fbpx

Myanmar Diaries เมื่อการทำหนังคือการต่อต้าน

เช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 มันเป็นวันที่อากาศดี หญิงสาวออกมานำเต้นแอโรบิกเป็นปกติ โดยมีฉากหลังเป็นถนนใหญ่ ระหว่างที่เธอกำลังเต้นบนเวที รถคันสีดำจำนวนหนึ่งและรถถังคันหนึ่งก็วิ่งผ่านเธอไปเป็นฉากหลัง ขณะที่เธอยังคงนำเต้นต่อไป โดยไม่รู้เลยว่าเธอได้บันทึกการรัฐประหารครั้งที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของยุคสมัยเอาไว้ 

นับจากการรัฐประหารในปี 1962 โดยนายพลเน วิน ประเทศพม่าก็ตกอยู่ในวังวนของการปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการมาตลอด มีการลุกฮือขึ้นต่อต้านครั้งสำคัญอย่างน้อยสองครั้งคือในปี 1988 ในเหตุการณ์ ​8888โดยขบวนการนักศึกษา และในปี 2007-2008 ในเหตุการณ์ Saffron Revolution ซึ่งนำประท้วงโดยเหล่าพระสงฆ์ ทั้งสองครั้งจบลงด้วยความพ่ายแพ้และการนองเลือด ผู้คนล้มตาย หลบหนีออกนอกประเทศ ถูกจับกุมคุมขัง อองชาน ชูจี ผู้นำและแสงสว่างของประชาธิปไตยในพม่าถูกกักบริเวณในบ้านเป็นเวลาหลายสิบปี 

จนกระทั่งในปี 2015 พม่ามีการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรก และอีกครั้งในปี 2020 ทั้งสองครั้งชัยชนะตกเป็นของพรรค NLD ที่นำโดยอองซาน ซูจีอย่างถล่มทลาย อย่างไรก็ดี ฝั่งทหารไม่ยอมแพ้ ด้วยข้ออ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้ง ในที่สุดพวกเขากลับเข้าสู่วงจรของการรัฐประหารอีกครั้ง และเช่นเคย มันเต็มไปด้วยการนองเลือด 

Myanmar Diaries คือสารคดีลูกผสมที่เป็นแรงตอบโต้ฉับพลันทันทีของบรรดาคนทำหนังอิสระในพม่าที่เราไม่รู้จักชื่อ ไม่เห็นหน้าค่าตาคนทำ หนังประกอบขึ้นจากฟุตเทจในช่วงเวลานั้น ภาพของรถถังที่เคลื่อนไปบนถนน ประชาชนที่ออกมาด่าทหาร ออกมาชุมนุมต่อต้านบนท้องถนน ในที่สุดถูกยิง ถูกทำร้าย ถูกจับ ภาพของช่วงเวลาที่ทุกสิ่งอย่างคือการต่อต้าน 

ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องเล่าราวๆ สิบเรื่อง ที่เป็นภาพฉายสั้นๆ ของผู้คนหนุ่มสาวที่ต้องเผชิญกับช่วงเวลายากลำบากของชีวิต ทั้งการต้องหลบหนีออกจากบ้านเพื่อไม่ให้โดนจับ การต้องเลิกรากับคนรักเพราะต่างไม่รู้ว่าชะตากรรมในอนาคตของแต่ละฝ่ายจะจบลงอย่างไร คนที่ออกจากงานเพื่ออารยะขัดขืน คนที่ต้องส่งลูกไปอยู่ที่อื่น คู่รักที่ฝ่ายชายกำลังจะหนีเข้าป่า ไปจนถึงคนที่สูญเสียคนที่ตัวเองรักไปในการต่อสู้ หรือแม้แต่คนที่สิ้นหวังจนอยากฆ่าตัวตาย ตัวละครทั้งหมดไม่มีใบหน้า บางเรื่องถ่ายเพียงลำตัวและมือ ในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ก็จะเบลอใบหน้าและรอยสักของตัวละคร ทุกคนเป็นเพียงผู้คนไม่มีชื่อเฉพาะ เป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะคนทุกข์ทนจากการรัฐประหารและอำนาจเผด็จการ 

กระบวนการของหนังทำให้นึกถึงหนังสารคดีอีกหลายเรื่องที่คล้ายๆ กัน และดูเหมือนในทางหนึ่งจะส่งต่อพลังทางวิวัฒนาการของสายตระกูลสารคดีประท้วง ที่ไปไกลกว่าการที่แค่คนทำหนังคนหนึ่งหรือทีมหนึ่งเอากล้องออกไปถ่ายทำการประท้วง ไล่สัมภาษณ์ผู้คนแล้วเรียบเรียงเขียนประวัติศาสตร์การต่อสู้ขึ้นมาฉบับหนึ่ง ทั้งในขณะที่กำลังประท้วงหรือเขียนย้อนหลังถึงการประท้วงที่จบสิ้นไปแล้ว แต่เป็นความร่วมมือของบรรดาผู้คนจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งมือสมัครเล่น และคนทำหนังจริงๆ การรวมตัวกันในชื่อเฉพาะเพื่อกิจกรรมเฉพาะในการบันทึกการต่อต้าน

หนึ่งในหนังเรื่องแรกๆ ที่นึกถึงคือ Sunflowers Occupation (2014, Sunflower Occupation Documentary Project) สารคดีการประท้วงในไต้หวันที่เกิดขึ้นจากการที่สหภาพคนทำสารคดีแห่งไทเป (Taipei Documentary Filmaker’s Union) ซึ่งอันที่จริงเป็นสหภาพแรงงานของคนทำสารคดีที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2006 แรกทีเดียวตัวสหภาพมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงาน พัฒนามาตรฐานการทำงาน และต่อรองสิทธิการรักษาพยาบาล จนในปี 2014 ไต้หวันเกิดการประท้วงใหญ่ เมื่อรัฐบาลในขณะนั้นเห็นชอบกับความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบระหว่างไต้หวันกับจีนโดยไม่พิจารณาเป็นรายข้อ ผู้ประท้วงเชื่อว่าความตกลงนี้จะกระทบเศรษฐกิจไต้หวัน เพราะจะเปิดให้จีนใช้อำนาจทางการเมืองบีบคั้นเศรษฐกิจไต้หวันจนเกิดความเสียหายร้ายแรงได้ และนำไปสู่การประท้วงและบุกยึดสภานิติบัญญัติในเดือนมีนาคม การประท้วงสิ้นสุดลงในเวลา 23 วัน หลังจากหวัง จินผิง ประธานสภานิติบัญญัติรับปากว่าจะไม่พิจารณาร่างข้อตกลงดังกล่าวจนกว่าจะมีกฎหมายควบคุมดูแลการลงนามข้อตกลงระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ตามที่นักศึกษาเรียกร้อง

สารคดีเรื่องนี้เกิดจากการที่สหภาพมอบหมายให้คนทำสารคดีเก้าคนลงพื้นที่เพื่อติดตามซับเจ็กต์ที่แตกต่างกัน ทั้งกลุ่มแนวหน้า ผู้นำนักศึกษา บรรดานักศึกษากลุ่มรอง ผู้ประท้วงคนอื่นๆ กระทั่งตำรวจปราบจลาจล ทนายสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงโฆษกสภา ผลลัพทธ์คือมุมมองที่แตกต่างหลากหลายทั้งจากฝั่งผู้ชุมนุมและฝั่งรัฐ ในการมองเหตุการณ์ เป้าหมาย และผลลัพธ์ต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ ราวกับเป็นภาพกายวิภาคของการประท้วง ตัวหนังเองได้รับการสนับสนุนทุนหลักจากประชาชน ผ่านการ crowdfunding และแม้ว่าในเครดิตภาพยนตร์จะมีรายชื่อคนทำหนังทั้งเก้า แต่ทั้งหมดก็ยังอยู่รวมภายใต้ร่มของสหภาพ หนังประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  กลายเป็นบันทึกภาพการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญของไต้หวัน การคิดมาอย่างละเอียดลออของทีมสหภาพ ทำให้หนังฉายภาพรวมที่ครบถ้วนของหน่วยย่อยต่างๆ ในการประท้วงนั้นและเป็นหลักฐานที่สำคัญชิ้นหนึ่งในอนาคต

นอกจาก Sunflower Occupation หนังอีกเรื่องที่เป็นสารคดีการประท้วงที่ออกฉายในนามของกลุ่มคน คือสารคดีชิ้นสำคัญของการประท้วงฮ่องกงในปี 2019 อย่าง Inside The Red Brick Wall (2020) โดย Hong Kong Documentary Filmmakers

ต่างจากการประท้วงในไต้หวัน การประท้วงปี 2019 ในฮ่องกงจบลงด้วยความพ่ายแพ้ มันอาจเริ่มจากการออกมาต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ทางการฮ่องกงต้องการประกาศใช้ โดยอ้างว่าจะนำมาใช้ในคดีฆาตกรรม ที่ผู้ต้องหาฆ่าคนในไต้หวันแล้วหลบหนีมาฮ่องกง แต่ชาวฮ่องกงคิดว่ากฎหมายนี้จะเป็นการเปิดทางให้ฮ่องกงอยู่ภายใต้การครอบงำของจีนและอาจนำมาใช้ควบคุมนักต่อสู้ทางการเมืองในฮ่องกงเอง

การประท้วงเป็นไปอย่างกว้างขวางและหนักข้อกว่าการปฏิวัติร่มในปี 2014 กินเวลายาวนานหลายเดือน นำมาซึ่งการต่อสู้หลากหลายรูปแบบที่ในเวลาต่อมาถูกนำไปใช้ต่อโดยผู้ประท้วงในประเทศอื่นๆ การประท้วงมาถึงจุดสูงสุดเมื่อนักศึกษาและผู้ประท้วงบุกยึดวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกง และต่อสู้กับตำรวจปราบจลาจลทั้งจากฮ่องกงและจีนเป็นเวลา 12 วัน และจบลงด้วยชัยชนะของรัฐ

หนังฉายภาพสรีรวิทยาของการต่อสู้โดยไม่เสียเวลาแนะนำที่มาที่ไป โฟกัสของหนังคือทีมคนทำหนังไร้ชื่อและใบหน้า อยู่ร่วมกับทีมผู้ประท้วงในวิทยาลัย ตามถ่ายการรูปแบบการต่อสู้และความพยายามในการหาทางหนีทีไล่ของผู้ประท้วง ในหนังเราจะไม่เห็นใบหน้าของใคร ยกเว้นบรรดาคนดังเซเลบทางการเมืองที่ปรากฏในสื่อหลัก ทุกคนถูกเบลอหน้า (ว่ากันว่าฟุตเทจในหนังหลังตัดต่อก็ถูกลบทิ้ง ถูกส่งต่อๆ กันไปยังที่ปลอดภัยเพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้ประท้วงให้มากที่สุด) หนังติดตามสภาพของคนที่ยังติดอยู่ข้างใน สารพัดวิธีการพยายามหลบหนี ฉายสภาพจิตใจของนักศึกษาที่ที่เริ่มสติหลุดจากการถูกปิดล้อม โดยไม่มีน้ำ อาหาร หรืออาวุธ การเล่นลูกไม้มากมายของตำรวจ หนังเริ่มต้นและสิ้นสุดภายในวิทยาลัย และกลายเป็นหนังที่เข้มข้นดุเดือดที่ไม่เล่าบริบท แต่มุ่งบันทึกภาพเฉพาะหน้าในสมรภูมิ แม้หนังจะโฟกัสเฉพาะเหตุการณ์ภายในและรอบๆ วิทยาลัยโพลีเทคนิค แต่ด้วยความเข้มข้นและคมคายของมัน ทำให้มันเป็นหนังสารคดีที่บันทึกห้วงอารมณ์มวลรวมของผู้คนไว้ได้อย่างทรงพลัง 

เราอาจบอกได้ว่า Myanmar Diaries ไม่ได้ให้ภาพครบถ้วนรอบด้านสำหรับการต่อต้านแบบ Sunflower Occupation ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ดิ่งลึกลงไปในใจกลางของสมรภูมิแบบเดียวกับ Inside The Red Brick Wall ตัวมันเองเกือบจะเป็นเพียงแค่งานตัดแปะของคลิปที่เราเห็นกันได้ทั่วไปในยูทูบ เช่นเดียวกับภาพเคลื่อนไหวมหาศาลที่เคลื่อนผ่านหน้าเรา ความยุติธรรมและการต่อต้าน ฉายส่องความโหดร้ายแบบฉับพลันทันทีแบบที่เกิดขึ้นกับใครที่ไหนก็ได้ และเราก็รับรู้มันแบบการดูข่าวอันโหดเหี้ยม ผู้หญิงออกมายืนด่าทหารต้านรัฐประหาร ผู้ชุมนุมถูกยิงล้มอย่างไม่มีเหตุผล การตีหม้อตีกระทะขับไล่เผด็จการ หรือการบุกจับผู้คนยามวิกาลอย่างอุกอาจ ตัวคลิปไม่ได้ไล่เรียงตำแหน่งแห่งที่ทางประวัติศาสตร์ มันเป็นเพียงแฟ้มข่าว ประมวลเหตุการณ์ที่หากจะกล่าวในอีกทางหนึ่งคือเป็นสิ่งที่เราเคยดูมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ดูอย่างห่างไกล และสะเทือนใจเพียงเพราะความรุนแรงมันถูกโยนใส่หน้าเราตรงๆ

แต่สิ่งที่ทำให้ Myanmar Diaries แตกต่างออกไปคือเรื่องแต่งที่แทรกอยู่ระหว่างคลิปข่าวเหล่านั้น แม้ความเป็นเรื่องแต่งจะมีปัญหาในตัวมันเอง เพราะมันสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ความจริงจะกลายเป็นเพียงมุมมอง ข้อเท็จจริงกลายเป็นเพียงเรื่องปรุงแต่ง ความรุนแรงกลายเป็นดราม่า พลังของการบอกเล่าการต่อต้านของมันจะลดลง

แต่ไม่ใช่สำหรับหนังเรื่องนี้ เพราะในหนังบรรดาส่วนที่เป็นเรื่องแต่ง กลับกลายเป็นการบันทึกอย่างฉับพลันถึงสิ่งที่ปั่นป่วนอยู่ในใจผู้คน หนังสั้นๆ ทุกเรื่องถูกถ่ายอย่างเรียบง่าย โดยมากเกิดในห้องส่วนตัว บางเรื่องอาจจะเลือกวิธีเชิงกวี เช่น เรื่องของชายเปลือยคนหนึ่งที่เผาเสื้อผ้าของหญิงคนรักที่อาจจะตายหรือหายตัวไประหว่างการต่อสู้ คนที่กดดันจนรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย หรือเป็นเพียงการถ่ายทำบทสนทนาเรียบง่าย เช่นหญิงคนหนึ่งโทรไปบอกเลิกชายคนรัก เพราะการต่อต้านทำให้มันยากเกินไปที่จะอยู่ร่วมกัน หรือเด็กหนุ่มที่ต้องหลบหนีโดยไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนอย่างไร บางเรื่องก็เป็นเรื่องเล่าขึ้นมาจริงๆ อย่างเรื่องของเด็กสาวที่มีความลับต้องคุยกับแฟนหนุ่มในวันที่เขาต้องหนีเข้าป่า และฉากการนับเม็ดชาไข่มุกที่สะเทือนใจสุดขีด หรือคู่รักที่สักรูปผีเสื้อไว้เป็นตัวแทนอิสระเสรี ผีเสื้อที่หายไป พ่อที่ยังออกไปทำงานแม้จะอยู่กลางความสับสน จนไม่สามารถจะทนใช้ชีวิตที่ไม่เข้าร่วมการต่อต้านอีกต่อไป 

เรื่องเล่าเหล่านี้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา เมื่อนักแสดงทุกคนไม่สามารถเปิดเผยใบหน้าได้ หนังทุกเรื่องถ่ายได้เพียงมือ แขน ผม ร่างกายที่กระทั่งรอยสักก็ต้องเบลอ ไม่ก็ถ่ายในภาพย้อนแสง ภาพที่เห็นจากด้านหลัง เรื่องเล่าของปัจเจกที่ไร้ใบหน้า ไร้ตัวตน แต่ความไร้ตัวตนทำให้ผู้คนในหนังมีตัวตนขึ้นมา เป็นมากกว่ามวลชนในคลิป ผู้ชุมนุมคนหนึ่ง แต่เป็นใครสักคนที่มีคนรอบข้าง มีความผูกพัน มีความสูญเสีย ใครก็ได้ที่เป็นใครสักคน และอาจเป็นเราหรือคนที่เรารัก 

อำนาจของเรื่องแต่งไม่ได้อยู่ที่การเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่อยู่ที่การสามารถเล่าถึงสิ่งที่ประวัติศาสตร์ไม่อาจเล่า นั่นคืออารมณ์ความรู้สึก ‘เลือดเนื้อ’ ในฐานะมนุษย์ ในแง่นี้ ขณะที่ Myanmar Diaries ขาดความสามารถในการบันทึกบอกเล่าวิเคราะห์ตัวการต่อต้านทั้งหมด แต่สิ่งที่มันมีอย่างเหลือเฟือคือเลือดเนื้อของผู้คนในนั้น มันจึงน่าตื่นเต้นที่ในบรรดา ความไร้ตัวตนของผู้คน มันกลับเป็นหนังที่มี ‘ผู้คน’ บรรจุอยู่ในนั้น มันคือประวัติศาสตร์ของความรู้สึกจริงๆ 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่รุนแรงทางอารมณ์มากที่สุดคือการที่หนังเลือกจบด้วยเรื่องเล่าของคนที่เข้าป่า จบด้วยภาพของคนหนุ่มสาวเทียวทางเข้าไปในป่าลึก เรียนรู้การต่อสู้ด้วยการจับปืน พวกเขาไม่ได้ชนะแบบหนุ่มสาวชาวไต้หวัน ไม่ได้พ่ายแพ้แบบหนุ่มสาวชาวฮ่องกง ไม่ได้อดทนจนถึงวันเลือกตั้งแบบหนุ่มสาวชาวไทย ราวกับสำหรับหนุ่มสาวชาวพม่า สมรภูมิกลายเป็นคำตอบเดียวที่พวกเขามี และเราได้แต่หวังว่าพวกเขาจะทำได้โดยไม่ต้องเจ็บปวดไปมากกว่านี้ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save