fbpx
มุนินทร์ พงศาปาน: นักกฎหมายต้องลั่นระฆัง เมื่อความยุติธรรมถูกล้ำเส้น

มุนินทร์ พงศาปาน: นักกฎหมายต้องลั่นระฆัง เมื่อความยุติธรรมถูกล้ำเส้น

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ชุติกาญจน์ บุญสุทธิ ภาพ

เมื่อ ‘กฎหมาย’ มีขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมของมนุษย์ ‘นักกฎหมาย’ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจมนุษย์ สังคม และโลก และเป็นไปไม่ได้ที่ ‘การศึกษากฎหมาย’ จะตัดขาดจากความเป็นไปของสังคม

ขณะที่กฎหมายควรทำหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมแก่สังคม แต่เป็นความท้าทายของการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในยุคปัจจุบัน เมื่อกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจทางการเมือง ถูกฉวยใช้ละเมิดสิทธิของประชาชน และเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม

อีกด้านหนึ่ง ผู้เรียนกฎหมาย ซึ่งเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาแบบท่องจำ หลังพ้นไปจากการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อเข้าสู่การสอบแข่งขันระดับวิชาชีพ อาจไม่ได้ผ่านการฝึกฝนเชิงประสบการณ์วิชาชีพอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะเส้นทางการสอบผู้พิพากษาที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นระบบที่ทำให้ได้ผู้พิพากษาอายุน้อยที่อาจมีประสบการณ์ไม่มากนัก

ทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทย นำไปสู่คำถามที่ว่า ระบบการศึกษากฎหมายแบบใดที่จะทำให้นักกฎหมายไม่เป็นเพียงนักเทคนิค แต่มีความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมและความเป็นธรรม

เป็นคำถามสำคัญสำหรับ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ในฐานะคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ยืนยันความสำคัญของการสร้างจิตสำนึกเรื่องความเป็นธรรมให้แก่นักศึกษา ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการให้ความรู้ทางทฤษฎี

ดังที่เขาและคณาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ในกรณีต่างๆ เช่น กรณียุบพรรคอนาคตใหม่, กรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และ กรณีคำสั่งไม่ฟ้องวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มีการพูดถึงเรื่องความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคมอย่างกว้างขวาง จึงเป็นหน้าที่ของอาจารย์นิติศาสตร์ที่จะต้องลั่นระฆังเพื่อยืนยันถึงหลักการทางกฎหมาย

มุนินทร์ พงศาปาน

ในฐานะอาจารย์สอนกฎหมายและสถาบันการศึกษาด้านกฎหมาย การส่งเสียงทักท้วงประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวกับหลักการทางกฎหมายมีความจำเป็นและสำคัญอย่างไร

บทบาทหลักของอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยคือการสร้างนักกฎหมาย และเป้าหมายของนักกฎหมายคือการสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม แต่สังคมที่นักกฎหมายจะทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้นั้นต้องเป็นสังคมที่เป็นนิติรัฐเท่านั้น

เวลาอาจารย์สอนนักศึกษา เราจะพูดถึงเรื่องหลักนิติรัฐ เราพูดถึงเรื่องความไม่เป็นธรรม หลายตัวอย่างที่หยิบยกเกิดขึ้นในต่างประเทศ พอเกิดสถานการณ์ในประเทศไทยบ้าง อาจารย์มีหน้าที่ต้องแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องเหล่านั้นภายใต้หลักการที่เราพร่ำสอน ถ้าเราวิจารณ์ได้แค่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่กลับนิ่งเฉย ไม่พูดอะไรเลยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าละอาย

เดี๋ยวนี้เราเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย มีนักศึกษาและคนรุ่นใหม่จำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เขาคิดว่าเป็นความอยุติธรรมหรือขัดต่อหลักนิติรัฐ นักศึกษากฎหมายจำนวนมากเอาหลักวิชาที่เรียนมาจากห้องเรียนหรือจากหนังสือตำราไปปรับใช้และแสดงความคิดทางกฎหมายว่ามันไม่ถูกต้องตามหลักการอย่างไร แล้วถ้าอาจารย์ที่สอนเขานั่งดูอยู่เฉยๆ โดยไม่พูดอะไรเลย ต่อไปคงต้องให้นักศึกษามาสอนอาจารย์แทน (ยิ้ม)

เราไม่ได้บังคับให้นักศึกษาต้องคิดหรือเชื่อเหมือนเรา แต่อาจารย์ต้องสามารถนำหลักการที่สอนมาปรับใช้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมได้และแสดงความคิดเห็นอย่างซื่อตรงต่อหลักวิชา นักศึกษาที่ฟังเราจะได้ไม่รู้สึกว่าอาจารย์สอนแต่เพียงตัวอย่างสมมติหรือไกลตัว แต่อาจารย์มีความกล้าหาญที่จะพิทักษ์หลักการที่ตัวเองเชื่อ ถ้าอาจารย์นิ่งเงียบ นักศึกษาคงผิดหวัง

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องการทำเพื่อเอาอกเอาใจนักศึกษา ผมคิดว่ามันคือการแสดงให้นักศึกษาเห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าอาจารย์สอนกฎหมายก็มีเป้าหมายร่วมกันกับนักศึกษากฎหมาย คือ การสร้างสังคมที่เป็นธรรม

ยุค คสช. มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือหลายรูปแบบ คสช. ก็ย้ำเสมอว่าให้เคารพกฎหมาย จนมักมีคนพูดว่า การเรียนการสอนนิติศาสตร์ในยุคนี้น่าจะยากลำบาก เพราะมีการทำลายหลักการหรือสร้างบรรทัดฐานใหม่ในคดีทางการเมืองที่สำคัญ ในหมู่อาจารย์กฎหมายมีการพูดคุยเรื่องนี้กันไหม

มันเป็นธรรมชาติของการเมือง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ใครก็ตามที่ลงไปเล่นการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองอาชีพ ทหาร หรือข้าราชการ ก็มีแนวโน้มที่จะช่วงชิงอำนาจทางการเมืองโดยวิธีการที่แตกต่างหลากหลาย เราจะเห็นความพยายามรักษาอำนาจของตัวเองให้ยาวนานที่สุด และเครื่องมือที่สำคัญคือกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบทางการเมืองหรือเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง

จึงเป็นหน้าที่ของคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกฎหมายและนักวิชาการที่จะต้องตีระฆังบอกคนในสังคมว่าเรื่องไหนรัฐบาลกำลังล้ำเส้น การส่งสัญญาณเตือนสังคมมีมาทุกยุคสมัย บางเรื่องในอดีตที่เราเคยคิดกันว่าเลวร้ายและน่ากังวลแล้ว ในยุคต่อๆ มามันอาจจะเลวร้ายและน่ากังวลกว่านั้นอีก

‘ล้ำเส้น’ ที่ว่าหมายถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอด เพียงแต่จะมากหรือน้อยแค่ไหน

อาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์) เพิ่งให้สัมภาษณ์ว่ายุคสมัยนี้เป็นยุคที่น่ากลัวและมืดมิดมากกว่าสิบกว่าปีที่แล้ว แต่ในความมืดมิดเราก็ยังได้ยินเสียงอื้ออึง เราจะยอมเดินอยู่ในความมืดมิดตลอดไป หรืออยากเห็นแสงสว่าง เป็นเรื่องที่เราต้องเลือก ต้องตัดสินใจ

มุนินทร์ พงศาปาน

ในภาวะที่กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือ จนประชาชนเกิดความกลัวว่ากระบวนการยุติธรรมจะไม่สามารถอำนวยความเป็นธรรมได้ สถาบันการศึกษาทางกฎหมายจะสามารถทำอะไรได้บ้าง และในขณะเดียวกันอาจารย์สอนกฎหมายจากหลากหลายสถาบันก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือนั้นด้วย

ก่อนอื่นเราต้องแยกระหว่างคนที่เข้าไปทำงานในบทบาทหน้าที่ต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ กับคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการบิดเบือนกฎหมายหรือกระบวนยุติธรรมเพื่อเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมไม่เคยคิดตำหนิคนกลุ่มแรก ผมเชื่อว่าข้าราชการ พนักงานของรัฐ หรือแม้แต่ลูกจ้างทั้งหลายก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกของฝ่ายบริหาร ที่ไม่ว่าใครจะเข้ามามีอำนาจรัฐ ภารกิจพื้นฐานเหล่านี้ก็ต้องดำเนินต่อไป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็เป็นกลไกของฝ่ายบริหาร การปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในแง่มุมหนึ่งก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางบริหาร อาจารย์คงไม่หยุดสอน เพื่อประท้วงรัฐบาลเผด็จการ

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏในสื่อเมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์วรเจตน์ปฏิเสธการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพราะเหตุผลที่ท่านไม่อาจจะทำงานร่วมกับประธานกรรมการได้ แต่ไม่ใช่เพราะท่านปฏิเสธความชอบธรรมของคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้แต่งตั้งท่าน ที่กล่าวมาทั้งหมดเพื่อจะบอกว่า การที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนในองค์กรหรือกระบวนการต่างๆ ซึ่งเป็นกลไกทางบริหารของรัฐบาล แม้รัฐบาลนั้นจะถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการหรือขาดความชอบธรรม ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือเรื่องที่ควรตำหนิโดยตัวมันเอง แต่เราควรตำหนิอาจารย์ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการสนองความต้องการทางการเมืองของนักการเมืองโดยบิดเบือนกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม หรือทำลายหลักวิชาที่ตัวเองพร่ำสอนในห้องเรียน

ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า ผมคิดว่าหน้าที่ของอาจารย์สอนกฎหมาย คือ การลั่นระฆังให้สังคมรู้ว่าเมื่อใดกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมกำลังถูกละเมิดหรือถูกบิดเบือน การส่งสัญญาณ การพูดการเตือนสังคมเป็นการแสดงให้นักศึกษากฎหมายเห็นอยู่ในตัวเองว่าอาจารย์ได้ปรับใช้หลักการทางกฎหมายที่อาจารย์พร่ำสอนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่เป็นเพียงทฤษฎีที่พูดลอยๆ ในห้องเรียนเท่านั้น

เรื่องความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าคือความเป็นอิสระที่แยกขาดออกจากประชาชน และปราศจากความรับผิดรับชอบ อาจารย์เห็นว่าอย่างไร

ผมเพิ่งถามคำถามนี้กับนักศึกษาในห้องเรียนว่า ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ศาลควรมีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนหรือไม่ แน่นอนว่าคงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ผู้พิพากษาจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่คำถามคือผู้แทนของประชาชนควรมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้พิพากษาหรือไม่ ผมอยากเปรียบเทียบกับระบบของต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และอังกฤษ เพื่อให้เห็นภาพระบบของไทยอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในสหรัฐอเมริกา ระบบกฎหมายทั้งในระดับสหพันธรัฐและมลรัฐในภาพรวม กำหนดให้ฝ่ายบริหารมีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษาในเกือบทุกชั้นศาล ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาก็ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีและสามารถดำรงตำแหน่งไปได้จนตาย การที่การเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษา ทำให้ผู้พิพากษากลายเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองหรืออุดมคติทางการเมืองบางอย่าง ทั้งที่หลักสากลของการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาคือความเป็นกลาง เพราะฉะนั้นความมั่นคงขององค์กรตุลาการในสหรัฐอเมริกาขึ้นอยู่กับจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมของนักการเมือง และ integrity ของผู้พิพากษาเอง ซึ่งในขณะนี้เห็นได้ชัดว่าระบบศาลและกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกามีปัญหามาก เพราะนักการเมืองพยายามใช้ศาลและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง และยิ่งนักการเมืองมีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาด้วย เป็นเรื่องที่เป็นอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง

ในขณะที่เยอรมนี แม้จะมีโครงสร้างรัฐแบบสหพันธรัฐและมลรัฐในลักษณะที่ใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา และกฎหมายก็ให้อำนาจนักการเมืองมีส่วนในการคัดเลือกผู้พิพากษาในระดับต่างๆ แต่กระบวนการคัดเลือกโปร่งใสกว่าของสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏปัญหาร้ายแรงของการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของฝ่ายการเมืองในเยอรมนีมากนัก อาจเป็นเพราะนักการเมืองเยอรมันมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมสูง และผู้พิพากษาเยอรมันสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นธรรมและเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง

ระบบการคัดเลือกผู้พิพากษาในอังกฤษ ใช้ระบบสรรหาโดยคณะกรรมการอิสระ คณะกรรมการเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง ซึ่งจะมีบทบาทในเชิงพิธีการเท่านั้น กระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษาจะโปร่งใสและเป็นอิสระ แม้กระทั่งกระบวนการสรรหากรรมการคัดเลือกก็ค่อนข้างโปร่งใสและเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง กระบวนการเหล่านี้สะท้อนประวัติศาสตร์ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการซึ่งสืบต่อกันมาหลายร้อยปีในอังกฤษ จนพัฒนากลายเป็นหลักการที่มั่นคงว่า ถ้าผู้พิพากษาเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองได้ในทุกกระบวนการตั้งแต่การแต่งตั้งจนถึงการปฏิบัติหน้าที่ ศาลก็จะสามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริง

จะเห็นได้ว่าระบบการคัดเลือกผู้พิพากษาที่นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องอาศัยจิตสำนึกที่สูงส่งของนักการเมือง มิฉะนั้นแล้วกระบวนการยุติธรรมก็จะถูกบิดเบือนและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ง่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สำหรับประเทศไทยของเรา มีศาลอยู่ 3 ศาล คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ เรามีระบบที่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามามีส่วนร่วมกับการคัดเลือกแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งระบบนี้เราเอาต้นแบบมาจากภาคพื้นยุโรป ผมตั้งคำถามว่าคนในสังคมพอใจกับระบบการมีส่วนร่วมของฝ่ายการเมืองแบบนี้เพียงใด และสังคมไทยมีความพร้อมจริงๆ หรือไม่ที่จะให้นักการเมืองมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้พิพากษาที่จะมากำหนดชะตาชีวิตของคนในสังคม ถ้าพิจารณาสิ่งที่เป็นอยู่ในกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง หรือแม้แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ผมหรือแม้แต่หลายๆ คนในแวดวงกฎหมายคงต้องยอมรับว่า กระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมน่าจะเหมาะสมที่สุดกับสังคมไทยในเวลานี้ แม้ว่ามีหลายเรื่องที่เราอยากให้มีการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นในอนาคต

ระบบที่เป็นอยู่ของศาลยุติธรรมในตอนนี้คือการคัดเลือกโดยวิธีสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ ผู้ที่มีอายุขั้นต่ำ 25 ปี และมีคุณสมบัติครบถ้วนก็สามารถสมัครได้แล้ว ระบบความก้าวหน้าก็ขึ้นอยู่กับผลสอบผู้พิพากษาเป็นหลัก ใครที่สอบได้ที่หนึ่งตอนอายุ 25 ปี และไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยก็จะได้เป็นประธานศาลฎีกาในอนาคต ส่วนคนอายุน้อยที่สอบได้คะแนนสูงในลำดับถัดมา ก็จะได้ดำรงตำแหน่งสูงรองลงมา คำถามว่าระบบแบบนี้แปลกประหลาดหรือไม่ คำตอบคืออาจจะฟังดูแปลกประหลาด แต่ถ้านึกถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ทั้งสภาพทางการเมือง และระบบอุปถัมภ์ค้ำจุนกันจนไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ผมคิดว่าระบบการคัดเลือกของศาลยุติธรรมคือระบบที่โปร่งใส เป็นธรรมและน่าจะเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนที่เหมาะสมกับสังคมไทยที่สุดแล้วในขณะนี้ ผมเชื่อว่าภารกิจของศาลคือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยการตัดสินคดีอย่างเป็นธรรม ความเชื่อมโยงระหว่างศาลกับประชาชนในเชิงรูปแบบเป็นเพียงแค่เปลือกที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรในระบอบประชาธิปไตย ตราบเท่าที่ศาลยังคงปฏิบัติภารกิจของตนได้อย่างถูกต้องครบถ้วน

ในอนาคตเมื่อสภาพบ้านเมืองพร้อมกว่านี้ มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งกว่านี้ มีฝ่ายการเมืองที่มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมและไม่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ผมเชื่อว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการสรรหาผู้พิพากษาและตุลาการได้

มุนินทร์ พงศาปาน

ตอนนี้เวลาประชาชนจะพูดถึงคำพิพากษาก็มีความรู้สึกหวาดกลัว มีเงื่อนไขที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าแตะต้องไม่ได้

ถ้ามองภาพรวมทั่วโลก การทำหน้าที่ของผู้พิพากษาได้รับความคุ้มครองจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความไม่เป็นธรรมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และผมเห็นด้วยว่าศาลต้องได้รับความคุ้มครองในระดับหนึ่ง ถ้าปล่อยให้คนกล่าวหาศาลอย่างเลื่อนลอยว่าไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีซึ่งแทบจะไม่โอกาสมาแก้ตัวหรือแก้ต่าง ก็จะรู้สึกอึดอัดในการทำหน้าที่และผู้คนก็จะขาดความเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามกระบวนการยุติธรรมต้องเปิดโอกาสให้คนตรวจสอบได้อย่างจริงจังโดยกระบวนการร้องเรียนหรือกล่าวหาอย่างเป็นทางการ ซึ่งระบบบ้านเราก็มีอยู่แล้ว หรือการโต้แย้งการให้เหตุผลทางกฎหมายในคำพิพากษาว่าถูกต้องตามหลักการหรือหลักวิชาหรือไม่ ควรสามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เลย คำพิพากษาของศาลยุติธรรมก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางวิชาการมาอย่างช้านาน ซึ่งศาลท่านก็ยอมรับได้

ความคุ้มครองของศาลควรขึ้นอยู่กับประเภทของคดีด้วย ถ้าเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาซึ่งปกติจะมีข้อพิพาทที่ส่งผลกระทบเฉพาะคู่กรณี เมื่อศาลตัดสินโอกาสที่จะก่อให้เกิดข้อโต้แย้งน้อยกว่าคดีที่ตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องของมหาชนหรือเรื่องทางการเมืองแท้ๆ เป็นธรรมชาติที่คดีทางการเมืองหรือคดีที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะจะก่อให้เกิดกระแสสังคมได้มากกว่าคดีส่วนตัว เราจึงควรยอมรับความจริงในข้อนี้ และไม่ควรปิดกั้นความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อคำตัดสินที่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

อยากทราบความเห็นของอาจารย์เรื่องการสอบคัดเลือกผู้พิพากษาที่มีข้อวิจารณ์ว่าอาจทำให้ได้คนที่มีประสบการณ์ไม่มากนัก หรือคนที่เรียนจบปริญญาโทเมืองนอกสองใบดูจะมีอภิสิทธิ์มากกว่า

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อระบบการสอบคัดเลือกผู้พิพากษาไม่ใช่ปัญหาขององค์กรวิชาชีพเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาของการจัดการศึกษาวิชานิติศาสตร์ในประเทศไทยทั้งระบบ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่มหาวิทยาลัย การฝึกปฏิบัติทางกฎหมาย การสอบเพื่อให้ได้คุณวุฒิในทางวิชาชีพ และการสอบคัดเลือกเข้าสู่วิชาชีพ

ที่มหาวิทยาลัย ปัญหาที่เราเจอคือระบบการเรียนการสอนที่เน้นการป้อนมากกว่าการฝึกให้นักศึกษาคิดและถกเถียง ผมคิดว่าการป้อนความรู้ให้นักศึกษาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยนักศึกษาเข้าเรียนโดยไม่ได้อ่านหนังสือมาก่อน มาฟังอาจารย์พูด และไม่ค่อยตอบหรือมีส่วนร่วม ไม่ว่าเป็นเพราะไม่มีอะไรจะตอบหรือกลัวเพื่อนจะล้อ ซึ่งจะต่างการศึกษากฎหมายในต่างประเทศที่นักศึกษาต้องเตรียมตัวอ่านมาพอสมควร เข้ามาเรียนในห้องทุกคนต้องพร้อมที่จะตอบคำถาม การวัดผลในมหาวิทยาลัยบ้านเรา อาจารย์บางท่านยังเน้นธงคำตอบหรืออิงคำตอบกับคำพิพากษาฎีกา ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเพราะความสะดวกในการตรวจหรือเตรียมนักศึกษาไปสอบในทางวิชาชีพก็แล้วแต่ แต่เป็นการปิดกั้นจินตนาการของนักศึกษาและทำลายโอกาสของนักศึกษาในการฝึกให้มีหัวกฎหมาย นอกจากนี้ถ้ามหาวิทยาลัยมีอาจารย์ประจำน้อย การเรียนแบบสัมมนาที่กระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ก็เกิดขึ้นได้ยากมาก

พอนักศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยไปเรียนเนติฯ เพื่อสอบเป็นเนติบัณฑิต ระบบบ้านเราก็ไม่เหมือนใครเลย ตอนเริ่มก่อตั้งสำนักอบรมของเนติฯ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อยากให้เป็นระบบเนติฯ แบบอังกฤษ คือฝึกบัณฑิตกฎหมายในทางปฏิบัติให้พร้อมกับการประกอบวิชาชีพ เวลาผ่านไปก็กลายเป็นโรงเรียนสอนกฎหมายแบบมหาวิทยาลัย คือ สอนทฤษฎีโดยเน้นตัวอย่างการปรับใช้จากคำพิพากษาฎีกา การสอบเนติฯ คือการสอบวัดความสามารถในการปรับใช้หลักการกฎหมาย ข้อสอบส่วนใหญ่เอาข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาฎีกามาผูกกัน ไม่ต่างจากข้อสอบไล่ในมหาวิทยาลัยมากนัก ตอนผมจบธรรมศาสตร์เคยไปลงเรียนและนั่งเรียนอยู่ 2-3 ครั้ง ก็พบว่าสิ่งที่เรียนไม่ได้ต่างอะไรจากที่เรียนมาในมหาวิทยาลัยมากนัก จึงเลิกเรียนไปและไม่เคยสอบเนติฯ เลย

ถ้าผมจะเปรียบเทียบระบบการศึกษากฎหมายของไทยกับของเยอรมนี ซึ่งเป็นต้นแบบในหลายเรื่องให้กฎหมายไทย ระบบของเราก็ไม่เหมือนของเยอรมนีเลย ของเยอรมนีนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในรัฐเดียวกันจะต้องทำข้อสอบกลางที่กำหนดโดยคณะกรรมการของแต่ละรัฐ เรียกว่า state exam 1 ซึ่งเป็นการสอบเพื่อสำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เมื่อสอบผ่านแล้ว ใครจะประกอบวิชาชีพกฎหมายส่วนใหญ่จะต้องผ่านการฝึกปฏิบัติและทดสอบความรู้ทางปฏิบัติที่กำหนดโดยคณะกรรมการระดับรัฐ เรียกว่า state exam 2 เพื่อให้มีคุณสมบัติครบถ้วนในการประกอบวิชาชีพ การสอบครั้งนี้พอเทียบได้กับการสอบเนติฯ ในบ้านเรา การฝึกปฏิบัติก่อนสอบเนติฯ ทำอย่างเข้มข้น ผู้เข้าสอบทุกคนจะต้องไปฝึกงานอย่างจริงจังเป็นเวลาสองปี ต้องฝึกงาน ณ หน่วยงานที่แตกต่างกันเพื่อให้มีทักษะปฏิบัติในสาขาวิชาหลักๆ ของกฎหมายอย่างครบถ้วน ได้แก่  ฝึกกับผู้พิพากษาศาลแพ่ง 3 เดือน ฝึกกับอัยการคดีอาญา 3 เดือน ฝึกงานกับหน่วยงานทางปกครอง 3 เดือน และที่สุดท้ายฝึกงานกับทนายความที่ไหนก็ได้แล้วแต่เลือกเป็นเวลา 9 เดือน หลังจากนั้นต้องเข้าสอบ state exam 2 ซึ่งเป็นการสอบข้อเขียนถึง 11 ครั้ง แต่ข้อสอบจะเน้นทดสอบการปรับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ โดยกำหนดให้ต้องเขียนเอกสารทางกฎหมายประเภทต่างๆ ตามที่ได้ไปฝึกงานมา เช่น คำฟ้องและคำพิพากษา การที่นักกฎหมายเยอรมันต้องฝึกทักษะปฏิบัติและถูกทดสอบความรู้ทฤษฎีและปฏิบัติในทุกสาขาหลักของกฎหมาย ทำให้นักกฎหมายเยอรมันมีความพร้อมที่จะปฏิบัติวิชาชีพในสาขาใดในทางกฎหมายก็ได้

ระบบการศึกษากฎหมายและฝึกวิชาชีพของอังกฤษก็ไม่ต่างกับเยอรมันมากนัก คือ มหาวิทยาลัยสอนทฤษฎี องค์กรวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเนติบัณฑิตยสภาหรือสภาวิชาชีพดูแลเรื่องการฝึกอบรมในทางปฏิบัติ ในขณะที่บ้านเรา มหาวิทยาลัยสอนทฤษฎี สำนักอบรมเนติฯ สอนทฤษฎี ส่วนการฝึกปฏิบัติก็ไปกำหนดกันในโอกาสอื่น เช่น ถ้าใครจะเป็นทนายความว่าคดีถึงค่อยไปฝึกปฏิบัติ หรือใครสอบเป็นผู้พิพากษาและอัยการถึงค่อยกำหนดให้มีประสบการณ์ฝึกปฏิบัติสองปี ซึ่งต้องยอมรับว่าข้อกำหนดเหล่านี้ ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังมีช่องโหว่ ทำให้คนที่ฝึกไม่ได้ฝึกจริงจัง เพียงแค่ได้ลายเซ็นรับรองมาก็มีคุณสมบัติครบแล้ว การสอบเนติฯ หรือแม้แต่การสอบผู้พิพากษาหรืออัยการก็ไม่ได้เน้นวัดความรู้ปฏิบัติเหล่านั้นจริงจัง ยังคงเน้นความสามารถในการปรับใช้กฎหมายในทางทฤษฎีเป็นหลัก

การขาดระบบการฝึกอบรมทางปฏิบัติที่จริงจัง ทำให้สังคมคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยว่าจะต้องสอดแทรกหรือสร้างโอกาสให้นักศึกษากฎหมายฝึกปฏิบัติ ทั้งที่จริงๆ แล้วในต่างประเทศหน้าที่นี้ไม่ได้เป็นของมหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยไทยก็รับไว้ด้วยความยินดี เพราะการทำให้นักศึกษามีความรู้ทางปฏิบัติได้เร็ว ก็ยิ่งเป็นผลดีกับนักศึกษา หรือภาระในการฝึกปฏิบัติก็จะเป็นขององค์กรตุลาการหรือองค์กรอัยการเองในการฝึกอบรมผู้พิพากษาหรืออัยการใหม่

ในภาพรวมการเข้าสู่วิชาชีพกฎหมายในบ้านเรายังเน้นความรู้ความสามารถในทางทฤษฎีอยู่มาก เราน่าจะเสียโอกาสในการเตรียมความพร้อมให้ผู้เข้าสู่วิชาชีพได้มีประสบการณ์ปฏิบัติอย่างจริงจังในชั้นการเรียนเนติบัณฑิตเหมือนเช่นอย่างในเยอรมนีและอังกฤษ ส่วนการสอบผู้พิพากษาและอัยการสนามจิ๋วสำหรับผู้สมัครที่มีวุฒิปริญญาโทต่างประเทศสองใบซึ่งมีอัตราการแข่งขันน้อยมากเมื่อเทียบกับสนามใหญ่ ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของกระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษาและอัยการ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำอย่างมากในทางเศรษฐกิจของคนในสังคม เหตุผลในการต้องการความเชี่ยวชาญกฎหมายเฉพาะทางหรือภาษาต่างประเทศอาจพอฟังได้ แต่วิธีการคัดเลือกที่เป็นอยู่ไม่ได้ตอบโจทย์ข้อนี้แต่อย่างใด เพราะสุดท้ายผู้พิพากษาที่เข้ามาช่องทางนี้ก็ต้องไปคละกับผู้พิพากษาหรืออัยการสนามอื่นๆ และปฏิบัติหน้าที่ทั่วๆ ไปเหมือนกันอยู่ดี ปัญหาการสอบสนามจิ๋ว เราคงจะไม่ได้โทษคนสอบ เพราะเข้าใจที่เขาต้องใช้ทุกโอกาสที่มีอยู่ แต่ผมคิดว่าผู้ที่ควบคุมระบบน่าจะมีวิธีการคัดเลือกผู้พิพากษาที่ดีและชอบธรรมกว่านี้

มุนินทร์ พงศาปาน

ฟังดูยากลำบากมากถ้าจะไปเปลี่ยนระบบ แล้วในห้องเรียนสามารถเพิ่มความรู้เรื่องประสบการณ์การทำงาน สังคม โลก ให้นักศึกษาจบมาไม่เป็นแค่นักเทคนิคได้ไหม

มหาวิทยาลัยมีภารกิจในการวางรากฐานในทางทฤษฎี ส่วนองค์กรวิชาชีพควรมีหน้าที่อบรมในทางปฏิบัติ แต่ถ้าองค์กรวิชาชีพไม่มีการฝึกอบรมทางปฏิบัติอย่างจริงจัง สังคมก็เกิดความคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยจะช่วยเสริมทักษะในทางปฏิบัติให้กับนักศึกษาด้วยตั้งแต่เรียนปริญญาตรี อย่างที่ผมได้พูดไปแล้ว มหาวิทยาลัยเองก็เต็มใจที่จะทำหน้าที่ และเราก็ได้ปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนนี้ของสังคม

ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยนอกจากการวางรากฐานความรู้ในทางทฤษฎีแล้ว กระบวนการบ่มเพาะทัศนคติก็เป็นเรื่องสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องมีส่วนช่วย ทัศนคติที่ว่าคือทัศนคติในการมองสังคมและผู้อื่น การมองเห็นว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและมีภารกิจต่อส่วนรวมที่จะต้องช่วยกันให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุขและเป็นธรรม สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงได้เมื่อแต่ละบุคคลลดละความเห็นแก่ตัวและเคารพสิทธิของผู้อื่น สังคมที่ผู้คนมีทัศนคติเหล่านี้เท่านั้นจึงจะเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้ ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้มีหน้าที่สร้างชุดความคิดหรืออุดมการณ์ทางเมืองแบบใดแบบหนึ่งให้นักศึกษา เราควรปล่อยให้มหาวิทยาลัยเป็นเวทีที่นักศึกษาได้มีโอกาสทดลองในทางความคิดเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือสังคมที่ปกติสุขและเป็นธรรม

ผมคิดว่านักศึกษาธรรมศาสตร์โชคดีที่มีโอกาสได้บ่มเพาะความเข้าใจสังคมและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นแต่แรกเข้าจนจบการศึกษา มหาวิทยาลัยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้การศึกษาแก่ราษฎรที่ด้อยโอกาส มอตโต้ของมหาวิทยาลัย คือ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” รวมถึงกิจกรรมนักศึกษาต่างๆ ที่ส่งเสริมให้นักศึกษาเห็นคุณค่าการเสียสละเพื่อผู้อื่น อุดมการณ์และทัศนคติเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีคำขวัญ แต่ต้องเกิดจากสภาพแวดล้อม ผู้คน และกระบวนการเรียนรู้ต้องดำเนินไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมดจึงจะเป็นจริงได้

เห็นอาจารย์เปรียบเทียบวิชาชีพกฎหมายว่าคล้ายกับวิชาชีพแพทย์ สองสิ่งนี้คล้ายกันอย่างไร

ผมเคยโพสต์บนเฟซบุ๊กเปรียบเทียบวิชาชีพกฎหมายกับวิชาชีพแพทย์ว่าสองวิชาชีพนี้มีความสำคัญกับชีวิตของคนไม่ต่างกัน นักกฎหมายที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักวิชาชีพ ช่วยลูกความในทางที่ผิด หรือลูกความถูกแต่ทำให้ผิด เป็นการฆ่าคนทั้งเป็น คนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากคดีความหรือกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวมีความทุกข์ทรมานใจ ไม่ต่างจากคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการรักษาที่ผิดพลาดของแพทย์

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องน่าวิตกกังวลมากถ้านักกฎหมายไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการทำหน้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของวิชาชีพ การตระหนักในความสำคัญของวิชาชีพกฎหมายควรเกิดขึ้นในทุกส่วนของสังคมแม้แต่ตัวสถาบันการศึกษากฎหมายเอง การเรียนการสอนกฎหมายดูเหมือนจะทำได้ง่าย เรียนที่ไหนก็ได้ แค่มีสมุดและปากกา กระดานและผู้สอน ซึ่งต่างจากการเรียนแพทย์ที่ต้องเรียนหนักและฝึกปฏิบัติอย่างหนัก ยิ่งการสอบเข้าสู่วิชาชีพกฎหมายเน้นการสอบวัดความรู้ทฤษฎีเป็นหลัก ทำให้การเข้าสู่วิชาชีพกฎหมายดูเหมือนง่ายดาย เส้นทางการศึกษากฎหมายและการเข้าสู่วิชาชีพกฎหมายในลักษณะนี้อาจทำให้ตัวผู้ประกอบวิชาชีพมองไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของวิชาชีพตัวเอง และในขณะเดียวกันก็ทำให้สถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษากฎหมายจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และตระหนักถึงอันตรายของการผลิตนักกฎหมายที่ไม่มีคุณภาพออกสู่สังคม

อาจเพราะความตระหนักในความสำคัญของวิชาชีพกฎหมายและอันตรายที่วิชาชีพนี้อาจก่อให้เกิดแก่สังคม ในสหรัฐอเมริกา การศึกษากฎหมายจึงเป็นการศึกษาแบบ postgraduate study คือ ต้องจบปริญญาตรีสาขาอื่นมาก่อน หลักสูตรกฎหมายของอเมริกาจึงเรียกชื่อว่า Juris Doctor (J.D.) จบแล้วเสมือนเป็นดอกเตอร์ในทางกฎหมาย ไม่ต้องเรียนอะไรต่อไปอีกแล้วเพื่อประกอบวิชาชีพในทางกฎหมาย เขามองว่าผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายต้องมีประสบการณ์ชีวิตพอสมควรจึงจะรู้ว่าควรปรับใช้กฎหมายอย่างไรเพื่อให้เกิดความยุติธรรม

ประเทศไทยเราเอาระบบภาคพื้นยุโรปมาใช้ คือ ให้คนเรียนกฎหมายได้ทันทีหลังจบมัธยม เมื่อผู้เรียนยังมีประสบการณ์ชีวิตน้อย มหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทสำคัญมากในการสร้างโอกาสให้เขาเรียนรู้สังคม เรียนรู้ชีวิต ไปพร้อมกับการเรียนรู้หลักทฤษฎีทางกฎหมาย ถ้านักศึกษากฎหมายรู้แต่ตัวบทกฎหมาย แต่ไม่รู้จักสังคมหรือไม่เข้าใจโลก ก็อาจจะใช้กฎหมายให้เป็นธรรมได้ยาก

มุนินทร์ พงศาปาน

เวลาคนพูดเรื่องความอยุติธรรมในสังคมไทย นักกฎหมายหลายท่านจะบอกว่าระบบกฎหมายเราดีอยู่แล้ว แต่อยู่ที่คนใช้ อาจารย์เห็นด้วยไหม

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า ‘ระบบกฎหมาย’ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่หมายถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายนั้น ซึ่งหมายความรวมถึง กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ตัวคนหรือองค์กรที่บังคับใช้กฎหมาย ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย การเรียนการสอนกฎหมาย หรือแม้แต่ตัวคนที่ถูกบังคับใช้ ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนประกอบของระบบกฎหมาย

ระบบกฎหมายที่จะสร้างสังคมที่มีความยุติธรรม ทุกองค์ประกอบจะต้องแข็งแกร่ง การมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ดีอย่างเดียว ไม่อาจสร้างความยุติธรรมขึ้นมาได้ รัฐธรรมนูญของบ้านเราเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ผู้ร่างรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหลายฉบับบอกเสมอว่าเขาเอาหลักกฎหมายที่ดีที่สุดมาจากหลากหลายประเทศ ซึ่งผมก็เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญของเราตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าต่อให้มีหลักกฎหมายดีแค่ไหน ถ้าคนใช้ไม่ดี สภาพแวดล้อมไม่ดี หลักกฎหมายดีก็ไม่มีประโยชน์

ผู้คนในสังคมที่อยู่ภายใต้บังคับใช้ของกฎหมายก็มีส่วนสำคัญ คนทั่วไปต้องช่วยกันบอกว่ากฎหมายไม่ดีหรือการบังคับใช้ไม่เป็นธรรม ถ้าคนนิ่งเฉย ยอมรับความอยุติธรรม ความยุติธรรมก็ไม่มีทางเกิด ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจใช้หรือตีความกฎหมาย ก็ต้องหาทางทำให้กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมไม่มีผลใช้บังคับ หรือตีความให้เกิดความยุติธรรม อาจารย์สอนกฎหมายก็ต้องตีระฆังส่งสัญญาณให้คนในสังคมทราบว่ากฎหมายไม่ดีหรือกระบวนการบังคับใช้มีปัญหา ผมจึงคิดว่าถ้าเราอยากได้ความยุติธรรม ทุกองคาพยพของระบบกฎหมายต้องทำงานไปพร้อมกัน เราจะหวังพึ่งส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้

อังกฤษเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุด ที่แสดงให้เห็นว่าระบบกฎหมายที่ดีไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ดี กฎหมายของอังกฤษหลายเรื่องไม่ได้ถูกบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติซ้ำๆ กันจนกลายเป็นกฎหมาย คนรู้สึกว่าจะทำแตกต่างไปจากสิ่งที่เคยทำไม่ได้ กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มีก็สะเปะสะปะมาก ต้องอาศัยผู้พิพากษาหรืออาจารย์สอนกฎหมายในการอธิบายให้เป็นระบบ แม้กระนั้นสังคมอังกฤษก็ขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมที่มีความยุติธรรม เป็นสังคมที่เป็นนิติรัฐและมีนิติธรรม เพราะทุกองคาพยพของระบบกฎหมายทำงานไปด้วยกันเป็นอย่างดี กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ผู้ประกอบวิชาชีพ โรงเรียนกฎหมาย และผู้คนทั่วไปที่อยู่ภายใต้บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างหลังสำคัญมาก การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายสำคัญๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือทางรัฐธรรมนูญเกิดจากการเรียกร้องของคนในสังคม ความยุติธรรมในสังคมอังกฤษเกิดจากความต้องการของผู้คน เขาไม่นิ่งเฉยต่อความอยุติธรรม ในฐานะนักประวัติศาสตร์กฎหมายที่สังเกตการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายในหลากหลายสังคม ผมได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า ความยุติธรรมต้องเรียกร้องจึงจะได้มา สังคมไหนที่ผู้คนนิ่งเฉย สังคมนั้นมักจะเต็มไปด้วยความอยุติธรรม ประชาธิปไตยก็เช่นกัน

มุนินทร์ พงศาปาน

เวลาคนใช้คำว่า ‘กฎหมายแบบไทยๆ’ หรือ ‘รัฐธรรมนูญแบบไทยๆ’ อาจารย์เห็นอย่างไร เป็นการอธิบายสภาพยกเว้นบางประการว่าสังคมเราไม่ต้องยึดโยงกับคุณค่าสากลบางอย่างหรือเปล่า

ก่อนอื่นเราต้องยอมรับก่อนว่า คำว่า ‘กฎหมายแบบไทยๆ’ หรือ ‘รัฐธรรมนูญแบบไทยๆ’ สามารถคิดได้ในสองด้าน ถ้าคิดในด้านบวก คือ มองในแง่สังคมวิทยากฎหมาย กฎหมายไทยหรือรัฐธรรมนูญแม้จะเอาหลักการมาจากต่างประเทศ สุดท้ายเมื่อรับเข้ามาในสังคมไทย มันก็เกิดเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับสภาพหรือลักษณะของสังคมไทย ตั้งแต่กระบวนการร่างไปจนถึงกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งนักสังคมวิทยากฎหมายเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับกระบวนการรับกฎหมายต่างประเทศในทุกสังคมทั่วโลก เพราะฉะนั้นการเรียก ‘กฎหมายแบบไทย’ หรือ ‘รัฐธรรมนูญแบบไทยๆ’ จึงไม่แปลกอะไร

อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่า คนที่พูดว่า ‘กฎหมายแบบไทยๆ’ หรือ ‘รัฐธรรมนูญแบบไทยๆ’ ไม่น่าจะต้องการสื่อความในด้านบวกเช่นนั้น เขาน่าจะหมายถึงในอีกด้านซึ่งเป็นด้านลบ คือ กฎหมายที่ถูกร่างขึ้นมาหรือถูกบังคับใช้ตามอำเภอใจหรือถูกบิดเบือนเพื่อตอบสนองเป้าหมายบางประการ ซึ่งในแง่นี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก

การที่กฎหมายจะเป็นแบบไทยๆ หรือแบบสากล ทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการบังคับ ขึ้นอยู่กับประเภทกฎหมาย และแม้แต่กฎหมายเดียวกันบางส่วนก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย บางส่วนก็ต้องคงหลักสากลไว้ เช่น รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมหาชนทั้งหลาย การรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานหรือกลไกในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานควรต้องใช้มาตรฐานสากลเท่านั้น คงไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘สิทธิขั้นพื้นฐานและการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานแบบไทยๆ’ เพราะถ้ามีแบบนั้นแสดงว่าผู้ร่างหรือผู้บังคับใช้ตั้งใจจะลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เพราะมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนหรืออยู่ที่ไหน ก็ต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนๆ กัน เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานจึงเป็นหลักกฎหมายสากล แต่ถ้าเราพูดถึงกฎหมายลักษณะครอบครัวและมรดกในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็อาจจะต้องสะท้อนความเป็นไทยอยู่พอสมควร

แม้ว่าเราจะมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้กฎหมายบางส่วนสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของสังคมไทย แต่ความจำเป็นนี้ไม่ควรเป็นข้ออ้างหรือถูกใช้เพื่อลิดรอนสิทธิของประชาชนหรือเป็นเครื่องมือทางการเมือง เฉพาะฉะนั้นเวลามีการบัญญัติกฎหมาย แล้วปรากฏคำว่า ‘ศีลธรรมอันดี’ คำว่า ‘ความสงบเรียบร้อย’ หรือคำว่า ‘ความมั่นคงของรัฐ’ พวกเราต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ในด้านหนึ่ง ถ้อยคำทางกฎหมายที่คลุมเครือเหล่านี้ถูกอ้างว่ามีความจำเป็น เพื่อให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นและสามารถบังคับใช้ได้อย่างยุติธรรมในแต่ละสถานการณ์และสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันให้อำนาจแก่ผู้บังคับใช้หรือตีความอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด หากผู้ใช้หรือผู้ตีความตีความตามอำเภอใจ หรือที่เรียกในแง่ลบว่า ‘ตีความแบบไทยๆ’ ย่อมเป็นอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง

มุนินทร์ พงศาปาน

ในขณะที่องค์กรตุลาการควรเป็นที่พึ่งของประชาชน แต่เวลาเกิดรัฐประหาร ก็มีการรับรองว่าการยึดอำนาจนั้นชอบด้วยกฎหมาย ในมุมมองเชิงนิติศาสตร์ เราสามารถมีเครื่องมือหรือกลไกอะไรเพื่อออกจากวงจรนี้ได้ไหม

ผมพยายามทำความเข้าใจคำพิพากษาของศาลไทยว่าเพราะเหตุผลใดจึงมีการยอมรับความชอบธรรมของคำสั่งคณะปฏิวัติว่าเป็นกฎหมาย อาจจะเป็นเพราะศาลมองว่าในความเป็นจริงคณะปฏิวัติเข้ามามีอำนาจเบ็ดเสร็จ และเพื่อให้กลไกและการทำภารกิจต่างๆ ของรัฐดำเนินต่อไปโดยไม่ก่อให้เกิดข้อยุ่งยากในทางกฎหมาย จึงรับรองให้มีความชอบธรรมทางกฎหมาย และในสภาวะความเป็นจริง ถึงศาลจะรับรองหรือไม่ก็ไม่มีความหมาย เพราะหลายครั้งที่มีการปฏิวัติ ศาลรัฐธรรมนูญถูกยุบ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเก็บของกลับบ้าน เพราะศาลรัฐธรรมนูญถูกยุบ ไม่เคยมีใครต่อต้านขัดขืน

ถ้ามองในแง่ปรัชญากฎหมาย มีนักกฎหมายกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่าพวก positivism หรือสำนักกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งมองว่าสิ่งที่เป็นกฎหมายไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุผลหรือความถูกต้องชอบธรรมตามธรรมชาติ แต่เป็นอำนาจในความเป็นจริง ถ้าคณะปฏิวัติได้อำนาจรัฐมาตามความเป็นจริง เขาก็มีความชอบธรรมที่จะออกกฎหมาย ในสายตาของนักกฎหมายกลุ่มนี้

ผมคิดว่านักกฎหมายส่วนใหญ่น่าจะเห็นตรงกันว่า คำอธิบายของสำนักกฎหมายบ้านเมืองเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะมันขัดแย้งกับสิ่งที่เราร่ำเรียนกันมาในโรงเรียนกฎหมาย ที่เราเสียเวลาเรียนกฎหมายกันตั้งนานเพื่อให้เข้าใจวิธีการใช้และตีความกฎหมายเพราะกฎหมายเป็นเหตุผลที่ซับซ้อน กฎหมายจึงไม่ใช่อำเภอใจของผู้มีอำนาจรัฐ เพราะถ้ากฎหมายเป็นอำเภอใจของผู้มีอำนาจ ก็ไม่มีเหตุผล ความจำเป็นใดๆ ที่ครูและนักเรียนกฎหมายต้องมาสอนและเรียนกฎหมาย ผมจำได้ว่า รองศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์และเป็นผู้สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศงดสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในช่วงที่มีการปฏิวัติรัฐประหารและมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะท่านเห็นว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้นเป็นผลผลิตของการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่ใช่ผลผลิตของเหตุผลทางกฎหมาย

ผมคิดว่าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรใดที่จะป้องกันหรือหยุดยั้งการปฏิวัติรัฐประหารได้ รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับพูดถึงการห้ามล้มล้างรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งเขียนเรื่องห้ามแก้หรือทำให้การแก้ทำได้ยาก แต่รัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกทุกครั้งไปโดยคณะปฏิวัติ อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า การมีระบบกฎหมายที่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมายลายลักษณ์อักษรอย่างเดียว ทุกองค์ประกอบของระบบกฎหมายต้องดีด้วย เช่นเดียวกัน ถ้าเราต้องการระบบกฎหมายที่ปลอดกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจหรือเราต้องการปฏิเสธการปฏิวัติรัฐประหาร ทุกองคาพยพของระบบกฎหมายต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่” กฎหมายลายลักษณ์อักษรต้องเขียนห้าม ศาล นักกฎหมาย อาจารย์สอนกฎหมายต้องประสานเสียงกันว่า “ไม่” และที่สำคัญ ประชาชนต้องแสดงออกว่าไม่ยอมรับการกระทำหรือกฎเกณฑ์ที่ไม่มีความชอบธรรมนั้น

ถ้าทุกองค์ประกอบนิ่งเฉย ต่อให้กฎหมายลายลักษณ์อักษรเขียนห้าม ก็ไม่มีประโยชน์ กฎหมายนั้นถูกฉีกไปก็จบ วงจรเดิมๆ ก็วนกลับมาใหม่ไม่มีทางจบสิ้น

มุนินทร์ พงศาปาน

การรับรองความชอบธรรมด้วยกฎหมายของคณะรัฐประหารหรือการใช้กฎหมายรับรองการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีความเห็นที่บอกว่าประเทศไทยเปลี่ยนจากหลักนิติรัฐที่ควรจะเป็น rule of law กลายเป็น rule by law ไปแล้ว อาจารย์มีความเห็นอย่างไร

อย่างที่เพิ่งบอกไป ถ้าองค์ประกอบต่างๆ ของระบบกฎหมายไม่ทำงาน เวลามีการปฏิวัติรัฐประหาร คณะปฏิวัติก็จะกำจัดกฎหมายที่เป็นอุปสรรคด้วยการฉีกทิ้งง่ายๆ ด้วยการออกคำสั่งสั้นๆ แล้วตรากฎหมายใหม่อย่างรวดเร็วด้วยคำสั่งสั้นๆ หรือกระบวนการนิติบัญญัติที่เขาสร้างขึ้น กฎหมายก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของเขา สังคมในสภาวะเช่นนั้น คือ สังคมที่ถูกปกครองโดยกฎหมาย (rule by law) ไม่ใช่สังคมที่มีนิติธรรม (rule of law) คือ มีกฎหมายที่เป็นธรรมและการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติและไม่เป็นไปตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ สังคมจะเป็น rule by law หรือ rule of law ขึ้นอยู่กับทุกองคาพยพของระบบกฎหมายว่าอยากได้แบบไหน ถ้าเราไม่ต้องการ rule by law เราก็ต้องแสดงออกไปในทางเดียวกันว่า “ไม่เอา”

 

สำหรับอาจารย์ มองเห็นเป้าหมายในการพัฒนาการเรียนการสอนนิติศาสตร์อย่างไร

เป้าหมายหลักของการเรียนการสอนนิติศาสตร์ คือ การสร้างนักกฎหมายออกไปรับใช้สังคมในภาคส่วนต่างๆ ถ้าจะมีการพัฒนาวิชานิติศาสตร์ ก็เพื่อให้กระบวนการสร้างนักกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกวันนี้การเรียนการสอนกฎหมายในบ้านเรายังมีปัญหาหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข แต่มีเรื่องใหญ่อยู่สองเรื่อง

เรื่องแรกผมได้กล่าวไปบ้างแล้ว คือ ความไม่เป็นระบบของการศึกษากฎหมาย การทำงานที่ยังไม่สอดประสานกันระหว่างมหาวิทยาลัยที่สอนทฤษฎีและองค์กรวิชาชีพหรือองค์กรฝึกอบรมในทางวิชาชีพที่มีหน้าที่ฝึกปฏิบัตินักกฎหมาย ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในแนวทางเดียวกับระบบการศึกษาและอบรมในทางกฎหมายในต่างประเทศ เราจะเลือกเป็นแบบอังกฤษหรือเยอรมัน เลือกเอาสักระบบ แต่ขอให้เป็นระบบทั้งการสอนในทางทฤษฎีและการอบรมทางปฏิบัติ อยากให้มีการแยกส่วนกันชัดเจน ทุกวันนี้ระบบของเราเป็นระบบไทยๆ อย่างแท้จริง แต่เป็นไทยๆ ในแง่ลบนะ คือไร้ทิศทาง ผมอยากให้สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาชีพ และหน่วยงานของรัฐบาล เช่น กระทรวงยุติธรรม ได้พูดคุยกันเรื่องนี้อย่างจริงจังและลงมือปฏิรูประบบการศึกษากฎหมายไทยอย่างจริงจังเสียที

ปัญหาใหญ่เรื่องที่สอง คือ กฎเกณฑ์กลางที่ล้าหลังและผิดพลาดที่ใช้ในการกำกับคุณภาพการศึกษาและความก้าวหน้าทางวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย กฎเกณฑ์ของรัฐส่วนใหญ่เกิดจากหลักคิด one size fits all อาจคิดว่าใช้เกณฑ์เดียวกันกับทุกสาขาวิชาและกับทุกสถาบันการศึกษาน่าจะยุติธรรมดี ในความเป็นจริงแต่ละสาขาวิชามีธรรมชาติที่แตกต่างกันมาก แม้ในกลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เองก็แตกต่างกัน และกฎเกณฑ์ส่วนใหญ่เกิดจากฐานคิดในสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งไปไม่ได้กับสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เรื่องนี้ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการหลักสูตร การบริหารจัดการมหาวิทยาลัย เป็นอุปสรรคในการทำงานและความก้าวหน้าทางวิชาการของอาจารย์ ผลสุดท้ายที่กำลังเกิดขึ้นคือไม่ค่อยมีใครอยากเป็นอาจารย์ คนที่อยู่ก็อยากออก ในขณะที่คนใหม่ก็รับเข้ามาไม่ได้

แม้จะมีข้อจำกัดอยู่มากและมีปัญหาใหญ่ๆ ที่รอการแก้ไข การเรียนการสอนกฎหมายในบ้านเราก็ยังพอไปได้อยู่ ผมพอใจในผลผลิตของโรงเรียนกฎหมายในบ้านเรา นักกฎหมายที่เดินออกไปสู่สังคมไม่ได้มีแค่ความรู้กฎหมาย แต่มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม และผมยังมีความหวังอยู่เสมอว่าเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายที่จะช่วยสร้างสังคมที่ยุติธรรม และช่วยประชาชนที่ไม่รู้กฎหมายเรียกร้องความยุติธรรม ผมเชื่อว่าเขาตระหนักดีว่า ความยุติธรรมในสังคมจะไม่เกิด ถ้าเราไม่ช่วยกันเรียกร้อง

มุนินทร์ พงศาปาน

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save