fbpx
20 อันดับผลงานยอดนิยม ประจำปี 2018

20 อันดับผลงานยอดนิยม ประจำปี 2018

ผลงานของ The101.world ที่มีผู้อ่านมากที่สุดในปี 2561
ได้แก่ …..

 

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“มาสิ มาคุยด้วยกัน คนนี้หลาน”

ป้าแก้วชี้ไปทางชายหนุ่ม เขายิ้มรับด้วยใบหน้าไม่ค่อยสู้ดี แต่ก็ยังยืนอยู่ตรงนั้นไม่ไปไหน

ฉันชวนคุย 2-3 ประโยค ถามความเป็นอยู่ พูดเรื่องฟ้าฝนเรื่อยเปื่อย ชายหนุ่มปิดปากเงียบ มีเพียงยิ้มบางเบา

“ไม่น่าใช่หลาน” พี่ช่างภาพกระซิบกับฉัน

เมื่อสังเกตท่าทางแล้วก็เป็นแบบนั้น สายตากรุ้มกริ่มและท่าทางการยืน ไม่น่าจะใช่ป้ากับหลานมาเยี่ยมเยียนกัน

ในคลองหลอด ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ชายหนุ่มวัยกำหนัดจะมาหาหญิงขายบริการชรา เช่นเดียวกับที่หนุ่มใหญ่วัยใกล้ฝั่งจะมาหาเด็กสาววัยแรกแย้ม

รสนิยมทางเพศของผู้คนนั้นหลากหลาย และไม่ได้เป็นไปตามขนบที่สังคมคุ้นชิน ยิ่งเมื่อการซื้อขายบริการถูกปิดบังหลบๆ ซ่อนๆ ความต้องการภายในใจคนยิ่งปะทุออกมาแบบไม่มีข้อจำกัด

“สังคมไทยไม่ยอมรับความจริง เราต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่ ไม่อย่างนั้นก็แก้ไม่ได้” จ๋า-อัจฉรา สรวารี เลขานุการมูลนิธิอิสรชน เปรยให้ฉันฟัง

“สถานการณ์ประเทศไทยคือ เราปูพรมแดงซะสวย แต่เอาทุกอย่างไปกองไว้ใต้พรม จนขยะกองขึ้น แล้วสุดท้ายถึงวันหนึ่งที่คนมาเหยียบ เปิดพรมขึ้นก็เห็นขยะกองใหญ่ นี่คือภาพที่ต่างประเทศมองเข้ามา”

“ถามว่าหญิงขายบริการที่ยืนอิสระ หรือตามซ่อง มีส่วยมั้ย ก็มี ตอนนี้ที่กวาดจับกัน เงินเข้ารัฐครึ่งนึง ที่เหลือเข้าคนเก็บส่วย ถ้าทำให้ถูกกฎหมาย คนขายบริการได้ประโยชน์จริง แต่คนที่เสียประโยชน์คือคนเก็บส่วยนั่นแหละ นี่คือตลาดมืดของไทย…”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจตลาด ‘หม้อ’ ย่าน ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

 

ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“จีนเข้าถึงทรัพยากรที่ควรจะเป็นของคนไทย เด็กไทยจบใหม่ เงินเดือน 15,000 เข้าไม่ถึงทรัพยากร หรือรัฐสวัสดิการ แต่คนจีนไม่ต้องมีสวัสดิการอะไร เขามีเงิน มีพาวเวอร์”

ทุกวันนี้ หากเราเดินไปในย่านห้วยขวาง โดยเฉพาะเส้นประชาราษฎร์บำเพ็ญ เราจะพบเห็นชาวจีนจำนวนมาก ตั้งตัวอยู่กันเป็นชุมชน เปิดร้านขายของเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งร้านอาหาร ร้านขายยา และข้าวของเครื่องใช้

คนเหล่านี้ไม่เหมือนกับชาวจีนเยาวราชดั้งเดิม จีนใหม่เหล่านี้เข้ามาสร้างไชน่าทาวน์ใหม่ ทำธุรกิจในรูปแบบของตัวเอง น้อยคนที่จะพูดภาษาไทย แต่กลายเป็นว่าสื่อสารกันด้วยภาษาจีนกลางและอังกฤษ

จากคนจีนรุ่น ‘ซิงตึ๊ง’ หอบเสื่อผืนหมอนใบหนีสงครามมาเริ่มชีวิตใหม่ที่ไทย มาถึงจีนรุ่นใหม่ ‘ซินอี๋หมิน’ เถ้าแก่น้อยที่มาพร้อมไอโฟนและเทคโนโลยี เข้ามาทำธุรกิจในช่วงจีนเปิดประเทศ เกิดเป็น ‘ไชน่าทาวน์ใหม่’ ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มีตัวเลขบอกว่า มีจีนใหม่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 70,000 คน และทั่วประเทศน่าจะมีคนจีนเข้ามาอยู่ไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย คุยกับ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าทีมวิจัยเรื่อง ‘การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่ : กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่’

“พวกนี้ไม่ได้ย้ายถิ่นถาวร เป็นการย้ายถิ่นแบบชั่วคราว เขาไม่ได้ย้ายแบบพวกจีนโพ้นทะเลสมัยก่อน ที่ย้ายไปแล้วออกลูกออกหลานที่นั่นเลย แต่นี่เขายังกลับบ้าน แล้วเขาเอาเม็ดเงินส่งเป็นทุนกลับบ้าน เหมือนที่ทัวร์จีนทำท่องเที่ยว เงิน โรงแรม ร้านอาหาร ก็เป็นของคนจีนอยู่ คนไทยเป็นแค่ลูกจ้างเขา”

 

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

 

โดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

หลังจากที่ 101 ได้นำเสนอเรื่องราวของ ‘หม้อ’ หรือโสเภณีย่านคลองหลอดแบบเจาะลึก ไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อน

สัปดาห์นี้ เราขอพาไปสำรวจอีกแง่มุมหนึ่งของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและละแวกใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการชายที่ทำงานในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่คนทั่วไปยากจะเข้าถึง จากรายงานพิเศษ โดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

“บาร์อะโกโก้หรือบาร์เบียร์ ที่มีการขายบริการทางเพศสำหรับพนักงานบริการชายนั้น โดยมากจะไม่มีห้องหับสำหรับประกอบกิจเหมือนเช่นร้านนวด แต่มักเป็นไปในลักษณะการหิ้ว หรือ ‘ออฟ’ ออกไปสู่โรงแรมข้างเคียง ซึ่งนำไปสู่ภารกิจของเหล่า ‘มาม่าซัง’ ที่ต้องคอยติดตามดูแล หากพนักงานในสังกัดหายไปนานเกินควร เหล่ามาม่าซังจะเข้าตรวจสอบความปลอดภัยของพนักงานภายใต้การดูแลทันที ด้วยเครือข่ายรายรอบบริเวณ”

“สถานประกอบการที่มีการขายบริการทางเพศนั้น โดยมากจะจ่ายเงินในลักษณะของ ‘ส่วย’ ให้เจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้โดยไม่ถูกก่อกวน แต่ในบางช่วงเวลา แม้จะจ่ายส่วยให้แล้ว ก็มักประสบปัญหาการเรียกร้องราคาค่าส่วยที่สูงขึ้น หรือบางครั้งแม้จะจ่ายส่วยแล้ว แต่อยู่ในช่วงโยกย้ายปรับตำแหน่ง ก็อาจถูกเจ้าหน้าที่เล่นงานเพื่อสร้างผลงานได้อีกเช่นกัน”

“ในส่วนพนักงานบริการที่ไม่สังกัดร้าน โดยมากเสียค่าปรับ 1,000 บาทให้กับเจ้าหน้าที่เป็นประจำ ในบางพื้นที่ต้องเสียทุก 2 วัน เดือนหนึ่งเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ค่าปรับเหล่านี้มักจะใช้ มาตรา 5 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ปี พ.ศ. 2539”

“อดีตพนักงานบริการชายรายหนึ่งเล่าว่า เคยมีกรณีที่พนักงานบริการถูกทำร้ายโดยชาวต่างชาติ แต่เมื่อไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่กลับไม่สนใจมูลเหตุในการทำร้ายร่างกาย ทว่าพยายามมุ่งเน้นไปที่การพบเจอชาวต่างขาติ บีบบังคับให้พนักงานบริการรับสารภาพว่าค้าบริการทางเพศ เพื่อจะได้เอาผิดฐานค้าประเวณี…”

 

“ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน” ยากันล้ม : คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

 

โดย 101world

รู้หรือไม่ว่า ในปีหนึ่งมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มไม่ต่ำกว่า 1,000 คน!!
การหกล้มหนึ่งครั้ง คุณอาจไม่ได้แค่เจ็บตัว
แต่อาจเจ็บใจ (ที่น่าจะรู้วิธีป้องกันก่อน)
และอาจเจ็บลามไปถึงคนใกล้ตัว ที่ต้องเข้ามาช่วยดูแล

จะดีแค่ไหน ถ้าเรามี “ยากันล้ม” ที่มีสรรพคุณเป็นคู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

:: ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน ::

ยากันล้ม : คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

เมื่อป่วยหรือล้มเจ็บ เรามักคาดหวังว่าจะได้รับยาจากหมอ ที่ช่วยรักษาให้หายจากโรคแบบทันทีทันใด แต่จริงๆ แล้ว ‘ยา’ ที่สำคัญกว่าคือการดูแลป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคเหล่านั้นและไม่ให้โรคพัฒนาจนถึงขั้นรักษาไม่หาย

หลายโรคในผู้สูงอายุสามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนเกิดโรค รวมถึง ‘การหกล้ม’ ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการหกล้ม เช่น การปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน และสภาพร่างกายของผู้สูงอายุเอง ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ยาขนานนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุหกล้ม และช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข และมีอายุยืนยาว

 

ทันตกรรมอำพราง : ความลับ 5 ข้อ ที่หมอฟันไม่เคยบอก

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

ทุกวันนี้มีคลินิกที่เปิดให้บริการด้านทันตกรรมอยู่มากมาย ทั้งแบบที่ถูกกฎหมาย และแบบที่ลักลอบให้บริการอย่างลับๆ

สิ่งที่น่ากังวลซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรับรู้ หรือรู้เมื่อสายไปแล้ว ก็คือการใช้บริการด้านทันตกรรมบางประเภท อาจนำมาซึ่งอันตรายในภายหลังได้ แม้ว่าคลินิกหรือทันตแพทย์คนนั้นๆ จะมีใบรับรอง กระทั่งเปิดบริการอย่างถูกกฎหมายก็ตาม

101 มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ทันตแพทย์ท่านหนึ่ง ถึงข้อควรระวังต่างๆ ในการเข้ารับบริการด้านทันตกรรม โดยเฉพาะบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งแอบแฝงมาในรูปแบบต่างๆ

ต่อไปนี้คือความลับ 5 ข้อ ที่หมอฟันไม่เคยบอก แต่เราอยากบอกให้รู้ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายและความเสียหายจากการรักษา

 

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ถ้าใครสักคนฆ่าพ่อคุณตาย คุณจะทำอย่างไร?

แน่นอน ถ้าถามวัยรุ่นเลือดร้อน ร้อยทั้งร้อยโดยไม่รีรอ ชีวิตก็ต้องแลกด้วยชีวิต แต่นั่นเป็นคำตอบสุดท้ายเสมอไปหรือไม่?

ธิติ มีแต้ม คุยกับ ‘ใหญ่’ วัชระมงคล ธัญญะเจริญ และ ‘เล็ก’ ธนากร อาจรักษา สองหนุ่มวัยฉกรรจ์ที่เคยเป็นคู่แค้น จากการที่อีกฝ่ายฆ่าพ่อของตน ก่อนที่ความแค้นจะแปรเปลี่ยนเป็นการให้อภัย ภายใต้ร่มเงาของ ‘บ้านกาญจนา’

“สี่ทุ่ม ระหว่างที่พวกเขาเมากัน เขาเอาปืนอัดลมมายิงบานเกล็ดบ้านผมแตก ผมนอนอยู่ในบ้าน ทนไม่ไหว ก็ออกมาถามว่าพี่ทำอะไรของพี่ เขาตอบว่าแล้วมึงจะทำไม ตอนนั้นผมเห็นมีดของเขาวางอยู่ใต้โต๊ะวงเหล้า ผมก็เข้าไปหยิบมีดในบ้านออกมา สุดท้ายก็ตะลุมบอนกัน ผมแทงฝ่ายเขาตายสองคน คือคนที่ยิงบานเกล็ด และอีกหนึ่งคนคือพ่อของใหญ่”

“ตอนนั้นผมอยู่บ้านมุทิตา พอรู้ว่าเล็กอยู่บ้านกาญจนา ผมก็วางแผนขอย้ายตามไปเจอเขา ผมสนิทกับเจ้าหน้าที่พอสมควร เขาบอกว่าให้ทำตัวดีๆ จะได้ย้ายไปบ้านกาญจนา ผมนิ่งมาก ไม่ทำอะไรผิดเลย ทำทุกอย่างให้เจ้าหน้าที่ไว้ใจเพราะอยากย้ายไปเจอเล็ก ผมไม่ได้ใส่ใจว่าต้องอยู่ที่ไหน แค่อยากไปเจอ ผมต้องการชีวิตเขา”

“วันนั้นป้ามลยืนอยู่บนสะพานกลางน้ำ ป้าเข้ามาคุยกับเด็กๆ ว่าบ้านนี้ไม่มีความรุนแรงนะ ผมคิดในใจว่าป้ามลสร้างภาพ ไม่จริงหรอกคนแบบนี้ รับราชการมาก็แค่กินเงินเดือน ผมถามป้ามลว่า ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่ฆ่าพ่อผมถึงได้อยู่บ้านชนะใจ (สำหรับเด็กประพฤติดีจะได้อยู่บ้านชนะใจ) พูดจบผมก็เดินหนีเลย…”

ทั้งสองผ่านอดีตระทมมาแบบไหน บ้านกาญจนาฯ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตาย ให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร และชีวิตต้องแลกด้วยชีวิตเสมอไปหรือไม่

 

อำมาตย์ตุลาการอำพราง

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ว่าด้วยการสอบผู้พิพากษา ‘สนามจิ๋ว’ กับ ‘อำมาตย์ตุลาการอำพราง’

ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ประเด็นการสอบผู้พิพากษา ‘สนามจิ๋ว’ กลับมาเป็นประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์อีกครั้ง

สมชาย ปรีชาศิลปกุลเคยวิจารณ์การสอบ ‘สนามจิ๋ว’ ว่าเป็น ‘อำมาตย์ตุลาการอำพราง’ หรือการสร้างระบบในการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งตุลาการที่จำกัดไว้ในแวดวงของชนชั้นนำของฝ่ายตุลาการมากขึ้น

ในโอกาสเช่นนี้ 101 อยากชวนกลับไปอ่านบทความ ‘อำมาตย์ตุลาการอำพราง’ อีกครั้ง

 

กลับตัวก็ไม่ได้ ไปต่อก็เหมือนจะซอยตัน

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

#GenWhy คอลัมน์จากกองบรรณาธิการคนใหม่ของ 101 ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย จะมาส่งเสียงจากคน Gen Y บอกเล่าปัญหาแห่งช่วงวัย ปัญหาสังคมการเมืองที่ประสบมาตลอดช่วงชีวิต แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทาง เล่าความสัมพันธ์ที่บอบบางเหมือนใยส้ม หนทางการฝึกวิทยายุทธ์เพื่อเป็นคนเก่ง และยังตั้งคำถามกับสังคมที่เราต้องอยู่อีกนาน

ในวัยแห่งความเปลี่ยนแปลงและอยู่ในภาวะ ‘กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง’

“เราตั้งคำถามกับโลก ว่าโลกเป็นของเราหรือเปล่า ส่วนโลกก็ตั้งคำถามกลับว่า ทำไมคน Gen Y ยังติดอยู่กับความฝันและทำอะไรไม่ได้เรื่องได้ราวเสียที”

 

จาก ‘กู โรตี’ ถึง ‘ปังปอนด์ออนทัวร์’ – ความปังที่ไม่ได้เกิดขึ้นแบบมั่วๆ

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“คนทั่วไปอาจมองว่าง่าย โพสต์ๆ ไปเถอะ เดี๋ยวคนก็เห็นเอง แต่ผมกลับมองว่า ถ้าเราอยากใช้โซเชียลมีเดียให้มีเปอร์เซ็นต์ในการประสบความสำเร็จมากขึ้น มันควรคิดตั้งแต่แรกว่า สิ่งที่เราจะส่งออกไปคืออะไร ส่งด้วยวิธีไหน แล้วผู้รับสารคือใคร ทุกอย่างต้องมีกระบวนการคิดล่วงหน้า…”

ชวนอ่านความคิด ‘ปอนด์’ วชิร ละอองเทพ ชายหนุ่มวัย 25 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังเพจดังปังปอนด์ออนทัวร์ และเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจร้านอาหารชื่อดังอย่าง ‘กู โรตี ชาชัก’ และ ‘Empty Tasty’

 

“วันนี้หมดเวลาของพวกเราแล้ว” – คุยกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เรื่องอดีตของไทยรักไทย ปัจจุบันของหมอเลี้ยบ และอนาคตของการเมืองไทย

 

โดย 101world

:: 101 สนทนากับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เรื่อง ‘อดีต’ ของไทยรักไทย ‘ปัจจุบัน’ ของหมอเลี้ยบ และ ‘อนาคต’ ของการเมืองไทย ::

“วันนี้หมดเวลาของพวกเราแล้ว ได้เวลาที่คนรุ่นต่อไปจะเข้ามาทำการเมืองที่สร้างสรรค์ การเมืองแบบที่เราเคยอยากทำแต่ทำไม่ได้ วันนี้เราไม่มีพลังแล้ว ให้คนรุ่นใหม่ที่มีพลังได้เข้าไปออกแบบและกำหนดอนาคตของพวกเขาเองเถอะ”

หลังพ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ ‘หมอเลี้ยบ’ หนึ่งในแกนนำพรรคไทยรักไทยยุคก่อตั้ง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชาชน ก็ถอยห่างจากเวทีการเมืองไปอย่างเงียบๆ ร่วม 10 ปี

จนกลับเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งจำคุก 1 ปี จนกระทั่งได้รับการพักโทษออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560

ชีวิตทางการเมืองของ ‘หมอเลี้ยบ’ ผ่านประสบการณ์ทั้งแบบขึ้นสูงและลงสุดมาแล้ว แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญที่เจ้าตัวถือเอามาบั่นทอนชีวิตตัวเอง เขาบอกกับกองบรรณาธิการ 101 ว่า

“ตอนที่ถูกให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ ผมไม่โกรธใครเลย คืนเดียวเท่านั้นที่ผมถามตัวเองว่าทำไมเข้ามาอยู่ที่นี่ ตื่นขึ้นมากลางดึกสองรอบ เหมือนฝัน แต่หลังจากนั้นไม่ได้คิดอะไรอีก ไม่มีแค้น ไม่มีไม่พอใจใคร ผมยังแปลกใจตัวเอง”

ในช่วงเวลาที่บรรยากาศทางการเมืองกำลังถูกปลุกเร้าให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง พรรคการเมืองทั้งหน้าใหม่และเก่าต่างทยอยเปิดตัวและเตรียมประกาศนโยบาย ทั้งหมดทั้งปวง ‘หมอเลี้ยบ’ เห็นอะไร

จากคนเดือนตุลา หมอนักวิชาการ สู่นักการเมืองดาวรุ่งที่มีส่วนสร้างพรรคไทยรักไทย และร่วมผลักดันนโยบายที่กลายเป็นขวัญใจมหาชนอย่าง ’30 บาทรักษาทุกโรค’

จากรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหาร ถูกยุบพรรคที่ร่วมสร้างมากับมือ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และถูกตัดสินให้เป็นนักโทษ จนถึงวันที่ได้รับอิสรภาพกลับมาเป็นพลเมืองธรรมดาคนหนึ่ง แม้จะพร่องสิทธิทางการเมือง

101 ชวน ‘หมอเลี้ยบ’ สนทนาเรื่อง ‘อดีต’ ของพรรคไทยรักไทย ‘ปัจจุบัน’ ของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ ‘อนาคต’ ของการเมืองไทย

ในวันที่เขาบอกว่า “หมดเวลาของพวกเราแล้ว”

 

สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

5 ปีผ่านไป สีจิ้นผิงกลายเป็นผู้นำที่มีอำนาจและมีอิทธิพลสูงสุดแบบโชว์เดี่ยว ปกครองด้วยการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองอย่างยิ่ง และกำลังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจีนเพื่อครองตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ฉีกทิ้งธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้นำจีนต้องลงจากตำแหน่งหลังครบ 10 ปี

แต่ถึงอย่างนั้น เขากลับเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมสูงมากจากประชาชนโดยเฉพาะคนรากหญ้า และเศรษฐกิจจีนก็ดูจะเดินหน้าต่อไปอย่างไม่สะดุด จนเริ่มเทียบชั้นมหาอำนาจ

อาร์ม ตั้งนิรันดร พยายามตอบคำถามว่า สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? และสุดท้ายเขาจะพาจีนพังกันหมดหรือไม่?

 

เพราะเรามีกันและ ‘กัญ’

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ธิติ มีแต้ม เล่าประสบการณ์ความป่วยไข้จากโรคอันดับหนึ่งของสังคมไทยที่พรากชีวิตผู้คนไปมากกว่าหกหมื่นคนต่อปี ก่อนจะพาไปสำรวจโลกของกัญชาทางการแพทย์ ผ่านทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ พร้อมคำอธิบายจากแพทย์ว่าทำไมวินาทีนี้กัญชาควรถูกกฎหมายเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษาเสียที

“เวลาพูดถึงกัญชา ผมมักได้ยินอยู่ 2 แบบ ถ้าคนที่ไม่แอนตี้ไปเลย ก็จะมองมันในฐานะความบันเทิง ทั้งในทางผ่อนคลายขบขันและความเลิศรสที่มันมอบให้ผ่านการปรุงอาหาร”

“แต่ผมมองมันในฐานะ “สิทธิ” หากมีวันที่ทุกคนสามารถปลูกและสกัดเป็นยาเองได้ เช่นเดียวกับแสงอาทิตย์ที่เป็นสมบัติของทุกคน”

 

‘Why We Post’ เข้าใจโลกโซเชียลแบบนักมานุษยวิทยา กับแดเนียล มิลเลอร์

 

โดย สมคิด พุทธศรี

สมคิด พุทธศรี ชวน ‘แดเนียล มิลเลอร์’ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่ง University College London หัวหน้าทีมวิจัยโครงการ Why We Post สำรวจบทบาทและอิทธิพลของโซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันของผู้คนผ่านแว่นตาของนักมานุษยวิทยาดิจิทัล

(1) “โซเชียลมีเดียมีลักษณะของความเป็นอนุรักษนิยมค่อนข้างสูง มันเป็นเครื่องมือที่พาเรากลับไปหาสิ่งที่เราเคยมี เช่น ในโลกสมัยใหม่มีปัจจัยมากมายที่ทำให้ครอบครัวมีแนวโน้มที่จะกระจัดกระจาย และสมาชิกแต่ละคนต้องแยกตัวออกไป แต่ทุกวันนี้…ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวมีลักษณะคล้ายกับครอบครัวแบบโลกก่อนสมัยใหม่มากขึ้น”

(2) “…ผู้คนในแต่ละพื้นที่มองความเป็นส่วนตัวแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น คนอังกฤษที่อยู่ในลอนดอน มองว่าโซเชียลมีเดียทำให้ตัวเองสูญเสียความเป็นส่วนตัวไป แต่สำหรับคนจีน โซเชียลมีเดียกลับเป็นที่ที่พวกเขาได้รู้จักความเป็นส่วนตัวแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะในชีวิตประจำวันพวกเขาต้องแชร์ทุกอย่างกับคนอื่น ดังนั้นสำหรับคนจีน โซเชียลมีเดียถือว่าเป็น ‘จุดกำเนิดของความเป็นส่วนตัว’ เลยก็ว่าได้”

(3) “การวิเคราะห์โดยแบ่งเป็นชีวิตออนไลน์กับชีวิตออฟไลน์ ไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน…ชีวิตออฟไลน์มีตั้งหลายแบบ และแต่ละแบบก็อาจไม่เหมือนกันเลย เช่นเดียวกับชีวิตออนไลน์ก็มีได้หลายแบบที่อาจไม่เหมือนกันเลยได้เช่นกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจโดยแบ่งเป็นแค่ออนไลน์กับออฟไลน์จึงไม่เพียงพอ แต่ต้องเข้าใจทั้งคู่อย่างเป็นองค์รวม”

(4) “คนจำนวนมากคิดว่า โซเชียลมีเดียคือพื้นที่สู้รบทางการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมีส่วนจริงอยู่ ถ้าเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา แต่ถ้าเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของโซเชียลมีเดีย พื้นที่ทางการเมืองเป็นพื้นที่ที่เล็กมาก เอาเข้าจริงคนส่วนใหญ่มีความระมัดระวังในการโพสต์ประเด็นทางการเมืองอย่างไม่น่าเชื่อ… ในความเป็นจริงโซเชียลมีเดียกลับเป็นพื้นที่ที่หลีกเลี่ยงการเมือง มากกว่าที่จะเป็นพื้นที่เปิดทางการเมืองด้วยซ้ำ

(5) “…โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่เราใช้จัดวางระยะห่างกับผู้คน ซึ่งเป็นด้านที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึง การศึกษาในอังกฤษพบว่า คนอังกฤษจะพยายามไม่ใกล้ชิดหรือสร้างระยะห่างกับใครมากจนเกินเลย นี่เป็นลักษณะดั้งเดิม และพวกเขาก็ใช้โซเชียลมีเดียในการจัดการระยะห่างนั้นด้วยเช่นกัน”

 

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร สำรวจชั้นหนังสือของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนกำลังอ่านอะไร และหนังสือประเภทไหนหายไปจากชั้น

 

เบื้องหลัง ‘พาราควอต’ ไม่โดนแบน

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ วิเคราะห์เบื้องหลังดราม่า ‘พาราควอต’ สารเคมีกำจัดวัชพืชที่หลายประเทศสั่งแบน แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทย กลับมีมติ ‘ไม่ยกเลิก’ การใช้สารเคมีชนิดนี้ — เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

 

David Streckfuss : การเมืองผิดเพี้ยน ในประเทศผุพัง

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“ตอนนี้ประเทศไทยไม่มี politics ด้วยซ้ำ หรือถ้ามี มันก็เป็น absurd politics ไม่ใช่ popular politics” – คือข้อสังเกตของ ‘เดวิด สเตร็คฟัส’ นักวิชาการอิสระชาวอเมริกัน ผู้มาปักหลักอยู่ภาคอีสานกว่ายี่สิบปี

ประเด็นที่เขาศึกษาวิจัยและได้รับการยอมรับในวงวิชาการระดับโลก คือการเฝ้าติดตามสถานการณ์การใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ รวมถึงกฎหมายหมิ่นฯ ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยมีผลงานวิจัยที่ชื่อว่า ‘Truth on Trial in Thailand : Defamation, treason, and lese-majeste’ (2011) เป็นหมุดหมายสำคัญ

ในวันเวลาที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เรานัดหมายกับเดวิดเพื่อชวนคุยถึงอนาคตของสังคมไทย ภายใต้เงื่อนไขที่เขาบอกว่าเต็มไปด้วยความ ‘absurd’

“สิ่งที่คสช.ทำตอนนี้ เปรียบเหมือนการแสดงละครเรื่องประชาธิปไตยที่มีคณะละครตลกอันธพาลขึ้นมายึดเวที แล้วทำการแสดงเอง ปัญหาคือการแสดงละครของคณะนี้ไม่มีคุณภาพเลย ไม่ให้ความบันเทิงกับผู้ชมเลย ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังล็อคประตูโรงละคร แล้วบังคับให้ผู้ชมนั่งดูการแสดงอันน่าเบื่ออย่างทรมานต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าเรื่องจะจบตอนไหน…”

 

สปิริตสื่อไทยใต้ท็อปบูท บทเรียนจาก “ฐปณีย์-อิศรา-ประชาไท”

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ได้ทุ่มโพเดียมใส่นักข่าว และปิดสื่อหรือจับนักข่าวไปยิงเป้าแบบที่เคยขู่ไว้ แต่สื่อมวลชนไทยก็ต้องเผชิญกับการถูกกดดันและคุกคามจากอำนาจรัฐที่ควบคุมโดย คสช. ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บทเรียนของสื่อไทยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาคืออะไร ธิติ มีแต้ม ชวน ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ‘ข่าว 3 มิติ’ มนตรี จุ้ยม่วงศรี บ.ก.ศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวน ‘สำนักข่าวอิศรา’ และ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการ ‘เว็บไซต์ประชาไท’ มาถอดบทเรียน เพื่อทบทวนบทบาทสื่อมวลชนไทย ภายใต้การควบคุมของ คสช.

เมื่อเพดานเสรีภาพถูกกดต่ำลง สปิริตสื่อจะฉายฉานอย่างไร

“IO คือการยืนยันว่าไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษในหมู่ชายชาติทหาร” – ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

“หัวใจของข่าวสืบสวนสอบสวน ไม่เลือกรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหาร ข่าวอุทยานราชภักดิ์ที่อิศรารายงาน ผมก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ผมไปลงพื้นที่เอง ไปคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ ไม่มีใครมาห้าม” – มนตรี จุ้ยม่วงศรี

“ต้องยอมรับว่า คสช. ทำสำเร็จที่ทำให้สังคมไทยรู้สึกบั่นทอนและคุ้นชินกับการใช้วิธีนอกกฎหมาย” – จีรนุช เปรมชัยพร

 

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

 

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

 

‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21

โดย ธนสักก์ เจนมานะ

ธนสักก์ เจนมานะ สำรวจปัญหาความเหลื่อมล้ำไทย โดยใช้ข้อมูลที่สร้างขึ้นตามระเบียบวิธีของ โธมัส พิเก็ตตี (Thomas Piketty) ผู้เขียนหนังสือ Capital in the 21st Century อันทรงอิทธิพล เพื่อร่วมตอบคำถามว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทย เป็นอย่างไรกันแน่

หลังรายงานความเหลื่อมล้ำ Global Wealth Report 2018 ของ Credit Suisse ได้ออกมาเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยติดอันดับหนึ่งของโลกด้านความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน โดยคนไทยที่รวยที่สุด 1% ถือครอง 66.9% ของทรัพย์สินทั้งประเทศ ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของไทยจึงกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

ดราม่าที่เกิดขึ้นได้สร้างความสับสนพอสมควร ฝ่ายที่ไม่พอใจรายงานฉบับดังกล่าวต่างดาหน้าออกมาวิจารณ์ว่า Credit Suisse ใช้ข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 ในการวิเคราะห์ พร้อมกันนั้นรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ออกมาอธิบายกับสังคมโดยใช้สถิติความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคนละประเภทกับความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน) ยืนยันว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้แย่มากอย่างที่รายงานบอกไว้ แถมยังดีขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก

คำถามที่ตามมาโดยปริยายคือ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกจริงหรือไม่ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นตามที่สภาพัฒน์อธิบายไว้จริงหรือ ทั้งนี้กุญแจสำคัญที่จะตอบคำถามดังกล่าวได้คือ การได้มาซึ่งตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด

ในหนังสือ Capital in the Twenty-First Century อันโด่งดัง โธมัส พิเก็ตตี้ และทีมวิจัยได้สร้างระเบียบวิจัยที่สามารถผลิตสถิติความเหลื่อมล้ำที่มีความแม่นยำ และได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงวิชาการขึ้นมา โดยสถิติเหล่านี้ มีพื้นฐานอยู่บนบัญชีประชาชาติ ซึ่งมีความครอบคลุมทั้งรายได้และทรัพย์สิน

ถ้ามองความเหลื่อมล้ำไทยด้วยระเบียบวิธีวิจัยแบบใหม่ เรามองเห็นอะไร ปัญหาสาหัสแค่ไหน

 

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

 

โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save