fbpx
สมการของความดี : ทำไมลิเบอรัลจึงคุยกับคอนเซอร์เวทีฟไม่รู้เรื่อง

สมการของความดี : ทำไมลิเบอรัลจึงคุยกับคอนเซอร์เวทีฟไม่รู้เรื่อง

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เรื่อง

ธนภรณ์ สร้อยภู่ระย้า ภาพ

 

ผมไม่รู้ว่าอะไรผิดหรือถูก

ในสภาพปัจจุบันที่ความขัดแย้งเคี่ยวงวดขึ้นเรื่อยๆ การทำความเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องยากเหลือเกิน การแสดงความเห็นหนึ่งเสียงส่งแรงกระเพื่อมไปกระทบกระทั่งทุกคน และแรงกระเพื่อมนั้นก็สะท้อนกลับมาอื้ออึง จนบางครั้งเราอาจต้องตั้งคำถามว่า “เราจะมีโอกาสเข้าใจกันได้อีกไหม”

รอยร้าวระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้าถูกถ่างแยกออกด้วยพลังแห่งโซเชียลมีเดีย, ที่สุดขั้วแล้วก็ถูกดันให้สุดขั้วมากขึ้น, ที่เคยสมัครสมานก็กลับค้นพบจุดต่าง, จุดต่างที่ไม่ถูกสงวนไว้ หากถูกนำมาฉายเป็นไฮไลต์

หากประชาธิปไตยคือกระบวนการสนทนาที่ไม่มีวันสิ้นสุด คำถามที่เกิดขึ้นคือ ณ จุดที่พวกเรายืนอยู่ทุกวันนี้ เรากำลังพาประชาธิปไตยไปข้างหน้า หรือเสียงก่นด่าจะพามันย้อนหลังกันแน่ ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องผิดบาปในตัวมันเอง มันอาจพาเราไปสู่สิ่งใหม่ ภูมิทัศน์ใหม่ที่ยกระดับขึ้นจากเดิมก็ได้ แต่เรามีวิธีอะไรไหมที่จะทำให้เราเข้าใจจุดยืนของกันและกันมากขึ้น โดยเริ่มจากการเข้าใจว่าเราแต่ละคนถูกประกอบมาจากฐานคิดแบบไหน ค่านิยม (value) แบบใดที่ทำให้เราสะท้อนเรื่องเรื่องหนึ่งในรูปแบบเฉพาะแตกต่างจากคนอื่น

ผมเคยอ้างถึงงานทฤษฎี Moral Foundation (รากฐานของคุณธรรม) ของ Jonathan Haidt ไปในบทความที่แล้ว โดยย่นย่อ ทฤษฎี Moral Foundation บอกว่ามนุษย์เราให้เหตุผลต่อการตัดสินเชิงคุณธรรมแตกต่างกันเนื่องมาจากฐานคิด 5 ฐาน คือฐาน Care/Harm (การชื่นชูและปกป้องผู้อื่น) ฐาน Fairness/Cheating (ความยุติธรรมต่อกฎที่เห็นร่วมกัน) ฐาน Loyalty/Betrayal (การมีจุดยืนพ้องกับกลุ่ม) ฐาน Authority/Subversion (การยอมโอนอ่อนต่ออำนาจและประเพณี) และฐาน Sanctity/Degradation (การยึดถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือความบริสุทธิ์พร้อม) ต่อมา Haidt เสนอฐานที่ 6 เพิ่มเติมในหนังสือ The Righteous Mind คือฐาน Liberty/Oppression (เสรีภาพ ซึ่งตรงข้ามกับการกดขี่)

ตามทฤษฎีนี้ การที่บุคคลให้น้ำหนักกับฐานที่แตกต่างกันจะขึ้นรูปความคิด ความเชื่อ และการให้คุณค่าต่อประเด็นทางโลกที่แตกต่างกันตามไปด้วย คุณอาจลองทำแบบทดสอบออนไลน์เพื่อดูว่าตัวเองให้น้ำหนักฐานใดโดยคร่าวได้ ที่นี่ 

Haidt และคณะ วิจัยเพิ่มเติมเพื่อทาบความเชื่อทางการเมืองแบบเสรีนิยมซ้าย อนุรักษนิยม และอิสรนิยมเข้ากับแกนทั้งหกนี้ พวกเขาพบว่าเสรีนิยมอเมริกันจะให้น้ำหนักกับแกน Care/Harm สูงสุด รองลงมาที่ Liberty/Oppression และ Fairness/Cheating ตามลำดับ และให้ความสำคัญกับแกนที่เหลือน้อย ขณะที่อนุรักษนิยมอเมริกันจะให้น้ำหนักกับทุกแกนค่อนข้างเท่ากัน ส่วนอิสรนิยมจะให้น้ำหนักกับ Liberty/Oppression มากที่สุด Fairness/Cheating รองลงมาและแกนที่เหลือน้อยที่สุด

โมเดลนี้ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมคนที่มีความคิดความเชื่อทางการเมืองคนละด้านกันจึง “คุยกันไม่รู้เรื่อง”

เหตุผลเป็นเพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับรากความคิดแตกต่างกันนั่นเอง หากคุณจับเสรีนิยมคุยกับอนุรักษนิยมในเรื่องศาสนา ก็เป็นไปได้ว่าเสรีนิยมจะไม่เห็นความสำคัญของศาสนานัก (เพราะ Sanctity/Degradation ต่ำ) ขณะที่อนุรักษนิยมอาจเห็นความสำคัญของศาสนามากกว่า เช่นเดียวกับเรื่องสถาบันกษัตริย์ การเคารพต่อธรรมเนียมประเพณี การถือครองปืน การมีสิทธิในร่างกาย ฯลฯ Haidt เสนอว่าประเด็นทั้งหลายสามารถถูก ‘ลดรูป’ ลงมาเป็นส่วนประกอบหกแกนนี้ได้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม แม้มีประโยชน์ แต่ก็มีผู้ทัดทานโมเดลของ Haidt อยู่มาก ข้อทักท้วงประกอบไปด้วยการอ้างเหตุผลว่า ทฤษฎีของ Haidt ไม่สอดคล้องกับหลักการทางชีววิทยา, ไม่ตั้งอยู่บนทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วบ้าง, ขาดมิติ ‘การดูแลเครือญาติ’ บ้าง หรือรากฐานทั้งหกมีความ ‘ซ้ำซ้อน’ กันบ้าง

ผู้ทักท้วงในวงการสังคมวิทยาพยายามเสนอโมเดลต่างๆ ขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนทฤษฎี Moral Foundation โดยหนึ่งในโมเดลที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุด คือโมเดลการมองคุณธรรมผ่านเลนส์ “การร่วมมือ” (Morality as Cooperation)

นักมนุษยวิทยาจาก Oxford นำโดย Oliver Scott Curry ศึกษาวัฒนธรรม 60 กลุ่มทั่วโลก และพบลักษณะการร่วมมือที่เหมือนกัน 7 แบบ ทุกการกระทำ ทุกการตัดสินใจของเราที่เกี่ยวกับกลุ่มและสังคมสามารถลดทอนออกมาได้เหลือ 7 โหมดการร่วมมือนี้ทั้งสิ้น ซึ่งได้แก่ :

  1. การเป็นเครือญาติ (Kinship) เช่น แม่ช่วยลูก ครอบครัวช่วยกัน ไม่สมสู่ร่วมเพศในวงศากันเอง
  2. สภาวะกลุ่มที่มีความสนใจตรงกัน (Mutualism) เช่น การเป็นมิตรสหาย การเข้าร่วมทำงานเพื่อเป้าหมายร่วมกัน การเอาพวกพ้องไว้ก่อน การยินยอมตามฉันทามติของกลุ่ม เนื่องจากความแข็งแกร่งเกิดขึ้นจากจำนวน
  3. การแลกเปลี่ยน (Exchange) ซึ่งสามารถนำเสนอในปัญหาแบบ Prisoner’s Dilemma ได้ เช่น การแลกเปลี่ยนแล้วอีกฝ่ายแลกกลับในอัตราที่เท่ากัน (Reciprocity) อย่างการซื้อขาย การบาร์เตอร์สิ่งของ การล้างแค้นเอาคืน ความรู้สึกขอบคุณ (Gratitude) และรู้สึกผิดบาป (Guilt)

ต่อมา ในส่วนของ การแก้ปัญหาความขัดแย้ง (Conflict Resolution) แบ่งแยกย่อยออกเป็นอีกสามประเภท คือ การประชันขันแข่ง (Contest) โดยเป็นการแสดงอำนาจที่มากกว่า/น้อยกว่าฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้แก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องประสบภาวะ ‘สูญเสียมากทั้งสองฝ่าย’ สะท้อนออกมาในรูปแบบการปฏิบัติแบบ 4. สายเหยี่ยว (Hawk) – ซึ่งคือการแสดงให้เห็นความกล้าหาญ ความสมบูรณ์พร้อมกว่าทางด้านต่างๆ และ 5. สายพิราบ (Dove) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความถ่อมตัว ความนับถือ การเชื่อฟัง

  1. การแบ่ง (Division) อ้างอิงตาม ‘ปัญหาการต่อรอง’ ของ Nash เพื่อแบ่งหรือจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความยุติธรรม (Fairness) ตัวอย่างเช่น การแก้ไขปัญหาแบบ “ฉันตัดแบ่งชิ้นเค้ก แต่เธอเป็นคนเลือก” หรือ “เจอกันตรงกลาง” หรือ “ผลัดกันจ่าย”
  2. การเป็นเจ้าของ (Possession) พูดถึงการเป็นเจ้าของ (ownership) มาก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เช่น การจับจองที่ดิน การจับจองบริเวณล่าสัตว์ การไม่ลักเล็กขโมยน้อย ไม่บุกรุก

งานวิจัยของ Curry พบว่าพฤติกรรมการร่วมมือเจ็ดชนิดนี้ถือว่า ‘ดี มีคุณธรรม’ เสมอ และพบการร่วมมือทั้งหมดได้ในสังคมส่วนใหญ่ ไม่มีสังคมใดที่มองว่าการร่วมมือเจ็ดชนิดนี้เลวด้วยตัวมันเอง อย่างไรก็ตาม ในแต่ละวัฒนธรรม การร่วมมือทั้งเจ็ดชนิดจะถูกให้ลำดับความสำคัญแตกต่างกันไป ซึ่งนี่เองอาจเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (เช่น วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับ “สายพิราบ” หรือความอ่อนน้อมถ่อมตนมากกว่า อาจขัดแย้งกับวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าของมากกว่า)

ล่าสุด (ปี 2018) มีความพยายามเปรียบเทียบโมเดลการมองคุณธรรมผ่านการร่วมมือ (Morality as Cooperation – MAC) กับโมเดลการมองคุณธรรมผ่านรากฐาน (Moral Foundation – MF) นักวิจัยพบว่าผลสนับสนุนโมเดลใหม่ของ Curry มากกว่าโมเดลของ Haidt และสรุปว่า “โมเดลการมองคุณธรรมผ่านการร่วมมือ เป็นหลักยึดที่ดีที่สุดในการศึกษาเรื่องคุณธรรม ณ ตอนนี้”

ทั้งสองโมเดลต่างให้ความสำคัญกับแกนคิดและ ‘ลำดับความสำคัญ’ ที่แตกต่างกัน นั่นช่วยอธิบายให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่า ทำไมเราจึงมักคิดว่าตนเองถูก ในขณะที่อีกฝ่ายผิด เป็นเพราะเราใช้ไม้บรรทัดคนละแกนมาวัดกันและกันนั่นเอง

เป็นไปได้ไหมว่า ในอนาคตเมื่อโมเดลการมองความดีและคุณธรรมถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เราจะค้นพบหนทางในการสื่อสารระหว่างคนที่มีความเชื่อแตกต่างกันเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกันที่มากขึ้น

เมื่อคำว่าลิเบอร่านถูกอันแพ็กออกมาให้เห็นความหมาย พร้อมๆ กับคำว่าคอนเซอร์เวทีฟเป็นพวกดักดานไดโนเสาร์ เมื่อเรารู้ว่าแต่ละฝ่ายให้คุณค่ากับอะไร ก็อาจเป็นไปได้ว่าเราจะขีดกรอบของการร่วมมือที่ผลักเราไปข้างหน้าในฐานะมนุษยชาติ

 

ข้อมูลเพิ่มเติม/อ้างอิง

What’s Wrong with Moral Foundations Theory, and How to get Moral Psychology Right

Morality as Cooperation: A Problem-Centred Approach

Mapping Morality with a Compass: Testing the theory of ‘morality as cooperation’ with a new questionnaire (submitted)

Is It Good to Cooperate? Testing the Theory of Morality-as-Cooperation in 60 Societies

Mapping morality with a compass: testing the theory of ‘morality as cooperation’ with a new questionnaire

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save