fbpx
สหรัฐฯ กับการเมืองแบบโดนัลด์ ทรัมป์ : ระบบยุติธรรมอยู่กับใคร

สหรัฐฯ กับการเมืองแบบโดนัลด์ ทรัมป์ : ระบบยุติธรรมอยู่กับใคร

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

เมื่อราวปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 มีข่าวใหญ่ที่สะเทือนวอชิงตันดังออกมาอีกครั้ง (สมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีข่าวด่วนข่าวใหญ่แทบทุกอาทิตย์ มากเป็นพิเศษจนกลายเป็นเรื่องปกติของวงการสื่อทั้งหลายในอเมริกา) คราวนี้ได้แก่การที่ ไมเคิล โคเฮน ทนายความของทรัมป์ กลับลำการให้ปากคำแก่ศาลว่า ก่อนนี้ที่เขาเคยให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการรัฐสภา ว่าทรัมป์ไม่ได้ติดต่อธุรกรรมอะไรกับรัสเซียระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีนั้น ไม่เป็นความจริง

วันนี้เขายอมรับอย่างหมดเปลือกว่าทรัมป์และครอบครัวที่คุมธุรกิจตระกูลทรัมป์อยู่นั้น ได้มีการพบปะและเจรจากับฝ่ายรัสเซีย ในระหว่างที่ทรัมป์กำลังดำเนินการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ธุรกิจที่โคเฮนเปิดโปงได้แก่ การขอจัดประกวดนางงามในรัสเซีย และการสร้างอสังหาริมทรัพย์ในรัสเซีย โดยทรัมป์สัญญาว่าจะอภินันทนาการ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียผู้ทรงอำนาจสูงสุด ด้วยเพนท์เฮ้าส์สุดหรูในโรงแรมมูลค่านับร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งหมดนี้ทรัมป์ออกมาประกาศว่าไม่จริง โคเฮนโกหกเพื่อเอาตัวรอดจากการถูกลงโทษหนักหลายข้อหา ทั้งๆ ที่ก่อนนี้โคเฮนเป็นทนายและลูกมือใกล้ชิดทรัมป์ในการดำเนินการด้านกฎหมายต่างๆ ให้ทรัมป์ รวมถึงกรณีอื้อฉาวคือการให้เงินปิดปาก แดเนียล สตอร์มมี ดาราหนังโป๊ ไม่ให้ออกมาเปิดโปงสัมพันธ์สวาทกับโดนัลด์ ทรัมป์ มาวันนี้เขากลายเป็นคนที่ทรัมป์บอกว่า “ขี้โกหกไร้น้ำยา” ไม่มีอะไรดีสักอย่าง แต่แปลกที่ทรัมป์จ้างเขาทำงานใกล้ชิดเป็นส่วนตัวมานาน

โคเฮนมาเสียท่าแก่ทีมสอบสวนของ โรเบิร์ต มุลเลอร์ ก็ด้วยคดีปิดปากดาราโป๊ ซึ่งโคเฮนอ้างว่าใช้เงินส่วนตัวของทรัมป์ ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมาย แต่พอขุดคุ้ยออกมา กลายเป็นว่าเขาเอาเงินนั้นมาจากกองทุนที่ใช้สำหรับการหาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์ ซึ่งห้ามนำไปใช้ในเรื่องส่วนตัว

ตอนที่มีการกล่าวหาและโจมตีกันระหว่างดาราสาวกับโคเฮน ไม่มีใครคิดว่าคดีความนี้จะนำไปสู่การเล่นงานประธานาธิบดีทรัมป์ในทางการเมืองได้ เพราะข้อมูลและหลักฐานยังห่างไกลจากการฟ้องร้องเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง (Impeachment) แต่ตอนนั้นคนที่รู้ประวัติศาสตร์การถอดถอนตั้งแต่ริชาร์ด นิกสัน มาถึงบิล คลินตัน ก็ให้ข้อคิดว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุปไป เพราะทั้งคดีวอเตอร์เกต และคดีไวท์วอเตอร์ที่เอามาเล่นงานสองประธานาธิบดีนั้น ในตอนเริ่มต้นก็ไม่มีวี่แววว่าจะมีน้ำหนักถึงขั้นเอาผิดประธานาธิบดีได้ ต่อเมื่อฝ่ายประธานาธิบดีนิกสันไล่ที่ปรึกษาพิเศษที่ทำหน้าที่สอบสวนเรื่องราวออก จากนั้นเองประตูน้ำก็แตก ในที่สุดนิกสันก็จนตรอกเพราะใช้อำนาจอย่างเมามัน พรรครีพับลิกันในรัฐสภาก็ถอย ไม่หนุนหลังเหมือนก่อนนี้อีกแล้ว เพราะจะพังกันหมด เขาจำยอมลาออกจากตำแหน่ง ไม่ได้ถูกมติถอดถอนแต่ประการใด

 

ผมนั่งตามสถานการณ์นับแต่วันแรกๆ ที่กระทรวงยุติธรรมโดยผู้ช่วยรัฐมนตรี ร็อด โรเซนสไตน์ แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาพิเศษให้ โรเบิร์ต มุลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอ มาเป็นประธาน ว่าจะสามารถคลี่คลายข้อกล่าวหาว่ารัสเซียได้เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ได้หรือไม่ โดยที่ฝ่ายโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่ยังเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี ออกมากล่าวว่าเขาและคณะกรรมการหาเสียงไม่เคยติดต่อยุ่งเกี่ยวอะไรกับรัสเซียเลย

หลังจากทีมสอบสวนมุลเลอร์เริ่มทำงานไประยะหนึ่ง ฝ่ายทรัมป์ก็ออกมาปฏิเสธ และเริ่มโจมตีว่าคณะทำงานของมุลเลอร์เป็นพวก “ล่าแม่มด” เขาประกาศผ่านทวิตเตอร์เป็นระยะแทบทุกอาทิตย์ว่า “ไม่มีการสมรู้ร่วมคิด” (no collusion) กับรัสเซีย

ที่น่าสังเกตคือฝ่ายมุลเลอร์และทีมทำงานของเขา ซึ่งระดมมือหนึ่งจากคนทำงานด้านกฎหมายและฝ่ายสืบสวนต่างๆ นั้น ไม่เคยออกมาให้ข่าว ไม่มีการปูดข่าวและแหล่งข่าวให้แก่นักข่าวสื่อมวลชน ไม่ว่ามือเซียนและมีประสบการณ์สูงแค่ไหนก็ตาม เป็นการทำงานที่ใหญ่ยากและมีความอ่อนไหวสูงมาก เพราะหนึ่งในบัญชีรายชื่อของผู้ถูกสอบสวนด้วย คือตัวประธานาธิบดีทรัมป์เอง ที่ผ่านมาจึงมีแต่ความเงียบจากมุลเลอร์และทีมงาน

จนเมื่อทรัมป์และทนายหน้าหอออกมาวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีการทำงานของมุลเลอร์ ผู้ติดตามสถานการณ์ก็อดประหวั่นพรั่นพรึงไม่ได้ว่า ทีมนี้อาจถูกฝ่ายบริหารและทำเนียบขาวไล่ออกไปก่อนเสร็จงานก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นทรัมป์ประกาศไล่ เจมส์ โคมีย์ ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการเอฟบีไอ เมื่อเห็นว่าโคมีย์ไม่ยอมอ่อนและทำตามคำสั่งของทรัมป์ที่ให้ลดหรือเลิกการสอบสวน ไมเคิล ฟลินน์ ซึ่งทรัมป์แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง (chief national security advisor) คนแรก และต่อมาถูกเอฟบีไอตรวจพบว่าให้การเป็นเท็จเรื่องการพบปะติดต่อกับเอกอัครรัฐทูตรัสเซียในวอชิงตัน โคมีย์ไม่รับปากว่าจะเลิกการสอบสวนเรื่องรัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ เขาจึงถูกทรัมป์ไล่ออกในเดือนพฤษภาคม 2018

ปฏิกิริยาของคนอเมริกันต่อการไล่นายโคมีย์ มีมากโดยเฉพาะในวงการเมือง กระทรวงยุติธรรมโดยโรเซนสไตน์จึงหาทางคลี่คลายความข้องใจของคนด้วยการแต่งตั้งมุลเลอร์มาเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ดำเนินการสอบสวนเรื่องรัสเซียกับการแทรกแซงการเลือกตั้งต่อไป เรื่องนี้ก็ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของทรัมป์อีกเช่นกัน เขาไม่อยากให้มีการสอบสวนเรื่องนี้ต่อไป แต่จะทำอย่างไรถึงจะปิดเรื่องนี้ได้

ความจริงคนที่ทรัมป์สั่งได้คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เจฟ เซสชั่น ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ในการเลือกตั้งตั้งแต่แรกเริ่มอย่างถวายหัว ซึ่งหายากมากในบรรดาสมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกัน แต่แล้วเซสชั่นก็ตกม้าตายตอนไปให้ปากคำแก่วุฒิสภาเพื่อให้การรับรองตำแหน่งรัฐมนตรี ด้วยการที่เขาให้การเท็จหรือโกหกแต่ถูกจับได้อีก (ก็เรื่องการติดต่อกับคนฝ่ายรัสเซียอีกนั่นแหละ) เซสชั่นจึงจำยอมหลังจากที่วุฒิสภา ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ผ่านการรับรองเขาแล้ว ว่าเขาจะยุติบทบาทของรัฐมนตรีในการกำกับเรื่องการสืบสวนการแทรกแซงการเลือกตั้งโดยรัสเซีย เพื่อให้ระบบยุติธรรมดำเนินไปได้อย่างเที่ยงธรรม

แต่แทนที่ทรัมป์จะเห็นความซื่อสัตย์และเป็นกลางของเซสชั่น เขากลับบริภาษเซสชั่นทุกวันว่าโง่และเนรคุณ อุตส่าห์ให้ตำแหน่งรัฐมนตรีอันสูงส่ง แต่ดันกลับยุติบทบาทตนเองในคดีที่กำลังเล่นงานหัวหน้าใหญ่ทรัมป์อยู่ ทรัมป์ตะคอกใส่ว่าทำอย่างนี้ได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ ทรัมป์จึงไม่อาจหาคนในกระทรวงยุติธรรมมาไล่มุลเลอร์ออกจากตำแหน่งได้เสียที (หรือพระเจ้าจะไม่เข้าข้างคนผิด?)

กระนั้นก็ตาม จนแล้วจนรอด ทีมมุลเลอร์ก็ไม่แสดงผลการสอบสวนว่าจวนจะถึงฝั่งหรือยัง เมื่อราวกลางปีนี้ เหตุการณ์ที่ดูเป็นหลักเป็นฐานมากหน่อย ก็คือการดำเนินคดีอาญากับพอล มานาฟอร์ต ที่ปรึกษาคณะรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ แต่เมื่อข้อกล่าวหาขึ้นสู่ศาล หลักฐานต่างๆ เป็นเรื่องส่วนตัวของมานาฟอร์ตเอง ไม่ว่าการเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครนก่อนถูกประท้วงใหญ่ และต้องหนีออกนอกประเทศไป การหลบเลี่ยงภาษี การแจ้งความเท็จเรื่องการเงินต่างๆ ไม่มีเรื่องไหนที่โยงและพาดพิงถึงทรัมป์และคณะกรรมการหาเสียงเลือกตั้งเลย สุดท้ายมานาฟอร์ตยอมความกับฝ่ายมุลเลอร์ ว่าจะให้ปากคำถึงคนที่พัวพันกับการหาเสียงของทรัมป์ แลกกับการลดโทษที่เขาจะได้รับ ล่าสุดทีมมุลเลอร์พบว่ามานาฟอร์ตหลอกพวกเขา ด้วยการเอาข้อมูลและคำถามจากทีมมุลเลอร์ไปแอบให้ทนายของทรัมป์ เป็นการหักหลัง ยังไม่รู้ว่าทีมมุลเลอร์จะแก้เกมนี้อย่างไร

จนกระทั่งมาถึงกรณีไมเคิล โคเฮน ที่เพิ่งเกิดขึ้น จึงทำให้ผู้ที่อยากเห็นการสืบสวนคืบเข้าใกล้หัวหน้าใหญ่เสียที เริ่มมองเห็นทางลางๆ วันนี้โคเฮนกลับใจไม่สวามิภักดิ์ต่อทรัมป์อีกต่อไป เขาบอกว่าภรรยา ลูกสาว ลูกชาย และประเทศนี้ คือสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากกว่าทรัมป์

การตีตัวออกห่างทรัมป์ของโคเฮน เกิดจากวิธีการทำงานของทีมมุลเลอร์ที่เจาะและขุดข้อมูลไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อเงื่อนงำที่ผิดกฎหมายปรากฏออกมา แม้ไม่เกี่ยวพันกับการหาเสียงของทรัมป์ แต่สามารถโยงไปถึงการหลบเลี่ยงภาษีและการทำผิดกฎหมายอื่นๆ ได้ อัยการจึงนำหมายศาลในข้อหาเหล่านั้น ไปบุกบ้านพักและสำนักงานของโคเฮนพร้อมเก็บกวาดหลักฐานต่างๆ มากมายไปหมด เมื่อโคเฮนจำนนต่อข้อกล่าวหามากมาย ชนิดไม่มีวันหลุดแน่ เขาจึงยอมทำข้อตกลงพิเศษกับคณะกรรมการพิเศษมุลเลอร์ ว่าจะยอมให้ความร่วมมือในการสอบสวนเรื่องทรัมป์กับรัสเซีย แลกกับการลดโทษให้แก่เขาต่อไปในชั้นพิจารณาคดีของศาล

 

ในทางการเมือง น่าสนใจมากว่าหากตัดตัวบุคคลออก กรณีนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างของการตรวจสอบและคานอำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายยุติธรรมและตุลาการ โดยฝ่ายนิติบัญญัติแบ่งการใช้อำนาจไปตามพรรคการเมือง ทำให้อำนาจนิติบัญญัติไม่เป็นเอกภาพ ไม่มีน้ำหนักและไม่เป็นฝ่ายดำเนินการ โดยเฉพาะในยุคที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีที่ไม่ได้มาจากอาณัติของพรรครีพับลิกัน หากแต่สร้างฐานอำนาจและเสียงประชาชนของเขาขึ้นมาเอง จากนโยบายแบบนักเลงโบราณที่ไม่เกรงใจใคร ไม่ต้องคำนึงถึงมารยาททั้งหลายแบบพวกเสรีนิยมเขาทำกัน ด้วยสไตล์การทำงานและสั่งงานแบบเจ้าพ่อ รัฐสภาซึ่งอยู่ภายใต้เสียงข้างมากของรีพับลิกันพากันหงอและเงียบ เมื่อทรัมป์คำรามและด่าคนไปทั่วเจ็ดย่านน้ำ เรื่องรัสเซียกับการเลือกตั้งจึงไม่ค่อยมีเสียงตอบรับมากนักจากรัฐสภา

เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเปิดโอกาสให้หน่วยงานในฝ่ายความมั่นคง ยืดอกออกรับภารกิจทางประวัติศาสตร์ในการรักษาความยิ่งใหญ่และถูกต้องของสหรัฐอเมริกาในประเทศและในโลกไว้ต่อไป นั่นคือการผงาดขึ้นมาของเอฟบีไอ

กรณีการแทรกแซงของรัสเซียในอเมริกานั้น ว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเริ่มเมื่อเกิดสงครามเย็นระหว่างสองมหาอำนาจ ที่หน่วยสืบราชการลับของสองประเทศ ต่างก็หาข่าวกรองและสร้างสายลับของตนไว้ในอีกประเทศ แต่คราวนี้รัสเซียหันมาเล่นบทการเมืองประชาธิปไตย ด้วยการแอบขโมยอีเมลของฮิลลารี คลินตัน ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี รัสเซียหวังจะเปิดโปงอีเมลเพื่อทำให้คลินตันเสียหน้า ถ้าเหตุการณ์ดำเนินไปตามนี้ เรื่องราวเกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้งอาจจะไม่ลามปามไปใหญ่โตก็ได้

แต่ที่มันเกิดการลุกลามไปมาก เพราะทีมงานหาเสียงของทรัมป์คนหนึ่ง คือ จอร์จ พาพาโดพูลอส ซึ่งเป็นคนหนุ่มไฟแรงและทะเยอทะยาน หวังจะได้ตำแหน่งการเมืองในทำเนียบขาว พาพาโดพูลอสไม่ใช่คนมีชื่อและฐานะอะไร แต่บังเอิญทีมหาเสียงอยากได้คนทำงานด้านการระหว่างประเทศ เลยไปรับเขามาทำงานแบบลูกมือ แต่เขาเป็นนักวางแผน วิ่งเต้นหาเส้นสายคนที่รู้จักเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย เพื่อเจรจาเกี่ยวกับการวางนโยบายต่างประเทศเมื่อทรัมป์เป็นประธานาธิบดี โดยเฉพาะการปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจ จนกระทั่งเขาบอกว่าสามารถหาคนติดต่อให้ทรัมป์ไปพบเจรจากับปูตินได้ในกรุงมอสโก ก่อนรู้ผลการเลือกตั้งเสียด้วย ตอนนั้นทรัมป์ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรนัก บอกให้คนอื่นไปตัดสินว่าจะทำอย่างไร เสร็จแล้วพาพาโดพูลอสก็บอกข่าวนี้แก่อเล็กซานเดอร์ ดาวเนอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ในร้านไวน์ย่านเคนซิงตัน กรุงลอนดอน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2016 หลายเดือนก่อนวันเลือกตั้ง

อีกสองเดือนต่อมา ทางการออสเตรเลียซึ่งได้ข่าวนี้จากดาวเนอร์ ก็ส่งข่าวไปให้เอฟบีไอของสหรัฐฯ นี่คือจุดเริ่มต้นว่าทำไมเอฟบีไอถึงสนใจกิจกรรมการเคลื่อนไหวของรัสเซียในอเมริกาช่วงการเลือกตั้งมาก ทั้งนี้ หัวหน้าเอฟบีไอในตอนนั้นคือเจมส์ โคมีย์ แต่ที่น่าแปลกใจคือเมื่อใกล้วันเลือกตั้ง โคมีย์กลับเลือกประกาศว่าจะสอบสวนฮิลลารี คลินตัน เรื่องการใช้อีเมลส่วนตัวในการติดต่อเรื่องของทางการขณะเธอเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

ตอนนั้นก็มีข่าวออกมาว่า อีเมลของคณะกรรมการเลือกตั้งพรรคเดโมแครตถูกแอบขโมยไปโดยวิกิลีก และฝ่ายหาเสียงของทรัมป์ได้อีเมลพวกนี้ไปด้วยจากการติดต่อลับๆ กับทางวิกิลีก สำหรับใช้ถล่มค่ายคลินตันในการหาเสียง ทั้งหมดนี้เอฟบีไอรู้ แต่ยังไม่ดำเนินการสืบสวนเข้าไปอย่างจริงจัง เพราะเกรงว่าจะทำให้สายรัสเซียยุติปฏิบัติการในอเมริกา สิ่งที่ทางเอฟบีไอกลัวและต้องการรู้คือ รัสเซียวางใครเป็นสายให้ในอเมริกา เพราะเชื่อว่าต้องมีหลากหลาย จึงต้องทำเรื่องนี้อย่างเงียบที่สุด

แต่เรื่องก็ไม่อาจเงียบได้นาน เมื่อนายพล ไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงคนแรกของทรัมป์ ถูกจับได้ว่าให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เรื่องว่าเขาไม่เคยพบปะติดต่อหรือทำอะไรกับรัสเซียเลย กระทั่งมารับตำแหน่งที่ปรึกษาการหาเสียงเลือกตั้งให้โดนัลด์ ทรัมป์ และเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญอันดับต้นของทำเนียบขาวและประธานาธิบดีทุกคน

ระหว่างที่ทีมทรัมป์รอการเข้ารับตำแหน่งในทำเนียบขาว เอฟบีไอต้องตรวจสอบเจ้าหน้าที่ระดับสูงทุกคนก่อนรับตำแหน่ง และเข้าถึงข้อมูลลับของรัฐบาลได้ ถ้าเอฟบีไอยังไม่ให้ไฟเขียว ก็ได้แต่นั่งประชุม แต่ไม่สามารถอ่านเอกสารได้ ดังที่ จาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยทรัมป์ ซึ่งได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาในทำเนียบขาว แต่รอไฟเขียวจากเอฟบีไอเป็นปีเพราะไม่ผ่านการกลั่นกรอง ซึ่งอาจมาจากการส่งเอกสารไม่ครบถ้วน แจ้งทรัพย์สินไม่หมด ตอนนั้นเอฟบีไอแจ้งกระทรวงยุติธรรม ว่าไมเคิล ฟลินน์ ไม่ผ่านการตรวจสอบ เพราะมีหลักฐานการติดต่อกับคนรัสเซีย  แซลลี เยตส์ รักษาการรัฐมนตรียุติธรรมพยายามบอกทำเนียบขาวว่าฟลินน์ไม่ผ่าน แทนที่ทรัมป์จะแก้ปัญหานี้ กลับไล่เยตส์ออกจากตำแหน่งทันทีที่เขาได้เป็นประธานาธิบดี

ช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ไมเคิล ฟลินน์ ได้พบเจรจากับ เซอร์เกย์ คิสเซิลยัค เอกอัครรัฐทูตรัสเซียประจำวอชิงตัน เรื่องสำคัญคือจะยุติการบอยคอตรัสเซียที่ประธานาธิบดีโอบามาทำไว้ เมื่อสื่อมวลชนเปิดเผยข่าวนี้ออกมา คณะผู้บริหารของทรัมป์ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ให้ใครไปเจรจากับรัสเซียทั้งนั้น แต่หลักฐานมัดตัวฟลินน์แน่น เขายังโกหกต่อรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ ด้วยเมื่อถูกถาม เมื่อความจริงถูกเปิดเผย ฟลินน์ก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะนั่งในตำแหน่งสำคัญนี้ได้ต่อไป แม้ทรัมป์อยากให้อยู่ก็ตาม เรื่องนี้แสดงถึงประสิทธิภาพและสมรรถภาพของระบบรัฐการอเมริกันที่ไม่ยอมสยบต่อผู้มีอำนาจรัฐอย่างเซื่องๆ

จากจุดนี้นี่เองที่สื่อมวลชนและกลุ่มประชาสังคม เริ่มตั้งคำถามว่าทีมหาเสียงของทรัมป์มีความเกี่ยวพันและสัมพันธ์อะไรกับทางรัสเซียไหม คำถามนี้สำคัญเพราะในทางกฎหมาย ต่างประเทศไม่สามารถเข้ามามีอิทธิพลและเคลื่อนไหวในการรณรงค์ทางการเมืองและการเลือกตั้งในอเมริกาได้ ถ้าทีมรณรงค์ทรัมป์ถูกจับได้ว่าติดต่อกับรัสเซีย ก็เรียบร้อย เพราะผิดกฎหมายอย่างเต็มประตู จึงไม่ต้องแปลกใจว่านับแต่วันแรกที่ฟลินน์ถูกจับได้ ฝ่ายทรัมป์ก็หาทางที่จะทำให้ข้อกล่าวหานี้มลายหายไปให้ได้

ทรัมป์ไม่ลังเลที่จะใช้อำนาจของประธานาธิบดีในการจัดการปัญหาขวางหน้า นั่นคือที่มาของการไล่ผู้อำนวยการเอฟบีไอ เจมส์ โคมีย์ ออกจากตำแหน่ง อย่างที่เรียกว่าปลดกลางอากาศ โดยไม่มีข่าวระแคะระคายมาก่อน เมื่อทรัมป์ตระหนักว่าโคมีย์ไม่ยอมยกเลิกการสอบสวนเรื่องรัสเซียกับการแทรกแซงการเลือกตั้ง แต่ดังได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่า กระทรวงยุติธรรมก็ไม่อาจทำตามใจทรัมป์ได้ทุกเรื่อง จึงนำไปสู่การแต่งตั้งมุลเลอร์ขึ้นมาสานต่องานของโคมีย์ต่อไป

 

คำถามที่คนอยากรู้คือ ในตอนจบ ทีมมุลเลอร์จะทำอะไรได้บ้าง ที่ปรึกษาหลายคนของทรัมป์กำลังเดินเข้าสู่ห้องพิพากษา แล้วจะมีวันที่ทรัมป์จะเดินตามคนเหล่านั้นไปไหม คำตอบที่ได้คือ คงจะยาก เพราะคณะกรรมการพิเศษมุลเลอร์ไม่ได้รับคำสั่งให้สอบสวนคดีอาญาของประธานาธิบดี กระทรวงยุติธรรมบอกแต่ต้นแล้วว่า ไม่สามารถดำเนินคดีทั้งหลายกับประธานาธิบดีที่กำลังอยู่ในตำแหน่งได้ นั่นคือเหตุผลที่ทีมมุลเลอร์ไม่ได้เจาะไปที่กิจกรรมผิดกฎหมายต่างๆ ที่ทรัมป์กระทำมา เพราะถือว่าอยู่เหนือหน้าที่ของคณะกรรมการ แต่ทีมอาจรวบรวมหลักฐานและข้อมูลต่างๆ ไว้ แล้วส่งมอบให้แก่หน่วยงานหรืออัยการแห่งรัฐให้พิจารณาดำเนินการต่อไป

ที่เป็นข่าวใหญ่ในสัปดาห์ต้นเดือนธันวาคมก็คือ การที่ทีมมุลเลอร์เริ่มส่งเรื่องและทำการฟ้องกล่าวหาผู้ต้องสงสัยที่ถูกสอบสวน (เรียกว่าการสัมภาษณ์) ให้แก่อัยการของรัฐ เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีกันต่อไป ผู้ถูกฟ้องคนสำคัญ ได้แก่ ไมเคิล ฟลินน์ ไมเคิล โคเฮน และพอล มานาฟอร์ต ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคนทำงานอยู่วงในของคณะหาเสียงของทรัมป์ทั้งสิ้น นักสังเกตการณ์บางคนถึงกับออกมาบอกว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของวาระสุดท้ายของโดนัลด์ ทรัมป์

อีกหนทางหนึ่งคือการดำเนินการทางการเมืองผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หนทางนี้ต้องอาศัยการลงคะแนนเสียงของประชาชน ตอนนี้พรรคเดโมแครตได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ส.ส.เดโมแครตรุ่นใหม่ไฟแรงต่างเสนอให้เดินเครื่องกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีเลย ในขณะที่แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนต่อไปบอกว่า ให้ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งรีบร้อน เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว หากประชาชนในเขตเลือกตั้งไม่สนับสนุนก็จะเป็นการทำลายตนเองก่อนเวลาอันควร

สรุปคือ ระบบการเมืองอเมริกันมีวิธีการและหนทางในการจัดการและแก้ไขวิกฤตทางการเมืองอยู่สองวิธี คือ หนทางแห่งกฎหมาย ซึ่งต้องอาศัยระบบยุติธรรมและศาลที่เข้มแข็งและมีความเที่ยงธรรม กับอีกหนทางหนึ่งคือ อาศัยเสียงสวรรค์ของประชาชนที่จะให้อาณัติสวรรค์แก่รัฐสภาในการถอดถอนประธานาธิบดี

หนทางที่ไม่เคยใช้และไม่มีฐานะในระบบการเมืองอเมริกัน คือการใช้กำลังอำนาจนอกระบบ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save