fbpx
“จุดแข็งของเราคือพลังประชาชน” คุยกับกองกำลังประชาชนพม่า ในวันที่ต้องจับอาวุธขึ้นสู้ด้วยตัวเอง

“จุดแข็งของเราคือพลังประชาชน” คุยกับกองกำลังประชาชนพม่า ในวันที่ต้องจับอาวุธขึ้นสู้ด้วยตัวเอง

เข้าป่าจับอาวุธ ปกป้องเพื่อนร่วมชาติ

ลึกเข้าไปในป่าเขาอันไม่สามารถระบุได้ว่าคือตำแหน่งแห่งใดบ้างบนแผนที่ของประเทศพม่า ค่ายขนาดย่อมๆ หลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้นกระจัดกระจาย ในนั้นเต็มไปด้วยบรรดาคนหนุ่มสาวที่กำลังฝึกฝนสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแกร่ง พร้อมหยิบจับอาวุธขึ้นมาฝึกซ้อม ต่างคนล้วนต่างที่มา ต่างพื้นเพ หากแต่พวกเขามุ่งหน้าเข้าสู่ค่ายเล็กในป่าลึกด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน

ผ่านมาร่วมครึ่งปีนับตั้งแต่กองทัพพม่า (Tatmadaw – ตัดมาดอว์) ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไฟการเมืองบนแผ่นดินพม่าไม่เคยหยุดลุกโชน ด้วยพลังอารยะขัดขืนของประชาชนที่ไม่สยบยอมต่ออำนาจของกองทัพที่มาอย่างไม่ถูกต้อง

แต่ก็เฉกเช่นทุกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองพม่าที่ตัดมาดอว์ไม่เคยยอมอ่อนข้อต่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติวิธีของประชาชน คนพม่าจำนวนมากถูกคุกคาม จับกุม และสังหารอย่างไร้ซึ่งมนุษยธรรม บีบให้ประชาชนไม่อาจทนใช้แนวทางสันติวิธีเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป และต้องหันไปหยิบจับอาวุธ ลุกขึ้นมาปกป้องทั้งตัวเองและเพื่อนร่วมชาติ จากกองทัพอันขึ้นชื่อว่าผ่านสงครามและการสังหารหมู่มาอย่างโชกโชน

“กองทัพพม่าชอบบุกเข้าไปตามหมู่บ้าน จับกุมชาวบ้านโดยไร้ซึ่งเหตุผล หรือรุนแรงถึงขั้นเผาทำลายอาคารบ้านเรือน และปล้นเอาทรัพย์สินของชาวบ้านไป เพราะอย่างนี้ เราถึงต้องตั้งกองกำลังขึ้นมาเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากการคุกคามของกองทัพ” หัวหน้าฝ่ายสื่อและข้อมูลข่าวสารของกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defense Force – PDF) กล่าวกับเรา โดยใช้นามแฝงว่า ‘ฉ่วย อู’ (Shwe Oo) เพื่อปิดบังตัวตน    

กองกำลัง PDF ประกาศก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดย ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ (National Unity Government – NUG) ซึ่งประกาศตนว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมอันแท้จริงของพม่า ก่อนจะปรากฏภาพของพิธีสวนสนามของเหล่ากำลังพลมือใหม่ เพื่อเปิดตัวต่อสายตาชาวโลกอย่างเป็นทางการ และไล่เลี่ยกันนั้นก็ถูกกองทัพพม่าขึ้นบัญชีว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย

วิดีโอ 1: พิธีสำเร็จหลักสูตรของกำลังพลแห่ง People’s Defense Force (PDF)
ที่มา: Facebook – National Unity Government of Myanmar
https://www.facebook.com/watch/?v=301904494753239

อย่างไรก็ตาม การก่อตั้ง PDF ไม่ใช่จุดแรกเริ่มของปรากฏการณ์การหันมาหยิบจับอาวุธของประชาชนพม่าหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด เพราะที่จริง การจัดตั้งกองกำลังป้องกันประชาชนทยอยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน โดยกระจัดกระจายเป็นหลายกลุ่มก้อนตามพื้นที่ต่างๆ เช่น กองกำลังป้องกันตนเองรัฐฉิ่น (Chinland Defense Force – CDF) และกองกำลังป้องกันประชาชนชาวกะเรนนี (Karenni People’s Defence Force – KPDF) ขณะที่บางกลุ่มอาจไม่ใช่กองกำลังที่จัดตั้งใหม่ แต่เป็นองค์กรที่มีอยู่เดิมซึ่งก็ประกาศจุดมุ่งหมายที่จะต่อต้านกองทัพพม่า เช่น องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Defense Organization – KNDO)

การก่อตั้งกองกำลัง PDF เป็นความตั้งใจของรัฐบาล NUG ที่จะรวบรวมกองกำลังเหล่านั้นเข้ามาต่อสู้ใต้ร่มเดียวกัน บางกองกำลังก็ยินดีประกาศตัวสวามิภักดิ์ ขณะที่บางกลุ่มแม้จะไม่ได้เข้าสู่ใต้ร่มอย่างชัดเจนนัก แต่ก็ให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือกับ PDF หลายอย่าง โดยฉ่วย อู ระบุว่า ความร่วมมือหลักๆ ที่กองกำลังเหล่านั้นให้กับ PDF คือการช่วยฝึกฝนทักษะทางการทหารให้กับประชาชน ซึ่งแต่ละกองกำลังก็มีหลักสูตรการฝึกฝนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป

เพื่อทำความเข้าใจกองกำลังประชาชนลึกลงไปในรายละเอียดมากขึ้น เราพยายามติดต่อพูดคุยกับกองกำลังย่อยๆ ตามท้องถิ่น และมีโอกาสได้พูดคุยกับกองกำลังหนึ่งคือ ‘กลุ่มรักษาความปลอดภัยแห่งเมืองตามู’ (Tamu Security Group – TSG) ที่มีฐานที่มั่นในเมืองตามู เขตสะไกง์ (Sagaing) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ติดกับชายแดนประเทศอินเดีย

“กองกำลังใน TSG มีคนจากหลายชาติพันธุ์มาเข้าร่วม โดยมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย TSG จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลัง PDF และขึ้นตรงต่อรัฐบาล NUG เพราะฉะนั้นทุกความเคลื่อนไหวของเราจะเป็นไปตามทิศทางที่ NUG กำหนด และเราก็ยังมีความร่วมมือกับกองกำลังชาติพันธุ์อื่นๆ ในท้องที่ รวมถึงกองกำลัง PDF ปีกย่อยที่เคลื่อนไหวในพื้นที่อื่นใกล้ๆ กับเรา” บุคคลระดับสูงของ TSG คนหนึ่งเล่าให้เราฟังถึงโครงสร้างการทำงานของ TSG โดยไม่ระบุทั้งชื่อจริง ตำแหน่ง และนามแฝง

“กำลังพลที่มาเข้าร่วมกับเราจะต้องผ่านหลักสูตรการฝึกขั้นพื้นฐานระยะเวลา 2 สัปดาห์” เขาบอกกับเราโดยไม่ได้เล่าให้ฟังละเอียดนักว่าในหลักสูตรประกอบด้วยการฝึกอะไรบ้าง ด้วยเกรงว่าข้อมูลจะรั่วไหล แต่นั่นก็ทำให้เห็นชัดเจนว่าแต่ละกองกำลังมีรายละเอียดโปรแกรมการฝึกที่ต่างกันจริง อย่างเช่น กองกำลัง CDF ที่มีการเปิดเผยมาก่อนว่าหลักสูตรของกองกำลังกินระยะเวลาราว 45 วัน   

“อาวุธที่เราใช้มีทั้งปืนที่ทำขึ้นมาเอง รวมทั้งมีปืน AK-47, M-16 และปืนพก ซึ่งเราหาซื้อมาด้วยเงินทุนของพวกเราเอง” ตัวแทนของ TSG กล่าว ขณะที่รายงานของกลุ่มวิกฤตการณ์นานาชาติ (International Crisis Group – ICG) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ายังมีอาวุธประเภทระเบิด ทั้งที่ผลิตขึ้นมาเองและหาซื้อมา โดยอาวุธที่ TSG ซื้อมาได้นั้นมาจากการซื้อขายในตลาดมืด   

ภาพ 1: กองกำลัง TSG
ที่มา: Facebook – Tamu Security Group – T S G

นับตั้งแต่ก่อตั้งกองกำลังขึ้นมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ หรือเพียง 2 สัปดาห์หลังรัฐประหาร TSG เคยปะทะกับกองทัพพม่ามาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ที่กองกำลัง TSG เข้าโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพอย่างต่อเนื่อง จนสามารถสังหารเจ้าหน้าที่กองทัพพม่าไปได้หลายคน โดย TSG บอกกับเราว่านี่เป็นการกระทำเพื่อปกป้องประชาชนในพื้นที่จากความโหดร้ายของกองทัพพม่า

“เราก่อตั้ง TSG ขึ้นมาด้วยจุดประสงค์หลักคือเพื่อปกป้องประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารตามท้องถนน รวมถึงนักกิจกรรมในพื้นที่ที่กำลังถูกคุกคาม เราพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องพวกเขา” ตัวแทนกลุ่ม TSG กล่าว

เขาเล่าต่อว่า “กองทัพใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่นี่เสมอ หลายคนถูกทหารจับกุมหรือลักพาตัวไปโดยไม่มีเหตุผล มีการเรียกค่าไถ่จากครอบครัวของคนถูกจับ หลายครั้งกองทัพก็ยิงชาวบ้านที่เดินตามท้องถนนแบบสุ่มสี่สุ่มห้า คนหนุ่มสาวบางคนโดนจับกุมเพราะโดนยัดข้อหาว่าแอบผลิตอาวุธขึ้นมาเอง เราถึงต้องมีกองกำลังขึ้นมาปกป้องประชาชน”

จากกองกำลังปกป้องประชาชน
สู่ความฝันแห่ง ‘กองทัพสหพันธรัฐประชาธิปไตย’

“รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) มีหน้าที่ต้องยุติสงครามกลางเมืองที่กินเวลามากว่า 70 ปี รวมทั้งดำเนินการปฏิรูปฝ่ายความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพ และก่อตั้ง ‘กองทัพสหพันธรัฐประชาธิปไตย’ (Federal Democratic Armed Force) …ดังนั้น รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติจึงก่อตั้งกองกำลังปกป้องประชาชน (People’s Defense Force) ขึ้นมาเพื่อเป็นบันไดไปสู่การก่อตั้งกองทัพสหพันธรัฐประชาธิปไตยนั้น” คือถ้อยแถลงส่วนหนึ่งของรัฐบาล NUG ที่ประกาศไว้ในวันก่อตั้ง PDF อย่างเป็นทางการ ตอกย้ำว่าจุดหมายของกองกำลังประชาชนไม่ได้มีแค่เพื่อปกป้องประชาชนจากความรุนแรงของกองทัพเท่านั้น แต่ยังเป็น ‘กองกำลังปฏิวัติ’ ที่มุ่งโค่นล้มเผด็จการทหารและสร้างประเทศที่เป็นของชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

โมเดลสหพันธรัฐเป็นข้อเสนอที่มีมายาวนาน โดยถูกมองว่าอาจเป็นทางออกสู่สันติภาพให้กับประเทศพม่าที่จมปลักในความขัดแย้งระหว่างชนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่เกินกว่า 100 กลุ่ม หากแต่ยังไม่ได้มีเสียงที่ดังมากพอ จนกระทั่งเกิดเหตุรัฐประหารขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ทำให้ประชาชนหลากเชื้อหลายพันธุ์ในประเทศพม่าหันมาจับมือกันอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โมเดลสหพันธรัฐจึงถูกยกขึ้นมาเป็นความฝันอันสูงสุดร่วมกัน หากวันหนึ่งพวกเขาบรรลุเป้าหมายแห่งการปฏิวัติ ขุดรากถอนโคนอำนาจทหารออกจากการเมืองได้สำเร็จ

“เราต่อสู้เพื่อเอาประชาธิปไตยของเราคืน เพื่อให้มีรัฐบาลที่เป็นของประชาชน (People’s Government) อย่างแท้จริง และที่สำคัญ เป้าหมายสูงสุดของเราคือการสร้างสหพันธรัฐพม่าซึ่งเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีกองทัพที่เป็นกองทัพสหพันธรัฐ (Federal Tatmadaw) เรายอมเสี่ยงเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อไปถึงความฝันนี้ให้ได้” ตัวแทนของกลุ่ม TSG บอกกับเรา

ภาพ 2: กองกำลัง TSG
ที่มา: Facebook – Tamu Security Group – T S G

ขณะที่ฉ่วย อู จากกองกำลัง PDF ก็ตอกย้ำกับเราว่า “กองทัพสหพันธรัฐคือเป้าหมายของเรา เราเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นจริงในอีกไม่นานเกินรอ และ PDF ของเราก็คือบันไดขั้นแรกที่จะไปถึงความฝันนั้น”

อย่างไรก็ตามทั้ง PDF และ TSG ต่างก็ยังให้คำตอบเราไม่ได้ว่ากองทัพสหพันธรัฐที่พวกเขาใฝ่ฝันถึงนั้น จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยฉ่วย อู จาก PDF ตอบเราอย่างสั้นๆ เพียงว่า “มันจะเป็นกองทัพที่มาจากการรวมตัวกันของทุกกองกำลังชาติพันธุ์ในพม่า”

จุดแข็งของเราคือพลังและความหวังจากประชาชน

ความฝันสู่การเป็นชาติสหพันธรัฐประชาธิปไตยอันมีกองทัพที่มาจากคนหลากชาติพันธุ์ คือภาพวาดแห่งอนาคตอันสวยหรูสำหรับเหล่าประชาชนพม่าในห้วงเวลานี้ หากแต่เส้นทางไปสู่ความฝันนั้นอาจไม่ได้ง่ายนัก ด้วยว่าศัตรูตัวฉกาจของพวกเขาคือตัดมาดอว์ กองทัพอันมีสถาบันที่เข้มแข็ง มีประสบการณ์การสู้รบไม่ขาดมาตลอด 7 ทศวรรษ และมีศักยภาพทางการทหารสูงเป็นอันดับ 38 ของโลก จึงไม่ใช่งานง่ายสำหรับกองกำลังประชาชนที่เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นมาไม่กี่เดือน มีโครงสร้างความร่วมมือที่ยังคลุมเครือ ขาดอาวุธทันสมัย และยังมีกำลังพลจำนวนมากที่ขาดทักษะทางการทหาร จะสามารถล้มช้างอย่างตัดมาดอว์ได้

แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขายังมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า ในท้ายที่สุดพวกเขาจะได้รับชัยชนะเหนือตัดมาดอว์

“แน่นอน เราจะบรรลุเป้าหมายในอีกไม่ช้า” ฉ่วย อู จากกองกำลัง PDF ตอบคำถามเรา เมื่อเราถามว่าเขามั่นใจขนาดไหนว่า PDF จะชนะ    

“สิ่งที่ทำให้ PDF มีโอกาสไปถึงชัยชนะได้ก็คือ เรามีแรงสนับสนุนท่วมท้นจากประชาชนที่ต่างต้องการโค่นล้มระบอบเผด็จการทหาร พวกเขาพยายามสนับสนุนเราทุกวิถีทางที่พวกเขาทำได้ ไม่ว่าจะด้วยการเข้าร่วมเป็นกำลังพล หรือการบริจาคเงินทุนและสิ่งของให้เรา” ฉ่วย อู เล่าต่อ

“ผมคงไม่สามารถไปเปรียบเทียบศักยภาพของกองกำลังเรากับตัดมาดอว์ได้ แต่ผมบอกได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่เรามีต่างกันคืออุดมการณ์ ฝั่งนั้นเขาคอยแต่ทำงานภายใต้คำสั่งของเผด็จการ และทำเพื่อรักษาอำนาจให้พวกเผด็จการเท่านั้น แต่เราไม่ใช่อย่างนั้น เราต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรมของประชาชนกว่า 50 ล้านคน เพราะฉะนั้นผมไม่อยากให้มองการต่อสู้ครั้งนี้เพียงในแง่มุมของการวัดกำลังทหาร แต่อยากให้มองในแง่ว่านี่คือการต่อสู้ด้านพลังศรัทธา” ฉ่วย อู กล่าว

เช่นเดียวกับกองกำลัง TSG ที่บอกว่า “กองกำลังของเรายืนอยู่บนศรัทธาอย่างแรงกล้าว่าเราต้องชนะ เรามีจุดแข็งสำคัญคือการได้รับศรัทธาและแรงสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัดมาดอว์ไม่มี”

“เราปะทะกับตัดมาดอว์มาแล้วหลายครั้ง ปลิดชีวิตทหารของฝั่งนั้นไปแล้วหลายคน และทุกครั้งก็สั่งสมบทเรียนและประสบการณ์ให้เราแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เราเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าในที่สุดเราจะได้รับชัยชนะ” ตัวแทนของ TSG กล่าว  

มองหลากมุม ผ่าอนาคตกองกำลังประชาชนพม่า

ความเชื่อมั่น ศรัทธา และอุดมการณ์อันแรงกล้าที่กองกำลังประชาชนยึดมั่น อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยให้พวกเขาเดินไปสู่ความสำเร็จ แต่หากมองตามความเป็นจริง แรงใจอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอที่จะชนะ หากกองกำลังปราศจากศักยภาพที่มากพอจะต่อสู้กับกองทัพพม่าได้ และเมื่อเราฟังจากคำบอกเล่าของทั้งสองกองกำลัง ก็รับรู้ได้ว่าตัวกองกำลังเองยังเจออุปสรรคอยู่มาก

“การฝึกฝนกองกำลังของเราทุลักทุเลอยู่พอสมควร มีบางวันที่เราต้องอยู่แบบไม่มีอาหารและยา หรือขาดแคลนเงินทุน และยิ่งช่วงเวลานี้ที่ฤดูมรสุมมาเยือน กำลังพลของเราก็ป่วยกันเยอะ โดยเฉพาะจากโรคที่แมลงและยุงต่างๆ เป็นพาหะอย่างมาลาเรีย รวมถึงโรคอื่นๆ อย่างโรคบิด” ตัวแทนของ TSG บอกกับเรา

“เรื่องอาวุธก็เป็นปัญหาใหญ่ของเราเหมือนกัน ตอนนี้เรากำลังขาดแคลนอาวุธอยู่มาก ซึ่งเราก็ไม่ได้มีเงินทุนที่มากพอที่จะไปจัดซื้อ และยังหาช่องทางซื้อลำบาก” ตัวแทน TSG กล่าว สอดคล้องกับฉ่วย อู จาก PDF ที่บอกเช่นกันว่าการขาดแคลนอาวุธ อาหารและยา กำลังเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดในตอนนี้

ภาพ 3: กองกำลัง TSG
ที่มา: Facebook – Tamu Security Group – T S G

“เรายังเจออีกปัญหาหนึ่งคือมีคนของกองทัพพม่าพยายามแฝงตัวเข้ามาสืบข้อมูลพวกเรา ซึ่งเราก็เคยจับได้ และเชื่อว่าอาจจะยังมีอยู่อีกที่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นช่วงนี้เราถึงระวังเรื่องข้อมูลรั่วไหลกันมาก และต้องตรวจสอบประวัติของคนที่มาเข้าร่วมกำลังพลของเรารอบคอบขึ้นกว่าเดิมมาก” ฉ่วย อู กล่าว

แม้จะเจอความขลุกขลักอยู่มาก แต่ฉ่วย อูก็เล่าว่าอีกด้านหนึ่ง PDF ก็เห็นพัฒนาการความสำเร็จหนึ่งที่สำคัญคือ “PDF สามารถสร้างความร่วมมือกับกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ โดยที่กองกำลังเหล่านั้นช่วยฝึกฝนทักษะทางการทหารให้กับกำลังพลของเรา และเรายังได้ร่วมมือกันจนเกิดปฏิบัติการทางการทหารร่วมกันในหลายพื้นที่ของพม่ามาแล้ว” เช่นเดียวกับ TSG ที่บอกว่า “ก้าวย่างสำคัญของเราคือการได้สานสัมพันธ์เป็นพันธมิตรกับกลุ่มกองกำลังอื่นๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งกองกำลังชาติพันธุ์ดั้งเดิม หรือกองกำลังประชาชนที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่พร้อมๆ กับเรา”

ถึงทั้งสองกองกำลังที่คุยกับเราจะมองว่าการสานความร่วมมือภายใต้ร่มเงา PDF นี้เป็นความสำเร็จ หากแต่จากสายตาของคนนอกจำนวนหนึ่งมองว่า ภายใต้ความสำเร็จนี้ยังมีปัญหาในตัวมันเองอยู่ เพราะความร่วมมือที่ว่านี้ยังคงดูหลวมและคลุมเครืออยู่มาก ถึงแม้ TSG จะบอกกับเราว่ากองกำลังของขึ้นตรงกับ PDF แต่กลุ่มอื่นๆ อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น

รายงานของ ICG ตอนหนึ่งระบุถึงกองกำลังประชาชนที่เกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ต่างๆ ว่า “ถึงแม้พวกเขาจะให้การสนับสนุนหรือกระทั่งประกาศสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล NUG แต่ก็ไม่ถือว่าอยู่ภายใต้คำบัญชาการของ NUG แต่อย่างใด กลุ่มใหญ่ๆ บางกลุ่มก็ไม่ได้มีการติดต่อประสานงานใดๆ กับรัฐบาล NUG เลยด้วยซ้ำ”

ICG ยังกล่าวถึงกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ดั้งเดิมกลุ่มต่างๆ ว่า แม้ว่าหลายกลุ่มจะประกาศสนับสนุนรัฐบาล NUG ด้วยมีเป้าประสงค์เดียวกัน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือต่างๆ ทั้งให้ที่พักพิงกับประชาชนผู้ต่อต้านเผด็จการ ทหารที่หลบหนีและช่วยฝึกฝนกำลังพล แต่ก็ยังไม่พบว่ามีกลุ่มไหนที่ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังภายใต้รัฐบาล NUG อย่างเต็มตัว

เซบาสเตียน สแตรนจิโอ นักข่าวและนักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่า “การที่ PDF จะบรรลุเป้าหมายในการสร้างกองทัพสหพันธรัฐ หรือสร้างความร่วมมือเหนียวแน่นในระดับที่จะสั่นคลอนตัดมาดอว์ได้ ยังมีหนทางอีกยาวไกล ถึงแม้จะชัดเจนว่ารัฐบาล NUG และกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ จะมีเป้าหมายร่วมกันในการต่อต้านรัฐประหาร แต่ก็ไม่รู้ว่าเป้าหมายของแต่ละกลุ่มนั้นจะตรงกันมากขนาดไหน”   

“แต่ละองค์กรชาติพันธุ์ต่างก็มีเป้าหมาย รูปแบบ และประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับรัฐพม่าที่แตกต่างกันออกไป…การจะรวมทุกกลุ่มเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันได้นั้นจะต้องมีการเจรจาต่อรองกันอีกหลายขั้น” สแตรนจิโอเขียน

ขณะที่จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เคยให้ความเห็นกับ 101 เกี่ยวกับแนวคิดการก่อตั้งกองกำลังสหพันธรัฐไว้ว่า “แนวคิดนี้อาจเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมา แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็ไม่ได้มีแนวคิดที่สอดคล้องกันมาก่อน อย่างที่บอกไปตอนต้นด้วยสำนึกความเป็นชาติที่ต่างกัน กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มก็มีข้อขัดแย้งระหว่างกัน เช่น กะเหรี่ยงเองก็แตกออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ DKBA (Democratic Karen Buddhist Army) ซึ่งเป็นกะเหรี่ยงพุทธและ KNU (Karen National Union) / KNLA (Karen National Liberation Army) ซึ่งเป็นคริสต์ หรือกลุ่มกองกำลัง Shan State Army (SSA) ที่ขัดแย้งกับกลุ่มว้า จนเคยรบพุ่งกันมาก่อนด้วยประเด็นเรื่องดินแดน ดังนั้น เมื่อแต่ละฝ่ายไม่ไว้วางใจกันเป็นทุนเดิม จึงยากที่จะมาจับมือกัน”

“สิ่งสำคัญที่จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวกันได้ คือแต่ละกลุ่มต้องพูดคุยกันเองให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นก็ยากที่กองกำลังสหพันธรัฐจะเกิดขึ้น แต่หากเกิดขึ้นได้จริง ก็ถือเป็นเรื่องดี และคงเป็นปรากฏการณ์ครั้งหนึ่งของโลก” จิราพรกล่าว

โครงสร้างที่หละหลวม และศักยภาพของกองกำลังที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยมองว่าโอกาสที่ PDF จะไปถึงเส้นชัยยังคงเลือนลางมาก แต่นี่ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อถึงระยะหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าเราจะเห็นหน้าคร่าตาของกองกำลังที่มีโครงสร้างแนบแน่นเป็นปึกแผ่น และมีศักยภาพสูงขึ้น แต่นั่นก็ทำให้ ICG มองว่าจะส่งผลให้ภูมิทัศน์การเมืองในพม่าผูกเงื่อนซับซ้อนและยืดเยื้อขึ้น หากตัดมาดอว์ยังคงอยู่ในอำนาจ

“ในระยะยาว การอุบัติขึ้นของกองกำลังใหม่ๆ เหล่านี้จะนำไปสู่มิติใหม่ของความขัดแย้งทางการทหารในพม่า กองกำลังบางกลุ่มที่สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาจากการเป็นกองกำลังหลวมๆ เป็นกองกำลังที่แข็งแกร่ง มีโครงสร้างชัดเจนขึ้น รวมทั้งยังอาจระดมเงินทุน และครอบครองทรัพยากรบางอย่างได้มากขึ้น ก็ไม่มีแนวโน้มที่จะสลายตัวลงไปง่ายๆ แต่จะคงอยู่ต่อไป ผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรความขัดแย้งยุคใหม่ที่ตัดมาดอว์จะต้องเผชิญในอนาคต นอกเหนือไปจากความขัดแย้งที่มีกับกองกำลังชาติพันธุ์ในแต่ละพื้นที่อยู่เดิม” รายงานของ ICG ระบุ

ภาพ 4: กองกำลัง TSG
ที่มา: Facebook – Tamu Security Group – T S G

หนทางของกองกำลังประชาชนอาจยังดูขรุขระและยังอีกยาวไกลนัก แต่ก็ใช่ว่าจะมืดมิดไปเสียทีเดียว แอนโธนี เดวิส (Anthony Davis) นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจาก IHS-Janes ชี้ให้เห็นว่ากองกำลังประชาชนมีทางต่อสู้กับกองทัพพม่าได้เหมือนกัน ต่อให้จะไม่ได้มีโครงสร้างเป็นปึกแผ่นก็ตาม

“ปกติแล้ว ตัดมาดอว์มักจะใช้กลยุทธ์แบ่งแยกแล้วปกครอง คือเจรจาหยุดยิงกับกลุ่มหนึ่ง แล้วไปสู้รบกับอีกกลุ่มหนึ่ง จากนั้นก็เจรจาหยุดยิงกับกลุ่มนั้น แล้วไปเปิดศึกใหม่กับอีกกลุ่มหนึ่ง คือเลือกเปิดศึกกับทีละกลุ่ม นี่เป็นกลยุทธ์ของตัดมาดอว์ที่กองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ หลงติดกับดักอยู่เสมอ แต่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนี้ ขณะที่ประชาชนกำลังลุกฮืออยู่ในใจกลางเมืองพม่า ถ้ากลุ่มกองกำลังต่างๆ สามารถรวมตัวกันได้ แม้จะเป็นการรวมตัวแบบหลวมๆ ไม่ได้ร่วมมือกันอย่างแนบแน่นก็ตาม เพียงแค่แต่ละกลุ่มออกปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง แล้วเข้าโจมตีตัดมาดอว์ในเวลาพร้อมๆ กัน นี่จะทำให้ตัดมาดอว์ที่แม้จะมีอาวุธและกำลังพลเหนือกว่า สั่นคลอนได้ไม่น้อย” เดวิสกล่าว

ปรากฏการณ์หนุ่มสาวชาวพม่าเดินเข้าป่าจับอาวุธ ตั้งกองกำลังขึ้นสู้กับกองทัพอาจไม่ใช่ภาพแปลกใหม่สำหรับการเมืองพม่านัก เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลังเหตุการณ์การลุกฮือของประชาชนพม่าเมื่อปี 1988 (8888 Uprising) แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่สามารถรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งมากพอที่จะไปทัดทานตัดมาดอว์ได้ และอ่อนแรงลงไปในที่สุด ถัดมา 3 ทศวรรษ กงล้อประวัติศาสตร์พม่าหมุนเวียนสู่ที่เดิมอีกครั้ง แล้วกองกำลังประชาชนเจเนอเรชันใหม่นี้จะเดินซ้ำรอยเดิม หรือจะพลิกประวัติศาสตร์มาเป็นผู้ชนะได้ คงต้องติดตามในฉากต่อไปของการเมืองพม่าที่คาดหมายกันว่ากำลังเข้าสู่ฉากของ ‘สงครามกลางเมือง’  

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save