fbpx
Music & Lyrics & Politics

Music & Lyrics & Politics

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

 

กุซเซปเป้ เวอร์ดี (Giuseppe Verdi) วาทยากรและนักแต่งเพลงโอเปร่าชาวออสเตรีย เปิดการแสดงอุปรากรรอบปฐมทัศน์ในปี 1884 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่อิตาลีนำโดยนโปเลียนเข้ามาปกครองออสเตรีย ได้สักราว 30 ปี (นโปเลียนยึดออสเตรียได้ในปี 1815) และพูดได้ว่าชาวออสเตรียน ก็ไม่แฮปปี้นักกับการเข้ามาของอิตาลี เพราะนอกจากการสูญเสียอิสรภาพและความยิ่งใหญ่ของแคว้นที่เคยเป็นผู้นำในยุโรปแล้ว ออสเตรียยังต้องสูญเสียทรัพย์และต้องส่งลูกหลานของตัวเองไปช่วยอิตาลีรบกับฝรั่งเศส

เวอร์ดีเองก็ไม่ค่อยพอใจนัก เขาจึงใช้ช่วงเวลาที่เปิดการแสดงของตัวเอง ให้คอรัสที่เป็นทาสชาวฮีบรูขึ้นไปร้องต่อหน้าคนอิตาเลียน นัยว่าเป็นการดูถูก เหยียดหยามและแสดงถึงความกระด้างกระเดื่องผ่าน ‘ดนตรี’ ที่ดูเหมือนจะแสนไพเราะ

เป็นตัวอย่างเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ ที่ดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองนะครับ

จริงๆ ต้องเรียกว่าดนตรีกับการเมืองเป็นทั้ง ‘คู่กัด’ และ ‘คู่กัน’ มาตลอด เรียกว่าเป็นสีสันของโลกใบนี้ก็ว่าได้ และก็น่าแปลกที่ชนชั้นปกครองและนักการเมืองมักหวาดกลัวกับสีสันดนตรีเช่นนี้

ในชีวิตการทำงานเป็นกองบรรณาธิการของผม คอลัมน์ที่ผมชอบเขียนมาก และมักจะลงมือเขียนเป็นคอลัมน์แรกๆ ในแต่ละเดือนก็คือคอลัมน์ดนตรีนี่แหละ เพราะไม่ว่าจะยุคไหน ไม่ว่าเราจะเสพดนตรีโดยใช้แพลตฟอร์มไหนก็ตาม ดนตรีคือสิ่งที่เข้าถึงจิตใจวัยรุ่นได้ดีที่สุด ในช่วงวัยหนุ่มของผม การไล่ล่าฟังเพลง ไปดูคอนเสิร์ต ตามสะสมซื้ออัลบั้มอย่างบ้าคลั่ง เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลมากกว่าการเก็บเงินหรือเอาไปเล่นหุ้นแบบที่เด็กหนุ่มสมัยนี้เขาทำกัน ความลุ่มหลงนี้ก็ยังอยู่นะครับ แต่ลดข้อลงไปมากเพราะครอบครัวรุมประณาม และไม่มีที่เก็บแล้ว  

ด้วยเหตุผลนี้ ดนตรีจึงเป็นเครื่องมือที่ดีเสมอในการดึงดูดความสนใจ ผมมีอีกตัวอย่างหนึ่งที่เรียกว่าเป็นความสำเร็จของวงการ วงนี้ไม่ได้รางวัลแกรมมี่ แต่ได้พื้นที่สื่อและใจคนไปเต็มๆ

นั่นคือข่าวของวงดนตรีชื่อ Pussy Riot ในปี 2012  เป็นวงหญิงล้วน ประกอบด้วยสมาชิกสามคนที่ไม่เปิดเผยหน้า (ซึ่งจริงๆ วงนี้มีสมาชิกมากกว่าสิบคน แต่สลับกันออกมาแสดง) Pussy Riot ตั้งขึ้นมาด้วยจุดประสงค์เพื่อต่อต้านวลาดิเมียร์ ปูติน  พวกเธอทั้งแต่งเพลง ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ โพสต์ลงในอินเทอร์เน็ตเพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านปูตินและผู้ที่ ‘เป็นพวก’ เดียวกับปูติน ที่ดังสุดก็เห็นจะเป็นกรณีที่ Pussy Riot ไปแสดงบนโบสถ์  Cathedal of Christ เพื่อประท้วงที่ผู้นำของโบสถ์ให้การสนับสนุนปูติน จนกระทั่งสมาชิกวงส่วนหนึ่งถูกจับข้อหาก่อกวน แต่พวกเธอก็ทำแบบนี้มาเรื่อยๆ เรียกว่าทั้งปี 2012 ก็ว่าได้

ข่าวของ Pussy Riot ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะเป็นวงหญิงล้วนที่กล้าลุกขึ้นมาต่อกรกับผู้นำประเทศที่ได้ชื่อว่าใจเด็ด เผ็ดพริกสามเม็ดอย่างวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งสามารถสั่งฆ่าสายลับของตัวเองได้ แต่ไม่สามารถทำอะไรสาวๆ Pussy Riot ได้

ปีนั้นสื่อมวลชนต่างคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า พวกเธอเป็นใครกันบ้าง ทำงานอะไร มีชีวิตปกติแบบไหน เพราะสาวๆ เหล่านี้เคลื่อนไหวโดยไม่เปิดเผยหน้าตาของตัวเอง แต่ก็เดากันว่าน่าจะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20-30 ปี และอาจได้เงินสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่ายเพื่อเคลื่อนไหว

ปรากฏการณ์แบบนี้อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาในอเมริกาหรือยุโรป แต่สำหรับประเทศที่มีความเผด็จการอยู่หน่อยๆ (จริงๆ ก็ไม่หน่อย) และมีผู้นำที่มีภาพลักษณ์ที่มีความเป็นชายมากๆ แบบโชว์แผงอก ยิงนกตกปลา ทำปฏิทินแจกด้วยแล้ว การกระทำของผู้หญิงวัยรุ่นกลุ่มนี้จึงสุ่มเสี่ยงต่อการ ‘โดน’ อะไรสักอย่าง

แต่ความเคลื่อนไหวนี้ ได้รับความสนใจอย่างมากและอยู่ภายใต้การจับตามองของทั้งสื่อมวลชน องค์กรระหว่างประเทศ และนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรี การบุ่มบ่ามทำอะไรของปูตินจึงอาจไม่ใช่ผลดีนัก

ดนตรีมักเป็นเครื่องมือชิ้นแรกๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของประชาชนในการต่อกรและต่อรองกับอำนาจที่ใหญ่กว่าพวกเขา นักเคลื่อนไหวรู้ดีว่าพลังของดนตรีนั้นมีผลอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวของประชาชน นักวิชาการบางคนถึงกับพูดว่าโลกใบนี้ไม่ได้เป็นโลกของการ ‘ฟังหรือดู’ เท่านั้น แต่เป็นโลกของการ ‘ได้ยิน’ ในแบบหลากหลายมิติ  หลายอย่างที่เราได้ยิน ไม่จำเป็นต้องจับต้องได้ แต่เป็นส่ิงที่รู้สึกได้ร่วมกัน ซึ่งถ้าอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ก็จะเข้าใจได้เลยว่า ไม่มีศิลปะแขนงไหนที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่าดนตรีอีกแล้ว

และแปลกที่เป็นของสากลนะครับ คือไม่ว่าคนในชาติไหนก็ใช้ดนตรีเป็นตัวขับเคลื่อนทั้งนั้น หลากหลายสำเนียงและทำนองด้วย ทั้งเพลงแบบโฟล์ก เพลงฮิปฮอป เพลงสไตล์ร็อค  หรือว่าจะเป็นเพลงแนวป๊อปก็มี อย่างเดอะบีทเทิลส์ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้อิทธิพลทางดนตรีของเขาเป็นกระบอกเสียงทางการเมือง  

เมื่อเทียบอายุของ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ของไทยกับวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งถือว่าเป็นแม่แบบของนักดนตรีบ้านเรา ถือว่าเรายังเป็นเด็กทารกก็ว่าได้ ยุคเฟื่องฟูของเพลงเพื่อชีวิตของไทยมาถึงเมื่อช่วง 14 ตุลาคม 2516 นี่เอง ฉะนั้นความเข้าใจเรื่องท่าทีและการต่อรองกันระหว่างศิลปิน สังคมและคนระหว่างชนชั้น จึงเป็นเรื่องที่สังคมเราต้องทำความเข้าใจอีกมาก โดยเฉพาะในสังคมที่อยู่กับระบอบอุปถัมภ์มานานและจะยังอยู่ต่อไปอีกนานนนน การเกิดขึ้นของเพลงเพื่อชีวิตจริงๆ อาจไม่เคยเกิดขึ้นเลยก็เป็นได้ อาจเป็นแค่เรื่องที่สุดจะป๊อปและไร้ซึ่งรากเหง้าแก่นสารใดๆ เพราะเพลงเหล่านั้นอาจไม่ได้เกิดจากการกดขี่ แต่เป็นแค่กระแสของวัฒนธรรมที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป  กลับกัน หากมองวัฒนธรรมเพลงฮิปฮอปในสหรัฐอเมริกาซึ่งแม้ว่าจะดูสุดป๊อป แต่เมื่อมองภาพรวมของสังคมและวัฒนธรรมแล้ว กลับลึกซึ้งกว่ามาก

เขาถึงบอกไงครับว่าฟังเพลงอย่าเอาแต่ฟัง ให้ได้ยินเข้าไปถึงข้างใน แล้วจะเข้าใจว่า เพลงบางเพลงฉันชื่นชม ฟังภิรมย์พอใจ

แต่ฟังเพลงบางเพลงฉันร้องให้ เพราะทำใจตามเพลง

 

อ้างอิง

http://www.oxfordhandbooks.com

www.latimes.com

www.infoplease.com

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save