหารระดับล่าง การทรมานและฆ่าเหยื่อที่ถูกข่มขืน การข่มขืนหมู่ การข่มขืนในค่ายทหาร การขยายเวลากักกันตัวไว้เพื่อการข่มขืน การไม่จัดการผู้กระทำผิดแต่กลับลงโทษผู้ร้องทุกข์ หรือแม้กระทั่งการถูกตีตราประณามจากครอบครัวและชุมชน ฯลฯ เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ถูกกระทำต้องเจอ จำนวน 625 คน ที่บันทึกอยู่ในเล่มนี้จึงเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความจริงที่เกิดขึ้นเพราะยังมีเด็กและผู้หญิงอีกเป็นจำนวนมากไม่กล้าบอกเล่าเหตุการณ์ที่ตนถูกกระทำ หรือบางคนก็ไม่มีลมหายใจได้มาบอกกล่าวความทุกข์ทรมานนี้

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นว่ากองทัพพม่ากระทำการข่มขืนอย่างเป็นระบบและเกิดขึ้นในพื้นที่กว้างขวาง มีการทารุณกรรมทางเพศรูปแบบต่างๆ และยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ‘การข่มขืน’ ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเสมือน ‘อาวุธสงคราม’ ที่ใช้ในการข่มขู่ปราบปรามประชาชนซึ่งถือเป็นอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และไม่เพียงแค่เกิดขึ้นที่ในรัฐฉาน แต่กับพื้นที่ของชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่าด้วย

ที่มาภาพ Black Design

Weapon of the Weak 

หากเป็นการสู้รบปรบมือด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างทหารกรำศึก ทหารอีกฝ่ายก็คงยิงปืนตอบโต้ แต่เมื่อกองทัพพม่าใช้การข่มขืนผู้หญิงเป็นอาวุธในการประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม พวกเธอต่อต้านอย่างไร? แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากเมื่อพิจารณาบริบทและเงื่อนไขในห้วงเวลานั้น ผู้ถูกกระทำจำนวนมากถูกปิดปาก ถูกทำให้กลัว เพราะความตายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายดายภายใต้อำนาจกองทัพ อีกส่วนจึงต้องหลบลี้หนีภัยไปอยู่แผ่นดินอื่น

ในช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมและประชาชนรวมตัวจัดตั้งกลุ่มองค์กรเพื่อสิทธิสตรีขึ้นมา เช่น Women’s League of Burma ที่มุ่งเน้นทำงานเพื่อยุติความรุนแรงทางเพศในพื้นที่ชาติพันธุ์และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในประชาธิปไตย โดยเฉพาะกระบวนการสันติภาพ และล่าสุดได้มีแคมเปญ #Sisters2Sisters เพื่อเรียกร้องให้กองทัพยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงในพม่า รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมหญิงทันทีด้วย หลังมีรายงานว่าผู้หญิงที่จับกุมไประหว่างประท้วงรัฐประหารครั้งนี้ถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ [3]

นอกจากการต่อต้านผู้มีอำนาจในนามของกลุ่มและขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ประชาชนชาวพม่าก็ยังใช้วิธีการต่อต้านในชีวิตประจำวันมากมายหลากหลายรูปแบบมาต่อสู้ ซึ่งเจมส์ ซี สก็อต นักวิชาการผู้มุ่งศึกษาเรื่องการเมืองและการต่อต้านของคนธรรมดาสามัญเรียกมันว่า ‘อาวุธของคนยาก’ เขาเชื่อว่ากลุ่มชนชั้นล่างไม่มีทางตกอยู่ภายใต้อำนาจของชนชั้นปกครองอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ พื้นที่เสรีภาพในการต่อต้านยังหลงเหลืออยู่เสมอ แต่มักจะเป็นในลักษณะอื่นๆ ที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือปะทะ

จากการประท้วงต่อต้านในช่วงสัปดาห์แรกๆ ที่กองทัพยังไม่ใช้ความรุนแรง เราจึงได้เห็นรูปแบบการต่อต้านที่สร้างสรรค์มากมาย ตั้งแต่การตีหม้อไล่ แคมเปญหยุดผูกเชือกรองเท้ากลางถนน ข้าวสารหก รถเสีย นั่งสมาธิ เล่นดนตรี ขบวนแฟนซีบนท้องถนน ทางเรือ ใต้น้ำ หรือบนฟ้า การประท้วงเงียบ การใช้สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนมาวางประท้วงแทนคน การนัดหยุดงาน การไม่จ่ายภาษี การคว่ำบาตรสินค้าในเครือกองทัพ หรือแม้กระทั่งสินค้าของผู้สนับสนุนกองทัพพม่า เราจึงได้เห็นเหล่าแม่บ้านออกมารณรงค์ให้คนซื้อและบริโภคพืชผักผลไม้ท้องถิ่นแทนของนำเข้าจากจีน

กระทั่งกองทัพเริ่มใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนหนักขึ้น จึงเกิดการตั้งกลุ่มกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) หนุ่มสาวจำนวนหนึ่งเดินทางเข้าป่าหันไปฝึกอาวุธกับกองกำลังชาติพันธุ์เพื่อกลับมาปกป้องและโต้กลับทหารตำรวจพม่า และหนึ่งในนั้นคือ ทา เท็ต เท็ต อดีตมิสแกรนด์พม่าปี 2013 ซึ่งเธอโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าเธอไม่อาจยอมรับกับการถูกกระทำย่ำยีและความอยุติธรรมแบบนี้ได้ เธอจะต่อสู้กับเผด็จการทหารทุกวิถีทางแม้ต้องแลกด้วยชีวิตเพื่อยุติวงจรอุบาทว์นี้ 

ในอีกด้านหนึ่ง นอกจากการต่อสู้ภายในประเทศ ฮาน เลย์ มิสแกรนด์พม่าคนปัจจุบัน และทูซาร์ วินต์ ลวิน มิสยูนิเวิร์สที่เพิ่งคว้ารางวัลชุดประจำชาติปีล่าสุด ก็ใช้โอกาสบนเวทีประกวดนางงามส่งเสียงไปยังนานาประเทศถึงเรื่องราวความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้คนทั่วโลกช่วยปกป้องประชาชนพม่า

แม้การต่อต้านของเหล่าประชาชนจะดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 เดือน และยังไม่มีวี่แววว่ากองทัพพม่าจะยอมลงจากอำนาจ แต่หากพิจารณาในมุมมองของสก็อตนั้น เขามองว่าการต่อต้านในชีวิตประจำวันที่สะท้อนผ่านการยืนหยัดไม่ยอมแพ้และจินตนาการอันสร้างสรรค์นี้ไม่ได้เป็นการกระทำที่สูญเปล่า ดังหินปะการังที่ค่อยๆ ก่อตัวซ่อนอยู่ใต้น้ำ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม มันอาจจะเป็นสาเหตุทำให้นาวารัฐล้มครืนลงก็เป็นได้ [4] และแน่นอนว่าพวกเขาจะไม่หยุดต่อต้านจนกว่ารัฐเผด็จการจะอับปางลง 

ที่มาภาพ Ei Thinzar Maung

Weapon of the Women

นอกจาก ‘คนยาก’ จะพยายามสรรค์สร้างแนวทางการต่อต้านต่างๆ ขึ้นมาเป็นอาวุธคัดง้างกับกองทัพพม่า ในขณะเดียวกันหญิงสาวพม่าก็พยายามคัดง้างต่อสู้กับอำนาจเหนือกว่าในสังคมชายเป็นใหญ่ด้วย

แม้จะมีนักวิชาการหลายคนศึกษาประเด็นผู้หญิงในพม่าตั้งแต่ช่วงอาณานิคม พยายามชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงพม่ามีสถานะและสิทธิต่างๆ แทบไม่ต่างไปจากผู้ชาย แม้พุทธศาสนาจะวางตำแหน่งผู้หญิงไว้ต่ำกว่า แต่ในทางปฏิบัติผู้หญิงพม่าสามารถหาตำแหน่งแห่งที่ให้ตัวเองได้ ซึ่งบางอย่างก็ดูก้าวหน้ากว่าทางตะวันตกด้วยซ้ำ ผู้หญิงได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึงการศึกษา ผู้หญิงมีบทบาททางการเมือง ผู้หญิงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อความศิวิไลซ์อย่างสมัยใหม่ หรือแทบไม่มีเรื่องการเคลื่อนไหวของสตรีนิยมในพม่าเลยเพราะในกฎหมายจารีตประเพณีนั้นคำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศอยู่แล้ว

แต่ปัญหาสำคัญคือ ปัญหาไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหา ศาสนาและวัฒนธรรมทำให้เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมพม่าถูกซุกอยู่ใต้พรม ไม่เพียงแค่ยากต่อการมองเห็นแต่ก็ยากที่จะตั้งคำถามด้วย 

ผู้ให้สัมภาษณ์ในรายงานของ Gender Equality Network บอกว่าแม้สถานะของผู้หญิงพม่าจะไม่ได้ด้อยไปกว่าชาย และแตกต่างจากผู้หญิงในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกับต้นธารวัฒนธรรมอย่างอินเดียที่มีพิธีสะตี หรือจีนที่มีพิธีรัดเท้า แต่นั่นก็เป็นแค่การเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในห้วงเวลาเดียวกัน ที่สำคัญคือหญิงและชายในพม่าเท่าเทียมกันแค่ในมิติทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติที่ศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อ ผูกพันซึมลึกตั้งแต่เกิดจากครรภ์ถึงวันตายทำให้ผู้หญิงในพม่าไม่ได้ก้าวหน้าอย่างที่นักวิชาการตะวันตกตั้งข้อสังเกต โดยเฉพาะกับความเชื่อที่จับต้องไม่ได้มองไม่เห็น

การต่อสู้กับเผด็จการครั้งนี้ ผู้หญิงหลายคนมาอยู่ในแนวหน้าของการขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตย และถือโอกาสนี้ต่อสู้กับกองทัพที่ครอบงำโดยชายเป็นใหญ่ด้วย ในวันสตรีสากลหรือ ‘วันปฏิวัติชายผ้าถุง’ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้ประท้วงจึงได้นำผ้าถุง (หรือที่คนพม่าเรียกว่า ‘ทะเมงน์’) หลากสีสันมาแขวนตามราวสายไฟเหนือท้องถนนเพื่อเป็นแนวกีดขวางและเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ทหารและตำรวจเข้าจับหรือทำร้ายประชาชน บางคนก็นำมาถือเป็นธงเดินขบวนประท้วงรัฐประหารภายใต้สโลแกน ‘ผ้าถุงของพวกเรา ธงของพวกเรา ชัยชนะของพวกเรา’ ซึ่งเป็นแคมเปญที่สร้างความฮือฮาและนับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผล เมื่อเหล่าเจ้าหน้าที่พยายามหลีกเลี่ยงการลอดใต้ผ้าถุง หรือบางคนก็พยายามเอาไม้สอยผ้าถุงลงมาก่อนที่จะลอดผ่านเข้าไปปราบปรามผู้ชุมนุม 

ซึ่งความกลัวของผู้ชายเหล่านี้ก็สัมพันธ์กับความเชื่อหลักเรื่อง ‘พง’ ของชาวพม่า ที่เชื่อกันว่าพงคือพลังหรืออำนาจพิเศษที่มีอยู่เฉพาะแต่ในกายของเพศชาย สถานะของผู้ชายจึงเหนือกว่าไปโดยปริยาย ฉะนั้นผู้ชายจึงห้ามเดินลอดผ้าถุงหรือชุดชั้นในของผู้หญิงที่ถูกมองว่าเป็นของต่ำ เพราะจะทำให้พลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ในความเป็นชายเสื่อมลงและนำพาความโชคร้ายมาให้ ไม่เพียงแต่ห้ามลอดหรือสัมผัส บางคนก็เคร่งมากแม้แต่กิจวัตรประจำวันก็มีข้อปฏิบัติ อย่างการซักผ้า นั่ง เดิน นอน เช่นการนอนก็เชื่อว่าห้ามผู้หญิงนอนหนุนแขนขวามิเช่นนั้นพงจะเสื่อม โดยความเชื่อเรื่องพงยังแพร่หลายไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่าที่ไม่ใช่ชาวพม่าพุทธด้วย

ผู้ประท้วงไม่เพียงแต่นำผ้าถุงมาสะบัดท้าทายความเชื่อชายเป็นใหญ่ แต่ยังนำชุดชั้นในและผ้าอนามัยออกมาแขวนประท้วงร่วมด้วย และบางส่วนก็นำรูปใบหน้าของมิน อ่อง หล่าย รวมทั้งคณะรัฐประหารมาแปะตามผ้าถุงและผ้าอนามัย รวมทั้งแปะลงพื้นให้คนเหยียบย่ำ จากที่ผ้าถุงคือสิ่งต้องห้ามวันนี้กลับกลายมาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านอำนาจชั่วร้ายที่ทรงพลัง ที่สำคัญยังมีผู้ชายจำนวนหนึ่งนำผ้าถุงมาโพกหัวแล้วถ่ายรูปลงโซเชียล เพื่อแสดงการสนับสนุนการต่อสู้และทลายมายาคติเรื่องนี้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมเมียนมาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ดังที่อรดี อินทร์คง นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยคอร์แนล กล่าวว่า “พวกเขากำลังต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ทั้งเผด็จการทหารและเผด็จการทางความคิดความเชื่อที่กดทับความงอกงามของสังคมประชาธิปไตย”

ความกล้าหาญทางจิตวิญญาณในการต่อต้านของชาวพม่า ไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืนรัฐประหาร แต่ถูกบ่มเพาะมานานจากการถูกกดขี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนปะทุอีกครั้งเมื่อปลายกระบอกปืนลั่นใส่หญิงสาวกลางเมืองหลวง คาวเลือดของคนแล้วคนเล่าคลุ้งไปทุกมุมถนน ภาวนาให้เป็นการปฏิวัติครั้งสุดท้ายและให้ประชาธิปไตยคืนสู่มือประชาชนในเร็ววัน…  

ที่มาภาพ Oradi Inkhong
ภาพถ่ายโดย รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์

เอกสารเพิ่มเติม

Ikeya, Chie. 2012. Refiguring women, colonialism, and modernity in Burma. Chiang Mai: Silworm Books. 

The Gender Equality Network. 2015. Raising the Curtain Cultural Norms, Social Practices and Gender Equality in Myanmar. Yangon.

แนวคิดทางการเมืองเรื่องการขัดขืนต่อต้าน (Resistance)

Myanmar women risk it all to challenge the junta

Sarong Revolution: Women Smash Gender Taboos to Fight Myanmar Junta

With Myanmar’s Most Famous Woman in Custody, Many Others Step up to Take on Junta — Radio Free Asia (rfa.org)

References
1 ไทยพบพม่า..ผู้หญิง (อื่นๆ) ในโลกการเมืองแบบพม่า (2) : โดย ลลิตา หาญวงษ์
2 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน และ เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่. 2002. ใบอนุญาตข่มขืน: บันทึกการทารุณกรรมทางเพศในรัฐฉาน [The Burmese military regime’s use of sexual violence in the ongoing war in Shan State]สุภัตรา ภูมิประภาส และ เพ็ญนภา หงษ์ทอง, แปล. กรุงเทพฯ :สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย.
3 speakupgformyanmar.com
4 กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์. 2018.ประวัติศาสตร์และการเมืองของ พวกขี้แพ้”: การครอบงำ อำนาจ และการต่อต้าน ในทัศนะของเจมส์ ซี สก็อตต์. วารสารสังคมศาสตร์, 48(2), 83-109. 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save