fbpx

ชีวิต ‘สายมู’ : การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในยุคเศรษฐกิจ ‘ความเร็วสูง’

ท่ามกลางแดดจัดและอากาศร้อนอบอ้าว วัยรุ่นที่ยืนต่อคิวรอเช่าวัตถุมงคลท้าวเวสสุวรรณแห่งวัดจุฬามณีอยู่ข้างหลังฉันกำลังเทรดเงินคริปโตบนแอปพลิเคชันในมือถืออย่างใจจดใจจ่อ ขณะที่พี่ชายที่ยืนอยู่ข้างหน้านั้นกำลังประคองผ้ายันต์ใส่กรอบขนาดใหญ่ราวครึ่งเมตร เขาและภรรยาเพิ่งถูกหวยรางวัลใหญ่ และกิจการที่ทำอยู่ก็กำลังไปได้ดีอย่างที่คาดหวัง

บนศาลากลางเวิ้งน้ำเงียบสงบในจังหวัดอุดรธานี – ที่ตั้งของศาลเจ้าแม่นาคี เจ้าของแบรนด์เครื่องประทินผิวรายหนึ่งและครอบครัวบรรจงวางผลิตภัณฑ์ของเธอลงบนพานสีทองเพื่อถวายแด่เจ้าหญิงนาคีที่เชื่อกันว่าเป็นหลานสาวของพ่อปู่ศรีสุทโธนาคราชและแม่ย่าปทุมมา โดยเธอหวังว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยดลบันดาลให้ผลิตภัณฑ์ขายดี

ที่วัดพระธาตุดอยคำ จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มพนักงานธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งใช้เวลาระหว่างพักกลางวันเดินทางมาขอพรหลวงพ่อทันใจ ให้พวกเขาทำยอดขายได้ทะลุเป้าในเดือนนี้ ในวันเดียวกันนั้น นายหน้าอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่งนำพวงมาลัยดอกมะลิจำนวนแสนพวงมาถวายแก้บนหลังจากที่เขาขายที่ดินได้สำเร็จ

ศาลเจ้าแม่นาคี อ่างเก็บน้ำท่ามะนาว จังหวัดอุดรธานี

งานวิจัยเรื่อง ‘การตลาดของคนอยู่เป็น’[1] ประมาณการณ์ว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา มีประชาชน ถึง 52 ล้านคนที่พึ่งพาสิ่งเหนือธรรมชาติและโชคลางเพื่อจัดการกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นในยุคปัจจุบัน ช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงครามขอปิดวัด 15 วัน เพื่อสร้างลานจอดรถขนาด 23 ไร่ เนื่องจากลานจอดรถที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอกับจำนวนรถของผู้ที่มาสักการะท้าวเวสสุวรรณหลายพันคนในแต่ละวัน[2] ปรากฏการณ์ทางศาสนาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นสามัญนี้ ถูกเรียกอย่างมีนัยทางลบว่า ‘พุทธพาณิชย์’ บ้าง หรือเป็น ‘ความงมงาย’[3] บ้าง หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้า ความเชื่อเหล่านี้ก็อาจถูกเรียกว่าเป็นการ ‘นับถือผี’ ซึ่งมีนัยว่าเป็นความล้าหลังและไม่ใช่ ‘พุทธแท้’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่นักวิจารณ์สังคม ตลอดจนองค์กรทางศาสนาต่างๆ มองว่าเป็นสัญญาณแห่งความเสื่อมของพุทธศาสนา

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในประเด็นศึกษาสำคัญของวงวิชาการด้านศาสนาในสังคมไทยที่ถูกนำมากล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อมีความกังวลว่าพุทธศาสนานั้นกำลังถูกบิดเบือน หรือไม่เป็น ‘วิทยาศาสตร์’ งานศึกษาทางมานุษยวิทยาจำนวนมากเชื่อมโยงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าเป็นผลของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะลัทธิบริโภคนิยม พุทธศาสนาถูกมองว่ากลายเป็นสินค้า มีการนำเอากลวิธีทางการตลาดมาใช้กับปฏิบัติการทางศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายที่ได้รับความนิยมถูกมองว่าเป็นที่พึ่งทางใจให้กับผู้คนที่เผชิญความทุกข์จากสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและสังคมที่ไม่มั่นคง[4] 

สำหรับฉันแล้ว คำอธิบายสูตรสำเร็จที่ดูเป็นเหตุเป็นผลนี้ฟังดูหม่นๆ ไม่เข้ากับบรรยากาศอันมีสีสันและชีวิตชีวาของวัดพระธาตุดอยคำ วัดจุฬามณี และคำชะโนดเอาเสียเลย ณ พื้นที่แห่งศรัทธาเหล่านี้ เครื่องขยายเสียงจะคอยบอกเล่าถึงตัวอย่างของการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งจำนวนหลายใบและความสำเร็จในธุรกิจอย่างรวดเร็วทันใจ พวงดอกมะลินับพันและชุดบายศรีรูปพญานาคอันวิจิตรราคาเรือนแสนที่ตั้งอยู่ตรงหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนการฟ้อนรำแก้บนที่มีการใช้ควันจากดรายไอซ์สร้างบรรยากาศ ทำให้ฉันต้องทบทวนคำอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและปฏิบัติการทางจิตวิญญาณในสังคมไทยปัจจุบัน

ศาลพญานาคดำปู่นิลกาฬ จังหวัดกาญจนบุรี

ความไม่แน่นอนของชีวิตกับเศรษฐกิจ ‘ความเร็วสูง’

“เมื่อก่อนตอนทำงานบริษัท รู้แน่ๆ ว่าเดือนนี้จะได้เงินเท่าไหร่ มีเพดานอยู่ พอรู้ว่าได้เงินเดือนแน่นอนก็ไม่มีความจำเป็นต้อง ‘มู’ แม้ว่าเงินจะไม่เยอะมากแต่รู้สึกมั่นคง ไม่รวย แต่เงินไม่ขาดแน่ๆ แต่พอมาทำธุรกิจเอง ไม่มีเพดานแล้ว ความเป็นไปได้ก็มาก ความเสี่ยงก็มาก และเราก็มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้าหรอกว่าที่ลงทุนไปจะได้กลับมาหรือขาดทุน ก็ต้องมีความเชื่อ มีความมั่นใจว่าลงทุนแล้วจะได้กำไร ไม่อย่างนั้นก็ไม่กล้าทำอะไร อะไรที่คนบอกว่าจะช่วยได้ ก็ต้องเอาทุกทางให้มีความเชื่อมั่นว่าทำแล้วจะได้ผลสำเร็จ เราก็ทำบุญ ต้องไหว้ไว้ก่อน” มิตรสหาย ‘สายมู’ ของฉันอธิบายว่าทำไมเธอจึงต้อง ‘มู’

คำว่า ‘มู’ ที่ย่อมาจาก ‘มูเตลู’ นี้ น่าจะปรากฏใช้ในสังคมไทยราวปี 2558 และถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เดิมหมายถึงการใช้เครื่องรางของขลัง หรือไสยศาสตร์ เชื่อกันว่าคำนี้มีที่มาจากภาพยนตร์อินโดนีเซียที่มีชื่อไทยว่า ‘มูเตลู ศึกไสยศาสตร์’[5]) ซึ่งมีเนื้อเรื่องหลักเกี่ยวกับผู้หญิงสองคนที่ใช้ไสยศาสตร์แย่งชิงผู้ชายคนเดียวกัน ปัจจุบัน คำว่า ‘มู’ ถูกใช้ในความหมายที่กว้างขึ้น โดยนอกจากหมายถึงการใช้เครื่องรางของขลังแล้ว ยังรวมถึงการไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อีกด้วย

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ ‘ความไม่แน่นอน’ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาอย่างปัจจุบันนี้ มิตรสหายสายมูของฉันต้องปรับตัวพร้อมรับความเสี่ยงอยู่เสมอ เธอเล่าว่า “เราต้องเปลี่ยน ต้องลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ของทุกอย่างมีช่วงเวลาของมัน จะขายได้ช่วงหนึ่งเท่านั้นแหละ ยิ่งช่วงโควิดแบบนี้ ร้านเปิดไม่ได้ ก็ต้องคิดว่าจะทำอะไรออกมาขายให้มีรายได้ประทังไปก่อน ก็ต้องเสี่ยงกันไปเรื่อยๆ”

เรื่องราวของเธอสะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างศาสนากับวิถีชีวิตของผู้ประกอบการในสังคมเสรีนิยมใหม่ ที่ความไม่มั่นคง ความเปลี่ยนแปลง และความเสี่ยง กลายเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน พวกเขาเผชิญกับ ‘ช่องว่าง’ ระหว่างปัจจุบันกับอนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกครั้งที่ลงทุนหรือเผชิญกับปัญหาที่ส่งผลกับธุรกิจ เช่น การระบาดของโควิด-19 ที่มาพร้อมกับมาตรการที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย[6]

Hartmut Rosa (2013) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันเสนอว่ารูปแบบชีวิตที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนนี้ เป็นอาการของสังคมปลายสมัยใหม่ (late modernity) อันเป็นยุคสมัยแห่งการเร่งความเร็วทางสังคม (social acceleration) ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ทักษะและองค์ความรู้ต่างๆ มีอายุการใช้งานที่สั้นลง ความรู้ที่เคยใช้ได้กับสังคมแบบหนึ่ง ก็อาจใช้ไม่ได้ในอนาคตอันใกล้ ผลที่เป็นรูปธรรมของสังคมเร่งความเร็วที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งได้แก่การที่คนในปัจจุบันมีการเปลี่ยนอาชีพหลายครั้ง หรือทำหลายอาชีพ ระยะเวลาของสัญญาจ้างงานก็สั้นลง แม้ว่าบางคนอาจจะอยู่ในสถานะที่มั่นคงแต่ก็มักมีสำนึกว่าความมั่นคงนั้นไม่จีรัง และต้องแสวงหากิจกรรมหรือวิธีที่จะช่วยขยายเวลาแห่งความมั่นคงนั้นออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นผู้คนจึงต้องแสวงหาโอกาส เครื่องมือ และความรู้ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อจัดการกับความไม่มั่นคงที่เป็นสำนึกแห่งยุคสมัย[7]

Robert Hassan นักวิชาการด้านการสื่อสารและการเมืองมองว่าความไม่แน่นอนอันซับซ้อนและหลากหลายนั้น เป็นผลของเสรีนิยมใหม่ซึ่งเขาเรียกด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า Networked-hyper economy หรือ ‘เครือข่ายเศรษฐกิจความเร็วสูง’[8] ทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่นั้นให้คุณค่ากับการเร่งความเร็วของการเปลี่ยนการผลิตให้กลายเป็นการสะสมทุน โดยตรรกะดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่การสะสมทุนแบบยืดหยุ่นที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก[9]

Hassan เสนอต่อไปว่า เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันนั้นถูกผลักให้เคลื่อนไปด้วยอุปทานของกำไรอันเป็นนามธรรม การเพิ่มศักยภาพการผลิต การแลกเปลี่ยน และความเร็วของการบริโภค ซึ่งเร่งจังหวะชีวิตในระดับปัจเจกและเร่งการแข่งขันในระดับองค์กรธุรกิจ ความคลั่งไคล้ในความเร็วของลัทธิเสรีนิยมใหม่นั้นเห็นได้จากกลไกของตลาดหุ้น ตลาดเงินตรา และการลงทุน ซึ่งถูกทำให้เป็นไปได้ด้วยโครงข่ายคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงที่ทำงานทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เศรษฐกิจแบบนี้เป็นเกมแห่งการคาดเดาความเร็วสูงที่ ‘เวลาคือเงิน’ เพราะความผันผวนของมูลค่านั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการซื้อขายลงทุนต้องเกิดขึ้นในวินาทีที่เหมาะสม ความผันผวนที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้ลงทุน แต่ยังส่งผลถึงลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่ถูกซื้อขายในตลาดหุ้นด้วย

เศรษฐกิจความเร็วสูงนี้ดำรงอยู่ได้บนความไม่เสถียรและความไม่สามารถคาดเดาได้ Hassan มองเศรษฐกิจความเร็วสูงนี้ว่าเป็นสาเหตุแห่ง ‘ความกังวลที่ล้นเกิน’ (hyper-anxiety) ซึ่ง Hassan เรียกว่าเป็นโรคระบาดอันมีต้นกำเนิดมาจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเพราะการเร่งความเร็วทางสังคม เป็นความกังวลอันเกิดจากความล้มเหลวในการทำความเข้าใจและหยั่งรู้ว่ามีอะไรรอเราอยู่ในอนาคต จะเห็นได้ว่า ความไม่แน่นอนและการเร่งความเร็วนั้นต่างทำงานเชื่อมโยงกัน สังคมเร่งความเร็วสร้างความไม่แน่นอน ในขณะที่ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นก็ผลักให้สังคมเร่งความเร็วมากขึ้น

คำอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของศาสนากับความไม่แน่นอนในงานศึกษาด้านศาสนาที่ผ่านมามักกล่าวถึงความไม่แน่นอนในฐานะผลด้านลบของเศรษฐกิจและสังคมแบบเสรีนิยมใหม่อย่างที่ Rosa และ Hassan ได้เสนอไว้ข้างต้น ศาสนาจึงมักถูกอธิบายว่าเป็นเครื่องมือจัดการกับ ‘ปัญหา’ ของความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม Limor Saminmian-Darash[10] นักมานุษยวิทยาผู้สนใจประเด็นเกี่ยวกับความไม่แน่นอนเสนอว่า ในสังคมปัจจุบัน ความไม่แน่นอนนั้นกลับเป็นสิ่งมีคุณค่า การคาดการณ์ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นไม่สำคัญเท่ากับการมองว่าในอนาคตจะมีอะไรที่เป็นไปได้บ้าง โดยเฉพาะความเป็นไปได้ใหม่ๆ ความไม่แน่นอนนั้นกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างโอกาสในการสะสมทุนให้ได้มากและเร็วที่สุด

Christina Garsten[11] นักมานุษยวิทยาผู้สนใจประเด็นเกี่ยวกับแรงงานในโลกเสรีนิยมใหม่ยังชี้ให้เห็นว่า วิถีชีวิตที่ไม่มั่นคงนั้นกลายเป็นค่านิยมของยุคสมัย ภายใต้วาทกรรมผู้ประกอบการที่เชิดชูเสรีภาพและการเป็นนายตัวเองในการสร้างโอกาสในการสะสมทุน

เรื่องเล่าเกี่ยวกับอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการบันดาลโชค ยอดขาย และกำไรมหาศาลที่ฉันมักจะได้ยินจากเหล่าผู้มีศรัทธานั้นแสดงให้เห็นการเข้าใจอนาคตในฐานะความไม่แน่นอนที่หมายถึงโอกาสในการเปลี่ยนแปลง โอกาสในการสะสมทุนให้ได้มากในเวลาที่รวดเร็ว และการไม่มีขีดจำกัดของความเป็นไปได้ ดังที่เจ้าอาวาสวัดชื่อดังแห่งหนึ่งได้สอนฉันซึ่งไม่เคยซื้อลอตเตอรี่ว่า อย่างน้อยฉันควรจะซื้อติดตัวไว้งวดละ 1 ใบ เป็นการเปิดโอกาสให้กรรมดีส่งผล เพราะชีวิตไม่แน่นอน เราไม่อาจรู้ได้ว่าโชคลาภจะมาถึงเมื่อใด ควรจะเปิดประตูรอไว้ ท่านยังยกตัวอย่างประกอบว่า มีชายคนหนึ่ง กำลังจะซื้อลอตเตอรี่แต่ภรรยาของเขาห้ามไว้ ในภายหลังปรากฏว่าลอตเตอรี่ใบนั้นถูกรางวัลที่ 1 เขาเสียใจอยู่นานจนต้องมาขอพรที่วัดแห่งนี้

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในฐานะกลไกหนึ่งของเสรีนิยมใหม่

ท้าวเวสสุวรรณ วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความหวังที่มีกลิ่นผสมปนเประหว่างควันธูปเทียน ฝูงชน และกลิ่นธนบัตร พ่อปู่-แม่ย่า หรือพี่ๆ ป้าๆ ลุงๆ ที่ฉันมองไม่เห็นนั้นดูจะยิ่งใหญ่กว่าการเป็น ‘ที่พึ่งทางใจของผู้คนในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ’ แม้ว่า ‘ที่พึ่งทางใจ’ มักจะเป็นคำตอบแรกๆ ที่พวกเขานึกออกเมื่อถูกถามด้วยคำถามที่ฟังดูวิชาการและดูไม่เชื่อว่าสิ่งเหนือธรรมชาติจะเป็นมากกว่าจินตนาการของมนุษย์ แต่เมื่อข้ามพ้นความเกร็งจากการพูดคุยกับคนแปลกหน้าไปแล้ว ฉันพบว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ดูมีชีวิตชีวาในน้ำเสียงบอกเล่าของผู้มีจิตศรัทธาเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขากับสิ่งเหนือธรรมชาติที่พวกเขานับถือ หลายๆ ครั้ง ‘ปู่’ ก็ได้พบกับลูกหลานในนิมิตเพื่อให้พวกเขามาหาและให้โชคลาภ บางคนก็มี ‘สายญาณ’ ผูกพันกับญาติผู้ใหญ่อันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา

สิ่งศักดิ์สิทธิ์มิได้เป็นเพียงที่พึ่งทางใจเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้กระทำการสำคัญในเศรษฐกิจความเร็วสูงที่มีความไม่แน่นอนเป็นหัวใจสำคัญอีกด้วย อำนาจที่อยู่เหนือตรรกะแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ของพวกเขาสร้างที่ทางให้กับความเป็นไปได้ที่ไม่ต้องการความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างเหตุและผล และมีส่วนช่วยหล่อลื่นเศรษฐกิจแห่งความไม่แน่นอนให้ยังคงทำงานได้ต่อไป

ในมุมมองของนักคิดชาวตะวันตกอย่าง Rosa หรือ Hassan ‘สังคมเร่งความเร็ว’ อย่างที่พวกเขาอธิบายนั้นขับเคลื่อนด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและทุนนิยมเป็นสำคัญ แม้แต่งานที่กล่าวถึงวัฒนธรรมของความเร็ว ก็เน้นให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีในฐานะสิ่งที่กำหนดวัฒนธรรมโดยไม่มีการพูดถึงมิติทางจิตวิญญาณแต่อย่างใด[12] ปรากฏการณ์ทางศาสนาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทำให้เห็นว่ามิติทางจิตวิญญาณนั้นมิได้ติดอยู่ในอดีตกาลหรือขอบเขต ‘ส่วนบุคคล’ อย่างที่ผู้ที่สมาทานกรอบคิดแบบสมัยใหม่เข้าใจ แต่กำลังทำงานเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่กำลังครองโลกได้เป็นอย่างดี


*บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง ‘ความเร่งทางศาสนา: พุทธศาสนาประชานิยมกับเวลาแห่งความแน่นอนที่หดสั้นลงในสังคมไทยปัจจุบัน’ ภายใต้โครงการวิจัย ‘ฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย’ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประเภททุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) โดยมี รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เป็นหัวหน้าโครงการ

References
1 บุญยิ่ง คงอาชาภัทร. (2564). การตลาดของคนอยู่เป็น. วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
2 https://www.thairath.co.th/news/local/central/2282607
3 สยามรัฐออนไลน์. https://siamrath.co.th/n/230452
4 Kitiarsa, P. (2011). Mediums, Monks, and Amulets: Thai Popular Buddhism Today. Silkworm books.; Taylor, J. (1999). (Post‐) Modernity, remaking tradition and the hybridisation of Thai Buddhism. Anthropological Forum, 9(2); Scott, R. M. (2009). Nirvana for Sale? State University of New York.; Johnson, A. A. (2012). Naming chaos: Accident, precariousness, and the spirits of wildness in urban Thai spirit cults. American Ethnologist, 39(4). Salemink, O. (2011). Spirits of consumption and the capitalist ethic in Vietnam. In Religious commodifications in Asia.
5 Penangkal limu Teluh (1979
6 Samimian-Darash, L Governing Future Potential Biothreats : toward an Anthropology of Uncertainty. Current Anthropology, 106(1).
7 Rosa, H. (2013). Social Acceleration. Columbia University Press.
8 Hassan, R. (2009). Empires of speed: Time and the acceleration of politics and society.
9 Harvey, D. (1989). The Condition of Postmodernity.pdf.
10 Samimian-Darash, L. (2019). Uncertainty by Design : Imagining and Enacting Future Scenarios , the Hebrew University of Jerusalem.
11 Garsten, C. (2008). Workplace Vagabonds: Career and Community in Changing Worlds of Work.  Palgrave.
12 Bertman, S. (1998). Hyperculture: The Human Cost of Speed-Praeger. Praeger.; Tomlinson, J. (2007). The culture of speed. In Paper Knowledge . Toward a Media History of Documents.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save