จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
อนุสาวรีย์เป็นเรื่องของการเมืองเสมอ และการสถาปนาหรือการรื้อถอนทุบทำลายอนุสาวรีย์ก็ถือเป็นการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ โดยอาศัยสถาปัตยกรรมหรือพื้นที่ของอนุสาวรีย์เป็น ‘สัญลักษณ์’ (symbol) ทางการเมืองเพื่อระลึกถึงบุคคล เหตุการณ์ หรือเรื่องราวเฉพาะทางประวัติศาสตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง และสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้แก่พลังทางสังคมใดพลังทางสังคมหนึ่ง หรือระบอบการเมืองใดระบอบหนึ่งเสมอมา
การเมืองของอนุสาวรีย์ ทั้งในแง่ของการเมืองเชิงสัญลักษณ์หรือการเมืองแห่งความทรงจำ (politics of memory) จึงเป็นพื้นที่ของการช่วงชิงความเป็นใหญ่ในการยึดครองความรับรู้ และความเข้าใจของเราที่มีต่อเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ชุดหนึ่ง และพยายามท้าทายเรื่องเล่ากระแสหลักในสังคมการเมืองหนึ่งๆ เพื่อที่จะสร้างเรื่องเล่าใหม่ขึ้นมาแทน
สถานะของอนุสาวรีย์รัสเซียเองก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอนุสาวรีย์ของรัสเซียที่อยู่ภายนอกประเทศ เช่น ในยุโรปตะวันออก ก็เผชิญกับการต่อสู้ช่วงชิงความหมายทางสังคมการเมืองระหว่างประเทศ เป้าหมายสำคัญของรัสเซียในเรื่องอนุสาวรีย์ที่อยู่ในยุโรปตะวันออกคือ การสถาปนาการเมืองว่าด้วยความทรงจำ กล่าวคือ ประวัติศาสตร์ความทรงจำเป็น ‘สัญลักษณ์’ ของรัสเซียในฐานะ ‘ผู้ปลดแอก’ ยุโรปจากนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพความทรงจำดังกล่าวยังขับเคลื่อนเรื่องเล่าใหญ่ (metanarrative) ที่สร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้แก่รัสเซียในยุโรปปัจจุบัน และนำเสนอภาพลักษณ์ของรัสเซียในฐานะที่เป็น ‘มหาอำนาจ’ ของโลก โดยเฉพาะความเป็นมหาอำนาจทางการทหารที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย
อนุสาวรีย์รัสเซียที่ได้รับการสร้างขึ้นมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงทำหน้าที่สำคัญอย่างน้อยสามประการ นั่นคือ (1) การรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและทหารผ่านศึกษาในสงครามโลกครั้งที่สอง (2) สัญลักษณ์สำคัญที่เสริมสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนชาวรัสเซีย และ (3) เครื่องมือร่วมสมัยของนโยบายต่างประเทศรัสเซียในการต่อรองกับรัฐในยุโรปตะวันออก เช่น รัฐชายฝั่งทะเลบอลติก (ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย)
กระนั้นก็ดี รัสเซียก็ต้องเผชิญกับการปะทะด้านการเมืองแห่งความทรงจำกับรัฐเหล่านี้ กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง ความทรงจำนี้เป็นภาพตัวแทน ‘ชัยชนะ’ ของรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งยังกำหนดสร้างอัตลักษณ์และอารมณ์ร่วมของรัสเซีย รวมถึงชาวรัสเซียที่อยู่อาศัยในรัฐบอลติก ดังเช่นการเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะหรือ Victory Day ในวันที่ 9 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงทหารผ่านศึกและชัยชนะของรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งรัสเซียเรียกว่า ‘มหาสงครามของผู้รักชาติ’ (Great Patriotic War) แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบอลติกกลับมองความทรงจำชุดนี้ในมุมที่แตกต่างออกไป คือมองว่านี่เป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘การยึดครองกดขี่’ ของสหภาพโซเวียต (รัสเซีย)
บทความนี้จะสำรวจที่มาและที่ไปของอนุสาวรีย์รัสเซียในกลุ่มประเทศชายฝั่งทะเลบอลติก โดยเสนอว่าประเด็นการสร้างและการรื้อถอนอนุสาวรีย์เป็นเรื่องการเมืองเสมอ โดยเฉพาะการเมืองแห่งการสร้างภาพความทรงจำทางประวัติศาสตร์ และการช่วงชิงนิยามของการกำหนดคุณค่าและความหมายทางการเมืองให้แก่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ผ่านอนุสาวรีย์ การเมืองว่าด้วยอนุสาวรีย์รัสเซียในบอลติกจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องประวัติศาสตร์ที่จบสิ้นไปแล้ว หากยังมีนัยสำคัญต่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรัสเซียกับรัฐบอลติกในปัจจุบันและอนาคตอีกด้วย
ที่มา: การสถาปนาอนุสาวรีย์รัสเซียในรัฐบอลติก
หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ สหภาพโซเวียตกลายเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งในสองของโลก และมองสถานะของตนเองในยุโรปว่าเป็น ‘ผู้ปลดแอก’ ที่เข้ามาช่วยเหลือชาติยุโรปจากภัยคุกคามของนาซีเยอรมนี และยังได้สร้างอนุสาวรีย์ต่างๆ เพื่อรำลึกถึงความทรงจำทางประวัติศาสตร์นี้
ในกรณีของกลุ่มประเทศบอลติก รัสเซียได้สร้าง (1) อนุสาวรีย์ Bronze Soldier (Pronkssõdur) ในกรุงทาลลินน์ ประเทศเอสโตเนีย (2) อนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของทหารโซเวียต (Victory Memorial to the Soviet Army หรือ Uzvaras piemineklis) ในกรุงริกา ประเทศลัตเวีย และ (3) อนุสาวรีย์รัสเซียบนสะพาน Green Bridge (Žaliasis tiltas) ในกรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย
อนุสาวรีย์ Bronze Soldier ในกรุงทาลลินน์ เอสโตเนีย ได้รับการเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 กันยายน 1947 เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 3 ปีแห่งการได้รับชัยชนะของสหภาพโซเวียตในการ ‘ปลดปล่อย’ เอสโตเนียจากการยึดครองของนาซีเยอรมนี อนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ในบริเวณจัตุรัสกลางของกรุงทาลลินน์และเป็นรูปปั้นของทหารที่แต่งเครื่องแบบทหารกองทัพแดง โดยมีสถาปนิกสำคัญอย่าง Enn Roos และ Arnold Alas เป็นผู้ออกแบบ แต่เดิมมีชื่อเต็มๆ ว่า ‘Monument to the Liberators of Tallinn’ ต่อมาหลังการได้รับเอกราช เอสโตเนียเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Monument to the Fallen in the Second World War’
ในกรณีของลัตเวีย อนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของทหารโซเวียตตั้งอยู่ในบริเวณสวนสาธารณะแห่งชัยชนะในกรุงริกา โดยประกอบด้วยอนุสาวรีย์รูปปั้น Mother Motherland ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมาตุภูมิ รูปปั้นของทหารโซเวียตสามนายและเสาโอเบลิสก์ขนาด 79 เมตร ที่คนเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘Moscow Finger’ หมู่อนุสาวรีย์นี้ได้รับการเปิดอย่างเป็นทางการในปี 1985 โดยมีชื่อเต็มว่า ‘Monument to the Liberators of Soviet Latvia and Riga from the German Fascist Invaders’ ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิก Alexandr Bugaev และช่างปั้น ได้แก่ Lev Bukovsky และ Aivars Gulbis
อนุสาวรีย์รัสเซียในลิทัวเนียแตกต่างจากในเอสโตเนียและลัตเวีย กล่าวคือ มีที่ตั้งอยู่ห่างออกจากจัตุรัสกลางเมือง และไม่ได้เชื่อมโยงโดยตรงกับสงครามโลกครั้งที่สอง โดยอนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่บนสะพาน Green Bridge ในกรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย และประกอบด้วยชุดรูปปั้น 4 ชุดด้วยกัน แต่ละชุดเป็นภาพตัวแทนของสัญลักษณ์ของคอมมิวนิสต์ ได้แก่ ทหาร (Guardian of Peace) เศรษฐกิจ (Industry and Construction) เกษตรกรรม (Agriculture) และการศึกษา (Learning Youth) อนุสาวรีย์นี้ได้รับการเปิดอย่างเป็นทางการในปี 1952 โดยมีศิลปินชาวลิทัวเนียเป็นคนออกแบบ ได้แก่ Petras Vaivada กับ Bernardas Bucas (ออกแบบรูปปั้น Agriculture), Juozas Mikenas (ออกแบบรูปปั้น Learning Youth), Bronius Vysniauskas กับ Napoleonas Petrulis (ออกแบบรูปปั้น Industry and Construction) และ Bronius Pundzius (ออกแบบรูปปั้น Guardian of Peace) ตามลำดับ
ที่ไป: การรื้อถอนอนุสาวรีย์ในรัฐบอลติก
หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น รัฐบอลติกได้ประกาศเอกราช เลือกดำเนินนโยบายที่ ‘หันหลัง’ ให้กับรัสเซีย และบูรณาการเข้ากับโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและ NATO อย่างใกล้ชิด กล่าวคือ รัฐบอลติกกำหนดอัตลักษณ์และผลประโยชน์ของตนเองว่าเป็นตัวแสดงที่นิยมตะวันตก การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์กับอนุสาวรีย์รัสเซียในกลุ่มประเทศบอลติกก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างชาติและอัตลักษณ์ใหม่ของรัฐเหล่านี้ ซึ่งปัญหานี้อาจจะเรียกว่าเป็น ‘กระบวนการลดทอนความเป็นโซเวียต’ (de-Sovietization) ที่ได้รับอิทธิพลจากโจทย์การบูรณาการหลอมรวมชุมชนคนรัสเซียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเอกราชใหม่ด้วย
หากพิจารณากระบวนการดังกล่าว ลิทัวเนียเผชิญกับวิกฤตอนุสาวรีย์น้อยกว่ากรณีของลัตเวียและเอสโตเนียในเชิงเปรียบเทียบ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากขนาดของชุมชนชาวรัสเซียในลิทัวเนียที่มีน้อยกว่า โดยมีชาวรัสเซียเพียงร้อยละ 7 ในลิทัวเนีย เมื่อเทียบกับชาวรัสเซียร้อยละ 28 ในเอสโตเนีย และร้อยละ 32 ในลัตเวียตามลำดับ
แนวความคิดในการรื้อถอนอนุสาวรีย์รัสเซียเริ่มก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการประกาศเอกราชของทั้งสามรัฐในบอลติก โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายขวาและกลุ่มชาติพันธุ์ชาวลัตเวียและเอสโตเนียที่เรียกร้องให้มีการรื้ออนุสาวรีย์รัสเซียออกไป
ในกรณีของเอสโตเนีย พรรคการเมืองฝ่ายขวาอย่าง Pro Patria Union ได้ยื่นคำร้องขอให้สภาแห่งเมืองทาลลินน์รื้อถอนอนุสาวรีย์ในปี 2006 แต่ประธานาธิบดีในขณะนั้นไม่เห็นด้วย และเสนอให้มีการย้ายอนุสาวรีย์ออกจากศูนย์กลางของเมืองแทน ต่อมา ในเดือนเมษายนปี 2007 อนุสาวรีย์ Bronze Soldier ของเอสโตเนีย ถูกย้ายออกจากจัตุรัสกลางในกรุงทาลลินน์ ไปอยู่ที่สุสานของทหารผ่านศึกเอสโตเนียซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปจากตัวเมือง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐสภาเอสโตเนียได้ออกกฎหมาย Law on the Protection of War Burial Sites ขณะที่ชาวรัสเซียในเอสโตเนียออกมาบนท้องถนนเพื่อประท้วงการย้ายอนุสาวรีย์ดังกล่าว จนนำมาสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เป็นระยะเวลา 2 วัน หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อการจลาจล ‘Bronze Night’ โดยมีพลเมืองชาวรัสเซียที่อยู่ในเอสโตเนียเสียชีวิต 1 คน
ในกรณีของลัตเวีย กลุ่มฝ่ายขวาจัดอย่าง Pērkonkrusts พยายามที่จะรื้อถอนอนุสาวรีย์รัสเซียโดยใช้การระเบิดในปี 1997 แต่ไม่สามารถทำลายอนุสาวรีย์ได้แม้แต่น้อย หลังจากการย้ายอนุสาวรีย์ Bronze Soldier ของเอสโตเนียในปี 2007 ประเด็นเรื่องการรื้อถอนอนุสาวรีย์รัสเซียในลัตเวียกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรง มีการยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีลัตเวียโดยพรรคการเมืองฝ่ายขวา หรือมีข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการบูรณะรื้อฟื้นพื้นที่เมืองในบริเวณจัตุรัส Uzvaras ในปี 2012 และแผนการบูรณะทางประวัติศาสตร์ของเมืองใหม่ในปี 2016 ก็ได้เสนอให้มีการรื้อถอนอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะ โดยผู้สนับสนุนให้มีการรื้อถอนมองว่า อนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของทหารโซเวียตนั้น “ไม่เหมาะสมในทางศีลธรรม” ต่อภูมิทัศน์ของชาติ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของการยึดครองของสหภาพโซเวียต การรื้อถอนอนุสาวรีย์จึงสะท้อนถึงการสิ้นสุดของ ‘การเผชิญหน้าและการกระทำที่ต่อต้านรัฐ’ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์แห่งชาติ
ในทางตรงกันข้าม รัสเซียแถลงว่า การรื้อถอนอนุสาวรีย์เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และขัดแย้งกับข้อตกลงทวิภาคีต่างๆ ระหว่างรัสเซียกับลัตเวีย เช่น สนธิสัญญาในปี 1994 และข้อตกลงในปี 2008 เกี่ยวกับการธำรงรักษาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์และหลุมศพของทหารต่างๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ข้อตกลงเหล่านี้มีไว้เพื่อไม่ให้ลัตเวียรื้อถอนอนุสาวรีย์รัสเซียโดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัสเซีย
ขณะที่ทางฝั่งลิทัวเนีย อนุสาวรีย์รัสเซียบนสะพาน Green Bridge ในกรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนียนั้น มีที่ตั้งอยู่ห่างออกไปจากใจกลางเมืองอยู่แล้ว แม้ว่าในปี 2005 รัฐบาลลิทัวเนียจะประกาศขึ้นทะเบียนอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่ต้องได้รับการปกป้อง เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันดีกับรัสเซีย ทว่าในเดือนกรกฎาคม 2015 อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็ถูกย้ายออกไป โดยอ้างว่าเพื่อนำไปปฏิสังขรณ์ นายกเทศมนตรีของเมืองวิลนีอุส Remigijus Šimašius กล่าวว่า “อนุสาวรีย์เหล่านี้แสดงถึงการโกหก การฉายภาพให้แก่พวกโซเวียตว่าเป็นฮีโร่นั้นเป็นการโกหกทั้งเพ อนุสาวรีย์เหล่านี้คือการเย้ยหยันต่อประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตจริงในช่วงสหภาพโซเวียต”
ต่อมาในเดือนมีนาคม 2016 คณะกรรมการประเมินค่ามรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติลิทัวเนียได้เสนอให้ถอดอนุสาวรีย์รัสเซียออกจากการเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และย้ายไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แทน ซึ่งชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซียที่มีอยู่ไม่มากในลิทัวเนียต่างไม่ค่อยพอใจกับการรื้อถอนอนุสาวรีย์รัสเซีย โดยพวกเขายังคงไปเคารพอนุสาวรีย์รัสเซียอื่นๆ ที่รำลึกถึงบทบาทของรัสเซียในการปลดปล่อยลิทัวเนีย เช่น สุสาน Antakalnis ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในปี 1951 เป็นต้น
ข้ามพ้น Homo Sovieticus?
เราจะเห็นได้ว่า ในหลายกรณี การรื้อถอนทุบทำลายอนุสาวรีย์เป็นความพยายามที่จะรื้อสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์และนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง ทั้งวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในระหว่างกลุ่มพลังทางสังคมต่างๆ และวิกฤตการณ์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การรื้ออนุสาวรีย์ยิ่งทำให้ความพยายามในการสร้างชาติที่เป็นพหุนิยมและหลากหลาย รวมทั้งหลอมรวมปวงชนทุกหมู่เหล่าเข้ามานั้นยากเย็นยิ่งขึ้น
หากมองในมุมหนึ่ง การเมืองของอนุสาวรีย์เป็นการต่อสู้ช่วงชิงความหมายเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ที่เป็นเกมแบบ ‘zero-sum’ หรือเกมที่มีผู้แพ้ผู้ชนะ ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ ในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับรัฐบอลติก เราเห็นวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ และวิกฤตการณ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ภายในประเทศ โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์หลักกับชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซียในลัตเวียและเอสโตเนีย
จากความพยายามในการรื้อถอนอนุสาวรีย์รัสเซียในบอลติก เรายังเห็นการที่รัสเซียตอบโต้กลับด้วยการทำเหรียญที่ระลึกของรัสเซีย ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งชาติรัสเซียในเดือนสิงหาคม 2016 เหรียญที่ระลึกมีภาพของอนุสาวรีย์สำคัญ 14 แห่งที่ระลึกถึงการที่กองทัพรัสเซียได้ปลดปล่อยจากนาซีเยอรมนี และ 3 ใน 14 แห่งนั้นมาจากอนุสาวรีย์ในบอลติกด้วย
อย่างไรก็ตาม มีงานศึกษาวิจัยจำนวนหนึ่งระบุว่า ความสำคัญของการเฉลิมฉลอง Victory Day ในวันที่ 9 พฤษภาคม และอนุสาวรีย์รัสเซียในหมู่ชุมชนชาวรัสเซียในบริเวณยุโรปตะวันออกปัจจุบันก็ค่อยๆ ลดบทบาทลงอย่างต่อเนื่อง ชาวรัสเซียในรัฐบอลติกบางส่วนมองว่าวันที่ 9 มีนาคมควรที่จะเป็นวันแห่งความปรองดองสมานฉันท์และการระลึกถึงเหยื่อของสงครามโลกครั้งที่สองอย่างสันติมากกว่า
หากมองจากมุมนี้ โจทย์สำคัญอีกประการหนึ่งของการเมืองแห่งความทรงจำของอนุสาวรีย์คือ เราจะทำอย่างไรให้อนุสาวรีย์กลายเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำร่วมกัน แทนที่จะกระทำ ‘สงครามอนุสาวรีย์’ ด้วยการรื้อทำลายหรือสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมา กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เราจะทำอย่างไรให้อนุสาวรีย์มีความหมายเชิงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่เปิดกว้างหรือมีความเป็นพหุนิยมมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อทั้งกระบวนการสร้างชาติในฐานะ ‘ชุมชนจินตกรรม’ และกระบวนการปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการอาจจะเป็นการเปลี่ยนผ่านภาพความทรงจำ (memory transition) ก็เป็นได้ โดยการเมืองแห่งความทรงจำในระบบประชาธิปไตยต้องการความเคารพในความแตกต่างหลากหลาย ความยืดหยุ่น และความเปิดกว้างต่อการเห็นต่าง กระนั้น กระบวนการจัดการกับความทรงจำเหล่านี้ก็เป็นกระบวนการระยะยาว ที่มีหลายระดับและหลายมิติ และต้องอาศัยกระบวนการทางการเมืองของการปรึกษาหารือในพื้นที่สาธารณะด้วย