fbpx
เมื่อมอเตอร์ไซค์กำลังมา

เมื่อมอเตอร์ไซค์กำลังมา

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

คุณคงเบื่อรถติดมากพอๆ กับผม

 

แต่นอกจากรถติดแล้ว แท็กซี่กรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งยังทำให้เราอิดหนาระอาใจ ไม่อยากจะโบกนิ้วโป้งไปในอากาศเพื่อเรียกให้พวกเขาจอด เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่าพวกเขาจะไม่ไป โดยเฉพาะเมื่ออยู่ใจกลางเมือง

ส่วนจะเรียกบริการแกร็บหรือก็ผิดกฎหมายอีก รัฐไทยไม่ยอมทำให้ถูกหรือผิด จึงอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ นั่งแกร็บคาร์ไปในบางสถานที่ก็ไม่ได้ (เช่นที่ที่มีนักท่องเที่ยวเยอะๆ ตามเกาะรัตนโกสินทร์ หรือที่อื่นๆ) เพราะจะถูกตำรวจเรียก ต้องเสียค่าปรับกับการใช้รถผิดประเภทกันไปตามเพลง ซึ่งก็ชวนให้สงสัยอย่างไร้เดียงสาว่า แล้วทำไมรัฐไทยไม่สั่งปิดๆ ไปเสียเลย ปล่อยให้มีอยู่ไปทำไม ใช้มาตรา 44 สั่งเลิกเสียให้หมด

ถ้าคุณคิดเหมือนผม บางทีคุณอาจอยากขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นมาบ้าง

เวลาพูดถึงมอเตอร์ไซค์ ภาพที่เรานึกถึงมักมีอยู่สองภาพ ภาพแรกคือคนรวยๆ ขี่บิ๊กไบค์ ซึ่งก็มักจะเป็นการขี่กันเป็นงานอดิเรกมากกว่าจะใช้เป็นพาหนะ ในด้านหนึ่ง บิ๊กไบค์ก็เหมือนกับจักรยานนั่นแหละครับ เพราะมันเอามาใช้สำหรับการ ‘สัญจร’ (commute) ในชีวิตประจำวันในกรุงเทพฯ ไม่ได้จริง จักรยานนั้นเพราะไม่มีความปลอดภัยมากพอ ไม่มีที่ทางเฉพาะ ไม่มีการสนับสนุนส่งเสริม ส่วนบิ๊กไบค์ก็ใหญ่เกินไป ถ้ารถติดก็ต้องติดแหง็กอยู่กับที่ ไม่สามารถซอกซอนไปไหนต่อไหนได้เหมือนมอเตอร์ไซค์เล็กๆ คนขี่บิ๊กไบค์เลยต้องยักแย่ยักยันสูดดมควันพิษกันไปนานๆ จึงไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์อะไรนัก ไม่เหมือนการขี่บิ๊กไบค์วันหยุดไปเขาใหญ่หรือที่อื่นๆ ไกลๆ

ส่วนอีกภาพหนึ่ง มอเตอร์ไซค์คือพาหนะสำหรับคนที่ไม่มีทางเลือกในชีวิตเท่าไหร่ คือจะซื้อรถยนต์ก็ยังไม่มีเงินมากพอ เลยต้องใช้มอเตอร์ไซค์ไปก่อน หลายคนจึงคิดถึงมอเตอร์ไซค์แบบนี้ในลักษณะของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือไล่เลยไปถึงเด็กแว้นเด็กซิ่งทั้งหลาย ซึ่งต้องบอกคุณว่า ภาพของมอเตอร์ไซค์แบบนี้เป็น ‘มายาคติ’ มากนะครับ เพราะมอเตอร์ไซค์รับจ้างจำนวนมากนั้นไม่ได้ยากจน หลายคนมีรถยนต์ รถกระบะ มีที่ทางอยู่ต่างจังหวัด โดยมีรายได้หลักมาจากการเป็น ‘พี่วิน’ นี่แหละ

อย่างไรก็ตาม ภาพของมอเตอร์ไซค์ในแบบที่สองนี้ก็ไม่ใช่การใช้มอเตอร์ไซค์เพื่อการ ‘สัญจร’ โดยตัวเองอีกนั่นแหละ แต่เป็นการใช้เป็นอุปกรณ์ในการสร้างรายได้มากกว่า เช่น เป็นแมสเซนเจอร์ส่งของ (เพื่อความรวดเร็ว) หรือรับส่งผู้โดยสาร แต่มักไม่ได้ใช้เพื่อการเดินทางของตัวเองเป็นหลัก

ภาพของมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ จึงเป็นภาพของกลุ่มคนที่มีสถานะต่างกันสองแบบ แบบหนึ่งรวยไปเลย อีกแบบหนึ่งจนไปเลย (ต้องเน้นย้ำว่าเป็นแค่ perception หรือภาพที่เรารับรู้เท่านั้นนะครับ เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็นมายาคติ) แต่เราไม่มีภาพของ ‘คนชั้นกลาง’ ขี่มอเตอร์ไซค์แบบในอิตาลี ประเภทใส่เสื้อทวีตเก๋ๆ ขี่มอเตอร์ไซค์จำพวกสกูตเตอร์เท่ๆ และ ‘ใช้’ มอเตอร์ไซค์เพื่อการสัญจร (commute) จริงๆ

แต่ภาพแบบนั้นกำลังจะเปลี่ยนไป!

จริงอยู่ มอเตอร์ไซค์เพื่อการผจญภัย (adventurous motorbike) ประเภทบิ๊กไบค์จะยังอยู่ ตลาดไม่ได้หายไปไหน และมอเตอร์ไซค์ประเภทใช้ทำงานสร้างรายได้ก็จะยังอยู่ด้วย แต่มอเตอร์ไซค์อีกประเภทหนึ่งที่พยายามจะเกิดในตลาดของกรุงเทพฯ มาหลายรอบแล้ว (แต่ยังไม่เกิดอย่างเต็มตัวเสียที) กำลังจะมาอีกครั้ง

เดิมที มอเตอร์ไซค์นั้น ไม่ว่าจะเก๋ไก๋แค่ไหนก็ยังใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆ คือใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อน และแผงหน้าปัดก็มักเป็นแบบเข็ม ระยะหลังอาจจะมีตัวเลขดิจิทัลใส่เข้ามาบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นที่ฮือฮาอะไรนักหนา

แต่ตอนนี้เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยน มอเตอร์ไซค์ที่ใช้น้ำมันจะค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น มอเตอร์ไซค์ใหม่ๆ จึงจะกลายเป็นรถที่เงียบ และมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ใส่เข้ามามากขึ้น ซึ่งก็ต้องบอกว่า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไม่ใช่ของใหม่ มีการพัฒนากันมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่แล้ว แต่ยังไม่มีความเป็นไปได้ในทางพาณิชย์เท่าไหร่

มาตอนนี้ เทคโนโลยีก้าวไกล เกิดแนวคิดเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าหลายแบบขึ้นมา โดยแบบหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือมอเตอร์ไซค์แบบใหม่ที่เรียกว่ามอเตอร์ไซค์ลูกผสม (Hybrid Motorcycle) ซึ่งค่ายใหญ่ๆ อย่าง Honda Yamaha และ Piaggio ต่างก็มีรถมอเตอร์ไซค์ไฮบริดออกมาวางจำหน่ายกันแล้ว

ถามว่า แล้วมอเตอร์ไซค์ไฮบริดเกี่ยวอะไรกับคนชั้นกลาง

คำตอบก็คือ เป็นไปได้ไม่น้อย ที่มอเตอร์ไซค์แบบใหม่นี้ จะเข้ามากลายเป็นอีก ‘ภาพ’ หนึ่งของการใช้มอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ ถ้าเราดูการโฆษณาของมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ๆ จะเห็นว่าไม่ได้แค่ใช้คนรุ่นใหม่มาเป็นพรีเซนเตอร์เท่านั้น แต่ยังสอดแทรกเข้าไปในสื่อต่างๆ (เช่นละคร) และท่ีสำคัญก็คือ โฆษณาเน้นไปที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใส่เข้ามาในรถด้วย

ในแวดวงนักออกแบบมอเตอร์ไซค์ ว่ากันว่าการออกแบบหน้าจอแบบที่เป็นเกจ์ (guage cluster) นั้น เป็นศิลปะที่กำลังจะล้มหายตายจากไป แต่หน้าจอใหม่ที่จะใส่เข้ามาในมอเตอร์ไซค์ จะกลายเป็นหน้าจอเหมือนหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือไอแพด คือกลายร่างไปเป็นเครื่องวัดความเร็ว (speedometer) ความเร่ง (tachometer) และตัวบอกถึงสถานะต่างๆ ในมอเตอร์ไซค์แบบที่เป็นดิจิทัลทั้งหมด คือเอานิ้วจิ้มลงไปก็บังคับโน่นนั่นนี่ได้เลย

วิธีออกแบบการแสดงผลข้อมูลทั้งหลายนั้น ในสมัยก่อนจะนิยมออกแบบให้บอกเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นเท่านั้น ไม่บอกเยอะ เพราะถ้าบอกเยอะอาจทำให้คนเสียสมาธิในการขับขี่ได้ และในอีกด้านก็จะได้ประหยัดต้นทุนการผลิตด้วย มอเตอร์ไซค์สมัยก่อนจึงไม่ค่อยมีข้อมูลอะไรให้ผู้ขับขี่เท่าไหร่นัก แต่พอมาถึงยุคนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้หน้าจอเล็กๆ บอกเราได้สารพัดอย่าง โดยสามารถเลือกเปิดปิดได้ตามใจ การรู้ข้อมูลพวกนี้ย่อมดีกว่าไม่รู้ เช่น รู้ว่าตอนนี้มอเตอร์ไซค์กำลังมีปัญหาโน่นนั่นนี่อยู่หรือไม่ หรือสามารถปรับเปลี่ยนระบบการขับขี่ได้ด้วยการกดปุ่ม เปลี่ยนจากการขับขี่ในเมืองไปเป็นแบบสปอร์ต แบบทัวริ่ง หรือแบบอื่นๆ ซึ่งจะไปบังคับโช้คอัพให้เปลี่ยนความแข็งความหนึบได้อีกทีหนึ่ง

หน้าจอแบบใหม่นี้เรียกว่า TFT display (ย่อมาจาก Thin-Film-Transistor Liquid-Crystal Display) ซึ่งเป็นหน้าจอสี และกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในอุตสาหกรรมมอเตอร์ไซค์ หน้าจอแบบนี้จะมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางวัน แม้ว่าแสงจะส่อง resolution ก็สูงกว่าหน้าจอแอลซีดีธรรมดา ส่วนตอนกลางคืนยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะสามารถปรับค่าแสงได้โดยอัตโนมัติ

ในช่วงแรกๆ หน้าจอ TFT มีอยู่ในมอเตอร์ไซค์ราคาแพงก่อน โดยเฉพาะบิ๊กไบค์ทั้งหลาย แต่ในอนาคต เราจะค่อยๆ เห็น TFT (หรือหน้าจอแบบอื่นๆ ที่ราคาถูกกว่า แต่ให้ข้อมูลได้คล้ายๆ กัน) ปรากฏอยู่ในมอเตอร์ไซค์ราคากลางๆ ไม่ถูกเกินไป แต่ก็ไม่แพงเกินไป และเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับการออกแบบมาให้เป็นสกูตเตอร์ใช้ในเมืองมากกว่าจะเป็นบิ๊กไบค์

เทคโนโลยีใหม่ๆ พวกนี้ จะทำให้มอเตอร์ไซค์นั้น ‘น่าใช้’ สำหรับการสัญจร (commute) ในเมืองมากขึ้น และน่าจะสอดรับกับจริตของคนชั้นกลางมากขึ้น ด้วยการดีไซน์ ด้วยระบบต่างๆ ที่สร้างความปลอดภัยมากขึ้น (เช่นระบบเบรคเอบีเอส ระบบเตือนต่างๆ ฯลฯ) รวมไปถึงความประหยัดน้ำมัน (เพราะใช้เทคโนโลยีไฮบริดหรือไฟฟ้าไปเลย) ความเงียบ การเดินทางไปถึงที่หมายได้อย่างรวดเร็ว และไม่ต้องเสียเวลาหาที่จอดนานๆ เหมือนการใช้รถยนต์

ปัญหามีอยู่อย่างเดียว นั่นก็คือการออกแบบเมืองและโครงสร้างเมืองอย่างกรุงเทพฯ มองเห็นถึงเทรนด์แบบนี้ล่วงหน้าหรือเปล่า และรัฐไทยสนับสนุนการใช้มอเตอร์ไซค์ไหม

โปรดอย่าลืมว่า กระทั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ถือได้ว่าเป็นการขนส่งมวลชน (แบบทีละคน) ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ก็ยัง ‘เกิดเอง’ โดยรัฐไม่ได้สนใจอะไรในตอนต้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเข้ามาควบคุมดูแล ดังนั้น คำถามก็คือ รัฐไทยอยากให้เกิด ‘คลื่น’ แห่งการใช้มอเตอร์ไซค์เพื่อการสัญจรไหม เรามองเห็นถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น การลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาเดินทาง ลดการเสียเวลาอันเกิดจากรถติด ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ลดการใช้น้ำมัน ฯลฯ หรือเปล่า

ถ้าเห็น – และอยากให้เกิดขึ้น เราจะเปลี่ยนโครงสร้างถนนเพื่อรองรับการเดินทางแบบใหม่นี้ให้ปลอดภัยมากขึ้นไหม เช่น การจัดให้ถนนมีเลนมอเตอร์ไซค์เฉพาะ (ซึ่งเป็นเรื่องถกเถียงกันได้ว่าควรทำหรือเปล่า แบบเดียวกับที่มีการถกเถียงเรื่องไบค์เลนมาแล้ว)

 

หรือว่า แม้จะพอมองเห็นเค้าลางการมาถึงของอะไรบางอย่าง เราก็จะยังเพิกเฉยเช้าชามเย็นชาม ปล่อยให้ระบบเดิมๆ ทำงานต่อไปโดยไม่ต้องคิดเตรียมพร้อมรับมืออะไร

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save