fbpx
วิกฤตพม่าและนโยบายที่ไร้วิสัยทัศน์ของไทย

วิกฤตพม่าและนโยบายที่ไร้วิสัยทัศน์ของไทย

“ข้อมติดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นของคนแดนไกลที่มิได้มีพรมแดนติดกับเมียนมากว่า 2,400 กิโลเมตรเหมือนไทย และมิได้มีประชาชนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชนเมียนมาในหลายๆ ระดับมาเป็นเวลาช้านานเช่นเดียวกับไทย ซึ่งหมายถึงว่าเหตุการณ์ความรุนแรงและการสู้รบในเมียนมามีผลด้านความมั่นคงโดยตรงต่อไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป การกระทำทุกอย่างของประเทศไทยจึงต้องกระทำอย่างรอบคอบอย่างยิ่ง และต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาในทุกๆ ด้าน”

ธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของไทย กล่าวต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2021 เพื่ออธิบายและชี้แจงการตัดสินใจ ‘งดออกเสียง’ ของผู้แทนไทยในการประชุมใหญ่สหประชาชาติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่นิวยอร์ก ซึ่งมีมติเรียกร้องให้กองทัพพม่าเคารพเจตจำนงของประชาชนในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ซึ่งเลือกพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซาน ซูจีอย่างถล่มทลาย ก่อนที่มิน อ่อง หล่ายจะยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ด้วยข้ออ้างที่ว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม 

ข้อมติ A/RES/75/286 เรียกร้องให้กองทัพพม่ายกเลิกภาวะฉุกเฉิน เคารพสิทธิมนุษยชน เปิดประชุมสภานิติบัญญัติที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา อนุญาตให้กลไกและสถาบันการเมืองดำเนินต่อไป ปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งรวมทั้งประธานาธิบดี วิน เมี่ยน และที่ปรึกษาแห่งรัฐอองซาน ซูจี อย่างไม่มีเงื่อนไข ให้กองทัพพม่าซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ ‘ตัดมาดอว์’ ร่วมมือกับอาเซียนในการหาทางออกโดยสันติวิธีด้วยการเจรจากับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดตามกระบวนการทางการเมืองที่ประชาชนชาวพม่าเป็นเจ้าของ ให้ยุติความรุนแรงต่อผู้ประท้วงในทันที อนุญาตให้ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติไปเยือนพม่ารวมทั้งรับรองความปลอดภัยและให้ได้พบกับทุกกลุ่ม นอกจากนี้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกงดส่งอาวุธเข้าไปในพม่า[1]

ในบรรดาสมาชิก 139 ประเทศในที่ประชุมใหญ่ มี 119 ประเทศลงคะแนนสนับสนุนข้อมติดังกล่าว มีเพียงเบลารุสเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย และมี 36 ประเทศงดออกเสียง ร่างข้อมตินี้ได้รับการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติโดยลิกเตนสไตน์ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่ามีการร่วมผลักดันอย่างแข็งขันจากกลุ่มประเทศที่เป็นแกน เช่น สหภาพยุโรปและพันธมิตรชาติตะวันตกโดยมีกลุ่มอาเซียนซึ่งพม่าเป็นสมาชิกอยู่ด้วยร่วมเจรจาอย่างกระตือรือร้น

แรกทีเดียวกลุ่มอาเซียนต้องการให้ที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติมีฉันทมติในเรื่องนี้ แต่เอาเข้าจริงแม้แต่ในบรรดากลุ่มอาเซียนด้วยกันเองก็เสียงแตก สมาชิก 6 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า (ออกเสียงประณามกองทัพเพราะผู้แทนพม่าในสหประชาชาติต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่ต้น), ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และเวียดนาม ออกเสียงสนับสนุนข้อมติ ในขณะที่สมาชิก 4 ประเทศ นำโดยบรูไน กัมพูชา ลาว และไทย คัดค้านข้อมตินี้  

ความจริงข้อมตินี้เป็นประเภทไม่ผูกพัน (non-binding) หมายความว่าหากสมาชิกไม่ปฏิบัติก็จะไม่มีบทลงโทษใดๆ แต่ก็มีความหมายในทางการทูตสำหรับพม่า กล่าวคือ ประเทศที่ลงคะแนนสนับสนุนได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอารัฐประหาร ไม่ยอมรับความรุนแรงที่ตัดมาดอว์กระทำต่อประชาชนของตัวเอง สำหรับไทยนั้นหากลงคะแนนสนับสนุนข้อมตินี้ก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธการรัฐประหาร ซึ่งก็เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้เอง ผู้แทนไทยบอกกับที่ประชุมสหประชาชาติว่าเลือกงดออกเสียงเพื่อเห็นแก่ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพม่า ถึงแม้จะเห็นว่าชาวพม่าควรจะมีสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองก็ตาม แต่นานาชาติควรจะช่วยสร้างบรรยากาศและเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการเจรจามากกว่าจะใช้วิธีการประณามหรือคว่ำบาตร

บทความนี้โต้แย้งว่า ไทยงดออกเสียงเพราะต้องการรักษาสถานะและความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพพม่ามากกว่าประชาธิปไตยและสิทธิอัตวินิจฉัยของชาวพม่า หรือช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองตามที่กล่าวอ้าง เหตุผลในด้านหนึ่งคือกองทัพไทยและตัดมาดอว์มีอุดมการณ์ร่วมกันในการแทรกแซงการเมืองเพื่อรักษาสถานะเดิมและสิทธิพิเศษของทหาร

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามีรากฐานมาจากการรัฐประหารเหมือนกัน ผู้นำทางทหารของสองประเทศมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกัน ในอีกด้านหนึ่งชนชั้นนำของไทยที่เป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบันล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพม่า ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่กุมอำนาจอยู่ย่อมส่งผลดีต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

สองกองทัพใกล้ชิด

ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกองทัพไทยและตัดมาดอว์เริ่มต้นหลังสงครามเย็น เมื่อความจำเป็นในการใช้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์และเป็นกันชนระหว่างสองประเทศหมดสิ้นไป จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งต้องการเปิดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลกลางของพม่าโดยตรงมากกว่าจะหากินกับกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดน

ชาติชายรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 1988 พร้อมๆ กับการลุกฮือของนักศึกษาที่ต่อต้านระบอบเน วินในพม่า เขาส่งชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้นไปเยือนพม่าในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพลเอกซอ หม่อง ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าในเวลานั้น ผู้ซึ่งชวลิตเรียกว่า ‘พี่ใหญ่’ ในขณะที่นานาชาติกำลังคว่ำบาตรพม่า รัฐบาลไทยกลับส่งนักศึกษาฝ่ายต่อต้านไปให้พม่าเพื่อแลกกับสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจและความร่วมมือทางการค้า[2] 

รัฐบาลต่อๆ มาซึ่งก็รวมถึงรัฐบาลภายใต้การนำของชวลิตเอง และต่อมาถึงอานันท์ ปันยารชุน ชวน หลีกภัย บรรหาร ศิลปอาชา และทักษิณ ชินวัตร ก็ดำเนินนโยบายคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างกันบ้างก็เพียงชื่อที่เรียกขานหรือรายละเอียดเล็กน้อย เช่น เราอาจจะเรียกนโยบายสมัยอานันท์ ว่าเป็นแบบ ‘เกี่ยวพันอย่างสร้างสรรค์’ (constructive engagement) สมัยชวน เป็นแบบ ‘เกี่ยวพันอย่างยืดหยุ่น’ (flexible engagement) สมัยทักษิณเรียกว่าเป็นแบบ ‘เพิ่มทวีความสัมพันธ์’ (enhancing engagement) คือมุ่งเน้นความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ รัฐบาลชวนอาจจะขอสงวนสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์พม่าบ้างในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีเพื่อประโยชน์ด้านการต่อต้านการค้ายาเสพติด ในขณะที่รัฐบาลทักษิณมุ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจกับพม่ามากกว่าและให้ความสำคัญกับมิติทางด้านความมั่นคงน้อย

ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนให้กองทัพไทยและพม่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้นคือ กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยมีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพไทยหรืออาจจะเคยช่วยกองทัพไทยรบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและเป็นกันชนกับพม่าให้ไทยนั้นเริ่มอ่อนกำลังลง กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกองทัพไทย เช่น มอญ กะเหรี่ยง คะยา และไทใหญ่ ถูกตัดมาดอว์รุกไล่ บ่อนเซาะ ทำลาย และชักชวนให้เข้าร่วมโครงการสันติภาพมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 กองทัพไทยที่เคยโอบอุ้มกองกำลังเหล่านี้ก็ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้เกลี้ยกล่อมให้กลุ่มชาติพันธุ์ยอมเจรจาสันติภาพกับตัดมาดอว์ บางครั้งก็ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเจรจาให้ด้วย แม้ว่าโครงการสันติภาพของตัดมาดอว์กับกลุ่มชาติพันธุ์จะล้มลุกคลุกคลาน สู้กันไปพลาง เจรจาไปพลาง ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน กองทัพไทยก็มีจุดยืนค่อนข้างมั่นคงที่จะช่วยตัดมาดอว์สลายกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อแลกกับความมั่นคงตามแนวชายแดนที่ยาวมากกว่า 2,400 กิโลเมตร

แน่นอนว่าในความเป็นจริงบรรดาผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์เฉพาะอย่างยิ่ง 4 กลุ่มที่อยู่ชายแดนไทยอาจจะสามารถเข้าออกประเทศไทยได้โดยสะดวก หลายคนก็มีนิวาสสถานในจังหวัดชายแดน มีลูกหลานที่ได้รับการศึกษา หรือแม้แต่กลายเป็นพลเมืองไทยไปแล้วก็ตาม แต่ในทางนโยบาย ผู้นำทางทหารไทยจะต้องพิสูจน์ต่อตัดมาดอว์ว่านโยบายรัฐกันชนนั้นจบไปลงแล้วจริงๆ การไปมาหาสู่และสร้างความสัมพันธ์กันในเชิงส่วนตัวของผู้นำทหารไทยและพม่าจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อพิสูจน์ความจริงใจ ผู้นำทางทหารของไทยเชื่อว่าผู้นำตัดมาดอว์ไว้วางใจทหารด้วยกันมากกว่าผู้นำพลเรือน

มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและประธานสภาบริหารแห่งรัฐพม่าน่าจะเป็นผู้นำตัดมาดอว์คนแรกในประวัติศาสตร์ระยะสั้นที่แสดงความสนิทสนมกลมเกลียวกับทหารไทยเป็นการส่วนตัวมากที่สุด เขาอ้างว่านับถือเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นเสมือนบิดาของเขา ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาก่อน

มิน อ่อง หล่าย เคยเป็นผู้บัญชาการทหารในเขตสามเหลี่ยมรัฐฉาน แต่ไม่เคยมีบันทึกว่าเขาเคยมีความสนิทสนมกับนายทหารไทยที่เป็นคู่ตำแหน่ง (counterpart) คนใดเลย อย่าว่าแต่เปรมซึ่งอยู่ห่างไกลเขามาก ความจริงเขาเพิ่งจะมีโอกาสพบตัวจริงเปรมเมื่อปี 2012 หลังจากรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าแล้ว แต่เขาประสบความสำเร็จในการสร้างเรื่องเล่า (story) ว่าเขาได้ขอเป็นบุตรบุญธรรมเปรม และเขาจะหาโอกาสเข้าพบเพื่อฟังโอวาทคำสั่งสอนจากบิดาบุญธรรมชาวไทยผู้ที่มีอายุห่างจากบิดาของเขาจริงๆ 1 ปีเสมอ

แม้กระทั่งเมื่อเปรมเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2019 มิน อ่อง หล่ายก็เดินทางมาเมืองไทยเพื่อเคารพศพผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคุณพ่อทูนหัวของทหารไทย เพราะเขารู้ว่านั่นจะทำให้ได้ใจผู้นำทหารไทยอย่างมาก ซึ่งนั่นก็ได้ผลเพราะเขาเป็นนายทหารพม่าคนที่สองต่อจากเน วินที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือกจากกษัตริย์ไทยตามคำเสนอของกองทัพไทย ความจริงเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรนัก แต่กรณีของ มิน อ่อง หล่ายจะได้รับการโฆษณาในสื่อมวลชนไทยเอิกเกริกเป็นพิเศษเพื่อบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่น[3]

นอกจากเปรมแล้ว มิน อ่อง หล่ายบอกกับสื่อมวลชนไทยเมื่อปี 2018 ว่าเขาสนิทสนมกับผู้บัญชาการกองทัพไทยทุกคนไล่ตั้งแต่ทรงกิตติ จักกาบาตร์ (2008-2011) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งตอนที่เขาได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าพอดี ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร (2011-2014) คนนี้สนิทที่สุดเพราะอยู่ในตำแหน่งนาน คนอื่นๆ ที่สนิทสนมกันก็มีวรพงษ์ สง่าเนตร (2014-2015) สมหมาย เกาฏีระ (2015-2016) สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ (2016-2017) และธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ (2017-2018)[4] และถ้าหากเขาให้สัมภาษณ์อีกครั้งเขาคงจะต้องรวมพรพิพัฒน์ เบญญศรี (2018-2020) และคนปัจจุบันเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เข้าไปด้วย

ความสัมพันธ์แบบนี้อาจจะไม่ได้มีความหมายมากนักในเรื่องส่วนตัว เพราะเป็นการรู้จักและสัมพันธ์กันโดยตำแหน่ง แต่เรื่องเล่าทำนองนี้ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่า ทหารไทยและพม่ามีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากเสมือนหนึ่งเป็นพี่เป็นน้องกันเลยทีเดียว ผู้นำทางทหารของสองประเทศที่อยู่ในการเมืองก็ได้ประโยชน์จากการที่ต่างฝ่ายต่างคอยปกป้องซึ่งกันและกัน มิน อ่อง หล่าย เคยกล่าวชื่นชมการรัฐประหารของประยุทธ์เมื่อปี 2014 และเห็นว่ากองทัพทั้งสองมีประสบการณ์คล้ายๆ กัน[5] ในขณะที่ประยุทธ์ก็แสดงความเข้าอกเข้าใจการรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อประคับประคองสิ่งที่ทหารไทยและพม่าเห็นตรงกันว่าเป็นกระบวนการประชาธิปไตย[6] ซึ่งก็อาจจะไม่ได้ตรงกับประชาธิปไตยในความหมายทั่วไปเท่าใดนัก มีรายงานทางสื่อมวลชนว่าประยุทธ์และมิน อ่อง หล่าย สื่อสารกันตลอดเวลาถึงสถานการณ์และแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ[7]

ด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและท่าทีเห็นอกเห็นใจกันและกันเช่นว่านั้น ทำให้นักสังเกตการณ์จำนวนหนึ่งเชื่อว่ามิน อ่อง หล่าย น่าจะกำลังเดินตามแบบแผนทางการเมืองของประยุทธ์[8] รัฐธรรมนูญปี 2008 ของพม่านั้นให้ตัดมาดอว์มีพื้นที่ในการปกครองค่อนข้างมาก กล่าวคือ 25 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในรัฐสภา กระทรวงหลักทางด้านความมั่นคงในรัฐบาล คือกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน เป็นโควตาของตัดมาดอว์ อำนาจในการใช้สิทธิยับยั้งและควบคุมสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินเป็นของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งปัจจุบันมิน อ่อง หล่าย ก็ต่ออายุตัวเองออกไปแบบไม่มีที่สิ้นสุดอยู่แล้ว แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ฝ่ายต่อต้านรวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์คงไม่อนุญาตให้คณะของมิน อ่อง หล่าย อยู่ในอำนาจได้โดยปราศจากการเลือกตั้งเหมือนเช่นที่เน วิน (1962-1988) และตาน ฉ่วย (1992-2011) เคยทำ เขามีความจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งและมีพรรคการเมืองที่เขาสั่งได้มาสนับสนุนแบบเดียวกับที่ประยุทธ์มีพรรคพลังประชารัฐเพื่อสร้างภาพต่อชาวโลกว่าเขาเป็นผู้นำในระบอบเลือกตั้ง

ในความเห็นของผู้เขียน มิน อ่อง หล่าย อาจจะไม่จำเป็นต้องเลียนแบบประยุทธ์ทุกขั้นตอนก็ได้ เพราะตัดมาดอว์ประสบความสำเร็จในโมเดลแบบนี้มาก่อนประยุทธ์ คือเต็ง เส่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจตั้งแต่ระบอบเก่าภายใต้สภาสันติภาพและการพัฒนาช่วงปี 2007-2010  และผ่านการเลือกตั้งปี 2010 ได้เป็นประธานาธิบดีในระบอบใหม่จนถึงปี 2015 เขาทำอย่างนั้นได้เพราะพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยและอองซาน ซูจีลงแข่งขันการเลือกตั้งปี 2010 แต่เต็ง เส่งอนุญาตให้ซูจีและพรรคของเธอเข้ามีส่วนร่วมในรัฐสภาได้ผ่านการเลือกตั้งซ่อมในปี 2012 ปัญหาของมิน อ่อง หล่ายก็มีแต่เพียงว่าทำอย่างไรจะจำกัด (ถ้ากำจัดไม่ได้) อองซาน ซูจีและพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยได้ และอยู่ในอำนาจได้โดยมีทั้งพรรคการเมืองและกองทัพหนุนหลังแบบเดียวกับที่เต็ง เส่งเคยทำได้ และดูเหมือนว่าการยุบพรรคและห้ามคู่แข่งเล่นการเมืองตามแบบประยุทธ์อาจจะเป็นทางเลือก เพราะมีกระแสว่าพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยอาจจะโดนยุบ[9]

ผลประโยชน์ผูกพัน

กลุ่มทุนไทยทั้งน้อยและใหญ่เริ่มเข้าไปทำธุรกิจในพม่าทั้งในรูปแบบของการค้าและการลงทุนนับแต่รัฐบาลไทยสมัยชาติชายมีนโยบายเปิดตลาดการค้าในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ธุรกิจในยุคเริ่มแรกส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าไปรับสัมปทานเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าไม้ในป่า ปลาในทะเล และสินแร่ใต้พื้นพิภพ มาป้อนเศรษฐกิจไทยที่กำลังเริ่มขยายตัวอย่างมากในยุคเสรีนิยมและโลกาภิวัตน์เบ่งบาน ในเวลาเดียวกันกับที่พม่าโดนประเทศตะวันตกคว่ำบาตรกดดันอันเนื่องมาแต่การปราบปรามประชาชนและไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในปี 1990 แต่ก็ต้องการเปิดประเทศต้อนรับเงินทุนและการพัฒนาที่หยุดชะงักมานานในสมัยเน วิน จึงนับว่าเป็นผลประโยชน์สอดคล้องต้องกันพอดี 

ควรบันทึกเอาไว้ในที่นี้ด้วยว่า ก่อนหน้านั้นพื้นที่ของพม่าจำนวนมากอยู่ในเขตยึดครองของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อกองทัพพม่ายังเข้าไม่ถึงก็เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนชายแดนตั้งแต่จังหวัดเชียงรายเรื่อยไปจนถึงระนองเข้าทำธุรกิจกับกลุ่มมอญ กะเหรี่ยง และไทใหญ่ ซึ่งธุรกิจเหล่านั้นจัดได้ว่าอยู่เฉดสีเทากึ่งถูกกึ่งผิดกฎหมายก็มาก จนกระทั่งรัฐบาลของตาน ฉ่วย โดยการดำเนินการของขิ่น ยุ้นต์ นายทหารสายข่าวกรอง สามารถบรรลุสัญญาสงบศึกกับหลายกลุ่มตามแนวชายแดน เช่น มอญ ไทใหญ่บางฝ่าย ในช่วงทศวรรษ 1990 มีการแจกสัมปทานในทรัพยากรธรรมชาติจำพวกป่าไม้และเหมืองแร่ ให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ยอมลงนามในสัญญาสงบศึกดังกล่าว กลุ่มทุนไทยที่เคยทำธุรกิจกับกลุ่มชาติพันธุ์เดิมก็ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ส่วนหนึ่งกับตัดมาดอว์ หรือในทางกลับกันถ้าทำสัญญากับตัดมาดอว์ก็ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้กลุ่มชาติพันธุ์

ธุรกิจไทยในพม่าตกต่ำอย่างมากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997-1998 ทำให้กลุ่มทุนขนาดย่อยและกลุ่มทุนชายแดนหายไปจากสารบบการค้าการลงทุนเป็นจำนวนมาก การฟื้นตัวในสมัยทักษิณจึงเหลือพื้นที่ทางเศรษฐกิจให้เฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทั้งในกลุ่มของทักษิณเองและในกลุ่มอื่นๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มทุนของชนชั้นนำไทย เช่น เครือซิเมนต์ไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ สหพัฒน์ฯ ไทยเบฟฯ กลุ่มทุนธนาคารที่สายป่านยาวอย่างธนาคารกรุงเทพ กสิกร ยังสามารถรักษาชื่อเอาไว้ในพม่าและสามารถหาประโยชน์จากโครงการและกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคที่รัฐบาลทักษิณสร้างขึ้น เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งเป็นความร่วมมือของไทย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

อีกทั้งทักษิณได้สร้างกลไกทางเศรษฐกิจอีกหลายอย่างที่ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้านอย่างพม่า เช่น สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) เป็นองค์กรมหาชนในสังกัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ทั้งในรูปเงินกู้แบบผ่อนปรนและแบบให้เปล่า รวมทั้งความช่วยเหลือทางเทคนิคกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพม่าก็เป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านที่รับความช่วยเหลือประเภทนี้จากไทยเป็นจำนวนมาก หรือธนาคารนำเข้าส่งออก (Exim Bank) ก็เป็นกลไกทางการเงินที่มีบทบาทในการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับพม่าอย่างมากนับแต่ก่อตั้งเป็นต้นมา

แม้ว่าการรัฐประหารของไทยสองครั้งในปี 2006 และ 2014 จะมุ่งทำลายฐานทางการเมืองและฐานเศรษฐกิจของกลุ่มทักษิณโดยตรง แต่ก็ไม่ได้กระทบกระเทือนของกลุ่มทุนอื่นๆ และผลประโยชน์ของไทยโดยรวมในพม่าแต่อย่างใด หลายโครงการที่เริ่มไว้ในสมัยทักษิณหรือสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผู้เป็นน้องสาวของทักษิณ ก็ได้รับการสานต่อโดยรัฐบาลทหารทั้งสิ้น ยกตัวอย่างโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่ริเริ่มโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ตั้งแต่ปี 2010 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และได้รับการสนับสนุนอย่างสุดแรงจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ได้รับการสานต่อจากรัฐบาลทหารของประยุทธ์ โครงการปรับปรุงถนนเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเชื่อมกับชายแดนไทย ภายใต้ความช่วยเหลือของ สพพ. ก็ได้รับการอนุมัติสมัยประยุทธ์ แต่เนื่องจากโครงการมีขนาดใหญ่มากจนดูเหมือนเกินกำลังของบริษัทอิตาเลียนไทย ประกอบกับมีโครงการประเภทเดียวกันเกิดขึ้นในพม่า เช่น โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาในย่างกุ้งศูนย์กลางเศรษฐกิจพม่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น และโครงการเจ้าผิวก์ทางตะวันตกของประเทศซึ่งได้รับการพัฒนาโดยทุนและรัฐบาลจีน ทำให้ทางการพม่าประกาศยกเลิกสัมปทานกับบริษัทอิตาเลียนไทยในเดือนมกราคม 2021 ด้วยเหตุผลว่าโครงการนี้มีความคืบหน้าล่าช้าจึงต้องการหาผู้รับสัมปทานรายใหม่[10] เพียงไม่กี่วันก่อนที่มิน อ่อง หล่ายจะยึดอำนาจจากออง ซานซูจี

แหล่งข่าวในรัฐบาลไทยที่ใกล้ชิดกับโครงการนี้เปิดเผยว่า รัฐบาลประยุทธ์สั่งการให้รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจหาทางเจรจากับพม่าเฉพาะอย่างยิ่งผ่านช่องทางกองทัพ เพื่อหาทางรื้อฟื้นสัมปทานโครงการนี้เพราะโครงการนี้จัดได้ว่าเป็นโครงการทางยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงของไทยที่จะเชื่อมการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและมหาสมุทรอินเดีย และประการสำคัญฝ่ายไทยเชื่อว่ามิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นชาวทวายโดยกำเนิดน่าจะส่งเสริมโครงการนี้เพื่อพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง ก็ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

         ผลกระทบที่คาดหมายได้

ด้วยความที่ต้องการสร้างแบบแผนทางการเมืองแบบเดียวกัน ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ต้องตรงกันทำให้รัฐบาลประยุทธ์เลือกที่จะให้ความชอบธรรมการรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย และปรารถนาจะช่วยประคับประคองให้ระบอบการเมืองที่คล้ายคลึงกันอยู่ในอำนาจต่อไป แต่ปัญหาคือ มิน อ่อง หล่าย อาจจะไม่สามารถสืบทอดระบอบทหารของตัวเองต่อไปได้อย่างราบรื่นเหมือนประยุทธ์ เพราะกำลังเผชิญหน้ากับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนพม่า รุ่นใหม่ที่ไม่อยากมีอนาคตร่วมกับตัดมาดอว์อีกต่อไป

รวมถึงยังมีการต่อต้านจากกลุ่มนักการเมืองในกลุ่มของอองซาน ซูจี ที่เคยมีโอกาสบริหารประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญ กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งที่ได้ลงนามในสัญญาสงบศึกแห่งชาติแล้วรอคอยการบังคับใช้อยู่ หรือที่ลงนามแล้วแต่ตัดสินใจต่อสู้ด้วยอาวุธต่อไปหลังการรัฐประหาร หรือที่ยังไม่ได้ลงนามและพร้อมที่จะจับปืนต่อสู้ต่อไป นี่ยังไม่นับว่า มีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งที่ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) พร้อมด้วยกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force) ที่มีโอกาสจะพัฒนาไปเป็นกองทัพแข่งกับตัดมาดอว์

ยิ่งไปกว่านั้นการประท้วง ความตึงเครียดทางการเมือง และแรงกดดันจากชาติตะวันตกกำลังจะทำให้เศรษฐกิจพม่าต้องพบกับภาวะล้มละลาย ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจพม่าจะหดตัวมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ รายงานของสหประชาชาติชี้ว่าถ้าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปชาวพม่า 25 ล้านคนหรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศจะต้องพบกับความยากจน[11] นั่นหมายความว่าจุดยืนและแนวทางที่รัฐบาลไทยดำเนินการอยู่ในเวลานี้จะไม่ประสบความสำเร็จและสถานการณ์ในพม่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยดังต่อไปนี้

ประการแรกสุด ความมั่นคงตามแนวชายแดนที่รัฐบาลทหารทั้งสองฝันอยากเห็นจะไม่เกิดขึ้น พม่ากำลังเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอีกครั้ง เมื่อกลุ่มชนต่างๆ ในประเทศจับอาวุธขึ้นต่อสู้ทั้งกับตัดมาดอว์และอาจจะต่อสู้กันเอง การอพยพลี้ภัยหรือเพื่อหาที่อยู่ใหม่ที่สงบสันติมากกว่าของชาวพม่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตสู้รบจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบันคือมีผู้ลี้ภัยจากการปะทะกันระหว่างตัดมาดอว์และกองกำลังกะเหรี่ยงหลายพันคนเดินทางมาขอลี้ภัยที่ชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน กองทัพไทยอนุญาตให้พักพิงชั่วคราวก่อนที่จะผลักดันกลับไป กระทรวงต่างประเทศแถลงว่าสถานะเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2021 มีผู้ลี้ภัยจากพม่าเหลืออยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 58 คน ลดลงจาก 520 คน ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2021[12]  ถ้าการต่อสู้ยืดเยื้อ จำนวนผู้ลี้ภัยจะมากกว่านี้หลายเท่าตัว และการผลักดันกลับไปทั้งๆ ที่สถานการณ์ไม่ปลอดภัยจะทำให้ประเทศไทยจะต้องรับมือกับการวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันจากนานาชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประการที่สอง ยาเสพติดอาจจะแพร่ระบาดผ่านเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติชี้ให้เห็นแล้วว่า สถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาคนี้มีความสัมพันธ์กับความขัดแย้งในพม่าอย่างแยกไม่ออก เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ยาเสพติดไม่ว่าจะเป็นฝิ่น เฮโรอีน และยาบ้า เป็นแหล่งรายได้สำคัญกองกำลังติดอาวุธในพม่า ความขัดแย้งที่ขยายวงออกไปเช่นนี้ ทำให้กลุ่มเหล่านี้ต้องเร่งหารายได้เพื่อซื้ออาวุธและเสบียงที่จะใช้ในการรบพุ่ง สถานการณ์การต่อสู้ด้วยอาวุธที่รุนแรงมากขึ้นก็จะทำให้ความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติดเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประเทศไทยซึ่งเป็นทั้งตลาดและจุดกระจายยาเสพติดที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกก็จะต้องเผชิญหน้าปัญหายาเสพติดต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ประการที่สาม วิกฤตเศรษฐกิจในพม่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้า การลงทุนและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักลงทุนไทยในพม่าต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าวิกฤตพม่าในคราวนี้ส่งผลเสียต่อธุรกิจในพม่ามากที่สุดในรอบหลายสิบปี ระบบการเงินที่เป็นอัมพาต คนงานพากันผละงานประท้วง ทำให้ระบบเศรษฐกิจของพม่าทำงานไม่ได้ ธุรกิจไทยทั้งหมดต้องชะลอแผนการลงทุนรอดูสถานการณ์และอาจจะมีความจำเป็นต้องยกเลิกแผนการถ้าสถานการณ์ไม่มีทีว่าจะดีขึ้นในเร็ววัน กระทรวงพาณิชย์รายงานสถานการณ์การค้าระหว่างไทยและพม่าระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2021 ว่า มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 2,275.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 6.45 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนที่อ่อนไหวที่สุดคือการค้าชายแดน ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2021 มีมูลค่าทั้งสิ้น 43,626 ล้านบาท ลดลง 8.35 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

นั่นเป็นผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ไทยจะต้องเผชิญกับผลกระทบโดยอ้อม อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจพม่าหดตัวและคนจนเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยประเทศไทยจะต้องรับแรงงานอพยพจากพม่าเพิ่มมากขึ้น จากที่มีอยู่แล้วในเวลานี้ทั้งถูกและผิดกฎหมายเป็นจำนวนหลายล้านคน แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเองก็ประสบกับภาวะชะลอตัวมานานนับแต่การรัฐประหารในปี 2014 โอกาสที่จะรองรับแรงงานจากเพื่อนบ้านเพิ่มเติมคงจะมีน้อย

สถานการณ์เช่นนี้ไม่เพียงจะเกิดภาวะตึงเครียดในตลาดแรงงาน เพราะทั้งคนไทยและชาวพม่าจะแย่งงานกันทำเนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้สถานประกอบการในประเทศไทยจำนวนมากต้องปิดตัวลง เป็นเรื่องที่คาดหมายได้ว่า ประเทศไทยจะต้องประสบกับปัญหาการค้ามนุษย์หนักหน่วงขึ้นอีก นโยบายการตรึงชายแดนและความเข้มงวดในการข้ามแดนจะถูกท้าทายหนักขึ้น แน่นอนว่าผลประโยชน์ของธุรกิจลักลอบขนคนและของข้ามแดนจะเฟื่องฟู แหล่งข่าวตามแนวชายแดนบอกว่า ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขนคนข้ามแดนจากพม่าสู่ประเทศไทยเฉลี่ยหัวละ 500-600 ดอลลาร์สหรัฐ ในรายที่มีสัมภาระมาด้วยจะคิดเพิ่มกิโลกรัมละ 10,000 จั๊ต (ประมาณ 6 ดอลลาร์สหรัฐหรือเกือบ 200 บาท) ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งจะตกได้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่คอร์รัปชัน ซึ่งรัฐบาลประยุทธ์ไม่มีทางกำจัดได้

ประการที่สี่ ธุรกิจไทยจะได้รับผลกระทบโดยอ้อมจากการคว่ำบาตรของประเทศตะวันตก ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในเวลานี้คือ บริษัท เมาะตะมะขนส่งแก๊ส ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม ว่าจะระงับการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทซึ่งทำธุรกิจขนส่งแก๊สธรรมชาติผ่านท่อเข้ามายังประเทศไทย เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมกับนานาชาติในการกดดันรัฐบาลทหารพม่า[13] บริษัทนี้ถือหุ้นโดยโทเทลของฝรั่งเศส (31.24%) เชฟรอนของสหรัฐฯ (28.26%) ปตท. สผ. ของไทย (25.5%) และเมียนมาออยแอนด์แก๊สเอ็นเตอร์ไพรซ์ (15%) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของพม่า เจตนาของการระงับจ่ายเงินปันผลนั้นมุ่งสกัดรายได้ของรัฐวิสาหกิจของพม่าที่จะไปเข้ากระเป๋ารัฐบาลทหาร ทั้งโทเทลและเชฟรอนก็ยอมเจ็บตัวเพราะแรงกดดันของผู้ถือหุ้นที่ต้องการจะลงโทษคว่ำบาตรตัดมาดอว์ ปตท. ของไทยจึงต้องโดนหางเลขติดหลังแหไปด้วย

ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า จุดยืนและแนวทางของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันต่อสถานการณ์ในพม่าอย่างที่เป็นอยู่นี้ถูกหรือผิด แต่ทุกอย่างมีราคาต้องจ่าย การพยายามรักษาน้ำใจไมตรีกับตัดมาดอว์จนกระทั่งกลายเป็นการช่วยปกป้องและให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารและการปราบปรามประชาชนเช่นนั้น ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับเผด็จการทหารพม่า ทำลายประชาธิปไตย และละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งจะเสื่อมเสียชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ผลของมันคืออาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพันธมิตรตะวันตกหรืออาจจะพลอยได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรไปด้วย หากมีคนพิสูจน์ได้ว่าการกระทำเช่นนั้นของไทยมีส่วนส่งเสริมการละเมิดสิทธิของชาวพม่าหรือขัดขวางการคว่ำบาตรและมาตรการต่างๆ ที่นานาชาติใช้กดดันตัดมาดอว์

ข้อมูลจำเพาะความสัมพันธ์ไทยและพม่า

ความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ปี 1948 – ปัจจุบัน อยู่ในระดับปกติ
กลไกความร่วมมือทวิภาคีคณะกรรมาธิการร่วมไทย-พม่าคณะกรรมการเขตแดนร่วมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าไทย-พม่าสมาคมมิตรภาพไทย-พม่า
มูลค่าการค้าทวิภาคี6,593 ดอลลาร์สหรัฐ (2020) 2,275 ดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.- เม.ย. 2021)
มูลค่าการลงทุนไทยในพม่า11,412 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1988- 2020)
โครงการทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
ความช่วยเหลือ ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (เฉพาะโครงการที่กำลังดำเนินการ)ทางการเงิน 2,235 ล้านบาททางเทคนิค 39 ล้านบาท
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน


[1] United Nations General Assembly: Plenary.18 June 2021 (https://www.un.org/press/en/2021/ga12339.doc.htm)

[2] Aung Zaw “Thai Premier’s ‘Flashback’ Visit to Burma” The Irrawaddy Vol.16 No.4 April 2008 (https://www2.irrawaddy.com/article.php?art_id=11204)

[3] Wassana Nanuam “Myanmar general given royal honor” Bangkok Post 18 February 2018 (https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1413774/myanmar-general-given-royal-honour)

[4] “Tie forged in brotherhood” Bangkok Post 19 February 2018 (https://www.bangkokpost.com/world/1414291/ties-forged-in-brotherhood)

[5] “Myanmar commander hails Thailand’s coup” The Nation 4 July 2014 (https://www.nationthailand.com/ann/30237802)

[6] “Myanmar leader writes to PM” Bangkok Post 11 February 2021 (https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/2066067/myanmar-leader-writes-to-pm)

[7] Marwaan Macan-Markar “Thai PM and Myanmar junta chief stay engaged via back channels” Nikkei Asia 12 May 2021 (https://asia.nikkei.com/Spotlight/Myanmar-Coup/Thai-PM-and-Myanmar-junta-chief-stay-engaged-via-back-channels)

[8] Paul Chambers “Commentary: Thailand as a model ? Why Myanmar military may follow Prayuth’s example”  Channel News Asia 7 April 2021 (https://www.channelnewsasia.com/news/commentary/myanmar-coup-thailand-prawit-military-political-system-lessons-14560352)

[9] “Suu Kyi’s NLD party under threat to be disbanded” Nikkei Asia 22 May 2021 (https://asia.nikkei.com/Spotlight/Myanmar-Coup/Suu-Kyi-s-NLD-party-under-threat-to-be-disbanded)

[10] “อิตาเลียนไทย แจ้ง ตลท ถูกยกเลิกสัมปทานทวาย” ประชาชาติธุรกิจ 12 มกราคม 2564 (https://www.prachachat.net/finance/news-593125)

[11] United Nations Development Program. COVID-19, Coup d’etat and Poverty: Compounding Negative Shock and Their Impact on Human Development in Myanmar. 30 April 2021 (https://www.asia-pacific.undp.org/content/rbap/en/home/library/democratic_governance/covid-19-coup-d-etat-and-poverty-impact-on-myanmar.html)

[12] สรุปแถลงข่าวประจำสัปดาห์ 10 มิถุนายน 2564 (https://www.mfa.go.th/th/content/press-briefing-10-06-2021?page=5d5bd3c915e39c306002a907&menu=5d5bd3c915e39c306002a908)

[13] Myanmar: Shareholders of Moattama Gas Transportation Company Limited vote to suspend all cash distributiona. Total Energy Press Statement 26 May 2021 (https://www.totalenergies.com/media/news/press-releases/myanmar-shareholders-moattama-gas-transportation-company-limited-vote)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save