fbpx

365 วันหลังรัฐประหารพม่า เมื่อประชาชนยังคงยืนหยัดไม่ยอมแพ้

ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 กองทัพพม่าปฏิบัติการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่เพิ่งมาจาการเลือกตั้ง ทำให้ประเทศพม่าที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ต้องกลับสู่ภายใต้เผด็จการทหารอีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้ประชาชนพากันออกมาแสดงออกถึงการไม่ยอมรับในการยึดอำนาจของกองทัพ ความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับประชาชนจึงลุกลามบานปลายจนยืดเยื้อและยังไม่อาจมองเห็นทางออกมาถึงทุกวันนี้

เหตุการณ์รัฐประหารผ่านมาครบ 1 ปี วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมด้วยศูนย์เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา (arcm-ce) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (TACDB) จึงจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ ‘1 ปีหลังรัฐประหารพม่า’ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมาร่วมพูดคุย ย้อนวิเคราะห์สถานการณ์ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งในประเด็นการต่อสู้ระหว่างประชาชน-กองทัพ บทบาทของกลุ่มชาติพันธุ์ สถานการณ์สิทธิมนุษยชน ท่าทีของประชาคมนานาชาติ บทบาทของอาเซียน บทบาทและผลกระทบต่อไทย พร้อมทั้งวิเคราะห์ฉากทัศน์และมองหาทางออกของสถานการณ์ในอนาคต

หมายเหตุ: เก็บความจากงานเสวนา วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2022

“ประชาชนยังคงยืนหยัดไม่ยอมแพ้” – นฤมล ทับจุมพล

รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พาย้อนมองถึงสาเหตุของการทำรัฐประหาร โดยชี้ว่าเป็นเหตุจากการเลือกตั้ง ซุ่งผลการเลือกตั้งสะท้อนว่าพรรค National League for Democracy (NLD) ที่นำโดยนางอองซานซูจี กำลังประสบความสำเร็จ และขยับขยายความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่พรรคตัวแทนกองทัพพม่าอย่าง Union Solidarity and Development Party (USDP) กำลังเหลือพื้นที่ทางการเมืองน้อยลงมาก จนน่ากังวลว่าจะหายไปในที่สุด 

การไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในเกมการเลือกตั้งและความกังวลต่อภูมิศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองที่เปลี่ยนแปลงมหาศาลจนถึงจุดที่ไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป จึงเป็นเหตุให้กองทัพพม่าตัดสินใจทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ผลที่ตามมาคือประชาชนพม่าพากันออกมาต่อต้าน จนนำไปสู่การต่อสู้ระหว่างกองทัพกับประชาชนที่ยกระดับความรุนแรงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

“ใน 1 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ารัฐบาลทหารพม่ายังไม่สามารถปกครองได้ จึงเลือกใช้วิธีการใช้กำลังอาวุธในการจัดการ แล้วยิ่งฝ่ายต่อต้านเริ่มมีการตั้งกองกำลังป้องกันตนเองภายใต้การฝึกฝนของกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ อัตราการสู้รบก็สูงขึ้น และคนเสียชีวิตก็สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงพฤศจิกายน-มกราคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุด และมีการประมาณการว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการสู้รบทั้งหมดอยู่ที่ราว 7,000 คน” นฤมลกล่าว

“หลังเหตุการณ์ผ่านไป 6 เดือน มีการก่อตั้งกองกำลังประชาชน (People’s Defense Force: PDF) สิ่งที่น่าสนใจคือในช่วงแรกๆ การต่อต้านมักอยู่ในเขตพื้นที่บะหม่า (บริเวณที่คนส่วนใหญ่เป็นคนชนกลุ่มใหญ่พม่า) ในพื้นที่ mainland ส่วนในปัจจุบันเมื่อครบ 1 ปี เราเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือการสู้รบย้ายจาก mainland มาที่พื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์” 

นฤมลให้ข้อมูลต่อไปว่าพื้นที่หลักๆ ที่กองทัพพม่ามองว่ามีการต่อต้าน รวมถึงให้การสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านกองทัพอย่างชัดเจน ได้แก่ รัฐกะเหรี่ยง รัฐกะยา (กลุ่มกะเหรี่ยงแดงหรือกะเรนนี) และรัฐฉาน จึงเป็นพื้นที่ที่กองทัพพยายามเข้ามาปราบปราม จนเกิดการสู้รบ และเป็นเหตุให้มีผู้หนีภัยสงครามข้ามมายังฝั่งไทย เนื่องจากทั้งสามพื้นที่นี้ล้วนอยู่ติดชายแดนไทย โดยนฤมลเตือนให้จับตาการสู้รบในพื้นที่รัฐฉาน ซึ่งอาจส่งผลให้มีผู้หนีภัยสงครามเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้ 

อย่างไรก็ตาม บทบาทของกลุ่มชาติพันธุ์ในการต่อต้านรัฐประหารถือว่ามีความซับซ้อนคลุมเครือ โดยนฤมลมองว่าเป็นผลพวงจากยุทธศาสตร์แบ่งแยกแล้วปกครองของกองทัพพม่าที่มีมายาวนาน

“กองทัพพม่ามีประสิทธิภาพมากในการดึงกลุ่มชาติพันธุ์ให้พยายามต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ยึดครองของตัวเอง แทนที่จะต่อต้านเผด็จการ ก่อนการรัฐประหาร เราพบว่าหลายกลุ่มสู้กันเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในพื้นที่รัฐฉาน ต่อมาหลังรัฐประหารก็เกิดสถานการณ์ว่า ครึ่งหนึ่งตัดสินใจเข้าร่วมกับนักศึกษาเพื่อต่อต้าน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งยังลังเลอยู่ เพราะยังมุ่งให้ความสำคัญกับการยืนยันการปกครองตัวเองในพื้นที่” นฤมลกล่าว

“แต่สิ่งที่ลูกศิษย์ของดิฉันที่เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์พยายามอธิบายก็คือว่า การให้ความสำคัญกับการควบคุมพื้นที่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะเอาด้วยกับตัดมาดอว์ คำอธิบายของเขาที่เราเห็นด้วยก็คือ เราไม่สามารถมองกลุ่มชาติพันธุ์แบบเป็นองค์รวม และการที่เขาสู้กันเองไม่ได้แปลว่าเขาเป็นเครื่องมือของกองกำลังทหารพม่า ทุกกลุ่มไม่มีใครชอบกองทัพพม่า แต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่สู้กันเอง”

“แต่สิ่งที่เราเห็นแน่ๆ จากเรื่องนี้คือ ซากเดนของการแบ่งแยกแล้วปกครองที่กองทัพพม่าทำมาในอดีต จนทำให้กลุ่มต่างๆ วุ่นวายกับการต่อสู้เพื่อขอบเขตบูรณภาพเหนือดินแดนของตัวเอง ทำให้บางกลุ่มแทนที่จะต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตย ก็หันมาให้น้ำหนักกับการสู้กันเอง แล้วก็อยู่เฉยๆ ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ว่า ถ้าเขาอยู่เฉยๆ กองทัพพม่าอาจจะประนีประนอมขึ้น” 

นอกจากนั้น นฤมลยังชวนมองผลกระทบของเหตุการณ์รัฐประหารพม่าในเชิงเศรษฐกิจ โดยชี้ว่าพม่ากำลังเดินกลับเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบ cash economy หรือเศรษฐกิจเงินสด เนื่องจากฝ่ายต่อต้านมีการโจมตีระบบโทรคมนาคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารและระบบการเงินออนไลน์ รวมทั้งมีการแห่ถอนเงินจากธนาคาร ทิศทางของเศรษฐกิจในพม่าจึงถือว่ากำลังขัดแย้งกับกระแส digital transformation (การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล) ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจในระบบดิจิทัลจะหายไปเสียทีเดียว เพราะยังมีการใช้ระบบ e-commerce อยู่โดยเฉพาะในบริเวณชายแดน 

ในแง่การลงทุน ก็พบว่าหลังรัฐประหาร หลายประเทศที่เป็นผู้ลงทุนสำคัญในพม่า อย่างสิงคโปร์และไทย มีการลงทุนที่ลดลง เนื่องจากหลายเครือธุรกิจประกาศถอนการลงทุน จึงน่าสนใจว่าพม่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะถึงแม้จะมีรัฐประหาร แต่เศรษฐกิจพม่าก็ยังต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศสูงอยู่ 

อย่างไรก็ตาม ประเทศหนึ่งที่ทิศทางการลงทุนในพม่าสวนทางกับประเทศอื่นๆ ก็คือจีน ที่เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นหลังรัฐประหาร โดยนฤมลชี้ว่า “จีนยังคงเป็นมหามิตร การรัฐประหารไม่มีผลกับการลงทุนของจีนในพม่า แต่สิ่งที่จีนเป็นห่วงคือ ถ้าความรุนแรงยังเพิ่มขึ้น สถานการณ์เศรษฐกิจจะแย่ลง ดังนั้นจีนจึงเริ่มมีบทบาทที่จะกดดันกองทัพพม่าว่า ถ้าคุณปกครองไม่ได้ คุณก็ต้องประนีประนอม” 

เมื่อมองไปที่ทิศทางของสถานการณ์ประเทศพม่าในอนาคต นฤมลมองว่า ถึงแม้การประท้วงบนท้องถนนจะทำได้ยากขึ้น เพราะมีการปราบปรามจากกองทัพพม่าอย่างหนักหน่วง แต่ประชาชนพม่าก็จะยังคงไม่ยอมแพ้ 

“แม้จะยังไม่เห็นชัยชนะและถูกปราบทุกวัน แต่ประชาชนก็พยายามประกาศข้อเรียกร้องกับนานาชาติ นี่คือสิ่งที่พวกเขาประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยพวกเขาขอให้นานาชาติเปลี่ยนจากวิธีคิดเรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องประชาธิปไตย และขอให้เปลี่ยนจากวิธีคิดเรื่องเศรษฐกิจไปเป็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ในแง่นี้จึงจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และการพัฒนา แต่ถ้าให้สรุป ดิฉันคิดว่าความคาดหวังของพวกเขาค่อนข้างยาก” 

“สถานการณ์การสู้รบที่เราเห็นในแต่ละวัน เราจะยังเห็นอยู่ไหม ดิฉันว่าจะยังเห็นอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนยังคงยืนหยัดว่าจะไม่ยอมแพ้” นฤมลสรุป

มองรัฐประหารผ่านโลกทัศน์ ‘ตัดมาดอว์’ – ดุลยภาค ปรีชารัชช

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายสาเหตุการรัฐประหารผ่านโลกทัศน์ของกองทัพพม่าว่า เกิดจากความขัดแย้งต่ออุดมการณ์แห่งชาติ 3 ประการที่กองทัพยึดถือและละเมิดไม่ได้ ซึ่งประกอบไปด้วย (1) การห้ามมิให้สหภาพล่มสลาย (2) ห้ามมิให้ความเป็นเอกภาพและความสมาฉันท์ของคนในชาติถูกทำลาย และ (3) การค้ำยันอธิปไตยให้มั่นคง 

“ความพิเศษของกองทัพพม่าคือ ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าความมั่นคงแห่งรัฐ ความมั่นคงกองทัพ และความมั่นคงของระบอบการเมืองเป็นคนละส่วนกัน”

“เพราะฉะนั้น เมื่อมีศัตรูคุกคามกองทัพ กองทัพไม่ได้มองว่าสถาบันกองทัพถูกสั่นคลอนอย่างเดียว แต่ยังหมายความว่าอธิปไตยแห่งรัฐ และระเบียบการเมืองภายในประเทศถูกสั่นคลอนไปด้วย ตรงนี้น่าสะพรึงกลัว เพราะกองทัพถือตนเองว่าเป็นจุดศูนย์กลางความมั่นคงประเทศ”

ดุลยภาคอธิบายต่อว่า สิ่งที่กองทัพพม่ากลัวและมองว่าเป็นภัยคุกคามได้แก่ (1) ประชาชนเชื้อชาติพม่าแท้ที่เรียกร้องประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการทหาร (2) กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการสหพันธรัฐ ต่อต้านรัฐส่วนกลาง และ (3) การแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ ซึ่งกองทัพจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ทั้ง 3 ส่วนมาบรรจบกัน และออกยุทธศาสตร์ทางการเมืองเพื่อรับมือต่อภัยคุกคามที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านี้

หากมองปรากฏการณ์หลังรัฐประหารพม่าช่วงปีที่ผ่านมาผ่านสามภัยคุกคามกองทัพ ในส่วนของประชาชน ดุลยภาคมองว่า ประชาชนมีพลังในการคุกคามกองทัพพม่าเพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนวิธีการต่อสู้จากการเคลื่อนไหวผ่านขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement: CDM) ไปสู่การลุกขึ้นจับอาวุธ ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนยังมองกองทัพว่าเป็นศัตรู และไม่ได้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของชาติ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดุลยภาคมองว่าน่ากังวลคือ การฟื้นกองทัพประชาชนเพื่อป้องกันประเทศ (National Defense Force: NDF) หรือกองทัพปะยูซอทีโดยเสนาธิการกองทัพพม่า เพื่อสร้างแนวร่วมประชาชนที่ขาดหายไป แก้เกมจากการที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ประกาศยุทธศาสตร์ป้องกันประชาชนและให้มีการทำสงครามประชาชนล้มรัฐบาลทหาร เพราะนั่นหมายความว่า จะมีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกจัดตั้งให้เป็นกองกำลังกึ่งทหารหรือกองกำลังอาสาสมัครป้องกันประเทศ นอกจากนี้ กองทัพพม่ายังมีกำลังพลสำรองอีกพอสมควร อย่างเช่นกาชาด หรือองค์กรอาสาสมัครที่เป็นมวลชนจัดตั้งของภาครัฐ 

ส่วนในมิติกลุ่มชาติพันธุ์ ดุลยภาคมองว่ากองทัพเล่นเกมยุทธศาสตร์กับกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างหลักแหลม โดยการตัดสินใจไม่เปิดแนวรบทั้งหมด อย่างเช่น เลือกเปิดศึกกับ KNPP ในรัฐกะยาและ KNU ในรัฐกะเหรี่ยง หรือ KIO และ KIA ในรัฐคะฉิ่น แต่ไม่เปิดศึกเองในแนวรบรัฐฉาน ให้กลุ่มชาติพันธุ์เปิดสงครามปะทะกันเองมากกว่า ซึ่งทำให้ทหารพม่าอาจจะไม่ต้องออกแรงรบเต็มกำลัง ส่วนในแนวรบที่รุนแรงทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ อย่างทางเขตซะไงกับรัฐฉิ่นที่มีกองกำลัง PDF เคลื่อนไหวและสังหารทหารกองทัพพม่าไปจำนวนมาก ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวว่ากองทัพพม่าอาจดีลกับกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐอินเดียทางภาคอีสานที่มีฐานเคลื่อนไหวในพม่าเพื่อให้ถล่ม PDF ในรัฐฉิ่นและเขตซะไง 

ส่วนในมิติการแทรกแซงจากต่างชาติ ดุลยภาคชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีท่าทีที่เอนเอียงไปทางรัฐบาล NUG ส่วนรัฐภาคพื้นสมุทรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีท่าทีในการกดดัน คว่ำบาตรกิจกรรมทางการทูตของมิน อ่อง หล่ายในเวทีอาเซียน แต่ในขณะเดียวกัน รัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปอย่างกัมพูชา ไทย ลาว หรือมหาอำนาจอย่างจีน รัสเซีย มีท่าทีที่ไม่กระตือรือร้นในการกดดันกองทัพพม่า 

“เพราะฉะนั้น เวลาเจอภาวะวิกฤต กองทัพพม่าจะแจกจ่ายไพ่ทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์กับจีนหรือรัสเซีย เพื่อลดแนวร่วมในการกดดันกองทัพ” 

หากมองภาพรวมสถานการณ์พม่าหลังผ่านการรัฐประหารมา 1 ปี สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือการช่วงชิงกันเป็นรัฏฐาธิปัตย์ระหว่างขั้วคณะรัฐประหารที่เนปิดอว์และขั้วรัฐบาล NUG 

สำหรับฉากทัศน์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ในกรณีที่ฝ่ายกองทัพพม่ามีชัยหรือได้เปรียบจากระบบบริหารราชการแผ่นดินที่ยังดำเนินต่อไปได้ อย่างการตั้งสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council: SAC) รัฐธรรมนูญที่ยังใช้การได้ต่อ ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติการในพื้นที่และการสร้างรัฐผ่านสงคราม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเอกภาพในการบังคับบัญชา และการควบคุมโครงสร้างพื้นฐานในเนปิดอว์ ดุลยภาคมองว่าอาจได้เห็นฉากทัศน์สองแบบ คือ (1) รัฐเผด็จการเสนาธิปัตย์คล้ายช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งแม้ว่าอาจคุมพื้นที่ต่างๆ ได้ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ฝ่ายต่อต้านก็ไม่สามารถคุกคามหรือสั่นคลอนระบอบทหารได้ หรือ (2) เล่นเกมการเลือกตั้ง ซึ่งภายในรัฐบาลคณะรัฐประหารเริ่มมีการพูดคุยกันแล้วว่าอาจปล่อยให้มีการจัดการเลือกตั้งตามโร้ดแมปในปี 2023 หากการสู้รบหยุดลง

“สิ่งที่น่าจะเห็นคือ อองซานซูจีและพรรค NLD ง่อยเปลี้ย ถูกยัดคดีอาญาต่างๆ อาจจะมีพรรคที่เป็นนอมีนีของกองทัพ”

“การจัดเลือกตั้งจะเป็นการเลือกตั้งที่ฝ่ายทหารได้เปรียบ คล้ายกับช่วงที่สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council: SPDC) เปลี่ยนผ่านทางการเมืองในห้วง 10-11 ปีที่ผ่านมา”

“มีการพูดคุยเรื่องการแก้ระบบเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการใช้ระบบผู้ชนะกินรวบทั้งหมด พรรค NLD ได้รับอานิสงส์จากระบบเลือกตั้งแบบนี้ ตอนนี้มิน อ่อง หล่ายบอกว่าจะแก้เป็นระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน เพราะกลุ่มที่แพ้คะแนนเลือกตั้งจะได้มีที่นั่งในสภาตามสัดส่วน”

“มิน อ่อง หล่ายยังบอกอีกว่า การเมืองพม่าต้องการประชาธิปไตยแบบพหุพรรค ต้องคุยเรื่องสหพันธรัฐ กลุ่มชาติพันธุ์ต้องมีที่ทาง ต้องตัดเสียงข้างมากในสภาของบางพรรคและแก้ระบบเลือกตั้งไปเป็นระบบสัดส่วน” ซึ่งดุลยภาพยังเสริมอีกว่า สิ่งที่มิน อ่อง หล่ายออกมากล่าวมีความเชื่อมโยงกับประกาศคณะรัฐประหารที่ระบุว่า ต้องทำรัฐประหารเพราะมีการโกงการเลือกตั้ง และมีภาวะเผด็จการรัฐสภาของพรรค NLD 

“เพราะฉะนั้น หากมีการเลือกตั้ง การเมืองพม่าจะออกมาเป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบหรือระบบไฮบริด และไม่มีทางได้เห็นประชาธิปไตยเต็มใบในฉากทัศน์เช่นนี้” ดุลยภาคกล่าว

ส่วนฉากทัศน์สุดท้ายในกรณีที่ฝ่าย NUG ชนะ ดุลยภาคคาดการณ์ว่าน่าจะได้เห็นการสถาปนา ‘สหพันธรัฐประชาธิปไตย’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในพม่าและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะไม่เคยมีการนำวาระการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของคนชาติพันธุ์พม่า และการเปลี่ยนผ่านไปสู่สหพันธรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์มาปักธงร่วมกันมาก่อน 

“แต่คำถามคือ หากฝ่ายนี้ชนะ จะรับประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการแตกคอทางแนวคิดระหว่างคนเชื้อชาติพม่าแท้และกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีความคิดทางการเมืองหลายเฉดสี แต่อย่างไรก็ตาม นี่คือพลังการต่อสู้แบบใหม่” 

“เราคงเห็นฉากทัศน์นี้ได้ยาก แต่มันปักธงการปฏิวัติสหพันธรัฐประชาธิปไตยขึ้นในแผ่นดินพม่าเรียบร้อยแล้ว”

ท่าทีประชาคมโลกต้องชัดเจนและสร้างแรงกดดันได้มากกว่านี้ – เกียรติ สิทธิอมร

เกียรติ สิทธิอมร รองประธานธรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร มองว่าการรัฐประหารของพม่าทำให้เราได้เห็นนวัตกรรมทางการเมืองอย่างหนึ่ง คือการเขียนรัฐธรรมนูญที่เขียนให้สามารถยึดอำนาจได้ ซึ่งแนวคิดเบื้องต้นอาจทำเพื่อเกลี่ยฐานอำนาจให้สมดุล แต่เกียรติชี้ว่านี่ไม่ใช่นวัตกรรมที่น่าชื่นชม เพราะเห็นแล้วว่าได้สร้างปัญหาในเวลาต่อมา นอกจากนี้การรัฐประหารที่เกิดขึ้นในพม่ายังสะท้อนถึงบรรทัดฐานใหม่ที่น่าสะพรึงกลัว ซึ่งประชาคมโลกไม่ควรให้การยอมรับ 

“บรรทัดฐานใหม่ที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับประชาคมโลก คือเหตุผลในการยึดอำนาจ ซึ่งก็คือการแพ้การเลือกตั้ง” เกียรติกล่าว

“ผมว่าบรรทัดฐานนี้น่ากลัวมาก แล้วไม่ใช่ว่าเฉพาะเกิดขึ้นในพม่า แต่เราเริ่มเห็นว่าหลายประเทศก็มีแนวโน้มวิ่งไปทางนั้น คือมีการเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในหลายพื้นที่ของโลก สิ่งนี้เป็นสิ่งประชาคมโลกเองต้องให้ความสำคัญมากกว่าที่เราเห็นอยู่ ไม่ใช่ยอมรับกันง่ายๆ”

นอกจากบรรทัดฐานในเรื่องการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งแล้ว เกียรติมองว่าอีกบรรทัดฐานหนึ่งจากเหตุรัฐประหารพม่าที่ไม่ควรเป็นที่ยอมรับได้ในประชาคมโลก ก็คือปัญหากระบวนการยุติธรรม โดยเกียรติชี้ว่า “เหตุผลในการดำเนินคดีและโทษในการดำเนินคดี มันหลุดโลกมาก ผมใช้คำนี้เลย แค่มีวอล์คกี้ทอล์คกี้ก็โดนคุก 4 ปี อย่างนี้มันใช่หรอครับ บรรทัดฐานนี้ยิ่งต้องอยู่ในจอเรดาร์ของทุกประเทศ” 

“ความเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่เพราะมีรัฐธรรมนูญเขียนขึ้นมาเท่านั้น แต่กระบวนการยุติธรรมเป็นตัวชี้ว่าสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้นๆ ได้บรรทัดฐานไหม ผมบอกได้เลยว่า เท่าที่ติดตามดูการดำเนินคดี ผมไม่รู้จะเอาบรรทัดฐานไหนเปรียบเทียบ มันเทียบเคียงไม่ได้เลย แล้วมันอันตรายมาก ถ้าประชาคมโลกยังยอมรับว่ามันเกิดขึ้นได้” เกียรติกล่าว

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เกียรติมองว่าประชาคมโลกไม่ควรนิ่งเฉยได้ 

“สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องไม่ยอมรับให้เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ณ วันนี้ ความรุนแรงยังเกิดอย่างต่อเนื่อง แล้วทำไมประชาคมโลกยังยอมรับ ผมว่าอย่างนี้มันไปไม่ได้ ความรุนแรงต้องไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปไม่ว่าจากฝ่ายใด ผมว่านี่เป็นประเด็นที่ประชาคมโลกต้องมีท่าทีชัดเจน ถ้ายังไม่เกิดขึ้นตามนั้น ก็ต้องมีมาตรการเสริม ไม่ใช่บอกให้เพียงอาเซียนเข้าไปคุย ผมว่าอย่างนั้นไม่ได้” เกียรติกล่าว 

นอกจากนี้ เกียรติยังวิเคราะห์ถึงบทบาทและท่าทีของประเทศต่างๆ โดยมองว่าบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตย ยังถือว่าอ่อนมาก พร้อมวิจารณ์ว่า สหรัฐฯ มักอยากเห็นหลายประเทศเข้ามามีบทบาทในสถานการณ์พม่า แต่สหรัฐฯ เองกลับไม่ได้เข้ามามีบทบาทอะไรมากมายนัก จึงถือว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ 

ทางด้านบทบาทของสหภาพยุโรป เกียรติก็มองว่ายังอ่อนอยู่เช่นกัน ถึงแม้มีมาตรการอายัดทรัพย์สินของผู้ร่วมก่อการ ซึ่งถือว่าดีกว่ามาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศพม่า แต่เกียรติก็มองว่าเป้าหมายการกดดันต้องชัดเจนและยังสามารถกดดันได้มากกว่านี้

ขณะที่บทบาทของอาเซียนและไทย ถึงแม้จะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่มาก แต่เกียรติมองว่ายังคงต้องติดตามต่อไป เพราะอาจมีพัฒนาการและเบื้องลึกเบื้องหลังที่เรายังไม่รู้

“สิ่งที่เราเห็นเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของอาเซียนคือ การที่ฮุนเซ็นเดินทางไป (พบผู้นำทหารพม่าที่กรุงเนปิดอว์) วันที่ท่านไปนั้นไม่ได้อะไรกลับมาเท่าไหร่ แต่ก็เชื่อว่าท่านจะได้บทเรียน ผมยังไม่ตัดสินว่าฮุนเซ็นเดินเกมถูกหรือผิด เรายังไม่ทราบว่าลึกๆ เขาคุยอะไรกันบ้าง ต้องติดตามต่อไปก่อน” เกียรติกล่าว

“การเดินทางไปเยือนของไทย ถามว่าเหมาะไหม ก็ไม่ค่อยเหมาะ ถ้าบอกว่าไปเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผมว่าไม่จำเป็นที่รองนายกฯ ต้องไปเอง แต่ผมก็ไม่ตัดสิน เพราะไม่รู้ว่าเบื้องลึก คุยอะไรกันบ้าง ต้องติดตามเหมือนกัน” 

อย่างไรก็ตาม เกียรติมองว่าประเทศที่ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญของสถานการณ์ในพม่าก็คือจีน รวมถึงรัสเซีย ซึ่งประชาคมโลกต้องพยายามดึงเข้ามาร่วมในการกดดันกองทัพพม่าให้ได้ ไม่อย่างนั้นโอกาสสำเร็จจะน้อยมาก 

“ที่รัฐบาลทหารยังอยู่ทุกวันนี้ได้ เพราะได้รับการสนับสนุนจากจีน รวมถึงรัสเซีย จีนกับรัสเซียคอยนั่งนิ่งๆ มองดูผลประโยชน์ตัวเอง แต่ผลประโยชน์ตัวเองกระทบผลประโยชน์ของโลก เพราะฉะนั้นจีนกับรัสเซียต้องตัดสินใจว่าตัวเองจะเล่นบทอะไรในเวทีนี้” เกียรติกล่าว

“ต้องยอมรับว่า ถ้าเราไม่มีจีนที่เห็นด้วยกับเราว่ารัฐบาลทหารเดินต่อไปไม่ได้แล้ว แล้วต้องรีบจัดการเลือกตั้งให้ถูกต้องโดยเร็วที่สุด มันก็จะเดินต่อยาก” 

เกียรติฝากทิ้งท้ายไว้ 3 ประเด็นเพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ ได้แก่ ประเด็นแรก คือปัญหาผู้ลี้ภัย ซึ่งต้องไม่ให้ทั้งโลกคิดว่าเป็นปัญหาของไทยประเทศเดียว แต่เป็นปัญหาของประชาคมโลกที่ทุกคนต้องมีส่วนเข้ามาช่วยเหลือ ประเด็นที่สอง คือความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องหยุด โดยทุกฝ่ายต้องมีจุดยืนและท่าทีที่ชัดเจน และต้องกดดันกองทัพพม่ามากกว่านี้ ขณะที่ฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียนก็ต้องได้รับการสนับสนุน และประเด็นสุดท้าย คือต้องพยายามพูดคุยกับรัฐบาลจีน เพื่อให้เข้ามามีบทบาทช่วยผลักดันโรดแมปพาพม่าไปสู่ประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด  

ความ (ไม่) สมาฉันท์ในอาเซียนกลางวิกฤตรัฐประหาร สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี สื่อมวลชนและนักวิจัยอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เสนอการมองภาพบทบาทอาเซียนในวิกฤตรัฐประหารพม่าว่า (1) ทำไมอาเซียนต้องเข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขวิกฤต (2) อาเซียนบทบาทอย่างไรไปแล้วบ้าง และ (3) อาเซียนควรต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป

ในประเด็นแรก สุภลักษณ์อธิบายว่า อาเซียนต้องเข้าไปมีบทบาทเพราะวิธีทางการทหารไม่สามารถยุติปัญหาความขัดแย้งได้ ซึ่งมีสาเหตุคือ

หนึ่ง ตัดมาดอว์ไม่ได้รับการรับรองในฐานะรัฐบาลพม่าอย่างเป็นทางการ แม้ว่ามีบางประเทศพยายามจะสานสัมพันธ์ทางการทูตก็ตาม

“ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญทางความมั่นคงและการทหารอกำลังวิเคราะห์กันว่า ตัดมาดอว์ล้มเหลวในการยึดอำนาจครั้งนี้ เพราะพยายามยึดอำนาจมาหนึ่งปีแล้วยังมีคนต่อต้าน ยังไม่สามารถหาคนรับรองรัฐบาลที่เนปิดอว์ได้เลย”

สอง ไม่ค่อยมีการยึดอำนาจครั้งไหนในพม่าที่การต่อต้านลุกลามไปทั่วประเทศ ซึ่งแม้ว่าตัดมาดอว์จะมีความเข้มแข็งในแง่กำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ มีพันธมิตรมหาอำนาจที่คอยหนุนหลังอย่างจีนและรัสเซีย แต่ตัดมาดอว์สูญเสียการควบคุมพื้นที่จำนวนมาก หรือเข้าไม่ถึงบางพื้นที่เนื่องจากการต่อต้านของประชาชน 

สาม แม้การต่อต้านจะลุกลามไปทั่วประเทศ และมีการถกเถียงว่าธรรมชาติของการต่อสู้ระหว่างกองทัพพม่าและประชาชนครั้งนี้มีลักษณะคล้ายทั้งสงครามก่อความไม่สงบ (insurgency war) สงครามกลางเมือง (civil war) สงครามปฏิวัติ (revolutionary war) หรือสงความประกาศอิสรภาพ (independence war) แต่หากพิจารณาสรรพกำลังของ PDF สุภลักษณ์มองว่า ยังอยู่ในขั้นฝึกอาวุธและระดมคน ยังไม่พัฒนาถึงขั้นเป็นกองทัพในตอนนี้อย่าง NDF ยิ่งไปกว่านั้น PDF ยังไม่มีความชัดเจนทางยุทธศาสตร์ หรือสายการบัญชาการจาก NUG ก็ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่พอสมควร

สี่ ในเมื่อตัดมาดอว์สามารถอาศัย NDF เข้าถึงพื้นที่ได้ และ PDF อาจจะไม่มีกำลังมากพอ เพราะฉะนั้น PDF ต้องพึ่งพิงกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถืออาวุธและต่อสู้กับตัดมาดอว์เกือบศตวรรษแล้ว อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถืออาวุธสู้รบกันเอง และค่อนข้างได้ประโยชน์จากสถานการณ์การรัฐประหาร เพราะสามารถกันเขตแดนในพื้นที่ของตนเองได้ เห็นได้จากท่าทีการประกาศต่อต้านคณะรัฐประหารค่อนข้างช้า บางกลุ่มออกมาแสดงความยินดีเพราะเกลียดอองซานซูจี มีเพียง 7-8 กลุ่มที่เปิดหน้าต่อต้านตัดมาดอว์ นอกเหนือจากนั้นยังรอดู เพราะอาจยังหวังเจรจาสนธิสัญญาสงบศึกกับตัดมาดอว์ หรือยังไม่มีการเคลื่อนไหวเพราะประกาศกว่าจะโจมตีหากถูกรุกล้ำพื้นที่ 

“เพราะฉะนั้น สถานการณ์ทางทหารของฝ่ายประชาชนและฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อให้รวมกันเป็นเอกภาพได้ ก็คงจะเอาชนะตัดมาดอว์ไม่ได้ เมื่อเอาชนะทางการทหารไม่ได้ ก็ต้องหันมาหาวิธีทางการทูต”

“เราอาจะหวังกับ UN สหรัฐฯ สหภาพยุโรปได้บ้าง แต่ผลประโยชน์ต่างกันเยอะ เพราะฉะนั้น วิธีทางการทูตที่ใกล้ระยะที่สุดและเป็นจริงที่สุด คืออาเซียนและประเทศเพื่อนบ้าน ไม่เพียงแต่ว่าพม่าเป็นสมาชิกอาเซียนเท่านั้น เหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในพม่าทั้งหมดยังกระทบอาเซียนด้วย อาเซียนอยู่เฉยๆ ไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม สุภลักษณ์ชี้ให้เห็นต่อว่า อาเซียนมีธรรมชาติในการแก้ไขปัญหาที่ล่าช้า และการแก้ไขปัญหาในพม่าครั้งอาจะกินเวลาราวสองทศวรรษกว่าจะเห็นผล อย่างที่อาเซียนเคยเข้าไปมีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านการเมืองพม่าหลังเหตุการณ์ 8888 ในปี 1988 ไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่เปิดให้มีการเลือกตั้งในปี 2011

ใน 1 ปีที่ผ่านมาของการรัฐประหารพม่า ในระยะที่บรูไนรับตำแหน่งประธาน สิ่งที่อาเซียนลงมือไปแล้วคือ การออกแถลงการณ์แสดงความกังวล ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักดันจากอินโดนีเซีย จากนั้นในที่สุดก็นำไปสู่ฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งมีเพียงแค่สามข้อที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในระดับปฏิบัติการ คือการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การตั้งคณะผู้แทนพิเศษไปเยือนพม่าเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และการยุติความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม มีเพียงแค่การระบุหลักการเท่านั้น อาเซียนยังไม่สามารถแปลงหลักการไปสู่แผนการปฏิบัติการ ที่ระบุวิธีการและรายละเอียดในการนำหลักการลงไปปฏิบัติให้ได้ผลอย่างจริงจัง ซึ่งสุภลักษณ์มองว่าเป็นสิ่งที่อาเซียนควรดำเนินการ

“สิ่งที่อาเซียนควรทำและไม่ได้ทำคือ ไม่มี action plan สำหรับนำฉันทามติ 5 ข้อลงไปปฏิบัติ แต่ปล่อยให้ถูกตีความโดยประธาน หรือผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งสุภลักษณ์ฉายให้เห็นภาพจากกรณีการตั้งคณะผู้แทนพิเศษขึ้นมาว่า มีการถกเถียงกันอย่างมากว่า ที่มาของคณะผู้แทนพิเศษมาจากการแต่งตั้งของอาเซียนหรือประธาน และเมื่อสุดท้ายประนีประนอมว่ามาจากประธาน หมายความว่าทุกปีที่มีการเปลี่ยนประธาน ซึ่งย่อมทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการปฏิบัติ และอาจทำให้อาเซียนมีปัญหา 

เมื่อบรูไนหมดวาระลงและส่งเก้าอี้ประธานต่อให้กัมพูชา สิ่งที่กัมพูชาภายใต้สมเด็จฮุนเซ็นทำค่อนข้างมีปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาที่ตามมากจากการที่อาเซียนเป็นเอกภาพไม่เพียงพอในการออกฉันทามติ 5 ข้อ เปิดช่องว่างให้ประธานสามารถตีความและปรับเปลี่ยนท่าทีได้ตามอำเภอใจ

“ฮุนเซนพลาดตรงที่ไม่ปรึกษาหารือให้ครบถ้วนก่อนไปเยือนเนปิดอว์ ซึ่งที่ไม่ปรึกษาครบถ้วน เพราะว่าแต่ละประเทศมีเฉดแนวคิดในการแก้ไขปัญหาพม่าต่างกันมาก ให้คำปรึกษาที่ไม่เหมือนกัน นี่ทำให้ฮุนเซนพลาด การไปเยือนพม่าเลยกลายเป็นเหมือนการรับรองมิน อ่อง หล่าย และการรัฐประหาร เพราะแถลงการณ์ที่ออกตามมาคือ ฝ่ายกองทัพกล่าวถึงการหยุดยิงฝ่ายเดียวไปถึงต้นปีกับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยไม่กล่าวถึง PDF และ NUG” ซึ่งสุภลักษณ์เสริมอีกว่า สาเหตุที่อาเซียนไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ในปัจจุบันก็มาจากการที่เฉดจุดยืนในการแก้ไขปัญหาต่างกันมาก โดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์มีท่าทีที่แข็งกร้าว เวียดนามมีท่าทีกลางๆ ส่วนไทย ลาว กัมพูชา และบรูไนค่อนข้างเงียบ 

แต่สิ่งที่อาเซียนภายใต้การนำของกัมพูชากำลังจะดำเนินการต่อไปคือ การดึงกลไกการแก้ไขปัญหาที่มีลักษณะร่วมกัน (collective) มากขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการริ่เริ่มของประธานอย่างเดียวอย่าง Troika มาใช้ ซึ่งโดยธรรมเนียมสมาชิก Troika จะประกอบไปด้วยสามประเทศ คืออดีตประธานอาเซียน ประธานอาเซียน และอนาคตประธานอาเซียนของ ณ เวลาที่ตั้งขึ้นมา ซึ่งหากตั้งขึ้นมาในปีนี้ จะทำให้อินโดนีเซียอยู่ใน Troika ด้วยและจะทำให้การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพม่าดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาบทบาทของไทย สุภลักษณ์มองว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องดำเนินการและมีบทบาทในการแก้ไขปัญหา 

“ทั่วโลกผิดหวังกับท่าทีของไทยมากๆ ในการแก้ไขปัญหาพม่าคราวนี้ ในสงครามกัมพูชา ไทยออกหน้าประเทศแรก ในหลังปี 1988 ไทยก็มีบทบาท ทั้งๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลจากการรัฐประหาร ในอดีต นโยบาย Constructive Engagement, Flexible Engagement, Enhanced Engagement ทุกอย่างเริ่มที่กรุงเทพ เพราะฉะนั้น ไทยต้องกลับมาริเริ่มไอเดียและนโยบายทางการทูตและการต่างประเทศได้แล้ว” 

สุภลักษณ์เสนออีกว่า ไทยสามารถใช้จังหวะที่ Troika ยังไม่ลงตัวในการเข้าไปมีบทบาทแก้ไขปัญหา สร้างข้อริเริ่มหรือสร้างโร้ดแมป ทั้งในการยุติความรุนแรงและการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม โดยอาจออกแบบ Troika ในรูปแบบ Friends of the Chair

นอกจากนี้ สุภลักษณ์ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ไทยในฐานะที่มีพรมแดนติดประชิดพม่าสามารถมีบทบาทผ่านการตั้ง Humanitarian corridor ให้สภากาชาดร่วมมือกับ UN เพื่อหาความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ ตั้งพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ผู้หนีภัยสงคราม และรวบรวมทรัพยากรในการช่วยเหลือโดยไทยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง

“ทางสภากาชาดมีแนวคิดนี้และเตรียมจะลงมือทำ แต่โชคร้ายมาก เพราะทหารชายแดนไม่ให้เข้าพื้นที่ นี่ถือเป็นอุปสรรคและทำลายชื่อเสียงของไทย” 

“ผมไม่ค่อยชอบเวลามีใครพูดว่า การรับผู้หนีภัยเป็นภาระของประเทศที่อยู่ใกล้ จริงๆ แล้วมันเป็นความรับผิดชอบของประเทศที่อยู่ใกล้ด้วย 

“จริงๆ ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดในการดูแลผู้อพยพจากเพื่อนบ้านเรา ประเทศไทยสามารถรับแรงงานได้ประมาณ 3 ล้านคน แต่ 9 หมื่นคนที่ตกค้างมาจากสมัยปี 1988 เราไม่มีปัญญาจัดการเหรอ เราสามารถเปลี่ยนผู้อพยพรอความหวังลมๆ แล้งๆ ให้เป็นแรงงานที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้ไหม ได้สิ ทำไมเราจะทำไม่ได้”

รัฐประหารพม่าและความมั่นคงไทย – ถวิล เปลี่ยนศรี 

ถวิล เปลี่ยนศรี ประธานอนุกรรมการพิจารณาและติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติให้ความเห็นว่า การรัฐประหารครั้งนี้คือนวัตกรรมใหม่ กล่าวคือ ไม่มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามขนบการทำรัฐประหารโดยทั่วไป

หากมองความเปลี่ยนแปลงในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาหลังจากการทำรัฐประหารผ่านมุมมองของความมั่นคงไทย สิ่งที่ถวิลมองว่าต้องให้ความสำคัญคือ (1) แนวทางการแก้ไขปัญหา ณ ขณะนี้เป็นอย่างไร (2) ไทยได้รับผลกระทบอะไรบ้างในฐานะประเทศที่มีพรมแดนประชิดพม่า (3) ไทยควรมีท่าทีอย่างไร และท่าทีแบบไหนจะเป็นประโยชน์ต่อไทยมากที่สุด 

ในส่วนของการแก้ไขปัญญา ถวิลมองแยกว่า มีการแก้ไขปัญาผ่านการใช้ทั้งไม้แข็งและไม้นวม 

“ไม้แข็งอาจเห็นได้ตั้งแต่การที่สหประชาชาติไม่ยอมรับผู้แทนของ SAC ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติและที่ประชุมอื่นๆ และยังให้คณะผู้แทนประจำสหประชาชาติของรัฐบาลเก่าทำหน้าที่ชั่วคราว เพราะเห็นว่ารัฐบาลมิน อ่อง หล่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้ความรุนแรงในการปราบปราม”

“อีกไม้แข็งที่เห็นได้ชัดคือ บรรดาประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรลงโทษทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรในหลายประเด็นที่จะกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนพม่า แต่ก็เห็นมิติของความแข็งกร้าวและการไม่ยอมรับรัฐบาล SAC”

“ส่วนการแก้ไขปัญหาแบบไม้นวมคือ การเปิดโอกาสให้ทางรัฐบาล SAC และคณะทหารหาทางออกจากสถานการณ์ผ่านอาเซียน แรกๆ หลายประเทศคาดหวังมากกว่า อาเซียนจะเป็นจุดที่มีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาล SAC ได้ดีที่สุด และอาจโน้มน้าวให้เข้ารัฐบาล SAC เข้าสู่การปรองดองได้ เพราะเสถียรภาพ ความปรองดอง และความสงบเรียบร้อยในพม่าจะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายในอาเซียน”

ถวิลกล่าวต่อว่า แม้ว่าในระยะแรกการใช้ไม้นวมอย่างอาเซียนจะค่อนข้างได้ผล มีการผ่านฉันทมติ 5 ข้อ ซึ่งสองในห้าข้อประกอบไปด้วยการหยุดยิงและการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมที่เปิดโอกาสให้เข้าไปมีการปรองดอง และมีคณะผู้แทนพิเศษเข้าไป แต่สถานการณ์ที่เกิดก็ไม่ได้เป็นไปตามฉันทามติ มีการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง มีผู้ที่เสียชีวิตและถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก ส่วนอาเซียนเองก็แตกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายที่ยังให้โอกาสพม่าอยู่ ได้แก่ประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยตรงอย่าง ไทย ลาว หรือกัมพูชา และฝ่ายที่มีท่าทีค่อนข้างแข็งกราวต่อการไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ ได้เแก่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนภาคพื้นทวีปอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ 

และเมื่อมีการเปลี่ยนประธานอาเซียนจากบรูไนไปเป็นกัมพูชา ถวิลมองว่า ความพยายามของอาเซียนภายใต้การนำของกัมพูชาที่จะโน้มน้าวให้พม่าปฏิบัติตามฉันทามติของทางอาเซียนก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะอองซานซูจีก็ยังได้รับโทษคดีอาญาเพิ่มหลังการไปเยือนเนปิดอว์ หรือแม้ว่าจะมีการตกลงหยุดยิงไปจนถึงสิ้นปี แต่ก็ยังมีการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังประชาชน รวมทั้งยังมีการสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์อีกด้วย ทำให้สถานการณ์การสู้รบในพม่ามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ในมุมของถวิล การมีไม้นวมเช่นนี้ดีกว่าไม่มีอะไรเลยและปล่อยให้สถานการณ์ในพม่าดำเนินต่อไป ซึ่งไม่น่ามีใครอยากให้เป็นเช่นนี้ เพราะในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่อยู่ประชิดติดกับพม่า ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบหรือการสู้รบในพม่า ไทยย่อมได้รับผลกระทบเสมอ 

ผลกระทบที่ไทยมักได้รับจากสถานการณ์ความไม่สงบในพม่าอย่างแรกคือ การรับภาระผู้พลัดถิ่น ซึ่งที่จริงแล้ว ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่อยู่ในพื้นที่พลัดถิ่นชั่วคราว 9 แห่งใน 4 จังหวัดจากสงครามครั้งก่อนๆ ก็ยังตกค้างอยู่ในไทย กลับประเทศไม่ได้มาเป็นเวลา 37 ปีแล้ว มีปัญหาซ้อนทับเยอะมากและยังหาจุดแก้ไขปัญหาที่ลงตัวไม่ได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผู้หนีภัยจากการสู้รบรุ่นใหม่ที่เข้ามาเพิ่ม ซึ่งมีปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง แรงงานต่างด้าว และการแพร่ระบาดของโควิดซ้อนทับเข้ามาด้วย 

“ผมยืนยันว่า หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองทัพ หรือมหาดไทย เราให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเต็มที่ ถ้ามีติดอาวุธเข้ามาก็ยืดอาวุธแล้วควบคุมไว้ ถ้ามีเป็นประชาชนเข้ามาก็ให้อยู่ในพื้นที่และให้การดูแลอย่างดีที่สุดเท่าทีจะทำได้ ” 

“สิ่งหนึ่งหน่วยงานความมั่นคงต้องทำคือ จะไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์การมีผู้หนีภัยสงครามตกค้างซ้ำรอย ชัดเจนนะครับว่าต้องเป็นหน้าที่ของประคมโลก”

“ในพม่าไม่ได้รบกันตลอด ไม่ได้รบทุกพื้นที่ คนเหล่านี้มีถิ่นฐานที่พำนักอยู่ในพม่า เพราะฉะนั้น เมื่อสถานการณ์มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง เขาควรต้องกลับไป นี่คือเหตุผลหรือที่ว่าทำไมเราถึงขออิสระในการดำเนินการตามหลักมนุษยธรรม”

ส่วนอีกผลกระทบต่อไทยที่เห็นได้ชัดเจนทันทีคือ ความปลอดภัยบริเวณชายแดน โดยเฉพาะเมื่อมีการปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งการใช้พื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อซ่องสุมและฝึกการสู้รบต่างๆ และยิ่งกองทัพพม่ามีหลักนิยมในการปฏิบัติการทางอากาศ ก็ยิ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อไทยบริเวณชายแดน

มองไปในอนาคต ถวิลมองว่ามีหนทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤตพม่า 3 ทาง ได้แก่

ทางที่หนึ่ง ปล่อยให้พม่าที่เป็นไปตามที่กองทัพต้องการ ซึ่งถวิลมองว่าคงไม่เป็นที่ปรารถนาของไทย 

ทางที่สอง เลือกประนีประนอม ดึงพม่าเข้ามาเพื่อให้ปฏิบัติและดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อให้สัมฤทธิ์ผล สำหรับถวิล นี่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด 

ส่วนทางที่สาม ใช้ไม้แข็งกับพม่าต่อไป ซึ่งถวิลคิดว่า น่าจะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นและสร้างผลกระทบที่อันตรายมากยิ่งขึ้น

สิทธิผู้หนีภัยสงครามและแรงงานข้ามชาติหลายประเด็นยังต้องจับตา – ปรีดา คงแป้น

ปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เล่าว่า จากการทำงานติดตามลงพื้นที่ตามค่ายพักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยสงครามตามแนวชายแดน รวมทั้งการพูดคุยกับองค์กรภาคประชาสังคมที่ให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนตามชายแดน และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้สถานการณ์การรัฐประหารในประเทศพม่า พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ประเด็นแรก คือการเตรียมความพร้อมของชุมชนคนไทยที่พักอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนในการรับมือกับสถานการณ์การสู้รบ ทั้งเรื่องการหลบภัย การเตรียมอาหาร การส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงการสื่อสารต่อชุมชนคนไทยให้มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดย กสม.อยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดของทั้งแม่ฮ่องสอนและตาก ถึงการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้

ประเด็นที่สอง คือการจัดหาที่พักพิงที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้หนีภัยสงคราม โดยไม่ให้อยู่แนววิถีกระสุนที่ลอยข้ามมาจากพรมแดนฝั่งตรงข้าม

“ตอนที่ดิฉันลงพื้นที่คอกวัวเมยโค้ง (อ.แม่สอด จ.ตาก) เราพยายามขอเข้าพื้นที่ แต่ทางทหารบอกว่าอย่าเข้าไปเลย เพราะขนาดผมยังต้องอยู่ในที่หลบภัย นั่นแสดงว่าพื้นที่ตรงนั้นยังอยู่ในแนววิถีกระสุนตกอยู่” ปรีดากล่าว

ประเด็นที่สาม คือกลไกการประเมินการส่งกลับผู้หนีภัยสงครามแบบปลอดภัย โดยปรีดาชี้ว่า “จากที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา เป็นไปได้ว่าการส่งกลับอาจมีรูปแบบการบังคับหรือไม่ ตรงนี้เรายังไม่ได้สรุป แต่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาลักษณะนี้ ซึ่งเราต้องมีการพูดคุยหาวิธีประเมินว่าการส่งกลับปลอดภัยหรือไม่ แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ผู้หนีภัยต้องไปๆ มาๆ” 

ประเด็นที่สี่ คือเรื่องการดูแลผู้หนีภัยภายในค่ายพักพิง ปรีดาชี้ว่า “เรื่องนี้เราก็ได้รับร้องเรียนเข้ามาเหมือนกัน จึงอาจต้องมีกลไกความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจะดูแลคนกลุ่มนี้ รวมถึงการมีกลไกความช่วยเหลือที่จะช่วยลดภาระของทางการไทย โดยเท่าที่ได้พบปะภาคประชาสังคมหลายส่วน เขายินดีที่จะช่วย แต่ยังเจอความยากลำบากในการเข้าไปช่วยอยู่”

ประเด็นที่ห้า คือเรื่องการหาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เนื่องจากมีเด็กพม่าจำนวนหนึ่งที่ข้ามมาเรียนยังฝั่งไทย แล้วเจอปัญหาเรื่องความปลอดภัยในช่วงที่มีการสู้รบตามแนวชายแดน จำนวนมากต้องคอยหนีภัยตามผู้ปกครอง จึงเสนอให้มีการจัดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กกลุ่มนี้ 

ประเด็นที่หก คือการหาพื้นที่ปลอดภัยเพื่อมนุษยธรรม ปรีดาเล่าว่า “จากที่ได้ไปลงพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเมย พบว่ามีผู้หนีภัยการสู้รบมาหลบอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารบอกว่าเป็นพื้นที่กลางๆ ไม่ได้เป็นของใครชัดเจน ประเด็นคือเราจะทำอย่างไรให้พื้นที่เหล่านี้ปลอดภัยสำหรับการจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม”

ประเด็นที่เจ็ด คือความกังวลของเหล่าผู้หนีภัยทางการเมืองว่าจะถูกส่งกลับไปยังพม่า 

ประเด็นที่แปด คือสถานการณ์แรงงานที่ทะลักเข้ามาตามชายแดน ซึ่งเชื่อมโยงกับการหนีภัยการสู้รบ และอาจเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมากที่น่าติดตามภายใต้สถานการณ์ช่วงนี้ อาทิ การดูแลสิทธิสวัสดิภาพของแรงงานข้ามชาติ สิทธิทางการศึกษาของเด็ก และสิทธิด้านสุขภาพของคนตามพื้นที่แนวชายแดน 

– Epilogue –

“Myanmar One Year After: A Moment of History” – ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

“นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของพม่าหลังการรัฐประหาร 1 ปีของมิน อ่อง หล่าย”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ศาสตราจารย์รับเชิญจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวนำในส่วนปัจฉิมกถา พร้อมตั้งข้อสังเกตไว้สามประการ ได้แก่

หนึ่ง ในระดับโลก สถานการณ์พม่าถือว่าเป็นกรณีที่ทั่วโลกจับตามองอยู่อย่างกว้างขวาง และได้รับความสนใจมากที่สุดนับตั้งแต่กรณีเขมรสี่ฝ่ายในทศวรรษที่ 1970-1980 ที่มีคนจำนวนหนึ่งถูกตัดสินในคดีอาญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ 

สอง ในพม่า หนึ่งปีผ่านไปหลังการรัฐประหารของตัดมาดอว์ มิน อ่อง หล่าย ยังไม่สามารถชนะศึกนี้ได้ ในขณะที่ประชาชน ทั้งประชาชนเชื้อชาติพม่าแท้และกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในรัฐต่างๆ ได้ลุกขึ้นมาต่อต้าน คนรุ่นใหม่ ทั้งเจเนอเรชัน X, Y, Z เข้ามามีส่วนร่วมอย่างไม่น่าเชื่อ

“คนเหล่านี้ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมสยบ มีการปฏิบัติการแบบสงครามจรยุทธสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายทหารเป็นจำนวนมาก”

นอกจากนี้ การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในนาม NUG ภายใต้การนำของพรรค NLD ที่ได้รับการยอมรับในมหาอำนาจในโลกตะวันตก และการก่อตั้งกองกำลัง PDF ที่ใช้การต่อสู้ผ่านสงครามกองโจร ต่างจากวิธีสันติอหิงสาแบบแกนนำ NLD ในรุ่นก่อนๆ 

“พม่ากำลังตกอยู่ในสงครามการเมืองอย่างเต็มรูปแบบแล้วใช่หรือไม่ หรือกำลังจะก้าวไปสู่จุดนั้น และพม่ากำลังจะกลายเป็นรัฐล้มเหลวหรือไม่” ชาญวิทย์ตั้งคำถาม และกล่าวว่าเป็นประเด็นสำคัญอย่างมากในการติดตามสถานการณ์ในพม่า

“ถ้าเราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จะเห็นได้ว่าผลของสงครามที่กำลังเกิดขึ้นได้นำไปสู่กลียุค ประชาราษฎร ชาวบ้านธรรมดาจำนวนมหาศาลต้องหนีตาย ทุกข์ยาก เกิดความอดอยาก กลายเป็นผู้พลัดถิ่น หนีภัยสงคราม ต้องการความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมราว 14 ล้านคน โดยเฉพาะตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า”

สาม ในมิติผลกระทบของสถานการณ์ในพม่าต่อไทย ชาญวิชญ์มองว่า พม่าและไทยมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่บางประการ เสมือน ‘แมวเบอร์มีสและแมวไทย’ (‘the Burmese cat and the Siamese one’) 

“กล่าวคือ พม่ากำลังแตกตระจัดตระจาย (exploding) ในขณะที่ไทยกำลังล้มลุกคลุกคลาน (imploding) แล้วไทยจะทำอย่างไร ทั้งเรื่องของพม่า และเรื่องของไทยเองที่มีปัญหาเหมือนกันมากอย่างแทบไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้ง การเติบโตของคนรุ่นใหม่ การรัฐประหาร เรื่องปัญหาการใช้อำนาจตุลาการ ยกเว้นที่ไม่เหมือนคือ พม่าไม่มีสถาบันกษัตริย์อย่างไทย”

ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาว่าไทยทำอะไรได้บ้างในวิกฤตพม่า ชาญวิทย์ยังวิพากษ์ว่าผู้นำไทยในปัจจุบันต้องคิดให้หนักว่า จะทำอย่างไรได้บ้างกับปัญหาของพม่า 

“เชื่อว่าวิธีคิด จินตนาการแบบเก่าๆ ของรัฐราชการไทยไม่ใช่สิ่งที่น่าพิศมัยอีกต่อไป เชื่อว่าไทยต้องการนโยบายต่อพม่าที่นำโดยผู้นำที่มีจินตนาการใหม่ต่อปัญหาสงครามการเมืองในพม่า”

“โดยสรุป ดูพม่าแล้วย้อนดูตัวเอง และต้องคิดอะไรใหม่ๆ” ชาญวิทย์ทิ้งท้าย 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save