fbpx
“เหมือนเรากลายเป็นคนต่างด้าวบนแผ่นดินเกิดเราเอง” เปิดใจอดีตรัฐมนตรีหญิงอัฟกานิสถาน หลังตาลีบันคืนสู่อำนาจ

“เหมือนเรากลายเป็นคนต่างด้าวบนแผ่นดินเกิดเราเอง” เปิดใจอดีตรัฐมนตรีหญิงอัฟกานิสถาน หลังตาลีบันคืนสู่อำนาจ

15 สิงหาคม 2021 กลายเป็นจุดพลิกผันในชีวิตครั้งใหญ่ของประชาชนอัฟกานิสถานทั่วประเทศ เมื่อกลุ่มตาลีบันบุกยึดกรุงคาบูล หวนคืนสู่อำนาจอีกครั้งอย่างง่ายดาย

สำหรับคนอัฟกัน การกลับมาครั้งนี้ของตาลีบันไม่ต่างจากการหมุนนาฬิกาของประเทศเดินกลับหลัง คนอัฟกันต้องกลับไปเผชิญความโหดร้ายไม่เป็นธรรมอีกครั้งหลังหลุดพ้นมาได้ 20 ปี และกลุ่มคนที่อาจต้องทนทุกข์ทรมานที่สุดหนีไม่พ้นผู้หญิง แม้ตาลีบันจะเคยให้คำมั่นว่าจะเคารพสิทธิสตรี แต่ภาพที่เห็นตอนนี้กลับขัดแย้ง เพราะผู้หญิงถูกตั้งข้อกีดกันมากมาย ถึงแม้จะไม่สุดโต่งเท่าตาลีบันยุคแรก แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้หญิงอัฟกันพึงประสงค์

ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนได้ชัดคือโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีรักษาการชุดใหม่ที่ไร้เงาผู้หญิงแม้แต่คนเดียว จัดว่าถอยหลังจากช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่อัฟกานิสถานได้เห็นผู้หญิงทยอยขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาล อันเป็นสัญญะถึงก้าวย่างครั้งสำคัญในการส่งเสริมบทบาทสตรี หนึ่งในผู้หญิงที่สามารถคว้าโอกาสก้าวขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรีในยุคนั้นคือมูเนรา ยูซุฟซาดา (Munera Yousufzada)

หลังตาลีบันลงจากอำนาจในปี 2001 มูเนราได้เริ่มเส้นทางอาชีพในอัฟกานิสถานในฐานะนักเคลื่อนไหวทางสังคม ก่อนที่เธอจะขยับเข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยตำแหน่งรองผู้ว่าการกรุงคาบูล ตามด้วยการได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการกิจการด้านการเมืองและสังคมภายใต้สำนักงานประธานาธิบดี จนกระทั่งก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี 2012 เมื่อเธอได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ (Harmid Karzai) ซึ่งนับเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับตำแหน่งนี้

เพียงไม่กี่เดือนก่อนที่ตาลีบันจะบุกยึดกรุงคาบูล เธอได้เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่คาดคิดว่าเธอจะเดินทางกลับไปไม่ได้อีก และวันที่ 15 สิงหาคม ก็เป็นวันที่เธอต้องใจสลายเมื่อเห็นเพื่อนร่วมชาติกว่า 35 ล้านคนต้องกลับสู่อุ้งมือของตาลีบันอีกครั้ง

หลังผ่านพ้นจากวันนั้นมาครบ 1 เดือนเต็ม เรามีโอกาสได้พูดคุยกับมูเนรา ฟังความรู้สึกและมุมมองของเธอต่อสถานการณ์ความพลิกผันในประเทศบ้านเกิดที่เธอจากมา พร้อมชวนเธอเล่าย้อนถึงวันคืนของอัฟกานิสถานในห้วงเวลา 20 ปีก่อนหน้า อันเป็นช่วงเวลาที่เธอมีโอกาสรับใช้ชาติในฐานะรัฐมนตรี และได้เฝ้าเห็นพัฒนาการของประเทศหลายด้าน ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลายลงอีกครั้งด้วยมือของตาลีบัน

มูเนรา ยูซุฟซาดา (Munera Yousufzada) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของอัฟกานิสถาน
ถ่ายโดย Fariba Pajooh

สถานการณ์ของอัฟกานิสถานจากที่คุณเห็นตอนนี้เป็นอย่างไร

ณ ขณะที่ฉันพูดอยู่ตอนนี้ กลุ่มตาลีบันได้เข้ามายึดครองอัฟกานิสถานเป็นเวลา 1 เดือนเต็มๆ แล้ว สำหรับความรู้สึกของคนอัฟกันทุกคนในตอนนี้ เวลา 1 เดือนยาวนานมากราวกับ 1 ปี ประชาชนที่นั่นกำลังเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ หลายคนกำลังหิวโหย ไม่มีงานทำ ประชาชนก็ถูกละเมิดสิทธิกันเยอะมาก หลายคนถูกบีบบังคับให้ย้ายเมืองย้ายที่อยู่กันแบบไม่เต็มใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงก็ต้องเจอกับข้อจำกัดมากมาย สถานการณ์ตอนนี้เข้าขั้นแย่มาก

ในวันที่ 15 สิงหาคม ทันทีที่คุณรู้ว่ากรุงคาบูลตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มตาลีบันแบบที่หลายคนไม่ทันได้ตั้งตัว คุณรู้สึกอย่างไรในตอนนั้น

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจฉันตอนนั้นคือฉันรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวขึ้นมาทันที เหมือนกับว่าในเวลาชั่วข้ามคืน ฉันต้องกลายเป็นเหมือนคนต่างด้าวของประเทศบ้านเกิดของฉันเอง และฉันเชื่อว่าคนอัฟกัน 35 ล้านคนทั่วประเทศก็คิดไม่ต่างจากฉัน เพราะคนอัฟกันล้วนแต่รู้ดีว่า กลุ่มตาลีบันมีแนวคิดและพฤติกรรมที่แปลกประหลาด ไม่เป็นที่ยอมรับ และพวกเขาก็กำลังจะเปลี่ยนประเทศไปในแบบที่เราไม่อยากให้เป็น นี่เป็นเหตุผลว่าทันทีที่ตาลีบันเข้ามา ทำไมเราถึงได้รู้สึกเหมือนเรากำลังกลายเป็นคนต่างด้าวบนแผ่นดินเกิดเราเอง

มีคนวิเคราะห์ว่าตาลีบันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และตาลีบันเองก็เคยให้สัญญาหลายเรื่อง เช่นจะเคารพสิทธิสตรี คุณไม่คิดอย่างนั้นหรือ

ฉันไม่ได้รับรู้อะไรถึงคำสัญญาของตาลีบันในข้อนี้ แต่ถึงจะรู้หรือไม่รู้ สิ่งที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้หญิงถูกสั่งแยกห้องเรียนเมื่อไปโรงเรียน ยิ่งถ้าเป็นเมืองเล็กๆ เด็กผู้หญิงหลายคนไม่ได้แค่ถูกสั่งห้ามไม่ให้ไปโรงเรียน แต่ให้อยู่แต่บ้านเลยด้วยซ้ำ แล้วไม่ใช่แค่เด็กๆ แต่ผู้ใหญ่ก็ถูกจำกัดสิทธิในการทำงานหลายอย่าง และก็ยังมีคลิปวิดีโอหลายคลิปตามโซเชียลที่เราได้เห็นภาพของกลุ่มตาลีบันทำร้ายร่างกายผู้หญิงบนท้องถนน ถึงขั้นใช้ปืนขู่เลยก็มี

มันชัดเจนมากว่า กลุ่มตาลีบันไม่ยินยอมให้ผู้หญิงได้ที่มีที่ยืนในประเทศ ไม่ว่าจะในพื้นที่การเมือง เศรษฐกิจหรือสังคม ประชาชนมีบทเรียนจากช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้ตาลีบันมาก่อนแล้ว เห็นความโหดร้ายป่าเถื่อนของตาลีบันมาก่อนแล้ว พวกเราจำมันได้ดี และเชื่อว่าตาลีบันไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้

คุณมองว่าสถานการณ์ของผู้หญิงอัฟกันภายใต้ตาลีบันนับจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

ฉันไม่เห็นเลยว่าผู้หญิงอัฟกันจะมีอนาคตอยู่ในประเทศนี้ได้อย่างไร ถ้าถามว่าผู้หญิงอัฟกันจะเป็นอย่างไร ฉันตอบคำถามนี้ได้ด้วยคำๆ เดียวเลยว่า ‘ถูกทอดทิ้ง’ (isolation)

ทุกอย่างในประเทศอัฟกานิสถานกำลังจะมีเพียงแต่ผู้ชาย การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศกำลังจะถูกกุมบังเหียนโดยผู้ชายเท่านั้น อนาคตของประเทศก็จะเป็นเพียงการตัดสินใจของผู้ชายเท่านั้น ขณะที่ผู้หญิงจะมีพื้นที่อยู่แต่เพียงในบ้าน

ตอนนี้ เราเห็นผู้หญิงอัฟกันจำนวนหนึ่งออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตัวเอง แต่แน่นอนว่าการออกมาของพวกเขามีราคาที่ต้องจ่าย การต่อสู้ของผู้หญิงอัฟกันในวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในประเทศที่ชายเป็นใหญ่อย่างสมบูรณ์แบบ

คุณบอกว่าคุณไม่เชื่อว่าตาลีบันจะเปลี่ยนแปลง แล้วในช่วงเวลาที่ตาลีบันปกครองประเทศครั้งแรกช่วงทศวรรษ 1990s ตาลีบันที่คุณเห็นตอนนั้นเป็นอย่างไร

อันที่จริง ฉันออกมาจากอัฟกานิสถานในตอนนั้น แต่ครอบครัวของฉันอยู่ที่นั่น ซึ่งก็ได้ยินเรื่องราวต่างๆ มาจากครอบครัวฉันอีกทีหนึ่ง แต่บอกตรงๆ ว่าฉันไม่ได้อยากจะเล่าถึงสิ่งที่พวกเขาพบเจอในตอนนั้นเท่าไหร่ ฉันขอเล่าแบบทั่วๆ ไปว่าสถานการณ์ในอัฟกานิสถานตอนนั้นก็เหมือนที่หลายคนอาจได้ยินตามข่าวอยู่แล้ว กลุ่มตาลีบันโหดเหี้ยมมาก ฆ่าแกงคนได้แบบเลือดเย็น และแน่นอนว่าสถานการณ์ของผู้หญิงในตอนนั้นก็แย่มาก อย่างเช่นว่าผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านเลย เว้นแต่จะออกได้เมื่อมีผู้ชายในครอบครัวไปด้วยเท่านั้น

หลังตาลีบันลงจากอำนาจในปี 2001 สถานการณ์ในประเทศดีขึ้นมากขนาดไหน ตอนนั้นคงเป็นช่วงที่คุณกลับเข้าไปอัฟกานิสถานแล้ว คุณมองเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ก่อนหน้าปี 2001 อัฟกานิสถานอยู่ในวังวนสงครามมายาวนาน แล้วต้องมาอยู่ใต้ตาลีบันอีก เพราะฉะนั้นประเทศแทบไม่เห็นพัฒนาการอะไรเลยในตอนนั้น แต่หลังจากปี 2001 เราถึงได้เริ่มเดินหน้าพัฒนาประเทศกันอย่างจริงจัง

รากฐานสำคัญเลยก็คือรัฐธรรมนูญอัฟกานิสถานตอนนั้นที่ได้ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนทุกคนอย่างกว้างขวาง แน่นอนว่ารวมถึงผู้หญิงด้วย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะพูดและแสดงออกได้อย่างเต็มที่ สื่อมวลชนเกิดขึ้นมากมายหลายรูปแบบ มันเป็นก้าวย่างสำคัญของประเทศเราเลยในตอนนั้น

นอกจากนี้ ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เรายังเห็นการพัฒนาเข้าถึงหลายพื้นที่ ตามหมู่บ้านหรือเมืองต่างๆ มีโรงเรียนเกิดขึ้นมามากมาย ผู้หญิงสามารถกลับเข้าไปเรียนหนังสือได้ และยังมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย

สำหรับฉัน 20 ปีที่ผ่านมาเป็น 20 ปีที่ประเทศเดินหน้าไปมาก แต่สุดท้ายเราก็ต้องเสียทุกอย่างไปเพราะการกลับมาของกลุ่มตาลีบัน มันน่าหดหู่มาก

แล้วผู้หญิงอัฟกันตอนนั้นได้รับสิทธิอย่างเต็มที่เลยหรือเปล่า หรือว่ายังเจอข้อจำกัดอะไรอยู่บ้างไหม

อย่างที่ฉันบอกว่าก่อนหน้านั้นอัฟกานิสถานอยู่ในวังวนของสงครามมานานร่วม 40 ปี เพราะฉะนั้น อัฟกานิสถานหลังปี 2001 ก็ยังคงเป็นสังคมที่เพิ่งฟื้นตัวจากสงคราม ทุกอย่างเลยต้องใช้เวลา รวมถึงเรื่องค่านิยมทางสังคมต่างๆ ก็ต้องใช้เวลาปรับตัว แน่นอนว่าสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงก็ยังไม่ได้สมบูรณ์แบบในตอนนั้น ยังมีปัญหาอยู่ แต่เราก็พยายามเดินหน้าต่อสู้เรียกร้องสิทธิของผู้หญิงกันหลายรูปแบบ และที่สำคัญคือพยายามปลูกฝังค่านิยมของคนในสังคมให้เคารพสิทธิผู้หญิงด้วย ฉันจำได้ว่าช่วงแรกก็จะยากลำบากหน่อย แต่เราก็พยายามเดินหน้าต่อเนื่อง

คุณทำงานเพื่อผู้หญิงอย่างไรบ้างในตอนนั้น

ฉันพยายามทำทุกทางที่ฉันสามารถทำได้ ไม่ว่าจะที่ไหนเมื่อไหร่ ไม่เว้นแม้แต่ตอนที่ฉันได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาล ยกตัวอย่าง ฉันเข้าไปตามเมืองตามหมู่บ้านเล็กๆ เพื่อเข้าไปให้ความรู้ผู้คนเกี่ยวกับสิทธิผู้หญิง พยายามสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง และเชิญชวนให้แต่ละครอบครัวพาเด็กผู้หญิงไปเข้าโรงเรียน

และในปี 2015 เกิดคดีใหญ่คดีหนึ่งคือคดีของฟากุนดา มาลิกซาดา (Farkhunda Malikzada) เธอเป็นผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าเผาคัมภีร์อัลกุรอานทั้งที่ไม่เป็นความจริง แต่เธอก็โดนรุมทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ตอนนั้นฉันก็เป็นคนหนึ่งที่พยายามชูประเด็นนี้ขึ้นมาพูด และพยายามส่งเสียงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเธอ รวมทั้งตั้งคำถามต่อสิทธิผู้หญิงในสังคมอัฟกานิสถานตอนนั้น

ในตอนนั้น คุณได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งถือว่าคุณเป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศเลยในตำแหน่งนี้ และนี่ก็น่าจะเป็นก้าวย่างอีกขั้นที่สำคัญมากของสิทธิสตรีในอัฟกานิสถาน ชีวิตคุณตอนนั้นเป็นอย่างไร แล้วการที่คุณเป็นผู้หญิงในตำแหน่งนี้ คุณต้องเจอปัญหาอะไรบ้างไหม

ถึงตอนนั้นรัฐธรรมนูญจะมีบทบัญญัติที่ปกป้องสิทธิของผู้หญิง แต่คนอัฟกันจำนวนไม่น้อยก็ยังคงมีแนวคิดที่ไม่ยอมรับผู้หญิงอยู่ เพราะแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมยังฝังรากลึก สำหรับหลายคนตอนนั้น การที่ผู้หญิงมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมก็ยังคงเป็นเรื่องต้องห้าม และแน่นอนว่าการที่ฉันได้เข้างานกับรัฐบาล ก็มีคนจำนวนหนึ่งไม่พอใจ เหมือนกับว่าฉันไปฝ่าฝืนข้อห้ามนั้น ฉันบอกได้เลยว่านั่นคือช่วงเวลาที่ยากลำบากมากสำหรับฉัน ฉันต้องต่อสู้และเผชิญปัญหาอะไรมากมาย

ตอนนั้นฉันโดนคุกคามหนักมาก โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย ผู้ชายหลายคนส่งข้อความมาหาฉัน อย่างเช่นว่า ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ตำแหน่งสำหรับผู้หญิง มีการด่าทอฉันแบบหยาบคาย ด่าไปถึงครอบครัวฉัน มีการตัดต่อรูปล้อเลียนฉันมากมาย และก็ไปไกลถึงขั้นที่มีคนเผยแพร่ที่อยู่ของฉันบนสื่อโซเชียล ฉันกังวลมากว่าครอบครัวฉันจะไม่ปลอดภัย ฉันเจออะไรเยอะมากในตอนนั้น

ตาลีบันเพิ่งตั้งรัฐบาลรักษาการชุดใหม่ขึ้นมา และที่ต่างจากในช่วงเวลาของคุณก็คือว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีผู้หญิงอยู่เลย คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

ฉันไม่แปลกใจเลย เอาเข้าจริง ฉันไม่ได้คาดหวังอะไรกับตาลีบันอยู่แล้ว ฉันคิดแค่ว่านี่คือรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ต่อให้ตาลีบันจะตั้งผู้หญิงอยู่ในชุดรัฐบาลแม้แต่คนเดียว ฉันก็มองว่านั่นเป็นแค่การกระทำเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นว่ามีผู้หญิงเท่านั้น ไม่ได้มีความจริงใจอะไร

ตอนนี้คุณต้องออกมาอยู่นอกอัฟกานิสถานอีกครั้ง ขณะที่ครอบครัวและเพื่อนฝูงคุณหลายคนยังอยู่ที่นั่น คุณรู้สึกอย่างไร

แน่นอนว่าฉันก็เป็นห่วงครอบครัวและเพื่อนฉันทุกคนที่นั่น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือฉันก็เป็นห่วงประชาชนอัฟกานิสถานทุกคน

ประเทศมหาอำนาจต่างๆ อาจจะบอกว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการอพยพคนออกมา ป่าวประกาศว่าพาออกมาได้ถึง 150,000 คน อันนั้นฉันไม่เถียง แต่ประชาชนอีกกว่า 35 ล้านคนที่ถูกจองจำอยู่ที่นั่นล่ะ พวกคุณจะทำอย่างไร พวกเขากำลังหิวโหย ไม่มีงานทำ เหมือนกำลังเป็นคนไร้รัฐบนรัฐของตัวเอง พวกคุณจะรับผิดชอบอะไรได้บ้าง

โลกกำลังจับตาสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ในฐานะที่คุณเป็นคนอัฟกัน คุณอยากจะสื่อสารอะไรให้โลกได้ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณและเพื่อนร่วมชาติในตอนนี้บ้าง

อย่ารับรองตาลีบันเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม นี่คือสิ่งที่ฉันอยากพูดมากที่สุดในตอนนี้

สิ่งที่ฉันอยากให้โลกเรียนรู้คือว่า สันติภาพไม่มีทางได้มาด้วยกระดาษเพียงไม่กี่แผ่น การลงนามในสัญญาต่างๆ ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าประเทศจะเกิดสันติภาพ แต่สันติภาพเกิดขึ้นได้จากปัญญาความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตาลีบันไม่มี พวกเขาขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมืองและความเป็นสากลของโลก เพราะตาลีบันส่วนมากขาดการศึกษา พวกเขาไม่มีทางจะใช้ปัญญาความรู้ใดๆ มาสร้างสันติภาพได้

ที่ผ่านมา ประชาชนอัฟกานิสถานบาดเจ็บล้มตายมามากก็เพราะกลุ่มตาลีบัน ฉันเชื่อว่าตาลีบันไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ พวกเขาไม่ได้เป็นแค่ศัตรูของคนอัฟกัน แต่เป็นศัตรูของมนุษยธรรม การนำอัฟกานิสถานไปประเคนให้กับตาลีบันอย่างง่ายดายจึงไม่ต่างจากการนำคนอัฟกันไปสังหารหมู่ครั้งยิ่งใหญ่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save