fbpx
ฆาตกรรม-จิตรกรรม-วรรณกรรม My Name is Red

ฆาตกรรม-จิตรกรรม-วรรณกรรม My Name is Red

‘นรา’ เรื่อง

 

นิยายเรื่อง My Name is Red (เรื่องนี้ไม่มีการตั้งชื่อภาษาไทย) ของออร์ฮาน ปามุก เริ่มต้นด้วยเหตุฆาตกรรม ขับเคลื่อนให้เรื่องราวคืบหน้าไปสู่การสืบหาว่าใครคือฆาตกร? และลงเอยด้วยการที่ความลับต่างๆ เปิดเผยออกมาเป็นที่กระจ่างชัดในบั้นปลาย

เค้าโครงกว้างๆ ข้างต้น ทำให้งานเขียนชิ้นนี้มีความเป็นนิยายฆาตกรรมสืบสวนสอบสวนเต็มเปี่ยม

แต่ในรายละเอียดระหว่างทางตั้งแต่ต้นจนจบ My Name is Red กลับไม่ได้มุ่งเน้นไปที่องค์ประกอบหลักของงานเขียนประเภทนี้สักเท่าไร พ้นจากความเข้มงวดรัดกุมในการปกปิดโฉมหน้าแท้จริงของฆาตกรแล้ว เหตุฆาตกรรมนั้นเกิดขึ้นเป็นไปในระดับปกติธรรมดา ไม่ได้ลึกลับยอกย้อนซ่อนเงื่อนหรือมีความพิเศษพิสดารอันใด วิธีการสืบสวนสอบสวนก็ง่ายและตรงไปตรงมา มิหนำซ้ำผู้อ่านยังล่วงรู้ถึงรายละเอียดขณะเกิดเหตุฆาตกรรมโดยถี่ถ้วน จากคำบอกเล่าผ่านมุมมองของฆาตกรในบทต้นๆ ของหนังสือ

เหลือเพียงแค่ความลับว่าใครเป็นฆาตกรเท่านั้น ที่ยังทำหน้าที่ตรงตามขนบของนิยายรหัสคดีในการเร่งเร้าความอยากรู้และตรึงความสนใจของผู้อ่าน

พูดอีกแบบคือ ในฐานะที่เป็นนิยายฆาตกรรมสืบสวนสอบสวน My Name is Red มีอรรถรสค่อนไปทางจืดชืด (นี่ยังไม่นับรวมถึงความเป็นนิยายรักและนิยายอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งมีสัดส่วนหนาแน่นไม่แพ้กัน) เพราะความจัดจ้านน่าสนใจที่แท้จริงกลับเป็นเทคนิควิธีการเขียน และจุดมุ่งหมายทางเนื้อหาสาระ

เช่นเดียวกับงานเขียนเรื่องอื่นๆ ของออร์ฮาน ปามุก ความเข้มข้นในรสบันเทิงไม่ได้อยู่ที่พล็อต การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างเนิบช้า ไม่ได้โลดโผนฉับไว อุดมไปด้วยบทสนทนายืดยาว และการเล่าถึงความคิดภายในใจ (ซึ่งมีลักษณะย้ำคิดย้ำทำ) ของบรรดาตัวละครหลัก

อย่างไรก็ตาม ผมจำได้ว่าตอนที่อ่านนิยายเรื่องนี้ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ บลิส พับลิชชิง เมื่อปี พ.ศ.2553 (ล่าสุดมีฉบับพิมพ์ใหม่ในปี พ.ศ.2562 โดยสำนักพิมพ์มติชน) เพียงแค่เริ่มเรื่องบทแรกก็โดนสะกดตรึงจนไม่อาจละสายตา และตื่นเต้นไปกับเทคนิควิธีการเขียน

My Name is Red มีด้วยกันทั้งหมด 59 บท แต่ละบทเล่าสลับผ่านมุมมองของตัวละครต่างๆ นานา บางตัวละครก็เผยชื่อแสดงตนชัดเจน บางตัวละครก็บอกเล่าโดยอำพรางชื่อเสียงเรียงนาม (‘ข้าจะได้ชื่อว่าเป็นฆาตกร’) บางตัวละครก็เป็นคนที่ตายไปแล้ว (ข้าคือศพ) บางตัวละครก็ไม่ใช่มนุษย์ (ประกอบไปด้วย ‘ข้าคือหมา’, ‘ข้าคือต้นไม้’, ‘ข้าคือมัจจุราช’, ‘ข้าคือม้า’, ‘ข้าคือซาตาน’) บางตัวละครก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต (‘ข้าคือเหรียญทอง’ และ ‘ข้าคือสีแดง’)

แต่ละตัวละครเล่าเรื่องในลักษณะคำให้การ (และบางครั้งก็ถึงขั้นสนทนากับผู้อ่านโดยตรงซึ่งๆ หน้า) ตามมุมมองของตน แล้วประกอบกันจนเกิดเป็นเค้าโครงเรื่องหลัก พร้อมๆ กันนั้นก็มีบางตัวละครส่วนน้อยให้ปากคำเหมือนเฉไฉออกนอกเรื่อง แทบไม่เกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมอันเป็นใจความหลัก (เรื่องเล่าในส่วนนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เล่าเหตุการณ์ แต่บอกกล่าวชวนคุยในประเด็นแง่มุมที่เกี่ยวพันกับเนื้อหาสาระ)

My Name is Red ใช้ฉากหลังย้อนยุคสู่อาณาจักรออตโตมานปี ค.ศ.1951(หนึ่งปีก่อนครบรอบสหัสวรรษตามปีจันทรคติของศักราชฮิจเราะห์) เนื้อเรื่องหลักเล่าถึง คดีฆาตกรรมชายชื่อเอเลอแกนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจิตรกรประจำราชสำนัก ที่กำลังวาดหนังสือภาพเล่มหนึ่งเป็นภารกิจลับตามบัญชาของสุลต่านมูรัตที่ 3 ร่วมกับเพื่อนจิตรกรฝีมือดีรุ่นราวคราวเดียวกันอีก 3 คน ผู้มีสมญานามว่า ‘บัตเตอร์ฟลาย’, ‘โอลีฟ’ และ ‘สตอล์ก’ โดยการกำกับดูแลของเอนิชเต

มีคำครหาหนาหูเกี่ยวกับหนังสือภาพวาดเล่มที่กำลังทำนี้ว่า หมิ่นต่อศาสนา จนกลายเป็นชนวนสาเหตุให้เกิดการฆาตกรรม

อีกเส้นเรื่องที่เล่าเคียงข้างกัน เป็นเรื่องของชายหนุ่มชื่อแบล็ค ซึ่งเดินทางกลับมายังอิสตันบูลอีกครั้งหลังห่างหายไปใช้ชีวิตรอนแรมไกลเนิ่นนานถึง 12 ปี ด้วยเหตุที่ตกหลุมรัก เชคูเร ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้อง และถูกนางกับพ่อ (น้าเขย) ปฏิเสธ

แบล็คได้รับจดหมายเชิญชวนจากเอนิชเตผู้เป็นน้าเขยให้เดินทางกลับมายังอิสตันบูล เพื่อช่วยงานทำหนังสือภาพที่กำลังตกเป็นข่าวลืออื้อฉาวให้ลุล่วง ชายหนุ่มยินยอมตกลง ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเรื่องงาน แต่เป็นความปรารถนาและฝังใจในรักที่มีต่อเชคูเรอย่างหัวปักหัวปำ ยังไม่อาจลืมเลือนและตัดใจได้ลง

แบล็คเดินทางมาถึงอิสตันบูลหลังเกิดเหตุฆาตกรรมไปแล้ว 3 วัน และเข้าไปพัวพันข้องเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ทั้งโดยการปลงใจยอมรับงานเขียนคำบรรยายตัวบทในหนังสือภาพ และการพยายามเอาชนะใจหวังแต่งงานกับเชคูเร

นอกจากเหตุการณ์ฆาตกรรมแล้ว อุปสรรคกีดขวางความรักที่สำคัญอีกประการก็คือ เชคูเรแต่งงานกับนายทหารหนุ่ม ซึ่งไปรบสงครามเปอร์เซียแล้วหายสาบสูญนานถึง 4 ปี (นี่ยังไม่นับรวมว่า ฮาซันน้องชายของสามีก็มุ่งหวังจะแต่งงานกับเชคูเร และกลายเป็นคู่แข่งสำคัญ) เธอมีสถานะคลุมเครือคาราคาซังระหว่างการยังเป็นภรรยาตามกฏหมายกับการเป็นม่าย

เส้นเรื่องสุดท้ายได้รับการบอกกล่าวคร่าวๆ แต่แฝงแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง คือบรรยากาศและสภาพสังคมช่วงเวลานั้น ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นสงครามยืดเยื้อกับเปอร์เซีย เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ยังคงทิ้งร่องรอยเสียหายเอาไว้ทั่วเมือง โรคระบาดคร่าชีวิตผู้คนนับหมื่น รวมทั้งการที่นักเทศน์จากแอซูรุม ผู้มีแนวคิดเคร่งศาสนาสุดโต่ง กำลังมีอิทธิพลขยายกว้าง ได้รับความนับถือเลื่อมใสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาพยายามโน้มน้าว อธิบายว่าภาวะยากแค้นและเรื่องร้ายต่างๆ เป็นการลงทัณฑ์ของพระเจ้า เนื่องจากผู้คนต่างพากันหลงลืมละเลยศาสนา หมกมุ่นงมงายต่อความเชื่อผิดๆ

และหนึ่งในพฤติกรรมร้ายแรงนอกรีต ก็คือหนังสือภาพที่เอนิชเตกับกลุ่มจิตรกรกำลังลอบกระทำกันอย่างลับๆ

เรื่องราวทั้งหมดเล่าผสมปนเปไปพร้อมๆ กันผ่านมุมมองของบรรดาตัวละครอันหลากหลาย

การใช้มุมมองเล่าเรื่องผ่านสารพัดตัวละครนี้ ประโยชน์แรกสุดนอกจากจะเป็นการสร้างความแปลกและน่าสนใจแล้ว ลำดับต่อมาคือเป็นรูปแบบวิธีที่เอื้อและเปิดโอกาสให้ตัวละครโต้แย้งถกเถียงกันอย่างละเอียดพิสดาร ซึ่งผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญของนิยายเรื่องนี้ และข้อดีท้ายสุด คือในแต่ละมุมมองของผู้เล่าเรื่อง มันเปลื้องเปลือยนิสัยพฤติกรรมความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีทั้งการโป้ปดมดเท็จ พูดและแสดงเหตุผลเข้าข้างตนเอง รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกอย่างความอิจฉาริษยา ความเห็นแก่ตัว ความอ่อนแอขลาดกลัว ความละโมบในชื่อเสียงลาภยศ และความหมกมุ่นลุ่มหลงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งของแต่ละคน

ประการหลังสุด เป็นเช่นเดียวกับที่ปรากฏในหนังเรื่อง Rashomon ของอากิระ คุโรซาวา (ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น 2 เรื่องริวโนสุเกะ อาคุตางาวะ) ซึ่งใช้มุมมองของหลายตัวละครทำหน้าที่เล่าเรื่องแบบหลีกเลี่ยงการพูดความจริงเพื่อปกป้องตนเอง

ในความเป็นนิยายฆาตกรรมสืบสวนสอบสวน My Name is Red ไม่ได้ให้น้ำหนักความสำคัญไปยังขั้นตอนการลงมือก่อเหตุ และลำดับของการคลี่คลายสะสางคดี แต่สิ่งที่เน้นกันอย่างถี่ถ้วนละเอียดยิบคือ การสืบสาวย้อนกลับไปสู่แรงจูงใจในการก่อเหตุ และความขัดแย้งทางความคิดระหว่างผู้ฆ่าและคนที่ถูกฆ่า อันได้แก่ หนังสือภาพ

ผิวหน้าภายนอกสุดของรสบันเทิงใน My Name is Red คือเรื่องฆาตกรรมและการสืบสวนสอบสวน ลำดับต่อมาคือการติดตามเรื่องราวความรักและการฝ่าฟันอุปสรรคของคู่พระนาง ต่อมาคือการพรรณนาสาธยายถึงลักษณะทั่วไปของงานจิตรกรรมสกุลช่างออตโตมาน (Ottoman miniature painting) อย่างละเอียดลออและน่าตื่นตาตื่นใจมาก เพื่อนำไปสู่อรรถรสสุดท้าย คือการปะทะขัดแย้งกันระหว่างสองแนวความคิดที่แตกต่างกันผ่านงานศิลปะ

จิตรกรรมแบบ Ottoman miniature painting นั้น แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอก สีสัน ลวดลาย และเนื้อหาที่หยิบนำมาวาดจะแตกต่างห่างไกลกับจิตรกรรมฝาผนังของไทย แต่หลักการพื้นฐานทั้งหมด กล่าวได้ว่าเหมือนกันแบบสามารถนับเป็นญาติใกล้ชิด

เริ่มจากจุดมุ่งหมายในการสร้างงานเพื่อตอบสนองรับใช้ศาสนา (และมีชนชั้นสูงฐานะดีเป็นผู้อุปถัมภ์), ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ประกาศชื่อลงนามแสดงตัวตน และที่สำคัญคือ เป็นงานศิลปะที่ไม่คำนึงถึงความสมจริง มีลักษณะประดิษฐ์แบบที่เรียกกันว่า ‘นาฎลักษณ์’

ความไม่สมจริงข้างต้นนั้น ได้แก่ เป็นภาพที่วาดออกมา 2 มิติ แลดูแบน ตัวบุคคลในภาพหน้าตาเหมือนหรือคล้ายๆ กันไปหมด ปราศจากแสงเงาระบุให้รู้ว่าเหตุการณ์ในภาพเป็นช่วงเวลาใด (แต่ผู้ชมสามารถทราบได้จากสถานที่และกิริยาท่าทาง เช่น เราสามารถรู้ว่าเป็นเวลากลางคืนจากภาพคนกำลังนอนหลับในที่รโหฐาน)

ภาพคนเขียนขึ้นโดยไม่ยึดหลักความถูกต้องทางด้านกายวิภาค ปราศจากกล้ามเนื้อ ต้นไม้ ดอกไม้ อาคารบ้านเรือน แม่น้ำ ภูเขา มีลักษณะเป็นลวดลายประดิษฐ์ไม่เลียนแบบธรรมชาติ ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านสีหน้าแววตา แต่สะท้อนผ่านท่วงท่าและรายละเอียดประกอบห้อมล้อม

ที่สำคัญคือ ปราศจากระยะใกล้ไกลตามหลักทัศนียวิทยาหรือ persective วัตถุใกล้และไกลมีขนาดเท่ากันหมด และสร้างมิติลวงตาให้เกิดความลึกใกล้ไกลด้วยระดับสายตาแบบมองจากที่สูงหรือ bird’s eyes view ทำให้บริเวณตอนล่างของภาพเขียนคือสิ่งที่อยู่ใกล้ และด้านบนคือสิ่งที่อยู่ไกล

ในนิยายเรื่อง My Name is Red ระดับสายตาดังกล่าว ได้รับการอธิบายอย่างมีนัยยะสำคัญว่าเป็นมุมมองของพระเจ้า ส่งผลให้จิตรกรรมในลักษณะที่ไม่สมจริงนั้นเป็นการถ่ายทอดโลกในแบบที่พระเจ้ามองเห็น ไม่ใช่โลกในแบบที่ศิลปินมองเห็น

เงื่อนปมความขัดแย้งใน My Name is Red เริ่มจากเอนิชเตเคยเดินทางไปยังเวนิส และมีโอกาสผ่านตางานศิลปะของโลกตะวันตกจำนวนมาก ได้เห็นภาพเหมือนบุคคลที่เต็มไปด้วยความสมจริงของผู้คนหลากหลายชนชั้นอาชีพและฐานะทางสังคม การวาดแสงเงา กล้ามเนื้อ ภาพวาดที่แยกตนเองออกมาเป็นเอกเทศตามลำพัง โดยปราศจากเรื่องเล่า ตำนาน คำสอน หรือตัวบทเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งระดับสายตาที่มองทุกสิ่งแบบที่ตัวละครเปรียบเปรยว่า มองผ่านบานหน้าต่าง

ที่สำคัญคือ เอกลักษณ์ของศิลปินผู้สร้าง และการลงนามกำกับในภาพเขียนเพื่อยืนยันตัวตนของศิลปินชาวตะวันตก

โดยเหตุนี้ หนังสือภาพที่เอนิชเตตั้งใจจะจัดทำขึ้น จึงกำหนดแนวคิดไว้ว่า จะเป็นการผสมผสานระหว่างรูปแบบศิลปะตามขนบดั้งเดิมกับความสมจริงที่เป็นอิทธิพลตะวันตก จนกระทั่งกลายเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งลุกลามบานปลายไปได้มากมาย

เช่นเดียวกับนิยายเรื่อง ‘หิมะ’ (Snow) ซึ่งพูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองและความเชื่อในศาสนาผ่านการถกเถียงของตัวละครหลายๆ ฝ่าย ใน My Name is Red ออร์ฮาน ปามุกก็ใช้ความแตกต่างไม่ลงรอยชนิดตรงกันข้าม ระหว่างงานศิลปะ 2 สกุลจากโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกมาเป็นตัวตั้ง แล้วขยายความ กินแดนไปสู่แง่มุมประเด็นต่างๆ สารพัดสารพัน

คู่ขัดแย้งที่เด่นชัด คือการมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปินกับความเชื่อสืบทอดกันมาช้านานว่า งานศิลปะที่สมบูรณ์แบบคือการถอดแบบเดินตามรอยศิลปินชั้นครูในอดีตได้อย่างครบถ้วนไม่ผิดเพี้ยน (ซึ่งนำไปสู่อีกข้อขัดแย้งคือการสร้างสรรค์และการทำซ้ำ), ตัวบทหรือเรื่องเล่ากับภาพวาด (หน้า 159 ตัวละครหนึ่งกล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญคือตัวบท…ภาพวาดสวยงามมีหน้าที่เสริมความวิจิตรสมบูรณ์ให้กับตัวบท รูปภาพใดไม่ใช้ประกอบเรื่องราว สุดท้ายก็กลายเป็นแค่รูปเคารพผิดๆ เพราะในเมื่อไม่มีเรื่องราว คนก็จะเริ่มยึดติดกับตัวภาพ”)

ยังมีการมองเห็นกับความมืดบอด ตามท้องเรื่อง มีความเชื่อสำคัญอย่างหนึ่งในหมู่จิตรกร นั่นคือใครก็ตามที่วาดภาพมายาวนานทั้งชีวิต จนบรรลุถึงขีดขั้นสุดยอดจะกลายเป็นคนตาบอดในวัยชรา โดยถือเป็นพรสูงสุด (“การตาบอดคือความเงียบสงบ หากเจ้าประมวลสิ่งที่ข้าเพิ่งพูดไป รวมคำถามข้อหนึ่งกับข้อสองเข้าด้วยกัน เจ้าจะเข้าใจว่า ‘การตาบอด’ คือจุดสูงสุดของศิลปะการวาดภาพ มันคือการมองเห็นสิ่งที่อัลเลาะห์ประสงค์ให้เห็นในความมืดมิด” หน้า 93)

ความขัดแย้งต่างๆ นานาประดามี นอกจากจะเกี่ยวพันกับความเชื่อและหลักคำสอนทางศาสนาที่แตกต่างกัน, มุมมองความเข้าใจทัศนะที่มีต่อศิลปะและการนิยามถึงความงามซึ่งแบ่งแยกเป็นคนละฝักฝ่ายแล้ว ยังเป็นความขัดแย้งที่ส่งผลให้ตัวละครมองโลกด้วยความเข้าใจที่แปลกเปลี่ยนไปจากเดิมด้วยเช่นกัน

ตรงที่ผมกล่าวว่า เป็นเช่นเดียวกับนิยายเรื่อง ‘หิมะ’ ก็คือ ออร์ฮาน ปามุกสร้างตัวละครต่างๆ ขึ้นมาถกเถียงโต้แย้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างละเอียดรอบด้าน และปล่อยให้ผู้อ่านไตร่ตรองความคิดความเชื่อของตนเอง โดยปราศจากบทสรุปหรือการชี้นำ

พ้นจากใจความหลักว่าด้วยความขัดแย้งทางศิลปะแล้ว งานเขียนชิ้นนี้ยังสะท้อนถึงแง่มุมปลีกย่อยรองลงมาอื่นๆ อีก อาทิ คุณธรรมกับความรู้สึกผิดบาป, การมีชีวิตและความตาย, เวลาช่วงขณะหนึ่งกับความยืนยงคงทนเป็นอมตะนิรันดร์กาล และการสะท้อนให้เห็นถึงจุดจบของยุครุ่งเรืองทางศิลปะ

ความบันเทิงอีกอย่างที่ผมเกือบจะลืมและเพิ่งนึกขึ้นได้ก็คือ นอกจากจะเป็นเรื่องเล่าหลายเส้นเรื่องผ่านหลายตัวละครแล้ว My Name is Red ยังเป็น ‘เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า’ อีกด้วย บ่อยครั้งที่ตัวละครถกสนทนากันหรือถามตอบในประเด็นหัวข้อสำคัญ คำตอบหรือคำอธิบายมักปรากฎผ่านการเล่า นิทาน ตำนาน หรือเหตุการณ์ในอดีต เพื่อเป็นตัวอย่างสาธิตหรือเทียบเคียง

เรื่องเล่ามากมายในรูปแบบนิทานสั้นๆ เหล่านี้ สนุกเพลิดเพลินมากนะครับ

มีประเด็นหนึ่งซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจและเป็นความร้ายกาจและท้าทายของออร์ฮาน ปามุก นั่นคือ การให้ตัวละครโต้แย้งกันหน้าดำคร่ำเครียดเกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง ‘มุมมอง’ ในการวาดภาพ (หรืออาจรวมถึงการมองโลก) ว่าเป็นความผิดบาปหนัก หากศิลปินจะริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานด้วยมุมมองของตนเอง ถ่ายทอดสะท้อนทุกสิ่งทุกอย่างตามที่สายตาของเขามองเห็น แทนที่จะทำตามขนบจารีตเดิม ด้วยความเชื่อศรัทธาว่าเป็นมุมมองของพระเจ้า (“บาปหนักหนาที่สุด คือ การที่จิตรกรตีตนเสมอพระองค์ ยกตนขึ้นเป็นผู้สร้างเสียเอง” หน้า 228)

ตลอดทั่วทั้งเรื่องของ My Name is Red เป็นนิยายที่ตั้งใจเล่นสนุกกับ ‘มุมมอง’ อย่างไม่ยั้งมือ และเต็มไปด้วยความยอกย้อนแพรวพราวเป็นอย่างยิ่ง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save