fbpx
เมื่อภาษา(พูด)ของมนุษย์มีมลทิน: การประดิษฐ์สัญญาณมือในอารามและความพยายามสอนเด็กหูหนวกให้พูดได้ในศตวรรษที่ 16

เมื่อภาษา(พูด)ของมนุษย์มีมลทิน: การประดิษฐ์สัญญาณมือในอารามและความพยายามสอนเด็กหูหนวกให้พูดได้ในศตวรรษที่ 16

อติเทพ ไชยสิทธิ์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

(1)
สดุดีบูชาความเงียบงัน: เมื่อภาษาของมนุษย์มีมลทิน

 

“…ข้าพเจ้าจะระแวดระวังทางของข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะไม่ทำบาปด้วยลิ้นของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะใส่บังเหียนปากของข้าพเจ้า ตราบเท่าที่คนชั่วอยู่ต่อหน้าข้าพเจ้า
…”

สดุดี (39:1), พันธสัญญาเดิม

 

ในพิธีกรรมทางศาสนา ความเงียบมักช่วยส่งเสริมบรรยากาศแห่งความสำรวมและความขลังให้เข้มข้นยิ่งขึ้น แน่นอนว่า ‘ความเงียบ’ ในที่นี้ไม่ใช่ความวังเวงที่ปราศจากสรรพเสียงใดๆ แต่อาจเป็นความเงียบงันที่เกิดขึ้นพร้อมเสียงดนตรีหรือเสียงสวดมนต์ในท่วงทำนองที่สะกดจิตใจผู้คน จนพวกเขารู้สึกว่าได้ถูกตัดขาดจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและกำลังสื่อสารกับสรรพสิ่งที่เลยพ้นไปจากโลกใบนี้อยู่ – ‘ความเงียบ’ อาจยังหมายรวมถึงความระแวดระวังตัวไม่กล่าวถ้อยคำหรือกระทำการแสดงออกใดที่จะทำลายบรรยากาศแห่งความสำรวมและความเข้มขลังนั้น พิธีกรรมทางศาสนาและความเงียบจึงเป็นสิ่งที่มาพร้อมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การใช้ความเงียบเพื่อรักษาความสำรวมทางวาจามีปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ เช่นใน ‘สดุดี’ (39:1) ของดาวิดที่กล่าวว่าเขาจะ ‘ใส่บังเหียนปาก’ เพื่อจะได้ ‘ไม่ทำบาปด้วยลิ้น’  หรือในนวนิยายเรื่อง ‘สมัญญาแห่งกุหลาบ’ (In the Name of the Rose) ของอุมแบร์โต เอโค (Umberto Eco) ที่เล่าถึงเรื่องราวการฆาตกรรมต่อเนื่องซึ่งมีฉากหลังเป็นอารามของคณะนักบุญเบเนดิกต์[1] (Benedictine order) ในศตวรรษที่ 14 ความตายของเหยื่อแต่ละคนในเรื่องนี้ล้วนเกี่ยวพันกับหนังสือเล่มหนึ่งของอริสโตเติลที่อภิปรายถึงความดีงามของการหัวเราะ – แน่นอนว่าการหัวเราะย่อมไม่มีพื้นที่ในบ้านของพระผู้เป็นเจ้า เพราะความขบขันย่อมทำลายความเงียบงัน และที่มากไปกว่านั้น คือมันทำลายความศักดิ์สิทธิ์!

ในโลกทัศน์ยุคกลาง การทำลายความเงียบในอารามอาจไม่ได้นำไปสู่การกลายเป็นเหยื่อฆาตกรรมเท่านั้น คนที่ทำลายความเงียบอาจต้องเผชิญกับการถูกขับไล่ออกจากศาสนา (excommunication) หรือการลงทัณฑ์จากพระผู้เป็นเจ้า ในบันทึก ‘ชีวิตของนักบุญเบเนดิกต์’ (The Life of St. Benedict) จากศตวรรษที่ 7 มีเรื่องของแม่ชีสองคนที่ไม่ระมัดระวังคำพูดและถูกสาปให้จะต้องออกจากศาสนาหากยังไม่ยอมปรับปรุงตัว เวลาผ่านไปจนแม่ชีเสียชีวิตและถูกฝังอยู่ในสุสานของอาราม ครั้นเมื่อถึงวันทำพิธีมิสซาและบาทหลวงต้องกล่าวตามธรรมเนียมให้ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาออกไปจากอาราม ก็ปรากฏว่าศพของแม่ชีทั้งสองได้ลุกขึ้นมาจากหลุม แล้วเดินออกจากอาณาเขตของอารามไป

เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งนักบุญเบเนดิกต์ได้เข้ามาเพิกถอนคำสาปนั้น[2] หรือในบันทึกจากศตวรรษที่ 10 มีเรื่องราวเกี่ยวกับจุดจบของพระที่ละเมิดกฎรักษาความเงียบของอาราม “…ด้วยพระประสงค์ของพระเจ้า เขาถูกลงทัณฑ์เพราะความยโสโอหังและไม่เชื่อฟัง ในเบื้องแรกเขาสูญเสียเสียงซึ่งเป็นพาหนะแห่งความเลินเล่อ จากนั้นอีกสามวันต่อมาเขาก็ตายลงโดยไม่ได้ปริปากพูดอีกเลย…”[3]

บันทึกอันเต็มไปด้วยเรื่องราวปาฏิหาริย์ที่น่าเหลือเชื่อเหล่านี้ช่วยบอกให้พวกเราทราบว่า ‘ความเงียบ’ ถือเป็นส่วนสำคัญของชีวิตในอารามยุคกลางอย่างแท้จริง แม้ว่าในเบื้องต้น ความเงียบจะเป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งความสำรวม แต่ในอารามคลูนี (Abbaye de Cluny) ของคณะนักบุญเบเนดิกต์ที่ตั้งอยู่ในแคว้นเบอร์กันดี (Burgundy) ของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 10 ได้เริ่มมีการตีความ ‘ความเงียบ’ ที่แตกต่างออกไป

พวกเขาไม่เพียงมองว่าความเงียบงันเป็นส่วนสำคัญของการรักษาความสำรวมในอาราม แต่ ‘ความเงียบ’ ที่ปราศจากภาษาพูดอันเปรอะเปื้อนด้วยมลทินของมนุษย์เท่านั้นที่จะทำให้พวกเขาเหมาะสมกับการได้อยู่เคียงข้างพระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์เฉกเช่นเดียวกันกับเหล่าเทวทูต และเสียงเดียวที่เหมาะสมต่อการเปล่งออกมาในอารามก็คือคำสรรเสริญต่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น – เสียงที่พวกเขาเชื่อว่าเหล่าเทวทูตต่างขับร้องสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์อยู่ชั่วนิรันดร์กาล

การสดุดีบูชาความเงียบงัน (veneration of silence) ด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะใช้ภาษาพูดและการถือวัตรปฏิบัติตามแนวทางของนักบุญเบเนดิกต์อย่างเคร่งครัดมีส่วนทำให้อารามคลูนีที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ.910 กลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของยุคกลางในเวลาต่อมา

อันที่จริง การรักษา ‘ความเงียบ’ ถือเป็นส่วนสำคัญในคำสอนของนักบุญเบเนดิกต์มาตั้งแต่ต้น ในบทที่ 6 ของ ‘กฎแห่งนักบุญเบเนดิกต์’ อันเป็นเสมือน ‘พระวินัย’ ที่กำหนดแนวทางการดำรงชีวิตร่วมกันของพระในอารามได้ระบุความสำคัญของความเงียบไว้ว่า

“…ดังนั้นด้วยเพราะความสำคัญอันยิ่งยวดของความเงียบ เราควรอนุญาตให้การพูดเป็นเรื่องของสานุศิษย์ที่เคร่งครัดเท่านั้น แม้ว่าการพูดนั้นจะเป็นถ้อยคำแห่งความดีงาม ความศักดิ์สิทธิ์ และการเทศนาสั่งสอนก็ตาม ดังที่มีบันทึกไว้ว่า: ‘‘พูดมากคำย่อมทำบาปได้(สุภาษิต 10:19) หรือ: ‘‘ความตายและชีวิตอยู่ที่อำนาจของลิ้น’’ (สุภาษิต 18:21)...”[4]

การหลีกเลี่ยงที่จะใช้ภาษาพูดหมายความว่าโอกาสที่พระในอารามของสำนักคลูนีจะสามารถสื่อสารระหว่างกันด้วยภาษาพูดนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ในบันทึกของนักบุญอูลริคแห่งเซลล์ (Ulrich of Zell) ผู้สมาทานแนวทางของสำนักคลูนีในศตวรรษที่ 11 ระบุว่ามีหลายบริเวณในอารามที่ห้ามมีการพูดคุยโดยเด็ดขาด และยังระบุด้วยว่าโดยปกติแล้วจะมีเพียงแค่ 2 ช่วงเวลาเท่านั้นที่จะอนุญาตให้มีการพูดคุยกันได้ คือ หนึ่ง หลังการภาวนาเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมอารามประจำวัน และ สอง ในตอนบ่ายหลังการภาวนาเที่ยง (Sext) โดยการพูดคุยจะต้องเป็นไปภายใต้การควบคุมของพระอาวุโสเท่านั้น[5]

แม้การดำรงชีวิตที่ปราศจากภาษาพูดอาจช่วยทำให้นักบวชแห่งอารามคลูนีสามารถเทียบเคียงวัตรปฏิบัติของตนเองกับเหล่าเทวทูตบนสรวงสวรรค์ แต่การใช้ชีวิตร่วมกันในอารามที่ต้องมีการทำงานด้วยกันก็บีบให้พวกเขาต้องคิดค้นวิธีการสื่อสารทางเลือกขึ้นมา และนั่นคือการกำเนิดขึ้นของ ‘สัญญาณมืออารามแห่งสำนักคลูนี’ (Cluniac Monastic Sign Lexicon) ที่ต่อมาจะแพร่หลายไปในอารามของคณะนักบุญเบเนดิกต์หลายแห่งในยุโรปและอังกฤษ

‘สัญญาณมืออาราม’ (Monastic sign lexicon) ที่ว่านี้ไม่ใช่ ‘ภาษามือ’ หรือ ‘ภาษาสัญญะท่าทาง’ (sign language)[6] เพราะ ’ภาษาสัญญะท่าทาง’ ไม่ได้ใช้เพียงแค่มือ แต่ยังใช้สีหน้าและท่าทางประกอบกันไปด้วย ที่สำคัญ ‘ภาษาสัญญะท่าทาง’ มีโครงสร้างไวยากรณ์ที่สมบูรณ์ สามารถใช้สื่อสารความคิดที่เป็นนามธรรมและสลับซับซ้อนได้เช่นเดียวกันกับภาษาพูด ในขณะที่สัญญาณมือ (sign lexicon) นั้นเป็นเพียงกลุ่มของคำศัพท์พื้นฐานที่มีคำกริยาเพียงเล็กน้อย ไม่มีไวยากรณ์เป็นของตนเอง และสามารถใช้ในการสื่อสารอย่างง่ายๆ เท่านั้น – หรืออาจกล่าวอย่างรวบรัดได้ว่า ‘ภาษามือ’ หรือ ‘ภาษาสัญญะท่าทาง’ นั้นเป็น ‘ภาษา’ ที่แท้จริงภาษาหนึ่ง ในขณะที่ ‘สัญญาณมืออาราม’ นั้น ไม่ใช่ ‘ภาษา’[7]

แม้จะไม่ใช่ภาษาที่แท้จริง แต่คำศัพท์ใน ‘สัญญาณมืออาราม’ ก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นด้วยบริบททางภาษาและวัฒนธรรมของผู้ใช้ในอารามคลูนีเอง ยกตัวอย่างเช่นคำว่า ‘หนังสือที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนนอกศาสนา’ ที่ผู้ใช้สัญญาณมือต้องทำท่าเหมือนสุนัขกำลังเกาหู อันมีนัยยะว่านักเขียนนอกศาสนานั้นมีสถานะไม่ต่างอะไรจากสุนัข หรือคำว่า ‘ปลาเทราต์’ ที่ผู้ใช้สัญญาณมือต้องทำท่ามือเหมือนปลากำลังว่ายน้ำผสมกับการทำสัญญาณมือเป็นคำว่าผ้าคลุมผมของสตรี เพราะคำว่า ‘ปลาเทราต์’  ในภาษาละติน คือ ‘truata’ นั้น เป็นคำเพศหญิง

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือคำว่า ความเจ็บป่วยทางกาย ซึ่งจะใช้สัญญาณมือเดียวกันกับคำว่า ‘ต้องการสารภาพบาป’ เพราะตามคติทางศาสนาในยุคกลางแล้ว ‘ความเจ็บป่วยทางกาย’ เป็นเพียงการแสดงออกของบาปอันเป็นความเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณนั่นเอง และการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณก็ย่อมทำได้ด้วยการสารภาพบาป[8]

คำศัพท์ที่มีอยู่อย่างจำกัดของ ‘สัญญาณมืออารามแห่งสำนักคลูนี’ ล้วนเกี่ยวพันกับชีวิตในอารามทั้งสิ้น เช่น คำศัพท์เกี่ยวกับอาหารและเครื่องแต่งกาย คำศัพท์ทางศาสนาเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า สวรรค์ และนรก ถึงกระนั้นคำศัพท์เหล่านี้ก็เพียงพอสำหรับการสื่อสารที่จำเป็น และอันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดนัก หาก ‘สัญญาณมืออาราม’ นี้จะไม่ได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นภาษาที่มีไวยากรณ์จนสามารถใช้สื่อสารความคิดซับซ้อนได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพราะจุดเริ่มต้นของการประดิษฐ์สัญญาณมืออารามก็เพื่อที่นักบวชจะได้หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาพูดที่แปดเปื้อนด้วยมลทินของมนุษย์ – ถ้าหากสัญญาณมืออารามจะมีความสมบูรณ์เช่นเดียวกันกับภาษาพูดแล้ว ความเงียบงันของวาจาจะมีประโยชน์อะไร ถ้าหากเรายังสามารถทำบาปได้ด้วยการใช้มือ?

 

(2)
การสอนเด็กหูหนวกและเป็นใบ้ให้พูดได้ในอารามของคณะนักบุญเบเนดิกต์

 

พ่อแม่หลายคนเชื่อว่าการมีลูกหูหนวกและเป็นใบ้นั้น, อาจกล่าวได้ว่า, เป็นสิ่งที่ไร้เกียรติ
พวกเขาคิดแค่ว่าการเลี้ยงดูและให้อาหารแก่เด็กเหล่านั้นก็เป็นการเพียงพอ
แล้ว
โดยเลือกที่จะซุกซ่อนพวกเขาจากสายตาของทุกๆ คน ในความลับของอาราม หรือในโรงเรียนประจำที่ไม่มีใครรู้จัก
[9]

สมภารชาร์ลส์-มิเชล เดอ เลเป (Abbé Charles-Michel de L’Épée), ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนสำหรับคนหูหนวก

 

จวบจนถึงศตวรรษที่ 18 ความหูหนวกและเป็นใบ้ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความคิดนามธรรมที่ซับซ้อน ดังที่ผู้เขียนเคยเล่าไว้ก่อนหน้านี้ในบทความ สมภาร เดอ เลเป (Abbé De L’Épée): ผู้คืนคุณค่าความเป็นมนุษย์แด่คนหูหนวก ว่า สำหรับอริสโตเติลแล้ว คนหูหนวกก็ดำรงชีวิตที่ไม่แตกต่างไปจากสัตว์ พวกเขาสนใจแค่ความต้องการเฉพาะหน้า และไม่สามารถตัดสินได้ว่าอะไรดีและชั่ว แม้แต่ในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ก็มีข้อความที่ชวนให้เข้าใจได้ว่า คนที่ได้ยินเสียงเท่านั้นจึงจะสามารถมีความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าได้[10] ความเชื่อเกี่ยวกับคนหูหนวกและเป็นใบ้ดังกล่าวนี้ทำให้พวกเขาถูกกีดกันออกจากสังคมของคนส่วนใหญ่

ความเชื่อที่ว่าคนหูหนวกไม่สามารถมีความคิดที่ซับซ้อนเป็นนามธรรมส่งอิทธิพลให้กฎหมายของโรมันกำหนดให้บุคคลที่หูหนวกและเป็นใบ้ตั้งแต่กำเนิดไม่มีสิทธิ์ทั้งในการเป็นพลเมืองและการครอบครองทรัพย์สิน กฎหมายของยุโรปในยุคกลางซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากจักรวรรดิโรมันก็ได้รับเอาแนวคิดทางกฎหมายเช่นนี้มาด้วย และนั่นทำให้พวกอภิชนได้รับผลกระทบนี้โดยตรงหากมีลูกหลานที่หูหนวกและเป็นใบ้ตั้งแต่กำเนิด เพราะพวกเขาจะไม่สามารถสืบทอดศักดินาหรือทรัพย์สมบัติต่อไปในตระกูลได้

การสมรสในหมู่เครือญาติหรือเฉพาะกับพวกอภิชนด้วยกันไม่กี่ตระกูลยิ่งทำให้ลูกหลานของพวกเขามีโอกาสเป็นหูหนวกที่ถ่ายทอดทางสายเลือด (hereditary deafness) สูงมากกว่าในประชากรทั่วไป หนึ่งในตระกูลอภิชนของสเปนที่มีอิทธิพลอย่างมากในศตวรรษที่ 13 อย่างเช่น ครอบครัวเวลาสโก (Velasco) ในยุคของฆวน เฟอร์นานเดซ เดอ เวลาสโก (Juan Fernandez de Velasco) ในศตวรรษที่ 16 ก็มีลูกที่หูหนวกและเป็นใบ้ตั้งแต่กำเนิดมากถึง 5 จากทั้งหมด 8 คน[11]

ในอดีต การมีลูกหลานที่หูหนวกและเป็นใบ้ยังนำความน่าอับอายมาสู่วงศ์ตระกูลอีกด้วย ตามความเชื่อในขณะนั้น ความหูหนวกและเป็นใบ้ รวมทั้ง ‘ความพิการ’ ต่างๆ ล้วนเป็นสัญลักษณ์แห่งความเสื่อมศีลธรรมจรรยาของผู้ให้กำเนิด  ดังนั้นชะตากรรมของเด็กที่หูหนวกและเป็นใบ้ตั้งแต่กำเนิดจึงมีทางเลือกไม่มาก ถ้าหากพวกเขาไม่ถูกกักขังไว้เพื่อซ่อนตัวจากโลกภายนอก ก็จะถูกส่งไปยังอารามอันวิเวกโดยหมายให้ถูกลบเลือนไปด้วยกาลเวลา

อารามในยุคกลางจึงไม่ได้เป็นเพียงสถานประกอบศาสนกิจและพื้นที่อยู่ร่วมกันของชุมชนนักบวช แต่มันยังมีสถานะเป็นสถานที่ต้อนรับบุคคลอันไม่พึงประสงค์ของสังคมอีกด้วย

และในอารามเช่นนี้เองที่ชายหนวกใบ้ผู้หนึ่งนาม กาสปาร์ เด บูร์กอส (Gaspar de Burgos) ได้พบกับ ปอนเซ เด เลออน (Pedro Ponce de León) นักบวชผู้พยายามสื่อสารกับเขาด้วย ‘สัญญาณมือ’ จนเด บูร์กอสสามารถสื่อสารได้เพียงพอที่จะประกอบศาสนกิจและสมัครเข้าเป็นนักบวช – หลังจากนั้น ทักษะการสอนคนหูหนวกของเด เลออนจึงเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว จนอภิชนในตระกูลต่างๆ พากันส่งลูกหลานของตนเองที่หูหนวกและเป็นใบ้มาเรียนกับเด เลออน ที่อารามของคณะนักบุญเบเนดิกต์ในเมืองอนญา (Oña) ในศตวรรษที่ 16

หนึ่งในลูกหลานของอภิชนที่ถูกส่งไปมาเรียนกับเด เลออนก็คือ ดอนเปโดร (Don Pedro) และ ดอนฟรานซิสโก (Don Francisco) แห่งตระกูลเวลาสโก พวกเขาถูกส่งมาเมื่อพวกเขามีอายุได้เพียง 9 และ 12 ปี เท่านั้น – ยังมีลูกหลานของอภิชนอีกจำนวนมากที่ถูกส่งมายังอารามแห่งนี้ด้วยเหตุผลเดียวกัน แต่ทั้งคู่จะถูกจดจำในฐานะเด็กหูหนวกและเป็นใบ้แต่กำเนิดที่เด เลออนสามารถสอนให้พูดได้จนประสบความสำเร็จ

แตกต่างจากสมภารเดอ เลเปในศตวรรษที่ 18 ผู้เน้นการใช้ ‘ภาษามือ’ เป็นเครื่องมือถ่ายทอดการศึกษาให้กับเด็กหูหนวก ตรงที่เด เลออนสอนให้ลูกศิษย์ของเขาใช้การสื่อสารด้วยเสียงพูดผสมผสานไปกับการสะกดคำด้วยนิ้วหรือใช้ ‘สัญญะท่าทาง’ ต่างๆ[12] ในภายหลัง ดอนฟรานซิสโกเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก แต่ดอนเปโดรผู้เรียกเด เลออนว่าเป็นทั้ง ‘ครูและพ่อ’ ของเขา ได้เลือกที่ใช้ชีวิตบาทหลวงและเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1572 เมื่อมีอายุได้เพียง 31 ปี – ในช่วงท้ายของชีวิต ดอนเปโดรไม่เพียงแค่พูดได้ แต่เขายังรู้ภาษาละตินอีกด้วย

โรงเรียนสอนลูกหลานของอภิชนที่หูหนวกและเป็นใบ้ให้พูดได้ของเด เลออน อาจถือได้ว่าเป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งแรกของโลก (หรืออย่างน้อยที่สุดก็ในโลกตะวันตก) แม้ว่าโรงเรียนแห่งนี้จะไม่ได้เปิดการเรียนการสอนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเหมือนเช่นดังในกรณีของสมภารเดอ เลเป และแม้เด เลออนจะให้ความสำคัญกับภาษาพูดมากกว่าการใช้สัญญะท่าทาง (signs) อันเป็นภาษาธรรมชาติของคนหูหนวก[13] แต่การบุกเบิกของเด เลออนก็เป็นก้าวสำคัญของการให้การศึกษาแก่คนหูหนวก โดยไม่ได้มองว่าพวกเขาด้อยสติปัญญาหรือขาดความสามารถในการประมวลความคิดที่ซับซ้อนตามอย่างที่เคยเชื่อกันมา

ณ อารามนักบุญซัลวาดอร์แห่งอนญา  (Monastery of San Salvador de Oña) ในศตวรรษที่ 16 มีคำจารึกเหนือหลุมศพของเด เลออนเอาไว้ว่า

ณ ที่แห่งนี้ คือร่างของภราดาผู้เป็นที่เคารพ เปโดร ปอนเซ เด เลออน ผู้ซึ่งคู่ควรแก่การจดจำนิจนิรันดร์ต่อพรสวรรค์จากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงประทานให้เขาทำคนเป็นใบ้ให้พูดได้[15]

 

เชิงอรรถ

[1] คณะนักบุญเบเนดิกต์ คือกลุ่มของพระที่ถือวัตรปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ใน ‘กฎแห่งนักบุญเบเนดิกต์’ (The Rule of St. Benedict) ซึ่งให้ความสำคัญกับชีวิตในอาราม (monasticism) ที่นักบวชผู้ซึ่งอยู่อาศัยร่วมกันดุจพี่น้อง (brethren) อุทิศเวลาส่วนใหญ่ไปกับการสวดภาวนาและการคัดลอกคัมภีร์ทางศาสนา ความแพร่หลายของแนวทางคณะนักบุญเบเนดิกต์ในช่วงศตวรรษที่ 9 ทำให้ ‘กฎของนักบุญเบเนดิกต์’ ได้รับการยึดถือเป็นวัตรปฏิบัติของอารามในยุโรปยุคกลางในศตวรรษต่อๆ มา

[2] ดู Gregory the Great. The Dialouges (Libri dialogorum): Life of Saint Benedcit. 2.23. Of certain nuns absolved after their death. เข้าถึงทาง https://www.osb.org/gen/greg/dia-25.html#P142_62732

[3] ดู John of Salerno, Vita Odonis (Life of Odo) 2.23 อ้างใน Bruce, S.G. (2007). Silence and Sign Language in Medieval Monasticism: The Cluniac Tradition, c.900-1200. Cambridge University Press. หน้า 50.

[4] “…Therefore, because of the grave importance of silence, let the permission to speak be granted only rarely to observant disciples, even though it be for good and holy and edifying words, because it is written: ‘‘In speaking profusely you will not escape sin’’ (Prov. 10.19). And elsewhere: ‘‘Death and life are in the power of the tongue’’ (Prov. 18.21)…” – Rule of St. Benedict. บทที่ 6: ว่าด้วยความเงียบ (Concerning Silence).

[5] ในบางช่วงเวลา เช่นในวันสมโภชพระจิตเจ้า (La Pentecôte) พระจะสูญเสียเวลาพูดคุยกันในตอนบ่ายไปอีกด้วย หรือในสัปดาห์คริสมาสต์ ก็จะมีการห้ามการพูดคุยในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เพิ่มเติมขึ้นอีก – ดู Bruce, S.G. (2007). Silence and Sign Language in Medieval Monasticism: The Cluniac Tradition, c.900-1200. Cambridge University Press. หน้า 27.

[6] ดังที่ผู้เขียนเคยกล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้า การแปล ‘sign language’ ว่า ‘ภาษามือ’ ไม่ถูกต้อง เพราะภาษาของคนหูหนวกไม่ได้ใช้เพียงแค่มือ แต่ยังรวมถึงสีหน้าและท่าทางทั้งหมดซึ่งมีความจำเป็นต่อทั้งความหมายและการขยายคำกริยาหรือคำนามไม่ต่างไปจากโครงสร้างไวยากรณ์ในภาษาพูด – ตั้งแต่บทความนี้เป็นต้นไป ผู้เขียนจะใช้คำว่า ‘ภาษาสัญญะท่าทาง’ ซึ่งมีความหมายที่ถูกต้องครอบคลุมมากกว่า

[7] โลอิส แบรกก์ (Lois Bragg) ได้เสนอว่า ‘ภาษา’ คือการสื่อสารตามธรรมชาติที่จะต้องประกอบด้วย (1) คำศัพท์และไวยากรณ์ (2) สามารถใช้ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อใดๆ ก็ได้ (3) มีเด็กที่ได้เรียนรู้ ‘ระบบการสื่อสาร’ นี้ในช่วงวัยของการเรียนรู้ภาษาปกติ (language-acquisition-threshold age) คือราว 2-12 ปี (4) เป็นระบบการสื่อสารที่มีชีวิต มีการเติบโตและมีการเปลี่ยนแปลง – ดู Lois Bragg. (1997). Visual-Kinetic Communication in Europe Before 1600: A Survey of Sign Lexicons and Finger Alphabets Prior to the Rise of Deaf Education. Journal of Deaf Studies and Deaf Education. หน้า 2.

[8] ดูอภิธานศัพท์ของ ‘สัญญาณมืออารามคลูนี’ ได้ในเชิงอรรถของ Bruce, S.G. (2007). Silence and Sign Language in Medieval Monasticism: The Cluniac Tradition, c.900-1200. Cambridge University Press. หน้า 177-182.

[9] « Des parents se croyaient pour ainsi dire déshonorés d’avoir un enfant sourd et muet. On pensait avoir rempli toute justice à son égard en pourvoyant à la nourriture et à son entretien, mais en le soustrayant pour toujours aux yeux du monde, en le confinant ou dans le secret d’un cloître, ou dans l’obscurité de quelque pension inconnue » – de L’Épée, C.M. (1976). Institution des sourds et muets, par la voie des signes méthodiques.

[10] “…ฉะนั้นความเชื่อเกิดขึ้นได้ก็เพราะการได้ยิน…” (โรม 10:17)

[11] Daniels, B. (1997). Benedictine Roots in the Development of Deaf Education: Listening with Heart. Bergin & Garvey.

[12] “…Her youngsters were instructed by Pedro Ponce to speak…On some occasions, her youngster were instructed to speak to their uncle using movements of their hands with which they formed the letters of the alphabet…” – อ้างใน Daniels, B. (1997). Benedictine Roots in the Development of Deaf Education: Listening with Heart. Bergin & Garvey. หน้า 13

[13] ดังที่ผู้เขียนได้เล่าไว้ในบทความเรื่อง ‘สมภาร เดอ เลเป (Abbé De L’Épée): ผู้คืนคุณค่าความเป็นมนุษย์แด่คนหูหนวก’ ว่า ‘ภาษา’ ย่อมเกิดขึ้นจากการสื่อสารระหว่างกันของสมาชิกในชุมชน การที่ลูกหลานอภิชนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนดังในกรณีของชุมชนคนหูหนวกของปารีส ทำให้ลูกหลานอภิชนเหล่านี้ไม่สามารถสร้างภาษามือขึ้นมาได้ พวกเขาอาจมีการใช้สัญญะที่สร้างขึ้นเองเพื่อสื่อสารถึงความต้องการเฉพาะหน้าและเป็นสิ่งที่อาจรู้แต่เฉพาะในครอบครัวนั้นๆ เรียกว่า ‘สัญญะท่าทางบ้าน’ (home signs)

[15] มีนัยยะถึงเรื่องราวในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ ที่พระเยซูทรงรักษาคนหูหนวกและเป็นใบ้ให้พูดได้ ใน มาระโก (7:24-36) ในทีนี้เด เลออนจึงเสมือนรับเอาพระพรจากพระผู้เป็นเจ้ามาใช้ช่วยเหลือคนหูหนวกและเป็นใบ้ให้พูดได้ ทัศนคติที่มีอยู่ก่อนการยอมรับว่าภาษามือ (ไม่ใช่ภาษาพูด) คือภาษาอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนคนหูหนวก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save