fbpx
เมีย 1850 และเรื่องน่าอับอายของคุณนายโรบินสัน

เมีย 1850 และเรื่องน่าอับอายของคุณนายโรบินสัน

ธร ปีติดล เรื่อง 

 

“ในความอ้างว้างของชีวิตแต่งงานของฉัน ฉันจะมีอะไรอื่นไว้คอยปลอบโยนนอกจากการเขียนอย่างโดดเดี่ยว ฉันจะหลบหนีไปในโลกของฉันที่ไม่มีใครอื่นเข้ามาได้ มีแค่เพียงเวลาที่ฉันได้เขียนเท่านั้นที่ฉันยังรู้สึกมีตัวตน…เพราะทุกสิ่งที่ฉันเขียนลงไปนั้นเป็นของฉัน”

เรื่องน่าอับอายของคุณนายโรบินสัน

 

เรื่องน่าอับอายของคุณนายโรบินสัน

‘เรื่องน่าอับอายของคุณนายโรบินสัน’ (Mrs.Robinson’s Disgrace) เป็นหนังสือแนวสารคดีที่เล่าเรื่องราวเจาะลึกชีวิตผู้หญิงในสมัยวิคตอเรียน พร้อมไปกับการเล่าถึงชีวิตแต่งงานที่ล้มเหลวและความปรารถนาที่จะได้มีรักอื่นของตัวละครเอก สารคดีเรื่องนี้ยังชวนผู้อ่านท่องไปในโลกของสังคมอังกฤษยุควิคตอเรียน (1837-1901) ฉายภาพของช่วงเวลาสำคัญที่จริยธรรมแบบกดขี่สตรีเพศกำลังเฟื่องฟู ถ่ายทอดเป็นมรดกไปสู่สังคมอื่นๆ อีกมากมายในร้อยกว่าปีต่อมา

ผู้เขียนสารคดีเรื่องนี้คือ Kate Summerscale เชี่ยวชาญงานเขียนสารคดีเกี่ยวกับสังคมยุควิคตอเรียน เธอโด่งดังมาแล้วจากงานอีกชิ้นคือ ‘The Suspicions of Mr.Whicher’ สารคดีการสืบสวนคดีฆาตกรรมที่ได้รับรางวัล Samuel Johnson ในปี 2008 งานเขียนของ Summerscale เก็บรายละเอียดมากมายของสังคมอังกฤษยุควิคตอเรียนไว้เป็นอย่างดี จนผู้อ่านประหนึ่งได้ก้าวย้อนเวลาเข้าไปอยู่ในอดีต

ตัวละครหลักใน เรื่องน่าอับอายของคุณนายโรบินสัน คืออิสเบลล่า เธอเกิดในสังคมชั้นสูง อยู่ในฐานะความมั่งคั่งระดับหนึ่งเปอร์เซ็นต์บนสุด อิสเบลล่าเคยแต่งงานมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อแรกเริ่มเข้าสู่วัยสาว แต่เพียงไม่นานสามีคนแรกของเธอก็เสียชีวิต เธอกลายมาเป็นคุณนายโรบินสันเมื่อแต่งงานครั้งที่สองกับนักธุรกิจชื่อเฮนรี่ โรบินสัน ทุกอย่างในชีวิตเธอควรจะไปได้ดี เสียแต่ว่าเธอไม่ได้มีความสุขกับชีวิตการแต่งงานครั้งใหม่นี้เลย

เธอไม่ได้ชอบเฮนรี่แต่แรก แต่ด้วยมองว่าเขามีความมุ่งมั่นจะพิชิตใจเธอ กอปรกับฐานะการเป็นแม่ม่ายที่เริ่มมีอายุ เธอจึงยอมเลือกเขา แต่เมื่อแต่งงานไปแล้ว เฮนรี่มักจะทอดทิ้งเธออยู่เสมอ เขามักจะเดินทางจากไปเป็นเวลานานโดยอ้างความจำเป็นทางธุรกิจ และเมื่อเธอได้รู้ถึงนิสัยใจคอที่แท้จริงของเฮนรี่ในเวลาต่อมา เธอพบว่าเธอกลับรังเกียจเขาสุดหัวใจ เธอมองว่าเขาหิวกระหายเพียงจะได้เงินทองทรัพย์สมบัติ เฮนรี่ยึดเอาทรัพย์สินที่ครอบครัวเธอให้เธอไว้ไปครอบครองเป็นของตัวเอง แล้วเธอยังพบอีกว่า การเดินทางจากไปบ่อยๆ ของเขาซ่อนจุดประสงค์อื่นไว้ เฮนรี่มีภรรยาน้อยอยู่อย่างน้อยสองคน แถมยังมีลูกนอกสมรสกับพวกเขาด้วย เธอกล่าวไว้ในไดอารี่ของเธอว่า

“ฉันรู้อยู่ตลอดเวลาว่าสามีของฉันมีจิตใจที่แสนโลภและโหดร้าย แต่ฉันก็ไม่อาจต้านทานอะไรเขาได้ ได้แต่เพียงทนให้เขาพลัดพรากสิ่งต่างๆ ไปจากฉัน”

อิสเบลล่าก็เหมือนกับผู้หญิงคนอื่นๆ ในสังคมอังกฤษยุควิคตอเรียนที่ไม่มีทางออกใดจากการแต่งงานที่ล้มเหลว การจะหาทางหย่าขาดจากสามีในบริบทดังกล่าวเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ แม้หากพวกเธอจะฟ้องหย่า สามีก็จะเป็นคนที่กุมความได้เปรียบไว้ทั้งหมด อิสเบลล่ากลัวอย่างที่สุดว่าหากต้องหย่าขาด ลูกๆ ก็จะถูกพลัดพรากไปจากเธอ

หากเกิดในยุคสมัยที่ผู้หญิงมีโอกาสได้แสดงความสามารถในการคิดอ่าน อิสเบลล่าคงนับเป็นผู้หญิงที่เก่งคนหนึ่ง เธอชื่นชอบการได้เรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ มีหัวคิดก้าวหน้า ชอบการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักเขียนนักวิชาการ ซึ่งพวกเขาก็มักจะรู้สึกประทับใจเมื่อได้แลกเปลี่ยนกับความคิดกับเธอเช่นกัน

ในปี 1850 ครอบครัวของเธอย้ายไปอยู่ที่เอดินเบอระ และเธอก็ได้พบกับ เอ็ดเวิร์ด เลน นายแพทย์หนุ่มที่เธอหลงรักทันทีแต่แรกพบ เอ็ดเวิร์ดกลายเป็นเป้าแห่งแรงปรารถนาของเธอ แม้ว่าทั้งเธอและเอ็ดเวิร์ดต่างก็มีครอบครัวอยู่แล้ว อิสเบลล่ากับเอ็ดเวิร์ดแอบสานสัมพันธ์อย่าเงียบๆ ในช่วงเวลาหลายปีต่อมา

พยานในความสัมพันธ์รักระหว่างเธอกับเอ็ดเวิร์ดมีเพียงสิ่งเดียว คือไดอารี่ของเธอ ในสังคมวิคตอเรียนที่ผู้คนถูกสั่งสอนให้เก็บความรู้สึกแท้จริงต่อกันไว้ พวกเขามักจะหันไปสู่การเขียนไดอารี่เพื่อระบายความรู้สึกที่เก็บไว้ในใจ อิสเบลล่าก็เช่นกัน เธอรู้สึกว่าชั่วขณะเดียวที่เธอจะสามารถมีตัวตนเป็นของตัวเองได้ ก็คือตอนที่ได้บันทึกความนึกคิดและความรู้สึกอย่างเสรีลงในไดอารี่

แต่แล้ววันหนึ่งสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ในขณะที่เธอกำลังนอนป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เฮนรี่ก็ไปเปิดโต๊ะทำงานและนำเอาไดอารี่ของเธอมาอ่าน

จริยธรรมแบบวิคตอเรียน

เรื่องน่าอับอายของคุณนายโรบินสัน ไม่เพียงแต่เล่าถึงชีวิตรักและการแต่งงานของผู้หญิงในยุควิคตอเรียน แต่ยังเก็บเอาแง่มุมที่น่าสนใจของยุคสมัยดังกล่าวมาถ่ายทอดอีกหลายประการ โดยเฉพาะด้านจริยธรรม

สังคมอังกฤษยุควิคตอเรียนเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว วิทยาการการค้นพบใหม่มากมายเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเรืองอำนาจทางเศรษฐกิจของอังกฤษยุคเจ้าอาณานิคม พร้อมกันนี้มุมมองต่อโลกของพวกเขาก็กำลังเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การนำเสนอแนวคิดเรื่องการวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการปฏิเสธอิทธิพลของพระเจ้าในการกำหนดชีวิตมนุษย์ แนวคิดทฤษฎีใหม่ล้วนหันมามองว่าสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์ทำลงไปนั้นได้รับอิทธิพลมาจากธรรมชาติ ไม่ใช่พระเจ้า พฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั้งดีและร้ายถูกเข้าใจใหม่ว่าก่อเกิดมาจากธรรมชาติในร่างกายของพวกเขา

แต่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนั้น ก็ทิ้งเอาสภาพไม่มั่นคงบางประการไว้เช่นกัน แม้จะท้าทายอิทธิพลของศาสนาด้วยวิทยาศาสตร์ แต่สังคมวิคตอเรียนก็เป็นสังคมแบบศีลธรรมจัด ผู้คนถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตามเกณฑ์ทางจริยธรรมอย่างเคร่งครัด ซึ่งแง่มุมทางจริยธรรมที่สังคมวิคตอเรียนต้องการกดทับเอาไว้มากกว่าอื่นใด ก็คือเรื่องความต้องการทางเพศ การมีความต้องการทางเพศถูกโยงเป็นเรื่องผิดบาป และผู้ที่ไม่สามารถเก็บความต้องการไว้ให้มิดชิด ก็มักจะถูกตีตราเป็นผู้ป่วยทางจิต

ในเรื่องน่าอับอายของคุณนายโรบินสัน ประสบการณ์ของจอร์จ น้องเขยของคุณหมอเอ็ดเวิร์ด ถูกถ่ายทอดเพื่อสะท้อนเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ จอร์จเป็นชายหนุ่มที่เพียบพร้อม เฉลียวฉลาด ร่ำรวย และมีชาติตระกูล แต่วันหนึ่งอยู่ดีๆ เขาก็หายไประหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ หลักฐานที่เขาทิ้งไว้บ่งชี้ได้เพียงว่า เขาน่าจะฆ่าตัวตายจากการกระโดดแม่น้ำ และทุกคนก็เชื่อเช่นนั้น

แต่ในเวลาต่อมา อยู่ดีๆ จอร์จก็กลับมาปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง และความจริงก็ค่อยๆ ถูกเปิดเผยออกมา จอร์จไม่ได้ฆ่าตัวตาย เขาแค่ต้องการหนีหายไปจากชีวิตเดิม เพราะเขาเข้าใจว่าตัวเองมีปัญหาทางจิตจากการมีความต้องการทางเพศมากเกินปรกติ และเขาก็แบกรับแรงกดดันจากความเสี่ยงที่จะถูกตัดสินให้เป็นมนุษย์ที่ชำรุดเอาไว้ไม่ไหว

แม้จะคลั่งไคล้ศีลธรรม พร้อมจะตั้งเอากฏเกณฑ์มาครอบงำการกระทำทุกด้านของมนุษย์ที่ดูผิดแปลก แต่จริยธรรมแบบวิคตอเรียนก็เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง สังคมศีลธรรมจัดกลับเต็มไปด้วยปัญหาที่แสดงถึงความจริงที่ตรงกันข้าม พร้อมกับความเคร่งครัดในการปิดกั้นความต้องการทางเพศ สังคมวิคตอเรียนกลับเต็มไปด้วยซ่องโสเภณี ส่วนสังคมชนชั้นสูงที่แม้จะเน้นเกียรติยศของการแต่งงาน แต่ก็เต็มไปด้วยการชู้สาว การลักลอบสมสู่กันในรถม้าเกิดขึ้นบ่อยเสียจนบริษัทที่ให้บริการต้องนำเอาม่านและเบาะออกไปจากตัวรถ

ความปากอย่างใจอย่างของสังคมวิคตอเรียนสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านการกดขี่ผู้หญิง ขณะที่ความเป็นสุภาพบุรุษและเกียรติยศของผู้ชายถูกเชิดชูอย่างล้นเหลือ เมื่อมองไปที่ผู้หญิง พวกเธอกลับถูกตีกรอบไว้ว่าหน้าที่อย่างเดียวที่พึงมีได้นั้น คือการเป็นภรรยาและแม่ที่ดีให้กับสามีและลูก เสรีภาพและความนึกคิดมักจะถูกมองอย่างเกรงกลัวว่าจะนำพาพวกเธอออกไปจากคุณลักษณะที่ดีของสตรีเพศ

เมีย 1850

หลังจากได้อ่านไดอารี่ที่ภรรยาบันทึกเอาทั้งความเกลียดชังต่อตนและความฝันที่จะได้คบชู้กับชายอื่น เฮนรี่ก็เดือดดาล เขาให้อิสเบลล่าย้ายข้าวของออกไปจากบ้านทันที และยึดเอาสิทธิในการเลี้ยงดูบุตรรวมถึงรายได้ส่วนใหญ่จากทรัพย์สินของเธอไว้ เฮนรี่ไม่รีรอที่จะนำเอาเรื่องราวอัปยศของภรรยาตัวเองออกเผยแพร่เพื่อประณามเธอ และดำเนินการฟ้องหย่า

เรื่องราวที่อิสเบลล่าบันทึกไว้ในไดอารี่กลายเป็นข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ผู้คนในสังคมชั้นสูงของอังกฤษต่างกล่าวอย่างโจษจันถึงความเลวความร่านของเธอ เพียงชั่วข้ามคืนเธอก็กลายเป็นหญิงชั่วที่ทุกคนผ่านเข้ามาบริภาษความสกปรก กลายเป็นสิ่งยืนยันว่าความคิดอิสระเสรีนั้นเป็นอันตรายต่อศีลธรรมของการเป็นผู้หญิงที่ดี

อิสเบลล่ากลายเป็นเป้าโจมตีเพื่อตอบสนองความหื่นกระหายของสังคมที่ต้องการตัดสินทางศีลธรรม นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งกล่าวประณามสิ่งที่เธอเขียนเอาไว้ในไดอารี่ว่าเป็น “สิ่งที่เหม็นเน่าที่สุดเท่าที่จะออกมาได้จากปลายปากกาของมนุษย์” และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะให้สุภาพสตรีคนใดได้อ่าน

ชะตากรรมของอิสเบลล่าสะท้อนไปถึงโครงสร้างที่กดทับผู้หญิงมาเนิ่นนานในหลายสังคม ไม่ใช่เพียงแต่ในสังคมอังกฤษสมัยวิคตอเรียน แต่ยังรวมไปถึงสังคมในปัจจุบันมากมาย เมื่อความลับอันน่าอับอายของเธอถูกเปิดเผย อิสเบลล่าก็ต้องพบกับสภาพสำคัญสองประการ

ประการแรก เรื่องราวความผิดของเธอถูกยกไปเป็นประเด็นสนใจระดับสาธารณะอย่างรวดเร็ว ขุนนางระดับสูงถึงกับกล่าวว่าเรื่องของเธออาจจะส่งผลให้ “ฐานทางศีลธรรมของประเทศต้องเสื่อมลง” เขากล่าวว่า “ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยาจะมีความสำคัญและมีเกียรติเท่ากับประเทศเรา และเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องรักษาอัตลักษณ์แห่งชาตินี้ไว้” อิสเบลล่าเป็นเพียงหนึ่งในภรรยาอีกมากมายที่ไม่มีความสุขกับชีวิตแต่งงานและก็แสวงหาทางออก แต่การเปิดความจริงที่แอบซ่อนนี้ออกมาให้สังคมรับรู้ กลับสร้างความหวั่นไหวทางศีลธรรมได้อย่างกว้างขวาง

น่าสังเกตว่า เรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันชู้ที่กระตุ้นความเดือดดาลทางศีลธรรมของคนจำนวนมาก มักจะมีผู้ร้ายเป็นหญิง ความไม่สำรวมเรียบร้อยและอยู่ในกฏเกณฑ์ของพวกเธอ ถูกเล่าขานให้เป็นทางสู่หายนะของครอบครัวและคนรอบข้าง นับตั้งแต่ ‘มาดามโบวารี’ ของ ฟลอแบร์  ‘แอนนา คาเรนินา’ ของ ตอลสตอย หรือแม้กระทั่งตัวละครอย่าง ใจเริง (จากละครเรื่อง เพลิงบุญ) และกันยา (จากละครเรื่อง เมีย 2018) ความลำเอียงมีให้เห็นเมื่อหายนะแบบเดียวกันแทบจะไม่เคยมีตัวร้ายที่โด่งดังเป็นชาย

ประการที่สอง หลังจากเรื่องน่าอับอายของเธอถูกเปิดเผย เพื่อนฝูงของอิสเบลล่าต่างก็ทอดทิ้งเธอ ผู้ชายที่เคยชื่นชมความฉลาดเฉลียวของเธอตีตัวออกห่างทันที พวกเขากล่าวย้อนไปถึงข้อความต่างๆ ที่เธอเขียน ว่าอาจเป็นสัญญานของอาการป่วยทางจิตที่ทำให้เธอกลายหญิงร่านไม่รู้ผิดชอบชั่วดี พวกเขาให้ความเห็นใจแต่เพียงกับเอ็ดเวิร์ด ว่าตกเป็นเหยื่อความปรารถนาอันแรงกล้าของเธอ

ปัจจัยอีกประการที่กดทับผู้หญิงอาจถูกแสดงให้เห็นจากสภาวะนี้ ก็คือความไม่ยินดียินร้ายใดๆ กับความเสียเปรียบของสตรีเพศ และพร้อมจะมองว่าปัญหาของพวกเธอเป็นเรื่องธรรมดาหรือแม้กระทั่งเป็นเรื่องธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี คดีความการหย่าร้างของอิสเบลล่าต้องพบกับความท้าทายสำคัญ เธอไม่ต้องการให้เอ็ดเวิร์ดต้องสูญเสียชื่อเสียงไปพร้อมกับเธอ และทางเดียวที่เธอกับเขาจะสามารถหลุดรอดจากข้อกล่าวหาเรื่องความสัมพันธ์ชู้สาวได้ก็คือ “เธอจะต้องต่อสู้ว่าตนเองเป็นคนเสียสติ” เพื่อให้คนเข้าใจว่าเรื่องราวทุกอย่างที่เธอบันทึกในไดอารี่นั้นไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นจินตนาการที่มาจากความเจ็บป่วย

จากผู้หญิงที่มีสติปัญญา ความเชื่อมั่น และมุ่งหนีออกจากชีวิตที่ถูกกักขัง ในท้ายที่สุดทางเลือกของเธอกลับเหลือเพียงการยอมถูกตีตราให้เป็นคนบ้า ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ เรื่องทั้งหมดที่เธอทำจะไม่เป็นปัญหาเลย หากเธอนั้นเป็นผู้ชาย

ท่ามกลางเนื้อหาของไดอารี่ที่ต้องเปลี่ยนฐานะไปเป็นบันทึกความนึกคิดสกปรกของคนฟั่นเฟือน กลับมีท่อนหนึ่งที่อิสเบลล่ากล่าวไว้อย่างน่าประหลาดใจ

“ถึงคนอ่าน พวกเธอคงเห็นไปในจิตวิญญาณของฉัน และคงรังเกียจตัวฉัน แต่จะมีสักชั่วขณะไหมที่เธอจะสงสารฉันบ้าง”

เธอคงหวังอยู่ลึกๆ ว่าวันหนึ่งหลังจากที่เธอไม่ได้อยู่บนโลกนี้อีกต่อไปแล้ว จะมีใครสักคนที่ได้อ่านเรื่องที่เธอเขียนและลังเลใจบ้างก่อนจะตัดสินใจสาปแช่งเธอ เธอคงหวังไว้ลึกๆ ว่าวันหนึ่งเรื่องราวของเธอและผู้หญิงที่ตกอยู่ในภาวะเดียวกันอีกมากมาย จะได้รับการมองด้วยความเข้าใจ และด้วยความรัก

อ้างอิง

Summerscale, K. (2013) Mrs Robinson’s Disgrace: The Private Diary of a Victorian Lady. Bloomsbury Publishing

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save