fbpx

20 อันดับผลงานยอดนิยม ประจำปี 2021

ผลงานของ The101.world ที่มีผู้อ่านมากที่สุดในปี 2564



You messed with the wrong generation. : ตัวแสบแห่ง Clubhouse รักชนก ศรีนอก

You messed with the wrong generation. : ตัวแสบแห่ง Clubhouse รักชนก ศรีนอก


โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“เราขอบคุณคลับเฮาส์มากเลย ปกติเราโพสต์ด่าการเมืองในทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊ก แล้วก็ไปม็อบ แต่เราไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียง เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เรามีข้อมูล อ่านหนังสือมา อยากแชร์ แต่ในทวิตเตอร์ก็ต้องอาศัยดวงว่าต้องมีเพื่อนที่เป็นเซเล็บฯ มาช่วยรีทวีต ทวีตนั้นถึงจะดัง เพราะเราไม่ได้เป็นคนที่มีผู้ติดตามเอง…

แต่ในคลับเฮาส์ ถ้าเป็นประเด็นสังคมตอนนั้นก็มีคนเข้ามาฟังคุณเลยทันที คุณจะรู้เลยว่าเป็นประเด็นที่สังคมสนใจอยู่รึเปล่า”

“เราพูดออกไปว่า ‘เมื่อกี้ที่คุณทักษิณตอบเกี่ยวกับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เราขออนุญาตเป็นตัวแทนของคนเจเนอเรชันนี้แล้วกัน เราเชื่อว่ามีหลายคนที่อยากบอกคุณทักษิณว่าแก้รัฐธรรมนูญตอนนี้ไม่พอสำหรับพวกเราแล้ว พวกเราต้องการที่จะปฏิรูปสถาบันฯ’”

101 คุยกับ ไอซ์-รักชนก ศรีนอก เจ้าของแอ็กเคาต์ Rukchanok Srinok ที่สร้างความฮือฮาในคลับเฮาส์ ตั้งแต่เปิดห้องคุยการเมือง รับบทยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในสภาโจ๊ก และยกมือบอกทักษิณว่า “แค่แก้รัฐธรรมนูญไม่พอ แต่พวกเราต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”

นอกจากความคิดส่วนตัวทางการเมือง เธอมองวัฒนธรรมโซเชียลฯ ในการต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่อย่างไร และเราควรทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้อย่างไร อ่านบทสัมภาษณ์ของเธอได้ที่ The101.world


บันทึกลับจาก ‘บางกลอย’ ปฐมบทการต่อสู้ของ ‘กะเหรี่ยงแก่งกระจาน’

บันทึกลับจาก ‘บางกลอย’ ปฐมบทการต่อสู้ของ ‘กะเหรี่ยงแก่งกระจาน’


โดย สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา เปิดปูมหลังชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่อยู่มานานกว่าร้อยปีก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เรื่องราวก่อนถูกไล่ออกจาก ‘บ้าน’ของตัวเองเป็นอย่างไร และเพราะอะไรตอนนี้พวกเขาจึงต้องกลับไปที่เดิม

“#saveบางกลอย น่าจะกลายเป็นแฮชแท็กที่เริ่มคุ้นตาคนจำนวนหนึ่งแล้วในขณะนี้ จากเหตุการณ์ที่ชาวกะเหรี่ยงจาก ‘บ้านบางกลอย’ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รวมตัวกันประมาณ 80-90 คน กลับขึ้นไปทำมาหากินในถิ่นฐานเดิมที่เคยอพยพลงมา ซึ่งเรียกกันว่า ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ จนมีข่าวว่าทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะจัดเจ้าหน้าที่ 4 ชุดเดินเท้าเข้าไปติดตาม…”

“หลายคนคงรู้ดีว่านี่เป็นมหากาพย์เรื่องยาวที่ทั้งโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเด็นสิทธิการอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์นับร้อยปี และหลายคนคงรู้ว่าในปี 2553-2554 เจ้าหน้าที่รัฐเข้าเคยไปไล่รื้อจับกุม เผาบ้าน เผายุ้งข้าว ตั้งข้อหาบุกรุกป่า และตั้งข้อหาเป็นกองกำลังติดอาวุธ ในพื้นที่ ‘บางกลอยบน’ หรือ ‘ใจแผ่นดิน’ ภายใต้ชื่อ ‘ยุทธการตะนาวศรี’”

“หลายคนคงรู้แล้วว่าที่นี่มีนักต่อสู้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณอายุกว่า 100 ปี ชื่อ ‘ปู่คออี้’ และมีหลานชายชื่อ ‘บิลลี่’ ที่ลุกขึ้นมาสู้จนหายสาบสูญไป 5 ปี ก่อนจะมาพบชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถจับคนที่ทำร้ายเขามาลงโทษได้”

“และนี่เป็นครั้งแรกที่ ‘ผม’ ซึ่งเป็นนักข่าวชุดแรกที่เข้าไปพบเรื่องนี้ระหว่างเฮลิคอปเตอร์ตกในป่าแก่งกระจาน จะเขียนถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้น”

“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน”


‘เมีย’ ไหนที่ ‘ร.5’ คิดถึงมากกว่า ‘พระราชินี’

‘เมีย’ ไหนที่ ‘ร.5’ คิดถึงมากกว่า ‘พระราชินี’


โดย กษิดิศ อนันทนาธร

“เมียเก่าเมียแก่…จะไม่ให้คิดถึง ยิ่งกว่าเมียใหม่อย่างไรได้ นอนใจเต้นนั่งใจเต้นนึกถึงทุกค่ำเช้า”

ปีพ.ศ.2440 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศครั้งแรก นานถึง 253 วัน

ในช่วงเวลาเหล่านั้น พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สารภาพว่า คิดถึง ‘เมีย’ คนหนึ่งยิ่งกว่าพระราชินีเสียอีก

ใครคือ ‘เมีย’ คนนั้น กษิดิศ อนันทนาธร มีคำตอบ


‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ การต่อสู้ฟาดฟันภายใต้ทุนนิยม

‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ การต่อสู้ฟาดฟันภายใต้ทุนนิยม


โดย ปฐมพงศ์ กวางทอง

“หากคุณเห็นรถไฟในภาพยนตร์เรื่อง Snowpiercer (2013) แล้วนึกถึงเรื่องทุนนิยม ก็คงไม่แปลกนักถ้าผมจะบอกว่ารถไฟนิรันดร์ ในภาพยนตร์ ‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ สามารถตีความถึงทุนนิยมได้ไม่ต่างกัน”

ปฐมพงศ์ กวางทอง ชวนมองภาพยนตร์ ‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ ที่เปรียบการต่อสู้ระหว่างนักล่าอสูรและอสูรเหมือนการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานกับระบอบทุนนิยมในสังคมจริง

*หมายเหตุ : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์*


‘อาสา คำภา’ จาก 2495 ถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ เส้นทางอันผกผันของเครือข่ายในหลวง


โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

วันนี้ วินาทีนี้ อาจกล่าวได้ว่าโจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับสถาบันกษัตริย์และชนชั้นนำไทย คือการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ จากฝ่ายประชาชน 101 ชวน ดร.อาสา เจ้าของหนังสือ ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ พูดคุยถึงมหากาพย์เครือข่ายสถาบันกษัตริย์ ความเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำ และร่องรอยอุดมการณ์จากรัชกาลที่ 9 ซึ่งหลงเหลือเป็นมรดกสังคม

“ถ้าย้อนกลับไปสมัยต้นรัชกาลที่ 9 ความพยายามอย่างหนึ่งของสถาบันฯ คือการแสวงหาจุดยืนเพื่อที่จะอยู่ในระบอบใหม่หลัง 2475 ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องอิงกับระบอบทหาร สิ่งนั้นคืออุดมการณ์แบบ ‘ราชประชาสมาสัย’ ที่แปลว่า ‘พระราชากับประชาชนพึ่งพาอาศัยกัน’”

“คำนี้เกิดขึ้นปลายทศวรรษ 2490 คือช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จกลับมาประเทศไทย จากการเผชิญปัญหาต่างๆ สุดท้ายก็ตกตะกอนว่าสถาบันฯ ต้องนำตัวเองไปผูกกับประชาชน กษัตริย์กับประชาชนต้องมีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย นี่เป็นโครงการทางการเมืองที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยกลุ่มปัญญาชนกษัตริย์นิยมต่างๆ”

“เครือข่ายสถาบันฯ มีส่วนในการหนุนสร้างพระราชอำนาจนำเป็นอย่างมาก เราจะเห็นบทบาทเลยว่าใครทำอะไร อย่างไร และที่น่าสนใจคือมีความสัมพันธ์แบบอิสระเชิงสัมพัทธ์กัน มีคนวิ่งเข้าวิ่งออก บางช่วงก็แนบแน่นกับสถาบันฯ บางช่วงก็ถอยห่าง”

“พระราชอำนาจนำมีพลวัต และสัมพันธ์กับฉันทมติของชนชั้นนำไทยว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับสถาบันฯ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การเมืองยังเป็นชนชั้นนำอยู่ กระแสพระราชอำนาจนำที่เคยขึ้นสูงอาจตกลงมาได้ง่ายๆ ถ้าคุณละเมิดฉันทมติชนชั้นนำไทย”

“กรอบฉันทมติ ‘ไม่ควบรวมอำนาจ’ ของชนชั้นนำไทย คือถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาควบรวมอำนาจไม่แบ่งปันอำนาจก็จะถูกแอนตี้จากกลุ่มต่างๆ แม้แต่สถาบันฯ ในยุคที่มีพระราชอำนาจนำสูง พอไปก้าวก่ายเส้นแบ่งเขตอำนาจก็ถูกถอยห่าง ไม่ยอมรับได้”

“ผมไม่ได้มองว่าสถาบันกษัตริย์หรือเครือข่ายของสถาบันฯ เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันกับทหาร แต่มีลักษณะเป็นหุ้นส่วน (partnership) ทางอำนาจกันมากกว่า ทศวรรษ 2500 ถึงก่อน 14 ตุลา 2516 เป็นยุคของจอมพล ทหารถือเป็น senior partnership ของชนชั้นนำไทยทั้งหมด กระทั่งเหนือกว่าสถาบันฯ…. แต่ปัจจุบัน อย่างที่ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ บอก คือรัฐบาลทำเพื่อเอาใจพระมหากษัตริย์ ถวายพระราชอำนาจต่างๆ มากมาย เพราะรัฐบาลประยุทธ์ก็ไม่มีความชอบธรรมจึงต้องอิงกับสถาบันฯ”


และแล้วเสือตัวที่ห้าก็ปรากฏ…บทเรียนจาก The Celtic Tiger ต่อประเทศไทย

และแล้วเสือตัวที่ห้าก็ปรากฏ…บทเรียนจาก The Celtic Tiger ต่อประเทศไทย


โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ

“การผงาดขึ้นมามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจโลกของเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ทำให้ชาติเหล่านี้ถูกขนานนามว่าเป็น ‘สี่เสือแห่งเอเชีย’ (The Four Asian Tigers) และทำให้แวดวงวิชาการเริ่มหันมาสนใจศึกษาบทบาทของรัฐราชการเพื่อการพัฒนากันมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีการคาดเดากันว่า ‘ประเทศใดที่จะก้าวขึ้นมาเป็นเสือตัวที่ห้า?’”

“และแล้วความน่าประหลาดใจก็ปรากฏ… ‘เสือตัวที่ห้า’ มิได้เกิดในเอเชียแต่กลับไปปรากฏตัวที่ชายหาดของฝั่งยุโรป ณ ประเทศไอร์แลนด์ พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของรัฐพัฒนารูปแบบใหม่”

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ พาไปมองบทบาทของรัฐที่พึงประสงค์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมองต้นแบบจากไอร์แลนด์ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น The Celtic Tiger โดยเรียกได้ว่าเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ห้าของโลก

“Sean O Riain ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย National University of Ireland Maynooth ได้ศึกษาบทบาทภาครัฐกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ และสรุปว่า รัฐพัฒนาของเสือเซลติกแตกต่างจากเสือแห่งเอเชียอย่างมาก โดยเขาเรียกรูปแบบรัฐพัฒนานี้ว่า ‘รัฐพัฒนาแบบยืดหยุ่น’ (Flexible Developmental State) ซึ่งต่อมาเขาได้เปลี่ยนคำเรียกเป็น ‘รัฐพัฒนาแบบเครือข่าย’ (Developmental Network State)”

“แทนที่จะมองเสือสี่ตัวแรก รัฐไทยควรมุ่งปฏิรูปโดยเรียนรู้จากเสือตัวที่ห้า และพยายามที่จะผลักดันตัวเองเป็นรัฐพัฒนาแบบเครือข่าย คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไร?”


การล่วงละเมิดทางเพศ – บาดแผลเดิมที่ถูกฉายซ้ำทุกวัน

การล่วงละเมิดทางเพศ – บาดแผลเดิมที่ถูกฉายซ้ำทุกวัน


โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ

พริษฐ์ วัชรสินธุ ชวนคิดต่อจากละคร ‘เมียจำเป็น’ เมื่อฉากการข่มขืนและวัฒนธรรมโทษเหยื่อถูกผลิตซ้ำๆ บนละครโทรทัศน์ และยิ่งส่งเสริมความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคม

คงไม่มีใครที่ติด #ข่มขืนผ่านจอพอกันที มองว่าปัญหานี้จะถูกแก้ได้ทันทีหากฉากอย่างในละคร ‘เมียจำเป็น’ หมดไปจากหน้าจอ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จำเป็นต้องผสมผสานทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบหรือโครงสร้าง และการปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือค่านิยม

ในมุมมองของผม เราจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อมุ่งไปสู่การแก้ปัญหากับ 3 ภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหานี้

1. สังคม: สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง-ปฏิรูปเพศศึกษา-เรียกร้องความรับผิดชอบจากสื่อ

2. เหยื่อ: หยุดโทษเหยื่อ-เพิ่มความมั่นใจให้กล้าพูด-ฟื้นฟูดูแลสภาพจิตใจ

3. ผู้กระทำผิด: ดำเนินคดีอย่างโปร่งใส-ไม่มีข้อยกเว้น-ลงโทษอย่างเหมาะสม


มานพ พิทักษ์ภากร

‘ทางเลือกวัคซีน ทางรอดประเทศไทย’ กับ มานพ พิทักษ์ภากร


โดย กองบรรณาธิการ

หลังการระบาดระลอกสามของโควิด-19 ยิ่งทำให้สังคมตั้งความหวังกับวัคซีน ที่หลายคนเชื่อว่านี่คือทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดและเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อกังวลมากมายเกี่ยวกับวัคซีน ทั้งประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ผลข้างเคียงหลังฉีด รวมถึงการจัดการการกระจายวัคซีนของรัฐบาล

101 ชวน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มาคุยว่าด้วยประเด็นวัคซีนโควิด-19

ประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับอะไร ผลข้างเคียงหลังฉีดมีจริงไหม รวมถึงคำถามใหญ่อย่างการจัดการการกระจายวัคซีนควรเป็นอย่างไร การฉีดวัคซีนจะทำให้ชีวิตเรากลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ มีตัวอย่างน่าสนใจของประเทศไหนบ้างที่เราควรจะไปถึง


เรียนไม่เก่งแล้วไง ตอนที่ 2

รียนไม่เก่งแล้วไง ตอนที่ 1


โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงการเรียนหนังสือและการเล่นของเด็ก โดยเฉพาะชั้นเตรียมอนุบาลและอนุบาล ที่ควรให้เล่นแบบบูรณาการ

“มีเอกสารอ้างอิง มีตัวอย่างในต่างประเทศ มีตัวอย่างโรงเรียนทางเลือกในประเทศ (ซึ่งนักเรียนของพวกเขาจบปริญญาตรีและโทกันมากมายแล้ว) ว่าการเรียนรู้แบบบูรณาการด้วยการเล่นตอนอนุบาลมีข้อดีมาก และไม่มีข้อเสียอะไรเลย”

“พูดง่ายๆ ว่าเด็กอ่านเขียนเรียนเลขได้หมดทุกคนในภายหลัง แต่จะอย่างไรการศึกษาไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการก็จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอย่างเด็ดขาด”


ผู้พิพากษาที่ดีและผู้พิพากษาอันไม่พึงประสงค์

ผู้พิพากษาที่ดีและผู้พิพากษาอันไม่พึงประสงค์


โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

จากการอ่านหนังสือ ‘ผู้พิพากษาที่ดี’ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนคิดต่อถึง ‘ผู้พิพากษาอันไม่พึงประสงค์’ อันเป็นปัญหาที่สัมพันธ์ในระดับโครงสร้างหรือวัฒนธรรมในฝ่ายตุลาการ

“แม้ทั้งระบบการศึกษาและกระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษาจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอย่างไม่อาจปฏิเสธ แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่าปมประเด็นสำคัญก็คือ การดำรงอยู่ของผู้พิพากษาที่ปราศจากการเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน”

“หากปราศจากความเชื่อมโยงใดๆ กับอำนาจของประชาชนหรือการตรวจสอบจากสาธารณชนในการปฏิบัติหน้าที่ก็อาจทำให้เกิดสภาวะที่ผู้พิพากษาหลุดลอยไปจากสังคม อันทำให้ไร้ซึ่งการตรวจสอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าจะมีข้อวิจารณ์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมากเพียงใดก็ตาม

“ยิ่งในสภาวะที่ผู้พิพากษายึดติดกับสถาบันการเมืองที่ไม่สัมพันธ์กับประชาชนมากเป็นพิเศษก็ยิ่งมีโอกาสจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาที่รุนแรงมากขึ้น”


ทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยกลายเป็นพวก ‘อิกนอร์’


โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ขณะที่สังคมไทยกำลังเกิดวิกฤต ผู้คนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เหตุใดอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากยังคงนิ่งเฉยต่อความเป็นไปของบ้านเมือง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึงเหตุที่อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งกลายเป็นพวก ‘อิกนอร์’ (ignorant) ทั้งที่อยู่ในบทบาทที่สังคมคาดหมายว่าจะป็นผู้รู้และตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ได้มากกว่าอาชีพอื่น

“แม้ผู้คนร่วมสังคมจะต้องตกงาน หยุดงาน ไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ยังได้รับเงินเดือนตามปกติ ขณะที่การเรียนการสอนก็อาจปรับไปสู่ระบบออนไลน์ซึ่งอาจมีความวุ่นวายอยู่บ้างแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ก่อให้เกิดความยากลำบากมากมายประการใด”

“การแสวงหาความเจริญก้าวหน้าในทางอาชีพก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ การประชุมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ที่ดูราวกับจะมีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอก็คือ how to ขอตำแหน่งวิชาการให้ประสบความสำเร็จ”

“ส่วนผู้ที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวในห้วงเวลาของการเป่านกหวีดซึ่งเห็นความเหลวแหลกที่แสดงอยู่ต่อหน้าในปัจจุบัน จำนวนหนึ่งก็เลือกจะดำรงตนแบบอิกนอร์ไป กลายเป็นกลุ่มที่ ‘ไม่สนใจการเมือง’ อีกแล้ว”


การร่วมชุมนุมกับ กปปส. “เป็นความสง่างามของผู้พิพากษา” ?

การร่วมชุมนุมกับ กปปส. “เป็นความสง่างามของผู้พิพากษา” ?


โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนมองกรณีการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองของผู้พิพากษา ผ่านรายงานการประชุม ก.ต. ที่พิจารณาเรื่องการร่วมชุมนุม กปปส. ของ เมทินี ชโลธร ก่อนจะแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกาคนล่าสุด

โดยหนึ่งใน ก.ต. มีความเห็นว่าการเข้าไปร่วมชุมนุมกับ กปปส. นั้นควร “เป็นความสง่างามของผู้พิพากษา”

คำถามที่สำคัญคือ การวางตัวในลักษณะดังกล่าวจะกระทบต่อความไว้วางใจหรือความน่าเชื่อถือที่สาธารณชนมีผู้พิพากษาหรือไม่?


เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตั้งตนเหนือศาลอื่น : พิทักษ์หรือบั่นทอนรัฐธรรมนูญ?

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตั้งตนเหนือศาลอื่น : พิทักษ์หรือบั่นทอนรัฐธรรมนูญ?


โดย ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการนับอายุความคดีโฮปเวลล์ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่พัฒนาตัวเองให้กลายเป็น ‘ศาลลำดับชั้นสูงสุด’ ที่มีอำนาจตรวจสอบคำพิพากษาของศาลอื่นๆ ทั้งปวง

ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ ชวนมองประเด็นนี้ผ่านหลักการทางทฤษฎีเรื่องคดีร้องทุกข์ในทางรัฐธรรมนูญ เขตอำนาจที่ควรต้องเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ และการจำกัดอำนาจตนเองของศาลรัฐธรรมนูญ

“รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้มอบหมายหน้าที่โดยตรงให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการพิพากษาคดีของศาลอื่นผ่านช่องทางในคดีร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญ”

“การใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวจะทำให้เกิดช่องทางที่บุคคลทั้งหลายที่แพ้คดีในศาลต่างๆ จะยื่นคำร้องทุกข์มาที่ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะศาลลำดับชั้นสุดท้ายในคดีทุกประเภทเสมอ”

“ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนน้อยมาก ดังนั้นจึงมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยน้อยมากในการที่จะพิจารณาพิพากษาในเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญในทางการเมืองและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรอื่นๆ”


เพราะการศึกษาหยุดไม่ได้ ต่างประเทศเรียนกันอย่างไรในช่วงโควิด

เพราะการศึกษาหยุดไม่ได้ ต่างประเทศเรียนกันอย่างไรในช่วงโควิด


โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

101 พาไปสำรวจการปรับตัวของรูปแบบการเรียนการสอนที่น่าสนใจในต่างประเทศ ว่าทำอย่างไรให้เด็กๆ ยังคงเรียนรู้ต่อไปได้ หรือเรียนรู้ได้มากกว่าเดิม แม้โรงเรียนจะยังไม่กลับคืนสู่ปกติ จากการระบาดของโควิด-19

สิงคโปร์จัดโปรแกรม ‘การเรียนแบบผสม’ (Blended Learning) ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งจัดสรรเวลาให้กับทั้งการเรียนที่โรงเรียนและการเรียนจากบ้านควบคู่กัน โดยกำหนดให้ในแต่ละเดือนมี 2 วันที่นักเรียนจะได้เรียนจากบ้าน (Home-based Learning– HBL)

การเรียนแบบ HBL ของสิงคโปร์ให้ความยืดหยุ่นกับนักเรียนมากกว่าการเรียนในห้อง โดยนักเรียนสามารถจัดตารางเรียนเองในวันนั้นได้ และที่สำคัญ HBL ยังไม่ใช่แค่ให้นักเรียนนั่งเรียนผ่านหน้าจอตามรายวิชาธรรมดาเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งเลือกเรียนรู้สิ่งที่ตัวเองถนัดหรือสนใจนอกเหนือหลักสูตร (Student-Initiated Learning) อย่างเช่นการเรียนภาษาต่างประเทศอื่นเพิ่มเติม หรือการเรียนเครื่องดนตรีบางชนิด ถือเป็นการช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ สนใจที่จะเรียนรู้และค้นหาตัวเองมากขึ้น

รายวิชาหน้าที่พลเมือง (Character and Citizenship Education) ของสิงคโปร์ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงระหว่างและหลังการระบาด โดยเพิ่มเนื้อหาการเรียนเกี่ยวกับการท่องโลกไซเบอร์อย่างมั่นคงปลอดภัย (Cyber Wellness Education) และยังบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต (Mental Health) เพื่อให้นักเรียนจัดการความเครียดของตัวเอง รวมถึงช่วยดูแลจิตใจเพื่อนได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความจำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงวิกฤตการระบาด

ขณะที่หลายโรงเรียนกลับมาเปิดโรงเรียนด้วยการพึ่งพาเทคโนโลยี อีกหลายโรงเรียนเลือกที่จะพึ่งพาธรรมชาติ โดยพานักเรียนออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยม ไปนั่งเรียนกลางแจ้งท่ามกลางต้นไม้ใบหญ้าที่มีอากาศถ่ายเทดี ลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดจากการนั่งเรียนในห้องแบบปิด

การออกไปเรียนกลางแจ้ง ไม่ใช่แค่การย้ายโต๊ะเรียนและกระดานจากห้องเรียนออกไปข้างนอก แล้วให้เด็กๆ นั่งเรียนแบบเดิมเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สัมผัสใกล้ชิดและเรียนรู้จากธรรมชาติและวิถีชีวิตของพื้นที่นั้น พร้อมจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ตามสภาพแวดล้อมของพื้นที่

โรงเรียน Felix Rodriguez de la Fuente School ที่ประเทศสเปน พาเด็กๆ ออกไปนั่งเรียนริมชายหาด พร้อมกับมีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมง เรียนวิธีการจับปลา รวมถึงการเล่นดนตรีและกีฬาชายหาด ซึ่งก็ช่วยให้เด็กๆ สนุกสนานไปกับการเรียนมากขึ้นกว่าเดิม

[กสศ. X 101]


ชิปหาย–คนรุ่นใหม่–สมองไหล: ชิป 3 นาโนเมตรของไต้หวันกับรัฐสภาหมื่นล้านของไทย

ชิปหาย–คนรุ่นใหม่–สมองไหล: ชิป 3 นาโนเมตรของไต้หวันกับรัฐสภาหมื่นล้านของไทย


โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

กระแส #ย้ายประเทศกันเถอะ กำลังมาแรง 101 ขอชวนกันมา [อ่านใหม่] บทความของวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เขียนถึงไต้หวัน ที่ครั้งหนึ่งคนรุ่นเก่าเคยหวงแหนอำนาจ ผลักไสคนรุ่นใหม่ออกนอกประเทศ จนเกิดปรากฎการณ์ ‘สมองไหล’ คนรุ่นใหม่ไม่ยอมกลับประเทศ

ต่อมา ไต้หวันตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ก่อนนำไปสู่การแก้ไข ดึงสมองที่ไหลออกกลับสู่ประเทศ ด้วยการสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจสังคมดึงดูดให้คนรุ่นใหม่กลับมา และที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนการเมืองให้เป็น ‘ประชาธิปไตย’ สอดคล้องกับความต้องการคนรุ่นใหม่มากขึ้น

การดึงคนรุ่นใหม่กลับสู่ประเทศได้สำเร็จในตอนนั้น ทำให้ไต้หวันประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พาอุตสาหกรรมไฮเทคขึ้นมายืนอยู่บนแถวหน้าของโลกจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นเจ้าแห่งการผลิตชิป และกำลังเดินหน้าสู่การผลิตชิปที่ ‘เล็กที่สุดในโลก’

แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยเดินหน้าสร้างรัฐสภาที่ ‘ใหญ่ที่สุดในโลก’

“ภาพความฝันคู่ขนานระหว่างไทยกับไต้หวันแทนคำตอบได้ดี ว่าทำไมรัฐไทยกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางมากกว่าปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาประเทศในยุคแห่งเทคโนโลยี และทำไมคนรุ่นใหม่ของไทยถึงอยากออกเดินทาง”


ผี เรื่องผี อดีต ความทรงจำและการหลอกหลอนในโรงเรียนผีดุ

ผี เรื่องผี อดีต ความทรงจำและการหลอกหลอนในโรงเรียนผีดุ


โดย อาทิตย์ ศรีจันทร์

“การปรากฏตัวของผีคือการตามหลอกหลอนของประวัติศาสตร์ที่มีต่อปัจจุบัน มันอาจเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด รุนแรง น่ากลัว แต่นั่นคืออารมณ์ความรู้สึกที่หลงเหลือ ตกค้างและถูกกักขังเอาไว้ ในท้ายที่สุดความไม่ถูกต้องในอดีตจึงดำรงอยู่เสมอและอาจเป็นนิรันดร์หากไม่ได้รับการแก้ไข”

เมื่อเรื่องผีๆ ไม่ได้มีแค่ความสยอง! อาทิตย์ ศรีจันทร์ วิเคราะห์พลวัตของเรื่องผีในสังคมไทย ตั้งแต่ประเด็นผีกับวัฒนธรรมประชานิยม ผู้หญิงกับผีและประวัติศาสตร์สังคม ยันประเด็นผีและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผ่านเรื่องสั้นใน ‘โรงเรียนผีดุ’ วรรณกรรมสยองขวัญเล่มใหม่ของ นทธี ศศิวิมล

“เรื่องผีก็มีพัฒนาการในตัวเองอยู่ตลอดเวลา แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือมีเทคโนโลยีและพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์สูงเพียงใด ผีก็ยังคงเป็นสิ่งที่ไหลลื่นและกลมกลืนไปกับเทคโนโลยีเหล่านั้นได้อย่างไม่ขัดเขิน ดังจะเห็นได้ว่า ในสังคมไทยเรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีที่มาพร้อมกับอุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่มากมาย เช่น ผีช่องแอร์ ผีฉายหนัง ผีที่สามารถส่งข้อความทางมือถือได้ หรือแม้กระทั่งผีที่อยู่ในคณะวิทยาศาสตร์”

“อีกประเด็นที่ผมสนใจเกี่ยวกับเรื่องผีๆ คือประเด็นผู้หญิงกับผีไทย ในขนบของการเล่าเรื่องผีไทยนั้น ผมคิดว่าเราเจอผีผู้ชายน้อยมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกัน ผีโดยมากมักจะเป็น ‘ผู้หญิง’ และต้องเป็น ‘ผู้หญิงผมยาว’ อีกด้วย ยังไม่นับว่ามักจะมาในชุดไทยบ้าง ชุดขาวบ้าง คำถามที่สำคัญคือ ทำไมผีในเรื่องเล่ามักจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย? “

“การปรากฏตัวของผีในปัจจุบันย่อมมาพร้อมกับการปรากฏตัวของอดีต เหตุการณ์ในอดีต และสถานที่ทางกายภาพ ทั้งหมดถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกันผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘ความทรงจำ’ ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีแต่ผีเท่านั้นที่ยังวนเวียนและผูกพันอยู่กับอดีตในขณะที่คนซึ่งอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของอดีตหรือเหตุการณ์ในอดีตได้ เนื่องจากไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับอดีต เมื่อคนต้องเข้าไปในสถานที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำในอดีต การปรากฏตัวของผีคือการทำให้ความทรงจำในอดีตนั้นปรากฏตัวขึ้นมาด้วยเช่นกัน”


เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย 2020: เราไม่อาจหวนกลับสู่โลกแบบเดิมได้อีก


โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

“หากเปรียบเศรษฐกิจโลกเป็นคนป่วย เมื่อปี 2019 คนป่วยคนนี้ก็ป่วยเป็นแค่หวัดธรรมดาๆ เท่านั้น แต่ยังไม่หายป่วยดี กลับต้องมาติดไวรัสชนิดรุนแรงเพิ่มเข้าไปจนสภาพร่างกายทรุดหนักลงไปอีก”

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา พาย้อนมองเศรษฐกิจโลก-ไทยปี 2020 ปีที่เศรษฐกิจโดนโควิด-19 เล่นงานหนักจนทำให้เศรษฐกิจไม่อาจหวนกลับมาแบบเดิมได้อีก

“การถดถอยครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจไทยครั้งนี้ชวนให้คนไทยย้อนนึกถึงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ที่สร้างความเสียหายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไทยอย่างใหญ่หลวง แต่วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ถูกมองว่าอาจย่ำแย่และหาทางออกยากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในตอนนั้นมาก”

“การมาของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้บาดแผลที่ชื่อว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ซ่อนอยู่ในซอกหลืบร่างกายของแต่ละประเทศมานานแล้ว ถูกฉีกให้กว้างขึ้น แถมยังถูกเปิดเผยออกมานอกเสื้อผ้าให้เห็นกระจ่างขึ้นไปอีก”

“เมื่อเกิดวิกฤตที่ไม่คาดฝันเช่นนี้มาซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ทรุดหนักลงไปอีก มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาจึงหลากหลายและเข้มข้นขึ้นยิ่งกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางส่วนออกมาตั้งคำถามว่า บาซูก้าการคลังที่รัฐบาลไทยยิงออกมานี้จะช่วยเยียวยาเศรษฐกิจได้จริงและยั่งยืนหรือเปล่า”

“ถึงโควิด-19 จะเป็นไวรัสตัวเล็กๆ ที่เรามองไม่เห็น แต่กลับทรงพลานุภาพ เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตคนทั่วโลกโดยสิ้นเชิง…ต่อให้การระบาดจะสิ้นสุดลง ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็เชื่อว่าชีวิตพวกเราจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมไม่ได้อีก”


Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?


โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

เมื่อสิ้นปี 2020 การประกาศ Restart Thailand Movement ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกพร้อมสัญลักษณ์ RT ที่ละม้ายคล้ายค้อนเคียวและข้อเขียนที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบมาร์กซิสต์ได้นำมาสู่สภาวะฝุ่นตลบ แตกขบวนในการเมืองไทย ตามมาด้วยความเคลือบแคลงต่อการเดินหมากครั้งนี้ คำถามมากมายไม่จบสิ้นต่อการโค่นล้มทุนนิยมและการกลับมาของคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 21 หรือกระทั่งแสงสว่างปลายอุโมงค์เล็กๆ สำหรับใครบางคนที่กำลังถูกความเหลื่อมล้ำกัดกิน

101 ชวนถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม จากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” (เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558) เพื่อย้อนหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง?

“ฝ่ายซ้ายไทยและขบวนการนิสิตนักศึกษาสมัย 14 ตุลา มองเห็นโจทย์ทั้ง 2 อย่าง ฝ่ายซ้ายสมัยนั้นเห็นโจทย์เรื่องรัฐเผด็จการช่วง 14 ตุลา จากนั้นภายใน 1-2 ปี ก็หันไปเห็นโจทย์ปัญหาว่าด้วยทุนนิยม ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและการกดขี่ขูดรีดโดยทันควัน
แต่ฝ่ายซ้ายหลังจากนั้นมา หากวิพากษ์ทุน ก็จะวิพากษ์ผ่านกรอบอื่นที่ไม่ใช่มาร์กซ์อย่างชาตินิยมหรือเศรษฐกิจพอเพียงแต่ไม่เห็นปัญหารัฐเผด็จการ หรือหากวิพากษ์รัฐเผด็จการ ก็จะหลงลืมปัญหาของทุนไป”- เกษียร เตชะพีระ

“ในหนังสือทุน ภาพของระบบเศรษฐกิจอังกฤษในปี 1850 คือระบบทุนนิยมที่มาร์กซ์ก่อรูปจากจินตนาการ ระบบทุนนิยมของมาร์กซ์จึงมีความเป็นนามธรรมและบริสุทธิ์มาก ไม่มีแม้แต่รัฐบาลกลางที่แทรกแซงระบบเศรษฐกิจและกำหนดโยบาย ไม่มีแม้แต่ธนาคารกลางที่แทรกแซงระบบการเงินหรือควบคุมอุปทานเงิน กำหนดอัตราดอกเบี้ย แม้แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังไม่มี
“วิกฤตทุนนิยมที่มาร์กซ์เขียนในหนังสือทุนก็ต่างไปจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงในศตวรรษที่ 20-21 เพราะอย่างนี้ นักเศรษฐศาสตร์จึงเลือกใช้เศรษฐกิจเคนส์เซียนกู้วิกฤต ไม่ได้หันกลับไปใช้มาร์กซ์ แม้แต่นักคิดสายนีโอมาร์กซิสต์ก็ไม่ได้ใช้แนวคิดจากหนังสือทุนของมาร์กซ์อธิบายระบบทุนนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับใช้กรอบทฤษฎีเคนส์เซียนแล้วใส่คำอธิบายที่มีกลิ่นอายแบบมาร์กซิสต์ลงไปเสียด้วยซ้ำ” – พิชิต ลิขิตสมบูรณ์

“การเปลี่ยนแปลงโลกที่ว่า ต้องนำไปสู่ทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ทางเลือกที่ระบบทุนนิยมประทานมาให้ ซึ่งก็คือทางเลือกที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมแบบอื่นที่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไรและการสะสมทุนเป็นแก่นของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

“เดวิด ฮาร์วี นักวิชาการสายมาร์กซิสต์เคยบอกไว้ว่าทุนนิยมเปรียบเสมือน the gravity หรือแรงดึงดูดโลกที่ล่องหน แต่สัมผัสได้ตลอดเวลา คุณจะเห็นแรงโน้มถ่วงได้ต้องอาศัยทฤษฎี ต้องอาศัยหลักสมการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นนามธรรมมากถึงจะเห็นแรงโน้มถ่วงได้ หนทางเดียวที่คุณจะเห็นการทำงานของทุนได้ คือต้องอาศัยแนวคิดแบบ ‘ภาพวาด’ ที่เป็นอุดมการณ์นามธรรม เพื่อร่างภาพของทุนในหัว ไม่ใช่การมองทุนนิยมผ่าน ‘ภาพถ่าย’ จริงก่อน

“ถ้ามองว่าสิ่งที่มาร์กซ์คิดผิด มองว่าที่จริงทุนก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นทั้งๆ ที่รู้ว่าระบบมีจุดผิดพลาดตรงไหน แล้วหมดหวังกับการเมืองเพื่อการปลดปล่อยเพราะยังจมปลักอยู่กับความล้มเหลวของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในอดีต กลายเป็นซ้ายซึมเศร้า คำถามคือการเมืองเรื่องการปลดปล่อยมันจะนำไปสู่อะไรที่เลวร้ายกว่านี้หรือเปล่า หรือเราต้องรอให้ระบบทุนนิยมสร้างความหายนะมากกว่านี้” – สรวิศ ชัยนาม


ความเหลื่อมล้ำในอาชีพไรเดอร์ส่งอาหาร นิวนอร์มอลของความไม่เท่าเทียมในสังคม

ความเหลื่อมล้ำในอาชีพไรเดอร์ส่งอาหาร นิวนอร์มอลของความไม่เท่าเทียมในสังคม


โดย ภวินทร์ เตวียนันท์ และ กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์

“การขยายตัวของธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของช่องทางการหารายได้มากขึ้น นอกจากร้านอาหารจะได้ช่องทางการขายที่เปิดกว้างขึ้นแล้ว แรงงานที่ต้องการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้หลักหรือรายได้เสริม ก็สามารถเข้ามาทำงานเป็นผู้ขับรถส่งอาหาร (ไรเดอร์) ให้กับแพลตฟอร์มต่างๆ ได้”

“คำถามสำคัญที่ตามมาคือ การเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารจะสามารถกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับแรงงานที่เข้าเป็นไรเดอร์ได้อย่างเท่าเทียมหรือไม่”

ภวินทร์ เตวียนันท์ และ กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์ พาไปวิเคราะห์ว่า เพราะเหตุใด โอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากแพลตฟอร์มส่งอาหารที่บูมขึ้นมาในช่วงโควิด ถึงไม่ได้กระจายสู่แรงงานที่เข้าสู่อาชีพไรเดอร์อย่างเท่าเทียม

“แม้ว่าแพลตฟอร์มอย่าง Grab จะเปิดให้บริการ Grab Walk ซึ่งผู้ให้บริการสามารถซื้อและส่งของให้ลูกค้าได้ด้วยการเดินเท้า ทำให้ผู้ที่ไม่มีจักรยานยนต์สามารถสมัครเข้าไปเป็นผู้บริการได้ แต่บริเวณที่มีความหนาแน่นของร้านค้าและชุมชนโดยส่วนใหญ่จะเป็นโซนในตัวเมืองทั้งสิ้น และไม่ใช่ทุกคนที่จะอยู่ในโซนดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย”

“โอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการมาถึงของธุรกิจส่งอาหารจึงซ้อนทับกับปัญหาโครงสร้างที่มีการกระจุกตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจในพื้นที่เมืองศูนย์กลาง ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการมาถึงของแพลตฟอร์มส่งอาหารจึงมิได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง”


ไขประตูหัวใจ สำรวจความ ‘คลั่งรัก’ ในสังคมสมัยใหม่ กับ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์


โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“ดิฉันจะเจอมนุษย์ที่ตำหนิคนคลั่งรักว่าพวกนี้บ้า ไร้สาระ ถ้างั้นคุณก็ลองรักดูสิ แล้วคุณจะเป็นยังไง”

“ความรักคือการที่คุณรู้สึกชื่นชมในบางอย่างของคนคนหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็อยู่กับอะไรอีกหลายๆ อย่างที่ไม่งดงาม ที่คุณไม่ชื่นชมของคนคนนั้นได้ อะไรก็ได้ ทนได้หมด ซึ่งมันจะไม่ค่อยนาน”

“สักพักหนึ่งคุณก็จะเริ่มเห็นมากขึ้นว่าเขาเป็นยังไง ไม่ได้ดั่งใจคุณยังไง…สิ่งที่อยู่ได้นานเหมือนชั่วฟ้าดินสลายกลายเป็นอะไรอย่างอื่นที่เข้ามาเสริมความรู้สึกแรกรัก เพราะฉะนั้นใครที่ต้องการหารักแท้ก็ต้องเข้าใจว่า รักแท้ของคุณต้องเติมด้วยอะไรอย่างอื่นอีกมาก”

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนคุณไขประตูหัวใจไปกับ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เจ้าของแฮชแท็กตอบปัญหาความรัก #ทวิตรัก สำรวจความรักและสิ่งแวดล้อมของความรักในโลกยุคใหม่ ตั้งแต่การปัดขวาหาคู่ อารมณ์คลั่งรัก การแต่งงาน ไปจนถึงการเมืองเรื่องความรัก

“ความรักความสัมพันธ์เป็นเรื่องของการต่อรอง ฟาดฟัน แต่คนจำนวนมากทำเหมือนกับว่าถ้ารักจริงต้องไม่มีการต่อรอง ต้องไม่มีการใช้อำนาจ เพราะรักคือรักเปล่าๆ แต่คุณจะไม่เจอความรักแบบนั้นในโลกนี้ อีกสักห้าชาติข้างหน้าก็ไม่เจอ เพราะการต่อรองระหว่างกันและกันเป็นองค์ประกอบของความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ พอฟังแล้วมันหายโรแมนติก (หัวเราะ)”

“เวลาคนใช้พื้นที่ออนไลน์นำเสนอตัวตน จะไม่ค่อยนำเสนออย่างที่เป็นจริงๆ หรืออาจจะมีทั้งตัวตนในโลกออนไลน์และออฟไลน์ แปลว่าเวลาที่คุณใช้บริการ คุณก็ไม่รู้ว่ากำลังเห็นอะไรอยู่ ตัวคุณเองเวลานำเสนอยังไม่ค่อยเสนออย่างที่ตัวคุณเป็นเลย ดังนั้นก็จะมีอะไรที่คุณไม่เห็น ไม่รู้ และอาจนำไปสู่ความผิดหวัง ไม่ได้อย่างใจ”

“มีการศึกษาในบางประเทศระบุว่า ตอนที่คุณอายุ 20-30 ต้นๆ หรืออาจจะถึง 40 ปี คุณไม่แต่งงาน คุณรู้สึกว่าการแต่งงานไม่ใช่เรื่องจำเป็น ฉันอยู่ด้วยกันด้วยความรัก รัฐไม่ต้องมายุ่งเกี่ยว สังคมไม่ต้องมาแสลน ปรากฏว่าพออายุสัก 40 ปี จดทะเบียนสมรสว่ะ เพราะการที่รัฐรับรองว่าคุณแต่งงานเป็นคู่กัน จริงๆ มีผลประโยชน์เยอะ”

“ตอนนี้ความขัดแย้งหรือความเห็นต่างในทางการเมืองกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะคุณคิดว่าคุณต้องชนะกัน สิ่งที่ฉันเชื่อเนี่ยถูกและจริงแท้ที่สุด รักลุงประยุทธ์คือถูก รักประชาธิปไตยคือถูก คำถามก็คือชนะแล้วได้อะไร บางครั้งเวลาเถียงเหมือนพวกเรายินดีแลกนะ ฉันจะต้องชนะ คุณแลก คุณทำร้ายทิ่มแทงคนที่คุณเถียงด้วย ถ้าคำเถียงเป็นมีด คนคนนั้นแทบจะหลุดเป็นชิ้นๆ เพราะคุณแทงมันยับ เพื่อ?”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save