fbpx
ซ้ายหลายเฉดในเขต (ไม่) ปกครองไบรท์ตัน

ซ้ายหลายเฉดในเขต (ไม่) ปกครองไบรท์ตัน


“ฝ่ายซ้ายคืออะไร?”

หากคุณกำลังมองหาคำตอบของคำถามข้างต้น คุณอาจต้องผิดหวังกับคอลัมน์นี้ เพราะจนบัดนี้ผู้เขียนเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน แม้ตลอดกว่า 6 ปีที่เรียนปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ เมืองไบรท์ตัน (University of Sussex, Brighton) ผู้เขียนต้องพานพบกับเพื่อนและผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เรียกตัวเองว่า ‘ฝ่ายซ้าย’ ก็ตาม

วูดโรว์ ฟีนิกซ์ (Woodrow Phoenix) นักเขียนและศิลปินชาวอังกฤษเขียนถึงเมืองไบรท์ตันไว้ว่า “ถ้าคุณจับสหราชอาณาจักรเทคว่ำลง อะไรที่หลวมๆ ไม่เข้าที่เข้าทางก็จะไหลลงมากองกันอยู่ทางใต้แถวนี้แหละ”[1] ข้อสังเกตชวนหัวของฟีนิกซ์นี้อาจหมายรวมถึงความ ‘ซ้าย’ ด้วย

ไบรท์ตันถือเป็นบ้านสำคัญหลังหนึ่งของ ‘การเมืองนอกกระแส’ แนวต่างๆ ของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่พรรคอนุรักษนิยมเป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2010 หุบเขาและชายฝั่งของไบรท์ตันก็ยิ่งเต็มใจโอบรับความคิด ‘นอกกระแส’

‘ช่วยด้วย เพื่อนฉันเป็นฝ่ายซ้าย’ เป็นคอลัมน์นึกสนุกที่อยากชวนผู้อ่านมองความเป็นซ้ายเฉดต่างๆ ผ่านสายตานักศึกษาไทยคนหนึ่งในไบรท์ตัน เมืองซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงทางประวัติศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันก็เรียกได้ว่าเป็นแหล่งมั่วสุมของ ‘ฝ่ายซ้าย’ – ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไรกันแน่

คุณจะเป็นอะไรก็ได้ในไบรท์ตัน

(เว้นเสียแต่ว่าคุณเป็นทอรี)

ไบรท์ตันมีประวัติศาสตร์ยาวนานในฐานะเมืองขบถ กล่าวคือ เป็นเมืองที่ต้อนรับผู้อันคนหลากหลายซึ่งเห็นตรงกันว่าควรตั้งคำถามต่อขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ

ชื่อเสีย(ง)ในฐานะ ‘เมืองขบถ’ ของไบรท์ตัน อาจย้อนกลับไปได้ไกลถึงยุควิกตอเรียน เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 4 โปรดปรานเมืองตากอากาศชายทะเลแห่งนี้มากจนสร้าง Royal Pavilion ที่รวมสถาปัตยกรรมแบบอินเดียและจีนเข้าไว้ด้วยกันอย่างแปลกประหลาดตาและมีกลิ่นอายของความแหวกขนบอยู่เต็มเปี่ยม สะท้อนตัวตนของจอร์จที่ 4 ผู้ซึ่งหลงใหลกิจกรรมต่างๆ ที่ชวนให้ชนชั้นสูงขมวดคิ้ว ไม่ว่าจะเป็นการมีคนรักหลายคน การติดการพนัน และการดื่มอย่างไม่บันยะบันยังเพื่อหลบสายตาแห่งความตำหนิติเตียน จอร์จที่ 4 จึงโปรดการมาพักผ่อนที่เมืองขนาดกลางและมีอากาศอันน่าภิรมย์ (กว่าลอนดอน) และทำให้ไบรท์ตันมีชื่อเสียงมาอย่างช้านานในฐานะเมืองที่ขบถต่อกฎระเบียบทางสังคม

ในทศวรรษ 1990 ไบรท์ตันนับเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปสังคมอังกฤษผ่านการขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับปริญญา ซึ่งแต่เดิม ระบบการคัดเลือกและจำนวนที่นั่งที่จำกัดทำให้การศึกษาระดับสูงในอังกฤษเปิดประตูต้อนรับเฉพาะคนจากบางชนชั้นเท่านั้นในทางปฏิบัติ กระทั่งในปี 1992 อังกฤษได้ผ่านกฎหมาย Further and Higher Education Act 1992 ทำให้เกิดมหาวิทยาลัยใหม่เป็นจำนวนมาก เรียกรวมๆ ว่า ‘new universities’ ซึ่งมหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น      

ว่ากันว่าประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับการปฏิรูปสังคมนี้แทรกซึมอยู่ในอิฐทุกก้อนและปรากฏแก่สายตาผู้มาเยือนผ่านอาคารตามสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist ตลอดไปจนถึงเก้าอี้อ่านหนังสือในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว (ในบทสนทนาหนึ่งระหว่างผู้เขียนและที่ปรึกษา ที่ปรึกษาเล่าให้ฟังว่าชอบเก้าอี้ตัวหนึ่งในห้องสมุดที่เป็นสไตล์ mid-century Brutalist มาก และเคยพยายามขอซื้อจากห้องสมุดแต่มหาวิทยาลัยไม่ขายให้จึงต้องล้มเลิกความตั้งใจไป)

ด้วยสปิริตและประวัติศาสตร์แบบขบถ มหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์จึงเริ่มกลายเป็นศูนย์รวมของนักคิด นักวิชาการ และนักศึกษาที่สนใจแนวคิดนอกกระแสหลัก ในช่วงที่ผู้เขียนเรียนอยู่ สมาคมต่างๆ ตลอดจนสภานักศึกษาก็มักจัดกิจกรรมทางการเมืองเชิงวิพากษ์อย่างคึกคัก เช่น การฉายหนังเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ดีเบตเรื่องรายได้พื้นฐานขั้นต่ำ (universal basic income) หรือแม้แต่ผู้ลงสมัคร ส.ส. ในเขตก็มาใช้ห้องประชุมมหาวิทยาลัยเป็นเวทีในการนำเสนอนโยบาย ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ นักศึกษาจำนวนมากก็เป็นสมาชิกและกรรมการของพรรคแรงงานและพรรคกรีน

ในทางกลับกัน ตลอดเวลา 6 ปี ในไบรท์ตันผู้เขียนไม่เคยรู้จักผู้สนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมแม้แต่คนเดียว อาจยกเว้นเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเมามากจนเผลอเล่าว่าตัวเองโหวตให้เดวิด คาเมรอน ตอนปี 2010 (หรือไม่ก็ผู้เขียนเป็นคนเพื่อนน้อยและไม่หลากหลาย ฮา)

อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความขบถคือ ทุกวันศุกร์ที่แดดออก (ประมาณปีละสิบครั้งไม่เกินนี้) ผู้คนมากหน้าหลายตาจากลอนดอนมักจะเดินทางมาร่วมกับบรรดานักศึกษาเพื่อใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ในเมืองแห่งนี้ พร้อมทิ้งหมวกหลากรูปแบบที่ตนต้องสวมไว้ในเมืองหลวง กล่าวได้ว่า ไบรท์ตันเป็นเมืองยอดนิยมของนักปาร์ตี้ – ตั้งแต่งานเลี้ยงวันเกิดไปจนถึงงานเลี้ยงสละโสด – ถ้าไบรท์ตันเป็นน้ำหอม ถัดจากท็อปโน้ตกลิ่นความสดชื่นของชายทะเล แอลกอฮอล์และกัญชาน่าจะเป็นมิดเดิลและเบสโน้ตตามลำดับแน่นอน

ในไบรท์ตัน เสรีนิยมไม่ใช่ฝ่ายซ้าย!

เมื่อต้องตัดสินใจไปเรียนต่อ ผู้เขียนไม่ได้สนใจเมืองและผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองเท่ากับอาจารย์กอร์ดอน ฟินเลสัน (Gordon Finlayson) นักปรัชญา ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทด้าน Social and Political Thought แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ กอร์ดอนเป็นลูกศิษย์ของ เยือร์เกน ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) นักปรัชญาชาวเยอรมัน หนึ่งในนักคิดที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกร่วมสมัย

เมื่อประมาณเกือบสิบปีที่แล้ว ผู้เขียนสนใจ Critical Theory และสำนัก Frankfurt School ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ความพยายามเข้าใจปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองให้พ้นไปจากกรอบแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย เพราะมองว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญอันเดียวกันกับระบอบทุนนิยมโลก  

ในบรรดานักคิดที่มีความเชื่อมโยงกับสำนัก Frankfurt School ฮาเบอร์มาสนับว่าเป็นเบอร์ต้นๆ สำหรับผู้เขียนซึ่งมีความรู้พื้นฐานด้านมนุษยศาสตร์และภาษาศาสตร์เล็กน้อย งานของฮาเบอร์มาสชิ้นที่สนุกที่สุดคืองานเรื่อง Theory of Communicative Action (1981) หากจะว่ากันตรงๆ ผู้เขียนอ่านงานชิ้นนี้ไม่จบดี แต่จำความรู้สึกชั่วขณะที่เริ่มมองเห็นเค้าลางความเชื่อมโยงระหว่างภาษาศาสตร์ ญาณวิทยา ตำแหน่งแห่งที่ของ ‘เหตุผล’ (rationality) ในโลกสมัยใหม่ และบรรทัดฐานทางศีลธรรมของเสรีนิยมได้ดีว่าน่าตื่นเต้นเพียงใด

เมื่อพบว่ากอร์ดอนเป็นลูกศิษย์ฮาเบอร์มาสโดยตรง ผู้เขียนจึงตัดสินใจตัดสินใจเลือกโปรแกรมนี้โดยทันที นอกจากเหตุผลเรื่องการเป็นลูกศิษย์ฮาเบอร์มาสแล้ว ผู้เขียนยังค่อนข้างประทับใจงานของอาจารย์ท่านนี้ที่ว่าด้วยดีเบตระหว่างฮาเบอร์มาสและจอนห์ รอวลส์ ยักษ์ใหญ่อีกคนของวงการปรัชญาการเมือง (ใช่! คนที่เขียน Theory of Justice ที่นักเรียนปรัชญาการเมืองอ่านแล้วหาวหลายรอบจนกรามค้างคนนั้นนั่นแหละ)

แม้จะพอรู้จักอาจารย์อยู่บ้าง แต่กว่าที่ผู้เขียนจะได้รู้จักเพื่อนๆ ร่วมห้องก็ต้องรอจนกว่าคลาสเรียนจะเริ่มนู่นเลย แน่ล่ะ ด้วยหลักสูตรที่เลือกไป ในใจก็อดลุ้นไม่ได้ว่า เพื่อนๆ จะ ‘โหด’ กันขนาดไหน

เมื่อเริ่มเรียนไปได้สักพัก ผู้เขียนได้ข้อสรุปว่าสำหรับเพื่อนๆ ในห้อง คำว่า เสรีนิยม (liberalism) 99% มักใช้ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมองว่าการที่ ‘พวกลิเบอรัล’ ไม่สามารถมองเห็นความเป็นไปได้ทางการเมืองแบบอื่นๆ เพราะปักใจเชื่ออย่างขัดแย้งกับหลักฐานตรงหน้าว่า โลกกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหลังเสรีนิยมประชาธิปไตยลงหลักปักฐานในฐานะบรรทัดฐานทางการเมืองของโลกหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง

ที่เซอร์ไพรส์ไปกว่านั้นคือ ผู้เขียนยังพบว่าแท้จริงแล้วฮาเบอร์มาสและรอวลส์ต่างก็เป็นแคนดิเดตสำคัญของอุดมการณ์การเมืองแบบเสรีนิยม ซึ่งเชื่อว่าระบอบทุนนิยมที่ถูกควบคุมโดยรัฐอย่างเหมาะสมนั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ระหว่างที่พิมพ์ประโยคนี้ผู้เขียนต้องกลั้นหายใจเพราะรู้ตัวว่าลดทอนรายละเอียดของคำอธิบายในระดับที่ไม่น่าให้อภัย)

หลังจากที่มึนงงกับเสรีนิยมและ Frankfurt School หลังคาบแรก นักเรียนทุกคนตัดสินใจไปคุยกันต่อที่ผับมหาวิทยาลัย ผู้เขียนจึงได้มีโอกาสรู้จักเพื่อนร่วมโปรแกรมที่มาจากหลากหลายมุมโลก จุดร่วมกันของทุกคนคือ ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายซ้าย

ด้วยความรู้ความเข้าใจของคนอายุยี่สิบกว่าๆ จากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก มิหนำซ้ำยังไม่ได้เป็นนักเรียนรัฐศาสตร์โดยตรงอีกด้วย ความเข้าใจเกี่ยวกับเฉดต่างๆ ของอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้เขียนจึงไม่ได้สลับซับซ้อนนัก ก็ได้แต่เก็บรวบรวมคำถามไว้ในใจและเริ่มงงกับจุดยืนทางการเมืองของตัวเองแล้วตั้งแต่คาบแรก

ฝ่ายซ้ายกับปัญหาเอกราชสก็อตแลนด์

ความซับซ้อนของฝ่ายซ้ายกลุ่มต่างๆ ในอังกฤษเห็นชัดผ่านประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับการยึดลอนดอนเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซ้อนทับกับประเด็นการเมืองว่าด้วยอัตลักษณ์ หนึ่งในประเด็นเหล่านั้นคือ ‘ปัญหาว่าด้วยสก็อตแลนด์’ (The Scottish Question)

ในปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่ผู้เขียนเริ่มเรียนปริญญาโทพอดีนั้น รัฐบาลสก็อตจัดให้มีการลงประชามติว่าสก็อตแลนด์จะแยกออกจากสหราชอาณาจักรหรือไม่ สมมติฐานแรกของผู้เขียนคือฝ่ายซ้าย (ตามความเข้าใจอันตกๆ หล่นๆ ของผู้เขียนในขณะนั้น) น่าจะสนับสนุนการเป็นเอกราช (pro-independence) โดยยึดหลักเรื่องสิทธิการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง (self-determination) ของแต่ละชุมชนการเมือง อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่คิดเช่นนั้นและคนที่ดูจะอึดอัดใจกับฝ่ายซ้ายทางใต้มากที่สุด ก็หนีไม่พ้นเพื่อนร่วมชั้นของผู้เขียน ซึ่งเป็นชาวสก็อตผู้เดียวในคลาส

เพื่อนชาวสก็อตเปิดตัวกลางวงสนทนาเหนือแก้วเบียร์ในผับของสหภาพนักศึกษาว่าเคยเป็น Maoist (ซึ่งทำให้ผู้เขียนเลิกคิ้วแรงจนเครื่องสำอางแทบหลุด แต่ตอนนั้นยังไม่สนิทพอจะถามต่อว่าเขาหมายความว่าอย่างไร) แต่ตอนนี้งานหลักคือร่วมรณรงค์กับแคมเปญกลุ่ม Yes Scotland ซึ่งเป็นแคมเปญหลักที่สนับสนุนให้สก็อตแลนด์แยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร

บางคนอาจเคยได้ยินว่าคนที่มาจากสหราชอาณาจักรดูจะหมกมุ่นกับประวัติครอบครัว ถ้าคุณไปเรียนมหาวิทยาลัยเก่าแก่แบบออกซ์ฟอร์ดหรือเคมบริดจ์ บทสนทนาว่าด้วยวงศาคณาญาติครอบครัวของอาจเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความน่าสนใจของ ‘ฝ่ายซ้าย’ ในไบรท์ตัน (อย่างน้อยก็เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสรู้จัก) ก็คือทุกคนล้วนภูมิใจนำเสนอความเป็นครอบครัวชนชั้นแรงงานของตนเอง แน่นอนว่า เพื่อนชาวสก็อตผู้นี้ก็เช่นกัน   

ต้องสารภาพว่า ผู้เขียนแอบสงสัยอยู่ในใจเหมือนกัน เนื่องจากมโนภาพความเป็นชนชั้นแรงงานที่ผู้เขียนมีนั้นห่างไกลจากความเป็นไปได้ที่จะมาเรียนต่อสาขาปรัชญาในระดับปริญญาโท พูดอย่างง่ายที่สุดก็คือ ความคิดแรกที่ผ่านเข้ามาในหัวตอนเพื่อนร่วมชั้นตรงหน้าบอกว่าตนเองมาจาก working class background คือ “คุณไม่เห็นดูจนเลย” (ฮ่า) กระนั้น เพื่อนสก็อตคนนี้ก็ยืนยันว่าตนเองมาจากครอบครัวชนชั้นแรงงานในเอดินบะระและพูดจาด้วยสำเนียงนุ่มหู (เช่น คำว่า about จะออกพยางค์หลังใกล้กับสระอูมากกว่าสระอา)

ดีเบตเกิดขึ้นทันทีเมื่อเพื่อนชาวอังกฤษคนอื่นๆ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคแรงงานดูจะมีท่าทีตั้งคำถามต่อประโยชน์ที่ทั้งสก็อตแลนด์และอังกฤษจะได้รับหากสก็อตแลนด์จะแยกออกไปเป็นประเทศจริงๆ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หากสก็อตแลนด์เป็นเอกราชแล้ว แต่ไม่ได้การรับรองให้เป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้ากับ EU แบบที่สหราชอาณาจักรเป็น (ใช่แล้ว ตอนปี 2014 ไม่มีใครคิดฝันว่า Brexit จะเกิดขึ้น) เศรษฐกิจของสก็อตแลนด์ซึ่งลุ่มๆ ดอนๆ อยู่แล้วอาจจะพังทลายลง เพื่อนชาวสก็อตยืนยันว่าการได้ปกครองตนเองโดยปราศจากการครอบงำจากเวสมินสเตอร์ และเป็นหนทางเดียวที่สก็อตแลนด์จะได้ลืมตาอ้าปากหลังจากต้องเป็นส่วนที่ถูกลืมของสหราชอาณาจักรมาหลายร้อยปี (ถึงตรงนี้เพื่อนชาวอังกฤษพูดอุบอิบว่า นี่เป็นการครอบงำที่ราคาแพงมากและอังกฤษก็ขาดทุน)

ในขณะที่บทสนทนากำลังออกรสชาติไม่แพ้เบียร์ในมือ โทรทัศน์บังเอิญถ่ายทอดบทสัมภาษณ์ของโทนี แบลร์ต่อเรื่องประเด็นเรื่องเอกราชสก็อตแลนด์พอดีและแบลร์ยืนยันว่า “Independence is not in Scotland’s interest” เพื่อนชาวสก็อตหันขวับไปทางจอด้วยความแค้นแล้วตะโกนพร้อมแก้วเบียร์ในมือว่า “Go back to your shadow!” ด้วยสำเนียงเอดินบะระ

ทันใดนั้นเอง ชาวฝ่ายซ้ายทั้งผับร้องเฮด้วยความสะใจ

ดูเหมือนว่าแม้ว่าฝ่ายซ้ายเฉดต่างๆ จะเห็นไม่ตรงกันเรื่องเอกราชสก็อตแลนด์ แต่ความแค้นต่อแบลร์ ผู้ซึ่งถูกตราหน้าว่านำสหราชอาณาจักรเข้าร่วมสงครามอิรักโดยไม่ได้รับการยินยอมจากสภาและทรยศชาวสังคมนิยมและสหภาพในพรรคแรงงาน ดูจะแข็งแกร่งกว่าการเมืองว่าด้วยอัตลักษณ์


อย่างน้อยก็ในปี 2014


[1] “If you tipped England up, everything loose would roll down here” Woodrow Phoenix’s graphic short story The End Of The Line (2005)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save