fbpx
“ศิลปินกับศิลปะคือกระจกสะท้อนภาพของสังคม” – มือบอน

“ศิลปินกับศิลปะคือกระจกสะท้อนภาพของสังคม” – มือบอน

สาธิตา เจษฎาภัทรกุล เรื่องและภาพ

 

สำหรับคนที่ติดตามผลงานในแวดวงศิลปะ น้อยคนนักที่จะไม่เคยได้ยินชื่อของ มือบอน (MUE BON) ศิลปินสตรีทอาร์ตไทยที่ดังไกลไปถึงระดับโลก และน้อยคนนักที่จะไม่เคยเห็นกราฟิตี้อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะนกสีดำดวงตากลมโตของเขา เพราะมันมักจะปรากฏตัวบนกำแพงของสถานที่ต่างๆ เพื่อบอกเล่าประเด็นร้อนแรงของสังคมขณะนั้นให้คนที่เดินผ่านไปมาได้ฉุกคิดอยู่เสมอ

แน่นอนว่าในห้วงเวลาที่การเมืองเข้มข้นร้อนแรงเช่นนี้ สีสันสตรีทอาร์ตของเขาก็ยิ่งสดสวยจัดจ้าน และบอกเล่าเหตุการณ์ในประเทศไทยตรงไปตรงมากว่าที่เคย นอกจากความสวยงามที่ชวนให้คนบันทึกภาพเก็บไว้เมื่อได้เยี่ยมชม สิ่งที่เราอยากให้บันทึกไว้ร่วมกัน คือเบื้องหลังของงานศิลปะเหล่านั้น เรื่องราวของเด็กชายจากสลัมที่รักในการวาดรูป ไม่เคยรู้ว่าบนโลกนี้มีอาชีพที่เรียกว่าศิลปิน และต่อสู้ดิ้นรนในระบบการศึกษาที่เหลื่อมล้ำ มองข้ามความสำคัญของวิชาศิลปะตลอดมา 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาการศึกษา และปัญหาด้านการถูกลิดรอนเสรีภาพการแสดงออก ทั้งหมดทั้งมวลนี้สะท้อนผ่านศิลปะและตัวตนศิลปิน ให้เราได้เห็นภาพสังคมไทยที่แท้จริงอย่างชัดแจ้ง ตามที่เขาได้บอกกับเราไว้ว่า “ศิลปินและศิลปะ คือกระจกสะท้อนภาพสังคม”

 

มือบอน (MUE BON)

 

“เราเห็นความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนตั้งแต่วัยเด็ก”

 

มือบอน หรือ บอน เติบโตมาในละแวกชุมชนแออัดย่านคลองสานติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา บรรยากาศเหมือนในหนังที่คนรวยมีบ้านใหญ่โตบนที่ดิน 1 ไร่ แต่อีก 1 ไร่ข้างๆ กันกลับเป็นพื้นที่ที่มีคนอาศัยอย่างเบียดเสียด และไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตสำหรับเด็ก

“เราเห็นการปล้นกัน ยิงกันเป็นเรื่องปกติ และด้วยความที่เราเป็นเด็กทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติ” บอนเล่า แม้หลังจากนั้นครอบครัวของบอนจะตัดสินใจย้ายบ้านไปยังชุมชนแห่งใหม่ แต่สภาพแวดล้อมกลับเรียกได้ว่าไม่แตกต่างไปจากเดิม ยกเว้นว่าจะมีการรวมตัวของกลุ่มเด็กและวัยรุ่นในพื้นที่กลายเป็น ‘แก๊งสเตอร์’ ซึ่งบอนเองก็เคยมีประสบการณ์เข้าร่วมกลุ่มเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  “ถ้าถามว่าเราเป็นอย่างเขาไหม เราเคยนะ แต่พอได้ลองแล้วก็ทำให้เราเห็นชัดเจนเลยว่านั่นคือความน่ากลัว มันมีแต่ความวุ่นวาย ไม่สนุก” 

“เอาเข้าจริงเด็กในสลัมก็พยายามผลักดันตัวเองเพื่อจะออกมาจากที่ตรงนั้น” เขาเสริม พร้อมให้ความเห็นว่าเด็กทุกคนล้วนมีความฝันอยากมีชีวิตที่ดี ไม่เว้นแม้แต่เด็กในสลัมอย่างเขาหรือเพื่อนๆ แต่เป็นเพราะปัญหาเชิงโครงสร้างที่เด็กในสลัมมีโอกาสได้สัมผัสมากกว่าที่ทำให้ใครหลายคนก้าวเข้าสู่หนทางไม่เหมาะไม่ควร 

“ส่วนตัวเรามองว่าจะอยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน เพราะปัญหาอยู่ที่สภาพสังคมในไทย เพียงแต่ว่าเราจะได้ใกล้ชิดกับปัญหามากแค่ไหน อย่างการอยู่ในสลัมมันใกล้กันขนาดฝาบ้านต่อฝาบ้าน มีปัญหาหลายอย่าง เราก็ต้องเรียนรู้ชีวิตแบบลองถูกลองผิดบ่อย ลองเพื่อรับรู้ว่าผลเสียคืออะไรแล้วก็ถอนตัวออกมา นอกจากนี้ เรื่องการสอนที่บ้าน การวิเคราะห์แยกแยะ และการใฝ่รู้ก็สำคัญ” 

ปัญหาเชิงโครงสร้างอีกหนึ่งเรื่องที่บอนได้เจอมาตั้งแต่เด็ก คือความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ถูกจำกัดด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ เขาเล่าว่า “เราเห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างชัดเจนตั้งแต่เด็ก เพราะตอนนั้น เรามีโอกาสไปเล่นกับลูกของคนรวยที่มีบ้านหลังใหญ่หน้าชุมชน เขาชวนเราเข้าไปเล่นในห้องสมุดที่บ้านเขา ซึ่งในห้องสมุดนั้นเต็มไปด้วยหนังสือความรู้รอบโลก เราตื่นตาตื่นใจกับการได้อ่านหนังสือที่เต็มไปด้วยความรู้ซึ่งมีราคาแพงมากในสมัยนั้น แต่แล้วในวันรุ่งขึ้น แม่เราก็ห้ามไม่ให้ไปเล่นที่บ้านเขาอีก เพราะพ่อแม่ของเพื่อนกลัวว่าเราจะไปขโมยของที่บ้านเขา เพราะเราเป็นเด็กที่มาจากสลัม แต่สำหรับเราแล้ว ความรู้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขโมยได้” 

“ตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่าทำไมเราเล่นกับเพื่อนไม่ได้ จากนั้นมาก็ไม่ได้เจอกันและไม่ได้ติดต่อกันอีก” เรียกได้ว่ามิตรภาพในช่วงนั้นถูกทำลายลงเพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำและชนชั้น และถึงแม้บอนจะมีเพื่อนๆ ในชุมชน แต่ตัวเขาเองก็ถูกเรียกว่าเป็น ‘เด็กแปลก’ สำหรับที่แห่งนี้

สาเหตุเป็นเพราะ “ชอบหนังสือการ์ตูนเลยพยายามฝึกอ่านหนังสือการ์ตูน” ภาพของบอนที่พยายามเรียนเขียนอ่านหนังสือและลงมือวาดรูปกลายเป็นภาพแปลกตาสำหรับเด็กคนอื่นๆ ยังไม่นับรวมถึงการเริ่มสะสมหนังสือการ์ตูนอย่าง ดราก้อนบอล โดเรม่อน เซนต์เซย์ย่า และสมุดวาดรูป จนเกิดเป็นห้องสมุดเล็กๆ ภายในบ้าน

“ตอนนั้นเรารู้ตัวว่าชอบวาดรูป ชอบศิลปะ ด้วยองค์ความรู้ที่มีตอนนั้น ทั้งเราและผู้ใหญ่ก็ไม่รู้ว่าการวาดรูปสามารถเป็นอาชีพได้ เขาก็แนะนำอาชีพวิศวกรหรือสถาปนิกให้เราแทน เพราะมันเกี่ยวกับการวาดรูปมากที่สุด ส่วนอาชีพศิลปินไม่ได้ถูกพูดถึงเลย” 

 

งานศิลปะของมือบอน (MUE BON)

 

“50% ของการศึกษาคือการช่วยเหลือตัวเอง”

 

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยอาจไม่ได้ให้ความสนใจด้านการศึกษาศิลปะมากนัก จึงไม่แปลกที่เด็กคนหนึ่งซึ่งมาจากสลัมจะไม่รู้จักอาชีพศิลปิน จนกระทั่งเขาได้ไปงานนิทรรศการศิลปะสมัยเรียน 

บอนเล่าว่า “หลังจากได้มีโอกาสไปงาน Art Exhibition โดยการชวนของเพื่อนที่เรียนวิจิตรศิลป์ ในงานนั้นเต็มไปด้วยรูปภาพ Abstract เราก็ดูกับเพื่อนไปขำไป เพราะดูไม่รู้เรื่อง แต่สิ่งที่เราได้กลับมาคือเราเพิ่งรู้ว่ามีอาชีพศิลปินแบบนี้ด้วย เป็นอาชีพที่วาดรูปอะไรก็ไม่รู้ ได้ทำตามใจตัวเอง แล้วก็มีคนมาชื่นชมผลงานเต็มไปหมด เรารู้สึกว่าอาชีพนี้มันมีเกียรติ”

“แต่ตอนนั้น เราก็ยังไม่เข้าใจว่าศิลปะคืออะไรหรือเป็นอย่างไร เรารู้แค่ว่าศิลปะคือการวาดรูป หรือคือทฤษฎีการใช้สีต่างๆ เรารู้สึกเลยว่านั่นคือความบกพร่องทางองค์ความรู้ของการศึกษาไทย ที่ควรจะสอนเด็กตั้งแต่เล็กว่าถ้าสนใจด้านนี้ โตไปในอนาคตจะสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง”

แม้จะยังไม่รู้ว่าจะเป็นศิลปินได้อย่างไร แต่บอนก็ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกใช้ชีวิตบนเส้นทางศิลปะ ตอนเรียนปวช. เขาจึงตั้งใจเรียนวิชาศิลปะอย่างมาก ทว่า ด้วยความที่การเรียนส่วนมากเป็นเนื้อหาเชิงทฤษฎีแทบทั้งหมด โดยหลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอนประกอบไปด้วยเรื่องทฤษฎีสี องค์ประกอบศิลป์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ และตกแต่งภายใน ทำให้ตัวเขารู้สึกว่าไม่มีอารมณ์ร่วมและไม่ได้รับประสบการณ์จริง

บอนจึงฝากความหวังไว้ที่การเรียนระดับมหาวิทยาลัย “ช่วงเรียนปวช. ตอนใกล้จบอาจารย์ก็แนะนำให้เราไปต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่มันกลับพลิกผันด้วยความคิดบ้าๆ จากตัวเราเอง หลายคนอยากไปต่อในที่ๆ ดีที่สุด แต่เราอยากเรียนในที่ๆ ไม่มีใครรู้จัก เวลาใครพูดถึงว่าเรียนที่นั่นก็จะได้นึกถึงเราก่อน 

“เราเชื่อว่า 50% ของการศึกษาคือการช่วยเหลือตัวเอง เก่งด้วยตัวเอง เราอยากพิสูจน์ว่าการศึกษามีส่วนสร้างความสำเร็จก็จริง แต่ความพยายามของเราน่าจะยิ่งใหญ่กว่า” 

เส้นทางการเรียนสายศิลปะของบอนอาจฟังดูราบรื่น เพราะทางบ้านของเขาก็พยายามสนับสนุนเต็มที่แม้ว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะไม่อยากให้เขากลายเป็นคนเกเร แต่ถ้าหากมองย้อนกลับไปในสมัยที่มือบอนยังร่ำเรียนอยู่นั้น การเข้าถึงศิลปะนับว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เนื่องจากอาชีพที่เกี่ยวข้องกับศิลปะยังไม่เป็นที่แพร่หลาย กระทั่งการเข้าถึงข้อมูลก็ต้องไปที่ห้องสมุดศิลปากร หรือห้องสมุดใหญ่ๆ เพื่อหาหนังสือ แถมบางครั้ง หนังสือที่มียังเป็นความรู้ที่ล้าหลังอีกด้วย

บอนจำได้แม่นว่าตอนที่เขาต้องการหาหนังสือศิลปะหลัง 2475 หรือการเมืองไทยหลัง 2475 เขาเจอแค่เล่มเดียวในห้องสมุดอันใหญ่โต ถือเป็นองค์ความรู้ที่มีอยู่แหล่งเดียว ต่างกับในปัจจุบันที่การเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ นับว่าเป็นเรื่องที่ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วจิ้มสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต 

“เมื่อก่อน การหา reference มาทำงานศิลปะต้องหาเอาตามหนังสือแม็กกาซีน หรือหนังสือเก่าๆ ที่ต้องตัดมาเก็บใส่แฟ้มรูป ตามหอสมุดนี่หนังสือจะแอบถูกตัดออกไปเป็นจำนวนมาก การถ่ายงานยังต้องใช้ฟิล์มสไลด์ถ่าย 3 stop เพราะเราไม่รู้ว่าจะออกมาดีไหมเลยต้องถ่ายเผื่อไว้” บอนว่า “เรียกได้ว่า การเรียนศิลปะสมัยก่อนโคตรลำบากและต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะมาก”

การเข้าถึงข้อมูลยากและแหล่งทรัพยากรความรู้ที่แตกต่างนี้เองที่ทำให้บอนตระหนักในที่สุดว่า สิ่งที่เขาคิดเกี่ยวกับการศึกษาในมหาวิทยาลัยมาตลอดเป็นเรื่องผิด “เราต้องไปมหาวิทยาลัยอื่นเพื่อจะได้รู้ว่าเขาเรียนอะไรกัน สิ่งนี้ทำให้เรารู้เลยว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต่างกันยังไง แม้จะเรียนวิชาคล้ายกัน แต่ทั้งคนสอน อุปกรณ์ สื่อการสอน การสนับสนุนของมหาวิทยาลัย และสภาพแวดล้อมสังคม มันช่างต่างกันเหลือเกิน มหาวิทยาลัยที่เราเรียนยังเหมือนสอนระดับปวช. อยู่เลย คือยังมีแนวคิดอนุรักษนิยมอยู่ สอนให้เด็กเชื่อง เขามองว่าถ้าคุณทำตามกฎระเบียบ หมายความว่าคุณเป็นเด็กดี ไม่ได้มองที่คุณภาพของผลงาน” 

จากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในวัยเด็กจนถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สิ่งที่รอบอนต่อจากนั้น คือการใช้ชีวิตในโลกจริงด้วยฐานะศิลปินที่เขาวาดหวัง

 

มือบอน

 

“งานศิลปะไม่ใช่เรื่องของคนรวย แต่เป็นของทุกคน”

 

ในประเทศไทย ความฝันเรื่องการเป็นศิลปินสร้างสรรค์งานศิลปะมักถูกผลักไปเป็นรองเสมอ ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่าไม่สามารถใช้เลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง 

บอนเองก็พบปัญหานั้นไม่ต่างกัน เขายอมรับว่าการเป็นศิลปินในช่วงแรกเรียกได้ว่า ‘ไส้แห้ง’ เพราะหาเงินจากการทำศิลปะในแบบของตนเองไม่ค่อยได้ “มันมีแค่ 2 วิธีที่จะเลี้ยงตัวเองได้ คือ เป็นอาจารย์พร้อมกับทำงานศิลปะ เน้นรับเงินจากการเป็นอาจารย์แล้วไปจุนเจืองานศิลปะถึงจะได้เป็นศิลปิน หรืออีกทางคือการไปต่างประเทศเพื่อไปเติบโตที่นั่น”

ถึงแม้ว่าการที่จะเติบโตในฐานะศิลปินจะยากลำบาก แต่บอนยังคงสู้ต่อ โดยพยายามรับจ้างทำงานศิลปะหรือทำหนัง เพื่อนำเงินที่ได้มาจุนเจือความเป็นศิลปินของตนเอง 

“การที่จะทำอะไรสักอย่าง ถ้าเราตั้งใจ มุ่งมั่น คิดว่าสิ่งที่เราทำคือสิ่งที่เราชอบ เรามีความสุข โอเคที่จะอยู่กับมัน มันก็สามารถอยู่กับเราได้ตลอดชีวิต”

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านการรับจ้างทำงานศิลปะ และผลิตงานศิลปะเพื่อจัดแสดงในแกลลอรี่ บอนพบว่าเขาอยากจะเล่าเรื่องราวในสังคมและความคิดของตนเองให้คนรับรู้มากกว่านี้ 

นี่จึงเป็นที่มาของการทำงานลงถนน และเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘มือบอน’ ในฐานะศิลปินสตรีทอาร์ต

“เราหวังว่าวันหนึ่ง สตรีทอาร์ตจะทำให้คนสนใจและเข้าใจในศิลปะได้ พอเวลาผ่านมา 10 ปี 20 ปี มันเปลี่ยนไปจริงๆ คนเริ่มเห็นงานศิลปะต่างกับสมัยก่อนมาก ยิ่งมีกล้องก็ยิ่งชอบการถ่ายรูป กลายเป็นการสนับสนุนงานศิลปะให้โตไวขึ้น เพราะมันไม่ได้อยู่ในที่ที่เฉพาะเจาะจง แต่มันอยู่ทุกที่ ในถนน ในห้าง ผสานไปกับชีวิตประจำวัน จนคนเริ่มรู้สึกใกล้ชิดกับศิลปะมากขึ้น 

“กลายเป็นว่าเรากำลังสร้าง taste ให้คนทั่วไป ให้เขารู้สึกว่างานศิลปะสามารถเข้าถึงได้ งานศิลปะไม่ใช่เรื่องของคนรวย แต่เป็นของทุกคน เพียงแค่เปิดใจ และพยายามมองหาความหมายของผลงานชิ้นนั้นๆ”

มือบอนยังบอกอีกว่า “น่าแปลกที่บอกกันว่า ศิลปะมักเป็นเรื่องของคนรวย สำหรับเรามองว่า ศิลปะคือเรื่องของชนชั้นที่เกิดมาจากประวัติศาสตร์ เริ่มต้นจากการรับใช้ศาสนา การเมือง และเศรษฐีมาก่อน ส่วนศิลปินก็เติบโตมาจากการรับใช้ชนชั้นนำที่มีอำนาจ เลยกลายเป็นว่าศิลปะเป็นเรื่องของคนรวย ทั้งการสนับสนุน ทั้งอุปกรณ์ที่มีราคาแพง แต่จริงๆ ศิลปินจำนวนมากเกิดมาจากชนชั้นล่างเกือบหมด เพียงแต่ต้องทำงานศิลปะรับใช้คนข้างบน 

ชนชั้นสูงเปรียบเหมือนผู้สนับสนุนวงการศิลปะ เพราะชนชั้นล่างหรือชนชั้นกลาง แค่เงินในการใช้ชีวิตยังไม่พอ จะเอาเงินที่ไหนไปซื้องานศิลปะชิ้นละหลายบาท มันต้องเป็นคนที่มีเงินเหลือถึงจะสะสมหรือสนับสนุนงานศิลปะได้ ภาพจำนี้เลยทำให้งานศิลปะดูเหมือนเป็นเรื่องของคนรวย ทั้งที่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะรวย หรือจนก็สามารถที่จะสนใจหรือชื่นชมงานศิลปะได้ การสะสมงานศิลปะอาจจะเป็นเรื่องของคนรวย แต่ศิลปะเปรียบเหมือนภาษาที่คอยเล่าเรื่องราวของคนในทุกชนชั้น

 

มือบอน

 

“ศิลปะเป็นอาวุธทางปัญญา”

 

การทำงานเล่าเรื่องราวผ่านกราฟิตี้บนถนนของเขาช่วงแรกโดนเพ่งเล็งและตำหนิตลอด เพราะภาพจำของกราฟิตี้ส่วนใหญ่มักถูกมองว่า เป็นการทำให้สถานที่เลอะเทอะเสียหาย จึงไม่ถูกมองว่าเป็นศิลปะ อย่างไรก็ตาม โชคดีที่ตำรวจไม่ได้มองว่าสิ่งที่เขาทำคืออาชญากรรมร้ายแรง แม้จะถูกตำรวจเรียกคุยเป็นบางคราว แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาน่าหนักใจอะไร จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ชื่อของมือบอนถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น เพราะกระแสความเข้มข้นของการเมือง และการที่ตำรวจเริ่มรู้มากขึ้นว่างานที่เขาทำหมายถึงอะไร 

โดยปกติ ผลงานศิลปะของมือบอนมักสื่อหรือตีความเกี่ยวโยงกับประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยเป็นประจำ เพราะเขามองว่านอกจากการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ แล้ว หน้าที่ของคนทำงานศิลปะคือการสะท้อนสังคม กระตุกให้คนได้คิด รวมถึงเปล่งความคิด ตัวตนของผู้สร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ และพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม 

“ศิลปะไม่ใช่อาวุธที่ไว้ใช้ฆ่าหรือทำร้ายใคร แต่เป็นอาวุธทางปัญญา คือสิ่งที่ปลุกคน ทำให้คนได้ตระหนักคิด ได้มองเห็นและคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้คนในสังคมได้มองเห็น พูดคุย ถกเถียง และวิเคราะห์

“ศิลปะมีประโยชน์และมีหลายฟังก์ชัน คือไม่ได้ทำได้แค่เสนอความงามเท่านั้น แต่สามารถให้ปัญญาคน หรือทำให้คนรุ่นใหม่ได้มองเห็นปัญหาและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นศิลปินหรือศิลปะจึงคล้ายกับกระจกที่ส่องสะท้อนภาพของสังคม” 

ผลงานที่เขาทำเพื่อสะท้อนสังคมมีอยู่หลายงาน เช่น งาน ‘วันเฉลิม’ ภาพกราฟิตี้บนกำแพงที่วาดเป็นรูปคาแรคเตอร์นกประจำตัวของมือบอนอยู่เคียงข้างป้ายประกาศตามหาคนหาย หรือนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ทำออกมาเพื่อตามหาบุคคลที่สูญหายและตั้งคำถามต่อรัฐบาล ซึ่งนอกจากผลงานดังกล่าวจะเป็นการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงเสรีภาพการแสดงออกที่ถูกทำลายลงทั้งที่เจ้าของไม่เต็มใจ

เราสะท้อนความจริง สิ่งที่เกิดขึ้นจริงผ่านงานศิลปะ แล้วโดนทุบทำลาย มันคือความรู้สึกที่แย่มากของประเทศนี้ ของผู้นำ หรือของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือของใครก็แล้วแต่ที่มีอำนาจในประเทศนี้ มันคือการปิดกั้นทางความคิด ไม่ให้แสดงความคิดเห็น ทั้งที่งานศิลปะไม่ทำให้ใครเลือดออกสักหยด และไม่ทำให้ฐานอำนาจของผู้มีอำนาจในประเทศนี้สั่นคลอนเลยสักนิด การทำลายงานสื่อให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรง และกลายเป็นว่า ไปเพิ่มอานุภาพของงานศิลปะให้ดังไปทั่ว ฟ้องคนทั้งโลก และถูกนำเสนอศิลปะนั้นมากขึ้นไปอีก 

“สุดท้ายผลงานชิ้นนี้เลยสมบูรณ์แบบเพราะเขามาทุบ มากไปกว่านั้น การส่งคนมาข่มขู่หรือคุกคามเราคือการสมยอมทางความอยุติธรรมของประเทศนี้ ที่กลัวศิลปะ กลัวการพูด ทั้งที่งานที่เราทำไม่ใช่การด่าใคร ไม่ใช่การเสียดสี ไม่ใช่ความรุนแรงหรือการยุยงปลุกปั่น มันไม่มีอารมณ์แบบนั้นเลย แต่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องคุณค่าของมนุษย์ แต่กลับกลายเป็นว่าเราต้องโดนกระทำ” 

 

ภาพผลงาน "วันเฉลิม" ซึ่งถูกทุบทิ้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
ภาพผลงาน “วันเฉลิม” ซึ่งถูกทุบทิ้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (ภาพจากเพจ MUE BON วันที่ 28 มิถุนายน 2563)

 

จริงอยู่ว่าการสร้างกราฟิตี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสถานที่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับมือบอนเป็นสิ่งที่เขามองว่า ตำรวจไม่ได้ทำในบริบทที่กราฟิตี้ผิดกฎหมาย แต่เป็นการทำในบริบทที่ความคิดของตัวเขากับสิ่งที่รัฐบาลอยากให้คิดไม่ตรงกัน จึงเกิดเป็นภาพความรุนแรงอย่างที่เราเห็น 

มือบอนเล่าต่ออีกว่า “เราคิดว่าตำรวจคงใช้คนงานมาทุบ แต่ตอนที่เขามาหาเรา เขามาพร้อมค้อน เราแบบ what the fuc* มาข่มขู่ไม่ให้เราทำงานแสดงความคิดเห็น ใช้กฎหมายข่มขู่เรา กลายเป็นว่าสิ่งที่เขาทำกลายเป็นตัวฟ้องว่าปัญหาที่ทุกคนพูดถึงเป็นเรื่องจริง”

การทำลายผลงานนับว่าเป็นความโหดร้ายสำหรับอาชีพศิลปินอย่างมาก สำหรับมือบอนแล้ว เขาบอกว่า “เราทำงานศิลปะเหมือนลมหายใจ เราทำประจำ ทำทุกวัน ทำตลอดเวลา แต่แล้ววันหนึ่ง มีคนสั่งห้ามเราทำงานศิลปะ มันเหมือนมีคนอุดจมูกไม่ให้เราหายใจ” 

“เมื่อไหร่ก็ตามที่ความเห็นต่างต้องโดนทำลาย มันไม่ใช่วิถีของเสรีภาพและไม่ใช่วิถีของประชาธิปไตย เพราะความแตกต่างคือความงดงามของประชาธิปไตย” มือบอนกล่าว พร้อมเสริมว่า “ไม่มีทางที่เราจะเจอทางออกที่สมบูรณ์แบบได้ ตราบใดที่คนชั้นสูงยังกดขี่คนชั้นล่างก็ไม่มีทางที่จะเกิดความสงบสุข คุณต้องไม่กดประชาชน และต้องทำให้ทุกอย่างมีเสรีภาพ พูดได้ ถามคำถามได้ คุณก็มีสิทธิเสรีภาพในการตอบคำถามประชาชน 

การที่คุณปิดปาก ใช้ความรุนแรง กล่าวให้ร้าย หรือใช้อำนาจทางกฎหมายที่อยุติธรรมในการฟาดฟันเขา เราว่ามันไม่ใช่วิถีของสันติวิธี แต่คืออำนาจนิยมเต็มรูปแบบ” 

“ทุกวันนี้เรายังกังวลว่าเขาจะตามเราไปที่ไหน คือเขาไม่ได้ขู่แบบธรรมดา แต่ขู่ใช้กฎหมาย อยากจะให้พิซซ่า ซึ่งแม่งแย่มาก เรามองว่าจริงๆ แล้ว งานของเราแค่ชิ้นเดียวไม่ได้เปลี่ยนแปลงเรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้ได้หรอก แต่สิ่งที่พวกคุณทำกับงานศิลปะต่างหากที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

 

มือบอน

 

สุดท้าย หากถามว่าทำไมศิลปินอย่างเขาถึงได้สนใจการเมืองขนาดนี้ มือบอนให้คำตอบว่า เพราะการเมืองเกี่ยวข้องกับเราทุกคน ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ สุดท้ายแล้วการเมืองจะมาหาคุณเอง

ถ้าการเมืองแย่ ไม่มั่นคง ไร้เสถียรภาพ ขาดความมั่นจากนักลงทุน นักธุรกิจก็จะไม่กล้าเสี่ยงลงทุน ไม่เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ไม่มีการว่าจ้าง ไม่มี Event หรืออะไรก็ตามที่เป็นกิจกรรมสนับสนุนศิลปิน ศิลปะก็โตไม่ได้ อีกอย่างคือเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรมีก็จะถูกลิดรอน”

มือบอนทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า “ถ้าการเมืองดี ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก บางทีเราอาจจะได้เห็นงานศิลปะที่มีการแสดงออกอย่างเมามันส์มากกว่านี้ แต่ตอนนี้ศิลปินในประเทศไทยเซนเซอร์ตัวเองอยู่พอสมควร เพราะไม่งั้น รัฐก็จะมาเซนเซอร์ให้ศิลปินแทน”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save