fbpx

ชาติ กษัตริย์ กองทัพ: ล้วงลึกอำนาจสถาบันใหญ่ที่โยงใยอยู่ในประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นับตั้งแต่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นเวลากว่า 90 ปีแล้วที่เส้นทางสู่การเมืองประชาธิปไตยไทยไม่เคยหลุดพ้นจากร่มเงาอิทธิพลของ ‘กองทัพ’

ยิ่งกองทัพมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นและแข็งแกร่งกับสถาบันกษัตริย์ อำนาจของ ‘เครือข่ายกษัตริย์’ (Network Monarchy) ยิ่งดำรงอยู่ในภูมิทัศน์การเมืองไทยอย่างมีพลวัต

101 ชวนทำความเข้าใจ ‘ระบอบการเมืองบนความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพ’ ที่บทบาททางการเมืองของกองทัพและสถาบันกษัตริย์นำไปสู่การก่อร่างและดำรงอยู่ของ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ผ่านทัศนะของ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้เขียนหนังสือ A Soldier King: Monarchy and Military in the Thailand of Rama X นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พอล แชมเบอร์ นักวิชาการด้านเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร, อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดันแคน แม็กคาร์โก ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษานอร์ดิกและศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน

Monarchy-Military Nexus: ระบอบแบบแผนการเมืองบนความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์-กองทัพ – สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

ระบอบแบบแผนการเมืองบนความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์-กองทัพในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นอธิบายว่า Monarchy-Military Nexus คือ ระบอบการเมืองบนความสัมพันธ์อสมมาตร (asymmetric relationship) ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพ โดยที่สถาบันกษัตริย์มีสถานะเป็นนาย (master) ส่วนกองทัพมีสถานะเป็นบ่าว (servant)

หากพิจารณาบทบาทของกองทัพในการเมืองประชาธิปไตยทั่วโลก อำนาจกองทัพจะต้องอยู่บนหลักพลเรือนเป็นใหญ่ (civilian supremacy) กล่าวคือ รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยต้องมีอำนาจเหนือกองทัพและควบคุมอำนาจกองทัพในทางการเมืองได้ แต่การเมืองไทยกลับต่างออกไป เนื่องจากจุดประสงค์หลักของกองทัพไทยนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นในสมัยรัชการที่ 5 คือ การพิทักษ์ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น ความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพจึงดำรงอยู่ตลอดในภูมิทัศน์การเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม มีบางช่วงประวัติศาสตร์เช่นกันที่กองทัพพยายามยกระดับสถานะให้เท่าเทียมกับสถาบันกษัตริย์ ครั้งแรกคือเหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทหารเป็นหัวหอกสำคัญในการเรียกร้องระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ความพยายามครั้งดังกล่าวล้มเหลว หากทำสำเร็จในครั้งที่สองคือ การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญได้ในที่สุด แม้ต่อมาฝ่ายกษัตริย์นิยมจะพยายามก่อรัฐประหารรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาเพื่อฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์กลับคืนมาในปี 2476 ทว่าก็ไม่ประสบความสำเร็จในการล้มรัฐบาลคณะราษฎร

อีกจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลคณะราษฎร-กองทัพ-สถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีการใช้แนวคิดทหารนิยมและชาตินิยมเป็นแนวคิดหลักในการสร้างชาติ พยายามแปรเปลี่ยนความจงรักภักดีของกองทัพต่อสถาบันกษัตริย์มาสู่รัฐบาลและตนเองในฐานะผู้นำรัฐบาล  

กระนั้น ความไร้เอกภาพภายในกองทัพช่วงรัฐบาลจอมพล ป. สมัยที่สองในช่วงปี 2491-2500 ได้เปิดทางให้สถาบันกษัตริย์กลับมามีความสัมพันธ์ความใกล้ชิดกับกองทัพอีกครั้งหลังการรัฐประหารในปี 2500 สุภลักษณ์เน้นย้ำว่า การขึ้นมามีอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์คือจุดเริ่มต้นของการยกสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้สูงส่งยิ่งขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘เครือข่ายกษัตริย์’ (Network Monarchy) ตามการนิยามของดันแคน แม็กคาร์โก หรือ ‘กระบวนการเปลี่ยนให้กองทัพกลายเป็นทหารของพระราชา’ (Monarchized Military) ตามการนิยามของพอล แชมเบอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพในฐานะพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ไม่เท่าเทียมเช่นนี้ดำเนินต่อมาจนกระทั่งสิ้นสุดสมัยรัชกาลที่ 9

ระบอบแบบแผนการเมืองบนความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์-กองทัพและ ‘เครือข่ายกษัตริย์ใหม่’ ในรัชกาลที่ 10

เมื่อการเมืองไทยเปลี่ยนผ่านรัชสมัยไปสู่รัชกาลที่ 10 ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพทวีความเข้มข้นขึ้นอย่างมากในระดับที่อาจกล่าวได้ว่า “เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้” ดังที่สะท้อนผ่านคำกล่าวของพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก ในการบรรยายพิเศษเรื่องแผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562

“สถาบันกษัตริย์และทหารเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ ในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงอยู่บนหลังช้าง มีทหารอยู่รายล้อมรอบช้าง รวมถึงประชาชนที่เสียสละเข้ามาร่วมรบกับพระมหากษัตริย์เพื่อปกป้องประเทศไทย”

นอกจากกองทัพจะพยายามสร้างภาพจำให้สถาบันกษัตริย์มีสถานะเป็นสถาบันสูงส่งที่คอยปกป้องประเทศไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 10 ยังทรงเป็น ‘ทหารอาชีพ’ อีกด้วย

“ในความเป็นจริง รัชกาลที่ 10 คือพระมหากษัตริย์องค์แรกในยุคสมัยใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์จักรีที่เข้ารับการศึกษาแบบทหารในต่างประเทศ ทั้งยังเข้ารับราชการทหารหลังจากเสด็จนิวัติกลับจากประเทศออสเตรเลีย”

อีกทั้งกองทัพยังพยายามเผยแพร่จริยวัตรของรัชกาลที่ 10 เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระองค์คือทหารอาชีพนับตั้งแต่ปี 2530 ที่พระองค์ดำรงพระพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร

“จากข้อมูลที่ค้นหา ผมพบว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 เข้าร่วมกิจกรรมทางการทหารมากมาย แสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นทหารอย่างแท้จริง อาจบอกไม่ได้ว่าพระองค์เป็นนักรบ แต่กล่าวได้แน่นอนว่าพระองค์เป็นทหาร” สุภลักษณ์กล่าว

อีกประเด็นหนึ่งที่สุภลักษณ์ตั้งข้อสังเกตคือ รัชกาลที่ 10 ทรงชื่นชอบให้บุคคลรอบข้างเป็นทหาร (militarizing) โดยอาจเพียงแค่ให้แต่งเครื่องแบบทหารในราชพิธีสำคัญหรืออาจมียศและบทบาทจริงในกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นพลเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีที่ทรงดำรงตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์ฯ พระสนมเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี หรือแม้กระทั่งพระราชธิดาทั้ง 2 พระองค์

ยิ่งไปกว่าความใกล้ชิดเชิงสัญลักษณ์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพก็แนบแน่นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น กรณีหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการออกกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะบางอย่างในความสัมพันธ์ที่คลุมเครือให้มีความชอบธรรมทางกฎหมายมากยิ่งขึ้นในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีการโอนอำนาจบังคับบัญชาการหน่วยถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์จากสำนักพระราชวังไปอยู่ภายใต้อำนาจการบังคับบัญชาของกษัตริย์โดยตรง นั่นคือกรมทหารราบที่ 1 และ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยทหารใหญ่ที่มีกำลังพร้อมรบ

นอกจากนี้ กองทัพบกยังมีหน่วยทหารสำคัญที่ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์คือ ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 หรือ ‘ทหารคอแดง’ ซึ่งมาจากคัดทหารหัวกะทิหรือทหารที่เป็นลูกท่านหลานเธอเข้าไปเป็นหน่วยทหารเฉพาะกิจ มียศสูง มาจากสายวงศ์เทวัญหรือสายบูรพาพยัคฆ์ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน ทหารคอแดงที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 10 เป็นพิเศษ ซึ่งสุภลักษณ์เสนอว่า หน่วยทหารพิเศษดังกล่าวทำหน้าที่เป็นแกนกลางของ ‘เครือข่ายกษัตริย์ใหม่’ (New Network Monarchy) ในรัชสมัยปัจจุบัน

ในมุมมองของสุภลักษณ์ Network Monarchy คือเครือข่ายที่มีหน้าที่เสริมบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ทำให้กองทัพกลายเป็น ‘ทหารพระราชา’ (monarchize) ที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยมีพลวัตสูง และดำเนินการได้โดยปราศจากคำสั่งโดยตรงจากกษัตริย์

สำหรับสุภลักษณ์ Network Monarchy จำเป็นต้องทำงานผ่านผู้จัดการเครือข่ายที่คอยเชื่อมโยงกองทัพและสถาบันกษัตริย์ อย่างในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี มีบทบาทเป็นผู้จัดการเครือข่าย Network Monarchy ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แบบแผนของ New Network Monarchy ในรัชกาลปัจจุบันต่างออกไป กล่าวคือ กษัตริย์ทรงมีอำนาจสั่งการและควบคุมกองทัพได้โดยตรง หรือแม้แต่สร้างเครือข่ายด้วยพระองค์เอง ซึ่งมีปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ประการแรก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อกองทัพน้อยกว่าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีคนก่อน

ประการที่สอง ในหลวงรัชกาลที่ 10 มักจะมอบหมายให้องคมนตรีดำเนินงานด้านสังคมสงเคราะห์และโครงการพระราชดำริที่ริเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 9 มากกว่าจะขอความเห็นในฐานะที่ปรึกษาส่วนพระองค์

ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพยังนำมาซึ่งการพยายามเปลี่ยนแปลงความทรงจำประวัติศาสตร์การเมืองไทยเพื่อปลูกฝังแนวคิดกษัตริย์นิยมและราชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการรื้อถอนหรือเปลี่ยนชื่ออนุสรณ์สถานแห่งประชาธิปไตยที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของคณะราษฎร ทั้งยังมีการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งใหม่ที่เป็นไปตามแนวคิดราชาธิปไตย เช่น การเปิดอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงพระองค์เจ้าบวรเดชและพระยาศรีสิทธิสงครามที่พยายามก่อกบฏเรียกคืนการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระมหากษัตริย์

“มีการเปลี่ยนชื่อ ‘ค่ายพหลโยธิน’ และ ‘ค่ายพิบูลสงคราม’ ที่ตั้งชื่อตามผู้นำคณะราษฎร เป็น ‘ค่ายภูมิพล’ และ ‘ค่ายสิริกิติ์’ ตามพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ก็เพื่อลดความสำคัญของวีรบุรุษผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในการปฏิวัติ 2475 นี่คือกระบวนการที่เรียกว่า Monarchization ในประเทศไทย”

มากไปกว่านั้น สุภลักษณ์เผยว่าในส่วนของงบประมาณ กองทัพมีการใช้งบประมาณราว 400-500 ล้านบาทต่อปี เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีและเชิดชูปกป้องสถาบันกษัตริย์

ท้ายที่สุด สุภลักษณ์แสดงความเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพไทยจะไม่มีวันแยกออกกันได้ อีกทั้ง Monarchy-Military Nexus จะยังคงมีอิทธิพลในทางการเมืองไทยต่อไป เนื่องจากภูมิหลังทางการเมืองการปกครองในอดีต เครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน และโครงสร้างอำนาจของสถาบันกษัตริย์และกองทัพในทางการเมือง

“การถอนทหารออกจากการเมืองเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการปกครองที่นำโดยพลเรือนเป็นแนวคิดที่ยอมรับไม่ได้สำหรับกองทัพ” สุภลักษณ์ทิ้งท้าย

Monarchized Military: ความสัมพันธ์แบบ ‘วิน-วิน’ ระหว่างสถาบันกษัตริย์-กองทัพไทย – พอล แชมเบอร์

พอล แชมเบอร์ (Paul Chamber) นักวิชาการด้านเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เสนอแนวคิด Monarchized Military ตั้งข้อสังเกตต่ออำนาจของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยที่สถาบันกษัตริย์ต้องอาศัยอิทธิพลของเครือข่ายกองทัพ ผ่านข้อความในบทนำของหนังสือ A Soldier King: Monarchy and Military in the Thailand of Rama X ของสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ว่า

“ไม่มีเหตุผลที่จะคาดหวังว่าทหารจะเชื่อฟังพลเมืองที่ปราศจากอาวุธ หรือคาดหวังว่าพระมหากษัตริย์ที่ไร้ซึ่งอาวุธจะทรงดำรงอยู่อย่างปลอดภัยเมื่อผู้รับใช้ของพระองค์มีอาวุธครบมือ” [“There is no reason to expect that armed man will obey an unarmed one, or that an unarmed monarch will remain safe and secure when his servants are fully armed”]

เมื่อพิจารณาแนวคิดที่ใช้อธิบายอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพในการเมืองไทย แชมเบอร์แสดงทัศนะว่า Network Monarchy ซึ่งเป็นแนวคิดที่เสนอว่า ระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยเข้าแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองโดยองค์พระมหากษัตริย์ไทยและตัวแทนของกษัตริย์ มีขอบเขตการอธิบายที่กว้างกว่าแนวคิด ‘กระบวนการทำให้กองทัพกลายเป็นทหารพระราชา’ (Monarchized Military) เพราะสามารถวิเคราะห์อิทธิพลของสถาบันกษัตริย์ต่อรัฐธรรมนูญ ศาล และกองทัพได้ ในขณะที่แนวคิด Monarchized Military ใช้อธิบายและวิเคราะห์อย่างเจาะจงไปยังความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพ

“Monarchized Military เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารที่ขัดต่อกฎหมาย และเป็นรูปแบบหนึ่งของการปกครองประเทศโดยทหารซึ่งมักจะสมรู้ร่วมคิดกับชนชั้นสูงและชนชั้นนายทุน (khaki-aristocracy)” พอลกล่าว

แชมเบอร์อธิบายต่อว่า Monarchized Military คือความสัมพันธ์แบบพันธมิตรที่อสมมาตรระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพ กล่าวคือ ทั้งสองฝ่ายต่างกลายเป็นหุ้นส่วน (partner) ซึ่งกันและกัน โดยกองทัพจะเป็นหุ้นส่วนรอง (junior partner) และสถาบันกษัตริย์เป็นหุ้นส่วนหลัก (senior partner) ดังจะเห็นได้จากการก่อรัฐประหารของกลุ่มทหารที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง โดยมีสถาบันกษัตริย์รับรองการทำรัฐประหารทุกครั้งไป

นอกจากนี้ แชมเบอร์ยังมองว่าประเทศไทยมีลักษณะเป็น ‘รัฐคู่ขนาน’ (Parallel State) กล่าวคือ มีอำนาจทางการเมืองนอกเหนือจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและข้าราชการที่จำต้องยอมจำนนต่อโครงสร้างอำนาจอย่างไม่เป็นทางการ โดยแชมเบอร์ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพคือตัวแทนของรัฐคู่ขนาน และนำมาสู่การเกิดกระบวนการ Monarchized Military

“ในประเทศไทย ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพคือความสัมพันธ์เชิงระบบอุปถัมภ์ เป็นรัฐคู่ขนานที่นำโดยสถาบันกษัตริย์และมีทหารเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ความใกล้ชิดของกองทัพกับสถาบันกษัตริย์หรือ Monarchized Military คือความสัมพันธ์ที่ได้ผลประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ (win-win relationship) กองทัพได้รับความชอบธรรมต่างๆ จากการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ในขณะที่สถาบันกษัตริย์ได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยทหารและมีอำนาจควบคุมกองทัพ”

“ในแง่นี้ คำนี้จึงไม่ควรถูกเข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนกองทัพให้เป็นสถาบันกษัตริย์ แต่หมายถึงการสะท้อนขอบเขตของกองทัพที่จำเป็นต้องพึ่งพาวาทกรรมของลัทธิกษัตริย์นิยม (royalism) เพื่อรักษาหรือขยายอำนาจของกองทัพ”

ยิ่งไปกว่านั้น แชมเบอร์กล่าวว่า ในปี 2565 คณะองคมนตรีได้เปิดทางให้สำนักพระราชวังและหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ขึ้นเป็นที่ปรึกษากลุ่มใหม่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ และคอยดำเนินการ ‘เบื้องหลัง’ ให้กับพระมหากษัตริย์ (Éminence Grise) จึงกลายเป็นว่าในทางปฏิบัติ กองทัพได้กลายเป็นตัวแทนที่แข็งแกร่งให้กับสถาบันกษัตริย์ และมีอิทธิพลเหนือองคมนตรีผู้มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์

ในตอนท้าย แชมเบอร์สรุปว่า แนวโน้มของ Monarchized Military ในปัจจุบันจะยังคงเป็นความร่วมมือที่ไม่สมมาตร โดยกองทัพจะมีฐานะเป็นผู้รับใช้สถาบันกษัตริย์ และหากการประท้วงต่อต้านสถาบันเพิ่มมากขึ้น มีแนวโน้มว่าสถาบันกษัตริย์จะทำให้กองทัพแข็งแกร่งขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของราชวงศ์ แต่ในขณะเดียวกัน ยิ่งกองทัพแข็งแกร่งมากขึ้นเท่าไหร่ สถาบันกษัตริย์ก็จะยิ่งควบคุมกองทัพได้ยากขึ้นเท่านั้น

ที่สำคัญ แชมเบอร์ยังมองว่าในอนาคตอันใกล้ กองทัพจะยังคงมีบทบาทสำคัญทางการเมืองในประเทศไทยต่อไป อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่ในประเทศจะเกิดขึ้นได้ยากมากหากความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพยังมีอิทธิพลต่อการบริหารประเทศเช่นนี้

“การทำให้ทหารออกจากระบอบการปกครองในประเทศไทยจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่กองทัพอันเข้มแข็งยังคงได้รับการสนับสนุนจากสถาบันกษัตริย์และประชาชนยังคงแบ่งแยกทางการเมืองกันเอง”

‘ทหารคอแดง’ การเกิดขึ้นของขั้วอำนาจใหม่ในกองทัพและการช่วงชิงอำนาจในการเมืองไทย – อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพในการเมืองร่วมสมัยมักกล่าวอ้างว่า ทำหน้าที่เพื่อปกป้องสามสถาบันหลักของชาติ ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้ทหารทุกนายถือว่าเป็น ‘ทหารของพระราชา’ อย่างไรก็ตาม อุกฤษฏ์มองว่า ทหารของพระราชาถือกำเนิดขึ้นอย่างแท้จริงเมื่อมีการก่อตั้ง ‘ทหารคอแดง’

“ปัญหาสำคัญคือ ในประเทศไทยทหารมักแทรกแซงทางการเมืองอยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวกัน การที่ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองก็นำมาซึ่งความขัดแย้งภายในกองทัพอยู่เสมอเช่นกัน”

อุกฤษฏ์ชี้ให้เห็นว่า การเกิดขึ้นของ ‘ทหารคอแดง’ ซึ่งเป็นกลุ่มทหารที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดโดยตรงกับสถาบันกษัตริย์นำไปสู่จุดเปลี่ยนของขั้วอำนาจในกองทัพที่จะมีอิทธิพลต่อการเมืองไทย จากเดิมที่ผู้นำทหารระดับสูงแข่งขันแย่งชิงอำนาจกันเองระหว่างรุ่น เปลี่ยนมาสู่การที่ทหารต้องต่อสู้ทางการเมืองกับทหารคอแดงที่ขึ้นตรงต่อกษัตริย์แทน ทั้งยังกล่าวว่า ทหารสายบูรพาพยัคฆ์มีบทบาทอย่างสูงในการเมืองไทยช่วงที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะทรงอิทธิพลมากขึ้นในอนาคต

“ในช่วงทศวรรษ 2520 เกิดความขัดแย้งภายในระหว่างผู้นำทหารระดับสูงในไทยอย่างชวลิต ยงใจยุทธ สุจินดา คราประยูร และจำลอง ศรีเมือง และต่อมาช่วงทศวรรษ 2530 ก็เกิดความขัดแย้งกันระหว่าง 3 ป. ในกลุ่มทหารสายบูรพาพยัคฆ์ ได้แก่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประวิตร วงษ์สุวรรณ และอนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่น่าสนใจคือประมาณ 10 ปีต่อมา ทั้ง 3 คนนี้ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำทหารในกองทัพทั้งสิ้น แต่ประเด็นสำคัญคือในปี 2562 ได้เกิดปัญหาขึ้นอีกครั้งเมื่อ ‘ทหารคอแดง’ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น”

“ผมวิเคราะห์ว่าในช่วงเดือนกันยายนปีหน้า ผู้ที่จะมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่น่าจะเป็นทหารสายบูรพาพยัคฆ์อีก เพราะพลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. คนปัจจุบันเองก็เป็นทหารคอแดง นี่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง เพราะตอนนี้การเมืองเป็นเรื่องของคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มของทหารสายบูรพาพยัคฆ์และกลุ่มของทหารคอแดง” อุกฤษฏ์กล่าว

Network Monarchy: เครือข่ายกษัตริย์ เบื้องหลังรัฐพันลึกไทย – ดันแคน แม็กคาร์โก

ดันแคน แม็กคาร์โก (Duncan MacCargo) ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษานอร์ดิกและศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ผู้เสนอแนวคิด ‘เครือข่ายกษัตริย์’ (Network Monarchy) อธิบายว่า เครือข่ายกษัตริย์คือเครือข่ายทางการเมืองที่มีอิทธิพลอย่างมากในการเมืองไทย แต่ต้องดำเนินการผ่านสถาบันทางการเมืองอื่น ดำเนินการอย่างซ้อนเร้น และไม่ได้แสดงบทบาททางการเมืองต่อสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมา  

ขณะที่แชมเบอร์มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพส่งผลให้การเมืองการปกครองไทยมีลักษณะเป็นรัฐคู่ขนาน แม็กคาร์โกกลับมองว่าประเทศไทยมีความเป็น ‘รัฐพันลึก’ (Deep State) มากกว่า เนื่องจากเครือข่ายกษัตริย์ดำเนินการทางการเมืองในลักษณะที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนในวงกว้าง หรือกระทั่งอยู่นอกเหนือระบบกฎหมาย ทำให้เกิดความคลุมเครือในการทำงานของหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งเครือข่ายจะดำเนินการไปอย่างอัตโนมัติตามพระราชประสงค์ โดยที่กษัตริย์ไม่ต้องมีกระแสรับสั่งอย่างตรงไปตรง อย่างที่ปรากฏในช่วงสมัยรัชกาลที่ 9

แม็กคาร์โกกล่าวว่า จุดสนใจหลักของแนวคิด Network Monarchy อยู่ที่การเมืองการปกครองภายใต้รัฐบาลพลเรือน บ่อยครั้งที่เครือข่ายกษัตริย์เข้ามามีบทบาททางการเมืองในช่วงที่มีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้ความชอบธรรมแก่การแทรกแซงทางการเมือง และที่สำคัญ อิทธิพลของเครือข่ายกษัตริย์ยังเกี่ยวพันความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเกิดความขัดแย้งของ 2 เครือข่ายระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อตต้านทักษิณที่แย่งชิงและต่อรองอำนาจกันในประเทศไทย

“Network Monarchy นำมาสู่การรัฐประหารปี 2549 และการรัฐประหารปี 2557 อีกทั้งในปี 2548 ประเทศไทยมีเครือข่ายอำนาจที่ขัดแย้งกัน 2 เครือข่าย หนึ่งในนั้นคือเครือข่ายหนึ่งที่อำนาจอยู่ที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และอีกหนึ่งเครือข่ายคือสถาบันกษัตริย์”

อย่างไรก็ตาม แม็กคาร์โกมองว่า Network Monarchy ในปัจจุบันแตกต่างไปจากในอดีตเมื่อเปรียบเทียบการเมืองไทยภายใต้รัชการที่ 9 และรัชกาลที่ 10 แม็กคาร์โกเน้นย้ำไปในทางเดียวกันกับสุภลักษณ์ว่า บทบาทของกษัตริย์ในเครือข่ายกษัตริย์เปลี่ยนแปลงไปในสมัยรัชกาลที่ 10 โดยประธานองคมนตรีในฐานะผู้จัดการเครือข่ายมีอำนาจลดลง และกษัตริย์มีอำนาจสั่งการและควบคุมกองทัพได้โดยมากขึ้น และแทรกแซงทางการเมืองได้โดยตรง อย่างที่เห็นจากกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562

“พูดง่ายๆ ว่า Network Monarchy ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ว่ากระบวนการการทำงานได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเครือข่ายเปลี่ยนไปจากแต่ก่อน คือสถาบันกษัตริย์มีบทบาทโดยตรงมากขึ้น แต่ถึงอย่างไร Network Monarchy ก็ยังคงเป็นเครือข่ายที่ทรงพลังทางการเมือง”

“ในปัจจุบัน ผมไม่คิดว่าสถาบันกษัตริย์จะไม่แสดงความประสงค์ของพระองค์ออกมา และผมไม่คิดว่าประชาชนจะไม่รู้ว่าสถาบันตั้งใจจะทำอะไร เพราะเราเห็นได้อย่างชัดเจนมากมาโดยตลอด อย่างเช่นพระราชโองการที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งนำไปการยุบพรรคการเมืองหนึ่งในไทย และการที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 โปรดเกล้าฯ อัญเชิญพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “ส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ” แสดงให้เห็นว่าสถาบันเข้ามาแทรกแซงกิจกรรมทางการเมืองโดยตรงมากขึ้น”

“เห็นได้ชัดว่า Network Monarchy เป็นเครือข่ายที่มีพลวัต มีความเปลี่ยนแปลง และเป็นสิ่งที่ยังมีการถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน” แม็กคาร์โกกล่าวทิ้งท้าย


หมายเหตุ – เรียบเรียงจากเสวนาวิชาการ Monarchy-Military Nexus and Resilience of Network Monarchy ในงาน PBIC RESEARCH SYMPOSIUM: 90 ปี ประชาธิปไตยไทย 88 ปี ธรรมศาสตร์ จัดโดย วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save