fbpx
กัมปนาทแห่งความเงียบงัน

กัมปนาทแห่งความเงียบงัน

แมท ช่างสุพรรณ เรื่อง

 

 

ในภาพขาวดำที่ปราศจากเสียงของมวลชนกลุ่มใหญ่บนลานกว้าง ชายคนหนึ่งชูเก้าอี้พับขึ้นเหนือหัว เขาเคลื่อนตัวผ่านฝูงชนไปตรงกลางของภาพ เก้าอี้หายไปจากสายตาเพราะมีคนเข้ามาบังกล้องที่กำลังถ่ายทำ ภาพของชายอีกคนที่ชูกล้องถ่ายรูปขึ้นเหนือหัวเคลื่อนตัวเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ปรากฏขึ้น ขณะที่สายตากำลังปรับให้รับกับวัตถุนำสายตาที่เปลี่ยนไป ทันใดนั้นภาพของเก้าอี้ตัวนั้นก็กลับมาอีกครั้ง ยกขึ้นและฟาดลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนแหวกเป็นวง ชายคนหนึ่งเดินเข้าไปเตะสิ่งที่อยู่ตรงนั้น ชายอีกคนใช้ท่อนไม้ที่อยู่ในมือชี้ไปยังตำแหน่งเดียวกัน และมีชายอีกหลายคนแสดงทีท่าว่าจะทำในสิ่งคล้ายคลึงกันก่อนที่ภาพจะตัดไป สิ่งที่หลงเหลืออยู่หลังจากนั้นคือความเยียบเย็นที่วาบไปทั้งตัว

“มันเป็นเช้าวันพุธที่การตายด้วยกระสุนปืนดูเหมือนเป็นการฆาตกรรมที่เจ็บปวดน้อยที่สุดและศิวิไลซ์มากที่สุด”

คลิปเหตุการณ์ชื่อเก้าอี้ตัวนั้นที่ทางหอภาพยนตร์นำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ทำให้ประโยคนี้ของธงชัย วินิจจะกูลทรงพลังมากยิ่งขึ้น มากกว่าภาพเคลื่อนไหวหลายภาพที่ถูกบันทึกไว้ อาจเป็นเพราะความเงียบ อาจเป็นเพราะเก้าอี้ และอาจเป็นเพราะการที่ไม่ได้เห็นภาพของสิ่งที่รองรับความรุนแรงซึ่งเราต่างรับรู้ว่าคืออะไร

สายตาของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยังคงจ้องมองมาที่สังคมไทยอยู่ตลอดเวลา การตอบรับการจ้องมองของผู้คนในสังคมมีหลายรูปแบบ บ้างสบตา บ้างหลบตา บ้างไม่ใส่ใจ บ้างถามไถ่ และบ้างไม่รู้ว่ากำลังถูกมอง ปฏิกิริยาตอบโต้ที่หลากหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ ดังนั้น การจะทำความเข้าใจกับสังคมไทยต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ดีที่สุดคือการมีบทสนทนากับความทรงจำ แต่เราจะพูดคุยเปิดอกได้อย่างไรในเมื่อบางสิ่งสะกดความคิดไว้ให้เงียบงัน

Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok ของธงชัย วินิจจะกูลคือผลลัพธ์แห่งความพยายามในการศึกษาความเงียบงัน การศึกษาเพื่อค้นหาความจริงและความยุติธรรม รวมไปถึงการหาที่ทางที่เหมาะสมของเหตุการณ์ให้กับความทรงจำร่วมของสังคมไทย

เริ่มต้นด้วยการนำเสนอกายวิภาคของความทรงจำผ่านมโนทัศน์ของการศึกษาความทรงจำ ปริมณฑลของการจำและการลืมเปิดเผยให้เห็นสมรภูมิระหว่างคู่ตรงข้าม ในภาวะของการลืมไม่ได้ จำไม่ลง ความเงียบรับบทบาทสำคัญจากการกำกับการแสดงของความจำยอมและ/หรือพร้อมใจ ธงชัยใช้พื้นที่ร่วมของการจำ การลืม และความเงียบ เป็นกุญแจสำคัญในการศึกษาเหตุการณ์ความรุนแรงที่สังคมไม่อยากพูดถึง หรือพูดถึงอย่างเสียไม่ได้

ในภาวะของการจำยอมและ/หรือพร้อมใจ ธงชัยได้นำเสนอตัวแปรสำคัญคือ “chronopolitics of memory” (ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปตามกาลและเงื่อนไขความสับสนที่มีผลกระทบต่อความทรงจำ) กล่าวคือความนิยมต่ออุดมการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปมีผลต่อการลืม การจำ และความเงียบ

จากจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ความรุนแรง ธงชัยตั้งคำถามถึงบทบาทของผู้เล่นสำคัญในเหตุการณ์ ตั้งแต่ขบวนการนักศึกษา พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (ฝ่ายซ้าย) นักการเมือง คณะสงฆ์ ตำรวจ ทหาร สหรัฐอเมริกา และสถาบันกษัตริย์ (ฝ่ายขวา) เพื่อสืบหาและชี้ให้เห็นร่องรอยความสัมพันธ์ของปริศนาที่ยังไม่มีคำตอบ จากนั้นก็ใช้มโนทัศน์ของการศึกษาความทรงจำสำรวจลึกเข้าไปหาความเงียบของเหตุการณ์ ทั้งจากมุมของผู้ถูกกระทำ ผู้กระทำ และผู้สังเกตการณ์ เพื่อหาคำตอบว่าทำไมแต่ละฝ่ายจึงเลือกที่จะเงียบ และในความเงียบนั้น ความทรงจำร่วมถูกเขียนขึ้นอย่างไร และเพื่อปกป้องสิ่งใด

เครื่องมือสำคัญที่ฝ่ายรัฐซึ่งเป็นผู้กระทำนำมาใช้จัดการให้เกิดความเงียบและการเขียนความทรงจำร่วม คือการนิรโทษกรรมนักศึกษาที่เป็นนักโทษการเมือง ความสำเร็จของการนิรโทษกรรมเป็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยล่มสลายในเวลาต่อมา

สภาวะความเงียบจากความจำยอมทำให้เหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลาฯ ถูกบังคับให้อยู่ในกรอบของการลืม จนกระทั่งเมื่อผ่านไป 20 ปี การรื้อฟื้นความทรงจำครั้งสำคัญก็เกิดขึ้นผ่านการจัดงานระลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่มีธงชัยเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่ม ความทรงจำร่วมของสังคมได้ถูกท้าทายอีกครั้ง นั่นหมายถึงความเงียบจากทุกฝ่ายก็ต้องถูกตั้งคำถามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อความเงียบถูกตั้งคำถาม คำตอบที่ได้รับคือความหมายที่คลาดเคลื่อน ความคลาดเคลื่อนทำให้ความทรงจำไขว้เขว ความไขว้เขวยิ่งทำให้ 6 ตุลาฯ ไม่ได้รับการสะสาง ซึ่งนั่นยิ่งตอกย้ำถึงชัยชนะของความทรงจำฝ่ายขวา กระนั้น ความคลาดเคลื่อนของความทรงจำ (ทั้งจงใจและไม่รู้ตัว) ไม่ได้เกิดขึ้นกับเพียงฝ่ายซ้าย การตั้งคำถามของธงชัยทำให้เขาได้เผชิญหน้ากับฝ่ายขวาที่เป็นผู้กระทำ ความเงียบได้เปิดเผยให้เห็นบาดแผลที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นความภาคภูมิใจ

คำตอบจากการตั้งคำถามกับการจำ การลืม และความเงียบของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ของธงชัยได้สร้างองค์ความรู้สืบเนื่องให้แก่การศึกษาอัตลักษณ์ของคนเดือนตุลา (ทั้ง 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ) ซึ่งต่อมาได้เข้ามามีบทบาทในด้านการเมืองโดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ที่ดำเนินอยู่ในการเมืองไทยร่วมสมัย รวมไปถึงการอภิปรายถึงพลังของประวัติศาสตร์ที่ไปปรากฏอยู่ในรูปแบบต่างๆ ของผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม

การใช้มโนทัศน์ chronopolitics of memory วางลงไปบนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่เป็น site of memory ของธงชัยแสดงให้เห็นถึงความหมายใหม่ของความเงียบที่ร่วมเขียนความทรงจำ ความหมายใหม่ที่เกิดจากการเปิดเผยให้เห็นว่าไม่เพียงผู้ถูกกระทำเท่านั้นที่อยู่ในภาวะจำไม่ได้ ลืมไม่ลง

ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่อยู่รายรอบความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ของ Moments of Silence นำไปสู่การทำความเข้าใจกับสิ่งที่ใหญ่กว่านั้นคือความเป็นไทย และวิธีการจัดการกับปัญหาแบบไทยๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็คือสิ่งที่ประกอบสร้างอยู่ในตัวตนและวิธีคิดของผู้คนในสังคม ดังนั้น นัยหนึ่งความเงียบคือเสียงที่ดังที่สุดในรูปที่ก่อขึ้นเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย เพราะความเงียบคือวิธีที่สังคมไทยเลือกใช้กับปัญหาหรือสิ่งที่ไม่ต้องการ

แล้วธงชัยต้องการอะไรจากการศึกษาความเงียบ?

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อติเทพ ไชยสิทธิ์ ได้เขียนบทความชื่อ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์: การเดินทัพทางไกลของสังคมไทย (สำหรับท่านที่ยังไม่เคยอ่านบทความนี้ ผู้เขียนอยากบอกว่าไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง และขอชักชวนให้อ่านอย่างละเอียดไปถึงเชิงอรรถ) ในบทความได้ชี้ให้เห็นถึงจุดยืนและการทำงานทางความคิดที่โดดเดี่ยวของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หนึ่งในผู้ถูกกระทำจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ส่วนหนึ่งของสิ่งที่อติเทพนำเสนอคือมโนทัศน์ในการจัดการกับสิ่งที่สมศักดิ์มองว่าเป็นแรงเกินความจำเป็นในการทำให้โครงสร้างมีเสถียรภาพ (redundant force) ของสังคมไทยซึ่งนั่นก็คือสถาบันกษัตริย์ ถ้าไม่มีการนำสถาบันกษัตริย์ออกจากสมการทางการเมืองผ่านการปฏิรูป เสถียรภาพทางการเมืองจะไม่มีอยู่จริง

แล้วถ้าเอาสถาบันกษัตริย์ออกจากสมการไม่ได้ต้องทำอย่างไร?

คำถามนี้ทำให้ผู้เขียนกลับมามอง Moments of Silence ใหม่อีกครั้ง และคิดว่าเห็นอะไรบางอย่างที่ผู้เขียนมองว่าเป็นสิ่งที่ธงชัยต้องการให้เป็นผลจากการศึกษาความเงียบ กล่าวคือ ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่ธงชัยต้องการ คือการชี้ให้เห็นว่าอภิสิทธิ์ปลอดความผิด (impunity) ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในระบอบอำนาจนิยมที่กอดเกี่ยวอยู่กับธรรมชาติการใช้อำนาจรัฐของกษัตริย์นั้นสามารถจำกัดและกำจัดได้ด้วยความทรงจำ เพราะ impunity นั้นต้องอาศัยความเงียบเพื่อให้ปราศจากการสะสาง ความทรงจำคือการส่งเสียงสร้างพลังต่อต้านความเงียบเพื่อนำไปสู่การต่อรองในสมการอำนาจของประชาชน

โดยแง่นี้ Moments of Silence ของธงชัยคือการพยายามสร้างความสมดุลในโครงสร้างทางการเมืองอีกทางหากสถาบันกษัตริย์ไม่ยอมปรับตัว

กล่าวให้กระชับกว่านั้นก็คือ ในความเห็นของผู้เขียน สมศักดิ์เสนอให้ดึงสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นตัวแปรที่ไม่จำเป็นออกจากสมการเพื่อสร้างสมดุลใหม่ ส่วนธงชัยเสนอให้ปรับสมดุลโครงสร้างใหม่โดยการเพิ่มแรงในการต่อรองให้กับประชาชนผ่านการทำความเข้าใจความทรงจำ

“เด็กที่ยืนยิ้มใต้ต้นมะขามยังไม่ตาย เจอหลายคนเลยเนี่ย”

เพื่อนรุ่นพี่ของผู้เขียนที่เป็นทันตแพทย์ตั้งสเตตัสนี้บน Facebook เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนจะมีคนรู้จักของเขาเข้ามาแก้ไขว่าต้นหางนกยูง ผู้เขียนไม่เชื่อว่าเพื่อนรุ่นพี่คนนั้นไม่รู้ว่าข้อมูลเก่าแก่เรื่องต้นไม้ที่ใช้แขวนคอได้รับการแก้ไขใหม่แล้ว เพราะเขาเป็นหนึ่งในคนที่ให้ความสนใจในเรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แต่อาจเป็นเพราะความพลั้งเผลอที่เกิดจากความเคยชินในข้อมูลเก่า

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนสนใจ สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเย็นยะเยือกขึ้นมาจากประโยคนั้นคือ แม้ปัจจุบันจะเป็นห้วงเวลาในการต่อสู้ทางการเมืองที่ดุเดือดที่สุดอีกครั้ง แม้จะผ่านเหตุการณ์สยดสยองนั้นมาแล้วเกือบ 50 ปี ก็ยังมีคนที่พร้อมจะยืนยิ้มเมื่อเห็นร่างของเราถูกแขวนไว้ใต้ต้นไม้ต้นเดิม แล้วภาพของเก้าอี้พับในความเงียบตัวนั้นก็หวนกลับเข้ามาอีกครั้งในความคิดคำนึง

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save