fbpx

20 อันดับผลงานยอดนิยม ประจำปี 2019

ผลงานของ The101.world ที่มีผู้อ่านมากที่สุดในปี 2562

 

 

 

โลกของ ‘เมียฝรั่ง’ เรื่องเล่าที่ไม่มีผู้ชายอีสาน ในสังคมที่ไม่มีอนาคต

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“ที่เดนมาร์กผู้หญิงไม่ต้องง้อผัวเหมือนไทย สามีภรรยาต้องทำงานทั้งคู่ อยู่บ้านก็ทำกับข้าว เลี้ยงลูก ซักผ้า ไม่ต่างกัน ถ้าสังคมเรามีสวัสดิการช่วยเหลือบ้าง ผู้หญิงคงไม่ต้องง้อผู้ชายขนาดนั้น พอมีสวัสดิการผู้หญิงก็มีเสรีภาพในการตัดสินใจว่าเราจะอยู่กับใครก็ได้”

วจนา วรรลยางกูร ชวนชมภาพยนตร์ ‘Heartbound’ สารคดีเรื่องราวหลากชีวิตที่เข้ามาเกี่ยวพันกับการแต่งงานข้ามชาติในสองชุมชน หนึ่งคือหมู่บ้านทางภาคเหนือของเดนมาร์ก และอีกหนึ่งคือหมู่บ้านในภาคอีสานของไทย โดยมีศูนย์กลางของเรื่องคือ ‘สมหมาย’ หญิงไทยที่ช่วยจับคู่สาวอีสานให้ได้แต่งงานกับชายเดนมาร์ก

สารคดีเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเมียฝรั่ง แต่เป็นสารคดีที่พูดถึงชีวิตมนุษย์อย่างมีมิติ โดยเฉพาะชีวิตผู้หญิงอีสานที่ถูกคาดหวังถึงความรับผิดชอบมากมาย ขณะที่สังคมปิดกั้นการเข้าถึงโอกาสต่างๆ แล้วยังกดพวกเธอไว้ภายใต้แนวคิดชายเป็นใหญ่

แม้ว่าเราไม่อาจเหมารวมได้ว่าผู้ชายอีสานทุกคนจะมีปัญหาทำร้ายร่างกายหรือไม่รับผิดชอบครอบครัว แต่ชีวิตผู้หญิงอีสานที่ปรากฏในสารคดีล้วนเป็นผลลัพธ์จากครอบครัวที่ล้มเหลว

เรื่องเล่าจากสารคดีทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมผู้หญิงอีสานต้องดิ้นรนหาทางแต่งงานไปอยู่เมืองนอกเพื่อไปทำงานใช้แรงงานที่คนเดนมาร์กเองก็ไม่อยากทำ

สิ่งที่พวกเราค้นพบยิ่งน่าเศร้า เพราะการทำงานหนักในประเทศไทยให้ไม่ได้แม้กระทั่งคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน ยิ่งสำหรับคนที่ต้องดูแลหลายชีวิตในครอบครัวแล้ว งานประเภทนี้ไม่สามารถทำให้ใช้ชีวิตได้จริง

นี่อาจเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงประเทศไทยได้เป็นจริงและสะท้อนประเด็นละเอียดอ่อนออกมาได้น่าติดตามที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเล่าผ่านชีวิตคนธรรมดาที่สังคมจงใจมองไม่เห็นพวกเขา

 

เวทมนตร์ของ ‘ภูมิ’ นักพัฒนาซอฟต์แวร์วัย 17 ปี ผู้เลือกออกจากโรงเรียนและมุ่งสู่ซิลิคอนแวลลีย์

 

โดย ศุภณัฐ อเนกนำวงศ์

ศุภณัฐ อเนกนำวงศ์ คุยกับ ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน นักพัฒนาซอฟต์แวร์วัย 17 ปี ที่ลาออกจากโรงเรียนตอนม.4 ไปท่องโลกแห่งการทำงานที่โรงเรียนไม่ตอบโจทย์ และทำงานในตำแหน่ง Software Developer ในเมืองเทคโนโลยีอย่าง Silicon Valley

“ตอนเรียนคณิตศาสตร์ เพื่อนเราหรือน้องๆ ชอบถามว่า คณิตศาสตร์เรียนไปทำไม คำถามนี้เราเจอทุกวัน สิ่งที่เราทำ เราจะไม่ตอบ แต่จะเขียนโปรแกรมให้ดู เรารู้สึกว่าการศึกษาไทยไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ อะไรที่มันจับต้องได้ เหมือนเราเรียนเพื่อเป้าหมายที่มัน artificial มากๆ เช่น เพื่อสอบเข้ามหา’ลัย เพื่อได้เกรดดีๆ เพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจ มันไม่ใช่เป้าหมายจริง”

“ระบบการศึกษายังเอาวิธีคิดแบบยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมาใช้แบ่งคนออกเป็นส่วนๆ แล้วก็ให้คนนึงเก่งแค่เรื่องเดียว

“ถ้าเราบอกว่ามันต้องมีวิทย์-คณิต กับศิลป์-คำนวณ มันจะไม่มีสายที่เรียกว่า นักดนตรีคอมพิวเตอร์เลย นี่คือสิ่งที่ระบบการศึกษาไม่ให้ความสำคัญ คือการมองว่าทุกศาสตร์เป็นศาสตร์เดียวกัน หรือความ cross-disciplinary”

“เขียนโปรแกรมมันเหมือนกับเรา ‘เสก’ อะไรก็ได้ในโลกความจริง สมมติว่าเดือนนี้ใช้เงินเยอะมาก แต่เราไม่รู้ว่าเราใช้ไปกับอะไร เราก็เขียนโปรแกรมให้อ่าน SMS ที่ธนาคารส่งมา แล้วก็ไปกรุ๊ปเป็นหมวด จะได้รู้ว่าเดือนนี้กินบิงซูไปเยอะ เดือนนี้ไปออนเซนบ่อย แค่นี้ก็ไม่ต้องมานั่งทำบัญชีเหมือนคนอื่นแล้ว”

“ไปเจอโครงการ The Internship เห็นว่าเป็นโครงการที่ให้เด็กมหา’ลัยปี 2-4 เข้าไปฝึกงาน หลังจากอ่าน FAQ ที่เขียนว่า ‘เด็กมัธยมสมัครได้ไหม’ เขาบอกถ้ากล้าก็มา ตอนเข้าไปสัมภาษณ์ก็ตื่นเต้นหน่อย แต่พอเขาอ่าน Resume ก็เห็นและยอมรับ เราเลยเลือกฝึกงานที่บริษัท iTAX ที่ทำโปรแกรมคำนวณภาษี เพราะว่าแม่เราใช้อยู่ แล้วเห็นว่ามันชอบเด้งบ่อยๆ เลยอยากลองเข้าไปแก้ดู

“end goal มันสำคัญมากกับการทำให้เราใช้ชีวิตแบบมีความหมาย เราไม่ได้ใช้ชีวิตแบบอยู่ๆ ไปแล้วก็ตาย คนชอบมาบ่นกันว่า เด็กๆ ไม่ตั้งใจเรียน เด็กๆ ไม่มีเป้าหมายชีวิต แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะเราไม่ให้ความสำคัญกับมันมากพอหรือเปล่า”

 

สารคดี ในม่านหมอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ที่ตรงนี้เคยเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์มาก พอมีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขาก็มากวาดเอาไปหมดเลย” พี่นักข่าวที่ลงพื้นที่ทวายมานานเล่าให้ฟัง ฉันมองไปรอบๆ จินตนาการคำว่าอุดมสมบูรณ์ไม่ออกเลยสักนิด ยังดีที่น้ำทะเลยังพอเป็นสีน้ำเงินให้ชื่นใจ

ในบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีต้นไม้ขนาดสูงเท่าเข่าอยู่ประปรายตามรายทาง ที่เหลือคือดินโล้น มองไปไร้ชีวิตชีวา ตรงกันข้ามกับระหว่างทางข้างนอกที่อุดมสมบูรณ์เขียวชอุ่ม หลักกิโลเมตรที่ศูนย์ตั้งอยู่อย่างเหงาๆ ริมหาด มองกลับไปเห็น Road Link ที่ทอดยาวมาจากด่านพุน้ำร้อน เส้นทางอันยาวไกลกว่า 138 กิโลเมตรสิ้นสุดตรงนี้

แต่เดิมพื้นที่แถวชายหาด มีหมู่บ้านชาวเลที่อาศัยการออกเรือหาปลาเพื่อเลี้ยงชีพ ณ ตอนนี้พวกเขาต้องย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น บางครอบครัวแตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่กับญาติ บางครอบครัวก็ยกกันไปอยู่หมู่บ้านที่ทางอิตาเลียนไทยจัดสรรไว้ให้สำหรับผู้ที่โดนผลกระทบจากโครงการ

รถตู้ขับออกจากกิโลเมตรที่ศูนย์ไปไม่ไกล เลาะผ่านหมู่บ้านที่ส่วนมากสร้างด้วยไม้ จนเข้ามาสู่หมู่บ้านที่สร้างด้วยปูน แต่ละหลังเรียงติดกันเหมือนบ้านจัดสรร ที่นี่มีชื่อเรียกว่า Relocation site 1 Bawah ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบาวาห์

บ้านปูนจัดสรรเหล่านี้เหมือนบ้านพักข้าราชการที่ไม่มีคนอยู่มานานมากแล้ว แต่ละหลังมีหญ้าขึ้นสูงล้อมบ้าน ใต้ถุนเต็มไปด้วยใบไม้เกลื่อนกลาด บันไดแทบมองไม่เห็นสีที่แท้จริง เพราะหนาเข้มไปด้วยฝุ่น ต้นไม้รอบๆ ก็กลายเป็นสีเขียวผสมสีน้ำตาลจากฝุ่นดิน แทบไม่ต้องเดาว่ามีคนมารดน้ำครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

รถตู้พาขับมาจนถึงท้ายๆ หมู่บ้าน จนเจอบ้านปูนหลังหนึ่ง ที่นี่ต้นไม้เป็นสีเขียว หญ้าถูกตัดอย่างดี และมีทางเดินเข้าบ้านเป็นระเบียบ — ชีวิตชีวาของบ้านเป็นแบบนี้

ตอนแรกฉันเข้าใจว่า พวกเรากำลังเข้าไปหาผู้ใหญ่บ้าน แต่เปล่า ที่นี่เป็นบ้านของครอบครัวสุดท้ายที่ยังอยู่ในบ้านจัดสรรแห่งนี้ ก่อนหน้านี้มี 4 ครอบครัวชาวเลที่ย้ายจากหมู่บ้านชาคานมาพร้อมกัน ก่อนจะค่อยๆ ย้ายออกไปหมด จนเหลือแค่ครอบครัวของคุณป้ามะ เล ที่อาศัยอยู่กับคุณลุงเพียงสองคน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พามาถึงตอนจบของสารคดีเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ว่าด้วยชีวิตผู้คนที่ต้องย้ายออกจากบ้านเดิมของตัวเองในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไปอยู่ในบ้านจัดสรรที่ขาดน้ำไฟ และชาวบ้านที่เกือบเสียภูเขา แม่น้ำของพวกเขาให้เขื่อน

 

ฮ่องกงปิดปรับปรุง : จนกว่าเสรีภาพจะมาถึง ?

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ตอนที่ผมตายไปแล้ว ประชาธิปไตยในฮ่องกงอาจจะเพิ่งเดินมาถึงครึ่งทางก็ได้” คือหนึ่งเสียงจากช่างภาพชาวฮ่องกง

ผู้ชุมนุมหลายคนบอกกับฉันว่า ที่ออกมาประท้วงเพราะไม่พอใจที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชน

“ดูเหมือนตำรวจจะกลายเป็นศัตรูกับประชาชนไปแล้ว” คู่แม่ลูกพูดกับฉันระหว่างการเดินประท้วง

“คิดว่าข้อเรียกร้องของคุณจะเป็นไปได้มั้ย การประท้วงครั้งนี้จะสำเร็จหรือ” ฉันถาม

“ไม่รู้หรอก แต่อย่างน้อยเราก็ได้แสดงออกสิ่งที่เรารู้สึก ได้บอกสิ่งที่เราต้องการ”

ท่ามกลางฝนชุมฉ่ำ และเสียงตะโกน “Free Hong Kong” ดังลั่นตลอดทาง ประโยคถัดจากนี้ขออนุญาตไม่พากย์ไทย ฉันถามต่อไปว่า

“You want freedom for Hong Kong, right?”

หญิงสาวตอบสั้นกระชับว่า “Not me, but we.”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ลงพื้นที่ไปดู ‘ม็อบฮ่องกง’ สนทนากับผู้คนว่าด้วยความฝัน ความหวัง ความต้องการของพวกเขา ในห้วงยามที่บ้านเมืองเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง

 

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“มาสิ มาคุยด้วยกัน คนนี้หลาน”

ป้าแก้วชี้ไปทางชายหนุ่ม เขายิ้มรับด้วยใบหน้าไม่ค่อยสู้ดี แต่ก็ยังยืนอยู่ตรงนั้นไม่ไปไหน

ฉันชวนคุย 2-3 ประโยค ถามความเป็นอยู่ พูดเรื่องฟ้าฝนเรื่อยเปื่อย ชายหนุ่มปิดปากเงียบ มีเพียงยิ้มบางเบา

“ไม่น่าใช่หลาน” พี่ช่างภาพกระซิบกับฉัน

เมื่อสังเกตท่าทางแล้วก็เป็นแบบนั้น สายตากรุ้มกริ่มและท่าทางการยืน ไม่น่าจะใช่ป้ากับหลานมาเยี่ยมเยียนกัน

ในคลองหลอด ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ชายหนุ่มวัยกำหนัดจะมาหาหญิงขายบริการชรา เช่นเดียวกับที่หนุ่มใหญ่วัยใกล้ฝั่งจะมาหาเด็กสาววัยแรกแย้ม

รสนิยมทางเพศของผู้คนนั้นหลากหลาย และไม่ได้เป็นไปตามขนบที่สังคมคุ้นชิน ยิ่งเมื่อการซื้อขายบริการถูกปิดบังหลบๆ ซ่อนๆ ความต้องการภายในใจคนยิ่งปะทุออกมาแบบไม่มีข้อจำกัด

“สังคมไทยไม่ยอมรับความจริง เราต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่ ไม่อย่างนั้นก็แก้ไม่ได้” จ๋า-อัจฉรา สรวารี เลขานุการมูลนิธิอิสรชน เปรยให้ฉันฟัง

“สถานการณ์ประเทศไทยคือ เราปูพรมแดงซะสวย แต่เอาทุกอย่างไปกองไว้ใต้พรม จนขยะกองขึ้น แล้วสุดท้ายถึงวันหนึ่งที่คนมาเหยียบ เปิดพรมขึ้นก็เห็นขยะกองใหญ่ นี่คือภาพที่ต่างประเทศมองเข้ามา”

“ถามว่าหญิงขายบริการที่ยืนอิสระ หรือตามซ่อง มีส่วยมั้ย ก็มี ตอนนี้ที่กวาดจับกัน เงินเข้ารัฐครึ่งนึง ที่เหลือเข้าคนเก็บส่วย ถ้าทำให้ถูกกฎหมาย คนขายบริการได้ประโยชน์จริง แต่คนที่เสียประโยชน์คือคนเก็บส่วยนั่นแหละ นี่คือตลาดมืดของไทย…”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจตลาด ‘หม้อ’ ย่าน ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

 

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

 

โดย ธนาพล อิ๋วสกุล

ทำไมรัฐบาลรัฐประหารยุคหลังถึงไม่สามารถผลิตซ้ำ “เปรมาธิปไตย” – การเมืองในอุดมคติของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย – ได้

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มักนำเสนอภาพตัวเองว่าไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นทหารอาชีพที่ได้รับเชิญจากนักการเมืองให้รับตำแหน่งนายกฯ เพื่อแก้วิกฤตบ้านเมือง แท้จริงแล้ว เป็นเช่นนั้นจริงหรือ

หรือถ้าเราอยากเข้าใจบทบาทของพลเอกเปรม จำเป็นต้องมองเขาในฐานะ “นักการเมือง” ผู้มีบทบาททางการเมืองมากว่าสองทศวรรษก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในวาระ 30 ปีของการสิ้นสุดระบอบเปรมาธิปไตย ธนาพล อิ๋วสกุล ชวนย้อนสำรวจลักษณะของระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของอดีตนายกรัฐมนตรี เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

อ่านต่อ ตอนที่ 2: 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้การเมืองสามเสา

อ่านต่อ ตอนที่ 3: เงื้อมเงาของเปรมหลังระบอบเปรมาธิปไตย

 

 

ทันตกรรมอำพราง : ความลับ 5 ข้อ ที่หมอฟันไม่เคยบอก

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

ทุกวันนี้มีคลินิกที่เปิดให้บริการด้านทันตกรรมอยู่มากมาย ทั้งแบบที่ถูกกฎหมาย และแบบที่ลักลอบให้บริการอย่างลับๆ

สิ่งที่น่ากังวลซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรับรู้ หรือรู้เมื่อสายไปแล้ว ก็คือการใช้บริการด้านทันตกรรมบางประเภท อาจนำมาซึ่งอันตรายในภายหลังได้ แม้ว่าคลินิกหรือทันตแพทย์คนนั้นๆ จะมีใบรับรอง กระทั่งเปิดบริการอย่างถูกกฎหมายก็ตาม

101 มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ทันตแพทย์ท่านหนึ่ง ถึงข้อควรระวังต่างๆ ในการเข้ารับบริการด้านทันตกรรม โดยเฉพาะบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งแอบแฝงมาในรูปแบบต่างๆ

ต่อไปนี้คือความลับ 5 ข้อ ที่หมอฟันไม่เคยบอก แต่เราอยากบอกให้รู้ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายและความเสียหายจากการรักษา

 

ทำไมไม่แบนพาราควอต ตีแผ่ทุกเบื้องหลัง กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

 

โดย 101world

‘พาราควอต’ หรือที่เกษตรกรรู้จักกันในชื่อ ‘ยาฆ่าหญ้า’ เป็นสารเคมีมีพิษเฉียบพลันสูง ผลร้ายของพาราควอตต่อร่างกายมนุษย์ทำให้กว่า 53 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศต้นทางผู้คิดค้นอย่างอังกฤษ ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างสวิตเซอร์แลนด์และจีน ผู้ใช้รายใหญ่อย่างบราซิลและอเมริกา ฯลฯ ประกาศแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้

แต่ประเทศไทยกลับตัดสินใจ ‘ไม่แบน’ พาราควอต เมื่อกรมวิชาการเกษตรกลับอนุญาตให้มีการต่อทะเบียนพาราควอตเมื่อเดือนตุลาคม 2560 แม้ว่าคณะทำงานหลักจะเห็นตรงกันให้แบนไปแล้วก่อนหน้านี้ กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ ‘ประเทศไทยไม่เหมือนใครในโลก’

พาราควอต จึงไม่ใช่เพียงแค่สารเคมีที่เป็นอันตรายกับผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่หากยังรวมถึงรัฐและสังคมในภาพรวม

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ชวน “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ตอบทุกคำถาม และบอกเล่าทุกประสบการณ์ที่เขาเคยเป็นประจักษ์พยานบนโต๊ะถกเถียงนโยบาย

ตีแผ่โครงข่ายอำนาจอันซับซ้อน จากคนของรัฐ สู่คนของบรรษัทสารเคมี แล้วย้อนกลับมามีอำนาจกำกับรัฐ

เปิดเอกสารประกอบการตัดสินใจ ‘ไม่แบน’ ที่คุณไม่เคยเห็น

และสำรวจทางเลือกว่าถ้าไม่ใช้สารเคมีจะมีทางออกอื่นใดแทน

……………………………………….

ไทยยังต้องอยู่ร่วมกับสารพิษในนาม ‘พาราควอต’ ต่อไป !!!

หลังจากเมื่อวันที่ 14 ก.พ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่แบนพาราควอต

สวนทางกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้เป็นวัตถุอันตรายที่ 53 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว

รวมถึงประเทศต้นทางผู้คิดค้นอย่างอังกฤษ ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างสวิตเซอร์แลนด์และจีน ผู้ใช้รายใหญ่อย่างบราซิลและอเมริกา ฯลฯ ประกาศแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้

“กรรมการในสมาคมวัตถุอันตรายที่ปัจจุบันผลักดันพาราควอต ตอนรับราชการก็ผลักดันกฎหมายพันธุ์พืช GMO ที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ อีกคนหนึ่งก็เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสารเคมี เมื่อคุณออกจากข้าราชการก็มาทำงานให้กับบรรษัทเอกชนข้ามชาติ แล้วบรรษัทก็มีกลไกที่คุมกลไกรัฐอีกที เพราะว่าคุณก็ยังมาอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย”

101 ชวนอ่านวิบากกรรมคนไทยภายใต้อำนาจอันซับซ้อนผ่านทรรศนะของ “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) (อีกรอบ) ที่จะบอกเล่าทุกประสบการณ์ที่เขาเคยเป็นประจักษ์พยานบนโต๊ะถกเถียงนโยบาย ผ่านการนำสนทนาโดย “กรรณิการ์ กิจติเวชกุล”

 

“ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน” ยากันล้ม : คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

 

โดย 101world

รู้หรือไม่ว่า ในปีหนึ่งมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มไม่ต่ำกว่า 1,000 คน!!
การหกล้มหนึ่งครั้ง คุณอาจไม่ได้แค่เจ็บตัว
แต่อาจเจ็บใจ (ที่น่าจะรู้วิธีป้องกันก่อน)
และอาจเจ็บลามไปถึงคนใกล้ตัว ที่ต้องเข้ามาช่วยดูแล

จะดีแค่ไหน ถ้าเรามี “ยากันล้ม” ที่มีสรรพคุณเป็นคู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

:: ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน ::

ยากันล้ม : คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

เมื่อป่วยหรือล้มเจ็บ เรามักคาดหวังว่าจะได้รับยาจากหมอ ที่ช่วยรักษาให้หายจากโรคแบบทันทีทันใด แต่จริงๆ แล้ว ‘ยา’ ที่สำคัญกว่าคือการดูแลป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคเหล่านั้นและไม่ให้โรคพัฒนาจนถึงขั้นรักษาไม่หาย

หลายโรคในผู้สูงอายุสามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนเกิดโรค รวมถึง ‘การหกล้ม’ ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการหกล้ม เช่น การปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน และสภาพร่างกายของผู้สูงอายุเอง ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ยาขนานนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุหกล้ม และช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข และมีอายุยืนยาว

 

การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน

 

โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

ในสังคมที่ประวัติศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือของการควบคุมกล่อมเกลาความคิดคนมากกว่าเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันอดีตของสังคมตนเอง

ประจักษ์ ก้องกีรติ สำรวจตรวจสอบมายาคติ 4 ประการในสังคมไทยเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 :

1. 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม

2. 2475 เป็นการปฏิวัติของนักเรียนนอกจำนวนน้อย

3. 2475 เป็นการกระหายอำนาจและยึดอำนาจไว้กับกลุ่มตนเองเพียงลำพัง

4. 2475 เป็นเพียงการรัฐประหาร ไม่ใช่การปฏิวัติที่แท้จริง

อะไรคือประวัติศาสตร์ 2475 ฉบับโรงเรียนไทยไม่ได้สอน สำหรับการต่อสู้ถกเถียงกับมายาคติทั้ง 4 ประการข้างต้น และหนังสือน่าอ่านเกี่ยวกับ 2475 มีเล่มใดบ้าง ติดตามได้ใน “การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน” โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

 

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

 

โดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

หลังจากที่ 101 ได้นำเสนอเรื่องราวของ ‘หม้อ’ หรือโสเภณีย่านคลองหลอดแบบเจาะลึก ไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อน

สัปดาห์นี้ เราขอพาไปสำรวจอีกแง่มุมหนึ่งของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและละแวกใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการชายที่ทำงานในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่คนทั่วไปยากจะเข้าถึง จากรายงานพิเศษ โดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

“บาร์อะโกโก้หรือบาร์เบียร์ ที่มีการขายบริการทางเพศสำหรับพนักงานบริการชายนั้น โดยมากจะไม่มีห้องหับสำหรับประกอบกิจเหมือนเช่นร้านนวด แต่มักเป็นไปในลักษณะการหิ้ว หรือ ‘ออฟ’ ออกไปสู่โรงแรมข้างเคียง ซึ่งนำไปสู่ภารกิจของเหล่า ‘มาม่าซัง’ ที่ต้องคอยติดตามดูแล หากพนักงานในสังกัดหายไปนานเกินควร เหล่ามาม่าซังจะเข้าตรวจสอบความปลอดภัยของพนักงานภายใต้การดูแลทันที ด้วยเครือข่ายรายรอบบริเวณ”

“สถานประกอบการที่มีการขายบริการทางเพศนั้น โดยมากจะจ่ายเงินในลักษณะของ ‘ส่วย’ ให้เจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้โดยไม่ถูกก่อกวน แต่ในบางช่วงเวลา แม้จะจ่ายส่วยให้แล้ว ก็มักประสบปัญหาการเรียกร้องราคาค่าส่วยที่สูงขึ้น หรือบางครั้งแม้จะจ่ายส่วยแล้ว แต่อยู่ในช่วงโยกย้ายปรับตำแหน่ง ก็อาจถูกเจ้าหน้าที่เล่นงานเพื่อสร้างผลงานได้อีกเช่นกัน”

“ในส่วนพนักงานบริการที่ไม่สังกัดร้าน โดยมากเสียค่าปรับ 1,000 บาทให้กับเจ้าหน้าที่เป็นประจำ ในบางพื้นที่ต้องเสียทุก 2 วัน เดือนหนึ่งเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ค่าปรับเหล่านี้มักจะใช้ มาตรา 5 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ปี พ.ศ. 2539”

“อดีตพนักงานบริการชายรายหนึ่งเล่าว่า เคยมีกรณีที่พนักงานบริการถูกทำร้ายโดยชาวต่างชาติ แต่เมื่อไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่กลับไม่สนใจมูลเหตุในการทำร้ายร่างกาย ทว่าพยายามมุ่งเน้นไปที่การพบเจอชาวต่างขาติ บีบบังคับให้พนักงานบริการรับสารภาพว่าค้าบริการทางเพศ เพื่อจะได้เอาผิดฐานค้าประเวณี…”

 

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

 

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

 

“กัญชาอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“การติดกัญชาไม่ได้เกิดจากกัญชา แต่เกิดขึ้นเพราะคนๆ นั้นมีรหัสพันธุกรรมที่พร้อมจะติด และถ้าหากจะเลิก ทุกคนสามารถเลิกได้ภายใน 20 วัน หลังหยุดไม่มีอาการคลุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น”

ท่ามกลางสถานการณ์และข้อถกเถียงเกี่ยวกับ ‘กัญชา’ ในไทย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ น่าจะเป็นศูนย์หน้าตัวเป้าคนหนึ่ง ของทีมที่สนับสนุนและผลักดันให้คนไทยได้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย

อะไรคือหลักคิดและข้อโต้แย้งของเขา ท่ามกลางเสียงของวงการแพทย์อีกไม่น้อยที่มองกัญชาต่างออกไป ในความหมายว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ฯลฯ

ไม่ว่าจะรัก ‘กัญ’ หรือเกลียด ‘กัญ’ ธิติ มีแต้ม ชวนอ่านทัศนะของหมอศูนย์หน้าตัวเป้าผู้นี้ที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง

“ยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอลและทุกชนิด มันมีผลให้คนไตวายตับวายได้ ถ้ากินมากไปก็เสี่ยงทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบตันได้เหมือนกัน เรื่องพวกนี้หมอสมัยใหม่ไม่พูด แต่มักพูดว่ากัญชาเป็นยาเสพติด”

“หมอไทยส่วนใหญ่ยึดติดกับตำรา แต่ไม่ได้มีความกระหายที่อยากจะรู้เรื่องกลไกของโรคกับความท้าทายใหม่ๆ ไม่ได้กระหายที่จะรู้ว่ามีอะไรสามารถไปขัดขวางกลไกของโรคได้อีกบ้างนอกเหนือจากตำราว่าไว้”

“แน่นอน ยังไงก็ต้องมีคนตายไป แต่ถ้าเราได้ข้อมูลว่าตอนที่คนไข้ตาย เขามีความสามารถในการสั่งเสียครอบครัว หรือเขาสามารถยืดอายุออกไปได้สี่ห้าเดือนที่เขายังสามารถอยู่ได้โดยไม่ทรมาน จะไม่ดีกว่าหรือ”

 

เมื่อแนวคิด ‘ทำทุกที่ให้ Instagrammable’ กำลังพังวงการออกแบบ

 

โดย Eyedropper Fill

คำว่า ‘Instagrammable’ มาจากชื่อแอปฯ ‘Instagram’ ชนกับคำกริยา ‘able’ แปลตรงๆ ก็คือ ‘สามารถถ่ายลงอินสตาแกรมได้’ หลายครั้งคำนี้ (หรือบางทีอาจเป็นคำว่า Instagram-worthy) หมายความถึง ‘สถานที่หรือสิ่งดึงดูดใจที่ควรค่าแก่การถ่ายอวดลงโซเชียลมีเดีย’

โดยปกติการออกแบบตึกหรือ urban design ของเมืองหรือย่านหนึ่ง สถาปนิกและนักออกแบบจะต้องใช้เวลาเนิ่นนานเพื่อศึกษาความต้องการของผู้อยู่อาศัยหรือคนที่เข้ามาใช้งาน พัฒนาแบบเพื่อแก้ไขปัญหาว่า ทำอย่างไรพื้นที่นี้จึงจะตอบโจทย์การใช้งาน มอบประสบการณ์ที่ดีและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับผู้คน และมากกว่านั้นอาจสามารถแสดงอัตลักษณ์ของเมืองหรือย่านนั้นออกไปสู่คนภายนอกได้ด้วย

ทว่าภายใต้วิถี Instagrammable สถาปนิกและนักออกแบบแทบต้องล้างกระดานกระบวนการคิดที่ว่ามา กลายเป็นต้องขบคิดว่า ทำอย่างไรให้สถาปัตยกรรมสวยเตะตา มีมุมดึงดูดให้นักท่องเที่ยวยกมือถือขึ้นถ่าย หรือเหลี่ยมไหนของอาคารน่าจะเรียกยอดไลก์ เพื่อเรียกนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาได้มากที่สุด เพื่อให้เมืองหรือย่านนั้น ‘ขายดี’ ในเชิงธุรกิจ

คอลัมน์ Third – Eye View ของ Eyedropper Fill เขียนถึงเทรนด์ Instagrammable ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ในหลายวงการทั้งการออกแบบเมือง ร้านอาหาร และอีเว้นต์ คำถามคือมันมีข้อเสียอย่างไรบ้าง

 

ไทยกำลังเจอ Dutch Disease?

 

โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย สงสัย เศรษฐกิจไทยกำลังติดโรค Dutch disease แบบอ่อนๆ หรือไม่

โรคเศรษฐกิจที่เคยเกิดกับเนเธอร์แลนด์ในช่วงทศวรรษ 1960s เมื่อครั้งค้นพบก๊าซธรรมชาติมหาศาลในทะเลเหนือทิ้งบทเรียนอะไรให้กับเรา

และสำหรับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อะไรคือ “พาหะนำโรค” อะไรคือ “ข่าวดี” ที่อาจกลายเป็น “ข่าวร้าย” จนต้องระมัดระวังให้จงดี

 

เอาด้วยใจ หรือ ซื้อเพียงกาย เมื่อผู้หญิงเป็นฝ่ายใช้บริการ

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“ฉันอยู่กับคุณด้วยความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของกันและกัน แล้ววันนึงคุณทำให้ฉันกลายเป็นแบบนี้ ฉันไม่รู้อีกแล้วว่าการมีอะไรกันทำแบบไหน” นั่นคือจุดเริ่มต้นของการซื้อบริการ

“มึงเที่ยวแล้วมีความสุขกับเซ็กซ์ใช่ไหม ได้…งั้นกูเอาบ้าง” พี่หวานลั่นวาจา


คอลัมน์ Sex Appear ตอนใหม่ ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ บอกเล่าเรื่องราวของ ‘หวาน’ ผู้หญิงที่ซื้อบริการจากผู้ชาย สะท้อนผลกระทบเมื่อเซ็กซ์ถูกผูกกับความรัก และบทบาทของเพศวิถีเมื่อผู้ชายเป็นผู้รุก ผู้หญิงเป็นผู้รับ

“นอกจากรถเบนซ์เขาก็พกลำโพงราคาหมื่นกว่าบาทเพื่อเปิดเพลงผ่อนคลาย น้ำมันนวดแบบที่ชั้นไม่กล้าซื้อ เข้าม่านรูดก็ยังไม่ต้องควักตังค์อะไรทั้งสิ้น เขาออกไปก่อน ให้เราเข้าห้องไปเลยเพื่อเซฟเรา ให้เขาเป็นคนที่เจอกับพนักงานเท่านั้น โดยที่ไม่มีใครเห็นหน้าเรา

“อยากทานอะไรเขาจัดการให้ เข้าห้องปุ๊บ เดี๋ยวผมไปเปิดน้ำก่อนนะ จะได้มีน้ำที่อุ่นพอดีตอนทำเสร็จแล้ว ผ้าเช็ดตัวเป็นยังไง ผมมีของผมมาด้วยนะถ้าคุณไม่อยากใช้ของที่นี่ พกเครื่องปรับอากาศอโรม่าที่พ่นๆ มาด้วยนะ เขาทำทุกอย่างให้เราสบายที่สุด เพราะนี่คืองานของเขา

“ในราคาค่าตัวพันสอง”

“ภาพทั่วไปไม่ว่าจะในชีวิตจริง หรือผ่านสื่อ เวลาผู้ชายไปเที่ยวอ่างแล้วถูกเมียด่า ก็จะกลายเป็นเรื่องขำๆ ตลก ‘ไม่ทำแล้วค่ะเมียขา’ จบ เพราะสังคมมอบบทบาทผู้นำ ผู้กระทำ ผู้มอบความสุขให้เพศหญิง ผู้ชายเจนจัดจึงถูกยกย่อง และสังคมก็ปล่อยผ่านการกระทำดังกล่าว”

“เพราะนี่คือ ‘ธรรมชาติ’ ที่สังคมเราสร้างให้เพศชาย แต่พอเป็นผู้หญิงเรื่องราวก็ต่างไปเหมือนหนังคนละม้วน”

 

ผูกขาดอย่างแท้ ‘True’ : เมื่อมหานครไร้สายต้องแลกมาด้วยการผูกขาด (ซ้ำซาก)

 

โดย สมคิด พุทธศรี

เมื่อสมาร์ทซิตี้และมหานครสวยงามไร้สายต้องแลกมาด้วยการผูกขาด (ซ้ำซาก) ที่แท้ “True”

สมคิด พุทธศรี จึงชวนตั้งคำถามต่อกรณีกรุงเทพมหานคร เตรียมยกสิทธิผูกขาดให้แก่บริษัททรู อินเทอร์เน็ต คอร์เปอเรชั่น ในการดำเนินโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน พร้อมสิทธิผูกขาดรายเดียวในกิจการท่อร้อยสายสื่อสาร ปัจจัยการผลิตเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจโทรคมนาคม

————————

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า

“โดยทั่วไป สาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ ภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเอง เพราะถ้าปล่อยให้เอกชนเข้าไปดำเนินการ ก็เท่ากับเป็นการโอนอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน เอกชนก็มีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจผูกขาดนั้นไปแสวงหากำไร”

———————–

ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตหัวหน้าโครงการ NBTC Policy Watch

“ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานอย่างคลื่นความถี่ หรือสายสื่อสาร ถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตเชิงกลยุทธ์ ซึ่งหากไม่มีหรือเข้าไม่ถึงก็ไม่สามารถให้บริการได้ ดังนั้น การยอมให้ผู้ประกอบการต้นน้ำบางรายผูกขาดปัจจัยการผลิตเชิงกลยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ผูกขาดรายนั้นเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมปลายน้ำด้วย ต่อให้เราจะกำกับดูแลอุตสาหกรรมปลายน้ำดีแค่ไหน การแข่งขันที่เป็นธรรมก็ไม่วันเกิดขึ้นได้”

————————

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

“การผูกขาดและการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย กรณีกรุงเทพธนาคมกับการให้สิทธิผูกขาดเอกชนทำท่อร้อยสาย ไม่ต่างจากกรณีดิวตี้ ฟรี ที่เพิ่งเกิดขึ้นสักเท่าไหร่ สิ่งที่เราเห็นในภาพใหญ่คือ การที่รัฐไม่ส่งเสริมการแข่งขัน ไปส่งเสริมการผูกขาด ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติในต่างประเทศ แต่ดูเหมือนจะเป็นเทรนด์ในประเทศไทย”

 

เบื้องหลัง ‘พาราควอต’ ไม่โดนแบน

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ วิเคราะห์เบื้องหลังดราม่า ‘พาราควอต’ สารเคมีกำจัดวัชพืชที่หลายประเทศสั่งแบน แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทย กลับมีมติ ‘ไม่ยกเลิก’ การใช้สารเคมีชนิดนี้ — เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

 

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ถ้าใครสักคนฆ่าพ่อคุณตาย คุณจะทำอย่างไร?

แน่นอน ถ้าถามวัยรุ่นเลือดร้อน ร้อยทั้งร้อยโดยไม่รีรอ ชีวิตก็ต้องแลกด้วยชีวิต แต่นั่นเป็นคำตอบสุดท้ายเสมอไปหรือไม่?

ธิติ มีแต้ม คุยกับ ‘ใหญ่’ วัชระมงคล ธัญญะเจริญ และ ‘เล็ก’ ธนากร อาจรักษา สองหนุ่มวัยฉกรรจ์ที่เคยเป็นคู่แค้น จากการที่อีกฝ่ายฆ่าพ่อของตน ก่อนที่ความแค้นจะแปรเปลี่ยนเป็นการให้อภัย ภายใต้ร่มเงาของ ‘บ้านกาญจนา’

“สี่ทุ่ม ระหว่างที่พวกเขาเมากัน เขาเอาปืนอัดลมมายิงบานเกล็ดบ้านผมแตก ผมนอนอยู่ในบ้าน ทนไม่ไหว ก็ออกมาถามว่าพี่ทำอะไรของพี่ เขาตอบว่าแล้วมึงจะทำไม ตอนนั้นผมเห็นมีดของเขาวางอยู่ใต้โต๊ะวงเหล้า ผมก็เข้าไปหยิบมีดในบ้านออกมา สุดท้ายก็ตะลุมบอนกัน ผมแทงฝ่ายเขาตายสองคน คือคนที่ยิงบานเกล็ด และอีกหนึ่งคนคือพ่อของใหญ่”

“ตอนนั้นผมอยู่บ้านมุทิตา พอรู้ว่าเล็กอยู่บ้านกาญจนา ผมก็วางแผนขอย้ายตามไปเจอเขา ผมสนิทกับเจ้าหน้าที่พอสมควร เขาบอกว่าให้ทำตัวดีๆ จะได้ย้ายไปบ้านกาญจนา ผมนิ่งมาก ไม่ทำอะไรผิดเลย ทำทุกอย่างให้เจ้าหน้าที่ไว้ใจเพราะอยากย้ายไปเจอเล็ก ผมไม่ได้ใส่ใจว่าต้องอยู่ที่ไหน แค่อยากไปเจอ ผมต้องการชีวิตเขา”

“วันนั้นป้ามลยืนอยู่บนสะพานกลางน้ำ ป้าเข้ามาคุยกับเด็กๆ ว่าบ้านนี้ไม่มีความรุนแรงนะ ผมคิดในใจว่าป้ามลสร้างภาพ ไม่จริงหรอกคนแบบนี้ รับราชการมาก็แค่กินเงินเดือน ผมถามป้ามลว่า ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่ฆ่าพ่อผมถึงได้อยู่บ้านชนะใจ (สำหรับเด็กประพฤติดีจะได้อยู่บ้านชนะใจ) พูดจบผมก็เดินหนีเลย…”

ทั้งสองผ่านอดีตระทมมาแบบไหน บ้านกาญจนาฯ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตาย ให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร และชีวิตต้องแลกด้วยชีวิตเสมอไปหรือไม่

 

ปรีดี ทักษิณ อภิสิทธิ์ ใครเป็นใครในตระกูล ณ ป้อมเพชร์

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึง ความเป็นมาของตระกูล ณ ป้อมเพชร์ และความสัมพันธ์ทางเครือญาติของอดีตนายกรัฐมนตรี 3 นายของไทย คือ ปรีดี พนมยงค์, ทักษิณ ชินวัตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) เมื่อรับราชการอยู่ในสถานอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน แต่ครั้งเป็นหลวงวิเศษสาลี ได้เป็นผู้หนึ่งที่ลงชื่อในคำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 ขอให้ดำเนินการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

“พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) ผู้นี้คือบิดาของ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ) ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” จากพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2456”

“เมื่อพิจารณาสายสกุลของเจ้าคุณชัยวิชิตฯ (ขำ) โดยตรง พบว่ามีอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย คนหนึ่งเป็นลูกเขย ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์” และอีกคนหนึ่งเป็นเหลนเขย ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

“พจมาน ดามาพงศ์ แต่งงานกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง มีลูก 3 คน คือ พานทองแท้ พินทองทา และแพทองธาร ภายหลังเมื่อหย่าจากทักษิณในปี 2551 แล้ว เธอเลือกกลับมาใช้นามสกุล “ณ ป้อมเพชร” ของฝ่ายมารดา”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save