fbpx

โฮมทาวน์ ช้ำ-ช้ำ-ช้ำ: ภาพฝันที่ไม่เป็นจริง เมื่อคนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิด

ความฝันอยากย้ายกลับไปใช้ชีวิตสุขสงบที่บ้านเกิดในต่างจังหวัดเป็นหนึ่งในความฝันของคนวัยทำงานรุ่นใหม่จำนวนมาก หลังเหนื่อยล้ากับโลกการทำงานในเมืองที่การแข่งขันสูง อยากยกธงขาวให้การต่อสู้ในโลกทุนนิยมที่เหมือนการวิ่งระยะไกลที่เส้นชัยไม่มีอยู่จริง

ความคิดอยากย้ายกลับชนบทของคนทำงานในเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างน้อยก็หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่พายุพัดถล่มชีวิตคนเมืองทำให้เกิดกระแสโหยหาชนบท ปลุกใจแนวคิดการกลับไปพัฒนาบ้านเกิด เชิดชูสังคมที่ผู้คนพึ่งพาอาศัยกัน พร้อมกันนั้นก็สร้างภาพตรงกันข้ามให้กับชีวิตในเมืองว่าขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม ผู้คนไร้น้ำใจ-ทุกอย่างหมุนไปได้ด้วยเงิน

มองมาที่ปัจจุบัน วิกฤตเศรษฐกิจที่พัดมาพร้อมโควิด-19 ตั้งแต่การล็อกดาวน์ปี 2563 ก็ทำให้ตัวเลขคนย้ายออกจากเมืองใหญ่คืนสู่ภูมิลำเนาเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จำนวนมากเลือกที่จะอยู่บ้านเกิดต่อ แม้วิกฤตจะคลี่คลายแล้ว

สำหรับคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมือง ‘บ้าน’ เป็นเบาะนุ่มๆ ที่รองรับเวลาล้มหมดแรงเสมอ แต่การกลับบ้านเกิดชั่วครั้งชั่วคราวเวลาหมดแรงใจ ต่างจากการย้ายกลับไปอยู่ถาวร เมื่อคนจากสังคมที่มีวัฒนธรรมแบบหนึ่งโยนตัวเองกลับเข้ามาสู่อีกสังคมที่มีอุปนิสัยใจคอแตกต่างกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับวิถีชีวิตเมืองที่มีความเป็นปัจเจกสูง

คำว่า ‘ชีวิตชนบท’ ฟังดูชวนฝันไม่น้อย ยิ่งสำหรับคนที่ดูซีรีส์เกาหลี Hometown Cha-Cha-Cha ที่จุดประกายความคิดการย้ายกลับชนบทให้คนรุ่นใหม่ แต่ชีวิตจริงไม่มี ‘หัวหน้าฮง’ และชาวหมู่บ้านแสนใจดี ทุกชุมชนต่างมีปัญหาเฉพาะตัว อาจเป็นเรื่องนิสัยผู้คน สาธารณูปโภคไม่มีมาตรฐาน ยาเสพติด มาเฟียท้องถิ่น หรือเรื่องเส้นทางอาชีพอันจำกัด

การย้ายกลับบ้านเกิดอาจกลายเป็น ‘ฝันร้าย’ สำหรับคนที่ปรับตัวไม่ได้

101 ชวนมองภาพชีวิตคนวัยทำงาน 3 คนที่เคยใช้ชีวิตคนเมืองแล้วกลับไปปะทะกับความแตกต่างในชุมชนบ้านเกิดตัวเอง

หนึ่งคือหญิงสาวที่ฝันสลายจากการใช้ชีวิตเกษตรพอเพียง

หนึ่งคือหญิงสาวที่อิ่มตัวจากการทำงานแถวบ้านและกลัวการต้องรับช่วงต่อธุรกิจการเกษตร

หนึ่งคือชายหนุ่มที่รักชีวิตต่างจังหวัดสุดหัวใจ แต่ไม่สามารถเติบโตในชุมชนที่ขาดความหลากหลายได้

เรื่องของ ‘เจน’ กับภาพฝันชีวิตเกษตรพอเพียง

การกลับไปใช้ชีวิตสงบสุขในชนบทเป็นภาพฝันของหลายคน รวมถึง เจน หญิงสาววัยสามสิบต้นที่ชื่นชอบวิถีชีวิตเกษตรพอเพียง จนตัดสินใจทิ้งชีวิตที่กรุงเทพฯ กลับบ้านในแถบชนบทของชัยภูมิเพื่อไปทำการเกษตรบนที่ดินของครอบครัว

แม้เจนจะไม่ได้เรียนจบสาขาการเกษตร ไม่เคยมีประสบการณ์ แต่เธอเข้าคอร์สอบรมการทำเกษตรอินทรีย์จนมีความมั่นใจที่จะลงมือทำจริง ก่อนจะพบว่าการตัดสินใจกลับบ้านครั้งนี้ของเธอคือความผิดพลาด

“บ้านเราทำค้าขาย ไม่เคยมีประสบการณ์ทำการเกษตร เราก็ไปลอกเขามา มองโลกในแง่ดีว่ามันจะเป็นไปตามที่อบรมมา คิดว่าเราจะทำได้ แต่ปลูกผักต้องขึ้นแปลงใหม่อยู่ตลอด ผักก็ตายอยู่เรื่อย เราไม่สู้งาน จนเห็นว่าตัวเองไม่ได้ชอบปลูกผัก กลัวไส้เดือน แค่ชอบอยู่กับธรรมชาติ เราจึงกลับกรุงเทพฯ”

เธอกลับมาทำงานประจำที่กรุงเทพฯ จนมีโอกาสได้ไปทำงานกับบริษัทที่เธอเคยร่วมอบรมเกษตรอินทรีย์ด้วยความอยากรู้ว่าเหตุใดการทำการเกษตรของเธอจึงล้มเหลว แต่เมื่อได้เห็นโลกของ ‘ธุรกิจอบรมการเกษตร’ เธอจึงเข้าใจ

“เราไปทำงานกับบริษัทที่จัดอบรมการเกษตรให้คนหันมาพึ่งพาตัวเอง สไตล์โคกหนองนาโมเดล-เกษตรพอเพียง เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม อบรมแล้วให้คนกลับไปทำและส่งสินค้ามาจำหน่ายกับเขา พอเข้าไปเห็นข้างในเลยรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนจะมาอบรมแล้วกลับไปทำโดยไม่มีประสบการณ์ คนทำเกษตรอินทรีย์แล้วส่งมาขายยังมีไม่เยอะพอ ขนส่งจากต่างจังหวัดต้องใช้ห้องเย็น ต้นทุนสูง ขายแพงมากคนก็ไม่ซื้อ บริษัทไม่ได้กำไรเยอะจึงอาศัยการระดมทุนจากคนที่สนับสนุนแนวทางของเขา แต่จริงๆ แล้วรายได้หลักมาจากการจัดอบรม

“เราเคยคิดว่าการพึ่งพาตัวเองคือไม่ใช้เงิน แต่จริงๆ แล้วมันใช้เงิน ยอมรับว่าเราโลกสวย คนที่จะทำเกษตรแบบพึ่งพาตัวเองได้คือรีสอร์ตหรือร้านอาหาร เราทำบริษัทนี้อยู่แปดเดือน ตอนแรกคิดว่าเป็นธุรกิจเกษตรอินทรีย์แล้วเราจะได้มีชีวิตสโลว์ไลฟ์ แต่ที่จริงมันไม่ต่างจากงานบริษัทอื่นๆ เลย”

หลังอกหักจากงานบริษัทจัดอบรมการเกษตร เจนตัดสินใจกลับบ้านที่ชัยภูมิอีกครั้ง โดยหวังจะมาช่วยพัฒนาธุรกิจที่บ้านซึ่งมีร้านขายของชำและเป็นเจ้าของตลาดสด การกลับบ้านครั้งนี้ทำให้เธอต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจที่แม่ทำมายาวนาน การรับมือกับนิสัยเพื่อนบ้านที่ไม่คุ้นชิน และการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน

บ้านของเจนอยู่ในอำเภอเล็กๆ นอกตัวเมือง แหล่งบันเทิงยามค่ำคืนมีเพียงร้านหมูกระทะ การเดินทางสาธารณะไม่สะดวกสบาย ระบบสาธารณสุขก็วางใจไม่ได้หากเกิดเหตุร้ายแรง ในชุมชนมีคนหนุ่มสาวไม่มาก “ส่วนใหญ่เป็นพวกแต่งงานเร็ว ขายของตลาดนัด ครูที่ได้บรรจุแถวบ้าน หรือไม่ก็คนที่มีธุรกิจที่บ้านจึงจะสามารถอยู่บ้านได้ นอกนั้นก็ต้องไปทำงานโรงงานจังหวัดอื่นหรือไปรับจ้างในเมือง”

การย้ายกลับมาอยู่บ้านของเจนกลายเป็นหัวข้อสนทนาของคนในชุมชน คำถามที่เธอเจอบ่อยคือ “ไม่ไปทำงานเหรอ” ทั้งที่เธอกำลังทำงานในธุรกิจของครอบครัว

“ชาวบ้านเขาคิดว่าการทำงานคือต้องมีเงินเดือน มีตำแหน่ง เราก็สงสัยว่าที่เราทำอยู่ไม่ใช่งานเหรอ เขาคงมองว่าเราไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีทางไปเลยกลับมาบ้าน ไม่มีศักดิ์ศรี ทั้งที่เราทำงานค้าขายที่บ้านมีเงินใช้ คนหนุ่มสาวที่กลับมาบ้านมันดูแปลกแยก ถ้าไม่ใช่การกลับมารับราชการ เขามองว่าการขายของไม่มั่นคง”

“เวลาชาวบ้านทักเรื่องงานยังไม่เท่าไหร่ แต่เวลาทักว่า ‘ทำไมไม่แต่งงาน ทำไมไม่เอาลุูกเอาผัว กลัวจะไม่มีคนดูแล’ แบบนี้เราไม่ค่อยชอบ ตอนอยู่กรุงเทพฯ ไม่เคยโดนถามอย่างนี้ เพราะต่างคนต่างอยู่ เวลาอยู่กรุงเทพฯ การเป็นโสดเป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงส่วนใหญ่แต่งงานช้า เพราะผู้หญิงมีงานทำและพึ่งพาตัวเองได้ แต่คนแถวบ้านเขามองว่าผู้หญิงคือเพศอ่อนแอ การไม่มีสามีเลยน่าเป็นห่วง เพราะคนแถวนี้เขาทำการเกษตร ต้องอาศัยผู้ชายขับรถไถ ถ้าค้าขายก็ต้องมีผู้ชายขับรถขนของ แต่ขณะเดียวกันถ้ามีคนไปเห็นว่าผู้หญิงคนนี้ยืนคุยกับผู้ชายก็ถูกนินทาแล้วนะ ยิ่งถ้าไปมีอะไรกันจะถูกมองว่าผู้หญิงเสียหาย ต้องแต่งงานกัน สังคมยังมีความชายเป็นใหญ่อยู่”

ชีวิตในชุมชนของเจนต้องอยู่ในสายตาคนอื่นตลอด การนินทาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ผู้คนรู้จักกันมายาวนาน คล้ายเป็นกลไกเพื่อป้องกันและตรวจสอบกันเอง

“สังคมต่างจังหวัดไม่ได้น่ารักอย่างที่คิด บางคนไม่มีงานทำก็เลี้ยงหลาน กิน นอน ทำงานบ้านบ้าง แล้วก็เล่นหวย นอกจากนั้นก็นินทากัน เพราะปากมันว่าง สังคมต่างจังหวัดเป็นสังคมนินทาว่าร้าย แต่เรามองว่ายังไงมันก็อบอุ่นกว่าสังคมเมืองนะ มันมีความเป็นเครือญาติ มีความเห็นอกเห็นใจกัน มีความเป็นสายเลือดเดียวกันแม้ว่าลูกหลานจะแยกย้ายกันไปแล้ว สังคมมันแคบ ต่อให้ไม่ชอบใคร เช้าเดินตลาดก็เจอ เย็นไปงานแต่งก็เจอ หนีกันไม่พ้น ความเป็นห่วงกับความอยากรู้อยากเห็นเลยมาพร้อมกัน”

การกระจายข่าวปากต่อปากในชุมชนของเจนมีประสิทธิภาพชนิดที่ว่า “ทุกคนรู้หมดว่าเราไปไหนมา เจอหน้ากันเขาก็ทักว่าเราไปทำโน่นนี่มาใช่ไหม ช็อกอยู่นะว่ารู้ได้ยังไง ข่าวมันไปปากต่อปาก ยิ่งถ้าหวยออกนะ คนรู้ผลหวยได้โดยไม่ต้องเปิดทีวี”

เจนต้องใช้เวลาปรับตัว ช่วงแรกเธอตั้งกำแพงสูง ไม่อยากให้คนอื่นมายุ่งเรื่องส่วนตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไปเธอก็เริ่มมีเพื่อนเป็นคนต่างวัย ไปช่วยกิจกรรมชุมชน ช่วยงานโรงเรียนแถวบ้าน เริ่มคุยกับคนอื่น ด้วยความคิดที่ว่าเธอเปลี่ยนนิสัยคนอื่นไม่ได้ เธอจึงต้องเข้าใจธรรมชาติของชุมชนที่เธออยู่

“พอรู้จักเข้าหาเราก็เห็นว่าผู้คนอบอุ่น แม้จะเป็นคนขี้นินทาแต่เขาเห็นอกเห็นใจคนอื่นนะ บางทีเขาอยากรู้เรื่องของเราเพราะเขาเป็นห่วงนี่แหละ แต่เขาใช้คำพูดไม่เป็น เวลาอยู่ในเมืองเราเป็นตัวเองได้มากกว่า ไม่มีใครนินทา มีอิสระ แต่มันเหงานะ มันไม่ใช่บ้าน ส่วนการอยู่ต่างจังหวัดมันอบอุ่น ถ้าเรามองข้ามเรื่องการนินทาได้ ต่างจังหวัดน่าอยู่ เป็นพื้นที่ที่เราจะสร้างตัวได้เร็วที่สุด เพราะบ้านเรามีต้นทุนทั้งอาชีพและที่ดิน ถ้าเรารู้จักปรับตัวการกลับมาอยู่บ้านใช้ต้นทุนต่ำกว่าในเมืองมาก”

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีทุนให้ต่อยอด ช่วงโควิดคนตกงานจากในเมืองกลับมาอยู่ที่หมู่บ้านของเจนจำนวนมาก โดยมากกลับมาขายของที่ตลาดนัด บางคนทำอาหารอร่อยจนมีลูกค้าประจำก็อยู่ต่อได้ยาวๆ บางคนไม่มีประสบการณ์ ขายของซ้ำคนอื่นหรือทำอาหารไม่อร่อยก็อยู่ไม่ได้ พอสถานการณ์ดีขึ้นจึงกลับไปเป็นลูกจ้างในเมือง

ส่วนชีวิตของเจนเอง ทุกวันนี้เธอเริ่มลงตัวแล้ว ภาพสะท้อนหนึ่งที่สำคัญคือมุมมองต่อเรื่อง ‘ชีวิตเกษตรพอเพียง’ ของเธอเปลี่ยนไป จากคนที่ฝันอยากเป็นเกษตรกรอยู่อย่างพึ่งพาตัวเอง แต่วันนี้เธอพบว่าวิธีคิดแบบนี้คือการกดทับคนต่างจังหวัด

“มันคือการกดทับที่มองว่าคนต่างจังหวัดต้องทำเกษตรแบบเดิม ปัจจุบันคนต่างจังหวัดแทบไม่ต่างจากคนในเมือง แต่คุณไม่สร้างโอกาสให้พวกเรา คิดว่าคนจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คนทำการเกษตรมีแต่เป็นหนี้สิน คนต่อคิว ธกส. เต็มเลย คุณไม่ต้องบอกให้เขาพอเพียงหรอก คุณมีตลาดให้เขาขายผลผลิตที่ได้ราคาดีก็พอ 

“มาบอกให้คนอยู่แบบพอเพียง โฆษณาว่าชีวิตดี๊ดีจากการพอเพียง ความเป็นจริงมันไม่ใช่ คนต้องกินต้องใช้ มีค่าใช้จ่าย ถ้าอยู่ๆ สวนโดนโรคพืชลงจะทำยังไง ลูกจะเอาเงินที่ไหนไปเรียน ไหนจะปัญหาน้ำแล้งอีก”

ภาพจริงของชีวิตในชนบทไม่เหมือนภาพสร้างในโฆษณาที่ตอกย้ำชุดความเชื่อเรื่อง ‘ชนบทบริสุทธิ์’ ชนิดที่ว่าผู้คนล้วนใจดี ยิ้มแย้ม มีน้ำใจ อากาศบริสุทธิ์ ชีวิตผุดผ่อง เจนมองว่าภาพแบบนั้นเป็นเรื่องเกินจริง

“มีการสร้างภาพฝันเกินจริง สังคมต่างจังหวัดไม่ได้น่ารักขนาดนั้น ไม่ใช่ว่ามันไม่น่าอยู่นะ การบอกว่า ‘คนต่างจังหวัดใจดีไปหมด’ มันไม่ใช่ คนเราไม่ได้ดีไปเสียทุกอย่าง สังคมก็มีเรื่องการโกงกิน นินทา เส้นสาย ไม่ได้เป็นแบบภาพฝันที่สร้างกัน”

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้กับจิตใจตัวเองหลายรอบในการย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิด เจนสรุปสั้นๆ ว่า “อย่าเอาความเชื่อของตัวเองไปใช้กับคนอื่น” เธอหมายความว่า การย้ายกลับมาอยู่ชุมชนชนบทจะต้องเปิดใจ ปรับตัวเข้ากับผู้คนและวัฒนธรรม

“อย่าคาดหวังว่าจะให้ชนบทเป็นแบบกรุงเทพฯ อย่าคิดว่าทุกแห่งต้องมีเส้นทางการพัฒนาแบบเดียวกัน แต่ต้องเรียนรู้ว่าจะต่อยอดอะไรจากสิ่งที่ชุมชนมีอยู่เดิมได้” เจนปิดท้ายแบบมองความเป็นจริง

ชีวิตของ ‘จูน’ หญิงสาวที่ไม่เคยอยากเป็นเกษตรกร

จูน คือหญิงสาววัยสามสิบต้นจากภาคใต้ บ้านเกิดอยู่อำเภอพระพรหม นครศรีธรรมราช ใช้ชีวิตแบบ ‘คนนครฯ’ ตั้งแต่เกิดจนเรียนจบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ ก่อนจะจากบ้านมาทำงานในกองถ่ายละครที่กรุงเทพฯ

เธออธิบายตัวเองว่าเป็น ‘คนติดบ้าน’ แต่ละปีจูนเสียเงินค่าเครื่องบินกลับบ้านบ่อยมาก เธอมองว่าค่าเช่าอพาร์ตเมนต์และค่าเดินทางกลับบ้านนั้นเป็นราคาที่ต้องจ่ายของเด็กต่างจังหวัด

“เราเคยคิดจะซื้อคอนโดที่กรุงเทพฯ แต่แม่ไม่อยากให้ซื้อ แม่บอกให้ซื้อรถแทน คงเพราะแม่ไม่อยากให้อยู่กรุงเทพฯ ยาว แล้วแม่เชียร์ให้ไปซื้อสวนยางที่นครฯ แทน เราก็งงว่าจะเอาไปทำอะไร” เธอเล่าพร้อมหัวเราะ

ระหว่างทำงานจูนเรียนปริญญาโทไปด้วย แต่อย่างที่รู้กันว่างานกองถ่ายหนักหนาเกินกว่าจะแบ่งชีวิตไปทำอย่างอื่นได้ เธอจึงย้ายมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในคณะที่เธอเรียนอยู่

หลังจากนั้นไม่นานนัก แม่ของจูนไม่สบาย ขณะที่พ่อทำงานขับรถน้ำมันอยู่จังหวัดอื่นจะกลับบ้านแค่เสาร์-อาทิตย์ เธอจึงตัดสินใจทันทีว่าต้อง ‘กลับบ้าน’ เพื่อไปดูแลแม่ แม้ลึกๆ แล้วนี่ไม่ใช่ความปรารถนาของเธอ

จูนมองหางานอาจารย์มหาวิทยาลัยแถวบ้าน ก่อนจะพบว่าไม่มีสาขาเฉพาะทางตรงกับสาขาที่เธอเรียนมา ซึ่งโดยมากจะมีอยู่ในมหาวิทยาลัยใหญ่ที่กรุงเทพฯ ระหว่างที่ว่างงานนั้นมีคนชวนเธอไปทำงานเซลล์เครื่องมือแพทย์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด มีรายได้ดี

การกลับมาอยู่บ้านของเธอไม่เจอความยากลำบากในการปรับตัวนัก พูดกันตามตรงแล้วในชุมชนชานเมืองที่คนทั้งซอยรู้จักกันหมด ชื่อของจูนถูกยกเป็น ‘มาตรฐาน’ ที่พ่อแม่บ้านอื่นจะบอกให้ลูกหลานเอาเยี่ยงอย่าง เธอเป็นคนสุภาพ เรียบร้อย ตั้งใจเรียน อีกทั้งแม่ของจูนเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ครอบครัวของเธอจึงมีความสนิทสนมกับคนในชุมชนอยู่แล้ว

“คำถามที่เจอบ่อยคือ ‘กลับมาอยู่บ้านทำไม’ เราก็ไม่ใส่ใจอะไรนะ แต่ถ้ามาถามซอกแซกเรื่องส่วนตัวเราก็หงุดหงิด เคยมีเพื่อนแม่มานั่งซักเราว่าทำไมไม่ไปทำงานราชการ เรียน ป.โท เอาไปทำอะไร เราหงุดหงิด เขาไม่ได้มีส่วนอะไรในชีวิตเราเลย

“ที่จริงถ้าเทียบกับคนในสังคมเดียวกันแล้ว เราเป็นมาตรฐานที่คนอื่นจะพูดถึง คนอื่นจะชมพ่อแม่เราว่าเลี้ยงลูกดี เลยไม่ค่อยเจอการตั้งคำถามอะไรมาก แต่กับคนรุ่นใหม่คนอื่นๆ บางทีเขาก็เจอถามซอกแซกว่าทำงานที่ไหน ทำอะไร หรือมีป้าข้างบ้านชอบเปรียบเทียบว่าลูกตัวเองดีกว่าลูกคนอื่น ลูกเขาสอบราชการได้แล้วนะ ซึ่งตอนอยู่กรุงเทพฯ ไม่เคยเห็นใครถามเรื่องนี้กันเลย” จูนเล่า

เมื่อมองข้อดี-ข้อเสีย ระหว่างชีวิตที่บ้านเกิดกับชีวิตที่กรุงเทพฯ จูนมองว่าการอยู่บ้านให้ความสบายใจ คลายความเป็นห่วงในการดูแลพ่อแม่ แต่ไม่ตอบโจทย์เรื่องอาชีพการงานและนิสัยของเธอที่ชอบทำอะไรรวดเร็ว ขณะที่เวลาอยู่บ้านที่นครฯ นั้นไม่มีใครเร่งรีบ จนถึงขั้นช้า เรื่องนี้กลายเป็นข้อเสียเมื่อลามไปถึงระบบราชการ

“ไปติดต่อธุระตอนเช้าเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่มา ทำอะไรก็ช้า ขนาดเตรียมเอกสารต่างๆ ไปครบหมดแล้ว ถ้าวันนี้คิวเต็มก็โดนไล่ให้มาใหม่พรุ่งนี้ บางคนไปรอคิวโรงพยาบาลวันนี้ไม่ได้ตรวจก็นอนรอหน้าโรงพยาบาล เพราะบ้านเขาไกล แล้วเวลาพ่อแม่เราไปติดต่อราชการก็มักโดนเจ้าหน้าที่พูดเสียงดัง ดุว่าทำอะไรไม่ถูกต้อง แต่กับเราเขาไม่เสียงดัง คงเพราะเราดูเป็นคน ‘รู้เรื่อง’ ซึ่งมันต่างจากเวลาเราติดต่อราชการที่กรุงเทพฯ นะ เจ้าหน้าที่เขาทำงานเป็นระบบ ชี้แจงกันดีๆ ไม่มีมาดุกันอย่างนี้”

ถอยมามองภาพกว้าง ปัญหาใหญ่ที่สุดของการกลับไปอยู่บ้านคงเป็นเรื่องการไม่มีอาชีพรองรับ คนในชุมชนของจูนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรฐานะยากจน นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้หมู่บ้านเหลือแต่ผู้สูงอายุ เพราะลูกหลานไม่อยากตกอยู่ในหล่มความยากจนแบบคนรุ่นพ่อแม่จึงต้องออกไปทำงานต่างถิ่นแล้วส่งเงินกลับมา คนหนุ่มสาวที่ยังอยู่ในชุมชนได้คือสอบติดราชการหรือไม่ก็ผู้หญิงที่มีลูกเร็วแล้วกลายเป็นแม่บ้าน

อีกปัญหาใหญ่คือเรื่องยาเสพติดระบาด จูนบอกว่าเห็นคนในชุมชนเมายาอาละวาดเยอะมาก เป็นปัญหาแทบทุกครัวเรือนและแก้ไขไม่ได้เพราะเกี่ยวพันกับการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่

“ลูกบางบ้านเล่นยาจนผูกคอตาย อาละวาด ทุบตีพ่อแม่ แล้วก็ไปลักขโมย เด็กมัธยมก็เสพยา เวลาเรากลับบ้านช้ากว่าสองทุ่ม แม่จะเป็นห่วงมากเลย” นี่คืออันตรายที่เธอคุ้นชินพอๆ กับการต้องระลึกอยู่เสมอว่าเหตุกระทบกระทั่งเล็กน้อยบนท้องถนนสามารถนำไปสู่การเปิดเก๊ะรถโชว์ปืนกันได้ง่ายๆ

ช่วงโควิดที่เศรษฐกิจลงเหว จูนสังเกตว่ามีคนกลับมาอยู่ในชุมชนราว 20 คน ส่วนใหญ่ตกงานมาจากภูเก็ต ต้องกลับมาช่วยที่บ้านทำการเกษตรแลกรายได้เล็กน้อย แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวคนเหล่านี้ก็หายกลับไปทำงานเดิม

ปัจจุบันจูนลาออกจากงานเซลล์ ย้ายมาทำงานด้านการจัดการในบริษัทเอกชนที่กรุงเทพฯ ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่ตัดสินใจได้ไม่ยาก คล้ายยืนยันว่าในช่วงวัยนี้ชีวิตการทำงานเป็นเรื่องที่เธอให้น้ำหนักมากที่สุด

“คนในครอบครัวไม่อยากให้เรามาทำงานกรุงเทพฯ บอกว่าทำแล้วไม่มีเงินเก็บ อยากให้เราอยู่บ้าน แต่งานที่บ้านไม่ตอบโจทย์เรา อย่างตอนเป็นเซลล์เราได้เงินเยอะ คนแถวบ้านเขาก็ไม่ได้ยกย่องนะ ออกจะเหยียดด้วย ไม่ได้มองว่าเป็นอาชีพเลิศหรู แต่ตอนนี้เราเป็นผู้จัดการบริษัท เขาก็มองว่า ‘โอ๊ย ทำงานบริษัทใหญ่โต’ ตอนเราทำงานกองละครเขาก็ชื่นชมนะที่เราทำงานกับดารา เขาไม่ได้มองภาพความเป็นจริงในการทำงานเราหรอก”

แม้ในวันนี้เธอเลือกกลับมาอยู่กรุงเทพฯ แต่ที่สุดแล้วจูนคิดว่าในวันหนึ่งเธอต้องกลับไปอยู่นครศรีธรรมราช พ่อแม่ของเธอมีสวนยาง-สวนปาล์มที่พร้อมให้กลับไปทำต่อ

“มีน้องที่เรารู้จักเขากลับไปตัดยาง ปลูกผัก เลี้ยงวัว ชีวิตเรียบง่าย แต่เราไม่ได้อยากมีชีวิตแบบนั้น ไม่งั้นจะเสียเวลาเรียนไปทำไม เราไม่ได้มองตัวเองเป็นแรงงานการเกษตร ต่อให้กลับไปเป็นเจ้าของสวนปาล์ม-สวนยาง เราไม่มีประสบการณ์ก็โดนโกงได้ง่ายๆ เลย

“คนเรามีภาพฝันได้ เช่นว่าเป็นเจ้าของสวนยาง ตื่นเช้ามาในชนบทจิบกาแฟ แต่ชีวิตจริงไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่รู้เรื่องก็โดนเอาเปรียบ มันคือการทำธุรกิจ ต้องมีความรู้ เราไม่มีความรู้เรื่องการเกษตร ยังกังวลอยู่เลยว่าในอนาคตกลับไปอยู่บ้านแล้วจะต่อยอดสวนปาล์ม-สวนยางของพ่อแม่ยังไง”

ความกังวลเรื่องการต้องกลับไปทำงานในภาคการเกษตรของจูนนั้นมองเห็นได้ชัดเจน เธอจึงไปเริ่มต้นทำห้องแถวปล่อยเช่าไว้ที่นครฯ และให้ครอบครัวมาดูแล เผื่อวันหนึ่งที่ต้องกลับบ้านจริงๆ จะมีธุรกิจที่เธอพอจะรับมือได้

จูนรู้ดีว่าสำหรับคนรุ่นเธอ การคิดจะย้ายกลับไปอยู่บ้านในชนบทจำเป็นต้องมีทุน มีทรัพยากรที่จะมาลงหลักปักฐาน ด้วยข้อจำกัดทางอาชีพทำให้คนที่จะลืมตาอ้าปากได้ต้องมีเงินมาลงทุน ขนาดว่าครอบครัวของเธอมีทรัพยากรพร้อมรองรับ แต่ตัวเธอก็ยังต้องการ ‘ประสบการณ์’ จากการทำงานในชุมชนเมือง เรียนรู้ทักษะ พบเจอการแข่งขัน และรับมือความท้าทายต่างๆ

“สิ่งที่คิดกับสิ่งที่เป็นมันไม่เหมือนกัน การอยู่กรุงเทพฯ ได้หาประสบการณ์และเจอความหลากหลายของคน คนต่างจังหวัดจะมีพฤติกรรมเป็นแพตเทิร์นเดียวกัน ชุมชนเมืองมอบประสบการณ์หลายอย่างที่ต่างจังหวัดให้ไม่ได้ แต่เราก็อยากให้คนกลับบ้านนะ เพราะแต่ละคนอาจมีประโยชน์กับสังคมชนบทก็ได้ แต่ถ้ากลับบ้านต่างจังหวัดโดยไม่มีเงินก้อนเราก็คิดไม่ออกนะว่าจะไปทำอะไร”

เธอไม่มีแผนการที่ชัดเจน แต่รู้ดีว่าในวันหนึ่งข้างหน้า การกลับไปอยู่บ้านถาวรจะกลายมาเป็นทางเลือกในชีวิต

“สำหรับคนวัยทำงานแบบเรา การอยู่กรุงเทพฯ ยังตอบโจทย์กว่าเรื่องการทำงาน แต่เมื่อถึงอีกวัยหนึ่งอาจเห็นว่าการอยู่ต่างจังหวัดแฮปปี้กว่าก็ได้” จูนบอก

ชุมชนอันเงียบสงบ แต่อยู่ไม่ได้จริงของ ‘เท็น’

ภาพจากชีวิตของเจนและจูน เป็นตัวอย่างคนวัยหนุ่มสาวที่ลังเลใจในการเลือกว่าจะตั้งรกรากในเมืองหรือชนบท แต่อีกด้านหนึ่งก็มีคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยมีความลังเลใจอย่างนี้ เช่นเดียวกับ เท็น ชายหนุ่มวัยสามสิบปลาย ผู้ยึดอาชีพฟรีแลนซ์ด้านตกแต่งภายในเพื่อเลี้ยงชีพ

เท็นคือคนที่เติบโตในชุมชนกลางป่าเขาที่อำเภอไทรโยค กาญจนบุรี คุ้นเคยกับความยิ่งใหญ่ของเทือกเขาตะนาวศรีมากกว่าความใหญ่โตของตึกระฟ้าในเมือง เขาเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ รู้จักกรุงเทพฯ ดีพอที่จะประกาศว่าเขาจะไม่ใช้ชีวิตที่นั่นเด็ดขาด

เมื่อถามว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้แน่วแน่หัวเด็ดตีนขาดขนาดนั้น เท็นเล่าว่าตอนเรียนมหาวิทยาลัย เขารู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนที่นั่น เขาเติบโตมาจากหมู่บ้านที่อากาศดี เงียบสงบ แต่สภาพตอนอยู่กรุงเทพฯ ‘เหมือนอยู่นรก’ ทุกวันเขาต้องเดินบนฟุตพาทเข้าบ้านเช่า ฝ่าอากาศร้อน เหนียวตัว เสียเวลาชีวิตส่วนมากอยู่บนรถเมล์อย่างไร้ความหมาย ขนาดว่าเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วอากาศกรุงเทพฯ ยังไม่แย่เท่าปัจจุบัน

เมื่อเทียบกันแล้วการอยู่ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ให้ความสะดวกกว่ามาก ถ้ามีมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ส่วนตัว การเคลื่อนย้ายตัวเองจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งใช้เวลาเพียงอึดใจ

หลังเรียนจบเท็นกลับไปอยู่ไทรโยค ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่ทุกคนในหมู่บ้านรู้จักกัน ชุมชนของเขาเป็นเมืองไกลปืนเที่ยง คนในหมู่บ้านเกือบทั้งหมดเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานมาไม่เกินสามชั่วคน ใครตั้งตัวได้ก่อนก็ขึ้นมามีอำนาจ ทั้งอำนาจเงินและกระสุน

“หมู่บ้านของผมไม่ได้อยู่ในนิยามภาพจำชนบท ถ้าภาพจำนั้นให้ความหมายคนชนบทว่าคนไร้การศึกษาหรือไม่มีอำนาจทางการเงิน หมู่บ้านผมเป็นเมืองท่องเที่ยว มีคนก่อร่างสร้างตัวจากธุรกิจการท่องเที่ยวมาได้ บางคนก็มีที่ดินมากจนมีอิทธิพลในพื้นที่ เป็นผู้ให้เช่า-ขายที่ดิน อนุญาตให้คนนอกเข้ามาอยู่ในที่ดินตัวเอง มันไม่ใช่ภาพจำแบบที่คนกรุงเทพฯ คิดว่าคนต่างจังหวัดต้องความรู้น้อย ยากจน เรื่องความรู้เดี๋ยวนี้คนมันทันกันหมด”

ด้วยความเป็นเมืองที่ไม่ได้มีรากประวัติศาสตร์ยาวนาน คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นที่ย้ายเข้ามา ทำให้หมู่บ้านของเท็นเป็นหมู่บ้านเงียบสงบ ผู้คนรู้จักกันแต่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกันแนบชิดแบบเครือญาติ

“ตอนเรียนจบผมรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่นแถวบ้านนิดหน่อย ผมจบจากมหาวิทยาลัยค่อนข้างมีชื่อเสียง แต่พออยู่ไปจริงๆ แล้วคนในชุมชนเขาไม่สนใจว่าเราเรียนอะไรมา การให้คุณค่าเรื่องการศึกษาในต่างจังหวัดอาจมีการอวดคนข้างบ้านว่าลูกตัวเองเรียนอะไร แต่ในชีวิตจริงไม่มีใครสนใจ เขาทำมาหากินไป ไม่ได้สนใจว่าเราเรียนอะไรที่มหาวิทยาลัยไหน สอบเข้ายากไหม แต่มหาวิทยาลัยปลูกฝังให้เรา ‘พองขน’ ไปเอง”

เท็นไม่มีปัญหากับการอยู่ร่วมกับคนอื่นในชุมชน แน่นอนว่าตอนอยู่กรุงเทพฯ เขาเผชิญสภาพแบบ ‘ต่างคนต่างอยู่’ ไม่มีใครยุ่งกัน แต่เขามองว่านิสัยสอดรู้สอดเห็น-ถามละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัวนั้นไม่เกี่ยวกับว่าเป็นคนเมืองหรือคนชนบท แต่นี่คือ ‘นิสัยคนไทย’

“อยู่ที่ไหนก็เจอนะ คนที่ไม่สนิทกันแล้วชอบถามเรื่องส่วนตัว คนที่มาด้อมๆ มองๆ ที่บ้าน อยากรู้ว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ ผมเจอมาทุกที่เลยคิดว่ามันเป็นนิสัยของคนไทย เพราะคนต่างชาติเขาก็ไม่ได้เป็นแบบนี้กันทุกชาติ เขาไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเราทำงานเงินเดือนเท่าไหร่ มีลูกเมียหรือยัง ซึ่งเอาจริงคงไม่มีใครชอบการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว มันไม่ใช่ความห่วงใยด้วยซ้ำ เขาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แค่อยากรู้เป็นข้อมูลเฉยๆ”

เท็นเรียนต่อปริญญาโทในกรุงเทพฯ แต่แทนที่จะย้ายไปอยู่เมืองหลวง เขาใช้วิธีขับรถเข้ากรุงเทพฯ เฉพาะวันที่มีเรียน หลังเรียนจบเขาหางานทำในจังหวัดบ้านเกิด ทำได้ไม่กี่ปีก็ล้มเลิก เพราะในจังหวัดเล็กไม่มีตัวเลือกอาชีพมากพอที่เขาจะทำงานตรงสายที่เรียนมาได้

หลังแต่งงาน เท็นย้ายไปอยู่บ้านภรรยา จากภาคตะวันตกสู่ภาคตะวันออก ที่จังหวัดระยอง เมืองแห่งอุตสาหกรรม เขายึดอาชีพฟรีแลนซ์ตกแต่งภายในเรื่อยมา ด้วยแถบภาคตะวันออกนี้มีความต้องการและกำลังซื้อมากกว่าที่ชุมชนบ้านเกิดของเขา

หากกฎเกณฑ์ของชุมชนที่ไทรโยคคือ ‘มีที่ดินเท่ากับมีอำนาจ’ แต่เมื่อย้ายมาอยู่ระยอง เท็นพบว่ากฎเกณฑ์นี้ยิ่งทบทวีความสำคัญอย่างเข้มข้น การมีที่ดินสิบไร่ในชุมชนกลางป่าเขาภาคตะวันตกกับการมีที่ดินสิบไร่ที่ระยองสร้างมูลค่าแตกต่างกันถึงหลักสิบล้านหรือร้อยล้านบาท และนั่นก็คืออิทธิพลชนิดหนึ่ง

“การเป็นเจ้าของที่ดินต่างจังหวัดมีความแตกต่างกันแบบนี้ ถ้าคุณอยู่กรุงเทพฯ แทบไม่มีทางมีที่ดินหนึ่งไร่ได้เลย แค่อยากจะมีคอนโด 30 ตร.ม. ก็เป็นเรื่องยากแล้ว ดังนั้น การมองภาพคนต่างจังหวัดแบบภาพจำในละครกลายเป็นเรื่องน่าตลก ทุกอย่างผ่านไปแล้ว ที่ดินราคาขึ้น คนมีความรู้มากขึ้น แตกต่างจากเมื่อก่อนที่เป็นแบบภาพจำในละครไทย”

เท็นบอกว่าเขาเห็นคนรุ่นใหม่ในเมืองจำนวนมากฝันถึง ‘ชีวิตสโลว์ไลฟ์’ มีชีวิตอย่างสงบสุขในต่างจังหวัด แต่เท็นมองว่าการจะทำตาม ‘แพสชัน’ นั้นต้องมองความเป็นจริงด้วย

“ช่วง 5-10 ปีที่แล้ว คนกรุงเทพฯ อยากออกจากต่างจังหวัดมาทำร้านทำคาเฟ่ ทุกวันนี้พอมีโควิด คาเฟ่ล้มหายตายจาก ความเป็นจริงคือคนต่างจังหวัดนั่งคาเฟ่ไม่ได้ เขาทำเกษตรกรรมจะมานั่งคาเฟ่ชิคๆ เสียบแล็ปท็อปนั่งแช่ครึ่งวันไม่ได้ การที่คนกรุงเทพฯ คิดอยากไปอยู่ต่างจังหวัดมันเป็นภาพแบบซีรีส์เกาหลี ถ่ายรูปออกมาเหมือนอากาศเย็นสบายแต่ที่จริงแดด 40 องศา นี่คือเรื่องจริงที่คุณต้องเจอ

“ชีวิตจริงไม่เหมือนในโฆษณา ททท. อยู่ต่างจังหวัดเจอทั้งความร้อน ความบกพร่องของหน่วยงานท้องถิ่น การเดินทางที่ยากลำบากถ้าไม่มีรถยนต์ ชีวิตจริงมันโคตรไม่สวยงามเลย”

ทุกพื้นที่ย่อมมีปัญหาเฉพาะตัวของชุมชนแต่จุดร่วมหนึ่งของสังคมต่างจังหวัดคือขาดโอกาสและทรัพยากรที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ที่สำคัญคือการไม่มีอำนาจตัดสินใจ ทำให้ปัญหาจากรุ่นตายายส่งต่อมาถึงรุ่นหลานโดยไม่มีใครแก้

เท็นเล่าว่าชุมชนบ้านเกิดที่ไทรโยคอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยว นอกฤดูท่องเที่ยวคนก็ไม่มีงาน ไม่มีเงิน เป็นชุมชนที่มีคนกระจุกตัวน้อย ปริมาณการจับจ่ายของผู้คนมีน้อย ไม่มีสถานที่ราชการ อาชีพมีความหลากหลายน้อย คนหนุ่มสาวต้องไปทำงานในเมืองหรือกรุงเทพฯ แล้วค่อยกลับไปอยู่บ้านตอนแก่

ต่างจากบ้านที่ระยอง ซึ่งเป็นชุมชนนิคมอุตสาหกรรม มีประชากรแฝงจำนวนมาก เงินสะพัด แต่ปัญหาก็มากเป็นเงาตามตัวเมื่อสาธารณูปโภคไม่เพียงพอรองรับคน เช่น น้ำไหลไม่แรงหรือไม่ไหลเลยเมื่อคนใช้พร้อมๆ กัน อุบัติเหตุบนถนนก็มากเมื่อคนเข้าออกนิคมอุตสาหกรรมพร้อมกัน ไม่มีรถโดยสารสาธารณะที่สะดวก ไม่มีพื้นที่สาธารณะ ผู้คนแย่งกันกินแย่งกันใช้ สังคมมีความดิ้นรนสูง คนย้ายเข้าออกมากจนคนในชุมชนแทบไม่รู้จักกัน

ด้วยความเป็นนิคมอุตสาหกรรมยิ่งทำให้ชุมชนเปราะบาง เพราะ ‘ประชากรแฝง’ เหล่านี้ พร้อมจะหายไปทันทีเมื่อเกิดอะไรขึ้น เช่นช่วงโควิดที่โรงงานปิดตัว ลูกจ้างโรงงานถูกให้ออกจากงาน เหมือนดีดนิ้วแล้วคนหายไปทั้งชุมชน บ้านเช่าว่างทั้งหมู่บ้าน เหลือคนระยองจริงๆ อยู่สักแค่ 10%

ปัญหาที่หนักหนาจริงๆ คือผลกระทบจากโรงงาน ทั้งอุบัติเหตุโรงงานระเบิด ไฟไหม้ ควันพิษ น้ำเสีย เท็นบอกว่าบางวันเขาเห็นน้ำในคลองแถวบ้านกลายร่างเป็นสีชมพูสด

เท็นยอมรับว่าถ้าเลือกได้เขาอยากอยู่บ้านที่ไทรโยคมากกว่า ชุมชนนิคมอุตสาหกรรมแบบที่ระยองทำให้คนไม่รู้จักกันและไม่สนใจจะช่วยเหลือกัน เคยมีรถคันอื่นมาชนท้ายรถยนต์เขาแต่ไปแจ้งความแล้วตำรวจไม่สนใจ เขาคิดว่าถ้าอยู่ในชุมชนบ้านเกิดที่เขารู้จักทุกคนคงไม่เจอปัญหาแบบนี้ การอยู่ในชุมชนที่เรารู้จักหน้าค่าตาเพื่อนบ้าน-รู้นิสัยคนในชุมชนจะมอบความรู้สึกอุ่นใจกว่า

“ผมกลับไปอยู่ไทรโยคไม่ได้เพราะเรื่องงาน เรามีอาชีพที่เรารัก ถ้าจะอยู่รอดที่เมืองกาญจน์อาจต้องเปลี่ยนอาชีพเลย”

สุดท้ายแล้วระยองก็ไม่ใช่ ‘บ้าน’ สำหรับเท็น แม้เขาจะชอบชีวิตต่างจังหวัด มีบ้านที่ไทรโยครายล้อมด้วยขุนเขา แต่ด้วยความจำเป็นทางอาชีพ ทำให้เขาต้องไปอยู่จังหวัดอื่น ในชุมชนที่มีความเป็นเมืองมากกว่า โดยหวังลึกๆ ว่าสักวันจะได้กลับบ้าน

“ทุกคนควรอยู่ที่บ้านเกิดของตัวเองได้ ไม่ควรกระจุกอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ ผมไม่ได้มองว่าการที่คนรุ่นใหม่อยากอยู่ต่างจังหวัดเป็นเรื่องงี่เง่า มันเป็นเรื่องดี แต่เราต้องเลือกชุมชนที่เราใช้ชีวิตได้จริง แต่ละพื้นที่มีข้อจำกัดของตัวเอง อย่าไปคิดเอาเองว่าชุมชนนี้จะมีภาพฝันเป็นแบบไหน ต้องลองหาข้อมูลว่ามันเหมาะกับธรรมชาติของเราไหมและเราจะอยู่ชุมชนนั้นได้ไหม”

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่เท็นมองว่าจะกระจายคนออกจากเมืองได้คือ ‘การกระจายอำนาจ’

“ถ้าไม่กระจายอำนาจก็จะยังมีวิธีการมองชนบทจากส่วนกลางอยู่ มีคำสั่งจากส่วนกลางมาโดยไม่รู้ว่าคนในชุมชนทำอะไรได้บ้างหรือต้องการอะไร เช่น ชุมชนบางแห่งไม่มีอะไรเลย มันอาจเหมาะจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมก็ได้ ดินไม่ดี ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น แห้งแล้ง คนอาศัยอยู่น้อย มีแต่ดินกับทรายแล้วจะให้เขาอนุรักษ์ธรรมชาติอะไร คนเขาอาจมองเรื่องธุรกิจทางอุตสาหกรรมก็ได้

“บางชุมชนมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวและทำเกษตรได้ แต่ถ้าคนในชุมชนสามารถทำธุรกิจอื่นๆ ได้ด้วยล่ะ ทุกวันนี้ก็ติดกฎหมายเรื่องป่าไม้ เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ไม่เคยถามเลยว่าคนในชุมชนจะทำมาหากินอะไร จะอยู่ยังไง ป่าอยู่ แต่คนตาย บางพื้นที่กลายเป็นชุมชนไปแล้ว มีคนอยู่หลายพันคน แต่ที่ดินถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ป่า ยังติดอยู่กับคำสั่งจากส่วนกลางที่ไม่เป็นปัจจุบัน”

เป็นเรื่องเจ็บปวดของสังคมไทยที่คนในพื้นที่ห่างไกลยังต้องคอยเงี่ยหูฟังคำสั่งว่าคนจากส่วนกลางอยากให้บ้านของเขาพัฒนาไปในทางไหน

เท็นยืนยัน “ภาครัฐมีส่วนสำคัญมาก” เขาหมายถึงการกระจายคนออกจากเมือง สร้างค่านิยมให้คนกลับไปอยู่ต่างจังหวัด ร่วมกันพัฒนาบ้านเกิด “พูดง่ายนิดเดียว ทุกคนอยากกลับบ้าน แต่ถามว่ากลับไปแล้วมีอะไรรองรับเขาไหม”

หากมีเพียงแค่สโลแกนกลวงๆ ที่คนรุ่นเท็นได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ที่ว่าให้คน ‘สำนึก’ แล้วกลับไปพัฒนาชนบทบ้านเกิด การเปลี่ยนแปลงชุมชนในต่างจังหวัดก็คงไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริงและคนรุ่นหลังจากนี้คงไม่มีใครกลับไปอยู่บ้านเกิดได้ เพราะในความเป็นจริงแล้วต่างจังหวัดก็ต้องการโอกาสกับทรัพยากร และที่สำคัญคืออำนาจในการตัดสินใจของตัวเอง

สุดท้ายแล้วคงไม่มีใครอยากกลับไปซ่อมแซมบ้านตัวเองโดยมีคนอื่นชี้นิ้วสั่งและไม่มีโอกาสจะได้บอกว่าเจ้าของบ้านนั้นอยากอาศัยอยู่ในบ้านแบบไหน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save