fbpx
เผด็จการโดยธรรมไม่มี เพราะเผด็จการไม่มีธรรม

เผด็จการโดยธรรมไม่มี เพราะเผด็จการไม่มีธรรม

สนิทสุดา เอกชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เชื่อว่าถ้าท่านใช้โซเชียลมีเดีย ต้องเคยเห็นโพสต์ในเฟซบุ๊กเป็นภาพท่านพุทธทาส พร้อมวาทะ “เผด็จการโดยธรรม” เพื่อสนับสนุนเผด็จการทหารของประยุทธ์และพวก

อีกวาทะหนึ่งของท่านพุทธทาสที่โพสต์กันแพร่หลายคือ “คนดี สำคัญกว่าทุกสิ่ง” เป็นลายมือท่านเอง และมีรูปหรือภาพวาดท่านประกอบ เป้าหมายชัดเจนคือใช้ท่านมารับรองเผด็จการทหารที่อ้างว่าตนเป็นคนดีมาล้างคนชั่วให้เมืองไทย

ไม่ละอายแก่ใจกันเลย

ถ้าท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะมีความเห็นอย่างไร เมื่อคนตัดตอนคำพูดของท่านไปใช้ทางการเมืองสนับสนุนเผด็จการทหารที่หลายคนเห็นตรงกันว่ามีอำนาจกดขี่สูงสุดในประวัติศาสตร์รัฐประหารไทย

เดือนนี้เป็นเดือนเกิดท่านพุทธทาส พระเถระและปัญญาชนทางพุทธศาสนาสายเถรวาทที่สำคัญสุดของเมืองไทยยุคสมัยใหม่ วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 นี้ ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ก็จะมีอายุ 113 ปี เป็นวาระที่เราสมควรจะรำลึกถึงคุณูปการของท่านที่มีต่อพุทธศาสนาในประเทศไทย  น่าเสียดายถ้าคนรุ่นใหม่ในยุคการเมืองเสื้อสีจะได้รู้จักท่านจากวาทะ “เผด็จการโดยธรรม” หรือเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรม “คนดี” ที่ว่างเปล่าเท่านั้น

ได้แต่หวังว่าจะไม่ได้เห็นข้อความทำนองนี้ในวันล้ออายุของท่าน เป็นการลดทอนคุณูปการของท่านเหลือประมาณ

เลิกนำท่านมาใช้ทางการเมืองเสียที บาปกรรม

การตัดทอนความคิดของพระนักปฏิรูปรูปสำคัญ ไปรับใช้การเมืองอัปลักษณ์ที่ย่ำยีประชาชนด้วยความรุนแรง ย่ำยีธรรมะที่ท่านสอน นำไปโฆษณายกย่องตัวเองและปกปิดความชั่วร้ายด้วยโกหกคำโตแบบนี้ น่าละอายอย่างยิ่ง

ก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นตัวแทนสวนโมกข์ไม่ออกมาอธิบาย ทำไมยอมให้คนเอาท่านไปให้ความชอบธรรมกับระบบอธรรม ระบบที่ใช้อำนาจดิบกดประชาชนให้อยู่ภายใต้ความกลัวทุกหย่อมหญ้า จนไม่กล้าจะตั้งคำถามอะไร ระบบแบบนี้ท่านพุทธทาสไม่เห็นด้วยแน่นอน

เมื่อสวนโมกข์เงียบ แล้วสุเทพ เทือกสุบรรณ หัวหน้ากองเชียร์เผด็จการทหารได้เข้าไปบวชชุบตัวหลังรัฐประหารอีก ผลก็คือทั้งฝ่ายสนับสนุนและต้านเผด็จการก็ออกมารับรองกันว่าท่านพุทธทาสสนับสนุนเผด็จการจริงๆ

ความลิงโลดของฝ่ายสนับสนุนเผด็จการทหารนั้นไม่น่าแปลกใจ ที่น่าสนใจคือฝ่ายต้านเผด็จการทหารหลายคนก็ลงความเห็นว่าท่านไม่ชอบประชาธิปไตยเพราะความวุ่นวาย จึงสนับสนุนลัทธิคนดี ตลอดจนการใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อจะได้แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นที่มาของวาทะ “เผด็จการโดยธรรม”

ทั้งอธิบายว่าการที่ท่านคิดเช่นนั้น เพราะท่านใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจผ่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็นองคมนตรีและเป็นนายกพระราชทานหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต้องการสื่อว่าท่านพุทธทาสไม่ได้เป็นพระนักปฏิรูปที่อยู่คนละฝั่งกับระบบอำนาจ ไมได้ผ่องแผ้วอย่างที่เราเข้าใจกัน

อ่านแล้วไม่ค่อยสบายใจ รู้สึกว่าไม่ค่อยยุติธรรมกับท่าน

ไม่ใช่ว่าเราต้องยกย่องท่านพุทธทาสเป็นศาสดาจนไม่ยอมให้ใครมาบั่นทอนความสำคัญของท่าน ไม่ใช่ว่าใครจะวิจารณ์ท่านไม่ได้ ท่านพุทธทาสเติบโตทางจิตวิญญาณด้วยการตั้งคำถามกับระบบ กล้าทิ้งการศึกษากระแสหลักของสงฆ์ในกรุงเทพฯ กล้ากลับบ้านไปสร้างสวนโมกข์ที่ไชยา มุ่งสู่วิถีเดิมของพระพุทธองค์ ท่านเป็นคนที่ไม่ยอมเชื่อคำตอบมาตรฐาน และกล้าหาคำตอบด้วยตนเอง ด้วยสปิริตเช่นนี้ เชื่อว่าท่านเองต้องเข้าใจคนที่ตั้งคำถามกับท่านเช่นกัน

ว่าไปแล้วผู้เขียนเองก็มีคำถามกับท่าน

มีเรื่องเล่าคือ เมื่อผู้เขียนได้ไปมหรสพทางวิญญาณที่สวนโมกข์ครั้งแรกนั้น ตกใจอย่างยิ่งที่ภาพวาดบางภาพที่เป็นสื่อสอนธรรมะนั้น มีการเหยียดเพศอย่างชัดเจน วาดภาพให้ผู้หญิงเป็นนางร้าย เป็นกิเลสยั่วยวนให้พระหรือผู้ชายติดเบ็ด เป็นเหยื่อของกาม ยกย่องเพศชายให้เป็นผู้บริสุทธิ์ กดผู้หญิงให้เป็นตัวบาป คอยแต่จะมาล่อลวงให้เสียศีล

ดูแล้วก็โกรธปนเศร้าใจ เออหนอ กิเลสของตัวเป็นต้นเหตุแท้ๆ แต่มาโทษผู้หญิง เอาความกลัวกิเลสตนเองมาแปรเป็นความเกลียดผู้หญิง เพื่อกันให้อยู่ไกลๆ กีดกันผู้หญิงออกไปจากพิธีกรรมโดยอ้างว่าเพศหญิงเป็นเพศต่ำ สกปรกแปดเปื้อนเพราะมีประจำเดือน ต่างๆ นานา

แต่การทำแบบนี้ แทนที่อำนาจกามจะบางเบา ยิ่งกดก็ยิ่งแรง ยิ่งเพิ่มความเกลียดกลัวให้จิตหนักขึ้นด้วยมลทิน ยิ่งห่างไกลจากหลุดพ้นเข้าไปอีก

พระสงฆ์ทั้งหลายตระหนักเรื่องนี้ไหม หรือว่าการทำให้จิตบริสุทธ์พ้นจากมายาคติทั้งปวง ไม่ใช่พันธกิจของสงฆ์ไปเสียแล้ว

เมื่อสังคมพระสงฆ์มีทัศนคติรังเกียจผู้หญิงเช่นนี้ เป็นธรรมดาที่วัฒนธรรมการกดขี่ผู้หญิงในสังคมจะตามมา

คำถามก็คือ ท่านพุทธทาสไม่เห็นเลยหรือว่าภาพที่มหรสพทางวิญญาณนั้นเหยียดผู้หญิงอย่างรุนแรง หรือว่าท่านเห็นด้วย ถ้าท่านยอมให้วัดของท่านตอกย้ำอคติทางเพศอย่างเปิดเผยเช่นนี้ ตัวเราเองจะทำอย่างไร จะปรองดองสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยกับท่านอย่างมากในด้านหลักการกับความเคารพในวัตรปฎิบัติที่น่าสรรเสริญของท่านด้านอื่นอย่างไร

จะหันหลังให้ท่านเลยหรือ เราควรจะมีท่าทีกับพระสงฆ์ที่เราเคารพ ที่มีความคิดไม่ลงรอยกับเราในบางหลักการอย่างไร

กลับมาเรื่องลัทธิคนดีและวาทะเผด็จการโดยธรรม

เรื่องคนดีท่านพูดว่าอย่างนี้:

“ในโลกนี้ จะให้ลัทธิไหนครองโลกไม่สำคัญ ขอแต่ให้คนดีก็พอแล้ว

คนดีเผด็จการ ก็เผด็จการไปในทางดี นำไปสู่ความดี และความเจริญอันแท้จริง

คนดี เป็นประชาธิปไตย ก็พร้อมเพรียงกันทำดีได้จริงโดยไม่ต้องสงสัย

แต่ถ้าคนชั่วแล้ว แม้จะเป็นประชาธิปไตย ก็มีแต่จะ “นอนหาความสำราญ” กันทั่วไปหมด ในที่สุดก็ล่มจม

ฉะนั้น ขอแต่ให้คนดีอย่างเดียวก็แล้วกัน จะซ้ายจัด หรือขวาจัด ย่อมใช้ได้ทั้งนั้น

ธรรมะในศาสนาเท่านั้นที่จะทำให้คนดี หาใช่ลัทธิการเมืองแต่ลัทธิใดไม่เลย”

การสรรเสริญความดีเป็นสิ่งที่ควรทำ การเป็นคนดีในฐานะปัจเจกนั้นเป็นหน้าที่แต่ละบุคคลพึงกระทำเพื่อความสงบภายในตน แต่การที่ท่านพุทธทาสเอาระดับปัจเจกไปเป็นคำตอบของระดับระบบนั้น ย่อมมีข้อกังขาแน่นอน

ท่านเองเป็นผู้มีจิตใจวิทยาศาสตร์ ชอบทดลอง ชอบหาหลักฐานพิสูจน์สมมุติฐาน แค่มองไปรอบๆ ตัว ก็ย่อมประจักษ์แล้วว่าคนดีแต่อย่างเดียวนั้น ไม่สามารถต่อกรกับระบบอำนาจนิยมได้ เมื่อความชั่วร้ายฉ้อฉลมาจากระบบปิดที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ วิธีแก้ก็ต้องทำให้ระบบนั้นเปิด โปร่งใส ไม่ใช่เอาคนดีมาใส่ในระบบเลว แล้วหวังว่าระบบจะกลับมาดีได้

เป็นไปได้ไหมที่ท่านอาจจะเห็นว่าทุกวันนี้เราก็มีระบบอยู่แล้ว มีกฎเกณฑ์อยู่มากมาย จุดหมายก็เพื่อให้สังคมดีขึ้น ปัญหาใหญ่คือขาดคนที่มีความมุ่งมั่นทำให้ระบบยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น ท่านจึงเน้นเรื่องคน

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การไม่เห็นด้วยกับความคิดของท่านไม่ใช่เรื่องผิด สามารถถกเถียงกันได้ว่าความคิดนั้นสมเหตุผลหรือไม่ ปัญหาคือการฉกฉวยคำพูดของท่านไปทำให้เป็นเรื่องการเมือง เอาไปให้ความชอบธรรมกับเผด็จการที่แอบอ้างว่าตนเป็นคนดี ทำให้ท่านพุทธทาสกลายเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของเผด็จการทหารไป

ขอบอกซ้ำอีกครั้งว่ารับไม่ได้

ส่วนเรื่องเผด็จการโดยธรรมนั้น ลองอ่านที่ท่านอธิบายเองดู:

“เผด็จการ ขอให้แยกเป็น 2 ความหมาย ถ้าเป็นหลักปฏิบัติหรืออุดมคติ ในฐานะอุดมคติทางการเมืองนี้มันใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเพียงวิธีปฏิบัติกลงานเท่านี้ใช้ได้…” (พุทธทาสภิกขุ, ธัมมิกสังคมนิยม, โดนัล เค. สแวเรอร์ บรรณาธิการ น. 59-60)

“…เมื่ออะไรมันถูกต้องแล้วก็รีบเผด็จการ ไม่อย่างนั้นก็จะคลานงุ่มง่ามอยู่นั่น แล้วมันก็จะวินาศในที่สุดก็ได้ เพราะผ่าตัดไม่ทัน การผ่าตัดนี้มีระยะนิดเดียว ถ้าไม่ทันเวลาก็ต้องตายแน่ เผด็จการที่ประกอบด้วยธรรมนี้จะช่วยได้…”

คำว่าเผด็จการของท่านพุทธทาสจึงหมายถึงการที่ต้องทำสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อให้เกิดผลดีอย่างรวดเร็ว ในแง่นี้การออกกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ให้สมาชิกทุกคนปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความยุติธรรมหรือปกติสุขก็น่าจะอยู่ในความหมายนี้ด้วย

คำว่าเผด็จการของท่านไม่ได้หมายถึงการใช้อำนาจทางทหารมากำจัดคนเห็นต่างหรือหักหาญประชาชน ไม่ใช่อย่างที่ฝ่ายอนุรักษ์ขวาตกขอบเอาคำของท่านมารับใช้รัฐบาลเผด็จการทหารอย่างแน่นอน

ท่านพุทธทาสย้ำ ไม่ว่าจะทำอะไรต้องมีธรรมกำหนด แล้วคำว่าธรรมของท่านคืออะไร

ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่ท่านวางเกณฑ์ไว้ พูดได้เลยว่าคำว่าเผด็จการโดยธรรมที่ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการทหารใช้นั้นเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ

คือเป็นเผด็จการนั้นใช่แน่ แต่ปราศจากธรรมโดยสิ้นเชิง

สำหรับท่านพุทธทาสนั้น ธรรมคือธรรมะ คือการกระทำที่ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ ธรรมชาตินั้นแสดงให้เห็นประจักษ์อยู่แล้วว่าทุกส่วนในระบบจะอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องอยู่บนรากฐานของการอยู่ร่วมกัน ต้องพึ่งพิงพึ่งพาซึ่งกันและกัน

เช่นเดียวกัน สังคมจะอยู่อย่างปกติสุขได้ต่อเมื่อเคารพการอยู่ร่วมกัน ทั้งมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับธรรมชาติ ไม่เอาเปรียบกัน ไม่ทำลายล้างกันเพราะความโลภและเงินตรา เพราะถ้าธรรมชาติอยู่ไม่ได้ มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ ท่านพุทธทาสจึงเน้นว่าต้องมีระบบเศรษฐกิจที่ไม่เอาเปรียบทางชนชั้น ปฏิเสธการมีส่วนเกินหรือยอมให้ใครสะสมอำนาจเงินทองจากส่วนเกิน ต้องมีระบบนิเวศที่ดี มีระบบสังคม การศึกษา และมีการปกครองที่เคารพธรรมะคือธรรมชาติ

ลองพิจารณาดูว่าความคิดของท่านยังทันยุคสมัยหรือไม่ ในยุคที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตจากความเหลื่อมล้ำ วิกฤตบริโภคล้นเกิน และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

เมื่อมีเวลาแก้วิกฤตน้อยลงทุกทีๆ เราจึง “ต้อง” ทำอะไรอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ธรรมชาติกลับคืนมา ด้วยการเคารพกฎธรรมชาติหรือธรรมะ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ท่านเรียกว่าเผด็จการโดยธรรมได้หรือไม่

ในวาระชาติกาลครบ 113 ปีของท่านพุทธทาส เราควรคิดถึงท่านอย่างไร จะเรียนรู้อะไรจาชีวิตและคำสอนของท่าน

ท่านพุทธทาสเป็นพระบ้านนอกที่กล้าตั้งคำถามระบบรวมศูนย์ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ กล้าศึกษาพระไตรปิฎกด้วยตนเอง กล้าชี้ว่ามีสิ่งที่ต้องตั้งคำถามในพระไตรปิฎก แม้จะโดนกล่าวหาว่าเป็นเดียรถีย์ แต่ท่านก็ยังมุ่งมั่นทำงานทางธรรมะในแนวของท่าน

ในขณะที่พุทธไทยเชื่อว่าสายเถรวาทบริสุทธิ์ถูกต้องที่สุดเพราะเก่าแก่ที่สุด ท่านพุทธทาสกล้าแหวกกำแพงทิฐินี้เพื่อศึกษาคำสอนมหายานที่ไม่อยู่ในสายตาของพระไทย ท่านจึงสามารถเชื่อมคำสอนของทั้งสองนิกายได้ เป็นการเปิดโลกให้พุทธศาสนิกชนในไทย ท่านยังพลิกคำสอนด้านปรมัตถธรรมที่คนพุทธไทยเคยคิดว่ายากและไกลเกินเอื้อม มาทำให้เข้าถึงได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย ด้วยคำสั้นๆ แต่กระแทกใจ

เพราะท่านพุทธทาส นิพพานจึงไม่ใช่สวรรค์หรือมิติลึกลับที่คนทั่วไปไม่มีทางเข้าถึงอย่างที่เคยเข้าใจกันมา แต่เป็นเป้าหมายให้ผู้ปฏิบัติมีแรงใจฝึกฝนจิตให้เข้าใจพิษร้ายของ “ตัวกู ของกู” เร่ง “ปล่อยวาง” เพื่อให้เข้าถึงความ “สะอาด สว่าง สงบ” ในจิตของตน เพื่อจะได้ “ตายก่อนตาย” เพื่อจะได้มีโอกาสลองชิม “นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้”

เพราะท่าน เราจึงเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่การนั่งสมาธิหลับตาดูลมหายใจเท่านั้น แต่อยู่ในวิถึชีวิตของเรา การทำงานก็คือการปฏิบัติธรรม ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันขณะ ถ้าเรามีฉันทะกับงาน ทำด้วยสติ สมาธิ ด้วยความซื่อตรง ความพากเพียร ศรัทธา และมีความกล้าหาญทางจริยธรรม นั่นแหละเรากำลังปฏิบัติธรรม

ในยุคที่พระเมืองและพระป่าแยกกันอย่างชัดเจน ท่านพุทธทาสได้เชื่อมปริยัติกับปฏิบัติเข้าด้วยกันอีกครั้ง โดยการเน้นทั้งการศึกษาพระธรรมคำสอน และการวิปัสสนาเพื่อการหลุดพ้นไปพร้อมๆ กัน เพราะจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้

ในขณะที่วัดทั่วไปเน้นการสร้างวัตถุ ท่านทำสวนโมกขพลาลามเป็นตัวอย่างของการนำวัดกลับสู่ธรรมชาติ นำพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนคืนสู่ธรรมะ เพราะธรรมะคือธรรมชาติ และยังประกาศปฏิเสธไสยศาสตร์ เครื่องลางของขลัง ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของพระสงฆ์เป็นจำนวนมาก

การพิมพ์หนังสือธรรมะ การเทศน์ในรูปแบบปาฐกถา และการใช้ศิลปะเป็นสื่อคำสอนของพระพุทธองค์และการตีความของท่านเอง นับเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น การตีความคำสอนใหม่โดยหลักเหตุผล บวกกับและการเติบโตของชนชั้นกลางที่ต้องการคำสอนที่ทันสมัย ทำให้เกิดปรากฏการณ์พุทธทาส ทำให้มีการตื่นตัวในวงการพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก การอ่านหนังสือธรรมะ การศึกษาหลักธรรม หรือการทำสมาธิวิปัสสนาไม่ใช่เรื่องคร่ำครึโบราณสำหรับคนแก่เท่านั้นอีกต่อไป

เราวิจารณ์ท่านพุทธทาสได้ แต่คุณูปการของท่านเป็นสิ่งที่เราไม่ควรทำเป็นไม่รู้

สำหรับตนเองนั้น ความหมองใจกับภาพเขียนที่มีอคติทางเพศในมหรสพทางวิญญาณคลี่คลายเมื่อท่านพุทธทาสตั้ง “ธรรมมาศรมธรรมาตา” เพื่อเป็นสถานที่ที่ผู้หญิงจะได้ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง

จะว่าไปแล้วการได้เห็นภาพที่ทำให้เคืองใจนั้นเป็นเรื่องดี ทำให้ตระหนักว่าท่านพุทธทาสไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เหนือการวิจารณ์ใดๆ ทำให้เห็นอำนาจของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่หยั่งลึกในสังคม ไม่เว้นแม้ในวัดของครูบาอาจารย์

และทำให้ประจักษ์ว่าความคิด ความรู้สึก ไม่ว่าจะของท่าน ของเรา หรือของใครก็ตาม ต่างอยู่ใต้กฎธรรมชาติ ล้วนไม่เที่ยง เปลี่ยนไปตามกาล ตามปัจจัย เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ของความเป็นคนนั้นๆ ตราบใดที่ความคิดความเชื่อของใครไม่เบียดเบียนทำร้ายคนอื่น เราก็ไม่ควรใช้ความคิดที่เราชอบหรือไม่ชอบเป็นบรรทัดฐานตัดสินใครแบบขาวดำ

คุณูปการท่านพุทธทาสนั้น นอกจากจะเปิดมิติทางธรรมให้กับสังคมไทย ปณิธาน 3 ประการที่ท่านฝากไว้ยังเป็นทางออกสำคัญ เมื่อวัตถุนิยมทั่วโลกกำลังทำร้ายธรรมชาติอย่างรุนแรง และทุกพื้นที่ร้อนเป็นไฟด้วยความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธ์ุ

เราจะรอด โลกจะรอด เมื่อเราทำ 3 อย่างนี้ได้

1. เข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน

2. ทำความเข้าใจระหว่างศาสนา

3. ออกมาเสียจากอำนาจวัตถุนิยม

ถ้าเราอยากรอด อยากให้โลกรอด คง “ต้อง” ทำปณิธานของท่านให้เป็นของเราอย่างเร่งด่วน คง “ต้อง” เริ่มเปลี่ยนตัวเองอย่างฉับพลันให้เคารพ “ธรรมะ” หรือกฎของธรรมชาติในฐานะปัจเจกก่อนอื่นใด อย่าหวังว่าการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหารจะช่วยอะไร เพราะเป็นการปกครองโดยอธรรม.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save