101 Team Recommends
ผ่านมากว่า 360 วันในปี 2019 ที่ชิ้นงานของ the101.world เสิร์ฟถึงมือผู้อ่านทุกเช้า บางชิ้นได้รับความสนใจในวงกว้าง ส่วนบางชิ้นอาจจะหลุดรอดสายตาผู้อ่านไปบ้าง เราจึงมีการรวบรวม ‘ผลงานแห่งปี’ ที่ทีมงาน 101 อยากชวนให้อ่าน เนื้อหาหลากหลายทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เล่าผ่านบทความ สัมภาษณ์ สกู๊ป สารคดี และวิดีโอ
และนี่คือชิ้นงานที่ทีมงาน 101 อยากให้ทุกคนได้อ่าน
สมคิด พุทธศรี | บรรณาธิการ
Before Sunset ตามหาแสงสุดท้ายที่ปารีส
โดย วจนา วรรลยางกูร
สมคิด : ไม่เคยอยากดูหนัง และไม่เคยคิดว่าปารีสโรแมนติก จนกระทั่งได้อ่านงานชิ้นนี้
คอลัมน์ วิธีอ่าน 101
สมคิด : งานเขียนของ อ.ศุภมิตร เป็นหนึ่งในคอลัมน์ที่ทำให้รู้สึกว่า ‘ต้องอ่าน’ ไม่ว่าอาจารย์จะเขียนเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้ว หรือไม่สนใจเลยก็ตาม เพราะบทความกระตุ้นความคิดและชวนถกเถียงเสมอ สำหรับบทความที่ชวนอ่านเป็นพิเศษในปีนี้คือบทความเรื่อง ‘การเตรียมพระองค์ของ เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ ตามแนวทางการอบรมของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’
วาระสุดท้ายในนาม Journalist : สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการบริหาร ‘The Nation’
โดย ธิติ มีแต้ม
สมคิด : บทสัมภาษณ์ที่ทำให้เห็นชีวิต ความคิด และจิตวิญญาณสื่อมวลชนมืออาชีพ อีกทั้งยังเต็มไปด้วยเกร็ดเรื่องเล่ามากมายของสื่อมวลชนรุ่นใหญ่หลายคนที่ผันตัวมาเป็น ‘ตัวละคร’ สำคัญทางการเมืองไทยในเวลาต่อมา
ญาดา เตชะวิวัฒนากาล | ผู้จัดการโครงการจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ
เจ็บ แต่… “ไม่จบ”
โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย และ อดิศร เด่นสุธรรม
ญาดา : อัลบั้มภาพชุดนี้ ชวนทำความเข้าใจเรื่อง ‘ความรุนแรงต่อเด็ก’ ในด้านกลับ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นผู้ถูกกระทำ ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ
บทความชวนค้นดูว่าหากเด็กเคยเผชิญความรุนแรงในแบบที่เราอาจคาดไม่ถึงนั้น บางสิ่งบางอย่างสามารถสร้างบาดแผลลึกให้กับเด็กมากเพียงใด
รายการ 101 One-On-One Ep.81 “ชีววิทยาดิจิทัล : มนุษย์และสัตว์ในโลกอนาคต” กับ แทนไท ประเสริฐกุล
โดย กองบรรณาธิการ
ญาดา : เราติดตามพอดแคสต์ WiTcast มานาน จนได้เจอคุณแทนไทตัวจริงใน live ตอนนี้ ชอบเรื่องราวครอบจักรวาลของการเล่าเรื่องชีวะฯ มากๆ
ใครที่อยากฟังเรื่องราวสนุกๆ ชวนขบคีส ขอเรียนเชิญ
เราร้องไห้กันคนละเรื่อง
ญาดา : แค่เห็นชื่อของนักเขียนก็ทำให้นึกถึงบรรยากาศในการอ่าน ว่าจะทำให้เรารู้สึกรู้สากับเรื่องราวที่ผ่านสายตาของวรพจน์
ชวนสัมผัสเรื่องราวและเข้าใจความแตกต่างของ filter ผู้คน ผ่านงานเขียนชิ้นนี้
ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ | กองบรรณาธิการ
ชีวิตใหม่ของคนนอกขนบ ‘อั้ม เนโกะ’ และเส้นทางต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBT
โดย วจนา วรรลยางกูร
ศุภาวรรณ : เราเคยคุ้นชินกับการได้ยิน ‘อั้ม เนโกะ’ ส่งเสียงต่อสู้ แสดงความเห็นต่อสังคมการเมืองอย่างกล้าหาญ แม้ไม่ถูกใจใครหลายคน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายปีที่สังคมไม่สามารถแสดงความเห็นได้ดังเท่าเดิม เธอเป็นหนึ่งเสียงที่เรานึกถึง บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะบอกเล่าความเป็นไป และสำรวจการต่อสู้ของ LGBT ในยุโรปผ่านน้ำเสียงของเธอ
ค่ำคืนของรำวงเพชรบุรี : ลานดิน กลิ่นตาล และงานรื่นรมย์
ศุภาวรรณ : เสียงเพลง ท่วงท่า และกลิ่นอายของคนเมืองเพชรในลานกว้างแห่งหนึ่ง ถูกถ่ายถอดผ่านตัวหนังสืออย่างงดงาม และงามจนเราเสียดาย หากวิถีชีวิตของผู้คนจะหายวับไปกับตาเมื่อถนนและความเจริญตัดผ่าน สารคดีชิ้นนี้สะท้อนผลกระทบของความเจริญอย่างเป็นมนุษย์ ย้ำเตือนว่าทุกการเปลี่ยนแปลงมีเบื้องหลังเป็นชีวิตของใครบางคนเสมอ
สื่อไทยในโลกดิสโทเปีย : บนถนนสู่ความฝัน ของ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์
ศุภาวรรณ : อ่านความคิดของสื่อมวลชนอาวุโส ที่อยู่ในสนามมานานพอจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ก้าวหน้า และถดถอย บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้แม้จะชี้ให้เห็นความผันผวนของสื่อมวลชน แต่ก็ฝากความหวังไว้ที่สื่อมวลชนไทยในอนาคตเช่นกัน
เมธิชัย เตียวนะ | ผู้กำกับและผู้สร้างสรรค์งานวิดีโอ
รอมฎอน ปันจอร์ : สมรภูมิใหม่ชายแดนใต้ บทพิสูจน์ผู้แทนราษฎรกับการเมืองแบบ “ใครจะ Final Say”
โดย ธิติ มีแต้ม
เมธิชัย : ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นความขัดแย้งระหว่างใครกับใคร ขัดแย้งเรื่องอะไร และ “ใครจะ Final Say”
เนื้อหาในบทสัมภาษณ์เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการทำความเข้าใจความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้
101 In Focus EP.10 : เขตเศรษฐกิจพิเศษ … สำหรับใคร?
โดย กองบรรณาธิการ
เมธิชัย : เรื่องเล่าจากการลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และย้อนกลับมามองภาพกว้างของเขตเศรษฐกิจพิเศษไทย เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้เพื่อใคร และใครได้ประโยชน์
THE PRINCE 2019 : มาคิอาเวลลีกับการเมืองไทย เมื่อกลอำนาจอยู่ในมือพ่อมด
เมธิชัย : ‘การทำให้รัก และในขณะเดียวกันก็รู้สึกกลัวด้วย’ เนื้อหาบทสัมภาษณ์ทำให้เห็นว่าผู้ปกครองคิดอย่างไร และเนื้อแท้แนวคิดของมาคิอาเวลลีเป็นอย่างไร
วจนา วรรลยางกูร | กองบรรณาธิการ
The Deep Sound
โดย เมธิชัย เตียวนะ
วจนา : สารคดีนี้ทำให้เสียงของคนหนุ่มสาวจากสามจังหวัดชายแดนใต้มีคนรับฟัง แม้เราจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้ในกรุงเทพฯ แต่เราไม่เห็นภาพว่าความแตกต่างทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและภาษา จะทำให้พวกเขาแปลกแยกจากสังคมเพียงไร น่าเศร้าที่คนกลุ่มหนึ่งต้องถูกมองด้วยสายตาหวาดระแวงในทุกวัน ทั้งที่คนกลุ่มนี้ก็เป็นคนหนุ่มสาวที่มีความฝันความเชื่อไม่แตกต่างกับเรา ความหวาดระแวงนี้ยิ่งกลายเป็นเรื่องอันตรายเมื่อถูกใช้ในกระบวนการยุติธรรม
“ประเทศนี้ไม่มีความเมตตา” เสียงจากภรรยา ‘สุรชัย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์
โดย ธิติ มีแต้ม
วจนา : เป็นหนึ่งในบทสัมภาษณ์ไม่กี่ชิ้นที่เคยอ่านด้วยน้ำตา สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความไร้ค่าของการเป็นประชาชนในประเทศนี้ที่ถูกกำจัดเพียงเพราะความแตกต่างของความคิดทางการเมือง รอยแตกร้าวที่มีไม่มีทางประสานกลับ เมื่อชีวิตไม่อาจเรียกคืนและประชาชนยังไม่ถูกมองเป็นมนุษย์
การเป็นประชาชนประเทศนี้มีราคาที่ต้องจ่ายแพงเกินไป
คอลัมน์ของ อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
วจนา : อาจารย์สมชายมีวิธีการเขียนที่ชัดเจน อธิบายเรื่องซับซ้อนให้เข้าใจง่าย ทุกประโยคล้วนมีความหมาย
ที่สำคัญคือการเลือกหยิบประเด็นทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในสังคมมาเขียนถึงให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น และยังทำให้เห็นถึงเพดานการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ถูกทำให้เป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ โดยวิพากษ์ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยหลักการและเจตนาที่ต้องการเห็นกระบวนการยุติธรรมพัฒนายิ่งขึ้น
อดิศร เด่นสุธรรม | ผู้จัดการงานผลิตและสร้างสรรค์
รีวิวชีวิตดีๆ ในกรุงเทพฯ Bangkok-บางคอก With Friendly People
อดิศร : สนุก – ขำ – เศร้า – ปลง คือความรู้สึกหลังอ่านจบ
ขอบคุณภาพประกอบที่ช่วยทำให้ชีวิตในกรุงเทพฯ ดูเป็นเรื่องสนุกมากขึ้น
สนุก – กับการเดินทางในกรุงเทพ ที่ทำให้ค้นพบว่า ยิ่งไกล ใจยิ่งต้องแกร่ง
เศร้า – ที่สามารถขิงคนอื่นเรื่องความอดทนได้ คือ “บ้านกูอยู่ลาดพร้าว เอาไง มาไหม!” กับ “ทีมที่กูเชียร์ไม่ได้แชมป์มา 30 ปีละนะะโว้ยย”…อันนี้ไม่เกี่ยว (ฮ่า)
ขำ – กับแฮปปี้ไทม์บนฟุตปาธหลังฝนตก… “วันนี้จะเจอโปรกระเซ็นเปียกตีนกี่เปอร์เซ็นต์”
ปลง – เพราะวันนี้และวันข้างหน้า กรุงเทพฯ ก็คงมีเรื่อง “เฮ้อออ…” แบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาไปตลอด
Heart Of Early Childhood : หัวใจของวัยอนุบาล
เรื่องโดย กองบรรณาธิการ
ภาพวิดีโอโดย กมลชนก คัชมาตย์
อดิศร : เป็นหนึ่งในชิ้นงานของซีรีส์ ‘สนามเด็กเล็ก’ ที่ไม่ได้เล็กเหมือนชื่อเลย เพราะมีทั้งกองบรรณาธิการ นักวาดภาพประกอบ คนตัดต่อวิดีโอมาร่วมถ่ายทอดชีวิตของเด็กวัยอนุบาล ชอบคำๆ หนึ่งในคลิปวิดีโอ ที่ผู้ปกครองพูดถึงความหมายของคำว่า ‘ความสุขสมวัย’ แม้ตอนนี้จะเลยวัยอนุบาลมานานแล้ว แต่คำนี้ทำให้เรารู้สึกตั้งคำถามกับตัวเองในช่วงเวลาชีวิตที่เหลือ… “วันนี้เรามีความสุขสมวัยแล้วรึยัง?”
เปลี่ยนกำแพงที่แข็งให้นุ่มลงได้ : Borderwall As Architecture
โดย Eyedropper Fill
อดิศร : ขอบคุณ Eyedropper Fill ที่เปิดวาร์ปทะลุจากกำแพงหนึ่งไปสู่อีกหลายกำแพง ขอบคุณที่ทำให้รู้ว่าถ้ากำ ‘แพง’ แต่ถ้าแบจะ ‘ถูก’ แฮร่~ เอาใหม่ ขอบคุณที่ทำให้รู้สึกว่า ยิ่งคุณสร้างรั้วกำแพงสูง-ยาวแค่ไหน คุณก็ไม่มีวันปิดกั้นความคิดสร้างค์สรรค์ได้ อ่านจบ ก็แอบอยากรู้เหมือนกันว่าวิธีทำลายกำแพงสไตล์ Eyedropper Fill จะเป็นอย่างไร
กมลชนก คัชมาตย์ | ผู้กำกับและผู้สร้างสรรค์งานวิดีโอ
The Weeping Wall
โดย ธิติ มีแต้ม และ เมธิชัย เตียวนะ
กมลชนก : งานภาพงดงาม เป็นสารคดีที่มีอารมณ์อัดแน่นแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นในคลิปข่าวอื่นๆ
เราร้องไห้กันคนละเรื่อง
กมลชนก : แค่ชื่อเรื่องก็กระแทกใจ ชอบแนวคิด ‘ไม่รู้ ย่อมไม่รู้สึก’ มันเป็นเรื่องจริง ทำให้เราอยากรู้เรื่องอื่นๆ มากขึ้น เพื่อที่จะได้รู้สึก
101 One-On-One Ep.96 “ศาสนากับสังคมไทยสมัยใหม่”
กมลชนก : เป็นอีกตอนของรายการ One-On-One ที่สนุก ชอบการตั้งข้อสังเกตว่าสังคมไทยเป็นสังคมอุดมผี ความเชื่อต่างๆ อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา พอเก็บมาคิดแบบละเอียด ลึกๆ ก็มีเรื่องให้ว้าวเยอะดี
ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย | กองบรรณาธิการ
PRESSCAST EP.04 : จาก BBC สู่ Patani NOTES : ‘นวลน้อย ธรรมเสถียร’
โดย ธิติ มีแต้ม
ปาณิส : เหมือนได้ฟังเลคเชอร์ที่สุดยอดคลาสหนึ่ง ประสบการณ์ตรงจากการทำสื่อของคุณนวลน้อย ธรรมเสถียร กลั่นออกมาเป็นบทสนทนาที่ตกผลึก คมชัด และแหลมคม อยากให้คนทำสื่อ นักเรียนนิเทศศาสตร์ และทุกคนได้ฟัง ความ old school ยังมีเสน่ห์เสมอ และยิ่งเป็น old school ที่เข้าใจโลกปัจจุบันยิ่งมีมิติที่เฉียบขาด บางช่วงบางตอนฟังแล้วตื่นเต้นเหมือนดูซีรีส์นักข่าวสืบสวนสอบสวน
ไลฟ์โค้ช หรือ ลัทธิ ? หนทางแสวงสุขที่อาจได้ผลและยังคงน่าสงสัย
ปาณิส : ทำใจให้สบาย เปิดอ่าน และโอบรับความหลากหลายของโลกมนุษย์ เป็นงานที่เปิดโลกวงการไลฟ์โค้ชได้ถึงพริกถึงขิง กลิ่นและสัมผัสมาเต็ม อ่านแล้วได้ทบทวนตัวเองและทบทวนโลก
‘ฟ้าเดียวกัน’ กับการเมืองไทย : คุยกับ ธนาพล อิ๋วสกุล ว่าด้วยยุคสมัยที่ใครๆ ก็ ‘ฟันธง’ ได้
ปาณิส : เป็นบทสัมภาษณ์ที่ไต่เส้น ท้าทาย และตรงไปตรงมาที่สุดชิ้นหนึ่ง พันธวัฒน์ชวนธนาพลมองการเมืองไทยและสังคมไทยได้ครบถ้วน ทั้งได้เห็นวิธีการทำงานของคนทำหนังสือแบบเข้มข้น
อ่านเพื่อคุยเรื่องที่คุยไม่ได้ และทำความเข้าใจ ‘Elephant in the room’
วิโรจน์ สุขพิศาล | กรรมการผู้จัดการด้านบริหาร และเว็บมาสเตอร์
งาน Spotligths : สนามเด็กเล็ก: ทุกข์หรือสุขของพ่อแม่
โดย กองบรรณาธิการ
วิโรจน์ : คนที่มีลูกในช่วงปฐมวัยควรอ่าน คนที่ไม่มีลูกในช่วงเด็กเล็กยิ่งต้องอ่าน
ผลงาน Spotligths ในซีรีส์ ‘สนามเด็กเล็ก: ทุกข์หรือสุขของพ่อแม่’ ช่วยให้เห็นภาพผู้คนที่เกี่ยวพันกับวัยเด็กเล็ก ไม่ว่าจะเป็นตัวเด็กเอง พ่อแม่ คุณครู โรงเรียน หรือผู้กำหนดนโยบาย นอกจากนั้นยังทำให้เห็นมุมมองทั้งในระดับนโยบาย และความสัมพันธ์ในระดับปัจเจกด้วย
ผลงานใน category : world
วิโรจน์ : ผลงานทั้งหมดใน category world ทำให้เห็นเบื้องลึกเบื้องหลังการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทั่วโลก ที่บอกเล่าไปไกลกว่าว่า ใคร ที่ไหน อะไร อย่างไร การอ่านผลงานใน category นี้ทำให้เราได้เห็นประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่มีความเข้นข้น มีประเด็นที่ชวนขบคิดต่อ
ผลงานในซีรีส์ เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว ?
โดย กองบรรณาธิการ
วิโรจน์ : ผลงานในซีรีส์นี้ทำให้เห็นภาพปัจจุบันว่าศาสตร์ที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับต้นๆ ในสาขาสังคมศาสตร์มีสภาพเป็นอย่างไร และศาสตร์นี้จะต้องปรับตัวอย่างไรในโลกยุคใหม่ที่มีความซับซ้อน มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนั้นคนที่อาจไม่คุ้นเคยกับเศรษฐศาสตร์ งานชิ้นนี้จะทำให้เข้าใจแก่นของเศรษศาสตร์เบื้องต้นที่จะช่วยให้ผู้อ่านมีฐานที่จะไปศึกษาความรู้เพิ่มเติมต่อได้
วิลาวัณย์ บุญเกื้อกุลวงษ์ | ผู้จัดการบริษัท
อีกทางเลือกปัญหาสุขภาพจิต : CBT การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม กับ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร
วิลาวัณย์ : ใครๆ ก็พูดถึงโรคซึมเศร้า สมัยนี้คนเป็นกันเยอะ คล้ายว่าสังคมไทยเปิดกว้างและยอมรับเรื่องโรคทางจิตกันมากขึ้น เหมือนจะเปิด แต่มีอีกมากที่ปิด หรือจริงๆ สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ได้เปิดกว้างอย่างที่เราแอบเชื่อกัน
สำหรับวันนี้ ไม่ว่าคุณจะมีมุมมองเกี่ยวกับโรคจิตแบบไหน เราอยากชวนคุณได้มารู้จักวิธีการหนึ่งที่จะคอยดูแลคุณ หากคุณรู้สึกว่าต้องการความช่วยเหลือทางใจ ไม่ต้องเป็นโรคก็มาพบได้ หรือถ้าเป็นโรคและต้องการตัวช่วยเพิ่ม CBT ก็ยินดีที่จะดูแลคุณ
สุชาดา จักรพิสุทธิ์ : จากบาดแผล 6 ตุลา ถึงคำประกาศ “กูจะเป็นสื่อ”
วิลาวัณย์ : เราอ่านไปได้เพียงไม่กี่ย่อหน้าก็ต้องรีบผละออก รู้สึกได้ว่าใจเต้นแรงมาก และเกิดความเครียดขึ้นทันที บอกตัวเองในใจ เดี๋ยวค่อยอ่านแล้วกัน เพราะเดาว่าจะต้องรู้สึกโกรธแน่ๆ และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ หลังอ่านจบ
ไม่ว่าคุณอยู่ในสายอาชีพอะไร ไม่ว่าคุณจะอายุกี่ปี ไม่ว่าคุณจะสนใจเรื่องการเมืองหรือไม่ก็ตาม ลองอ่านงานชิ้นนี้ไปด้วยกัน แล้วถามตัวเองหลังอ่านจบว่า ฉันกำลังรู้สึกอะไร
สำรวจเทรนด์พระสันตะปาปา : การปรับตัวของวาติกัน
โดย โตมร ศุขปรีชา
วิลาวัณย์ : ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีคนไทยอีกหลายคนที่ไม่รู้จักโป๊ปฟรังซิส เมื่อได้ยินชื่อโป๊ป ก็พากันไปนึกถึง ‘โป๊ป ออเจ้า’ แห่งบุพเพสันนิวาสกันทั้งนั้น (ฮ่า) ถ้าอย่างนั้นมาเริ่มต้นรู้จักประมุขแห่งศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกจากงานชิ้นนี้กันเถอะ
ขึ้นชื่อว่าศาสนาย่อมเป็นอนุรักษนิยม แต่ทำไมถึงมีการพูดกันอย่างกว้างขวางว่าโป๊ปฟรังซิสมีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น
งานชิ้นนี้จะพาเราไปเห็นการค้นหาหลักฐานประกอบความเชื่อดังกล่าว ซึ่งโตมรพาเราไปพบกับวิธีวิเคราะห์ที่น่าสนใจมาก
พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล | หัวหน้ากองบรรณาธิการ
We are Hong Kongers – 101 spotlights
พันธวัฒน์ : เป็นงานลงพื้นที่ทำสารคดีต่างประเทศชิ้นแรกของ 101 และปาณิส ในห้วงยามที่การประท้วงในฮ่องกงกำลังคุกรุ่น น่าตื่นเต้นตั้งแต่วิธีการทำงาน ที่ปาณิสแบกเป้สะพายกล้องลุยเดี่ยว พาตัวเองไปอยู่ในจุดศูนย์กลางของการชุมนุม พูดคุยกับกลุ่มผู้ประท้วง สัมผัสละอองแก๊สน้ำตา ก่อนจะถอยออกมามองสถานการณ์ในระยะห่างขึ้น แล้วร้อยเรียงออกมาเป็นงานชุดสารคดีที่อ่านเพลิน ให้ภาพครอบคลุมตั้งแต่ปูมหลังความขัดแย้ง วิธีคิดของคนที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมประท้วง ไปจนถึงแง่มุมลับๆ ที่พ้นไปจากภาพความโกลาหลวุ่นวาย
12 ชั่วโมง ก่อนเรือเล็กออกจากฝั่ง (ประชาธิปัตย์)
โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ
พันธวัฒน์ : ถึงเวลานี้ น่าจะพูดได้ว่า ไอติม -พริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่น่าจับตามากที่สุดคนหนึ่ง จากวัยรุ่นหน้าตาดีที่มีศักดิ์เป็นหลานของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สู่ (อดีต) นักการเมืองดาวรุ่งของประชาธิปัตย์ เส้นทางของไอติมดูน่าจะไปได้สวยจากบริบทแวดล้อมเขา ทว่าหลังจากสอบตกในการเลือกตั้งที่ผ่านมา และประชาธิปัตย์เลือกจับมือกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ไอติมก็ทำในสิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึง หรือกระทั่งเคยสบประมาทไว้ เขาตัดสินใจลาออกจากพรรคอย่างเด็ดเดี่ยว
บทความนี้คือบันทึกความคิดและการตัดสินใจ ณ ช่วงเวลานั้นอย่างละเอียด ถ่ายทอดออกมาอย่างละเมียดละไม มีชั้นเชิง สะท้อนให้เห็นความเติบโตและระบบระเบียบทางความคิดที่ ‘แข็ง’ ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในแง่ตัวตนและอุดมการณ์ทางการเมือง
สุชาดา จักรพิสุทธิ์ : จากบาดแผล 6 ตุลา ถึงคำประกาศ “กูจะเป็นสื่อ”
พันธวัฒน์ : เรื่องราวของประวัติศาสตร์ ‘6 ตุลา’ เริ่มได้รับการพูดถึงและมีความพยายามสะสางความจริงกันมากขึ้นในช่วง 3-4 ปีมานี้ มีคอนเทนต์มากมายที่นำเสนอปากคำของตัวละครที่อยู่ในเหตุการณ์สยดสยองในเช้าวันนั้น ทว่าสุชาดา จักรพิสุทธิ์ เป็นหนึ่งตัวละครสำคัญที่เก็บงำบาดแผลในใจมา 40 กว่าปี และเป็นบาดแผลนั้นเองที่บ่มเพาะให้เธอกลายเป็นคนทำสื่อที่ปีกกล้าขาแข็งในเวลาต่อมา
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้คือการเปลือยบาดแผล 6 ตุลา ออกมาจากก้นบึ้งหัวใจ พร้อมๆ กับการชวนวิเคราะห์ไปถึงแก่นของการทำหน้าที่สื่อมวลชน ซึ่งมีส่วนยุยงปลุกปั่นให้คนลุกขึ้นมาฆ่ากันได้อย่างเลือดเย็น มิใช่เพียงเช้าวันที่ 6 ตุลา แต่รวมถึงอีกหลายวันและคืนในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
กานต์ธีรา ภูริวิกรัย | ทีมงานจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ
เจาะจักรวาลสมอง กับ ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์
กานต์ธีรา : เป็นหนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่ชอบมากๆ ได้ทั้งความสนุกและความรู้ พออ่านแล้วก็รู้สึกว่า โอ้ สมองทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ อยากเชิญชวนให้ทุกคนอ่าน ถ้าอ่านจบแล้วอยากชวนคุยต่อว่า ระหว่างเป็ดกับกระต่ายคุณเห็นอะไรก่อนกัน
Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา
กานต์ธีรา : ชอบมากก ภาพน่ารัก เรื่องก็เฉียบ ถ้าใครรู้สึกว่าชีวิตมีปัญหาเต็มไปหมด ลองมาหาคำตอบในคอลัมน์นี้ดู ต่อให้อาจไม่ได้คำตอบอะไร แต่ก็น่าจะยิ้มได้บ้างแหละ 🙂
โลกของผู้ใหญ่ Vs ฝันของเด็ก โดย Friendly people
กานต์ธีรา : เด็กมองโลกยังไง ผู้ใหญ่มองโลกแบบไหน เป็นไปได้ไหมที่เราจะพยายามเข้าใจโลกของเด็กได้ โดยใช้มุมมองแบบผู้ใหญ่ๆ ของเรานี่แหละ อยากให้ทุกคนได้อ่านกัน แม้เป็นการ์ตูนสั้นๆ แต่เอาความน่ารักไปเลย 200%
กฤตพร โทจันทร์ | กราฟิกดีไซเนอร์
Violent Event˟ : การแสดงสุดดิบจากเยอรมันที่เปลี่ยนเวทีให้กลายเป็นสนามทารุณกรรม
โดย Eyedropper Fill
กฤตพร : ชอบมากที่นำเสนอประเด็นความรุนแรงผ่านการแสดง น่าสนใจ เหมือนเป็นแบบทดสอบเราไปในตัวว่าพอเห็นความรุนแรงกำลังเกิดขึ้น จริงๆ แล้วเรากำลังรู้สึกอะไรอยู่กันแน่
บนทางสีรุ้งของไต้หวัน : Taiwan LGBT Pride
กฤตพร : เหมือนได้ตามไปดูงาน Pride ด้วย ทั้งภาพ ทั้งบรรยากาศ รู้สึกถึงพลังงานบวกของผู้คนในงานจากบทความชิ้นนี้เลย
คอลัมน์ หัวนุ่ม
กฤตพร : ภาพการ์ตูนน่ารักมาก แต่เนื้อเรื่องจิกกัดได้แสบดี ชอบความแตกต่างกันของหัวนุ่มตรงนี้
ธิติ มีแต้ม | บรรณาธิการ
จากชายแดนใต้ถึงเราทุกคน “ความรุนแรงต่อผู้หญิงจะต้องยุติ”
ธิติ : ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาเรื้อรังนานกว่า 15 ปี นอกจากมุมมองทางอาชญากรรมที่เกิดขึ้นอย่างล้นเกินในหน้าสื่อซึ่งแฝงแนวคิดที่เอื้อหรือให้น้ำหนักกับประเด็นความมั่นคงมากเกินไปแล้ว ปัญหาในพื้นที่ยังมีข้อถกเถียงอีกจำนวนมาก ตั้งแต่การศึกษา ศาสนา เศรษฐกิจ และกระบวนการสันติภาพ
แต่ประเด็นผู้หญิงในพื้นที่มักไม่ถูกพูดถึง ไม่ได้รับการยกระดับหากเทียบกับประเด็นทางการเมือง ความมั่นคง ความรุนแรง ซึ่งนัยหนึ่งก็ยิ่งเป็นการกดทับสิทธิสตรีให้เงียบเชียบลงไปด้วย
งานชิ้นนี้ คือข้อพิสูจน์ว่าในสถานการณ์อันเลวร้าย ผู้หญิงมีบทบาทกว่าที่สังคมไทยคิด
รายการ 101 One-On-One
โดย กองบรรณาธิการ
ธิติ : 101 One-On-One คือ Hard Talk แบบ Live ที่มีทุกสัปดาห์ทางเพจเฟซบุ๊ก The101.world มีประเด็นตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ฯลฯ
ความน่าสนใจและน่าติดตามของ 101 One-On-One ไม่ใช่ความหวือหวา แต่คือความเพลิดเพลินในประเด็นจากการตกผลึกของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่มีความยาวกว่า 1.30 ชั่วโมง และเปิดโอกาสให้คนดูทางบ้านได้ส่งคำถามมาให้แหล่งข่าวตอบอย่างตรงไปตรงมา
สาระสำคัญของมันคือเมื่อบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤต Live Talk ที่เชื่อในเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดพร้อมกับการขบคิดในแต่ละประเด็นย่อมเป็นสิ่งแรกที่ควรมี
Spotlights สนามเด็กเล็ก : ทุกข์หรือสุขของพ่อแม่
โดย กองบรรณาธิการ
ธิติ : ซีรีส์ชุดนี้คือการพยายามเปิดโลกทัศน์ของเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ประเด็นจิตวิทยา ระบบการศึกษา และกฎหมาย ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ และการลดลงของวัยเด็กในโลกนี้ การทำความเข้าใจชีวิตเด็กเล็กในสังคมไทยเป็นเหตุผลแรกๆ ที่จำเป็น หากยังอยากเห็นอนาคตที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน
ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ | ทีมงานจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ
“ฉันจะไปเลือกตั้ง” : Homeless Election
โดย ภาวิณี คงฤทธิ์ และ พิมพ์ใจ พิมพิลา
ภาวรรณ : เป็นผลงานที่พาไปดูอีกมุมหนึ่งของสังคมท่ามกลางกระแสการเลือกตั้งอันร้อนแรงเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา การออกมาใช้สิทธิ์ตามกฎหมายของคนไร้บ้านสะท้อนให้เราเห็นว่า แม้จะไม่มีสมบัติติดตัว แต่สิทธิและเสียงในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของประเทศเป็นสิ่งที่ใครก็ไม่สามารถช่วงชิงไปจากพวกเขาหรือกระทั่งพวกเราได้
“ผมเชื่อว่ายังมีทหารแบบคุณพ่อ” พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ลูกชายผู้นำคณะราษฎร
โดย ธิติ มีแต้ม
ภาวรรณ : การเรียนประวัติศาสตร์ทำให้เรารู้จักพลเอกพหลพลพยุหเสนาในฐานะทหารผู้นำการปฏิวัติ พลิกโฉมประเทศไทยให้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย และในบทสัมภาษณ์นี้จะทำให้เราย้อนมองประเทศว่าผ่านมากว่า 80 ปี มรดกที่ท่านพลเอกฯ ทิ้งไว้ (ถูก) เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน
รายการ 101 One-on-One EP.88 อ่านใจนักวิจารณ์วรรณกรรม กับ สุธิดา วิมุตติโกศล
โดย กองบรรณาธิการ
ภาวรรณ : สุธิดา วิมุตติโกศลทำให้เราปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการอ่าน โดยไม่ใช่แค่อ่านให้เข้าใจ แต่ต้องกล้าตั้งคำถามต่อสิ่งที่อ่าน วิเคราะห์ถึงคุณค่าของเนื้อหา แล้วเราจะพบว่าวรรณกรรมเรื่องหนึ่งมอบอะไรให้ได้มากกว่าความบันเทิงหรือคติสอนใจ
ภาพิมล หล่อตระกูล | กราฟิกดีไซเนอร์
สารคดี ในม่านหมอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
ภาพิมล : อยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน ปาณิสเขียนสนุก บรรยายภาพเหมือนเราได้ไปอยู่ตรงนั้นด้วย ประกอบกับรูปภาพและรูปแบบเว็บไซต์ที่ลงตัว อ่านจบแล้วเหมือนเราได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม มีเรื่องกลับไปให้คิดต่อ และมีคำถามที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ
Before Sunset ตามหาแสงสุดท้ายที่ปารีส
โดย วจนา วรรลยางกูร
ภาพิมล : โรแมนติก อบอุ่น เป็นหนังในดวงใจอยู่แล้วด้วย วจนาเขียนแล้วอ่านเพลินมากๆ เป็นการตามรอยหนังที่มีวิธีการบรรยายได้โรแมนติก ไม่แพ้กับหนัง
การบังคับบุคคลให้สูญหาย : มาตรฐานสากล Vs มาตรฐานแบบไทยๆ
โดย ปกป้อง ศรีสนิท
ภาพิมล : เป็นเรื่องที่อยากให้ทุกคนได้รู้ อยากให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงในวงกว้าง เพราะยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ
บทความเขียนอธิบายข้อมูลไว้อย่างละเอียด และเข้าใจได้ไม่ยากมาก เลยอยากชวนให้ทุกคนได้อ่านกัน
อย่างน้อยที่สุดคือเพื่อทำให้เรื่องนี้ไม่เงียบหายไป