fbpx
Multiconceptual World กับความเสี่ยงระดับโลก

Multiconceptual World กับความเสี่ยงระดับโลก

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

ทุกปี World Economic Forum จะทำรายงานความเสี่ยงชื่อ Global Risks Report ออกมา ที่จริง รายงานนี้ออกมาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว แต่กระนั้น คำคำหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ก็ช่วยอธิบาย ‘ความเสี่ยง’ ที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวะนี้ของสังคมไทยได้ดีไม่น้อย

คำที่ว่าคือคำว่า Multiconceptual World

รายงานนี้มีฐานข้อมูลมาจาก Global Risk Network ซึ่งจะจับตาดูภูมิทัศน์ความเสี่ยงระดับโลกในแต่ละปี เพื่อ ‘เตือน’ ว่าความเสี่ยงในด้านต่างๆ คืออะไรบ้าง รวมทั้งสำรวจความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันของความเสี่ยงต่างๆ และดูว่าจะใช้วิธีการหรือกลยุทธ์แบบไหนมารับมือหรือบรรเทาความเสี่ยงได้บ้าง โดยฐานข้อมูลมาจากบริษัทประกันภัยใหญ่ๆ ของโลก รวมไปถึงการทำเวิร์คช็อปกับกลุ่มโฟกัสกรุ๊ป การสัมภาษณ์และการสำรวจจากผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติจากทั่วโลก

อย่างในปีที่แล้ว รายงานนี้เน้นความกังวลอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่

  1. ความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียม ที่ยังคงมีอยู่ในโลก
  2. ความตึงเครียดทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ
  3. ภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม
  4. ความเปราะบางทางไซเบอร์

ซึ่งจะเห็นได้เลยว่า แม้ผ่านมาหนึ่งปีแล้ว แต่ความเสี่ยงทั้งสี่ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งยังสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกัน และอาจหนุนนำให้ความเสี่ยงในเรื่องอื่นน่ากังวลมากขึ้นได้

สำหรับปี 2019 นี้ ถ้าดูภาพใหญ่ เราจะเห็นแลนด์สเคปความเสี่ยงชัดมาก เราจะเห็นว่า เรื่องน่าเป็นกังวลในระดับต้นๆ คือเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแทบทั้งนั้น เช่น Extreme Weather Events หรือสภาวะอากาศรุนแรงแปรปรวน ตามมาด้วยความล้มเหลวของการปรับตัวและลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับเรื่องภัยธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความล่มสลายของระบบนิเวศ และภัยทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเพราะน้ำมือมนุษย์

พูดง่ายๆ ก็คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมนั้น ‘สูงมาก’ นั่นเอง

แต่นอกจากนี้แล้ว รายงานนี้ยังนำเสนอความเสี่ยงต่างๆ อีกหลายประเด็น เช่น เศรษฐกิจ การเมือง ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และอื่นๆ แต่เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถใช้ ‘อธิบาย’ ความขัดแย้งในสังคมไทยที่ก่อให้เกิด ‘ความเสี่ยง’ ในอนาคตได้ ก็คือประเด็นเรื่อง ‘อำนาจ’ และ ‘การให้คุณค่า’ ในสังคม ซึ่งรายงานฉบับนี้บอกว่า นี่คือ ‘ความเสี่ยง’ แบบใหม่ที่กำลังผุดบังเกิดขึ้นมาในโลก

หัวข้อที่รายงานนี้ใช้ก็คือ Power and Values: Evolving Risks in a Multiconceptual World หรือความเสี่ยงที่กำลังอุบัติขึ้นในโลกที่เต็มไปด้วยมโนทัศน์ที่หลากหลาย ซึ่งอาจจะฟังแล้วงงๆ อยู่สักหน่อย แต่รายงานนี้อธิบายว่า เราอยู่ในยุคที่เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงในสังคมใดสังคมหนึ่ง แต่เป็นการเปลี่ยนของ International System หรือ ‘ระบบ’ ในระดับนานาชาติเลย สิ่งนี้ไปสั่นคลอนสมมติฐานว่าด้วย ‘ระเบียบโลก’ แบบเดิมที่เราเคยคิดหรือเชื่อกันมาในอดีต

ย้อนกลับไปสักสองสามทศวรรษ เราอาจรู้สึกว่าโลกที่เราอยู่นั้นเป็น ‘โลกหลายขั้ว’ (Multipolar World) คือมีฝ่ายต่างๆ แบ่งเป็นขั้วๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะแบ่งเป็นสองขั้ว รายงานนี้เคยพูดถึงคำว่า Multipolar World เอาไว้ในปีที่แล้ว แต่เสนอว่า เราอาจไม่เพียงอยู่ใน ‘โลกแบ่งขั้ว’ เท่านั้น ทว่าอาจถึงขั้นอยู่ในโลกที่เป็น Multiconceptual ด้วย

คำว่า Multiconceptual ก็คือคนกลุ่มต่างๆ มีวิธี ‘เห็นโลก’ (ที่หมายรวมไปถึงการรับรู้ ตีความ ประมวล ประเมิน ระบุตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง และสร้างความสัมพันธ์กับโลกรอบตัว) ที่แตกต่างกัน นั่นคือเราต่างนำต้นทุนที่เรามาใช้ในการ conceptualize โลก ด้วยวิธีที่แตกต่างกันอย่างมาก โลกจึงไม่ได้เป็น Multipolar แบบที่เป็นของมันอยู่อย่างนั้น แต่ยังเป็น Multiconceptual หรือเป็น ‘ความจริง’ ที่ถูกสร้างขึ้นจากวิธีมองโลกของเราเองอีกด้วย

และเป็นความเชื่อใน ‘ความจริง’ ที่ถูกสร้างขึ้นนี้เอง ที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในโลกทุกวันนี้

ตัวอย่างเช่น สมัยสงครามเย็น โลกแบ่งออกเป็นสองขั้วชัดเจน คือขั้วโลกเสรีกับขั้วคอมมิวนิสม์ เมื่อสงครามเย็นจบสิ้นลง คนจำนวนมากคิดและประกาศว่าการแบ่งขั้วได้จบสิ้นลงแล้ว โลกจะเป็นหนึ่งเดียวกันโดยมีเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นบรรทัดฐาน และน่าจะแพร่หลายขยายตัวไปทั่วโลกในที่สุด

แต่เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เราเห็นได้เลยว่าความคิดนี้ไม่เป็นจริง เพราะหลังภาวะสองขั้วจบลง ‘การให้คุณค่า’ แบบใหม่ๆ กลับผุดบังเกิดขึ้นเต็มไปหมด ซึ่งก็มีทั้งคุณค่าแบบเก่าแก่ดั้งเดิม (เช่นวิธีคิดแบบฟาสซิสม์หรือนีโอนาซีและอื่นๆ) และคุณค่าแบบใหม่ๆ หลายหลาก คุณค่าเหล่านี้ล้วนเกิดจากการ conceptualize โลกที่แตกต่างกัน ซึ่งย่อมก่อให้เกิดการปะทะกันทางความคิดขึ้นมา

การปะทะกันทางความคิดระหว่างคนที่อยู่ใน Conceptual World ที่แตกต่างกันนี้ เห็นได้ชัดมากในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาของสังคมไทย เพราะคล้ายเกิดการ ‘กรีดแบ่ง’ สังคมด้วยมีดเล่มใหม่ ถัดจากการแบ่งขั้วเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดงที่เคยเกิดขึ้นมากว่าทศวรรษ กลายมาเป็นการกรีดแบ่งด้วยวิธี ‘เห็นโลก’ (Conceptualization) ของคนกลุ่มหนึ่งที่คุ้นเคยกับวิถีแบบ ‘รวมหมู่’ (Collectivism) กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกหล่อหลอมด้วยเทคโนโลยี โลกออนไลน์ จนมีวิถีแบบ ‘ปัจเจก’ (Individualism)

วิถีแบบรวมหมู่คือการคิดเป็นกลุ่มก้อน เช่น คนในหมู่บ้านเดียวกันมักจะคิดเห็นแบบเดียวกับหัวหน้าหมู่บ้านทั้งหมด ไปไหนไปกัน คล้อยตามกันไปทั้งกลุ่ม หรือมีชีวิตคล้ายๆ ‘สิ่งมีชีวิตยิ่งยวด’ (Superorganism) อย่างมดหรือปลวก ที่ทั้งรังคล้ายเป็นชีวิตเดียวกัน แต่วิถีแบบปัจเจกหรือ Individualism ที่เป็นฐานของเสรีนิยมประชาธิปไตยที่เชื่อในเรื่องหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงและสิทธิมนุษยชน คือการเห็นว่ามดหรือปลวกแต่ละตัวในรังเดียวกันนั้นล้วนแต่มีสมองและหัวใจของมันเอง มดหรือปลวกแต่ละตัวจึงมีวิธีคิด รสนิยม และความสามารถที่จะ ‘เลือก’ ทางเดินของตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับโลก ณ ขณะนี้ก็คือ คนที่มีวิถีแบบรวมหมู่ มักเป็น ‘ผู้มาก่อน’ เพราะวิถีแบบนี้เกิดและฝังรากอยู่ในสังคมมาตั้งแต่โบราณแล้ว เมื่อมาก่อนจึงย่อมสั่งสมทรัพยากรและอำนาจเอาไว้มากกว่า คนกลุ่มนี้จึงมีอำนาจในสังคมมากกว่า จึงพยายามรักษาสถานภาพของตัวเองได้ ด้วยการขีดเส้นให้สังคมทั้งหมดต้องเดินไปตามวิถีของตน

แต่ปัญหาก็คือ วิถีปัจเจกมักเกิดกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอายุน้อยกว่า เป็นวิถีที่มีวิธี ‘เห็นโลก’ และให้คุณค่ากับชีวิตคนละแบบกับคนกลุ่มแรก ‘ความจริง’ หรือ ‘มโนทัศน์’ ของคนกลุ่มนี้เป็นอีกแบบหนึ่งเลย ซึ่งเห็นได้ชัดจากวิธีสื่อสารในโซเชียลมีเดีย และผลการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งทำให้คนกลุ่มแรกไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะมองโลกกันคนละแบบโดยพื้นฐาน เมื่อไม่เข้าใจ บางส่วนก็เกิดความ ‘ไม่ไว้ใจ’ ขึ้นมาด้วย นั่นสร้างรอยร้าวในสังคมที่อาจกลายเป็น ‘ความเสี่ยง’ ใหญ่

คนกลุ่มแรกมักมองว่า วิธีแก้ปัญหาในสังคมก็คือการกลับสู่ ‘รีตรอย’ แบบเดิมๆ เชื่อฟังผู้ที่ ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ รวมไปถึงการใช้วิถีทาง ‘อำนาจ’ ที่มีอยู่ในมือ เพื่อบีบให้คนอีกกลุ่มหนึ่งต้องอัดแน่นรวมตัวเข้ามาอยู่ใน ‘รัง’ แบบเดิม คือมามีวิถีชีวิตแบบเดียวกัน เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน คิดเหมือนๆ กัน เป็น superorganism ที่มีวิธี conceptualize โลกแบบเดียวกัน แต่รายงาน ‘ความเสี่ยง’ ของ World Economic Forum บอกเอาไว้ว่า การย้อนกลับไปใช้ประสบการณ์แบบเดิมๆ แล้วนำประสบการณ์เก่านั้นมาใช้ อาจเป็นวิธีที่ไม่ค่อยได้ผลนักในโลกปัจจุบัน โดยสรุปเป็นวลีสั้นๆ เอาไว้ว่า No room for nostalgia คือไม่เหลือที่ทางสำหรับการหวนหาอดีตอีกต่อไปแล้ว

รายงานนี้อธิบายว่า การหวนหาอดีต การทาบเทียบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ในอดีต และวิธีคิดวิธีแก้ปัญหาโดยเลียนแบบตัวอย่างในอดีต เป็นการตอบสนองที่ไม่พอเพียงแล้ว โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าโลกกำลังมี ‘ความเสี่ยง’ ใหม่ๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด เรื่องสำคัญมากในตอนนี้ไม่่ใช่การพยายามทำให้คนย้อนสู่อดีต แต่คือการ ‘ทำความเข้าใจ’ ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และเรียนรู้เพื่อหาวิธี ‘เดินหน้า’ ต่อไปในอนาคตอย่างปลอดภัย พร้อมกับรับมืออุปสรรคและความท้าทายต่างๆ ที่ฝังตัวอยู่ในอนาคตให้ได้

โดยปกติ คุณค่า (Values) ที่แตกต่างกัน มักทำให้เกิดความเครียด (Tensions) อยู่แล้ว แต่การพยายาม ‘บีบ’ ให้คนที่เชื่อในคุณค่าแบบอื่นต้องยัดตัวเองเข้ามาอยู่ในกรอบคุณค่าแบบเดียวกับผู้มีอำนาจ จะยิ่งทำให้ความเครียดนั้นสูงลิบลิ่วมากขึ้นไปอีก

รายงานนี้บอกว่า ความเครียดที่เกิดจากฐานคุณค่าที่แตกต่างกันนั้น กำลังแสดงตัวออกมาให้เห็นหลากหลายวิธีในหลายที่ทั่วโลก ทำให้เกิดรอยร้าวทั้งในและนอกประเทศหลายประเทศ รวมถึงในระดับภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคด้วย โดยทั้งหมดนี้มีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือคนที่เคยมีอำนาจมาก่อนเริ่มรู้สึกว่าตัวเองสูญเสียการควบคุมอำนาจนั้นไป

หากมองย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ความเสี่ยงสี่อย่างที่รายงานนี้เคยบอกเอาไว้ คือ ความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียม, ความตึงเครียดทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ, ภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม และความเปราะบางทางไซเบอร์ ก็ล้วนเกิดจากวิธี ‘เห็นโลก’ ที่ไม่เหมือนกันนี่แหละครับ นั่นคือคนที่มีปูมหลังทางประสบการณ์ต่างกัน คนที่มีปูมหลังทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ต่างกัน ล้วน conceptualize โลกกันไปคนละทิศละทาง แต่ความแตกต่างนี้ยังถูกยึดกุม ควบคุม และครอบงำ อยู่ด้วยชุดของกฎเกณฑ์เก่าที่เคย ‘ถูกเขียน’ ขึ้นมาในยุคก่อน โดยเฉพาะยุค Pre-Cyber เช่น กฎหมายเก่าต่างๆ ที่มีทั้งสอดคล้องและไม่สอดคล้องกับยุคนี้

ที่จริงแล้ว คนอายุมากควรมี ‘ความน่าจะเป็น’ (Probability) ที่จะเข้าใจคนอายุน้อยมากกว่า เพราะอย่างน้อยก็เคยผ่าน ‘ความอายุน้อย’ มาก่อน แต่เมื่อไม่สามารถเข้าใจโลกอีกแบบได้ เกิดความไม่ไว้วางใจขึ้นมา และมีอำนาจอยู่ในมือ ก็กลายเป็นตัวการสร้างปัญหาและความเสี่ยงขึ้นมา

รายงานนี้บอกว่า การที่เรา ‘เห็นโลก’ ไม่เหมือนกัน เกี่ยวพันไปถึงเรื่องของอำนาจและพลวัตทางอำนาจ ที่ส่งผลไปถึงระบบการเมืองและเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและในระดับโลกอีกทีหนึ่ง

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากของรายงานนี้ ก็คือการบอกว่าโลกแบบ Multiconceptual นั้นก่อให้เกิด ‘คุณค่า’ ที่หลากหลายมาก แต่ความหลากหลายของคุณค่าเหล่านี้กลับเป็นที่มาของการแบ่งแยกมากกว่าการรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อทำความเข้าใจกัน ไม่ว่าจะในระดับประเทศ ภูมิภาค หรือในระดับโลก

การมองให้เห็นว่าเราอยู่ในโลกที่เป็น Multiconceptual World ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ แต่นี่คือทักษะที่สำคัญและจำเป็น เพื่อการเดินหน้าไปสู่ ‘คำถามใหม่’ ที่สอดคล้องกับยุคสมัย ว่าเราจะอยู่ในโลกที่เป็น Multiconceptual World นี้ ‘ด้วยกัน’ ได้อย่างไร เพราะมันคือการย้อนกลับไปตั้งคำถามถึง ‘ราก’ แห่งการมองโลกของเรา อันมักมีที่มาอยู่ในประวัติศาสตร์ การต่อสู้ของบรรพบุรุษ และการให้คุณค่าต่อทั้งการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาตั้งแต่ต้น

การมองไม่เห็นว่าโลกนี้เป็น Multiconceptual World นี่เอง ที่คือ ‘ความเสี่ยง’ ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับมวลมนุษยชาติ

ไม่ใช่แค่กับสังคมไทย

 

หมายเหตุ: อ่านรายงาน Global Risks Report ได้ที่นี่

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save