fbpx
วิกฤตการณ์การเมืองในเมียนมา กับทางออกผ่านกัมพูชาในประชาคมอาเซียน

วิกฤตการณ์การเมืองในเมียนมา กับทางออกผ่านกัมพูชาในประชาคมอาเซียน

mil.ru และ russia-asean20.ru ภาพประกอบ

เมียนมาเกิดการรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และคณะ State Administration Council (SAC) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 อย่างไรก็ตามการรัฐประหารหรือเข้ายึดอำนาจรัฐในครั้งนี้ถือว่ายังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด SAC ไม่สามารถประกาศความเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ได้อย่างสมบูรณ์

พันธมิตรฝ่ายต่อต้าน โดยการนำของพรรค National League for Democracy (NLD), ภาคประชาชนอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement – CDM) และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ได้รวมตัวกันก่อตั้ง ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ (National Unity Government – NUG) ซึ่งยังคงออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง สู้ไม่ถอย ถึงแม้จะยังไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการประเทศ แต่ NUG ก็สามารถยืนหยัดจัดตั้งขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาและดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา แม้จะมีการปราบปรามอย่างรุนแรงถึงขั้นที่ผู้ชุมนุมต้องเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกควบคุมตัวเป็นจำนวนมาก นั่นทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมาเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง ล่าสุดแม้จะมีกรณียานยนต์ของกองทัพวิ่งไล่ชนกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจากด้านหลัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง แต่ประชาชนเมียนมาก็ยังออกมาประท้วงด้วยความเงียบ ยุติการดำเนินกิจกรรมและกิจการต่างๆ ตลอดทั้งวันในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าพวกเขาไม่ยอมรับในตัวผู้นำ มิน อ่อง หล่าย จึงมีผลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเวทีนานาชาติที่ทุกวันนี้ต่างก็กดดันเมียนมาอย่างหนัก แม้แต่ประชาคมอาเซียน เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดสนิทสนมและมักจะให้โอกาสผู้นำที่มาจากการรัฐประหารเสมอๆ ก็ยังไม่คบค้าสมาคมกับเมียนมาจนปัจจุบัน เนื่องจากผู้นำอาเซียนเคยให้เกียรติเชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมการประชุมผู้นำนัดพิเศษเมื่อเดือนเมษายน 2021 เพื่อร่วมกันแสวงหาทางออก โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมครั้งนั้นคือ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ที่มิน อ่อง หล่าย เองก็ยอมรับที่จะปฏิบัติตาม แต่เมื่อถึงเวลาเอาเข้าจริงๆ ชายชาติทหารอย่างมิน อ่อง หล่าย ก็ตระบัดสัตย์ จนทำให้ในการประชุมสุดยอดอาเซียนล่าสุดที่บรูไนเป็นประธานในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2021 เราได้เห็นที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนเสนอให้ไม่เชิญผู้นำเมียนมาที่มาจากการรัฐประหารเข้าร่วมการประชุมสุดยอด โดยเชิญเพียงตัวแทนจากภาครัฐที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการเมืองเข้าร่วมการประชุมแทน ซึ่งน่าจะหมายถึงผู้แทนในระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

และอีกครั้งคือการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีน ที่มติของทั้งประชาคมอาเซียนและจีนต่างก็ออกมาในทำนองเดียวกัน คือไม่เชิญผู้นำทางการเมืองอย่างมิน อ่อง หล่าย แต่เชิญเพียงเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำกรุงปักกิ่ง เข้าร่วมประชุมแทน

ในทั้งสองกรณี มิน อ่อง หล่าย ตอบกลับด้วยการไม่ส่งผู้ใดมาเข้าร่วมประชุมทางไกล ทำให้หน้าจอการประชุมกลายเป็นช่องว่างภายใต้ชื่อประเทศเมียนมา

แม้แต่กับประชาคมอาเซียน เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดสนิทสนมมากที่สุดของเมียนมา สถานการณ์ก็ดูเหมือนจะย่ำแย่

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ประกอบกับการที่ประชาคมนานาชาติเองก็ไม่ให้การยอมรับรัฐบาล SAC ภายใต้การนำของมิน อ่อง หล่าย ทำให้นักสังเกตการณ์จำนวนหนึ่งวิเคราะห์ว่า ในที่สุด มิน อ่อง หล่าย อาจจำเป็นต้องหาทางลงจากตำแหน่ง โดยที่ยังสามารถรักษาศักดิ์ศรี และมีที่ยืนในสังคมเมียนมาได้ต่อไป คำถามที่สำคัญคือทางออกดังกล่าวจะเกิดขึ้นในลักษณะใด? ในโอกาสใด? และใครจะเป็นผู้หยิบยื่นโอกาสนี้ให้กับเมียนมา?

โดยส่วนตัว ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ที่จะสามารถหยิบยื่นทางออก หาทางลงที่เหมาะสม และยอมรับได้ด้วยกันทุกฝ่าย ทั้งมิน อ่อง หล่าย และภาคประชาชนเมียนมา คือ ‘เพื่อนบ้านอาเซียน’ ครับ

อ่านดูแล้วอาจจะย้อนแย้งกับที่กล่าวมาก่อนหน้า แต่ทั้งนี้ต้องอย่าลืมครับว่าคาแรกเตอร์ของการประชุมอาเซียนมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี ตามแต่ว่าใครจะเป็นประเทศเจ้าภาพ และใครเป็นผู้นำประเทศเจ้าภาพในขณะนั้น โดยในปี 2022 ผู้นำและประเทศเจ้าภาพคือพลเอกอาวุโส สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน หรือที่ประชาคมนานาชาติเรียกว่า ฮุน เซน แห่งประเทศกัมพูชา

ทุกๆ ปีที่มีเลขปีลงท้ายด้วยเลข 2 เช่นในปี 2012 และ 2022 กัมพูชาจะเวียนตามลำดับตัวอักษรขึ้นมาเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียน และหากยังจำกันได้ ประสบการณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้วที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศครั้งที่ 45 ก็ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์อาเซียน (จนถึงปัจจุบัน) ที่ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม (joint communiqué) ของที่ประชุมได้ เนื่องจากในขณะนั้น ประธานในที่ประชุม ซึ่งคือรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาในตอนนั้น ฮอ นัมฮง ไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม ฟาม บินห์ มินห์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ ที่ต้องการให้ระบุกรณีความขัดแย้งในบริเวณที่เวียดนามถือเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone – EEZ) ของตนในบริเวณทะเลตะวันออก และกรณีแนวปะการัง Scarborough Shoal ที่ฟิลิปปินส์อ้างความเป็นเจ้าของพื้นที่และทับซ้อนกับการอ้างสิทธิ์ของประเทศจีน ลงไปในแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมต่อกรณีทะเลจีนใต้

หลังจากการหารือยาวนาน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย มาร์ตี นาตาเลกาวา พยายามออกมาประสานความขัดแย้ง ในที่สุดฮอ นัมฮง ก็เดินออกจากที่ประชุม และกลับเข้ามาพร้อมกับความเห็นที่ว่าทั้งสองกรณีดังกล่าวเป็นประเด็นในระดับทวิภาคีระหว่างเวียดนามกับจีน และระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำทั้งสองกรณีมาบรรจุในแถลงการณ์ร่วมของทั้งภูมิภาค และมีข่าวลือหนาหูว่าการเดินออกไปนอกห้องประชุมครั้งนั้น ฮอ นัมฮง ได้ออกไปสนทนากับคู่สนทนาจากประเทศจีน ก่อนที่จะกลับเข้ามาและแสดงความคิดเห็นดังกล่าว จนทำให้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่อาเซียนแตกแยกกันจนกระทั่งไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้

แต่เชื่อหรือไม่ครับว่าหลังจากนั้นอีกเพียงไม่กี่วัน เมื่อการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนมาถึง สมเด็จ ฮุน เซน คือผู้ที่ทำหน้าที่กาวใจ ประสานทุกทิศ จนกระทั่งผู้นำอาเซียนสามารถออกแถลงการณ์ ‘หลักการ 6 ข้อของอาเซียนต่อกรณีทะเลจีนใต้’ (ASEAN’s Six-Point Principles on the South China Sea) ร่วมกันได้ โดยหลักการทั้ง 6 ข้อสามารถผสมผสานสิ่งที่การประชุมระดับรัฐมนตรีไม่สามารถตกลงกันได้ลงไปในแถลงการณ์ได้อย่างที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

อย่าลืมว่าในทางการเมือง สมเด็จ ฮุน เซน คือผู้นำที่เก๋าเกมและผ่านประสบการณ์โชกโชนต่อเนื่องยาวนานที่สุดในอาเซียน แม้จะสั้นกว่าสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านบรูไนที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ประกาศเอกราชในวันที่ 1 มกราคม 1984 โดยสมเด็จ ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการภายใต้รัฐบาลของเฮง สัมริน มาตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 1984 แต่ในด้านประสบการณ์การบริหารจัดการทางการเมืองที่มีสีสัน รับรองว่าสมเด็จ ฮุน เซน ไม่เป็นรองใครในเวทีการเมือง

อย่าลืมว่าในอดีต ฮุน เซน คือนักรบเขมรแดงที่แปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับฝ่ายเวียดนามที่นำโดยเฮง สัมริน เข้ามาทำสงครามอินโดจีนครั้งที่ 3 หรือสงครามกัมพูชาในปี 1978 และสามารถยึดพนมเปญได้ในปี 1979 จนกระทั่งปัจจุบัน ฮุน เซน และ จอมพล สมเด็จอัครมหาพญาจักรี เฮง สัมริน ก็ยังคงทำงานร่วมกันอยู่ โดย ฮุน เซน เป็นผู้นำฝ่ายบริหารในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนเฮง สัมริน เป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติ และยังดำรงตำแหน่งประธานอาวุโสพรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ครอบครองที่นั่ง ส.ส.ทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร

แม้ฮุน เซน จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1993 ที่จัดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติภายหลังสงครามกลางเมืองกัมพูชายุติลงจากการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีสในปี 1991 โดยในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคฟุนซินเปก ภายใต้การนำของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเหนือพรรคประชาชนกัมพูชา ภายใต้การนำของนายฮุน เซน ด้วยคะแนนเสียง 58 ต่อ 51 จากทั้งหมด 120 ที่นั่ง แต่ฮุนเซนก็สามารถเจรจาแกมขู่บังคับ จนทำให้ในขณะนั้นและจนถึงปัจจุบัน กัมพูชากลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีนายกรัฐมนตรีพร้อมกันสองคน คือเจ้านโรดม รณฤทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่หนึ่ง และสมเด็จ ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สอง (ไม่ใช่รองนายกรัฐมนตรี) และในตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ ก็มีรัฐมนตรีสองตำแหน่งคู่กันเช่นกัน

หลังจากนั้น ฮุน เซน ก็เริ่มดำเนินการสร้างความแตกแยกในพรรคฟุนซินเปกของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ โดยสร้างความไม่ไว้วางใจระหว่างเจ้านโรดม รณฤทธิ์ กับเจ้านโรดม สิริวุฒิ (น้องชายต่างแม่ของเจ้านโรดม รณฤทธิ์) ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฟุนซินเปก รวมทั้งตอกลิ่มความไม่ไว้วางใจระหว่างเจ้านโรดม รณฤทธิ์ กับนาย สม รังสี ซึ่งเป็นดาวรุ่งของพรรคฟุนซินเปก และกำลังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นั่นทำให้ รณฤทธิ์เองต้องทำการกวาดล้างสมาชิกพรรคของตนจนอ่อนแอ และในที่สุด วันที่ 5 กรกฎาคม 1997 ฮุน เซน ก็สั่งการให้พลเอกแก กิม ยาน นำกองทัพเข้ากรุงพนมเปญ เพื่อปะทะกับกองทัพของพลเอกญึก บุนชัย ซึ่งเป็นนายทหารคู่ใจของรณฤทธิ์ เกิดเป็นการรัฐประหารเงียบที่ฮุน เซน รัฐประหารตนเอง (เพราะตนเองก็เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สองในรัฐบาลชุดนั้น) และผลการรัฐประหารคือ ฮุน เซน ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวอย่างสมบูรณ์ในปี 1998 ส่วนรณฤทธิ์ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส

แต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อที่สุดก็เกิดขึ้น นั่นคือพอถึงปี 2015 ในขณะที่สม รังสี กำลังมีบทบาทโดดเด่นในฐานะคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับสมเด็จ ฮุน เซน เจ้านโรดม รณฤทธิ์ที่ประกาศวางมือเลิกกิจกรรมทางการเมืองไปแล้ว ก็กลับเข้าสู่การเมืองกัมพูชาอีกครั้ง โดยจับมือกับสมเด็จ ฮุน เซน ทั้งนี้เพราะในครั้งนี้ ฮุน เซน สามารถเกลี้ยกล่อมรณฤทธิ์ จนเขาเชื่อแล้วว่าศัตรูทางการเมืองของรณฤทธิ์ไม่ใช่ฮุน เซน หากแต่เป็นสม รังสี  นั่นเท่ากับฮุน เซน สามารถใช้ รณฤทธิ์ในการตัดฐานเสียงของสม รังสี และ เมื่อทั้งสองฝ่ายอ่อนแอ ในที่สุดเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2018 พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุน เซน และเฮง สัมริน ก็กลายเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศกัมพูชาในทุกเขตเลือกตั้ง

ทั้งหมดที่อธิบายมาก็เพื่อจะยืนยันว่า หากจะมีนักการเมืองที่มีประสบการณ์ทางการเมืองโชกโชนและเก๋าเกมในทุกรูปแบบ ก็คงไม่มีใครเกินไปกว่าสมเด็จ ฮุน เซน อีกแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เช่นกัน อย่าได้คิดว่ากัมพูชาภายใต้การนำของฮุน เซน จะทำให้กัมพูชาตกเป็นลูกไล่ภายใต้เขตอิทธิพลของจีน หากแต่อาจจะกลายเป็นจีนมากกว่าที่ต้องให้การสนับสนุนในสิ่งที่กัมพูชาอยากได้ และกัมพูชานั่นเองที่เป็นฝ่ายใช้จีนในการสร้างอำนาจต่อรองในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และค้ำบัลลังก์ให้กับสมเด็จ ฮุน เซน แม้เขาจะมีข้อครหาเรื่องคอร์รัปชันและการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่โลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ทั้งที่ในสหรัฐฯ มีกลุ่มของคนกัมพูชาที่อพยพออกไปจากประเทศอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นฐานเสียงสำคัญให้กับพรรคการเมืองในสหรัฐฯ โดยที่คนกัมพูชาพลัดถิ่นเหล่านี้ต่างก็ไม่ชื่นชอบฮุน เซน แต่อย่างใด

ดังนั้นหากมิน อ่อง หล่าย ต้องการหาทางออกสวยๆ จากสถานการณ์ในประเทศที่ตนเองก็ยังไม่สามารถควบคุมประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่ความสัมพันธ์กับกลุ่มนายทหารรุ่นก่อนภายใต้การนำของนายพลอาวุโส ตัน ฉ่วย และอดีตนายกรัฐมนตรี เต็ง เส่ง ก็ไม่ได้ดีมากนัก รวมทั้งมีเงื่อนไขว่าหากไม่รีบหาทางออกดีๆ ความขัดแย้งที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นอาจทำให้ตนเองไม่มีที่ยืนอีกต่อไปทั้งภายในประเทศและในเวทีนานาชาติ การดีลกับฮุน เซน ซึ่งมีประสบการณ์โชกโชนที่สุด น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

แล้วทำไม ฮุน เซน ต้องยอมดีลกับมิน อ่อง หล่าย ด้วยล่ะ?

นี่อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย คำตอบก็คือ ถ้าฮุน เซน ในฐานะประธานการประชุมอาเซียน สามารถหาทางออกสวยๆ เดินหน้าไปสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยและสันติภาพในเมียนมาผ่านกลไกอาเซียนได้ในปี 2022 นี่จะกลายเป็นอีกหนึ่งตำนานที่แสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าเขาคือผู้สร้างสันติภาพในภูมิภาค และให้เห็นว่ากัมพูชาภายใต้การนำของเขาคือประเทศที่มีบทบาทนำในเวทีอาเซียน และหากจะคิดให้ไกลไปกว่านั้น นั่นคือการประชุมอาเซียนจะเสร็จสิ้นลงในช่วงปลายปี 2022 หากฮุน เซน สามารถจบเรื่องนี้ได้อย่างสวยงาม เท่ากับการเลือกตั้งปี 2023 ที่จะเกิดขึ้น เขาจะมีโอกาสชนะ โดยที่ข้อครหาจากประชาคมนานาชาติจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมๆ กับอีกหนึ่งความสำเร็จที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ นั่นคือการปลดกัมพูชาออกจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (least developed country – LDC) ซึ่งเป็นสิ่งที่ฮุน เซน และกัมพูชาพยายามอย่างหนักมาตลอด โดยปัจจุบันกัมพูชาเองมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีที่ประมาณ 1,600-1,700 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าระดับประเทศรายได้ต่ำไปแล้ว

หากกัมพูชามีบทบาทเป็นประเทศที่เป็นเวทีสร้างสันติภาพและประชาธิปไตยเข้ามาเสริม พร้อมกับการสร้างอำนาจต่อรองทั้งจากจีนและสหรัฐฯ ได้ อย่างที่เป็นมาตลอด การปลดล็อกก็น่าจะทำได้เร็วยิ่งขึ้น

หากทำทั้งหมดนี้ได้ในปี 2022 ฮุน เซน ในวันฉลองวันเกิดปีที่ 70 (5 สิงหาคม 1952-2022) ก็จะสามารถยกตนเองขึ้นเป็นตำนาน และนั่นเท่ากับเขาและครอบครัว โดยเฉพาะทายาทที่ถูกวางตัวให้เป็นตัวตายตัวแทนในตำแหน่งผู้นำประเทศอย่างพลเอก ฮุน มาเนต ที่กำลังสร้างบารมีอยู่ ก็น่าจะมีหลักประกันความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมต่อไป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save