fbpx

‘หมอไม่ทน’ ฟังเสียงหมอหน้างาน และคำวิจารณ์ที่ไม่อยู่บนหน้าสื่อ

ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดที่เพิ่มขึ้นทุกวัน บ่งบอกถึงวิกฤตที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เบื้องหลังตัวเลขที่ประกาศออกมาคือความสูญเสียของหลายครอบครัวที่ไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้

เวลาที่ล่วงไปยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เชื้อกระจายไปในทุกตรอกซอกซอย ขณะที่วัคซีนอันเป็นความหวังหลักที่จะทำให้สังคมรอดจากทั้งโรคระบาดและวิกฤตเศรษฐกิจก็ส่งสัญญาณให้เห็นความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐ คำถามมากมายเกิดขึ้นว่ารัฐบาลกำลังพาคนทั้งสังคมไปเสี่ยงเพื่อแลกกับผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือไม่ พร้อมกันก็มีเสียงวิจารณ์ว่าคนมีความสามารถไม่มีโอกาสทำงาน

แคมเปญเรียกร้องให้นำเข้าวัคซีนทางเลือก ของกลุ่ม ‘หมอไม่ทน’ เป็นหนึ่งในปฏิกิริยาต่อการบริหารเรื่องวัคซีนที่ล่าช้าและมีการตัดสินใจที่ไม่วางอยู่บนหลักทางวิชาการ ก่อนหน้านี้กลุ่มหมอไม่ทนก็เคยออกแคมเปญเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลาออก ด้วยเหตุผลว่าไม่มีความสามารถในการควบคุมโรคระบาด การวางนโยบาย และการจัดสรรทรัพยากร

กลุ่มหมอไม่ทนคือการรวมตัวกันของหมอในระบบสาธารณสุขที่มองเห็นปัญหาในวิกฤตครั้งนี้ โดยเฉพาะหลายปัญหาที่จะทุเลาได้หากตัดสินใจโดยคำนึงถึงหลักวิชาการและประโยชน์สาธารณะ พวกเขาคือหมอหน้างานที่ดูแลคนไข้โควิด หมอที่ทำงานสายวิชาการ และหมอในระบบที่ตั้งคำถามต่อนโยบายที่ผิดพลาด

101 สนทนากับตัวแทนกลุ่มหมอไม่ทน 4 คนที่ต้องการส่งเสียงของคนทำงานให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ท่ามกลางระบบที่ไม่เอื้อต่อการส่งเสียงของแพทย์ที่ไม่มีตำแหน่งใหญ่โต พวกเขามองเห็นความไม่โปร่งใสหลายประการที่สมควรทำให้กระจ่าง เพื่อให้เราสามารถรับมือวิกฤตได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ความเหน็ดเหนื่อยเป็นสิ่งที่คนทำงานในระบบสาธารณสุขกำลังแบกรับเพื่อให้สังคมผ่านพ้นช่วงที่ย่ำแย่ แต่ความเหน็ดเหนื่อยอันไม่สิ้นสุดจากการบริหารที่ผิดพลาด ไม่สมควรเป็นสิ่งที่ใครต้องอดทน

กลุ่ม ‘หมอไม่ทน’ คือใครและมารวมตัวกันได้อย่างไร

เม : คนในกลุ่มส่วนมากเป็นแพทย์หน้างานที่ดูแลผู้ป่วยโควิดโดยตรงหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโควิด เรารวมตัวกันเพราะเห็นปัญหาทั้งเรื่องนโยบายและการปฏิบัติหน้างาน จึงอยากส่งเสียงเรียกร้องของบุคลากรทางการแพทย์ว่ามีปัญหาที่ไม่ได้รับการพูดถึงอยู่

ตอนแรกทำแคมเปญขับไล่คุณอนุทินกัน หลังรวบรวมได้สองแสนรายชื่อและคุณอนุทินพูดชัดเจนว่าไม่ลาออกก็ยังติดตามการทำงานมาตลอด และพบว่ามีปัญหาเรื่องวัคซีน จึงออกมาทำแคมเปญเรื่องวัคซีนอีกครั้งหนึ่ง

มองความผิดปกติเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนอย่างไร ตั้งแต่ช่วงแรกที่รัฐบาลไม่เข้าร่วม COVAX และเปิดทางเฉพาะซิโนแวคกับแอสตราเซเนกา

วิน : การไม่เข้าร่วม COVAX ตั้งแต่แรกไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หลายประเทศก็ไม่ได้เข้าร่วม COVAX ตั้งแต่แรก แต่การไม่เข้าร่วมมาเรื่อยๆ ถึงปัจจุบันก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าใช้ปัจจัยอะไรในการตัดสินใจ ค่อนข้างชัดเจนว่าการตัดสินใจไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก

หากวิเคราะห์วัคซีนทีละตัวจะเห็นว่ามีการตัดสินใจที่ไม่มีเหตุผลหลายครั้ง เช่น จนถึงทุกวันนี้เวลาคุณอนุทินเข้าประชุมก็ยังมีความภาคภูมิใจในการหาซิโนแวคมาได้จำนวนมาก หรือการมีแผนการหลักเป็นแอสตราเซเนกาอย่างเดียว แม้ว่ามีผลการวิจัยในประเทศไทยแนะนำเป็น policy brief มาตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปีที่แล้วว่าเราควรหาวัคซีนมาหลายชนิด แต่ไม่ได้ถูกนำไปพิจารณา จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคิดไม่ได้ว่าการมีวัคซีนแค่สองตัวหรือได้ซิโนแวคมาจำนวนมาก ไม่ใช่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ

มีการเรียกร้องมาโดยตลอดให้มีการนำวัคซีนทางเลือกเข้ามา แต่เขาปฏิเสธอ้อมซ้ายอ้อมขวา ตอนแรกอ้างว่าไฟเซอร์มีปัญหาเรื่องการควบคุมอุณหภูมิยาก (cold chain) แต่พอมีข้อเท็จจริงออกมาว่าการควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ยากแล้ว หรือบริษัทไม่ได้ปฏิเสธการขาย เขาก็บ่ายเบี่ยงอย่างเดียวว่ารอ อย. รับรอง รอองค์การเภสัชฯ แล้วกัน ทั้งที่เขาสามารถลัดกระบวนการบางอย่างได้ทั้งทางปฏิบัติและทางอ้อม

นอกจากเรื่องความสามารถแล้วยังมีเรื่องความโปร่งใส เราต้องช่วยจับตามองกันทุกครั้งเมื่อมีนโยบายอย่างหนึ่งเข้ามาแล้วจะตัดสินใจอย่างไร

เรื่องที่ทราบแล้วรับไม่ได้เลยคือ สภาพัฒน์ฯ มีงบโควิดออกมาจำนวนมาก และมีงบเพื่อการจัดหาและบริการวัคซีน ซึ่งจะเอาไปซื้อวัคซีนทางเลือกก็ได้ จะเอาไปทำโลจิสติกส์เรื่อง cold chain ก็ได้ รอบแรกคุณอนุทินตัดสินใจเอาไปแจก อสม. อย่างเดียว ไม่ได้เอาไปซื้อวัคซีน ทำโลจิสติกส์ หรือให้บุคลากรการแพทย์ส่วนอื่น ถ้าคิดง่ายๆ ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า อสม. กระจายอยู่ทั่วประเทศและมีปริมาณมาก นั่นคือการซื้อเสียงหรือไม่ ทั้งที่คณะกรรมการสภาพัฒน์ฯ พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เกิดเรื่องดังกล่าว ตอนนี้อนุมัติรอบสองแล้วและกำลังจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยและไม่แน่ใจว่าจะห้ามได้หรือเปล่า

เม : ทางกลุ่มหมอไม่ทนมองว่า ความผิดปกติในการบริหารจัดการวัคซีนเริ่มตั้งแต่ตอนที่คัดเลือกวัคซีนเข้ามา ทำไมจึงต้องเป็นแอสตราเซเนกาหรือซิโนแวค ตอนที่อนุมัติวัคซีนสองตัวนี้เข้ามา ซิโนแวคยังไม่มีหลักฐานชัดเจนทางการแพทย์ว่าได้ผลจริงในการทดลอง พอได้วัคซีนมาแล้วก็ไม่โปร่งใสว่าใครบ้างที่เหมาะสมกับการฉีดวัคซีนตัวนี้ ตอนแรกบอกว่าจะฉีดให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวก่อน ตอนนี้ไม่รู้ว่าผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวฉีดไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เปิดให้ประชาชนทั่วไปฉีดแล้ว

การบริหารจัดการวัคซีนไม่โปร่งใส ไม่รู้ว่าทำไมคนบางส่วนได้ฉีดวัคซีนก่อนคนที่ควรจะได้ฉีดจริงๆ รวมถึงเรื่องผลกระทบของวัคซีน ไม่มีช่วงไหนที่ทำให้รู้สึกว่าปกติเลย

ปอนด์ : ตัวอย่างความไม่โปร่งใสในการจัดการวัคซีนคือ ตอนซิโนแวคมาแรกๆ มีปัญหาว่าฉีดไปแล้วคนมีอาการอ่อนแรงเกิดขึ้นเกือบสิบคน สุดท้ายเขาบอกว่าทุกคนหายและปลอดภัยกันหมด อาจเกิดจากการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันหรือความเครียด ทำให้เป็นชั่วคราว แต่ไม่ใช่เลือดอุดตันในสมอง

อาการอ่อนแรงนี้เท่าที่ทราบไม่มีรายงานจากต่างประเทศที่มีการใช้ซิโนแวคเลย จึงเกิดคำถาม เช่น วัคซีนไทยมีปัญหาอะไรหรือเปล่า คนไทยมีปัจจัยบางอย่างที่แตกต่างหรือเปล่า หรือว่าต่างประเทศไม่ได้รายงานผลข้างเคียง เราต้องมีสิทธิรู้ว่าฉีดอะไรเข้าไปในตัวและมีผลกระทบอย่างไร แม้ว่าจะมีผลกระทบน้อยและทุกคนที่มีอาการสามารถฟื้นฟูในภายหลังก็ตาม แต่ไม่เคยมีใครออกมาให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาได้เลยแม้กระทั่งแพทย์ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ กลับกันทุกคนบอกแค่ว่าผลมันมีน้อยและทุกคนหายหมด มันปลอดภัยให้ฉีดไปเลย

เข้าใจได้ว่าเขาอาจไม่อยากให้คนกังวลจนไม่ฉีดวัคซีน แต่มีการสอบสวนหรือตรวจสอบบริษัทต้นทางหรือไม่ ในประเทศอื่นมีเหตุการณ์แบบนี้บ้างไหม คนที่จะฉีดวัคซีนมีสิทธิรู้ข้อมูลเหล่านี้ จึงต้องทำให้เรื่องนี้โปร่งใสและอธิบายให้ชัดเจน

วิน : เรื่องการจัดสรรวัคซีนที่ดูสับสน ไม่ตรงไปตรงมา ไม่ทำตามแผน ความจริงแล้วมีหลายสาเหตุ เรามีระบบบางอย่างที่ไม่ดีนักเป็นที่รู้กัน ผมเห็นต่างว่าใครมานั่งเป็นหัวก็คงทำได้แย่พอกัน

เรื่องมาตรการบันทึกและรายงานผลข้างเคียงของผลแทรกซ้อนจากวัคซีน ถ้ามองว่าทำไมต่างประเทศไม่มีรายงานเรื่องผลกระทบเหล่านี้เลย เพราะส่วนใหญ่ซิโนแวคใช้ในประเทศยากจนซึ่งไม่ได้มีระบบการแพทย์ที่ดี จะเห็นว่าระบบรายงาน AEFI (adverse events following immunization) ก็แย่อยู่แล้ว จะมีการบันทึกข้อมูลได้แย่กว่า ถ้ามีเคสเกิดผลข้างเคียงจริงก็อาจจะไม่รู้เลยจนกระทั่งฉีดไปทั้งประเทศแล้ว เช่นที่เห็นว่าคนโพสต์เฟซบุ๊กบอกต่อกันเรื่องผลแทรกซ้อนหลายเคส แต่พอไปดูฐานข้อมูลก็ขึ้นว่ามีอาการชาแค่คนเดียว แม้นักวิชาการจะอยากตามเรื่องนี้แต่ก็ยังสรุปเองไม่ได้

เรื่องที่ชัดเจนมากๆ คือความไม่โปร่งใสในการจัดสรรวัคซีน หากดูตัวเลขการจัดสรรวัคซีนแต่ละจังหวัด ไม่ว่าจัดสรรตามยอดผู้ติดเชื้อหรือจัดสรรตามจำนวนประชากร จะเห็นว่าไม่มีเหตุผลอะไรมาอธิบายตัวเลขปัจจุบันได้เลย นอกจากเหตุผลทางการเมือง ตอนนี้เทคโนแครตที่รับผิดชอบเรื่องการจัดสรรวัคซีนซึ่งเป็นสายวิชาการจริงๆ เขายังท้อเลย ไม่รู้จะตอบลูกน้องในคณะของเขาหรือประชาชนได้อย่างไร เพราะนักการเมืองไม่คิดถึงหลักการอะไรเลยนอกจากเรื่องการเมือง

หากมองวัคซีนที่เรามีตอนนี้ ซิโนแวคและแอสตราเซเนกาเพียงพอต่อการรับมือสถานการณ์ตอนนี้หรือไม่

วิน : สมมติว่าเรามีแค่ซิโนแวคตัวเดียว แล้วฉีดซิโนแวคครบสองโดสทั้งประเทศ ถามว่าเพียงพอต่อการรับมือสถานการณ์ตอนนี้ไหมซึ่งสายพันธุ์อังกฤษเป็นสายพันธุ์หลัก ผมตอบง่ายๆ ว่าเพียงพอ แม้ว่าไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็ช่วยลดการตายได้ หากฉีดซิโนแวคให้ทุกคนอย่างรวดเร็วและมีระบบการบริหารจัดการที่ดี เมื่อพบกรณีที่ได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีนที่ชัดเจนก็บันทึกไว้และจัดการไปรายกรณี เอาจริงแล้วอาการข้างเคียงของซิโนแวคไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่ามีอาการน่ากลัวเหมือนแอสตราเซเนกาที่มีลิ่มเลือดอุดตัน

แม้ว่าซิโนแวคจะป้องกันการติดเชื้อได้แย่มากถ้าเทียบกับตัวอื่น แต่ก็ยังทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ ดีกว่าไม่ฉีดเลย

สิ่งที่เราต้องคิดคืออีกด้านหนึ่งของเหรียญ เรามีต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) อย่างรุนแรง เราต้องคิดทุกครั้งที่จะมีนโยบายใหม่ว่า หากมีทางเลือกที่หนึ่งและทางเลือกที่สอง ทำไมจึงเลือกทางแรกแล้วปิดทางเลือกที่สองไปเลย หากทางเลือกแรกคือ ‘มีซิโนแวค ดีกว่าไม่มี’ และทางเลือกที่สองคือการมีวัคซีนทางเลือกที่พร้อม ทำให้ลดการแพร่กระจายเชื้อได้ ลดการติดเชื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ไม่ใช่แค่ทำให้สาธารณสุขไทยไม่ล่มสลาย ไอซียูไม่ล้น ไม่มีศพคนเพิ่ม แต่ลดการฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจได้

ตอนนี้มีคนไข้โรคอื่นที่ขาดการติดตามผล ขาดการปรับยา ขาดการวินิจฉัยกี่ล้านคนแล้ว นี่คือความล้มเหลวของรัฐบาลที่ชัดเจน การได้ซิโนแวคมาแบบลุ่มๆ ดอนๆ แล้วแอสตราเซเนกาจะมาเมื่อไหร่ ต้นทุนค่าเสียโอกาสมหาศาล ประเมินค่าไม่ได้

ปอนด์ : ที่คิดว่ามีปัญหาคือเรื่องความโปร่งใส แม้แต่แพทย์ที่ออกมาให้ความรู้ประชาชนก็ยังไม่ตรงไปตรงมากับข้อน่าสงสัยของซิโนแวค ตั้งแต่แรกหลักฐานมันต่ำที่สุด คำถามคือทำไมจึงตัดสินใจมาจบที่ซิโนแวคแล้วพยายามให้ประชาชนฉีดแต่ตัวนี้ มีวัคซีนทางเลือกอื่นไหม หากรัฐมีความโปร่งใสว่ามีความพยายามติดต่อวัคซีนตัวอื่นแล้วเขาไม่มีซัพพลายให้ หรืองบประมาณที่มีได้มาแค่ตัวนี้จริงๆ อาจช่วยคลายความเคลือบแคลงสงสัยในวัคซีนตัวนี้ได้ และอาจช่วยให้คนเต็มใจฉีดวัคซีนมากขึ้น

วิกฤตความเชื่อใจเป็นเรื่องสำคัญมาก ในอนาคตหากเรามีวัคซีนทางเลือกที่ดีจริงๆ แต่ประชาชนยังไม่เชื่อใจ อาจเป็นอุปสรรคในการฉีดวัคซีนให้ทั่ว สิ่งสำคัญคือการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาโดยซื่อสัตย์ ไม่ปิดบังและพูดข้อมูลให้ครบ

เอม : เวลาพูดถึงวัคซีนเราอาจต้องพูดถึงในหลายแง่มุม เพราะวัคซีนช่วยได้หลายอย่าง ทั้งช่วยป้องกันไม่ให้ตายหรือไม่ให้อาการรุนแรง และช่วยป้องกันการติดเชื้อ ต้องพูดว่าสิ่งที่ต้องการจากวัคซีนคืออะไร

การจะมองว่าวัคซีนที่เรามีอยู่เพียงพอต่อสถานการณ์หรือไม่ ถ้าเราอยากป้องกันไม่ให้เกิดเคสที่รุนแรงจนล้นความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุข แล้วเราฉีดซิโนแวคหรือแอสตราเซเนกาให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงก็อาจจะพอเพียง แต่ประเด็นสำคัญคือเราต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่อย่างนั้นคงไม่สามารถเปิดประเทศหรือประกาศถอดหน้ากากแบบในประเทศอื่นได้แน่นอน และการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่เรามีตอนนี้ หากเลือกฉีดกลุ่มเสี่ยงอาจลดจำนวนผู้ป่วยที่ล้นระบบสาธารณสุขได้ แต่หากหวังจะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก็คงยาก นอกจากเรื่องจำนวนวัคซีนที่พอเพียงแล้ว หากไม่สามารถกระจายวัคซีนออกไปได้ก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างที่เราเห็นว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก เช่น คนแก่ คนที่อยู่ห่างไกลเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เขาจะเข้าถึงวัคซีนได้อย่างไร

เม : เหตุที่ต้องนำวัคซีนทางเลือกเข้ามา เพราะตอนนี้มีการพบโควิดสายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์แอฟริกา ซึ่งซิโนแวคยังไม่มีข้อมูลสำหรับสองสายพันธุ์นี้ สำหรับแอสตราเซเนกาอาจพอรับมือสายพันธุ์อินเดียได้ แต่สายพันธุ์แอฟริกาประสิทธิภาพของแอสตราเซเนกาจะเหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้จำเป็นต้องนำวัคซีนตัวอื่นเข้ามาเพิ่มเพื่อกระจายความเสี่ยง

การเข้ามาของโควิดสายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์แอฟริกาน่ากังวลอย่างไรและมองวิธีการสื่อสารของภาครัฐต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

เอม : โควิดมีสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์เยอะมาก แต่สายพันธุ์ที่เราพูดถึงเป็น variant of concern หรือ VOC คือสายพันธุ์ที่เชื้อเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เช่น สายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์แล้วทำให้ติดเชื้อกันได้ง่ายมากขึ้น ส่วนสายพันธุ์อินเดียทำให้ติดง่ายขึ้นและหลบภูมิคุ้มกันหรือหลบวัคซีนที่เราฉีดไปบางส่วนได้ แต่สายพันธุ์ที่น่ากังวลมากคือสายพันธุ์บราซิลและสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่มีการกลายพันธุ์ในส่วนที่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ นี่เป็นเรื่องที่เราต้องตระหนักในอนาคต

วัคซีนที่เรามีตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นแอสตราเซเนกาหรือซิโนแวคมีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เหล่านี้ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับวัคซีนอย่างไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ซึ่งวัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพลดลงหมดต่อเชื้อที่กลายพันธุ์ โดยเฉพาะซิโนแวคจะพบว่าการสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นี้ค่อนข้างแย่

ปอนด์ : นโยบายวัคซีนของเราเหมือนกำลังก้าวตามเชื้ออยู่ตลอด ไม่มีการคิดล่วงหน้าหรือคาดการณ์เพื่อป้องกันในอนาคตเลย ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงระลอกนี้มีเวลาเป็นปี สิ่งอำนวยความสะดวกหรือการบริหารนโยบายใดๆ ไม่พร้อมสักอย่างเลย พอมี VOC หรือสายพันธุ์กลายพันธุ์ เราก็เริ่มสั่งวัคซีนเข้ามาตามไวรัส ทุกวันที่ช้าไปหมายถึงคนที่เรารักกำลังมีความเสี่ยง มีพ่อแม่ของใครบางคนต้องตายไปวันละ 30-40 คน เราต้องวางแผนให้ไกลและครอบคลุม ไม่ใช่ไล่ตามเชื้อโรค เพราะทุกวันหมายถึงชีวิตคน และมีคนตายนอกเหนือจากตัวเลขคนตายเพราะโควิดที่รายงานกันทุกวัน ตอนนี้แต่ละโรงพยาบาลแบ่งทรัพยากรให้โควิดหมด คนไข้ที่เป็นโรคธรรมดาโดนเลื่อนออกไปหมดเลย มีคนไข้ที่ไม่กล้ามาโรงพยาบาลเพราะกลัวโควิด บางคนเป็นโรคหัวใจตายที่บ้าน แต่เราไม่เห็นตัวเลขเหล่านี้ ดังนั้นอัตราคนตายเยอะกว่าที่คิด ทุกวันที่เสียไปคือมีคนตายเรื่อยๆ

วิน : เรื่องเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่กับการสื่อสารของภาครัฐ เท่าที่ทราบจากทีม active case finding คือทีมที่เข้าไปหาเคสเพิ่มเติมเมื่อเจอข่าวว่าเจอเคสเสี่ยงจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ เขามีข้อกำหนดชัดเจนว่าเมื่อไหร่จะส่งตัวอย่างเชื้อไปตรวจสายพันธุ์ ยังไม่เห็นปัญหาว่ารายงานช้า กลัวเพียงว่าจะมีการแพร่กระจายของสายพันธุ์ใหม่เข้ามาแล้วเรายังไม่รู้ แต่เท่าที่ทราบยังไม่มี อย่างที่นราธิวาสเจอสายพันธุ์แอฟริกา ตอนที่ทีมทราบก็ติดต่อกับทีมที่ตรวจสายพันธุ์และแถลงได้เลยโดยไม่มีการปิดบังบิดเบือน และแถลงได้ชัดเจนว่ามีกี่ราย มีมาตรการอย่างไร เฝ้าระวังอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเชื้อหลุดรอดมา

หากจะมีข้อผิดพลาดในการสื่อสารคือ ไม่บอกว่าเข้ามาทางไหน ใครพาเข้ามา แล้วเราจะอุดรูรั่วอย่างไร ปกติคนเดินทางเข้าประเทศมาต้องกักตัว ตรวจเชื้อ ตรวจอาการ แต่น่าจะทราบกันดีว่าคนที่มีอิทธิพลหรือเส้นสายสามารถบิดระบบให้มีการเดินทางเข้ามาอย่างไม่ถูกต้องได้ การสื่อสารไม่เคยไปถึงว่า VOC ที่เจอมาจากแหล่งไหน แล้วครั้งหน้าจะป้องกันอย่างไร

นอกจากนี้ควรมีการกระจายการสื่อสารออกมา ทีมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดควรได้รับรู้ข้อมูลเร็วพอกัน แต่เท่าที่ทราบมา กว่าแต่ละคนจะรู้ บางที ศบค. แถลงแล้ว แพทย์หน้างานหรือทีมที่ไปตรวจเชื้อยังไม่รู้เลยว่าเป็นเรื่องจริง

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ออกประกาศเพิ่มอำนาจและเตรียมจัดหาซิโนฟาร์ม มองว่าเป็นความหวังได้ไหม หรือเห็นความผิดปกติอย่างไร

เม : วัคซีนซิโนฟาร์มมีข้อดีคือมีหลักฐานว่าสามารถลดการติดเชื้อรุนแรงได้ ลดอาการติดเชื้อที่ทำให้ถึงขั้นตายได้ แต่ซิโนฟาร์มกับซิโนแวคมีคุณสมบัติไม่แตกต่างกันคือไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ถ้าไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้ก็จะกลับไปสู่วงจรเดิมคือเราไม่สามารถเปิดประเทศได้ แต่ถ้าถามว่าเป็นตัวช่วยที่ดีในภาวะการติดเชื้อรุนแรงถึงจุดที่ระบบสาธารณสุขใกล้จะล้นความสามารถที่จะรองรับได้แล้ว ก็อาจจะพอช่วยยื้อเวลาคนที่จะเข้าไอซียูได้

เอม : การพูดถึงวัคซีนที่หลากหลาย ให้ดูที่ชนิดของวัคซีน อาจเหมาะสมกว่าการดูที่ยี่ห้อ ซิโนแวคและซิโนฟาร์มเป็นไวรัสเชื้อตายเหมือนกัน ส่วนแอสตราเซเนกาใช้เทคโนโลยี viral vector vaccines (วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ) ถ้าเราจะเอาวัคซีนตัวอื่นมา ตอนนี้เรายังไม่มีวัคซีน mRNA และวัคซีน protein based อย่างโนวาแวกซ์ สำหรับวัคซีนชนิดเดียวกัน อาจไม่ได้มีความแตกต่างในเชิงประสิทธิภาพหรือผลข้างเคียง อย่างที่เราเห็น mRNA ไม่ว่าจะเป็นโมเดอร์นาหรือไฟเซอร์จะมีประสิทธิภาพและผลข้างเคียงค่อนข้างใกล้เคียงกัน

เราควรให้ความสำคัญที่ชนิดของวัคซีน ยกเว้นว่าไม่มีวัคซีนเหลือพอจริงๆ การนำซิโนฟาร์มมาอาจมีประโยชน์ในเชิงที่ว่าฉีดให้ได้จำนวนไปก่อน

วิน : ถ้าเขาสามารถใช้วิทยายุทธ์ให้ซิโนฟาร์มผ่านตอนนี้ได้ ก็จะลดข้ออ้างในการไม่ให้วัคซีนตัวอื่นผ่าน ถ้ามี mRNA หรือ protein based เข้ามาน่าจะอนุมัติได้ง่ายเหมือนๆ กันหรือง่ายขึ้นกว่าเดิม

เม : แอสตราเซเนกากับซิโนแวคก็อนุมัติค่อนข้างเร็วนะ ส่วนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันก็ขึ้นทะเบียน อย. แล้ว โมเดอร์นาก็ทำเรื่องผ่านองค์การเภสัชฯ อยู่ ไม่เข้าใจว่าติดกระบวนการไหนจึงนานขนาดนี้ โมเดอร์นาลากยาวไปถึงเดือน ต.ค. เป็นอีกเรื่องที่เราตั้งคำถามมาตลอดว่าขั้นตอนทั้งหมดในการขึ้นทะเบียนวัคซีนแต่ละตัวนั้นมีอะไรบ้าง ต้องผ่านกลุ่มการทำงานไหนบ้าง ใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณา เพราะวัคซีนตัวอื่นๆ ก็ผ่าน FDA หมดแล้ว WHO ก็รับรอง อย. ของเรามีปัญหาจุดไหน คิดว่ามีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากพร้อมเข้าไปช่วย หากเป็นปัญหาเรื่องกฎหมายก็ต้องมาคุยกันว่าภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้เราจะสามารถแก้กฎหมายหรือเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้นได้ไหม

วิน : ในที่ประชุมวิชาการก็มีหลายท่านแนะนำชัดเจนว่า มีแนวทางที่ WHO รับรองไว้แล้ว เราสามารถเอาเกณฑ์เหล่านั้นมาผ่านกระบวนการของเราได้เลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะอธิบายด้วยมุมไหนก็มองไม่เห็นเหตุผลตามหลักการว่าจะยื้อหรือรออะไร ทุกคนน่าจะรู้ว่าไม่มีเหตุผลทางวิชาการหรือเหตุผลที่ตรงไปตรงมา

มองไปถึงระบบการกระจายวัคซีนที่ตอนแรกให้กลุ่มเสี่ยงขึ้นทะเบียนทางแอปฯ หมอพร้อม แต่พอขึ้นทะเบียนไม่เยอะจึงกระจายวัคซีนไปให้คนธรรมดา มองรูปแบบการกระจายวัคซีนอย่างไร ควรฉีดให้คนวัยทำงานหรือผู้สูงอายุ-คนป่วยก่อน

วิน : ผมมีโอกาสเข้าประชุมคณะวัคซีนหลายครั้ง เรื่องใครควรได้ฉีดก่อนก็ตอบยาก มีโมเดลจากงานวิจัยตั้งแต่ ธ.ค. ปีที่แล้วว่า กลุ่มคนอายุน้อยที่ออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจควรได้ฉีดก่อน แนวทางนี้ขัดกับหลักการหลายประเทศ เขาวิเคราะห์หลายอย่าง เช่น เนื่องจากสภาพสังคมไทยคนแก่อยู่แต่บ้าน คนจำนวนมากอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ จึงแนะนำว่าเราควรฉีดในคนวัยทำงานและวัยเรียนก่อน ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูกว่าควรฉีดให้คนแก่ก่อนหรือเปล่า แต่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอยู่ตลอดเวลา บอกว่าให้ฉีดบุคลากรทางการแพทย์ก่อน แต่ยังฉีดไม่ครบก็ไปฉีดอีกกลุ่มแล้ว

เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดจากฝั่งการเมืองเต็มๆ แต่มีเหตุจากระบบที่ไม่ดี แต่ละองค์กรที่มีหน้าที่ฉีดวัคซีนไม่ได้ประสานกันอย่างดี ถ้าจะโทษหมอพร้อมอย่างเดียว ผมรู้มาว่าเขาโดนคนกำหนดนโยบายทั้งเร่งและเปลี่ยนสารพัด ทำระบบมาดีก็เปลี่ยนนโยบายทุกวัน วันนี้จะเร่งให้ทำแบบนี้ วันต่อมาก็เปลี่ยน เขามีปัญหากันจนคนทำชุดแรกออกไปแล้ว คนมาช่วยก็แตกกันไปหมด เป็นเหมือนกระโถนท้องพระโรง คนด่าหมอพร้อมทั้งๆ ที่ผู้กำหนดนโยบายไม่มีความชัดเจนเลย และวัคซีนที่เคยบอกว่าจะมีเข้ามาก็เปลี่ยนแปลงตลอด

ทุกจุดมีปัญหาจึงทำให้สับสน ตัวเลขไม่ชัดเจน ตอนนี้กรมการแพทย์ไปไล่ฉีดคมนาคมที่บางซื่อ โดยไม่สนใจว่าบุคลากรทางการแพทย์ฉีดไปกี่คนแล้ว ผู้สูงอายุฉีดได้เท่าไหร่แล้ว เราจะโทษกรมการแพทย์ก็ไม่เต็มปาก เพราะคนกำหนดนโยบายสั่งให้กรมการแพทย์ไปฉีด มีการกำหนดนโยบายที่ไม่ชัดเจน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และระบบรองรับก็ไม่ดีพร้อม

เม : ถ้ามองสภาพสังคมไทยว่าผู้สูงอายุอยู่บ้าน จะฉีดให้คนอายุน้อยที่ออกมาทำงานก็อาจสมเหตุสมผล ถ้าวัคซีนที่เรามีสามารถลดการติดเชื้อได้ คนที่ออกไปทำงานจะได้ไม่ติดเชื้อแล้วเอาไปแพร่ให้คนที่บ้าน ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อมีโอกาสที่จะอาการหนักจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ อาจต้องใช้ทรัพยากรจากไอซียูหรือต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าคนอายุน้อย และมีโอกาสตายมากกว่า ถ้าเราอยากให้เปิดเศรษฐกิจไวขึ้น อยากให้วัยทำงานออกมาทำงานได้ ต้องเลือกวัคซีนที่ลดการแพร่กระจายเชื้อ แต่ตอนนี้เรามีวัคซีนที่ลดการตายหรืออาการหนัก จึงต้องฉีดให้ผู้สูงอายุมากกว่า

แต่ละท่านน่าจะได้ฉีดวัคซีนแล้วในฐานะบุคลาการทางการแพทย์ มั่นใจในวัคซีนแค่ไหน เพื่อนๆ หมอพูดคุยกันอย่างไรถึงความเสี่ยงของวัคซีน

เม : เรามีวัคซีนแค่ตัวเดียว เลือกได้แค่ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีด ซึ่งไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะไม่ฉีด เพราะอย่างน้อยต่อให้ประสิทธิภาพไม่สูงมาก แต่ก็ลดการตายหรือลดอาการรุนแรงได้ เป็นคำถามต่อมาว่า ถ้าบุคลาการทางการแพทย์ฉีดซิโนแวคหมดแล้วและมีการระบาดของสายพันธุ์ที่รุนแรงขึ้นอย่างสายพันธุ์อินเดียหรือแอฟริกา บุคลากรทางการแพทย์ก็ควรได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นด่านหน้า เราคงไม่อยากสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ไปจากการทำงาน

ปอนด์ : ผมได้ซิโนแวคสองเข็ม บุคลากรทางการแพทย์รอบตัวได้ซิโนแวคเกือบหมดแล้ว และกำลังจะได้ครบสองเข็มเร็วๆ นี้ ซิโนแวคมีหลักฐานต่ำสุด ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากฉีดซิโนแวค อยากฉีดตัวอื่น แต่เนื่องจากเป็นคนที่มีความเสี่ยงสูงต้องดูแลคนไข้ แล้วมีวัคซีนตัวเดียวจึงต้องฉีด

แล้วถ้าในอนาคตมีวัคซีน mRNA เข้ามา ซึ่งกันเชื้อสายพันธุ์อื่นได้ ผมสงสัยว่าชื่อจะหลุดจากระบบวัคซีนหรือเปล่า จะได้ไปฉีดเพิ่มหรือเปล่า เป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้บุคลากรทางการแพทย์ว่าหากสายพันธุ์อื่นเข้ามาจะทำอย่างไรกัน

วิน : ปกติคนควรมีสิทธิเลือกวัคซีน และต้องรับรู้ถึงความเสี่ยงทั้งหมดเพื่อให้คนตัดสินใจ แต่บุคลากรทางการแพทย์ไม่มีสิทธินั้นเลย ไม่สามารถเลือกชนิดวัคซีนได้ ไม่มีสิทธิบอกว่าขอรอก่อน ซิโนแวคมีรายงานว่ามีกลุ่มก้อนของอาการข้างเคียงที่น่ากลัว มีคนไม่ใช่แค่หลักสิบที่มีอาการข้างเคียงคือหน้าเบี้ยวครึ่งซีก แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก แล้วทำไมเขาไม่หยุดฉีดเพื่อรวบรวมหลักฐานหาสาเหตุที่แน่ชัด บางแห่งแทบจะบังคับกันด้วยซ้ำ ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เพื่อนรุ่นเดียวกับผมมีอาการดังกล่าว ซึ่งแพทย์รังสีอ่านผลตรวจภาพรังสีจากสมอง (MRA) ว่ามีสมองตายเล็กๆ น้อยๆ หลายจุด แต่ยังสรุปได้ไม่แน่ชัด

การไม่มีข้อสรุปเช่นนี้ เราควรหยุดฉีด รวบรวมหลักฐาน และมีการสื่อสารที่ดีก่อน แต่ผู้กำหนดนโยบายไม่เห็นความสำคัญเรื่องนี้และไม่มีมาตรการชัดเจน ไม่มีการสนับสนุนด้านใดเลย บอกแค่ว่าให้ฉีดต่อ การมีวัคซีนตัวเดียวไม่เป็นไร แต่ต้องสื่อสารและคิดว่าพวกเราเป็นคนได้ไหม

เอม : เหตุผลที่พูดกันบ่อยคือ คุณเป็นหมอจะไม่ฉีดได้อย่างไร ถ้าคุณไม่ฉีดแล้วคนอื่นจะไม่ฉีดตามคุณไหม คุณจะเอาความมั่นใจที่ไหนไปบอกประชาชนว่าวัคซีนนี้ฉีดได้ โรงพยาบาลบางแห่งก็มาบอกกันว่าโรงพยาบาลเราฉีดได้ 100 เปอร์เซ็นต์แล้วนะ อีกที่หนึ่งทำไมฉีดได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ มีเรื่องการบังคับทางสังคมและศีลธรรมคุณธรรมเกี่ยวโยงด้วย พอเลือกไม่ได้ เราก็ต้องทำสิ่งนั้น แต่ถ้ามีวัคซีนให้เลือกได้ เราก็อยากเลือกวัคซีนที่เราเชื่อมั่นและเหมาะกับเรา

สถานการณ์ปัจจุบันตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน มองว่ารัฐควบคุมสถานการณ์อยู่ไหม เรื่องการรับมือผู้ป่วยมีอะไรน่ากังวลบ้าง

เอม : ตอนนี้เราแทบไม่สามารถบอกได้แล้วว่าคนนี้ติดเชื้อมาจากไหน หมายความว่าโรคกระจายเข้าไปในชุมชนต่างๆ โดยไม่สามารถจับแหล่งที่มาของโรคได้ ถ้าสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์หลุดรอดออกมาในสถานการณ์แบบนี้จะยิ่งแย่ไปกันใหญ่

เราต้องเสียบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยโควิดมากขึ้น ผู้ป่วยโควิดบางรายปิดบังประวัติ บางรายเราไม่สามารถคัดกรองคนไข้ก่อนเอาไปนอนในหอผู้ป่วยได้ หลายครั้งที่มีเคสผู้ป่วยโควิดอยู่ในหอผู้ป่วยหลายวัน ทำให้เกิดการแพร่เชื้อบนหอผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยคนนี้ก็ต้องไปกักตัว 14 วัน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ยิ่งหายไปในวิกฤตตอนนี้

เม : เรามีโอกาสดูแลผู้ป่วยทุกรูปแบบ ทั้งที่ตรวจพบเชื้อไม่มีอาการ พบเชื้อเป็นปอดบวม เหนื่อยจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิต ถ้าอยู่บ้านแล้วดูตัวเลขกลมๆ จะเห็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ละวันกับตัวเลขผู้ที่ได้กลับบ้านจะต่างกันอย่างต่ำหนึ่งพันคน แสดงว่ามีคนนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นหนึ่งพันคนทุกวัน โดยที่เตียงทั่วประเทศเรามีเท่าเดิม สาธารณสุขไทยจึงพยายามเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นเพื่อรับผู้ป่วยโควิด เกิดผลกระทบว่าเราสามารถเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่สามารถผลิตบุคลากรมากขึ้นได้ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเปิดโรงพยาบาลโดยไม่มีหมอ เราก็ต้องเอาหมอที่เคยดูแลส่วนอื่น เช่น เคยดูแลผู้ป่วยที่ไม่ได้ติดโควิด ไปดูแลส่วนนั้น หมอที่เหลือในโรงพยาบาลก็ต้องรับงานเยอะขึ้น

เราทำงานในศูนย์ที่รับส่งต่อผู้ป่วยโควิด จะมีติดต่อมาทุกวัน แต่เตียงเต็มตลอด เพราะแต่ละคนแอดมิดมาแล้วต้องรอครบ 14 วัน จึงได้กลับบ้าน 1 ใน 3 ที่แอดมิดเข้ามามีโอกาสเป็นปอดบวม และ 1 ใน 3 ของกลุ่มนี้จะเป็นปอดบวมรุนแรงจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ คนเหล่านี้จะกินเตียงไปอีกประมาณหนึ่งเดือน ไม่มีทางที่เราจะมีเตียงพอเลย ในสถานการณ์ที่เราพบผู้ติดเชื้อวันละ 3-4 พันคนทุกวัน สุดท้ายมันจะล่มสลาย เพราะบุคลากรไม่พอ

ปอนด์ : ตอนนี้แพทย์แผนกอื่นที่ไม่ใช่หมออายุรกรรมอย่างแพทย์จิตเวช แพทย์ตา ก็ต้องไปช่วยดูคนไข้โควิดแล้ว กระทบไปถึงแผนกที่ไม่ได้เกี่ยวกับโควิดโดยตรง ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องผ่าตัด ก่อนผ่าตัดต้องมีการเตรียมตัว หมออายุรศาสตร์ช่วยดูหัวใจ ปอด จิ้มชิ้นเนื้อมาพิสูจน์ แต่หมออายุรศาสตร์ไปดูโควิดหมด คิวช่วยประเมินก็จะนานขึ้น คิวเข้าอุโมงค์เพื่อดูมะเร็งก็จะนานขึ้น บางทีบุคลากรติดเชื้อก็ต้องไปกักตัว คนก็น้อยลง ขั้นตอนการรักษาคนไข้อื่นๆ ก็จะยืดออกไป

วิน : ขณะที่กราฟคนติดเชื้อและคนตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซิโนแวคจะช่วยลดอัตราการตายหรือติดเชื้อแล้วอาการรุนแรง กราฟคนติดเชื้อจะยังพุ่งต่อแต่กราฟคนตายไม่เพิ่มตาม ปัญหาหลักของโควิดคือมีคนตายและป่วยรุนแรง ถ้าบรรเทาได้ก็คงดี

ถามว่าสถานการณ์ตอนนี้แย่ขนาดไหน ต้องขออวยวงการสาธารณสุขไทยว่า วงการสาธารณสุขไทยรอดมาได้ตลอดและเป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศ เพราะคนทำงานด้านสาธารณสุขทำงานแบบ overworked แพทย์พยาบาลเราทำงานกันอย่างไม่คิดถึงเรื่องส่วนตัว ถ้าคนทำงานเราไม่ทุ่มเททำงานไม่ได้หลับได้นอนขนาดนี้ ในสถานการณ์แบบเดียวกันหากเป็นประเทศอื่นคงเจอคนตายเยอะกว่านี้

ปัญหาที่ผู้ป่วยกำลังล้นมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริหารกระทรวงหรือรัฐบาลจะช่วยอะไรได้บ้างนอกจากเรื่องการจัดหาวัคซีน

วิน : ตั้งแต่การระบาดระลอกที่แล้วมีนโยบายที่พยายามแก้ไขปัญหา เช่น ระบบยูฮอสเน็ต (UHOSNET) ประสานกำลังทุกโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อช่วยกันรับผู้ป่วย ที่ไหนว่างและมีศักยภาพก็จะดึงผู้ป่วยไปช่วยกันรองรับ ผมมองว่าตอบโจทย์ได้ระดับหนึ่ง จะเห็นว่าไม่ใช่การทำงานแค่ในกระทรวง แต่เป็นการทำงานระหว่างเอกชน โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง และมีการเปิดเตียงไอซียูเพิ่ม แต่หากเปิดเตียงเพิ่มแล้วไม่เพิ่มบุคลากรก็มีปัญหา

ปอนด์ : เราจะถึงจุดอิ่มตัวขนาดว่าต้องเลือกผู้ป่วยที่จะได้ไปนอนไอซียูไหม?

วิน : ผมเคยเห็นที่โรงพยาบาลศูนย์ในภูมิภาค วอร์ดธรรมดามีคนไข้นอน 60-70 คน มีเครื่องช่วยหายใจแบบที่ไม่ได้ดีมาก ผมรู้สึกว่าสาธารณสุขไทยแข็งแกร่งกว่าที่เราคิด ไม่น่าถึงขั้นว่ามีคนเข้าไม่ถึงเครื่องช่วยหายใจ แต่คงเข้าถึงในแบบไม่ได้มาตรฐานในท้ายที่สุด เราคงไม่แย่เหมือนอินเดียที่เลิกเปิดไอซียูเพิ่มแล้วไปทำระบบจัดการศพแทน คงไม่ถึงจุดนั้นและไม่อยากให้ถึง

เอม : ถามว่าจะถึงจุดนั้นไหมแล้วจะยึดอยู่กับวัคซีนอย่างเดียวอาจจะไม่ถูก มีวิธีอื่นที่ช่วยลดการติดเชื้อซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องทำไปด้วยกัน เช่น การรักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงที่ชุมชน ใส่หน้ากาก ล้างมือ เป็นเรื่องที่ผ่านการพิสูจน์ในโรคระบาดหลายรอบแล้วว่ามีส่วนช่วยได้ ถ้าเรายังทำมาตรการเหล่านี้อยู่ก็อาจช่วยให้ไม่ไปถึงจุดนั้นได้

หมอจำนวนมากสยบยอมต่อรัฐแบบอำนาจนิยม ทุกวันนี้คนรอบตัวมีความเปลี่ยนแปลงทางความคิดไหม

วิน : ระบบราชการไทยคือระบบที่คนทำงานไม่ได้ขึ้น คนเลียเก่งขึ้นก่อน แพทย์ที่เป็นนักวิชาการจริงๆ ยึดประโยชน์สาธารณะ เขาจะมีสิทธิได้ขึ้นน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ทุ่มเทกับการทำงานมากแต่เอาเวลาไปเลีย เรื่องนี้เป็นมาตั้งนานแล้ว

เรื่องโควิดน่าสนใจว่า ในช่วงวิกฤตสุขภาพ ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงที่ไม่ใช่สายการเมืองจะมีอำนาจเท่ากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเป็นไปตามที่คาดหวังไว้จะมีการคานอำนาจระหว่างนักการเมืองกับแพทย์ แต่ก็ไปตกม้าตายว่าระบบประเทศไทยไม่เอื้อ คนที่เลือกเขาขึ้นมาสู่ตำแหน่งก็ดันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเอง เลยไม่มีการคานอำนาจกันเลย ไม่แปลกที่ประชาชนจะรู้สึกว่าแพทย์ที่เป็นผู้บริหารมีแนวโน้มน้อยมากที่จะคิดแบบแพทย์ที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้วคานอำนาจกับนักการเมือง

มีความเข้าใจผิดว่าแพทย์บางท่านโดนการเมืองยุยงไปหมด คนอาจคิดว่าแพทย์จะโดนอำนาจนักการเมืองมาพัวพันจนไม่มีทางพูดความจริงได้เลย แต่อยากแย้งว่าการอ่านงานวิจัยโดยไม่สนว่าใครเป็นผู้วิจัยสามารถใช้ประเด็นเชิงวิชาการถกเถียงกันได้อยู่แล้ว แค่เราปิดชื่อคนทำวิจัยหรือชื่อคนที่แชร์ข้อมูลจะทำให้เราเปิดใจและไม่มีอคติได้ เรื่องนี้มีความเข้าใจผิดจนคนรู้สึกว่าไม่รู้จะเชื่อใครแล้ว

ปอนด์ : ในโซเชียลมีเดียเราอาจวิจารณ์กันเต็มที่ แต่คนที่ออกสื่อจริงๆ คือผู้ใหญ่ทั้งนั้น ไม่เคยมีเวทีให้หมอที่ไม่ใช่ผู้ใหญ่ไปพูดแล้วจะไม่มีผลกระทบตามมาจนทำให้เขารู้สึกปลอดภัยได้เลย

ในคลับเฮาส์เคยมีวงคุยกันเรื่องโรงเรียนแพทย์ใหญ่ๆ หลายแห่ง การเรียนแพทย์มีความเป็นอำนาจนิยมสูง เราอาจพยายามบอกกันว่า แพทย์คิดตามหลักเหตุผล ใช้วิทยาศาสตร์เป็นหลัก แต่วัฒนธรรมโรงเรียนแพทย์บางแห่งไม่สนับสนุนให้เถียงผู้ใหญ่ เราไม่สามารถเห็นแย้งอาจารย์ผู้ใหญ่ได้โดยไม่มีผลกระทบตามมา เพราะเรียนจบไปใช้ทุนข้างนอกแล้วต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ก็ต้องใช้จดหมายแนะนำจากอาจารย์ ถ้าอาจารย์ไม่ชอบเรา เขาอาจไม่เขียนให้หรือไปติดต่อโรงเรียนปลายทางบอกว่าไม่ให้รับ เราก็จะหมดอนาคต แม้จะเป็นหมอที่ใช้ทุนแล้วแต่ถ้าทำให้อาจารย์ไม่ชอบก็มีสิทธิโดนแบบนี้ได้ ฉะนั้น หมอหน้างาน หมอจบใหม่ที่ยังไม่ได้เรียนเฉพาะทาง หรือหมอที่กำลังฝึกเฉพาะทางอยู่ไม่มีอะไรมาคานอำนาจอาจารย์ผู้ใหญ่ได้เลย

ไม่มีแรงจูงใจให้หมอหน้างานมาพูดความจริงในมุมมองของเขา ทั้งที่จริงหมอเหล่านี้คือกำลังหลัก แต่ความคิดเห็นจะออกมาจากหมอผู้ใหญ่ทั้งนั้น

ในฐานะแพทย์ที่อยู่หน้างานหรือปฏิบัติงานในส่วนอื่นๆ เรื่องไหนที่ต้อง ‘ทน’ มากที่สุด

เม : สิ่งที่ต้องใช้ความอดทนในการทำงานมากที่สุดคือนโยบายที่สร้างความสับสน ทำให้บุคลากรหน้างานไม่รู้ว่าเราต้องสู้ศึกนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ นอกจากเราต้องเอาตัวเองไปเสี่ยงแล้ว เราอาจเสี่ยงพาเชื้อกลับบ้าน เราต้องทำงานหนักขึ้นโดยไม่ได้ค่าตอบแทน นโยบายเรื่องวัคซีนก็ทำให้เราไม่รู้ว่าจะควบคุมโรคได้เมื่อไหร่ ถ้าข้างบนมีความชัดเจนเรื่องนโยบายวัคซีน สามารถหาวัคซีนได้ตามที่กำหนด หรือถ้าหาไม่ได้ก็ต้องยอมรับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้คนหน้างานรู้ว่าข้างบนรับทราบปัญหาแล้ว ก็น่าจะทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานต่อไปได้

ปอนด์ : ผมรู้สึกว่าตัวเองถูกทรยศโดยวิชาการแพทย์ อาจารย์บางท่านเคยสอนมาว่าต้องคิดอย่างไร จะอ่านหลักฐานและวิเคราะห์อย่างไร แต่ถึงเวลาจริงเขากลับไม่ตรงไปตรงมา พูดแบบไม่ครบ ซึ่งขัดกับสิ่งที่เราเรียนมา ทำให้แม้แต่ตัวผมซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลคนไข้ยังไม่สามารถเชื่ออย่างสนิทใจต่อตัวอาจารย์ได้เลย แล้วจะให้ประชาชนเชื่อมั่นได้อย่างไร กลายเป็นภาวะวิกฤตความเชื่อใจ

วิน : ผมอึดอัดใจที่งานวิชาการอะไรดันขึ้นไปก็แพ้การเมืองหมดเลย

เอม : คนเป็นหมอถูกฝึกมาให้ใช้ปัจจัยหลายอย่างในการตีความวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ดูว่าในโลกแห่งความเป็นจริงใช้ได้หรือเปล่า ในงานการศึกษานี้มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร แต่บางครั้งพอคนมีอำนาจมีปากมีเสียงมีโอกาสพูดออกไป เขาดันพูดสิ่งที่ไม่จริง ไม่ถูกต้องตามหลักวิชา พูดสนับสนุนฝ่ายอำนาจ สิ่งที่เขาพูดมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่ตรงข้ามกับความจริง มีการปั้นเสกข้อมูลขึ้นเอง คนจำนวนมากก็คงไม่มีเวลามานั่งอ่านรายงานการศึกษาตัวเต็ม

เราต้องเปิดให้มีการโต้เถียงกันได้อย่างเสรี ให้หมอต่างๆ มีโอกาสพูด มีโอกาสบอกว่าตัวนี้มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร จะทำให้ประชาชนเห็นว่าเราไม่ได้รับข้อมูลฝั่งเดียว แต่เป็นข้อมูลที่รอบด้าน แล้วเขาจะมีความเชื่อมั่นในเรื่องการรักษาและการเลือกวัคซีน ตอนนี้มีหลายคนพยายามทำแบบนั้น แต่สุดท้ายก็ถูกอำนาจกดลงมาให้ไม่สามารถแสดงคิดเห็นของตัวเองได้เต็มที่ ตอนนี้เราจึงเห็นความเห็นเกี่ยวกับวัคซีนด้านเดียวเกือบทั้งหมดที่กระจายอยู่ในสังคม และมีเรื่องซุบซิบต่างๆ โดยไม่มีใครยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ สุดท้ายส่งผลให้ไม่มีใครกล้าฉีดวัคซีน

ปัจจัยหลักของการฉีดวัคซีน อาจไม่ได้อยู่ที่ความจริงหรือความไม่จริงอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นของคนต่อการบริหารจัดการวัคซีนและองค์ความรู้ที่เขารับไป ถ้าแก้ไขเรื่องนี้ไม่ได้ก็ไม่มีวันทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แล้วทำให้เศรษฐกิจสังคมกลับมาเป็นแบบปกติได้

เม : อยากให้แพทย์รับใช้และซื่อตรงต่อข้อมูลทางวิชาการ จริงใจ ไม่ปกปิด โปร่งใสต่อคนไข้ ไม่พยายามเชียร์ฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากจนเกินไปและพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และความจริงให้มากที่สุด

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022