fbpx
เมืองมอเตอร์ไซค์

เมืองมอเตอร์ไซค์

อภิวัฒน์ รัตนวราหะ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

มอเตอร์ไซค์ : ปัจจัยที่ห้า

 

ในโลกปัจจุบัน ปัจจัยที่ห้าสำหรับการดำรงชีวิตของคนจำนวนหนึ่งอาจคือระบบอินเทอร์เน็ต แต่สำหรับคนเมืองและคนชนบทอย่างน้อย 20 ล้านคนในประเทศไทย มอเตอร์ไซค์เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้ต้องพึ่งพามอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะหลักในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต ไม่เพียงเฉพาะในการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวหรือด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่รวมไปถึงการส่งพัสดุสิ่งของและอาหารผ่านแอปพลิเคชัน ในขณะเดียวกัน คนอีกจำนวนมากแม้ไม่ได้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ แต่ก็ได้รับประโยชน์โดยอ้อมจากความสะดวกสบายที่มีมอเตอร์ไซค์วิ่งรับส่งคน สินค้าและอาหารอยู่ทั่วไป

ความสำคัญของมอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้นตามจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในปี 2563 จะเกิดโรคระบาดโควิดและเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ยังคงมีมอเตอร์ไซค์จดทะเบียนใหม่ถึง 1.6 ล้านคัน แม้จะลดลงมาเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งสูงถึง 1.8 ล้านคันก็ตาม จากสถิติการจดทะเบียนสะสม ณ เดือนธันวาคม 2563 รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลและสาธารณะมีมากถึง 21.6 ล้านคันทั่วประเทศ ในขณะที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลมีประมาณ 10.4 ล้านคัน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลอีก 6.9 ล้านคัน ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความนิยมและบทบาทที่สำคัญมากของมอเตอร์ไซค์สำหรับชีวิตคนไทยและเศรษฐกิจไทย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้มอเตอร์ไซค์เป็นที่นิยมในหมู่คนจำนวนมากก็เพราะเป็นพาหนะที่เคลื่อนตัวง่าย สามารถซอกแซกไปตามช่องทางแคบๆ ในช่วงจราจรติดขัดได้อย่างรวดเร็ว แม้ต้องแลกมากับความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและความรำคาญสำหรับคนขับรถยนต์ อีกทั้งมอเตอร์ไซค์ยังมีราคาต่ำกว่ารถยนต์และรถบรรทุกส่วนบุคคลมาก คนจำนวนมากจึงสามารถซื้อและครอบครองเป็นเจ้าของได้ง่ายกว่า

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มอเตอร์ไชค์เป็นทางเลือกสำคัญของคนเมืองคือรูปแบบการพัฒนาเมืองของไทย แต่ไหนแต่ไร การพัฒนาโครงข่ายถนนในแทบทุกเมืองของประเทศนี้ ภาครัฐเน้นการสร้างและขยายถนนสายหลัก แต่ไม่พัฒนาถนนสายรอง และปล่อยให้ภาคเอกชนพัฒนาที่ดินและสร้างตรอกซอกซอยจำนวนมากได้ตามสะดวก โดยไม่คำนึงถึงลำดับศักย์และความเชื่อมต่อของโครงข่ายถนนตามที่ควรจะเป็น รูปแบบดังกล่าวทำให้การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นได้ยาก คนที่อาศัยอยู่ในซอยลึก ถ้ามีเงินจ่ายก็ซื้อรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ ส่วนคนที่เงินไม่พอก็ต้องซื้อมอเตอร์ไซค์มาใช้เอง หรือใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ส่วนการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ชนบทที่มีความหนาแน่นต่ำมักไม่เอื้อต่อระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ เนื่องจากไม่คุ้มทุนในการให้บริการ ประกอบกับระดับรายได้โดยเฉลี่ยของคนในเมืองเล็กและชุมชนชนบทไม่สูงมากพอที่จะซื้อรถยนต์ส่วนบุคคล จึงทำให้มอเตอร์ไซค์กลายเป็นพาหนะทางเลือกหลัก ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เมืองหรือชนบท รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของประเทศไทยที่ผ่านมาบีบให้มอเตอร์ไซค์กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพและดำรงชีพไปโดยปริยาย

เมื่อมองภาพอนาคตไปอีก 20 ปีข้างหน้า ชีวิตคนเมืองในประเทศไทยก็คงยังต้องพึ่งมอเตอร์ไซค์ต่อไป แม้รูปร่างหน้าตาและรูปแบบการบริการของมอเตอร์ไซค์อาจเปลี่ยนแปลงไป สาเหตุหลักคือ โครงข่ายถนนในพื้นที่เมืองไม่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นมากกว่านี้แล้วด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและกฎหมายเกี่ยวกับการเวนคืนและการจัดรูปที่ดิน ส่วนในพื้นที่ชานเมือง ภาครัฐก็ไม่มีท่าทีว่าจะสร้างถนนสายรองและสายย่อยให้ครบลำดับศักย์ตามหลักการที่ควรจะเป็น แถมยังคงปล่อยให้ภาคเอกชนจัดสรรที่ดินและกำหนดโครงข่ายถนนระดับย่อยได้เอง โครงการจัดรูปที่ดินที่เคยเป็นความหวังในการพัฒนาเมืองก็คงประสบผลสำเร็จได้ไม่มากนัก

ดังนั้นในอนาคต ความจำเป็นและข้อได้เปรียบของมอเตอร์ไซค์จะยังคงมีอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ส่วนตัว ทั้งราคา ความประหยัดค่าน้ำมัน และความสะดวกและคล่องตัว ส่วนจักรยานซึ่งอาจเป็นคู่แข่งสำคัญของมอเตอร์ไซค์ในต่างประเทศก็คงเข้ามาแทนมอเตอร์ไซค์ได้ยากในประเทศไทย ไม่ว่าจะทั้งในด้านจำนวนและความรวดเร็วของพาหนะ รวมถึงด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการใช้จักรยาน อนาคตของเมืองในประเทศไทยจึงยังมีภาพของมอเตอร์ไซค์วิ่งอยู่ทั่วไป

 

มอเตอร์ไซค์บนก้อนเมฆ

 

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มอเตอร์ไซค์ยังคงอยู่แต่อยู่ในรูปแบบที่เปลี่ยนไปในอนาคตมีสองประการด้วยกัน ประการแรก การพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์มจะยิ่งทำให้มอเตอร์ไซค์เพิ่มบทบาทในฐานะฟันเฟืองสำคัญของระบบเมือง ซึ่งไม่เพียงเฉพาะในระบบการขนส่งคนและสินค้า แต่รวมไปถึงระบบอาหารและระบบพลังงาน การเติบโตของแพลตฟอร์มที่ควบรวมการบริการรถร่วมโดยสาร (ride hailing) และธุรกิจบริการส่งของ รวมไปถึงธุรกิจการเงินและการบริการอื่นๆ จะยิ่งทำให้การบริการฐานแพลตฟอร์มที่มีมอเตอร์ไซค์เป็นองค์ประกอบสำคัญมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว

ทั้งนี้ ประสิทธิภาพและผลิตภาพของมอเตอร์ไซค์ภายใต้ธุรกิจแพลตฟอร์มจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณด้วยพลังเครือข่าย (network effects) ของจำนวนผู้ให้บริการและลูกค้า ข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นจากการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) ประกอบกับความแพร่หลายของการประมวลผลในกลุ่มเมฆหรือคลาวด์คอมพิวติ้ง (cloud computing) และความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นอย่างทวีคูณของปัญญาประดิษฐ์ในการประมวลผลและการพยากรณ์

มองเฉพาะเรื่องการเดินทาง การหลอมรวมกันของเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้แนวคิดการสัญจรในฐานะการบริการ (Mobility-as-a-service หรือ MaaS) เกิดขึ้นได้จริงในอนาคตอันใกล้ กล่าวคือ ผู้เดินทางสามารถเลือกและเรียกใช้ประเภทพาหนะและรูปแบบการเดินทางได้ตามความต้องการและความเหมาะสมของการเดินทางในแต่ละเที่ยวตามความสามารถและความยินดีที่จะจ่ายของในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ ผู้เดินทางอาจเลือกจ่ายเป็นรายครั้ง รายสัปดาห์ หรือรายเดือนก็ได้ คล้ายกับการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ การดูโทรทัศน์ ชมภาพยนตร์ออนดีมานด์ (on-demand) บน Netflix และการฟังเพลงบน Spotify เป็นต้น

ในอนาคตที่การสัญจรในเมืองจะอยู่ในรูปแบบการบริการผ่านแพลตฟอร์ม (MaaS) เป็นหลัก มอเตอร์ไซค์จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีความยืดหยุ่นและความคล่องตัวสูง ตอบโจทย์ความต้องการส่วนบุคคลได้ในราคาที่ต่ำกว่าพาหนะประเภทอื่น หากสามารถพัฒนาและควบคุมให้มอเตอร์ไซค์มีความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นได้ มอเตอร์ไซค์จะกลายเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในระบบการบริการการสัญจรแบบ MaaS ของไทยในอนาคต

ปัจจุบัน เริ่มมีสัญญาณว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากขึ้นไม่อยากเพิ่มภาระระยะยาวให้กับตัวเองจากการซื้อและครอบครองสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน พาหนะ หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ หากแนวโน้มนี้ขยายวงกว้างขึ้นจริง ความสะดวกและความประหยัดที่เกิดขึ้นจากระบบ MaaS จะยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้คนอยากเป็นเจ้าของพาหนะส่วนตัวน้อยลง และยิ่งทำให้ธุรกิจการสัญจรรูปแบบนี้ยิ่งได้รับความนิยมขึ้นไปอีก รวมทั้งเพิ่มบทบาทของมอเตอร์ไซค์มากขึ้น

มอเตอร์ไซค์บนฐานบริการแบบแพลตฟอร์มอาจสร้างและขยายโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับคนจำนวนมากขึ้นได้ แต่ในมุมกลับ การควบรวมของกลุ่มทุนในการบริหารจัดการแพลตฟอร์มด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะยิ่งทำให้อำนาจในการต่อรองของแรงงานที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์และร้านค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์มลดน้อยลงได้ มิติด้านลบของแพลตฟอร์มจึงนับเป็นเรื่องใหญ่ที่จะละเลยไม่ได้ในการมองอนาคตของมอเตอร์ไซค์ในเมือง

 

ไฟฟ้าคืออนาคต

 

ปัจจัยที่สองที่จะทำให้วงการมอเตอร์ไซค์พลิกผันอย่างมากในอนาคตอันใกล้นี้คือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เชื่อกันว่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าโดดเด่นกว่ามอเตอร์ไซค์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบเดิมเพราะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า ไม่ว่าจะเป็นค่าพลังงานหรือค่าดูแลรักษา อีกทั้งยังไม่ปล่อยควันพิษและส่งเสียงดังจากเครื่องยนต์ที่ทำลายสุขภาพของผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ พร้อมกันนี้ ก็สามารถเลือกใช้แหล่งกำเนิดไฟฟ้าทางเลือกได้ ไม่ว่าจะจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวลหรือกังหันลม  มอเตอร์ที่ใช้ก็มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจึงได้เปรียบกว่าในด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้านการใช้ทรัพยากร

ในปัจจุบัน ยังมีการพัฒนามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่สามารถเชื่อมต่อโดยตรงกับระบบคลาวด์ผ่านสมาร์ทโฟน โดยมีฟังก์ชันจำนวนมากที่เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยของการขับขี่มอเตอร์ไซค์ การเชื่อมต่อแบบเรียลไทม์ดังกล่าวทำให้ระบบบริหารและติดตามพิกัดตำแหน่งยานพาหนะ (fleet management) มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่บริษัทแพลตฟอร์มรถร่วมโดยสารและเดลิเวอร์รีให้ความสนใจที่จะผลักดันให้มีการเปลี่ยนไปใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามากขึ้น

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบไฟฟ้าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่เฉพาะแต่การใช้มอเตอร์ไซค์เพื่อการเดินทางและขนส่ง แต่จะมีผลกระทบต่อเมืองในวงกว้าง ทั้งสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานที่ต้องรองรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รวมไปถึงการออกแบบอาคารและออกแบบเมือง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยยังไม่มีพร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเท่าไหร่นัก นับตั้งแต่ระบบการชาร์จแบตเตอรีไปจนถึงระบบรีไซเคิลแบตเตอรีที่ปลอดภัย ส่วนกรอบด้านกฎหมายและนโยบายก็ยังไม่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนไปใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า จึงถือเป็นความท้าทายที่ต้องแก้ไขต่อไป

อนึ่ง ตัวเปลี่ยนเกมสำคัญสำหรับระบบการสัญจรในอนาคตคือยานยนต์ไร้คนขับ ซึ่งโดยมากหมายถึงรถยนต์ที่มีแต่คนนั่งไม่มีคนขับ แต่ในปัจจุบันหลายบริษัทเริ่มสร้างต้นแบบของมอเตอร์ไซค์ไร้คนขับแล้วเช่นกัน เช่น BMW C1 ของบริษัทสตาร์อัพชื่อ AutoRD รวมถึง MOTOROiD ของ Yamaha และ Riding Assist-e ของ Honda ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นมอเตอร์ไซค์ไร้คนขับแบบสมบูรณ์ แต่ก็มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันบางส่วนโดยไม่ต้องใช้คนขับ อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยแล้ว คงอีกหลายสิบปีกว่ายานยนต์และมอเตอร์ไซค์ไร้คนขับจะกลายเป็นพาหนะสำคัญของการเดินทางในเมือง แต่ก็เป็นสัญญาณที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

 

มอเตอร์ไซค์ไร้เจ้าภาพ

 

แม้ว่าจำนวนมอเตอร์ไซค์จะมีมากกว่ารถยนต์ส่วนตัวถึงสองเท่า และมีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่มอเตอร์ไซค์กลับได้รับความสนใจน้อยมากในด้านนโยบายด้านการขนส่งของภาครัฐ หน่วยงานกำหนดนโยบายและพัฒนาระบบการขนส่งในเขตเมืองของไทยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมักมุ่งการลงทุนไปที่การสร้างถนนสำหรับการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวและการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง ยิ่งไปกว่านั้น แทบไม่มีนโยบายการพัฒนาเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ที่ชัดเจน

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า การใช้มอเตอร์ไซค์มาพร้อมกับความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ารถยนต์ส่วนตัวและระบบขนส่งมวลชน นโยบายความปลอดภัยในการขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ผ่านมาจึงเน้นการใช้มาตรการควบคุมความเร็วการบังคับใส่หมวกกันน็อค และการรณรงค์เพื่อความปลอดภัย แต่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขับขี่มอเตอร์ไซค์กลับมีอยู่น้อยมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ในการออกแบบและพัฒนาถนน สะพานข้ามแยกและอุโมงค์ลอดใต้ถนนยังไม่มีการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยให้รองรับการสัญจรโดยมอเตอร์ไซค์ ในขณะที่ในประเทศมาเลเซีย มีการสร้างช่องทางและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ สำหรับมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะ ซึ่งช่วยลดทั้งอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตได้อย่างมาก

แม้แต่ในการออกแบบอาคารและพื้นที่สาธารณะ เจ้าของโครงการและสถาปนิกมักให้ความสำคัญกับรถยนต์มากกว่ามอเตอร์ไซค์ เราจึงมักเห็นอาคารหลายแห่งมีพื้นที่จอดรถยนต์ที่เป็นกิจจะลักษณะ แต่พื้นที่จอดมอเตอร์ไซค์กลับมักไม่เพียงพอและบ่อยครั้งมีสภาพอีเหละเขละขละ ภาพเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมต่อมอเตอร์ไซค์ที่ซ่อนลึกอยู่ในกระบวนทัศน์ของนักออกแบบและนักนโยบายด้านการขนส่ง

มอเตอร์ไซค์มีความสำคัญมากต่ออนาคตประเทศไทย บทบาทที่เพิ่มขึ้นของมอเตอร์ไซค์ย่อมมาพร้อมกับปัญหาของการใช้พาหนะประเภทนี้ นับตั้งแต่ปัญหาด้านอุบัติเหตุและการขับขี่ที่ผิดกฎจราจร ปัญหาจากเงื่อนไขการทำงานที่ไม่เป็นธรรมของแรงงานบนแพลตฟอร์มรับส่งคนและส่งของ การเปลี่ยนผ่านมอเตอร์ไซค์ไปสู่ระบบการขนส่งฐานแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมในอนาคต รวมถึงการเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบการขนส่งที่ยั่งยืนบนฐานพลังงานทางเลือก ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าภาครัฐไม่แสดงบทบาทที่ชัดเจนและจริงจัง ทั้งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการกำหนดกรอบกฎหมายและสถาบัน ประเด็นเหล่านี้นับเป็นช่องว่างสำคัญในนโยบายสาธารณะที่กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องควรปรับปรุงแก้ไขต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save